Monday, 29 April 2024
รถไฟฟ้า

‘ชาวต่างชาติ’ ยก ‘รถไฟฟ้าไทย’ ดีที่สุดในอาเซียน เทียบชั้นสิงคโปร์ 'สะอาด-ใช้งานง่าย-เส้นทางครอบคลุม’ อนาคตแซงหน้าชาติชั้นนำ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 66 จากช่องยูทูบ ‘สะท้อนไทย’ ที่มักจะคอยมาเล่ามุมมองของชาวต่างชาติ ที่แสดงความคิดเห็นต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยล่าสุด ชาวต่างชาติต่างยกให้รถไฟฟ้าของประเทศไทยดีที่สุดในอาเซียน เมื่อพวกเขาเคยมาท่องเที่ยวและได้ลองใช้บริการ โดยระบุว่า…

ชาวต่างชาติต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารถไฟฟ้าของประเทศไทย มีระบบที่ดีเยี่ยม ทั้งเรื่องความสะดวกในการใช้งาน ความสะอาดของสถานี แม้นํามาเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าของชาติตะวันตกแล้ว ระบบรถไฟฟ้าของประเทศไทยถือว่าดีเยี่ยมเลยทีเดียว ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่นักท่องเที่ยวจากชาติตะวันตกเท่านั้นที่ชื่นชอบรถไฟของประเทศไทย แต่นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของไทยต่างก็ชื่นชมรถไฟฟ้าของประเทศไทยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นลาว, พม่า, เวียดนาม และสิงคโปร์ ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกัน “รถไฟฟ้าของประเทศไทยดีที่สุดในอาเซียน”

โดยจุดกําเนิดของรถไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นจากรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศที่เปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยเปิดสองเส้นทาง รวมทั้งสิ้น 23 สถานี ซึ่งคือ ‘สายสุขุมวิท’ มีระยะทางทั้งหมด 17 กิโลเมตร จากสถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และสายที่สองคือ ‘สายสีลม’ มีระยะทาง 6.5 กิโลเมตร จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน และนี่คือสถานีทั้งหมดในช่วงแรก

แต่ในปัจจุบันมีการขยายสถานีออกไปเป็นจํานวนมาก ซึ่งสามารถช่วยเหลือเรื่องการคมนาคมของคนในชานเมืองได้เป็นอย่างมาก โดยระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ มีความจุสูงแบบมาตรฐานสากล ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเมืองใหญ่ทั่วโลก สามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารได้มากกว่า 1 พันคนต่อขบวน

ในขณะที่การเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้รถยนต์จํานวนมากถึง 250 คัน เพื่อขนส่งผู้โดยสาร นอกเหนือจากนี้การให้บริการที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์รวมของธุรกิจการค้า ย่านที่พักอาศัย และแหล่งช็อปปิ้งชั้นนํา อีกทั้งยังมีโครงการส่วนต่อขยายเพื่อขยายพื้นที่สําหรับให้บริการ และยังเข้าถึงผู้โดยสารได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมการเดินทางหลายจังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับประเด็นนี้ได้มีชาวต่างชาติจํานวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม 

โดยมุมมองแรกต่างกล่าวว่า รถไฟฟ้าใต้ดินของไทยดูดีที่สุดแล้วในแถบนี้ ทั้งที่เปิดมาเกือบ 20 ปี แต่สภาพยังดูดี ดูสวย และสะอาดอยู่เลย อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเพราะอายุที่ไม่มาก ค่าโดยสารจึงแพง แต่ก็สามารถคัดกรองคนได้ในระดับหนึ่ง เคยไปหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา ทั้งเหม็น ทั้งสกปรก

จากนั้น ได้มีความคิดเห็นนึงได้เผยว่า “ผมอยู่ออสโล บัตรเดียวใช้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน รถราง รถเมล์ และเรือ แต่เรื่องความสะอาดออสโลสู้ไม่ได้เลย เพื่อนของผมชาวนอร์เวย์ที่เดินทางไปที่กรุงเทพฯ ยังตกใจ ทําไมประเทศไทยสะอาดเช่นนี้ สุดยอดมาก… แต่ติดอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องตั๋ว ถ้าใช้ได้หมดจะสุดยอดมาก”

โดยคนส่วนหนึ่งต่างรู้สึกว่า สิงคโปร์และไทย มีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่ติดอยู่เรื่องเดียวคือของไทยไม่ค่อยมีห้องน้ำเหมือนของสิงคโปร์ และด้วยที่สิงคโปรอาจจะสร้างมานานกว่าประเทศไทย จึงทําให้สภาพดูเก่ากว่า แต่เรื่องความสะอาดในตอนนี้ ต้องยอมรับว่ารถไฟฟ้าของไทยดูใหม่จริงๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ คือเรื่องของ ‘ห้องน้ำ’ ซึ่งพวกเขาหวังอยากให้ประเทศไทยมีห้องน้ำทุกสถานีเหมือนญี่ปุ่น เพราะอยากเข้าแบบอิสระ โดยไม่ต้องไปขอแม่บ้าน

“ตอนนี้ดิฉันอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทยพัฒนามาก อีกสิบปีดิฉันจะเกษียณ และอยากไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัดของประเทศไทย เชื่อว่าอีกสิบปีข้างหน้า จะสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ เพราะรถไฟฟ้าของประเทศไทยครอบคลุมทั่วประเทศ อยากบอกลูกหลานทุกคนว่า ควรภูมิใจกับประเทศไทยตอนนี้ ยอดเยี่ยมมาก” ชาวต่างชาติท่านหนึ่งกล่าว

และนี่เป็นเพียงความคิดเห็นบางส่วนที่ได้หยิบยกขึ้นมา โดยความคิดเห็นนั้นมองออกเป็นสองมุม แต่โดยหลักๆ ต่างยกให้ไทยและสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีรถไฟฟ้าดีที่สุดในอาเซียน

‘สุริยะ’ เร่งผลักดันนโยบาย 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ทุกเส้นทาง ภายใน 3 เดือน ขอนำร่อง ‘สายสีม่วง-แดง’ ก่อน ส่วนที่เหลือขอเวลา 2 ปี

(12 ก.ย.66) ที่รัฐสภา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ชี้แจงกรณีรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 2 ว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้แน่นอน ส่วนระยะเวลาที่เห็นผลเป็นรูปธรรมนั้น เนื่องจากแต่ละเส้นทางมีระบบแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการให้สัมปทานเอกชน บางเส้นทางรัฐดำเนินการเอง หรือบางเส้นทางให้ กทม.ทำ ดังนั้น การให้เก็บ 20 บาทตลอดสาย เท่ากันทุกเส้นทาง ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องใช้เวลาเจรจาและวางระบบเทคนิคการทำตั๋วร่วมเป็นระบบเดียวกัน ต้องวางระบบคอมพิวเตอร์ให้เทคนิคเหมือนกัน ทั้งนี้ เส้นทางที่รัฐจะดำเนินการได้เองคือ สายสีแดงกับสายสีม่วง จะดำเนินการทันที เพราะกระทรวงคมนาคมทำเอง ภายใน 3 เดือน ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้า 2 เส้นทางนี้ 20 บาทตลอดสาย

"ภายใน 2 ปี ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง 20 บาทตลอดสาย การที่ไม่สามารถเห็นผลได้ทันที เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจา และวางระบบตั๋วร่วม นโยบายนี้จะทำเพื่อคนทุกกลุ่ม นอกจากช่วยคนรายได้น้อย ยังช่วยให้คนใช้รถยนต์มาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ลดปัญหามลพิษ" นายสุริยะ กล่าว

รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการคำนวณราคาค่าโดยสารนั้น ขอยกตัวอย่าง หากอยู่รังสิตจะมากรุงเทพฯ ชั้นใน ที่สยาม ก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงมาลงที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ มาต่อสายสีน้ำเงินที่จตุจักร และต่อสายสีเขียวไปที่สยาม จากปัจจุบันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 108 บาท แต่ถ้านโยบายสำเร็จ จะจ่ายค่าโดยสารแค่ 20 บาทตลอดสาย

‘ผู้โดยสาร’ อึ้ง!! ประตูรถไฟฟ้า ‘เปิดค้าง’ ขณะวิ่งให้บริการ ชาวเน็ตต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรการความปลอดภัย

(21 ก.ย. 66) คลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรถไฟฟ้าประเทศไทยกลายเป็นไวรัล มีผู้ชมแล้วกว่า 1.4 ล้านครั้ง ภายหลังเผยแพร่เพียง 17 ชั่วโมง โพสต์โดยผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อว่า star111042 ขณะที่รถไฟฟ้ากำลังเคลื่อนที่จากสถานีหนึ่งไปยังสถานีหนึ่ง ปรากฎว่าประตูรถไฟฟ้าบานหนึ่งกลับเปิดอยู่ และมีเจ้าพนักงานมาดูแล แจ้งสถานการณ์ผ่านลำโพงแก่เจ้าหน้าที่ในขบวนรับทราบ

เจ้าของคลิป เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางจาก (BTS บางจาก) มีพนักงานมาไขล็อคประตูไว้ คาดว่าจะล็อคผิดทำให้ประตูค้าง ไม่ยอมปิดมาจนถึงอีกสถานีหนึ่ง

พนักงานหญิงที่อยู่ในคลิปเป็นผู้เดินมาเจอว่าประตูค้างไม่ยอมปิด ตอนที่รถไฟฟ้าออกจากสถานีแล้ว พนักงานรายดังกล่าวจึงได้โทรประสานกับพนักงานที่เป็นคนไขล็อคไว้ พอถึงสถานีรถไฟฟ้าปุณณวิถี (BTS ปุณณวิถี) พนักงานที่ไขไว้ได้กลับมาปิดประตูแล้วล็อคให้ใหม่ พร้อมแปะป้าย ‘ประตูขัดข้อง’ ไว้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความหวาดเสียวแก่ผู้โดยสารในขบวนอย่างมาก ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรการความปลอดภัยด้วย เช่นว่า

– คนแน่นๆ ประตูไม่ปิด หรือเปิดเอง มันจะเป็นโศกนาฏกรรมไหม
– ถ้าเป็นช่วงห้าโมงเย็นนะ หือออไม่อยากจะคิด
– รถไฟฟ้าเปิดประทุน
– อันตรายมาก ถ้าคนเยอะๆ นี้ตกไปแน่เลย
– เขาถึงบอกว่าอย่ายืนหน้า หรือพิงประตู อะไรก็เกิดขึ้นได้
– สิ่งที่เคยจินตนาการไว้ ได้เกิดขึ้นแล้ว
– ถ้าเป็นช่วงเวลาพีคไม่อยากจะคิด
– จากผู้โดยสาร สู่ ผู้ประสบภัย
– หลายปีก่อนก็มีเหตุการณ์แบบนี้ค่ะ แต่ไม่มีใครเป็นอะไร ทำให้ระแวงทุกครั้งที่ยืนเบียดหน้าประตู และคิดเตรียมพร้อมตลอดเวลาเผื่อเกิดเรื่องแบบนี้ค่ะ

ไขข้อสงสัย!! ‘รถไฟฟ้า’ แต่ละสาย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาเป็นหน่วยงานใดบ้าง 🚈✨

ไขข้อสงสัย!! ‘รถไฟฟ้า’ แต่ละสาย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาเป็นหน่วยงานใดบ้าง 🚈✨

หมายเหตุ : ข้อมูลนี้เป็นของรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วเท่านั้น สำหรับรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการในอนาคต ต้องรอดูความคืบหน้าในการเลือกสังกัดหน่วยงานรับผิดชอบอีกครั้ง

‘เพื่อไทย’ หนุน!! ‘พรบ.อากาศสะอาด’ ทวงคืนไฮซีซันท่องเที่ยวภาคเหนือ พร้อมดันรถไฟฟ้า 20 บาท คลายมลพิษเมืองกรุงจากฝุ่น PM

ดูเหมือนการมุ่งเป้าแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจังและเข้มข้น หลังจากเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 พรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเข้าสู่สภา เพื่อเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ซึ่งมีการปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีกลไกแก้ไขปัญหาที่เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น โดยให้มีบทลงโทษแก่ผู้ก่อมลพิษเผาป่าในประเทศ รวมถึงกลไกแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ให้มีการลงโทษบริษัทที่ทำให้เกิดมลพิษข้ามแดนด้วยเช่นกัน

(6 ต.ค. 66) นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต้นตอ ด้วย พรบ.อากาศสะอาด เพื่อไทยทุกคน’ ระบุว่า...

ปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทย กล่าวคือ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 (1 ม.ค. ถึง 31 มี.ค.) พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในไทย กว่า 2 ล้านราย ซึ่งผลการศึกษาของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir พบว่าในปี 2563 มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยกว่า 14,000 ราย และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 149,367 ล้านบาท โดยกรุงเทพมหานคร มีความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ถึง 104,557 ล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (City’s GDP)

ในขณะเดียวกัน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล โดยทางภาคเหนือ ในช่วงต้นปีซึ่งควรจะเป็นไฮซีซันของการท่องเที่ยวไทย แต่นักท่องเที่ยวกลับมีความกังวลเรื่องมลพิษทางอากาศที่สูงเกินมาตรฐาน สาเหตุหลักเกิดจากการเผาทั้งในและนอกประเทศ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากตัดสินใจไม่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเวลานี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากสูญเสียโอกาสการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ก่อ 

ดังนั้น พรบ.อากาศสะอาด ฉบับนี้ จะแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เพื่อทวงคืนไฮซีซันของการท่องเที่ยวกลับคืนมาให้กับพี่น้องประชาชนภาคเหนือ

เมื่อพิจารณาที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร สาเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 กว่า 50% เกิดมาจากภาคการขนส่ง กระทรวงคมนาคมพร้อมมีส่วนร่วมในการส่งเสริมอากาศสะอาดให้กับคนไทย โดยการรณรงค์ให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เริ่มจากเส้นเลือดใหญ่ในการขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า มีการเร่งผลักดันให้เป็น 20 บาทตลอดสาย โดยวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา รฟม.ได้มีการอนุมัติรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้เป็น 20 บาทตลอดสายเป็นที่เรียบร้อย เตรียมเสนอให้ ครม.อนุมัติในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ในขณะเดียวกัน ด้านเส้นเลือดฝอย ขสมก.ก็มีแผนเปลี่ยนรถโดยสารประจำทาง EV จากปีนี้ จำนวน 224 คัน ให้เพิ่มเป็น 2,013 คัน ภายในปี 2568

เพราะสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยคือมาตรฐานของเราครับ ❤️

15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรกมาถึงไทย ด้วยเครื่องบินขนส่ง ‘Antonov’

วันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก เดินทางถึงประเทศไทย ก่อนจะนำมาให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นวันที่รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก ซึ่งเป็นรุ่น ซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากยุโรปมาถึงประเทศไทย โดยถูกบรรทุกมาด้วยเครื่องบินขนส่ง Antonov ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

โดยรถไฟฟ้ารุ่นซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลหรือสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในประเทศไทย มีระยะทาง 20 กิโลเมตร จากสถานีหัวลำโพง - สถานีบางซื่อ รวม 18 สถานี

เป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว ที่รถไฟฟ้ารุ่นนี้ยังคงวิ่งให้บริการอยู่ ทั้งหมด 19 ขบวน ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จนได้มีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมครบลูปสายสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็นช่วงหัวลำโพง-บางแค หรือบางซื่อ-ท่าพระ โดยได้รับการดูแล บำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างดีเพื่อให้มีความปลอดภัย และพร้อมให้บริการอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินมีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 54 ขบวน 

‘สุริยะ’ ปลื้ม!! วันแรกรถไฟฟ้า 20 บาท ตอบรับดี ยัน!! เดินหน้าต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุดแค่ 30 พ.ย. 67

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น

และได้มีการประกาศใช้มาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น รฟท. และ รฟม.ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางมากขึ้น

ยันมาตรการต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ 1 ปี
นายสุริยะกล่าวว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยระบุจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นั้น ยืนยันว่า เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าวจะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้แก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ‘Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน’

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พ.ย. 2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม.นั้น ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

คาดผู้โดยสารเพิ่มปี 68 ใช้งบชดเชยลดลง
อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน ลดภาวะมลพิษ และการใช้พลังงานภายในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค จากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วย

ทั้งนี้ ตามมติ ครม.ให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐและคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

ส่วนขอรับชดเชยส่วนต่างของ รฟท.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อสิ้นสุดมาตรการแล้วให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามส่วนต่างรายได้ที่เกิดขึ้น ซึ่ง รฟท.เสนอขอรับเงินชดเชยประมาณ 6.43 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 77.15 ล้านบาทต่อปี ส่วนกรณี รฟม.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไม่ขอรับเงินชดเชยรายได้ของภาครัฐโดยตรง แต่จะนำเงินส่วนแบ่งรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีกำไรมาชดเชย

เกาะศึกชิงดำ!! รถไฟฟ้าอีวีโปรเจกต์ X จากซัพพลายเออร์ไอโฟน 'ไทย' ลุ้น!! ชน 'อินเดีย' เบียดขึ้นแท่นปั้น EV 3 ที่นั่งป้อน 3 ประเทศ

(30 ต.ค. 66) เพจ 'BTimes' เผยว่า ฟ็อกซ์คอนน์จ่อผลิตรถอีวีขนาดเล็กส่งขายอินเดีย ญี่ปุ่น ไทย ปีละ 100,000 คัน ลุ้นตั้งโรงงานผลิตในไทย

เอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม (MIH Consortium) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฟ็อกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์รายยักษ์ใหญ่ผลิตไอโฟนจากไต้หวัน เปิดเผยว่า เตรียมผลิตและขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีขนาดเล็กใน 3 ประเทศของเอเชีย ได้แก่ อินเดีย, ญี่ปุ่น และไทย ด้วยเป้าหมายการขายปีละ 100,000 คันในตลาดทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว

นายแจ็ค เฉิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ เอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม กล่าวว่ารถอีวีขนาดเล็กอยู่ในโครงการชื่อว่า 'โปรเจกต์เอ็กซ์' โดยเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 3 ที่นั่ง แบตเตอรี่ไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนสลับได้ ที่สำคัญ มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 2 ถึงระดับ 4 ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้งานของผู้ขับรถ สำหรับที่นั่งในรถอีวีขนาดเล็กรุ่นนี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้เป็นทั้ง 2 ที่นั่ง และ 3 ที่นั่ง 

เฉิง กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสรุปที่ตั้งฐานการผลิตรถอีวีขนาดเล็ก ซึ่งมีเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เนื่องจากฟ็อกซ์คอนน์มีโรงงานอยู่แล้ว หรืออินเดีย เนื่องจากเอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม มีหุ้นส่วนธุรกิจอยู่ในประเทศแล้ว 

ตั้งเป้าหมายผลิตปีละ 100,000 คัน เพื่อจำหน่ายในประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และไทย โดยจะเริ่มเข้าสู่ตลาดใน 3 ประเทศนี้ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป แบ่งเป็น 50% หรือ 50,000 คัน ขายในอินเดีย ในไทยขาย 20-30% หรือ 20,000-30,000 คัน และในญี่ปุ่นอยู่ที่ 20% หรือราว 20,000 คัน 

เอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม จะให้ใบอนุญาตเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของรถอีวีขนาด 3 ที่นั่งนี้กับบริษัทเอ็ม โมบิลิตี้ ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพในเครือกลุ่มบริษัทมหินทราในอินเดีย ดังนั้น บริษัทเอ็ม โมบิลิตี้ จะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถอีวีขนาดเล็กในทั้ง 3 ประเทศด้วย 

ทั้งนี้ ราคาของรถอีวีโปรเจกต์เอ็กซ์ ซึ่งมี 3 ที่นั่งนี้ ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนออกมา แต่เป็นไปได้ที่จะมีราคาถึงคันละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 740,000 บาท 

จีนเผยยอดใช้ 'เหรินหมินปี้' ข้ามพรมแดน 9 เดือนแรกปี 66 โต 24% เป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ชี้!! ทิศทางข้างหน้ายังสดใส

(30 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ธนาคารประชาชนจีนหรือธนาคารกลางของจีน รายงานว่าการชำระเงินและการรับเงินข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ (RMB) หรือสกุลเงินหยวนของจีน ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน รวมอยู่ที่ 38.9 ล้านล้านหยวน (ราว 194.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบปีต่อปี

รายงานระบุว่าการค้าสินค้าข้ามพรมแดนที่ชำระเงินด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ครองสัดส่วนร้อยละ 24.4 ของการค้าสินค้าข้ามพรมแดนที่ชำระเงินด้วยสกุลเงินภายในประเทศและสกุลเงินต่างชาติ ซึ่งเพิ่มขึ้น 7 จุด เมื่อเทียบปีต่อปี และเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

สกุลเงินเหรินหมินปี้ยังคงทำหน้าที่เป็นสกุลเงินเพื่อการเงินได้ดีขึ้น ขณะที่มีการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การให้กู้ยืมในต่างประเทศโดยธนาคารภายในประเทศ และการออกพันธบัตรภายในประเทศโดยสถาบันในต่างประเทศ ส่วนการลงทุนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้และสภาพแวดล้อมทางการเงินยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง

การซื้อขาย ณ ตลาดสกุลเงินเหรินหมินปี้นอกชายฝั่งมีความคึกคักเพิ่มขึ้น โดยยอดคงเหลือของเงินฝากสกุลเงินเหรินหมินปี้ ณ ตลาดนอกชายฝั่งกลุ่มหลักอยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านหยวน (ราว 7.5 ล้านล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นปี 2022 ซึ่งกลับสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์

ธนาคารฯ จะทำงานเกื้อหนุนการค้าและการลงทุน ปรับปรุงระบบและโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ การเงินและการชำระเงินเพื่อธุรกรรม และสนับสนุนการพัฒนาอันดีของตลาดสกุลเงินเหรินหมินปี้นอกชายฝั่ง

ระบบรางไทยร้อนแรง!! ลอยกระทงวันเดียว โกยผู้โดยสารทะลุ 1.9 ล้านคน

‘กรมรางเผย’ วันลอยกระทง 66 ผู้โดยสารทะลุ 1.9 ล้านคน-เที่ยว ยอดใช้บริการเพิ่มจากลอยกระทงปีก่อน 29.62 % เปิด 2 สายน้องใหม่ “เหลือง-ชมพู”เพิ่มโครงข่ายเดินทาง ส่วน MRT สีม่วง ทุบสถิติต่อเนื่อง เกิน 8.2 หมื่นคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 73%

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง พบว่ามีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,900,664 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 ที่ผ่านมา จำนวน 434,307 คน-เที่ยว หรือ 29.62% โดยลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย. 65) มีผู้ใช้บริการระบบรางภาพรวม จำนวน 1,466,357 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 808,736 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 877,451 คน-เที่ยว) 

สำหรับลอยกระทง ปี 2566 จำนวน 1,900,664 คน-เที่ยว แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 67,561 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) จำนวน 1,833,103 คน-เที่ยว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.รถไฟระหว่างเมือง รฟท. ให้บริการรวม 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการจำนวน 67,561 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 7,373 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 12.25% (ลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย.65) จำนวน 60,188 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 27,483 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 59,505 คน-เที่ยว) แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 21,015 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 46,546 คน-เที่ยว

2.ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้บริการรวม 3,248 เที่ยววิ่ง (รวมรถเสริม 36 เที่ยววิ่ง) มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 1,833,103 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 426,934 คน-เที่ยว หรือมากกว่า 30.36% (ลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย.65) จำนวน 1,406,169 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 781,253 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 817,946 คน-เที่ยว) โดยผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าได้เพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน และเพิ่มขบวนรถเสริม ประกอบด้วย

>>รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 221 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 6 เที่ยววิ่ง) จำนวน 74,005 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 8,651 คนเที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 13.24% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 65,354 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 33,819 เที่ยว-วิ่ง (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 225 คน-เที่ยว) มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 14,284 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 73.12% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 19,535 คน-เที่ยว) สีม่วง ทุบสถิติต่อเนื่อง ผู้โดยสารพุ่ง 8.2 หมื่นคน-เที่ยว

>>รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 82,358 คน-เที่ยว (นิวไฮ) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์ covid-19 มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 34,991 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 73.87% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 47,367 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ให้บริการ 487 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 27 เที่ยววิ่ง) จำนวน 510,288 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 131,538 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 34.73 % (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 378,750 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทและสายสีลม (สีเขียว) ให้บริการรวม 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 981,658 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 102,897 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 11.71% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 878,761 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าสายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 17,182 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 780 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 4.76% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 16,402 คน-เที่ยว)

โดยวันลอยกระทงปีนี้มีรถไฟฟ้าให้บริการเพิ่มมา 2 เส้นทาง รวม 444 เที่ยววิ่ง จำนวน 133,793 คน-เที่ยว คือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 40,198 คน-เที่ยว (ลอยกระทงปี 65 ยังไม่เปิดให้บริการ) และ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ให้บริการ 168 เที่ยววิ่ง จำนวน 93,595 คน-เที่ยว (ลอยกระทงปี 65 ยังไม่เปิดให้บริการ) 

นายพิเชฐ กล่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ขร. ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะไปลอยกระทงในช่วงเย็นถึงค่ำ โดยได้เน้นย้ำผู้ให้บริการระบบรางบริหารจัดการผู้โดยสารบนสถานีรถไฟฟ้า (Crowd Control) และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเส้นทางการเข้าสู่สถานี รวมทั้งเพิ่มความถี่ จัดขบวนรถเสริม และจัดเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกและเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการระบบรางด้วยแล้ว โดยพบว่า เมื่อวานไม่มีเหตุอันตรายต่อผู้ใช้บริการระบบรางแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้น พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรางภาพรวมและรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสูงสุด (นิวไฮ) ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 82,358 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 73.87% ส่วนรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 33,819 เที่ยว-วิ่ง (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 225 คน-เที่ยว) เพิ่มขึ้น 73.12% เมื่อเทียบกับวันลอยกระทงปี 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้มีเส้นทางรถไฟฟ้าให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อที่สะดวกขึ้น (interchange) และมีราคาจูงใจด้วยค่าโดยสารสายสีม่วงและสายสีแดง ราคาสูงสุด 20 บาท

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วมสองสายจ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top