เปิดใช้รถไฟฟ้า ‘เหลือง-ชมพู’ ส่วน ‘ม่วง-แดง’ ราคาเดียว 20 บาทตลอดสาย

‘รถไฟฟ้า’ ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญสำหรับการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ ซึ่งก็มีบริการหลากสาย หลากสี เชื่อมต่อการเดินทางให้เกิดความสะดวกสบาย ทั้ง BTS MRT และ Airport Rail Link ซึ่งในปี 2566 นี้ มีรถไฟฟ้า 2 สายด้วยกันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการ

สายแรกคือ ‘สายสีเหลือง’ หรือที่มีชื่อน่ารัก ๆ ว่า ‘น้องเยลโล่’ ให้บริการช่วงสถานีลาดพร้าว-สถานีสำโรง จำนวน 23 สถานี ระยะทาง 30.4 กม. เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 13 สถานี (แยกลำสาลี-สำโรง) เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 66 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ทั้ง 23 สถานี (ลาดพร้าว-สำโรง) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา

โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้ เช่น เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว / เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีสำโรง / เชื่อมสายสีส้ม สถานีลำสาลี และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์ลิงก์ สถานีหัวหมาก

สายต่อมาคือ ‘สายสีชมพู’ หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘น้องนมเย็น’ ให้บริการช่วงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้ เช่น เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี / เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่ / รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และในอนาคตเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีมีนบุรี

นอกจากนี้ยังมี รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ส่วนตะวันออก ให้บริการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จำนวน 17 สถานี ระยะทาง 22.57 กม. ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากสัญญาเดินรถได้รวมอยู่กับสัญญาการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ

โดยปัจจุบันแม้จะมีการเปิดประกวดราคาและได้ตัวเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอดีสุดแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง กรณีที่มีเอกชนยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน ส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แต่คาดการณ์ว่าจะเปิดใช้เร็วที่สุดในปี 2569

และแน่นอนว่า นอกจากจะมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าทั้งสีเหลืองและชมพู ที่ทำให้การเดินทางครอบคลุมทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น เรื่องการเก็บค่าบริการที่ประชาชนเข้าถึงง่ายก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่รัฐบาลมุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนให้ได้มากที่สุด

โดยเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีแดงและสีม่วงเป็นราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย โดยมีเงื่อนไขดังนี้

กรณีเดินทางข้ามสาย ระหว่าง ‘สายสีแดง-สายสีม่วง’ จะต้องแตะเข้า-ออก และจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless หรือบัตรเครดิต-บัตรเดบิตเท่านั้น โดยบัตรที่สามารถใช้งานได้ มีดังนี้

-บัตรเครดิต : รองรับทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard)
-บัตรเดบิต : รองรับเฉพาะบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี
-บัตรพรีเพด : รองรับทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เช่น บัตร Travel Card บัตร Play ของเป๋าตังเปย์

ทั้งนี้ จะต้องใช้บัตรใบเดียวกันในการแตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า เพื่อรับสิทธิค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย

สำหรับรายละเอียดการคิดค่าโดยสาร และการใช้บัตรเครดิต-บัตรเดบิต เพื่อรับสิทธิค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กรณีเดินทางข้ามสาย มีดังนี้

1. อัตราค่าโดยสาร กรณีเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท เริ่มให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น.

2. ผู้โดยสารที่เดินทางข้ามสายผ่านระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ต้องใช้บัตรเครดิต Mastercard และ Visa ของทุกธนาคาร หรือบัตรเดบิต Mastercard และ Visa ของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี เข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า ที่ทางเข้า-ออก (Gate) ระบบรถไฟฟ้าที่รองรับการใช้งานระบบ EMV Contactless โดยไม่รับเงินสด หรือระบบตั๋วโดยสารของแต่ละผู้ให้บริการรถไฟฟ้า

3. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะต้องเปลี่ยนสถานีที่ ‘สถานีบางซ่อน’ เท่านั้น

4. ผู้โดยสารที่เดินทางข้ามสายระหว่างระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง กับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะต้องเดินทางข้ามระบบภายใน 30 นาที และใช้บัตรใบเดียวกัน หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด จะคิดตามอัตราค่าโดยสารสูงสุดคือ 42 บาท

ทั้งนี้ ผู้โดยสารควรมีเงินสำรองภายในบัตร ไม่ต่ำกว่า 40 บาท เพื่อรองรับการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless จากทางธนาคาร โดยหากการเดินทางเข้าเงื่อนไขตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ธนาคารจะดำเนินการ Cash Back กลับเข้าบัตรให้ภายใน 3 วัน

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ