Wednesday, 15 May 2024
รถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย

‘อุ๊งอิ๊ง’ นำทีม ‘เพื่อไทย’ เปิดตัวผู้สมัครส.ส. 33 เขต ชู ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย-รพ.50 แห่ง-กรุงเทพฯ ไม่จมน้ำ’

เพื่อไทยเปิดตัว ส.ส.กทม. 33 เขต คนบันเทิง -อินฟลูเอ็นเซอร์ แห่ร่วมงานเพียบ ‘แพทองธาร’ ชูคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ดันนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย-50 เขต 50 โรงพยาบาล-กรุงเทพฯ ไม่จมน้ำ

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.66 ที่ลานสเตเดียมวัน จุฬาซอย6 ถ.บรรทัดทอง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีงาน ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนกรุงเทพฯ’ จากพรรคเพื่อไทย พร้อมผู้ประสงค์ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ทั้ง 33 คน

นางสาวแพทองธารกล่าวถึงเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยที่ ‘คิดใหญ่’ เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองหลวงของทุกคนภายใน 4 ปี เพราะหลายปีที่ผ่านมา อนาคตของกรุงเทพ ฯ ถูกบีบให้แคบลงเรื่อยๆ จากปัญหาความแออัดด้วยความล้าหลังของระบบราชการภายใต้รัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยโอกาสที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง ทำให้ผู้คนยังคงดั้นด้นเดินทางมาสร้างชีวิตในที่แห่งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่รวบรวมทุกความแตกต่าง ทุกคนล้วนมีเรื่องราวและความฝันเป็นของตัวเอง พรรคเพื่อไทยจึงคิดพัฒนาความเจริญทางกายภาพของกรุงเทพฯ บนฐานความเข้าใจในความหลากหลาย ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตให้กับกรุงเทพมหานคร ‘คิดใหญ่เพื่อคนรุ่นใหม่ คิดใหญ่เพื่อคนกรุงเทพฯ’ จึงเป็นแนวทางนโยบายพัฒนากรุงเทพ ฯ ของพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ต้องเผชิญสภาวะเศรษฐกิจถดถอย พรรคเพื่อไทยจะช่วยเติมเงินรายได้ให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ให้ถึง 20,000 บาททันที เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวัน และขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำวุฒิปริญญาตรีเป็น 25,000 บาทจะสำเร็จภายใน 4 ปี

พรรคเพื่อไทยจะ ‘คิดใหญ่’ พัฒนาให้กรุงเทพ ฯ เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีทางการเงิน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการขันเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และผลักดันให้ประชาชนได้พัฒนาศักยภาพของตนอย่างน้อยครอบครัวละหนึ่งคน ผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power (OFOS) ให้ทุกคนได้เข้าถึงองค์ความรู้ พร้อมไปยืนบนเวทีโลก และสร้างรายได้ใหม่ด้วยทักษะของตน

คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ต้องสะดวกและปลอดภัยภายใต้การดูแลของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือ 20 บาท ตลอดสาย, เพิ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 50 แห่ง 50 เขต, แก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่ต้นเหตุ และ วางแผนแก้ไขระยะยาว ให้กรุงเทพ ฯ ไม่จมน้ำภายในปี 2575 ด้วยนโยบายสร้างเกาะรอบกรุงเทพฯ ให้เป็นเขื่อนแก้ปัญหาน้ำท่วม และลดความแออัด รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินในการสร้างเกาะและเขื่อนได้อย่างมหาศาล

นางสาวแพทองธารกล่าวปิดท้ายการปราศรัยในครั้งนี้ด้วยว่า แผนการพัฒนาของพรรคเพื่อไทย เพื่อคนรุ่นใหม่ เพื่อกรุงเทพมหานคร ยังไม่จบเพียงเท่านี้ แต่จะใหญ่ขึ้นและสมบูรณ์ขึ้นด้วยนโยบายอีกมากมาย ให้กรุงเทพฯ เติบโตด้วยความมั่นคงและมั่งคั่ง ความหลากหลายจะต้องคงอยู่ แต่ความเหลื่อมล้ำจะหมดไป ภายใต้การดูแลของพรรคเพื่อไทย กรุงเทพฯ จะต้องใหญ่พอสำหรับทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานได้มีการเปิดตัวมิวสิค วีดีโอ เพลง ‘เพื่อไทย คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนกรุงเทพ’ โดยมีผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.และบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วมแสดง  พร้อมทั้งเปิดตัวผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ครบทั้ง 33 เขต ดังนี้ 

เขตเลือกตั้งที่ 1 นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตบางรัก,เขตพระนคร,เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย,เขตดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี) , เขตสัมพันธ์วงศ์

เขตเลือกตั้งที่ 2 นางสาวลีลาวดี วัชโรบล ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตสาทร, เขตราชเทวี , เขตปทุมวัน

เขตเลือกตั้งที่ 3  นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เขตบางคอแหลม,เขตยานาวา

เขตเลือกตั้งที่ 4. นายนวธันย์ ธวัธวงศ์เดชากุล ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตคลองเตย ,เขตวัฒนา

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายขจรศักดิ์ ประดิษฐาน ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตห้วยขวาง, เขตวังทองหลาง (ยกเว้นแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์)

เขตเลือกตั้งที่ 6 นายภัทร ภมรมนตรี ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตดินแดง ,เขตพญาไท

เขตเลือกตั้งที่ 7 นายรัฐพงษ์ ระหงส์ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตบางซื่อ, เขตดุสิต (เฉพาะแขวงนครไชยศรี)
 
เขตเลือกตั้งที่ 8 นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตจตุจักร (ยกเว้นแขวงจันทรเกษมและแขวงเสนานิคม), เขตหลักสี่ (ยกเว้นแขวงตลาดบางเขน)
 
เขตเลือกตั้งที่ 9 นายอนุสรณ์ ปั้นทอง ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตบางเขน (ยกเว้นแขวงท่าแร้ง) , เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจันทรเกษมและแขวงเสนานิคม), เขตหลักสี่ (เฉพาะแขวงตลาดบางเขน)

เขตเลือกตั้งที่ 10 นายสุธนพจน์ กิจธนาพิทักษ์ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตดอนเมือง

เขตเลือกตั้งที่ 11 นายเอกภาพ หงสกุล  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตสายไหม (ยกเว้นแขวงออเงิน)

เขตเลือกตั้งที่ 12 นายญาณกิตติ์ ห่วงทรัพย์  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตบางเขน (เฉพาะแขวงท่าแร้ง) , เขตสายไหม (เฉพาะแขวงออเงิน), เขตลาดพร้าว (เฉพาะแขวงจระเข้บัว)

เขตเลือกตั้งที่ 13 นางสาวสกาวใจ พูนสวัสดิ์  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตลาดพร้าว (ยกเว้นแขวงจระเข้บัว) , เขตบึงกุ่ม (ยกเว้นแขวงคลองกุ่ม)

เขตเลือกตั้งที่ 14 นายพงศกร รัตนเรืองวัฒนา  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตบางกะปิ ,เขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์)
 
เขตเลือกตั้งที่ 15 นายพลภูมิ วิภัตภูมิประเทศ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตคันนายาว, เขตบึงกุ่ม (เฉพาะแขวงคลองกุ่ม)

เขตเลือกตั้งที่ 16 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตคลองสามวา (ยกเว้นแขวงสามวาตะวันออกและแขวงทรายกองดินใต้)

เขตเลือกตั้งที่ 17 นายไพฑูรย์ อิสระเสรีพงษ์  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตหนองจอก (ยกเว้นแขวงโคกแฝด แขวงลำผักชีและแขวงลำต้อยติ่ง), เขตคลองสามวา (เฉพาะแขวงสามวาตะวันออกและแขวงกองทรายดินใต้)

เขตเลือกตั้งที่ 18  นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตหนองจอก (เฉพาะแขวงโคกแฝด แขวงลำผักชีและแขวงลำต้อยติ่ง), เขตมีนบุรี (เฉพาะแขวงแสนแสบ) , เขตลาดกระบัง (เฉพาะแขวงลำปลาทิว)

เขตเลือกตั้งที่ 19 นายวิชาญ มีนชัยนันท์  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตมีนบุรี (เฉพาะแขวงแสนแสบ), เขตสะพานสูง (ยกเว้นแขวงทับช้าง)

เขตเลือกตั้งที่ 20 นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตลาดกระบัง (ยกเว้นแขวงลำปลาทิว)

เขตเลือกตั้งที่ 21 นายอรรฆรัตน์ นิติพน ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตประเวศ (ยกเว้นแขวงหนองบอน) ,  เขตสะพานสูง (เฉพาะแขวงทับช้าง)

เขตเลือกตั้งที่ 22 นายธกร เลาหพงศ์ชนะ  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตสวนหลวง, เขตประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอน)

เขตเลือกตั้งที่  23 นายกวีวงศ์ อยู่วิจิตร  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตพระโขนง, เขตบางนา

เขตเลือกตั้งที่ 24 นายศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตคลองสาน,เขตธนบุรี (ยกเว้นแขวงวัดกัลยาณ์ แขวงหิรัญรูจีและแขวงบางยี่เรือ) ,เขตราษฎร์บูรณะ (เฉพาะแขวงบางประกอก)

เขตเลือกตั้งที่ 25 นายกิตติพล รวยฟูพันธ์ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตทุ่งครุ, เขตราษฎร์บูรณะ (ยกเว้นแขวงบางประกอก)

เขตเลือกตั้งที่ 26 นายศรัณยสัณฑ์ วีรกุลสุนทร ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตจอมทอง (ยกเว้นแขวงบางขุนเทียน) ,เขตบางขุนเทียน (เฉพาะแขวงท่าข้าม)
 
เขตเลือกตั้งที่ 27 นางสาวกมลพัฒน์ ปุงบางกระดี่  ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตบางขุนเทียน (ยกเว้นแขวงท่าข้าม) , เขตบางบอน (เฉพาะแขวงบางบอนใต้และแขวงคลองบางบอน)

เขตเลือกตั้งที่ 28 นายวัน อยู่บำรุง ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม), เขตบางบอน (ยกเว้นแขวงบางบอนใต้และแขวงคลองบางบอน) , เขตจอมทอง (เฉพาะแขวงบางขุนเทียน)
 

เขตเลือกตั้งที่ 29 นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตบางแค (เฉพาะแขวงบางแคเหนือและแขวงบางไผ่), เขตหนองแขม (ยกเว้นแขวงหนองแขม)
 
เขตเลือกตั้งที่ 30 นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตบางแค (ยกเว้นแขวงบางแคเหนือและแขวงบางไผ่), เขตภาษีเจริญ (เฉพาะแขวงบางหว้า แขวงบางด้วนและแขวงคลองขวาง)
 
เขตเลือกตั้งที่ 31 นายจิรวัฒน์ อรัญยกานนท์ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตตลิ่งชัน (ยกเว้นแขวงบางเชือกหนัง), เขตทวีวัฒนา
 
เขตเลือกตั้งที่ 32 นายอารุม ตุ้มน้อย ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตบางกอกใหญ่,เขตภาษีเจริญ (ยกเว้นแขวงบางหว้า แขวงบางด้วนและแวงคลองขวาง), เขตธนบุรี (เฉพาะแขวงวัดกัลยาณ์ แขวงหิรัญรูจีและแขวงบางยี่เรือ), เขตตลิ่งชัน (เฉพาะแขวงบางเชือกหนัง), เขตบางกอกน้อย (เฉพาะแขวงศิริราช)

เขตเลือกตั้งที่ 33 นายธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตบางพลัด, เขตบางกอกน้อย (ยกเว้นแขวงศิริราช)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่างาน ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนกรุงเทพ’  ได้เชิญผู้เข้าร่วมงานจากหลากหลายวงการ อาทิ  ศิลปิน นักแสดง พิธีกร เช่น แจ๊ค- แฟนฉัน, ซัน - ประชากร, พระมหาเทวีเจ้า หรือแม่หญิงลี  คำผกา นอกจากนี้ยังมี TikTokers ชื่อดัง เช่น Pond on news และ  Benz singer มีสายมู หมอดู ชื่อดัง กลุ่มสตรี กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ เช่น วรินทร วัตรสังข์ หรือ แอนนา ทีวีพูล อดีตมิสทิฟฟานี่ กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มผู้ขับรถตุ๊กตุ๊ก แท็กซี่ และแฟนคลับของพรรคเพื่อไทยมาร่วมงานมากมาย  โดยที่นั่งภายในงานเต็มพื้นที่ก่อนงานจะเริ่มขึ้น

‘สุริยะ’ สัญญาทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เร่งผลักดัน ‘สายสีแดง-สีม่วง’ เป็นของขวัญปีใหม่

(12 ก.ย. 66) การแถลงนโยบายรัฐบาลช่วงค่ำวานนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ชี้แจงปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ว่า เมื่อตนมารับตำแหน่งรมว.คมนาคมแล้ว หลายโครงการต้องทบทวน อะไรดีก็ทำต่อ อะไรมีปัญหาก็ต้องทบทวน เพื่อประโยชน์ประชาชน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำต่อไป นโยบายนี้จะเริ่มทันที เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้ผู้มีรายได้น้อย โดยจะรวบรวมสัมปทานเส้นทางเดินรถไฟฟ้าของเอกชนทุกสายมาเจรจา ขั้นตอนเจรจาอาจต้องใช้เวลา 6 เดือน จากนั้น 20 บาทตลอดสายจะทำได้ทันที

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ‘ตลิ่งชัน-รังสิต’ ราคา 14-42 บาท และสายสีม่วง ‘บางซื่อ-คลองบางใหญ่’ ราคา 14-42 บาท จะปรับราคาตลอดเส้นทางเป็น 20 บาท จะเร่งผลักดันภายใน 3 เดือน เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ขณะที่สายสีเขียวที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. ต้องให้กทม.เป็นผู้ดำเนินการ แต่กระทรวงคมนาคมพร้อมจะสนับสนุน ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับสายสีส้ม เนื่องจากตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ขอเวลาพิจารณารายละเอียดทุกมิติ ทั้งข้อกฎหมาย ผลประโยชน์ประชาชน จะทำด้วยความโปร่งใส เพื่อผลประโยชน์ประเทศ ทราบว่าที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดที่แล้ว ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เคยเชิญนายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เคยออกมาเปิดเผยความไม่โปร่งใสเรื่องรถไฟฟ้า มารับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง แต่นายสุรเชษฐ์ไม่เคยรับคำเชิญ ดังนั้นในครั้งนี้จะขอเชิญท่านไปให้ข้อมูลอีกครั้ง

ด้านนายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับหนังสือเชิญจากกระทรวงคมนาคมให้ไปรับฟังข้อมูลเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้ทำหนังสือเชิญมา พร้อมจะไปรับฟังข้อมูล ซึ่งนายสุริยะตอบกลับว่า จะทำหนังสือเชิญนายสุรเชษฐ์มารับฟังข้อมูลต่อไป

ครม.อนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย  ประเดิม!! 'สายสีแดง-สายสีม่วง' คิกออฟบ่ายนี้  

(16 ต.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ประเดิมที่สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีม่วง (เตาปูน-บางไผ่) โดยรัฐบาลต้องใช้งบอุดหนุนปีละ 130 ล้านบาท 

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะไปเป็นประธานพิธีเปิดที่สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อใช้ทันที เริ่มบ่ายวันนี้ (16 ต.ค.66)

ถอดรหัสประโยชน์หลากเด้ง 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' ความเหลื่อมล้ำคนเมืองที่ถูกเคลียร์ไปพร้อมๆ กับการลดราคา

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนเลือกตั้ง นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย อย่างค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถูกปรามาสอย่างรุนแรง ว่าคงไม่สามารถทำได้จริง และมองนโยบายนี้เป็นเพียงนโยบายหาเสียงไว้เรียกคะแนนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงวันที่นโยบายนี้ถูกเข็นออกมา…นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกเหตุผลประกอบที่พอฟังดี ๆ นี่ไม่ใช่แค่นโยบาย แต่จะเป็นหมัดเด็ดซื้อใจเพื่อโกยฐานคนกรุงและปริมณฑล หากมีโอกาสทำ ได้มากพอสมควร

ตอนนั้น เศรษฐา ร่ายยาวว่า ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง เป็นปัญหายอดนิยมคู่กรุงเทพฯ มานานตั้งแต่รถไฟฟ้าเริ่มเปิดบริการตั้งแต่ปี 2542 โดยเป้าหมายแท้จริงตอนที่จะเริ่มสร้างนั้น ก็เพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ในความเป็นจริง กลับตาลปัตรมิได้เป็นเช่นหวัง เพราะปัจจุบันรถไฟฟ้ากลายเป็นระบบขนส่งของชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น เนื่องด้วยค่าบริการที่คนในสังคมหลาย ๆ กลุ่มเข้าไม่ถึง 

ที่กล่าวว่าหลายกลุ่มในสังคมเข้าไม่ถึงก็เพราะว่า ถ้าเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ ต่อเที่ยวคิดเป็น 11% ของค่าแรง (ไปกลับก็ 22%) ซึ่งแพงมากเทียบกับอัตราส่วนเพียงแค่ 1.5% ของค่าแรงที่เกาหลีใต้ 2.9% ที่ญี่ปุ่น หรือ 3.5% ที่สิงคโปร์ ซึ่งสังเกตได้ว่าในประเทศเหล่านั้นการขึ้นรถไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติ จนเหมือนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน 

นอกจากนี้แล้ว ประเด็นอัตราค่าโดยสารที่แพงกว่าคนอื่นนี้ ถูกซ้ำเติมโดยสภาวะเงินเฟ้อและวิกฤตโควิดในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาอีก ในเมื่อสินค้าจำเป็นแพงขึ้นและรายได้ลดลง รถไฟฟ้าก็กลายเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและเข้าไม่ถึงยิ่งไปกว่าเดิม ทำให้ประชาชนหลายคน ต้องยอมเสียเวลาเดินทางหลายต่อ นั่งรถตู้มาจากบ้าน ต่อรถเมล์ และเดินเพื่อให้ไปถึงที่หมาย เพียงเพราะไม่สามารถจ่ายค่ารถไฟฟ้าได้ เผลอ ๆ จะต้องเสียเวลาเดินทางเพิ่มขึ้นอีกเป็นชั่วโมง

เกมนี้ พรรคเพื่อไทย จึงฉลาดที่พยายามย้ำคำว่า “รถไฟฟ้าควรเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนชาวไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้” และเลือกสร้างนโยบายที่จะเข้าไปแตะราคาค่ารถไฟฟ้าให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเตรียมเร่งเจรจากับทุกภาคส่วนเพื่อลดค่าโดยสารลงให้เหลือ 20 บาทตลอดสายกับเส้นสีอื่น ๆ ให้เป็นอัตราขั้นต่ำที่เข้าถึงได้ และเป็นสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (เช่น ฝรั่งเศส)

กล่าวโดยสรุป ประโยชน์จากนโยบายการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ก็เพื่อปลดล็อกรถไฟฟ้าให้เหมาะต่อกลุ่มคนเมืองจำนวนมาก ด้วยราคาที่ไม่เกินเอื้อม

ขณะเดียวกัน การเข้าถึงระบบการเดินทางที่มีคุณภาพ สะดวก ปลอดภัย ตอบโจทย์ จะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวเมืองดีขึ้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ถ้ามองเชื่อมไปถึงประโยชน์ภาพใหญ่ของประเทศ นโยบายนี้ก็จะเพิ่ม ‘ประสิทธิภาพของเมือง’ ซึ่งตีเป็นมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ในทางตรง ขณะที่ในทางอ้อมนโยบายนี้ก็จะจูงใจให้คนเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จนลดการใช้รถใช้ถนน ลดปริมาณจราจรบนท้องถนน ช่วยบรรเทาปัญหารถติด สามารถคืนเวลาทำมาหากินที่เสียไปเปล่า ๆ กับการเดินทางบนท้องถนน ซึ่งสามารถนำไปใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้มหาศาล และยังทำให้ประชาชนชาวไทย ไม่ต้องอดหลับอดนอน มีเวลากับตัวเอง กับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายนี้ยังจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในทางบวก จะช่วยลดการปล่อยมลภาวะอันเกิดจากการลดอัตราการใช้รถใช้ถนน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นภัยเงียบของประชาชนอีกด้วย 

เรียกได้ว่า ถ้าเพื่อไทยทำแล้วเกิดผลลัพธ์เชิงบวกได้แบบโดมิโน่ แถมอาจเข้ามาเป็นฮีโร่ปลดล็อกราคาสายรถไฟฟ้าสีอื่น ๆ นอกจาก 'ม่วง-แดง' โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสายหลักสีเขียว (ไม่ต้องถึง 20 บาทก็ได้) โอกาสที่ชื่อเพื่อไทยจะไม่หลุดไกลจากสารบบคนกรุง ในวาระการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูง

เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 'สีม่วง-แดง' 20 บาทตลอดสาย  ดีเดย์ 30 พ.ย.นี้ เบื้องต้นใช้ผ่านระบบบัตร EMV

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของ รฟม. และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วม 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทดลองใช้ระบบ EMV Contactless เดินทางข้ามสาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง พร้อมๆ กับประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อติดตามตรวจสอบความเรียบร้อยในการให้บริการด้านการเดินทางแก่ประชาชน โดยนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย’ เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล ในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในด้านการเดินทาง และการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดที่ดำเนินงานด้านระบบรางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของ รฟม.และ รฟท. ที่เป็น 2 หน่วยงานนำร่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท มาใช้ในการให้บริการรถไฟฟ้าของภาครัฐ ตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ให้มีการติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมาในระบบเปรียบเทียบกับรายได้ เพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในการศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไป ที่สามารถสานต่อนโยบายดังกล่าวได้ และต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคตด้วย ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติมของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ในระยะ 1 เดือนกว่าๆ ที่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ได้เริ่มให้บริการด้วยอัตราค่าโดยสาร สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารในวันทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,274 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 6.07% และในวันหยุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,789 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 13.33% และ รฟม.คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้อัตราค่าโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมือง สายสีแดง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป รวมถึงการที่รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนถ่ายระบบได้โดยสะดวกที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ รฟม.พร้อมสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดทดแทน ในระยะยาวย่อมจะช่วยลดมลพิษทางอากาศและบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงได้ โดย รฟม.มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยไม่จำกัดการดำเนินงานเฉพาะในรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเท่านั้น แต่จะศึกษาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกับ ขร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถต่อยอดนโยบายนี้ไปใช้กับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในความรับผิดชอบของ รฟม.ได้อีกด้วย

ประกอบกับ รฟม.ได้พัฒนาระบบรับการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ไว้รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทุกสาย กับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างครบครันแล้ว จึงมีความมั่นใจว่า หากมีแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบใหม่ในอนาคต รฟม.จะสามารถให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

เปิดใช้รถไฟฟ้า ‘เหลือง-ชมพู’ ส่วน ‘ม่วง-แดง’ ราคาเดียว 20 บาทตลอดสาย

‘รถไฟฟ้า’ ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญสำหรับการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ ซึ่งก็มีบริการหลากสาย หลากสี เชื่อมต่อการเดินทางให้เกิดความสะดวกสบาย ทั้ง BTS MRT และ Airport Rail Link ซึ่งในปี 2566 นี้ มีรถไฟฟ้า 2 สายด้วยกันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการ

สายแรกคือ ‘สายสีเหลือง’ หรือที่มีชื่อน่ารัก ๆ ว่า ‘น้องเยลโล่’ ให้บริการช่วงสถานีลาดพร้าว-สถานีสำโรง จำนวน 23 สถานี ระยะทาง 30.4 กม. เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 13 สถานี (แยกลำสาลี-สำโรง) เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 66 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ทั้ง 23 สถานี (ลาดพร้าว-สำโรง) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา

โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้ เช่น เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว / เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีสำโรง / เชื่อมสายสีส้ม สถานีลำสาลี และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์ลิงก์ สถานีหัวหมาก

สายต่อมาคือ ‘สายสีชมพู’ หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘น้องนมเย็น’ ให้บริการช่วงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้ เช่น เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี / เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่ / รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และในอนาคตเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีมีนบุรี

นอกจากนี้ยังมี รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ส่วนตะวันออก ให้บริการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จำนวน 17 สถานี ระยะทาง 22.57 กม. ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากสัญญาเดินรถได้รวมอยู่กับสัญญาการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ

โดยปัจจุบันแม้จะมีการเปิดประกวดราคาและได้ตัวเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอดีสุดแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง กรณีที่มีเอกชนยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน ส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แต่คาดการณ์ว่าจะเปิดใช้เร็วที่สุดในปี 2569

และแน่นอนว่า นอกจากจะมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าทั้งสีเหลืองและชมพู ที่ทำให้การเดินทางครอบคลุมทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น เรื่องการเก็บค่าบริการที่ประชาชนเข้าถึงง่ายก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่รัฐบาลมุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนให้ได้มากที่สุด

โดยเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีแดงและสีม่วงเป็นราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย โดยมีเงื่อนไขดังนี้

กรณีเดินทางข้ามสาย ระหว่าง ‘สายสีแดง-สายสีม่วง’ จะต้องแตะเข้า-ออก และจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless หรือบัตรเครดิต-บัตรเดบิตเท่านั้น โดยบัตรที่สามารถใช้งานได้ มีดังนี้

-บัตรเครดิต : รองรับทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard)
-บัตรเดบิต : รองรับเฉพาะบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี
-บัตรพรีเพด : รองรับทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เช่น บัตร Travel Card บัตร Play ของเป๋าตังเปย์

ทั้งนี้ จะต้องใช้บัตรใบเดียวกันในการแตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า เพื่อรับสิทธิค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย

สำหรับรายละเอียดการคิดค่าโดยสาร และการใช้บัตรเครดิต-บัตรเดบิต เพื่อรับสิทธิค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กรณีเดินทางข้ามสาย มีดังนี้

1. อัตราค่าโดยสาร กรณีเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท เริ่มให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น.

2. ผู้โดยสารที่เดินทางข้ามสายผ่านระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ต้องใช้บัตรเครดิต Mastercard และ Visa ของทุกธนาคาร หรือบัตรเดบิต Mastercard และ Visa ของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี เข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า ที่ทางเข้า-ออก (Gate) ระบบรถไฟฟ้าที่รองรับการใช้งานระบบ EMV Contactless โดยไม่รับเงินสด หรือระบบตั๋วโดยสารของแต่ละผู้ให้บริการรถไฟฟ้า

3. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะต้องเปลี่ยนสถานีที่ ‘สถานีบางซ่อน’ เท่านั้น

4. ผู้โดยสารที่เดินทางข้ามสายระหว่างระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง กับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะต้องเดินทางข้ามระบบภายใน 30 นาที และใช้บัตรใบเดียวกัน หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด จะคิดตามอัตราค่าโดยสารสูงสุดคือ 42 บาท

ทั้งนี้ ผู้โดยสารควรมีเงินสำรองภายในบัตร ไม่ต่ำกว่า 40 บาท เพื่อรองรับการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless จากทางธนาคาร โดยหากการเดินทางเข้าเงื่อนไขตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ธนาคารจะดำเนินการ Cash Back กลับเข้าบัตรให้ภายใน 3 วัน

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

‘ขร.’ เผย ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ทำยอดนิวไฮ 3.5 หมื่นคนต่อเที่ยว สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการ สะท้อน!! แรงตอบรับ 20 บาทตลอดสาย

‘กรมการขนส่งทางราง’ เผย วันศุกร์สิ้นเดือนแรกของปี 67 หลังมีนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับสายสีแดงและสายสีม่วง ทำให้มีประชาชนใช้บริการสายสีแดงเพิ่มขึ้นสูงสุด (นิวไฮ) ต่อเนื่องตั้งแต่มีการเปิดให้บริการเดินรถมา เดินหน้า!! เตรียมความพร้อมรถไฟฟ้ารับงานเกษตรแฟร์ 2-10 ก.พ. 67

(27 ม.ค. 67) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนแรกของปี 2567 หลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายสีแดง 35,463 คน/เที่ยว (รวมผู้ใช้รถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 111 คน/เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยมีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,742,807 คน/เที่ยว ประกอบด้วย

1.) รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 212 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 83,132 คน/เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 29,308 คน/เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 53,824 คน/เที่ยว

2.) รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,659,675 คน/เที่ยว ประกอบด้วย

- รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 224 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 77,223 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 35,463 คน/เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 111 คน/เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ) (รวมทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 145 คน/เที่ยว) (นิวไฮสายสีแดงครั้งก่อนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จำนวน 34,719 คน/เที่ยว)
- รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 321 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 79,996 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 488 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 36 เที่ยววิ่ง) จำนวน 512,685 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,240 เที่ยววิ่ง จำนวน 847,525 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 170 เที่ยววิ่ง จำนวน 7,102 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 40,479 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูให้บริการ 384 เที่ยววิ่ง จำนวน 59,202 คน/เที่ยว

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้มีการจัดระบบฟีดเดอร์ (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ภายหลังจากได้มีการปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้ว พบว่า มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางเพิ่มศักยภาพจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญต่างๆ ที่ควรนำมาใช้อำนวยความสะดวก อาทิ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และ ศิริราช ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ประสาน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะมาร่วมงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ 2567 โดยใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีบางเขน และรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมากดังเช่นปีที่ผ่านมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top