Tuesday, 14 May 2024
2023TimeToRecord

สลายขั้ว การเมืองไทย ‘เพื่อไทย’ ผนึก 2 ลุง เพื่อชาติ

ว่ากันว่าช่วงเวลา 79 วัน ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 66 ถือเป็นช่วงเวลาที่ ‘เพื่อไทย’ น่าจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทางออกประเทศไทย หลังผลการเลือกตั้งออกมาในทิศทางที่ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้อย่างมากที่สุด

การหักอก ‘ก้าวไกล’ อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่เมื่อเงื่อนไขของพรรคก้าวไกลที่ยังรั้นกับการดัน 112 แบบสุดซอย ก็จำเป็นที่จะต้องผ่าทางตันประเทศ ด้วยการตัด ‘ก้าวไกล’ ออกจากสมการทางการเมือง

การประกาศ ‘ถอนตัว’ ของพรรคเพื่อไทยจากเอ็มโอยู และเดินหน้าไปจับขั้วกับพรรคการเมืองที่บรรลุข้อตกลงเดียวกันอย่างชัดเจน คือ ‘ไม่แตะต้อง 112’ จึงเหมือนเป็นการผลักพรรคก้าวไกลให้ต้องไปนั่ง ‘ฝ่ายค้าน’ โดยปริยาย ซึ่งแม้เรื่องนี้จะไม่เกินความคาดหมายของคอการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่า นี่คือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการสร้างความสมานฉันท์แก่ประชาชนคนไทยที่แตกแยกทางความคิดกันมานานร่วม 2 ทศวรรษ

ว่าแต่ ระหว่าง 79 วันของ ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคก้าวไกล’ มีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้นบ้าง ที่ทำให้ ‘ความชื่นมื่น’ แปรเปลี่ยนไปสู่การ ‘พลิกขั้ว’ ไปสู่ความเป็นหนึ่งของประเทศชาติ…วันนี้เราจะลองมาทบทวนเหตุการณ์ช่วงนั้นกันดู...

>>เดือนพฤษภาคม 2566

(14 พ.ค. 66) เลือกตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งได้ 151 เสียง

(15 พ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แถลงชัยชนะ และพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

(18 พ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอีก 6 พรรคหารือจับขั้วตั้งรัฐบาล ณ ร้านอาหารย่าน ถ.สุโขทัย เห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากของผลการเลือกตั้งจากประชาชน

(22 พ.ค. 66) นายพิธา พร้อม 7 หัวหน้าพรรคแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลประชาชน ร่วมกับ 8 พรรคการเมือง โดยมีการเซน MOU ร่วมกันตั้ง ‘รัฐบาลก้าวไกล’ จำนวน 23 ข้อ และ อีก 5 ข้อตกลงแนวทางบริหารประเทศ โดยไม่มีการบรรจุ ม.112 ใน MOU ด้วย

(30 พ.ค. 66) หลังการประชุมร่วม 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล ‘ชลน่าน-พิธา’ โชว์หวาน ประกบมือเป็นรูปหัวใจ ให้คำมั่นสัญญา ‘เพื่อไทย’ พร้อมล่มหัวจมท้าย ‘ก้าวไกล’ ไม่ว่าจะอยู่สถานะไหน พร้อมลั่น ‘ดีลลับ-ดีลล้วง’ ไม่มี จะมีก็แต่ ‘ดีลรัก’

(24 พ.ค. 66) ‘ก้าวไกล’ เจอดรามาทั้งปมประธานสภาฯ ที่จัดสรรไม่ลงตัวระหว่าง ก้าวไกลและเพื่อไทย

(30 พ.ค.2566) ‘พิธา’ นั่งวงหารือ 8 พรรคร่วม ณ ที่ทำการพรรคประชาชาติ ยังไม่คุยตำแหน่งประธานสภา

>> เดือนมิถุนายน 2566

(2 มิ.ย. 66) นักร้องปมหุ้น ITV อีกหนึ่งนาย อย่าง ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ นำพยานหลักฐานหุ้น ITV ต่อ กกต. ส่วน ‘พิธา’ ย้ำ!! ไม่หวงปมหุ้น มั่นใจ!! เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้

(9 มิ.ย. 66) กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้อง ปมหุ้นไอทีวี แต่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาตามความปรากฏ ม.151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝืน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน

(27 มิ.ย. 66) นพ.ชลน่าน ยืนยันว่ารัฐบาลข้ามขั้ว จะไม่เกิดขึ้น และเชื่อว่า การเจรจาระหว่างก้าวไกล กับเพื่อไทยจะเป็นไปได้ด้วยดี

(27 มิ.ย. 66) พรรคก้าวไกล เข้ารายงานตัวต่อสภา พร้อมใจสวมเสื้อสกรีนคำว่า ‘เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน’

>> เดือนกรกฎาคม 2566

(1 ก.ค. 66) เปิดข้อตกลงร่วม ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ สู่การเสนอชื่อ อาจารย์ ‘วันนอร์’ เป็นประธานสภาฯ ส่วนรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นของก้าวไกล และรองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นของเพื่อไทย

(13 ก.ค.2566) โหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ‘พิธา’ รอบแรกไม่ผ่าน

(14 ก.ค. 66) นพ.ชลน่าน ย้ำไร้แผน 2 เลือกนายกฯ และยืนยัน 8 พรรคต้องหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อหาแนวทางสู้โหวตนายกฯ รอบ 2

(19 ก.ค. 66) โหวตนายกฯ พิธา รอบ 2 ไม่ผ่านมติเสนอชื่อซ้ำ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

(20 ก.ค. 66) นพ.ชลน่าน ยืนยัน 8 พรรคยังจับมือแน่น ไม่คิดข้ามขั้ว คิดแต่เพียงว่า จะวางแผนอย่างไรให้ได้รับเสียงโหวตจากรัฐสภา ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

(22 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย เปิดบ้านต้อนรับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุเพื่อหาทางออกให้ประเทศในการจัดตั้งรัฐบาล

(23 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย เปิดบ้านต้อนรับพรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา หารือทางออกให้ประเทศในการจัดตั้งรัฐบาล

(27 ก.ค.2566) เลื่อนพิจารณาโหวตนายกฯ รอบ 3

(28 ก.ค. 66) พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีโหวตชื่อ ‘พิธา’ รอบ 2

>>เดือนสิงหาคม 2566

(2 ส.ค. 66) นพ.ชลน่าน แถลงปิดฉากความสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการฉีก MOU ทั้ง 2 ฉบับ พร้อมให้ก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน และเสนอชื่อ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ซึ่งได้เสนอในวันที่ 4 ส.ค.

(3 ส.ค. 66) ศาลรัฐธรรมนูญ เลื่อนพิจารณาคำร้องเสนอชื่อ ‘พิธา’ โหวตนายกฯ รอบ 2 โดยให้เลื่อนเป็นวันที่ 16 ส.ค. เวลา 09.30 น. ตามมาด้วยเวลา 14.00 น. ‘วันนอร์’ สั่งเลื่อนโหวตนายกฯ รอบ 3 ขณะที่พรรคเพื่อไทย เลื่อนแถลงจับขั้วตั้งพรรครัฐบาลใหม่ โดยไม่มีพรรคก้าวไกล

(21 ส.ค. 66) พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดตัว 11 พรรคร่วมรัฐบาลรวม 314 เสียงอย่างเป็นทางการ ก่อนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม โดยมีพรรค ‘2 ลุง’ ร่วมด้วยตามคาด

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ได้เข้าร่วมการแถลงข่าว แต่ส่งนายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และนายไผ่ ลิกค์ กรรมการบริหารพรรค มาร่วมแทน

หลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรทางการเมืองยืนยันว่า จะเสนอชื่อ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยต่อที่ประชุมรัฐสภา 22 ส.ค. และมั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบของ สส. และ สว.

(22 ส.ค. 66) บทสรุปของผลการลงคะแนน...
- เห็นชอบ 482 เสียง
- ไม่เห็นชอบ 165 เสียง
- งดออกเสียง 81 เสียง
- ไม่เข้าประชุม 19 เสียง

และนี่คือห้วงเวลาสำคัญของประเทศไทยในช่วงปีที่ 2566 ภายใต้มิติการเมืองไทย ‘สลายขั้ว’ ที่เชื่อว่าหลายคน ‘สมหวัง’ และหลายคนก็คง ‘ผิดหวัง’ กันไปตามระเบียบ

หวนสู่แผ่นดินเกิด ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กลับไทยในรอบ 17 ปี

เป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่สื่อไทยหลายสำนัก กล่าวขานชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หรือ ‘โทนี่ วู้ดซัม’ พร้อมด้วยคำขยายว่า ‘ผู้ลี้ภัยทางการเมือง’ และบ่อยครั้งที่มีชื่อนี้ปรากฏในหน้าสื่อ มักจะมาพร้อมกับคำวิพากษ์วิจารณ์ถึง ‘พฤติกรรม’ ในอดีต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ส่อไปในทางไม่ดี และเป็นภัยต่อประเทศไทย

เหตุของผลลัพธ์ที่กินเวลากว่า 17 ปีนี้ เกิดจาก ‘พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน’ ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ขณะทำภารกิจให้ประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สาเหตุของการทำรัฐประหารในครั้งนี้มีหลายประการด้วยกัน ดังนี้

1.ทักษิณ (พรรคไทยรักไทย) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบวาระ 4 ปี (เลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ. 2544) โดยไม่มีเหตุขัดข้องทางการเมือง (ลาออก ยุบสภา หรือถูกรัฐประหาร) และครบวาระเมื่อ 5 มกราคม 2548

2.ในการเลือกตั้ง 2548 พรรคไทยรักไทย ได้เก้าอี้ สส. รวม 377 ที่นั่ง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

3.เนื่องจากเป็นรัฐบาลพรรคเดียว และมีปัญหาในการบริหารประเทศอยู่บ่อยครั้ง แต่ฝ่ายค้านไม่สามารถถอดถอน นายกฯ และ ครม. ชุดนี้ได้ เพราะเสียงโหวตไม่เพียงพอ

4.ด้วยความมั่นอกมั่นใจในฝีมือและฐานเสียงที่หนุนหลัง ทำให้การดำเนินงานหลายอย่างสุ่มเสี่ยง เข้าข่ายผิดกฎหมาย และขัดต่อความรู้สึกของสังคม

5.การขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น 49.595% ให้กับกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ (ปี 2549) ซึ่งขัดต่อสถานะนายกรัฐมนตรีหลายประการ รวมถึงไม่มีการเสียภาษี จนทำให้คนไทยบางกลุ่มไม่พอใจ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ เมื่อผสมรวมกันแล้วก็เกิดเป็นมวลความเกลียดชังขึ้นในสังคม มีการออกมาเรียกร้องให้จ่ายภาษีตามกฎหมาย ลามไปจนถึงการตั้งกลุ่ม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ หรือม็อบเสื้อเหลือง เพื่อออกมาขับไล่ ต่อต้าน ‘ทักษิณ ชินวัตร’

เรื่องราวต่าง ๆ บานปลายจนถึงขั้นมีการทำรัฐประหาร และหลังจากนั้น นายทักษิณก็เดินทางกลับมาประเทศไทย (28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) และได้สร้างภาพจำจารึกไว้ให้คนไทยด้วยการ ‘ก้มกราบแผ่นดิน’ แต่หลังจากนั้นเพียง 5 เดือนก็ขออนุญาตศาลฯ เดินทางออกนอกประเทศ และไม่กลับมายังประเทศไทยอีกเลย 

นายทักษิณใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศ และเคยออกมาประกาศว่าจะกลับบ้านกว่า 20 ครั้ง ทว่าก็ไม่เคยมีครั้งไหนเกิดขึ้นจริง 

แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นายทักษิณ ได้ปรากฏตัวครั้งแรกในรอบ 17 ปี ที่สนามบินดอนเมือง และสร้างภาพประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเข้าถวายบังคมที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ก่อนจะออกมาโบกมือทักทายคนเสื้อแดงที่มารอต้อนรับ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปยังศาลฎีกา และเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตามกระบวนการทางกฎหมาย

การกลับมาในครั้งนี้ เหมือนจะมี ‘นัยสำคัญ’ บางอย่างที่ไม่มีใครล่วงรู้ นอกเสียจากคนใกล้ชิดเท่านั้น เพราะ ‘บังเอิญ’ ตรงกับวันที่ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทยพอดิบพอดี จนหลายคนเชื่อว่ามี ‘ดีลลับ’ เกิดขึ้นแน่นอน

จะอย่างไรก็ตาม จนถึง ณ ตอนนี้ ‘การเมืองไทย’ และ ‘คนไทย’ ก็ยังก้าวไม่พ้นชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

ปรากฏการณ์สลายขั้ว ‘เหลือง-แดง’ ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใด ก็น่าชื่นชม

ภายหลังจากการเลือกตั้งจบลง ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่มีความหลากหลายในแง่ของขั้วการเมือง ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นการสลายขั้วการเมืองครั้งสำคัญ หากแต่ยังเกิดอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ‘การสลายขั้วเหลือง-แดง’

ไม่ว่าเรื่องนี้จะมองในมุมไหน แต่หากมองในมุมคนไทย ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี ที่ให้ความหวังและน่าชื่นชม โดยเรื่องนี้ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า...

“ทุกข์ของคนไทยตอนนี้ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว โดยเฉพาะทุกข์ทางเศรษฐกิจและทุกข์เรื่องทำมาหากินที่ยังฝืดเคือง ดังนั้นการมีข่าวดี ๆ ออกมา ที่ช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่คนไทยด้วยกันเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง จงอย่าใจแคบ ความคิดก็อย่าคับแคบ มองภาพใหญ่ให้ออก มองป่าทั้งป่าให้ได้”

นั่นก็เพราะ การสลายขั้วขัดแย้งเหลืองแดงที่ดำรงมายาวนานกว่า 15 ปี แทบจะไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมื่อพี่น้องเหลือง-แดงชาวไทย เริ่มเข้าหากัน พูดคุยกันด้วยเหตุและผล จึงถือเป็น ‘ข่าวดี’ สำหรับคนไทยและสังคมไทย Land of Compromise พร้อม ๆ ไปกับการปรับตัวของ ‘ระบบการเมืองไทย’ ที่กลับสู่การเมืองแบบธนาธิปไตย หรือ Money Politics ในสมัยพรรคไทยรักไทย ปี พ.ศ. 2544 หรือเมื่อ 22 ปีก่อน ก่อนที่จะเกิด ‘การเมืองที่แบ่งขั้วขัดแย้งรุนแรง’ (Polarized Politics)

นอกจากนี้ สิ่งตามมา คือ การยุติ หรือหมดหายไปของ ‘วาทกรรมฝ่ายประชาธิปไตย VS ฝ่ายเผด็จการ’ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อครอบงำคนเสื้อแดง (เพื่อไทย) และด้อมส้ม (ก้าวไกล) ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นรัฐบาลใหม่ที่ครองอำนาจรัฐได้ อันที่จริงคือ เพื่อไทย+รัฐบาลชุดเดิม ที่เขี่ยก้าวไกลออกจากวงจรอำนาจให้กลายเป็น ‘พรรคฝ่ายค้านถาวร’ ของระบบการเมืองไทย

ขณะเดียวกัน การกลับเมืองไทย เพื่อ ‘ติดคุกแบบ VVIP’ ของโทนี่ ก็มิใช่การฟื้นคืนชีพของ ‘ระบอบทักษิณ’ แต่ควรมองว่า เป็นการปรองดองทางการเมืองระหว่างตระกูลชินวัตรกับขั้วอำนาจเดิมมากกว่า ซึ่งแต่ก่อนทั้งสองฝ่ายต่างมีบทเรียนจากความขัดแย้งกันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้สามารถปรับตัวเข้าหากันได้แบบ Win-Win ที่ไม่มีใครกินรวบหรือได้หมด

หลังจากนี้ จึงเป็นยุคที่พรรคการเมืองที่เอาใจใส่ แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้จริง และทำงานเป็น ถึงจะได้ใจประชาชน เข้าสู่ยุคที่การเมืองไทยจะแข่งขันกันตรงนี้ ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้ว

ประเทศไทยผ่านวิกฤต ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ มาได้อย่างหวุดหวิด หลังจากนี้ การเมืองไทยจะเดินไปตามระบบที่ควรจะเป็น เพื่อฝ่าวิกฤตปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ และผลกระทบจากการฟาดฟันกันของประเทศมหาอำนาจ สร้างสุขให้กับคนไทยที่รักและยึดมั่นใน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ อดีตว่าที่นายกฯ สู่ ‘ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต’ จากนิตยสารไทม์

“กาก้าวไกล…ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” วลีเด็ดของ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ใช้หาเสียงในศึกเลือกตั้ง 2566 และมีการเลือกตั้งไปเมื่อ 14 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า พรรคก้าวไกลกวาดเก้าอี้ สส. ทั่วประเทศได้ 151 ที่นั่ง มากเป็นอันดับหนึ่ง 

ส่วนพรรคเก่าแก่อย่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ ครองอันดับ 2 ได้ 141 ที่นั่ง ทำให้กระแสจับมือจัดตั้งรัฐบาลของทั้ง 2 พรรคมาแรง และเหล่าโหวตเตอร์ก็หมายมั่นในใจแล้วว่า กำลังจะได้รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย และมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี อย่างแน่นอน

แต่การเมืองก็คือการเมือง เหตุการณ์ที่ (ไม่) คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อการโหวตเห็นชอบในครั้งแรก ‘ไม่ผ่านมติสภาฯ’ หรือได้เสียงโหวตไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ โดยขาดเสียงสนับสนุนนายพิธาอีก 64 เสียง ส่งผลให้พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมหวังจะเสนอชื่อครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค. 66

แต่ผลปรากฏว่า การเสนอชื่อนายพิธา ชิงตำแหน่งนายกฯ ครั้งที่ 2 ถูกปัดตก ด้วยเหตุผลว่า… “การเสนอชื่อ นายพิธา เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ส่งผลให้การเสนอชื่อ นายพิธาซ้ำอีกครั้ง ไม่สามารถทำได้” เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นการปิดประตูการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของนายพิธาแล้ว 

แต่เวลาต่อในวันเดียวกันนั้น ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ มีมติเอกฉันท์ รับคำร้อง กกต. ที่ขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีถูกร้องถือหุ้นสื่อ ITV พร้อมมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 คำสั่งให้ นายพิธา ในฐานะผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

กลายเป็นว่า นายพิธาถูกปิดประตูใส่หน้า 2 ครั้งในวันเดียว ชวดเก้าอี้นายกฯ แถมยังไม่ได้ทำหน้าที่ สส.ในสภาฯ อีกด้วย ซึ่งนายพิธาก็ก้มหน้ารับ ยอมเดินออกจากสภาฯ แต่โดยดี

หลังจบเหตุการณ์อลหม่านไปไม่นาน วันที่ 13 ก.ย. 66 นิตยสารไทม์ (Times) เปิดเผยรายชื่อ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต ‘Times 100 Next’ หนึ่งในนั้นมีชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในหมวดหมู่ผู้นำ (Leaders) โดยนายพิธาก็ได้แสดงความดีใจ โดยบอกว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกเป็น ‘Times 100 Next’ จากนิตยสารไทม์ ร่วมกับบุคคลระดับโลกอีกหลาย ๆ คน

และอีก 2 วันต่อมา วันที่ 15 ก.ย. 66 นายพิธา ก็ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยให้เหตุผลว่า ‘ก้าวไกล’ จะเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่ดีได้ จำเป็นต้องมี ‘หัวหน้าฝ่ายค้าน’ จึงเปิดทางให้พรรคได้เลือกหัวหน้าคนใหม่ แต่ถึงอย่างไร ตนก็จะทำงานกับพรรคก้าวไกล ไม่ได้หนีหายไปไหน ซึ่งการลาออกในครั้งนี้ก็สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากในแวดวงการเมือง

แม้นายพิธาจะชวดเก้าอี้นายกฯ แถมยังไม่ได้ทำหน้าที่ สส. อันทรงเกียรติ แต่กระแสและชื่อเสียงก็ไม่ได้หายไปจากหน้าสื่อเลย ยังคงมีเรื่องราวให้ติดตามและพูดถึงไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปนิวยอร์กโดยมีคนไปต้อนรับมากมาย การร่วมงานจตุรมิตร การไปดูงานที่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง YG Ent. หรือการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงาน 100 วันแรกของรัฐบาลภายใต้การนำของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’

ทุกย่างก้าวของนายพิธา ถูกสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศจับตามอง และตีแผ่ออกมาเป็นข่าวอยู่เสมอ ๆ

ล่าสุด Google ประเทศไทย ก็ได้เผยคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2566 หรือ ‘Year in Search 2023’ ที่คนไทยให้ความสนใจตลอดทั้งปี 2566 ที่ผ่านมาในหมวดต่าง ๆ ซึ่งในหมวด Trending Person บุคคลที่ถูกค้นหามากที่สุดในปี 2566 ก็คือ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ นั่นเอง

เท่านั้นยังไม่พอ ผลโพลจากสำนักต่าง ๆ ก็ยังมีชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ติดอยู่เสมอ และได้ตอกย้ำว่าคนไทยยัง ‘หวัง’ ให้นายพิธานั่งเก้าอี้นายกฯ 

…แต่นั่นก็เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งหากไม่มี ‘ตัวแปร’ ใดเข้ามาทำให้เส้นทางการเมืองของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หยุดลง ก็คงได้เห็นชื่อนายพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรืออาจเป็นก้าวไปสู่ ‘นายกฯ พิธา’ ก็เป็นได้

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

2023 เหตุการณ์ต้องจำ

ในปี 2023 นี้ มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีตั้งแต่เรื่องน่ายินดี ไปจนถึงเรื่องสลดน่าเสียใจ วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวม 12 เหตุการณ์ที่ต้องจดจำ ในปี 2023 จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย!! ✨

ดาวเทียมฝีมือคนไทย ‘THEOS-2’ ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ

นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ และถือเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ไทย หลังจากดาวเทียม ‘THEOS-2’ ทะยานขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ ท่ามกลางความตื่นเต้นและยินดีของผู้คนที่จับตามองทั่วทั้งโลก 

สำหรับดาวเทียมสำรวจโลก หรือ ดาวเทียม ‘THEOS-2’ (Thailand Earth Observation Satellite 2) เป็นโครงการของหน่วยงาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเป็นรุ่นพัฒนาต่อยอดมาจาก ดาวเทียม THEOS-1 หรือ ไทยโชต (Thaichote) ที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การพัฒนาดาวเทียม ‘THEOS-2’ เพื่อใช้เป็นดาวเทียมทรัพยากรดวงใหม่ที่ยกระดับเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศในทุก ๆ องค์ประกอบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

นอกจากนี้ ดาวเทียม ‘THEOS-2’ ยังเป็นเทคโนโลยีดาวเทียมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย และถือเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกของประเทศไทยในระดับ Industrial Grade ที่วิศวกรดาวเทียมไทยได้มีส่วนสำคัญในการออกแบบและพัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศอีกด้วย

สำหรับคุณประโยชน์ของดาวเทียมดวงนี้ก็มีอยู่หลายด้านด้วยกัน ได้แก่

1. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ปริมาณพื้นที่ป่าที่เคยมีและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าที่เกิดขึ้นว่ามีการลดลงหรือเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ในพื้นที่ไหนบ้าง และประเทศไทยควรมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

2. ด้านการจัดการภัยพิบัติ เพื่อส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ ไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง และ PM 2.5 สามารถวางแผนความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้อย่างเท่าทันต่อสถานการณ์และทันท่วงที

3. ด้านการจัดการเกษตร เพื่อติดตามและคาดการณ์การปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและราคาพืชผล รวมถึงการวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของพืช เพื่อการใส่ปุ๋ยที่แม่นยำ หรือการแก้ปัญหาการระบาดของแมลงและโรคพืช เป็นต้น

4. ด้านการแบ่งปันข้อมูล โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าของข้อมูล ที่แบ่งปันกันได้ทั้งในแวดวงวิชาการ แวดวงธุรกิจ และความมั่นคง ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่ภาครัฐเท่านั้นแต่ยังรวมถึงภาคเอกชนและผู้ประกอบการเทคโนโลยีอวกาศทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

5. ด้านการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยที่สนใจในด้านวิทยาศาสตร์และอยากทำงานสายวิทยาศาสตร์ โดย GISDA ได้วางแผนระยะยาว เรื่องการส่งเสริมบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

‘เมืองโบราณศรีเทพ’ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

การประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย  เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ได้สร้างความปลื้มปีติยินดีแก่คนไทยทั้งประเทศ 

โดยความภาคภูมิใจนี้ เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ที่เล็งเห็นความสำคัญและคุณค่าของเมืองโบราณศรีเทพ จึงได้เสนอขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562 

โดยขอขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งต่อเนื่อง จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่…

>> เมืองโบราณศรีเทพ
>> โบราณสถานเขาคลังนอก
>> โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้จัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ นำส่งยังศูนย์มรดกโลก หรือ UNESCO 

หลังจากนั้น สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ส่งผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจประเมินเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อพิจารณาพื้นที่และองค์ประกอบว่าสอดคล้องกับเอกสารหรือไม่ มีคุณค่าสำหรับชาวโลก มากน้อยเพียงใด และสมควรที่ชาวโลกจะช่วยกันอนุรักษ์หรือไม่ เมื่อเดือนกันยายน 2565

จากความพยายามเมื่อปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน ผลของการทำงานตั้งแต่รัฐบาลลุงตู่ ก็ประสบความสำเร็จ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียน ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ เป็นแหล่งมรดกโลกภายใต้ชื่อ ‘เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง’ (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) นับว่าเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 4 ของประเทศไทย

ระยะเวลากว่าที่ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ จะได้รับเลือกเป็น ‘มรดกโลก’ ต้องผ่านห้วงเวลายาวนานถึง 4 ปี

สำหรับประวัติของเมืองโบราณศรีเทพ ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2447 หรือประมาณ 118 ปีที่ผ่านมา ‘สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ’ ทรงค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ที่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่า โดยแต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า ‘เมืองอภัยสาลี’ ต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้น มีชื่อเดิมว่า ‘เมืองท่าโรง’ และ ‘เมืองศรีเทพ’ จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้ น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า ‘เมืองศรีเทพ’

ต่อมากรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนอนุรักษ์และพัฒนา จนกระทั่งจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2527 ซึ่งตลอดเวลาดังกล่าว ได้มีการศึกษาวิจัย โดยนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ จึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันประเทศไทย ยังได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2567 อีกด้วย อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี

ก็หวังว่าจะได้ยินข่าวดีอีกครั้งในเร็ววัน!!

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

ภาพยนตร์ไทยฟีเว่อร์ ‘สัปเหร่อ-ธี่หยด’ โกยรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท

ปีนี้ถือเป็นปีทองของภาพยนตร์ไทยจริง ๆ ดูได้จากกระแสคนไทยพร้อมใจซื้อตั๋ว ตบเท้าเข้าโรงภาพยนตร์กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงครึ่งปีหลังปี 66 ที่ ‘สัปเหร่อ’ และ ‘ธี่หยด’ เข้าฉาย ก็ปลุกกระแสชมภาพยนตร์ไทยในโรงฯ ให้กลับมามีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น แถมทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวถึงยังเดินหน้าทุบสถิติในรอบ 10 ปีอีกด้วย

หากจะนิยามว่า…ปีนี้ ‘ภาพยนตร์ไทย’ กลายเป็น Product ที่สร้างรายได้ให้กับโรงภาพยนตร์เป็นกอบเป็นกำ ก็คงไม่ผิดนัก!! เพราะด้วยเสน่ห์และรสชาติที่ถูกใจคนดู ทำให้ทั้ง ‘สัปเหร่อ’ และ ‘ธี่หยด’ กลายเป็นภาพยนตร์ที่ถูกพูดถึงและเรียกคนเข้ามาดูในโรงภาพยนตร์ได้ไม่ยาก

เริ่มจาก ‘สัปเหร่อ’ กำกับโดย ‘ต้องเต ธิติ ศรีนวล’ เป็นผลงานภาคแยกของจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ ซึ่งจะถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสาน ให้มองเห็นคุณค่าของการมีชีวิต ทำทุกอย่างให้เต็มที่ และดูแลคนที่เรารักให้ดีที่สุด 

โดยเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นในหมู่บ้านโนนคูณในจักรวาลไทบ้าน เล่าถึงชีวิตของ ‘เจิด’ (นฤพล ใยอิ้ม) หนุ่มวัย 25 ปีที่เรียนจบกฎหมาย หวังไปสอบเป็นทนายหรือปลัดอำเภอ แต่พ่อ (อัจฉริยะ ศรีทา) ที่ทำอาชีพสัปเหร่อมีอาการป่วย เขาจึงต้องมาช่วยทำงานแทน ทั้งที่กลัวผีมาก 

และอีกด้านหนึ่ง เล่าชีวิตของ ‘เซียง’ (ชาติชาย ชินศรี) ชายหนุ่มที่ยังทำใจไม่ได้ เพราะแฟนเก่า ‘ใบข้าว’ (สุธิดา บัวติก) ได้เสียชีวิตไป จึงพยายามหาวิธีด้วยการศึกษาทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อที่จะได้พบเธอในโลกหลังความตาย แต่กลับไปพบพ่อของเจิดที่รอการทำพิธีถอดจิตไปโลกความฝัน ซึ่งพ่อเจิดเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถทำพิธีถอดจิต เลยนำมาสู่ข้อแลกเปลี่ยน เซียงต้องมาช่วยเจิดทำอาชีพสัปเหร่อ โดยสุดท้ายแล้วนั้น…ทุกอย่างมีเวลาของมัน เพราะมันคือธรรมชาติของความจริง ทุกคนเรียนรู้ เข้าใจการยื้อ และการเสียคนที่รักไป

หลังจากสัปเหร่อเข้าฉาย ก็กลายเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์อย่างมาก และส่งผลออกมาเป็นรูปธรรมผ่านการสร้างรายได้แบบถล่มทลาย เพราะหลังจากเข้าฉายเพียงแค่ 25 วัน ก็ทำเงินแตะ 700 ล้านบาทแล้ว อีกทั้ง ยังขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงที่สุดในรอบ 8 ปีด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีแผนโกอินเตอร์เข้าฉาย 9 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ไต้หวัน, มาเลเซีย, เมียนมา, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเชีย และกัมพูชา บอกเลยว่าไม่ธรรมดาจริง ๆ 

อีกหนึ่งภาพยนตร์กระแสแรงก็คือ ‘ธี่หยด’ ภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ ที่ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อ ‘ธี่หยด’ แว่วเสียงครวญคลั่ง ของ กฤตานนท์ หรือ คุณกิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ ผู้เป็นบุตรชายเจ้าของเรื่องราว เล่าถึงความลึกลับชวนขนลุกของเสียง ’ธี่หยด‘ ที่ถูกเขียนเล่าบนกระทู้พันทิปจนกลายเป็นนิยายดัง ก่อนที่คุณกิตจะนำมาเล่าอีกครั้งในรายการ The Ghost Radio ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย ‘คุ้ย ทวีวัฒน์ วันทา’

‘ธี่หยด’ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน พ.ศ. 2515 โดย ‘หยาด’ (เจลีลชา คัปปุน) และครอบครัวอาศัยอยู่ในหมู่บ้านห่างไกลแถบ จ.กาญจนบุรี ช่วงหน้าหนาว ‘แย้ม’ (รัตนวดี วงศ์ทอง) ซึ่งเป็นน้องสาวของหยาด เกิดอาการป่วย ประจวบเหมาะกับมีเรื่องราวประหลาด ที่เด็กสาวในหมู่บ้านเริ่มทยอยกันเสียชีวิตปริศนา และหลังจากที่แย้มเผชิญหน้ากับหญิงชุดดำปริศนาที่อาศัยโดดเดี่ยวอยู่กลางป่า ชีวิตแย้มก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

ซึ่งความประหลาดยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ช่วงเวลายามค่ำคืน คนในครอบครัวเริ่มได้ยินเสียงพูดแปลก ๆ จากแย้มแว่วว่า "ธี่หยด...ธี่หยด..." ขณะเดียวกันกับที่พี่ชายคนโต ‘ยักษ์’ (ณเดชน์ คูกิมิยะ) กลับบ้านเกิดหลังจากปลดประจำการทหาร จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้แย้มหายจากอาการประหลาด และทำให้ครอบครัวมีชีวิตรอดไปจากเสียงเพรียกสยองยามค่ำคืน

เพียงเข้าฉายแค่ 1 วัน ธี่หยดก็สร้างรายได้ทั่วประเทศ 39 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินร้อยล้านไวที่สุดแห่งปี ใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน และโกยรายได้ 500 ล้าน ภายใน 20 วัน 

งานนี้โกยทั้งเงิน ทั้งคำชม และสร้างเสียงหลอนให้คนเอาไปเล่าขานจนสยองทั่วทั้งประเทศกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ 2 เรื่องที่หยิบยกมาแล้ว ก็ยังมี ‘4 Kings 2’ ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์เรื่องราวระหว่างสถาบันอาชีวะ นักเรียนตีกัน และคำว่า ‘ครอบครัว’ ซึ่งก็ทำรายได้แตะ 200 ล้านภายใน 2 สัปดาห์

ก็หวังว่ากระแส ‘ชมภาพยนตร์ในโรงฯ’ จะยังคงอยู่ และช่วยให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะแรงกำลังสำคัญของวงการนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ บทดี ผู้กำกับเก่ง แล้วจะประสบความสำเร็จ แต่ต้องมีแรงหนุนจากผู้ชมด้วย 

และจะดียิ่งขึ้นหาก ‘รัฐบาล’ เข้ามาหนุนหลัง ปั้นให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์หลักของประเทศ ถึงตอนนั้น เราอาจจะได้เห็นภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลระดับโลกก็ได้!!

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ
 

กิจกรรม ‘แปรอักษรจตุรมิตร’ ‘ความภูมิใจ’ สู่กระแสเรียกร้องให้ ‘ยกเลิก’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11-18 พ.ย. 2566 ได้มีการแข่งขันฟุตบอล ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ซึ่งเป็นประเพณีการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ทั้ง 4 โรงเรียนของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยจะจัดขึ้นประทุก 2 ปี ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ 

นอกจากการแข่งขันฟุตบอลแล้ว ยังมีกิจกรรมร้องเพลงเชียร์ที่ถือเป็นการเพิ่มสีสันและบรรยากาศสนุกสนานให้กับงานแข่งขันด้วย และอีกไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้ก็คือ ‘การแปรอักษร’ ของทั้ง 4 สถาบัน ที่ถูกวางแผนและตั้งใจฝึกซ้อมกันมาอย่างดี จนออกมาเป็นภาพที่ประทับใจ 

สำหรับจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 ปี 2566 ก็จะมีหลากหลายภาพที่น่าจดจำ ไม่ว่าจะเป็นภาพสรรเสริญในหลวงกับพระราชินี ให้กำลังใจหมอกฤตไท หรือเป็นศิลปินท่านอื่น ๆ ให้ได้ชมและยิ้มตามกัน

แต่ทว่า งานจตุรมิตรสามัคคีปี 2566 กลับกลายเป็นประเด็นดรามาร้อน หลังมีศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ เดินแปะข้อความ “เลิกบังคับแปรอักษร” ตั้งแต่หน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ไปจนถึงบริเวณโดยรอบสนามศุภชลาศัย ก่อนจะลุกลามเข้าไปในโลกโซเชียลและกลายเป็นดรามาเดือดถึงขั้นติดแฮชแท็ก #เลิกบังคับแปรอักษร บนโลกทวิตเตอร์ (X) ซึ่งมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และเสียงก็แตกออกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยว่านักเรียนที่ร่วมงานจตุรมิตรถูกลิดรอนสิทธิมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไปเข้าห้องน้ำ ต้องปลดทุกข์ใส่ขวดแทน รวมถึงการแปรอักษรที่จะมีคะแนนจิตพิสัยให้อีกต่างหาก

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อผู้อำนวยการโรงเรียนในเครือจตุรมิตรในฐานะผู้จัดงานเกิดขึ้นว่าควร ‘ปรับปรุง’ การจัดงาน เช่น เพิ่มเวลาพักให้ชัดเจน เพื่อให้มีเวลากินข้าว พักเข้าห้องน้ำหรือหลบแดด และการขึ้นเชียร์หรือแปรอักษรควรเป็นไปตามความสมัครใจมากกว่าการบังคับกัน

ขณะเดียวกันอีกฝ่ายที่เป็นศิษย์เก่า หรือบุคคลอื่น ๆ ที่เห็นต่าง ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งไปยังกลุ่มที่ต้องการให้เลิกบังคับแปรอักษร โดยชี้ว่างาน ‘จตุรมิตร’ มาพร้อมกับกิจกรรมแปรอักษร ซึ่งถ้าไม่มีกิจกรรมดังกล่าวก็คงไม่มีงานจตุรมิตร อีกทั้ง เป็นเรื่องที่ทำกันมาจนเป็นประเพณี ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมีความภูมิใจอย่างยิ่ง 

ทางด้าน ‘วัน อยู่บำรุง’ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย และศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ว่า..“การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตร ‘การแปรอักษร’ คือความภาคภูมิใจของนักเรียน อาจารย์ ศิษย์เก่า และผู้ปกครอง ทั้ง 4 โรงเรียน” 

เช่นเดียวกัน ‘ดู๋ สัญญา คุณากร’ พิธีกรชื่อดัง และเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ ระบุว่า…“คุณไม่เคยรับรู้ถึงเกียรติภูมิของโรงเรียน ความอดทน ความเสียสละ การภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ที่จะสร้างเยาวชนที่มีเกียรติ มีรากเหง้า มีกำลังสติปัญญา และมีความเป็นมนุษย์ …ทั้งหมดต้องถูกหล่อหลอมโดยหลายช่องทาง หลายกิจกรรม มีทั้งยากและง่าย เหน็ดเหนื่อยและลำบาก” กล่าว

แต่ดูเหมือนว่า กระแสเรียกร้อง ‘ยกเลิกแปรอักษร’ จะเป็นเพียงอีเวนต์เล็ก ๆ ชั่วคราวของคนเพียงแค่ไม่กี่คน เพราะเมื่อการแข่งขันฟุตบอล ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ครั้งที่ 30 จบลง เสียงเรียกร้องก็เงียบหายไป ตรงข้ามกับความภาคภูมิใจของ ‘ชาวจตุรมิตร’ ที่ยังคงอยู่ และจะอยู่ตลอดไปตลอดกาล

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

‘สงกรานต์’ เทศกาลระดับโลก มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ย้อนกลับไปวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปีสำหรับคนไทย เมื่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก พิจารณาประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

สำหรับคำว่า ‘สงกรานต์’ มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า ‘การเปลี่ยนผ่านของดวงดาว’ หรือ ‘การเปลี่ยนแปลง’ โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ ทำให้คนไทยยึดถือวันสงกรานต์เป็น ‘วันขึ้นปีใหม่ไทย’ มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะในอดีตประเทศสยามใช้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางการจนกระทั่ง พ.ศ. 2431 ประกาศให้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน จากนั้นใน พ.ศ. 2484 จึงเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคมมาจนถึงทุกวันนี้

เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่มีความสวยงามและเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน และความอบอุ่น จากกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเล่นน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ยิ่งใครที่อยู่ห่างไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเฉลิมฉลองและกล่าวคำอวยพรให้แก่กัน ดังนั้น ปัจจุบันปฏิทินไทยจะกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ

สำหรับคนที่เกิดและเติบโตในไทย ก็คงคุ้นเคยกับเทศกาลนี้เป็นอย่างดี โดยแต่ละวันก็มีความหมายแตกต่างกันดังนี้

วันที่ 13 เรียกว่า ‘วันมหาสงกรานต์’ หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่น ๆ จนครบ 12 เดือน อีกทั้ง รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’

วันที่ 14 เรียกว่า ‘วันเนา’ แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปีเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็น ‘วันครอบครัว’

วันที่ 15 เรียกว่า ‘วันเถลิงศก’ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มศกใหม่ การกำหนดให้อยู่วันนี้ ก็เพื่อให้แน่ใจว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษแล้วอย่างน้อย 1 องศา

นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ นับเป็นเทศกาลที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดย ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ได้กำหนดแผนงานซอฟต์พาวเวอร์ ปี 2567 เล็งผลักดันการเล่นน้ำสงกรานต์ตลอดทั้งเดือนเมษายน หวังทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลก

นอกจากเล่นน้ำในวันสงกรานต์ 13-15 เมษายนแล้ว ยังมี ‘วันไหล’ ที่มักจะจัดหลังวันสงกรานต์ประมาณ 5-6 วัน โดยสถานที่เด่น ๆ ที่เรามักจะเห็นกันก็คือ วันไหลบางแสน, วันไหลพัทยา, วันไหลพระประแดง, วันไหลระยอง และวันไหลชลบุรี

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top