สลายขั้ว การเมืองไทย ‘เพื่อไทย’ ผนึก 2 ลุง เพื่อชาติ

ว่ากันว่าช่วงเวลา 79 วัน ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 66 ถือเป็นช่วงเวลาที่ ‘เพื่อไทย’ น่าจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทางออกประเทศไทย หลังผลการเลือกตั้งออกมาในทิศทางที่ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้อย่างมากที่สุด

การหักอก ‘ก้าวไกล’ อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่เมื่อเงื่อนไขของพรรคก้าวไกลที่ยังรั้นกับการดัน 112 แบบสุดซอย ก็จำเป็นที่จะต้องผ่าทางตันประเทศ ด้วยการตัด ‘ก้าวไกล’ ออกจากสมการทางการเมือง

การประกาศ ‘ถอนตัว’ ของพรรคเพื่อไทยจากเอ็มโอยู และเดินหน้าไปจับขั้วกับพรรคการเมืองที่บรรลุข้อตกลงเดียวกันอย่างชัดเจน คือ ‘ไม่แตะต้อง 112’ จึงเหมือนเป็นการผลักพรรคก้าวไกลให้ต้องไปนั่ง ‘ฝ่ายค้าน’ โดยปริยาย ซึ่งแม้เรื่องนี้จะไม่เกินความคาดหมายของคอการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่า นี่คือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการสร้างความสมานฉันท์แก่ประชาชนคนไทยที่แตกแยกทางความคิดกันมานานร่วม 2 ทศวรรษ

ว่าแต่ ระหว่าง 79 วันของ ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคก้าวไกล’ มีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้นบ้าง ที่ทำให้ ‘ความชื่นมื่น’ แปรเปลี่ยนไปสู่การ ‘พลิกขั้ว’ ไปสู่ความเป็นหนึ่งของประเทศชาติ…วันนี้เราจะลองมาทบทวนเหตุการณ์ช่วงนั้นกันดู...

>>เดือนพฤษภาคม 2566

(14 พ.ค. 66) เลือกตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งได้ 151 เสียง

(15 พ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แถลงชัยชนะ และพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

(18 พ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอีก 6 พรรคหารือจับขั้วตั้งรัฐบาล ณ ร้านอาหารย่าน ถ.สุโขทัย เห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากของผลการเลือกตั้งจากประชาชน

(22 พ.ค. 66) นายพิธา พร้อม 7 หัวหน้าพรรคแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลประชาชน ร่วมกับ 8 พรรคการเมือง โดยมีการเซน MOU ร่วมกันตั้ง ‘รัฐบาลก้าวไกล’ จำนวน 23 ข้อ และ อีก 5 ข้อตกลงแนวทางบริหารประเทศ โดยไม่มีการบรรจุ ม.112 ใน MOU ด้วย

(30 พ.ค. 66) หลังการประชุมร่วม 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล ‘ชลน่าน-พิธา’ โชว์หวาน ประกบมือเป็นรูปหัวใจ ให้คำมั่นสัญญา ‘เพื่อไทย’ พร้อมล่มหัวจมท้าย ‘ก้าวไกล’ ไม่ว่าจะอยู่สถานะไหน พร้อมลั่น ‘ดีลลับ-ดีลล้วง’ ไม่มี จะมีก็แต่ ‘ดีลรัก’

(24 พ.ค. 66) ‘ก้าวไกล’ เจอดรามาทั้งปมประธานสภาฯ ที่จัดสรรไม่ลงตัวระหว่าง ก้าวไกลและเพื่อไทย

(30 พ.ค.2566) ‘พิธา’ นั่งวงหารือ 8 พรรคร่วม ณ ที่ทำการพรรคประชาชาติ ยังไม่คุยตำแหน่งประธานสภา

>> เดือนมิถุนายน 2566

(2 มิ.ย. 66) นักร้องปมหุ้น ITV อีกหนึ่งนาย อย่าง ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ นำพยานหลักฐานหุ้น ITV ต่อ กกต. ส่วน ‘พิธา’ ย้ำ!! ไม่หวงปมหุ้น มั่นใจ!! เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้

(9 มิ.ย. 66) กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้อง ปมหุ้นไอทีวี แต่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาตามความปรากฏ ม.151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝืน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน

(27 มิ.ย. 66) นพ.ชลน่าน ยืนยันว่ารัฐบาลข้ามขั้ว จะไม่เกิดขึ้น และเชื่อว่า การเจรจาระหว่างก้าวไกล กับเพื่อไทยจะเป็นไปได้ด้วยดี

(27 มิ.ย. 66) พรรคก้าวไกล เข้ารายงานตัวต่อสภา พร้อมใจสวมเสื้อสกรีนคำว่า ‘เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน’

>> เดือนกรกฎาคม 2566

(1 ก.ค. 66) เปิดข้อตกลงร่วม ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ สู่การเสนอชื่อ อาจารย์ ‘วันนอร์’ เป็นประธานสภาฯ ส่วนรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นของก้าวไกล และรองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นของเพื่อไทย

(13 ก.ค.2566) โหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ‘พิธา’ รอบแรกไม่ผ่าน

(14 ก.ค. 66) นพ.ชลน่าน ย้ำไร้แผน 2 เลือกนายกฯ และยืนยัน 8 พรรคต้องหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อหาแนวทางสู้โหวตนายกฯ รอบ 2

(19 ก.ค. 66) โหวตนายกฯ พิธา รอบ 2 ไม่ผ่านมติเสนอชื่อซ้ำ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

(20 ก.ค. 66) นพ.ชลน่าน ยืนยัน 8 พรรคยังจับมือแน่น ไม่คิดข้ามขั้ว คิดแต่เพียงว่า จะวางแผนอย่างไรให้ได้รับเสียงโหวตจากรัฐสภา ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

(22 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย เปิดบ้านต้อนรับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุเพื่อหาทางออกให้ประเทศในการจัดตั้งรัฐบาล

(23 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย เปิดบ้านต้อนรับพรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา หารือทางออกให้ประเทศในการจัดตั้งรัฐบาล

(27 ก.ค.2566) เลื่อนพิจารณาโหวตนายกฯ รอบ 3

(28 ก.ค. 66) พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีโหวตชื่อ ‘พิธา’ รอบ 2

>>เดือนสิงหาคม 2566

(2 ส.ค. 66) นพ.ชลน่าน แถลงปิดฉากความสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการฉีก MOU ทั้ง 2 ฉบับ พร้อมให้ก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน และเสนอชื่อ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ซึ่งได้เสนอในวันที่ 4 ส.ค.

(3 ส.ค. 66) ศาลรัฐธรรมนูญ เลื่อนพิจารณาคำร้องเสนอชื่อ ‘พิธา’ โหวตนายกฯ รอบ 2 โดยให้เลื่อนเป็นวันที่ 16 ส.ค. เวลา 09.30 น. ตามมาด้วยเวลา 14.00 น. ‘วันนอร์’ สั่งเลื่อนโหวตนายกฯ รอบ 3 ขณะที่พรรคเพื่อไทย เลื่อนแถลงจับขั้วตั้งพรรครัฐบาลใหม่ โดยไม่มีพรรคก้าวไกล

(21 ส.ค. 66) พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดตัว 11 พรรคร่วมรัฐบาลรวม 314 เสียงอย่างเป็นทางการ ก่อนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม โดยมีพรรค ‘2 ลุง’ ร่วมด้วยตามคาด

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ได้เข้าร่วมการแถลงข่าว แต่ส่งนายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และนายไผ่ ลิกค์ กรรมการบริหารพรรค มาร่วมแทน

หลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรทางการเมืองยืนยันว่า จะเสนอชื่อ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยต่อที่ประชุมรัฐสภา 22 ส.ค. และมั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบของ สส. และ สว.

(22 ส.ค. 66) บทสรุปของผลการลงคะแนน...
- เห็นชอบ 482 เสียง
- ไม่เห็นชอบ 165 เสียง
- งดออกเสียง 81 เสียง
- ไม่เข้าประชุม 19 เสียง

และนี่คือห้วงเวลาสำคัญของประเทศไทยในช่วงปีที่ 2566 ภายใต้มิติการเมืองไทย ‘สลายขั้ว’ ที่เชื่อว่าหลายคน ‘สมหวัง’ และหลายคนก็คง ‘ผิดหวัง’ กันไปตามระเบียบ


ที่มา: ThaiPBS

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ