‘สงกรานต์’ เทศกาลระดับโลก มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ย้อนกลับไปวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปีสำหรับคนไทย เมื่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก พิจารณาประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

สำหรับคำว่า ‘สงกรานต์’ มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า ‘การเปลี่ยนผ่านของดวงดาว’ หรือ ‘การเปลี่ยนแปลง’ โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ ทำให้คนไทยยึดถือวันสงกรานต์เป็น ‘วันขึ้นปีใหม่ไทย’ มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะในอดีตประเทศสยามใช้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางการจนกระทั่ง พ.ศ. 2431 ประกาศให้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน จากนั้นใน พ.ศ. 2484 จึงเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคมมาจนถึงทุกวันนี้

เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่มีความสวยงามและเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน และความอบอุ่น จากกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเล่นน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ยิ่งใครที่อยู่ห่างไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเฉลิมฉลองและกล่าวคำอวยพรให้แก่กัน ดังนั้น ปัจจุบันปฏิทินไทยจะกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ

สำหรับคนที่เกิดและเติบโตในไทย ก็คงคุ้นเคยกับเทศกาลนี้เป็นอย่างดี โดยแต่ละวันก็มีความหมายแตกต่างกันดังนี้

วันที่ 13 เรียกว่า ‘วันมหาสงกรานต์’ หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่น ๆ จนครบ 12 เดือน อีกทั้ง รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’

วันที่ 14 เรียกว่า ‘วันเนา’ แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปีเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็น ‘วันครอบครัว’

วันที่ 15 เรียกว่า ‘วันเถลิงศก’ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มศกใหม่ การกำหนดให้อยู่วันนี้ ก็เพื่อให้แน่ใจว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษแล้วอย่างน้อย 1 องศา

นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ นับเป็นเทศกาลที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดย ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ได้กำหนดแผนงานซอฟต์พาวเวอร์ ปี 2567 เล็งผลักดันการเล่นน้ำสงกรานต์ตลอดทั้งเดือนเมษายน หวังทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลก

นอกจากเล่นน้ำในวันสงกรานต์ 13-15 เมษายนแล้ว ยังมี ‘วันไหล’ ที่มักจะจัดหลังวันสงกรานต์ประมาณ 5-6 วัน โดยสถานที่เด่น ๆ ที่เรามักจะเห็นกันก็คือ วันไหลบางแสน, วันไหลพัทยา, วันไหลพระประแดง, วันไหลระยอง และวันไหลชลบุรี

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ