'สกลธี' เสียดาย!! กทม.โอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นคืนให้คมนาคม พร้อมวิเคราะห์ 4 ข้อ 'ถูก-ผิด' ที่อยากให้ กทม.ลองนำไปพิจารณาใหม่

(1 มี.ค.67) นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เห็นข่าวที่ผู้บริหาร กทม.จะโอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นทางประกอบด้วย สายสีเทา ระยะที่ 1 (วัชรพล - ทองหล่อ) สายสีเงิน (บางนา - สุวรรณภูมิ) และสายสีฟ้า (ดินแดง - สาทร) คืนกลับให้กระทรวงคมนาคมแล้วบอกตรงๆ ว่าเสียดายครับ

ทั้ง 3 เส้นทางเป็นโครงการที่อยู่ในภารกิจของ กทม. และได้ทำการศึกษามานาน แต่ยังไม่ได้ลงมือทำเพราะใช้งบประมาณเยอะพอสมควร ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทางผู้บริหาร กทม. ได้ให้ข่าวกับทางสื่อสารมวลชน ประกอบกับให้เหตุผลว่าการโอนภารกิจกลับคืนกระทรวงคมนาคมจะได้ประสานคิดค่าตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีอื่นภายใต้กระทรวงคมนาคมง่ายกว่าไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ประโยชน์จะได้เกิดกับประชาชนสูงสุด

อันนี้ผมว่ามีทั้งส่วนถูกและไม่ถูกครับ

1. เรื่องการลงทุนมีส่วนถูกคือถ้าให้ กทม. ลงทุนเพียงฝ่ายเดียวก็คงเกิดยากและกระทบกับงบประมาณในส่วนอื่นที่ต้องดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพฯ แต่โครงการใหญ่แบบนี้โดยเฉพาะทั้ง 3 เส้นทางที่มีผู้อยู่อาศัยและศักยภาพในการใช้บริการจำนวนมากย่อมดึงดูดเอกชนให้มาร่วมทุนได้อย่างแน่นอน รวมถึงยังสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์โดยรอบสถานีในรูปของการเช่า การโฆษณาหรือการเชื่อมต่อสถานีกับอาคารต่างๆ กลับคืนมาได้ไม่มากก็น้อย 

2. หรือถ้าหาเอกชนร่วมทุนไม่ได้จริงๆ (ซึ่งกรณีนี้ผมว่ามีโอกาส แต่ยากมาก เพราะทั้ง 3 เส้นทางมีศักยภาพในการดึงดูดเอกชนมาลงทุน) ด้วยสายสัมพันธ์ของท่านผู้ว่าฯ กับรัฐบาลน่าจะแบ่งงบประมาณ มาลงทุนในโครงการเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย

3. เรื่องค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนอันนี้ถูกครับว่าไม่ควรเก็บ แต่การโอนทั้ง 3 เส้นทางไปให้กระทรวงคมนาคม สมมติว่าก่อสร้างเสร็จทั้ง 3 เส้นทาง ส่วนใหญ่ก็ต้องมาเชื่อมกับสายสีเขียว (ของ กทม.) ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของกรุงเทพฯ อยู่ดี ความซ้ำซ้อนก็ยังคงมีอยู่ ทางที่ถูกควรจะนั่งเจรจากันระหว่าง กทม. กับรัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนและใช้ตั๋วร่วมใบเดียวให้เกิดให้ได้ซักที เหมือน Octopus card ของฮ่องกง ที่ใช้ได้เกือบทุกการคมนาคมขนส่งและร้านสะดวกซื้อ

4. ถึงที่สุดถ้าเลือกโอนไปให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงคมนาคมรับขึ้นมา ก็ใช่ว่าโครงการจะเกิดได้เร็ว เนื่องจากในส่วนของทางกระทรวงคมนาคมก็มีโครงการอีกมากมายของตัวเองที่ต้องผลักดันทั่วประเทศ รวมถึงรถไฟในกรุงเทพฯ อีกหลายเส้นทางที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมก็ยังไม่เกิด ยิ่งโครงการเรือธงของกระทรวงอยากจะทำเรื่อง Land Bridge ซึ่งใช้งบประมาณเป็นล้านๆ บาท ความเร่งด่วนของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายในกรุงเทพฯ น่าจะไม่อยู่ในสายตาของทางกระทรวงแน่นอนครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็อยากจะหวังเห็นทีมผู้บริหาร  กทม. ชุดนี้ใช้ความพยายามสูงสุดทุกทางในการที่จะให้โครงการเกิดเสียก่อน ถ้าเดินแล้วมันไม่ได้หรือติดจริงๆ จะยกโอนให้กระทรวงคมนาคมผมว่าคนกรุงเทพฯ ก็คงไม่ติดใจครับ

เอาไว้วันหลังมีโอกาสจะมาแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่อยากให้เกิดในกรุงเทพฯ ของเราเพื่อให้เมืองของเราอยู่สบายและมีความสุขเหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกครับ

ป.ล. อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้เกิดมากและเยอะๆ คือขนส่งสาธารณะสายรองหรือ Feeder ที่จะพาคนเข้าขนส่งขนาดใหญ่ได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบ้านหรือคอนโดอยู่ในระยะเดินถึงสถานีรถไฟฟ้าได้ครับ