'สาวท้อง' โวย!! 'ที่นั่งบุคคลพิเศษ' ใน รฟฟ. แต่คนท้องไม่ได้นั่ง ชาวเน็ตเสียงแตก!! บ้างบอกควร 'เสียสละ' บ้างบอก 'สิทธิ์ส่วนบุคคล'

(4 ม.ค. 67) กลายเป็นเรื่องราวถกสนั่นร้อนระอุไปทั่วโลกโซเชียล เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาแชร์ประสบการณ์การเดินทางที่ ‘คนท้อง’ ต้องเผชิญ สะท้อนทัศนคติผู้คนในสังคมต่อ คนท้อง และทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ คนท้อง ในสังคมนั้นมีเพียงพอหรือยัง?

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้โพสต์ข้อความว่า “ขอบคุณที่นั่งสำหรับ คนพิการ พระสงฆ์ และ คนท้อง (ที่ไม่ได้นั่งเลย ยืนตลอดสาย ) ตั้งแต่ แบริ่ง – อโศก และเป็นวัน ที่ 3 ม.ค. 67 เป็นวันที่คนเริ่มกลับมาทำงาน และ บนรถไฟฟ้า ผู้คนแน่นมาก ๆ แต่สำหรับคนท้องที่มีที่นั่งพิเศษ กลับไม่ได้นั่ง”

“ส่วนคนที่แข็งแรง และ เป็นผู้ชาย แหงนหน้ามามองหลายรอบมาก แต่กลับนิ่งเฉย (ฉันยืนเหงื่อแตก ตาลาย ไหนมือนึงจะเกาะเสา ไหนอีกมือ จะคว้านหายาดมในกระเป๋า (แทบล้มตอนขบวนออกตัว)”

“แต่เขาก็ยังนั่งมองฉันเฉย ๆ แบบไม่มีจิตสำนึกอะไรเลย ผู้คนในรถไฟฟ้าต่างมองเขากัน แต่เขาก็ยังทำตัวนิ่งเฉย เริ่มไม่เข้าใจแล้วว่า ที่นั่งสำหรับ คนท้อง คนพิการ พระสงฆ์ ติดป้ายยังไม่ชัดเจนใช่ไหม? หรือ เข็มกลัดที่ท้องเรา มันเห็นไม่ชัดใช่ไหม (ทั้งๆที่มันอยู่ตรงหน้าคุณแท้ๆ)”

เมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นไวรัลสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นในสังคม ความคิดเห็นจากโลกโซเชียลแตกออกหลายเสียง

ความคิดเห็นบางส่วนมองว่า การลุกให้ คนท้อง นั่งใน ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ เป็นเรื่องของ ‘การเสียสละ และมีน้ำใจ’ คอมเมนต์บางรายถึงขั้นมองเป็นหน้าที่ เพราะผู้ที่ตั้งครรภ์ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเดินทางอย่างมาก โดยเฉพาะการเดินทางโดยรถสาธารณะ

ยิ่งไปกว่านั้น ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ ก็มีไว้เพื่อให้บุคคลพิเศษที่มีความจำเป็นนั่ง ทั้งยังมองว่าเป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ควรตระหนักรู้ได้ด้วยตนเอง

พร้อมกันนี้ยังมีเสียงจาก คนท้อง ที่ออกมาแชร์ประสบการณ์ความยากลำบากในการเดินทางเช่นเดียวกันจำนวนมาก

คอมเมนต์อีกด้านมองว่า แม้ว่าที่นั่งดังกล่าวจะเป็น ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ แต่ไม่ได้มีกฎระเบียบข้อบังคับ เพียงแค่ขอความร่วมมือเท่านั้น ดังนั้นการจะลุกหรือไม่ลุกให้นั่ง จึงไม่ใช่ความผิด แต่เป็นความสมัครใจส่วนบุคคล

ขณะที่คอมเมนต์อีกส่วน จวกแรง วิจารณ์พฤติกรรมของเจ้าของโพสต์ว่า ทำไมถึงไม่พูดกับชายที่นั่งตรง ๆ แทนที่จะถ่ายมาโพสต์ประจาน? และมีคอมเมนต์โจมตีมากมาย

โดยทางเจ้าของโพสต์เผยว่า เธอต้องการเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ท้อง แต่ไม่ได้รับการซัพพอร์ตทางสังคมในที่สาธารณะ ทั้งยังยกกรณีคอมเมนต์จากคนท้องที่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน ซึ่งเธอหวังว่า จะสร้างความตระหนักรู้ในสังคมได้

อย่างไรก็ดี ทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) เคยมีการชี้แจงถึง ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ ไว้ดังนี้

ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ (Priority seat) คือ ที่นั่งสำรองให้แก่ เด็ก, สตรีมีครรภ์, คนพิการ, ผู้ป่วย, พระภิกษุสงฆ์ และผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ทางบีทีเอส ได้ออกแบบสัญลักษณ์ที่นั่งสำรอง เพื่อให้เห็นเด่นชัด สังเกตได้ง่าย พร้อมที่จะเอื้อเฟื้อที่นั่งสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ที่นั่งพิเศษนี้

ที่นั่งสำรองนี้ ผู้โดยสารทุกคนสามารถนั่งได้ แต่ต้องพร้อมที่จะเสียสละ เมื่อมีบุคคลพิเศษที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ร่วมสร้างสังคมมีน้ำใจในการเดินทาง มีน้ำใจให้แก่กัน ทำให้การเดินทางในแต่ละวันมีแต่รอยยิ้ม

กลายเป็นประเด็นดราม่าถกสนั่น สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่ ผู้คนในสังคม มีต่อ คนท้อง ขณะที่ประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับภาวะเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงจนถึงขั้นวิกฤต ยิ่งทำให้เกิดคำถามต่อสังคมว่า สวัสดิการและสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ คนท้อง ในพื้นที่สาธารณะในสังคมไทยนั้นมีเพียงพอแล้วหรือยัง? โดยเรื่องราวจะจบลงอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป