เปิดสูตรค่าโดยสาร ‘ชมพู+BTS’ ตามแผนตั๋วร่วม  ปรับลดเพดาน 107 บาท ให้จบที่ไม่เกิน 65 บาท

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.67 เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘เข้าใจปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ต่อ BTS 107 บาท มายังไง??? แล้วแก้อย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ประชาชนโดยสารได้ในราคาที่เหมาะสม!!’ ระบุว่า...

จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ได้เก็บค่าโดยสารอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการเก็บค่าโดยสารใน BTS ส่วนต่อขยายสายเหนือ (หมอชิต-คูคต) ที่สามารถซื้อตั๋วโดยสารจากต้นทางสายสีชมพู เพื่อตรงเข้ากลางเมือง ด้วย BTS ได้ด้วยบัตรใบเดียว!!

ทำให้เกิดการช็อกกับค่าโดยสารต่อ Trip ของการเดินทางต่อเนื่องตลอดเส้นทาง จากสายสีชมพูต่อสายสีเขียว เพื่อเข้ากลางเมือง ซึ่งราคาสูงสุดกว่า 107 บาท!!

ซึ่งเราต้องมาทำความเข้าใจ โครงสร้างราคาปัจจุบัน ของรถไฟฟ้าทั้ง 3 ส่วนนี้ก่อนนะครับ

1.) รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ผู้ให้สัมปทาน รฟม.) ค่าโดยสาร 15-45 บาท ซึ่งถ้านับจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (จุดเชื่อมต่อ BTS) ซึ่งค่าโดยสารจะไปถึงค่าสูงสุด ตั้งแต่สถานีแยกปากเกร็ด และ สถานีนพรัตน์ ออกไป

2.) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ส่วนต่อขยายเหนือ หมอชิต-คูคต (เป็นของ กทม. เอง) ซึ่งปัจจุบันเก็บค่าโดยสารอัตราเดียว 15 บาท ตลอดสาย

3.) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ส่วนสัมปทานหลัก (ไข่แดง) ค่าโดยสาร 17-47 บาท ซึ่งถ้านับจากสถานีหมอชิต จะชนอัตราสูงสุด ที่สถานีสยาม

ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบที่ BTS เป็นผู้ให้บริการ แต่แตกต่างที่เจ้าของสัมปทานต่างๆ ทำให้ คนที่เดินทางจากมีนบุรี เข้าสยาม ต้องจ่ายค่าโดยสารที่อัตราสูงสุด 107 บาท!!

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง?

1.) ให้ BTS ทำส่วนลดค่าแรกเข้า ภายในระบบที่ BTS เป็นผู้ให้บริการ เช่น ระหว่าง ชมพู และ เขียว ซึ่งจะสามารถลดราคาได้ 15 บาท ก็จะเหลือ 92 บาท

2.) เคลียร์ปัญหาสัมปทาน BTS-กทม. และเพิ่มข้อบังคับด้านการรองรับตั๋วร่วม และมาตรฐาน EMV ของ ให้ใช้กับระบบ BTS ได้

3.) แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ‘ผลักดัน พรบ. ตั๋วร่วม’ ซึ่งจะจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม เพื่อเป็นกองทุนที่จ่ายส่วนต่างที่เกิน จากสัมปทาน และผลักดัน ตั๋วโดยสารกลาง ซึ่งก็อาจจะได้เห็นตั๋ววัน หรือตั๋วเดือน ที่จะใช้ได้ทั้งกรุงเทพทุกระบบการเดินทาง!!

ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้น ค่าโดยสารสูงสุดด้วยการใช้ระบบตั๋วร่วม อยู่ที่ 65 บาท/การเดินทาง!!

มาทำความเข้าใจ รายละเอียดการศึกษา การพัฒนาตั๋วร่วม ได้ที่เว็บไซต์ของโครงการ >> http://www.thaicommonticket.com

ซึ่งจากแผนการพัฒนาระบบตั๋ว ร่วมจำเป็นต้องมีการออก พรบ. ตั๋วร่วม โดยจะมีส่วนประกอบ คือ…

- จัดตั้งตั้งองค์กรกลางในการควบคุม และบริหารตั๋วร่วม
- จัดตั้งกองทุนส่งเสริมตั๋วร่วม ซึ่อจะมีที่มารายได้จากหลายด้าน เช่น การรับส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทาน ค่าธรรมเนียมต่างๆ และการบริหารจัดการบัตร

โดยประชาชนจะได้ประโยชน์ จากตั๋วร่วม จากหลายส่วน คือ…

- ใช้บัตรมาตรฐานเดียว ซึ่งเป็นระบบเปิด ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็ออกบัตรให้ได้ รวมถึงการใช้มาตรฐาน EMV ซึ่งติดอยู่ในบัตรเครดิต ทุกใบ

- รวมอัตราค่าโดยสารของทุกระบบ และทุกรูปแบบในบัตรเดียว 
ซึ่งในส่วนรถไฟฟ้ารวมทุกสาย สูงสุดไม่เกิน 65 บาท และลดค่าแรกเข้าระหว่างเปลี่ยนสาย

- มีส่วนลดค่าแรกเข้าเปลี่ยนระหว่างระบบขนส่ง เช่น รถเมล์ และ เรือ อย่างน้อย 10 บาท

ซึ่งถ้าสามารถผลักดัน พรบ.ตั๋วร่วมออกมาและถูกนำไปใช้ได้จริง จะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าเดินทางไปอีกมหาศาล!!

คงต้องขอฝากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สุรพงษ์ ปิยะโชติ - Surapong Piyachote กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และ สนข. ช่วยผลักดันเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนครับ


ที่มา : โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure
https://www.facebook.com/Thailand.Infra/posts/pfbid02cWSghBrTR5SjWuww3PDoBBjowd5ByFa1HWdkKqChYNEAdxEgGTyqePwJy1tRxS5Nl