Tuesday, 22 April 2025
ยูเครน

ทหาร 1 แสนนายหนีทัพ รัสเซียเผยสูญเสียหนัก เซเลนสกีไม่มีทางเลือก แก้กม.ดึงเด็ก 18 ปีสู้ศึกแทน

(30 ม.ค.68) กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีทหารยูเครนราว 100,000 นาย ละทิ้งหน้าที่จากหน่วยของตนเองและหลบหนีไป โดยกรณีการหนีทัพดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเวลานี้

รายงานระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กองทัพยูเครนสูญเสียกำลังพลโดยเฉลี่ยประมาณ 50,000 คนต่อเดือน

"จากข้อมูลทางการ ทหารยูเครนประมาณ 100,000 คน ได้ละทิ้งหน่วยทหารของตนโดยพลการและหลบหนีไป" กระทรวงฯ กล่าวในแถลงการณ์ นอกจากนี้ ยังเสริมว่า อัตราการระดมพลในยูเครนไม่สามารถชดเชยการสูญเสียได้ ส่งผลให้จำนวนกำลังพลของยูเครนลดลงอย่างต่อเนื่อง

กลาโหมรัสเซียยังเผยอีกว่า ด้วยสภาพดังกล่าวทำให้รัฐบาลเคียฟมีทางเลือกไม่มาก โดยอาจใช้วิธีการแก้ไขกฎหมายลดอายุเกณฑ์การระดมพลจาก 25 ปีเหลือ 18 ปี ซึ่งเป็นเพียงวิธีเดียวที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี จะสามารถทำได้เพื่อยืดเวลาการรบในแนวหน้าโดยเฉพาะที่ภูมิภาคดอนบาสออกไปอีกไม่กี่เดือน แต่นั่นก็ทำให้ยูเครนถูกบรรดาชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์

USAID หนุนทุนวิจัยอาวุธชีวภาพ มอบเงิน 307,000 ดอลลาร์ ให้โครงการในยูเครน

(4 ก.พ. 68) หลังจากมีกระแสข่าวที่ว่าอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและคณะทำงานกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล  DOGEมีแผนสั่งยุบองค์กรที่ให้การช่วยเหลือระดับโลกของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ชื่อ USAID นั้น เว็บไซต์ข่าวสปุตนิก รายงานว่า พลโท อิการ์ คิริลอฟ หัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพของกองทัพรัสเซีย ผู้ล่วงลับจากเหตุระเบิดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เคยออกมาแฉถึงเบื้องหลังของ USAID ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนวิจัยอาวุธชีวภาพในยูเครน

ก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ได้เรียก USAID ว่าเป็น องค์กรอาชญากร และกล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องจบแล้ว พร้อมกล่าวหาว่าภาษีของสหรัฐฯ ถูกโอนผ่านองค์กรนี้เพื่อใช้ในการวิจัยอาวุธชีวภาพ ซึ่งสะท้อนถึงคำกล่าวอ้างของพลโท อิกอร์ คิริลอฟ อดีตหัวหน้ากองกำลังป้องกันเคมี ชีวภาพ และนิวเคลียร์ของรัสเซีย โดยเอกสารที่ได้รับจากการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียระบุว่า

Metabiota บริษัทผู้รับเหมาในสังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้รับสัญญาสำหรับการ 'วิจัยและพัฒนาในวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ วิศวกรรมศาสตร์ และชีววิทยา' และ 'ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความร่วมมือ' โดยในเดือนกันยายน 2014 Metabiota ได้รับเงิน 307,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ "โครงการวิจัยในยูเครน" และในปีงบประมาณ 2014 Metabiota ได้รับการประมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และหน่วยงานย่อยอย่าง Defense Threat Reduction Agency (DTRA)

การสืบสวนของกระทรวงกลาโหมรัสเซียในปี 2022 เปิดเผยว่า DTRA เป็นหน่วยงานหลักของสหรัฐฯ ในการสร้างห้องแล็บชีวภาพในยูเครน โดย Metabiota ยังอยู่ในรายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

นอกจากนั้นนายพลคิริลอฟ เคยระบุในรายงานอีกว่า ตั้งงแต่ปี 2019 USAID และผู้รับเหมาหลักคือ Labyrinth Ukraine ได้มีส่วนร่วมในโครงการชีววิทยาของกองทัพสหรัฐฯ โดย Labyrinth Ukraine เป็นสาขาหนึ่งของ Labyrinth Global Health ซึ่งผู้ก่อตั้งของ Labyrinth Global Health เคยทำงานกับ Metabiota ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักของกองทัพสหรัฐฯ ในด้านอาวุธชีวภาพ

Labyrinth Ukraine มีส่วนร่วมในโครงการ UP-9 และ UP-10 ของสหรัฐฯ ซึ่งศึกษาการระบาดของไข้สุกรแอฟริกันในยูเครนและยุโรปตะวันออก

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022, มีการกล่าวหาว่าเชื้อโรคของโรคระบาด เช่น โรคกาฬโรค, โรคแอนแทรกซ์, โรคทูลาเรเมีย, โรคอหิวาต์ และโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ ถูกทำลายเพื่อปกปิดการละเมิดอนุสัญญาอาวุธชีวภาพและพิษ (BTWC) โดยสหรัฐฯ และยูเครน

จดหมายจากหัวหน้ากองระบาดวิทยาของยูเครนถึง Labyrinth Ukraine ได้ยืนยันถึงความร่วมมือกับ USAID ในการฉีดวัคซีนให้กับทหารและการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้แผนลดภัยคุกคามชีวภาพของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อาทิ การวิจันเชื้อไวรัสโคโรนาและฝีดาษลิง  นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าในปี 2009 โครงการ PREDICT ของ USAID  เคยนำเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่มาวิจัย แต่หน่วยวิจัยดังกล่าวถูกปิดลงกะทันหันในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด ซึ่งกลายเป็นจุดสังเกตที่นายพลรัฐบาลตั้งข้อสงสัย

โสมใต้เผยคิมสั่งถอนทหารพ้นแนวหน้ายูเครน หลังสูญเสียหนัก ดับ-เจ็บนับพัน

(5 ก.พ. 68) หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ทหารเกาหลีเหนือได้ถอนตัวออกจากแนวหน้าการสู้รบในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียเรียบร้อยแล้ว หลังจากปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองทัพรัสเซียเพื่อสู้ศึกยูเครนมาหลายเดือน

สำนักข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ (NIS) รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากองกำลังเกาหลีเหนือยังคงมีบทบาทในพื้นที่สู้รบทางตะวันตกของรัสเซีย หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การถอนกำลังคือการสูญเสียทหารจำนวนมากจากการปะทะกับยูเครน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือนมกราคม NIS ได้แจ้งต่อรัฐสภาเกาหลีใต้ว่า มีรายงานการเสียชีวิตของทหารเกาหลีเหนือประมาณ 300 นาย และบาดเจ็บอีกกว่า 2,700 นายจากการสู้รบในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของทหารที่ได้รับบาดเจ็บว่าพวกเขาได้รับการรักษาหรือถูกส่งตัวไปยังพื้นที่ปลอดภัยอื่น

หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของการถอนกำลังครั้งนี้ โดยข้อมูลล่าสุดสอดคล้องกับรายงานจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพยูเครน ซึ่งระบุว่า ไม่พบความเคลื่อนไหวทางทหารของกองทัพเกาหลีเหนือในภูมิภาคเคิร์สก์ตลอดช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวด้านความมั่นคงจากชาติตะวันตกเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการเข้าร่วมปฏิบัติการรบในรัสเซีย เกาหลีเหนือสูญเสียทหารไปแล้วราว 4,000 นาย จากกำลังพลที่ถูกส่งไปทั้งหมดประมาณ 11,000 นาย ซึ่งการสูญเสียนี้รวมถึงทหารที่เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย และถูกจับเป็นเชลยศึก โดยมีการประเมินว่า ทหารที่เสียชีวิตมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 นายจนถึงกลางเดือนมกราคม

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษ โดยกล่าวว่าหากยูเครนไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ ประเทศพันธมิตรตะวันตกควรจัดหาแนวทางรับประกันความมั่นคงของยูเครนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ ระบบขีปนาวุธ งบประมาณด้านการทหาร หรือแม้แต่การส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยดูแลพื้นที่

นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังยืนยันว่าพร้อมเปิดการเจรจากับรัสเซีย หากการพูดคุยสามารถนำไปสู่การยุติสงครามและลดการสูญเสียชีวิตของประชาชน

ยูเครนยอมรับแพ้รัสเซียแน่ หากสหรัฐระงับความช่วยเหลือ

(7 ก.พ.68) โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยอมรับว่าสถานการณ์ของประเทศอาจย่ำแย่ลงอย่างมาก หากสหรัฐฯ ยุติการให้ความช่วยเหลือทางทหารและการเงิน

คำกล่าวของเซเลนสกีมีขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ต่อยูเครน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งระงับโครงการสนับสนุนเงินทุนสำหรับต่างประเทศเกือบทั้งหมด

สำนักข่าว RT ของรัสเซียรายงานว่า สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนหลักของยูเครนตั้งแต่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ระบุว่าสหรัฐฯ ได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนยูเครน อย่างไรก็ตาม เซเลนสกีโต้แย้งว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 76,000 ล้านดอลลาร์

ระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เซเลนสกียืนยันว่าความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในขณะนี้ยังคงดำเนินต่อไปและยังไม่ถูกระงับ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้กล่าวถึงแนวโน้มของมาตรการช่วยเหลือในอนาคต

“ผมไม่อยากคิดเลยว่าหากเราไม่ได้รับการสนับสนุนต่อไป สถานการณ์จะเป็นอย่างไร” เซเลนสกีกล่าว “แน่นอนว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการป้องกันประเทศของเราอย่างรุนแรง และผมไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถรับมือได้หรือไม่”

จี้ยูเครนชดใช้เงินช่วยเหลือ USAID แลกทรัพยากรแร่หายาก-น้ำมัน

(10 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ มีแผนหารืออย่างเป็นทางการกับผู้นำยูเครนเกี่ยวกับแนวทางในการชำระคืนความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ ได้ให้ผ่านโครงการ USAID ซึ่งรวมถึงการให้สหรัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรแร่หายาก น้ำมัน และก๊าซของยูเครน เป็นการชดใช้ความช่วยเหลือที่เคยให้ไป ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เผย

วอลซ์ ระบุว่า "ประธานาธิบดีทรัมป์พร้อมจะนำทุกประเด็นมาพูดคุยในสัปดาห์นี้ รวมถึงอนาคตของ USAID ที่มอบให้ยูเครน เราต้องได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับยูเครนในแง่ของทรัพยากรแร่หายาก น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ" วอลซ์กล่าวกับ NBC News พร้อมย้ำว่าการเจรจาเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้

วอลซ์ยังเสริมว่า ทรัมป์มีเป้าหมายที่จะยุติความขัดแย้งในยูเครน แต่คาดหวังให้ยุโรปรับผิดชอบด้านหลักประกันความมั่นคง

"หลักการสำคัญคือ ยุโรปต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดการความขัดแย้งนี้ต่อไป ประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นผู้ยุติความขัดแย้ง แต่ในแง่ของหลักประกันด้านความมั่นคง ยุโรปต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง" วอลซ์กล่าว

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้จะมีการเจรจาในยุโรปโดยมีตัวแทนสหรัฐฯ เข้าร่วม ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม รองประธานาธิบดี และทูตพิเศษ โดยจะหารือถึงรายละเอียดของข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับจุดยืนของรัสเซียต่อการยุติความขัดแย้งนั้น หากย้อนไปในเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เสนอแนวทางสันติภาพ โดยระบุว่ารัสเซียพร้อมที่จะหยุดยิงและเจรจาทันทีหากยูเครนดำเนินการตามเงื่อนไขต่อไปนี้

ยูเครนต้องประกาศยกเลิกการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO อย่างเป็นทางการ, กองทัพยูเครนต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่รัสเซียผนวกเข้าใหม่, รัฐบาลเคียฟต้องดำเนินมาตรการปลดอาวุธทางทหารและขจัดลัทธินาซี, ยูเครนต้องประกาศสถานะเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ปูตินยังกล่าวถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ

รัสเซียได้ย้ำหลายครั้งว่ายูเครนเองเป็นฝ่ายห้ามการเจรจามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 อีกทั้งสถานะความชอบธรรมของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในมอสโก

ทรัมป์ยกหูคุยปูติน เล็งหารือด่วนสหรัฐฯ-รัสเซีย เผยคุยตรงไปตรงมาหวังหยุดสงครามยูเครน

(13 ก.พ.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์มทรูธ โซเชียล (Truth Social) ว่าเขาและวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ตกลงกันในการสนทนาทางโทรศัพท์ที่จะเริ่มการเจรจาโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย เพื่อหาทางยุติสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตจำนวนมาก

ทรัมป์กล่าวว่า การสนทนาของเขากับปูตินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและใช้เวลานาน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการยุติความขัดแย้งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อหยุดการสูญเสียชีวิตของประชาชนหลายล้านคนที่เกิดจากสงครามนี้

ทั้งนี้ ทรัมป์และปูตินได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเยือนประเทศของกันและกัน และยังเห็นพ้องให้คณะผู้แทนจากทั้งสองฝ่ายเริ่มการเจรจาทันที โดยเริ่มจากการติดต่อกับโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อแจ้งความคืบหน้าของการสนทนา

ทรัมป์ยังได้มอบหมายให้มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ, จอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA), ไมเคิล วอลซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และสตีฟ วิตคอฟฟ์ ทูตพิเศษประจำตะวันออกกลาง เป็นผู้นำทีมเจรจาของสหรัฐฯ

ทรัมป์ได้แสดงความมั่นใจว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียจะสามารถประสบความสำเร็จและนำไปสู่การยุติสงครามได้

อดีตนักวิเคราะห์จับตาประชุมริยาดจุดชนวนยุโรประส่ำ สหรัฐฯ ถอย เปิดทางดีลรัสเซียยุติสงครามยูเครน

(19 ก.พ.68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งฝ่ายรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างหารือพบปะกันที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งกำลังใกล้จะครบรอบ 3 ปี ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเปิดฉากสงครามกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทางสำนักข่าว Sputnik ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์นี้   

โดยนาย ไมเคิล มาโลฟ อดีตนักวิเคราะห์นโยบายความมั่นคงระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยกับสื่อรัสเซียว่า ที่ผ่านมาแนวทางที่ยุโรปและยูเครนต้องการ ซึ่งก็คือการเอาชนะรัสเซียในสนามรบเพื่อยุติสงครามตัวแทนครั้งนี้ แต่แนวทางดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และพวกเขาก็ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ นั่นทำให้มองได้ว่าหลังจากที่สหรัฐเปลี่ยนรัฐบาลสู่ยุคประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมกับมีการประชุมที่ริยาดอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์โลก  

"ผมมองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของ NATO" มาโลฟกล่าว "ในที่สุด เราอาจได้เห็นยุโรปเปลี่ยนไปใช้ระบบพันธมิตรด้านกลาโหมระดับภูมิภาคแทนที่จะคงโครงสร้างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสมาชิก 32 ประเทศ ซึ่งแทบจะไม่สามารถตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ในเรื่องใด ๆ ได้เลย"

มาโลฟวิเคราะห์ว่าการประชุมที่ริยาดสะท้อนให้เห็นการยอมรับความจริงของสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ได้แก่  

1.  ไม่ใช่ยุโรปหรือรัฐบาลเซเลนสกี ที่จะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการยุติสงครามในยูเครน แต่คือรัสเซียและสหรัฐฯ จะเป็นผู้ชี้ชะตาในเรื่องนี้

2. วอชิงตันกำลังหันกลับมาใช้แนวคิดเรื่อง 'ขอบเขตอิทธิพล' แทนที่จะเดินหน้าสร้างระเบียบโลกแบบขั้วเดียวต่อไป  

3. สหรัฐฯ ไม่ต้องการเป็นผู้สนับสนุนสงครามของยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันมาให้ความสำคัญกับซีกโลกตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรีนแลนด์ ปานามา หรือแคนาดา แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ยุโรป  

"ทรัมป์ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับมอสโก และมองว่ารัสเซียเป็นคู่เจรจาที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายที่สหรัฐฯ จะพูดจาสั่งสอนเครมลินเหมือนที่รัฐบาลไบเดนทำ" นักวิเคราะห์กล่าว  

นอกจากนี้ ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจ ยังตระหนักว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถทำสงครามทั่วโลกได้ และควรใช้แนวทางแข่งขันทางเศรษฐกิจและความร่วมมือมากกว่าการเผชิญหน้า  

สำหรับยุโรป มาโลฟมองว่ายุโรปกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง "พวกเขาทำลายเศรษฐกิจตัวเองโดยการตัดขาดพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม คุณภาพชีวิต และขีดความสามารถในการผลิตของตัวเอง ประชาชนในประเทศเหล่านี้เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าผู้นำของพวกเขากำลังทำอะไรอยู่"

มาโลฟสรุปว่า ขณะที่ชนชั้นนำของยุโรปยังคงเดินหน้าในแนวทางที่เป็นผลเสียต่อประชาชน เสียงสะท้อนจากสังคมอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยุโรปต้องทบทวนแนวทางของตนเองใหม่

ทรัมป์ซัดเซเลนสกี ขู่ให้รีบเลือกตั้ง กดดันถ้าไม่เร่งสันติภาพ ยูเครนอาจถึงจุดจบ

(20 ก.พ.68) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วิจารณ์ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี อย่างรุนแรง โดยเรียกเขาว่าเป็น "เผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" และเตือนว่าหากไม่เร่งสร้างสันติภาพ ยูเครนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียประเทศ คำพูดของทรัมป์ตอกย้ำความตึงเครียดระหว่างผู้นำทั้งสองและสร้างความกังวลให้กับพันธมิตรยุโรป

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ทรัมป์กล่าวโทษยูเครนว่าเป็นต้นเหตุของสงครามที่ปะทุขึ้นในปี 2565 จุดยืนนี้ทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปวิตกกังวลว่าแนวทางของทรัมป์อาจเอื้อประโยชน์ต่อรัสเซียมากกว่ายูเครน

ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า “เผด็จการเซเลนสกีควรเร่งแก้ปัญหา เพราะถ้ายังไม่ลงมือ จะไม่มีประเทศให้ปกครองอีกต่อไป”

แม้เพิ่งกลับมาดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ทรัมป์ก็ปรับเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ ต่อสงครามยูเครน-รัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ โดยละทิ้งแนวทางการโดดเดี่ยวรัสเซีย มีการติดต่อพูดคุยโดยตรงกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และมีการจัดประชุมระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ขณะที่ยูเครนถูกกันออกจากเวทีเจรจา

ตามกำหนดการเดิม วาระการดำรงตำแหน่งของเซเลนสกีจะสิ้นสุดลงในปี 2567 แต่การเลือกตั้งยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

คำพูดของทรัมป์มีขึ้นไม่นานหลังจากเซเลนสกีออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ ตกเป็นเหยื่อของ “ข่าวปลอมจากรัสเซีย” ที่กล่าวหายูเครนว่าเป็นฝ่ายจุดชนวนสงคราม ทั้งที่ความขัดแย้งเริ่มต้นจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อสามปีก่อน

นอกจากนี้ เซเลนสกียังปฏิเสธคำกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่า คะแนนนิยมของเขาในยูเครนเหลือเพียง 4% โดยระบุว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากแหล่งข่าวของรัสเซีย และยืนยันว่าเขายังได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

“เรามีหลักฐานว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางของรัสเซีย น่าเสียดายที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์หลงเชื่อ” เซเลนสกีกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของยูเครน

เซเลนสกีตกบัลลังก์ลูกรักสหรัฐฯ หมดสิทธิ์อ้อนวอชิงตัน หลังพ้นยุคไบเดน

(21 ก.พ.68) เพียงหนึ่งเดือนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่ทำเนียบขาว ท่าทีของเขาที่มีต่อโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กลับแตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างสิ้นเชิง

หากย้อนไปในยุคของโจ ไบเดน เขามักหยอดคำหวานซึ่งกันและกันหลายครั้ง โดยเมื่อปลายปี 2022 ไบเดนเคยกล่าวกับเซเลนสกีว่า "เป็นเกียรติที่ได้ยืนเคียงข้างคุณ" พร้อมยกย่องเขาว่าเป็น 'บุคคลแห่งปี'

ขณะที่ในปี 2023 ไบเดนกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงวอร์ซออย่างดุดันราวกับฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเป็น "บุรุษผู้มีความกล้าหาญที่ถูกหล่อหลอมจากไฟและเหล็กกล้า" และเป็นผู้นำของ "รัฐบาลที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตยและเป็นตัวแทนของประชาชนยูเครน"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไบเดนต่างยกย่องเซเลนสกีอย่างต่อเนื่อง อาทิ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ยกให้เซเลนสกีเป็นผู้นำที่มี "ความกล้าหาญและความสำเร็จอย่างไม่ธรรมดา" ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวในปี 2023 ว่า "การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครนเป็นหนึ่งในภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา"

นอกจากคำชมแล้ว รัฐบาลไบเดนยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยูเครนอย่างไม่ลดละ โดยในเดือนมิถุนายน 2024 ไบเดนกล่าวว่า "เราจะยืนเคียงข้างยูเครนจนกว่าพวกเขาจะได้รับชัยชนะ"

ถึงขนาดที่บลิงเคนเคยไปเยือนสถานีรถไฟใต้ดินในเคียฟเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 และเล่นเพลง Rockin' in the Free World ของนีล ยัง พร้อมประกาศว่า "เราจะอยู่เคียงข้างคุณ และจะยืนหยัดจนกว่ายูเครนจะมีความมั่นคงและอธิปไตยที่ได้รับการรับรอง"

ตรงข้ามกับแนวทางของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเขามักโพสต์ลง Truth Social กล่าวหาว่าเซเลนสกีติดอยู่ใน 'วงจรข้อมูลเท็จ' ของรัสเซีย "ลองคิดดูให้ดี นักแสดงตลกที่พอไปวัดไปวาได้อย่างเซเลนสกี สามารถโน้มน้าวให้สหรัฐใช้เงินกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าสู่สงครามที่ไม่มีวันชนะ สงครามที่ไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก" 

"แถมเซเลนสกียังยอมรับเองว่า เงินครึ่งหนึ่งที่เราส่งไปให้ ‘หายไป’ เขาปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้ง คะแนนนิยมในยูเครนต่ำเตี้ย และสิ่งเดียวที่เขาทำได้ดีคือหลอกใช้ไบเดนได้อย่างแยบยล" ทรัมป์ระบุ 

"เผด็จการที่ไม่มีการเลือกตั้ง เซเลนสกีควรรีบจัดการตัวเองก่อนที่เขาจะไม่มีประเทศเหลือให้ปกครองอีกต่อไป" ทรัมป์เตือน

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยประชดประชันเซเลนสกีในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2024 ว่า "เป็นนักขายที่เก่งที่สุดในบรรดานักการเมือง" แต่ครั้งนี้ภายหลังทรัมป์กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย เขากล่าวหาเซเลนสกีอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นนักต้มตุ๋นและจอมเผด็จการ

ทรัมป์ยังส่งสัญญาณถึงแนวทางใหม่ของรัฐบาลสหรัฐที่มีต่อยูเครน โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เขายืนยันว่าเซเลนสกีจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างสหรัฐและรัสเซียที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกล่าวว่า "ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจริงจัง" ที่ยูเครนจะเข้าร่วม NATO ซึ่งเป็นจุดยืนที่รัสเซียถือเป็นเส้นตายมาโดยตลอด

ก่อนหน้านั้นเพียงสองวัน ทรัมป์ได้เสนอข้อตกลงให้ยูเครน โดยระบุว่าสหรัฐอาจให้ความช่วยเหลือหากยูเครนมอบทรัพยากรแร่หายากมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่าเซเลนสกีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

จากที่เคยได้รับการเชิดชูในยุคไบเดน เซเลนสกีกลับต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้นำสหรัฐคนใหม่ที่มองว่าเขาเป็นภาระและอุปสรรคของนโยบายใหม่ของอเมริกา ขณะที่ความช่วยเหลือจากวอชิงตันก็เริ่มไม่แน่นอนเช่นกัน

ในช่วงเวลาที่ยูเครนกำลังต้องการความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างยิ่ง คำถามสำคัญคือ เซเลนสกีจะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐได้หรือไม่ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

‘สหรัฐอเมริกา’ ใช้!! ‘ยูเครน’ จนหมดประโยชน์ ก่อนเขี่ยทิ้ง แบบไร้ค่า ชี้!! เปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนนโยบาย ทิ้ง ‘เซเลนสกี้’ ให้กลายเป็น ‘ตัวตลก’

(22 ก.พ. 68) เพจ ‘สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

จากพัฒนาการล่าสุดในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เห็นได้ชัดว่าทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปตามที่เพจนี้เขียนเอาไว้ตั้งแต่สองปีที่แล้ว

กล่าวคือเมื่อสหรัฐเปลี่ยนผู้นำใหม่ก็เปลี่ยนนโยบายใหม่ ประเทศที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นสนามรบหรือดำเนินการสงครามตัวแทนภายใต้รัฐบาลหนึ่ง สามารถถูกสหรัฐทิ้งแบบไร้ค่าภายใต้รัฐบาลใหม่

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศไทยในยุคสงครามเวียดนาม นี่คือบทเรียนที่เพจใช้เป็นหนึ่งใน argument ในการดึงโทนี่กลับมาจัดตั้งรัฐบาลอนุรักษ์นิยม เพื่อยับยั้งสีส้มที่ในขณะนั้นมีแนวทางพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสนามรบและเบี้ยในสงครามตัวแทนของสหรัฐกับจีน

จะให้ตั้งฐานทัพสหรัฐในไทยมายันกับฐานทัพเรือจีนในเขมรอะไรใช่มั๊ย ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะได้เป็นยูเครน 2 มากในห้วงเวลานั้น สุ่มเสี่ยงมากที่จะถูกใช้แล้วทิ้ง

จากทุกอย่างที่ทรัมป์และ J D Vance พูดออกมาในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าทั้ง ปธน. และ รอง ปธน. สหรัฐตามอ่านเพจนี้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี ทั้งสองท่านพูดและทำตามที่เพจนี้เขียนเอาไว้ทุกอย่าง ยูเครนถูกทิ้งแบบเบี้ยที่หมดประโยชน์ ยุโรปถูกด่าว่าโว๊คและโง่ เซเลนสกี้ถูกด่าว่าเป็นตัวตลกสิ้นคิดเห็นแก่เงิน ด่าตามบทความและคอมเม้นต์ของลูกเพจ เพจนี้ทุกอย่าง

พวกเราคือผู้นำทางความคิดของรัฐบาลสหรัฐที่มาก่อนกาลถึงสองปี 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top