Tuesday, 22 April 2025
ยูเครน

ยูเครนรบเกาหลีเหนือครั้งแรก เซเลนสกี โวยตะวันตกเมินเฉยไม่จัดการคิม

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยืนยันรายงานที่ว่ากองทัพยูเครนได้ปะทะกับทหารเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรก พร้อมชี้ว่านี่ถือเป็นบทใหม่ของความไม่มั่นคงระดับโลก

สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า เซเลนสกีแถลงผ่านวิดีโอบนเว็บไซต์ประธานาธิบดียูเครนเมื่อวันอังคาร (5 พ.ย.) ว่า "การสู้รบครั้งแรกกับทหารเกาหลีเหนือได้เปิดบทใหม่ของความไม่มั่นคงในโลกใบนี้" 

เซเลนสกีกล่าวขอบคุณชุมชนระหว่างประเทศที่แสดงการตอบสนองต่อการส่งทหารเกาหลีเหนือไปประจำการในรัสเซีย โดยไม่เพียงแต่แสดงความห่วงใย แต่ยังเตรียมมาตรการสนับสนุนยูเครนในการป้องกันตนเอง "เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ความพยายามของรัสเซียในการขยายสงครามล้มเหลว ทั้งในกรณีของรัสเซียและเกาหลีเหนือ" เขากล่าวเสริม

รุสเตม อูเมรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ KBS ของเกาหลีใต้ ยืนยันว่าการปะทะระหว่างกองทัพยูเครนและทหารเกาหลีเหนือได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะเป็นการสู้รบระดับไม่รุนแรง แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของสถานที่และเวลา โดยระบุว่าอาจถือได้ว่าเกาหลีเหนือได้เข้ามามีส่วนร่วมในสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างเป็นทางการแล้ว

ด้านแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (4 พ.ย.) ว่ามีทหารเกาหลีเหนือประมาณ 10,000 นายอยู่ในแคว้นคุสค์ ทางตะวันตกของรัสเซีย และอาจเข้าร่วมการสู้รบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

‘รัสเซีย’ สั่งจำคุก!! ทหารที่ก่อเหตุฆ่ายกครัว ‘ชาวยูเครน’ ชี้!! เป็นกรณีตัวอย่างที่หายาก ในคดีอาชญากรรมสงคราม

(9 พ.ย. 67) ในสงคราม ‘รัสเซีย – ยูเครน’ ที่ดำเนินมาเกิน 2 ปีครึ่งนั้น หนึ่งในข้อครหายูเครนพยายามฟ้องเอาผิดรัสเซียและประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน คือเรื่องของการก่ออาชญากรรมสงคราม ที่รวมถึงการสังหารพลเรือนอย่างไร้ความปรานี

แต่ล่าสุดที่รัสเซียมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ หลังศาลรัสเซียตัดสินจำคุกทหารรัสเซีย 2 นายตลอดชีวิต ในข้อหาสังหารครอบครัวชาวยูเครน 9 คนในแคว้นโดเนตสก์ พื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนที่ถูกยึดครอง เป็นกรณีตัวอย่างที่หายากที่ประเทศนี้จะเอาผิดทหารของตัวเองในคดีอาชญากรรมสงคราม

อัยการกล่าวว่า ครอบครัวคัปคาเนตส์ (Kapkanets) ทั้งหมดถูกสังหารที่บ้านของพวกเขาในภูมิภาคโดเนตสก์เมื่อปี 2023 โดยฝีมือของ แอนตัน โซปอฟ วัย 21 ปี และสตานิสลาฟ ราอู วัย 28 ปี ซึ่งในบรรดาเหยื่อมีเด็กด้วย

โซปอฟและราอูถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่า เอ็ดเวิร์ด คัปคาเนตส์ วัย 53 ปี, ทาเทียนา ภรรยาของเขา, ลูกชายคนโตและภรรยา, หลานสาววัย 9 ขวบ หลานชายวัย 4 ขวบ และญาติห่าง ๆ ของครอบครัวอีก 3 คน

ดมิโทร ลูบิเนตส์ ผู้ตรวจการแผ่นดินของยูเครนกล่าวว่าในวันเกิดเหตุ ครอบครัวนี้กำลังฉลองวันเกิดให้หนึ่งในสมาชิกในครอบครัว เจ้าหน้าที่ยูเครนในขณะนั้นกล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าครอบครัวนี้ถูกฆ่าเพราะปฏิเสธที่จะยกบ้านให้กองทหารรัสเซีย

ทั้งนี้ รายละเอียดบางอย่างของคดียังไม่ชัดเจน เช่น ทหารรับสารภาพหรือไม่ เนื่องจากการพิจารณาคดีจัดขึ้นในห้องปิด แต่สำนักข่าว TASS ของรัฐรัสเซียรายงานว่า โซปอฟและราอูถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม ‘โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความเกลียดชังทางการเมือง อุดมการณ์ เชื้อชาติ หรือศาสนา’

ที่ผ่านมารัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามทั้งหมดในยูเครน แม้จะมีหลักฐานยืนยันชัดเจนที่ขัดแย้งกันก็ตาม ซึ่งรวมถึงเหตุระเบิดโรงละครในเมืองมาริอูโปลซึ่งเป็นที่พักพิงของผู้คนหลายร้อยคนในเดือน มี.ค. 2022 และการสังหารหมู่ผู้คนหลายร้อยคนในเมืองบูชาในเดือนเดียวกัน

‘เซเลนสกี’ มั่นใจ!! ‘ทรัมป์’ เชื่อสงครามยุติเร็วขึ้น หลังหวนนั่งเก้าอี้!! ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

(17 พ.ย. 67) ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ระบุมั่นใจว่าสงครามกับรัสเซียจะยุติเร็วขึ้นเมื่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง

นายเซเลนสกี กล่าวว่าได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์กับนายทรัมป์ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์หลังจากอดีตผู้นำสหรัฐคนดังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่ได้เปิดเผยว่านายทรัมป์เรียกร้องอะไรเกี่ยวกับการเจรจากับรัสเซียหรือไม่ แต่ย้ำว่านายทรัมป์ไม่ได้เอ่ยถึงสิ่งที่ขัดกับจุดยืนของยูเครน

นายทรัมป์กล่าวมาโดยตลอดว่าลำดับความสำคัญในนโยบายของตนคือการยุติสงครามในยูเครนซึ่งปะทุขึ้นหลังรัสเซียรุกรานเต็มรูปแบบเมื่อเดือนก.พ. 2565

เนื่องจากสงครามทำให้สหรัฐสิ้นเปลืองทรัพยากรด้านต่างๆ ในรูปแบบการช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน เมื่อต้นปีที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติอนุมัติความช่วยเหลือทางการทหารมูลค่า 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.12 ล้านล้านบาท

สหรัฐเป็นผู้สรรหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดของยูเครน ข้อมูลจากสถาบันคีลเพื่อเศรษฐกิจโลก องค์กรวิจัยของเยอรมนี ระบุว่าตั้งแต่เริ่มต้นสงครามจนถึงเดือนมิ.ย.2567 สหรัฐส่งมอบหรือให้คำมั่นที่จะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนมูลค่า 55,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.93 ล้านล้านบาท)

นายทรัมป์ให้คำมั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่าจะยุติสงครามในยูเครน ‘ในวันเดียว’ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะทำอย่างไร

แน่นอนว่าสงครามจะยุติลงเร็วกว่านี้ด้วยนโยบายของทีมที่นำทำเนียบขาวในขณะนี้ นี่คือแนวทางของพวกเขา คำมั่นสัญญาของพวกเขาต่อพลเมือง นายเซเลนสกีให้สัมภาษณ์สื่อยูเครน ก่อนเสริมว่ายูเครนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้สงครามยุติลงภายในปีหน้า และยุติด้วยวิธีการทางการทูต

‘ปูติน’ ลั่น!! ไม่ยอมให้ ‘ยูเครน’ มีอาวุธนิวเคลียร์ แม้นักวิชาการตะวันตก จะออกมาให้การสนับสนุน

(18 พ.ย. 67) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวจากทางฝากยูเครนว่าเจ้าหน้าที่บางคนในเคียฟของยูเครนกำลังคิดใคร่ครวญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาเพื่อต่อกรกับทางรัสเซีย สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มจากความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯอาจยุติการสนับสนุนของวอชิงตันต่อยูเครน ส่งผลให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีต้องดิ้นรนหาทางออกในการป้องปรามรัสเซียด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้แนวโน้มของสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อนประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีกล่าวในเดือนตุลาคมว่าเขาได้บอกกับทรัมป์ระหว่างการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่นิวยอร์กว่ายูเครนจะเข้าร่วมกับ NATO หรือไม่ก็พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเซเลนสกีอ้างว่าทรัมป์ได้ยินเขาแล้ว และกล่าวว่า ‘เป็นการตอบโต้ที่ยุติธรรม’ อย่างไรก็ตาม คำแถลงของเซเลนสกีทำให้เกิดการคาดเดาว่าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนจะเป็นไปได้จริงหรือไม่จากมุมมองทางเทคโนโลยีและการเมือง จากการที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมาอย่างยาวนาน วันนี้ผมจะมาไขข้อสงสัยข้อนี้ให้ทุกท่านได้ทราบกัน

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 ยูเครนได้รับมรดกจากคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก อย่างไรก็ตามภายใต้บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ปี ค.ศ. 1994 เคียฟยอมจำนนต่อตะวันตกโดยยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัยจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและรัสเซีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ถูกโจมตีเนื่องจากรัสเซียละเมิดโดยการรุกรานยูเครนอย่างเปิดเผยโดยที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรไม่สามารถรับประกันความมั่นคงของยูเครนได้ แม้ว่าพวกเขาได้จัดหาอาวุธจำนวนมหาศาลให้กับเคียฟ หลังจากการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียเริ่มขึ้นในต้นปี ค.ศ. 2022 ในทางการเมืองเคียฟจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากหากตัดสินใจผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้เป็นเครื่องป้องปรามรัสเซีย โดยอาจต้องเผชิญหน้ากับการตอบโต้ครั้งใหญ่จากพันธมิตรตะวันตกที่กองทัพยูเครนต้องพึ่งพาอาวุธธรรมดาเพื่อต่อสู้กับการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่สามแล้ว 

นักวิชาการตะวันตกหลายคนออกมาสนับสนุนยูเครนให้มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามการรุกรานจากรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น คลอส มาธีเซน (Claus Mathiesen) อาจารย์ประจำสถาบันกลาโหมแห่งเดนมาร์กและอดีตผู้ช่วยทูตทหารประจำยูเครน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เห็นได้ชัดว่าอาวุธนิวเคลียร์ก่อนหน้านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปราม แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือที่น่ารังเกียจ โดยรัสเซียยึดครองดินแดนยูเครนได้ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร และกำลังขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครน หากดินแดนเหล่านี้ถูกยึดไป ความเป็นไปได้ประการหนึ่งสำหรับยูเครน คือการตอบโต้การป้องปราม โดยการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยตัวเอง” ดร.เจนนี มาเทอร์ส (Jenny Mathers) อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอาเบอริสต์วิธในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าเซเลนสกี "แสดงเหตุผลที่ดีว่าทำไมรัฐต่างๆ มากมายจึงพยายามแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ ... เพราะอาวุธนิวเคลียร์ถูกมองว่าเป็นผู้รับประกันความปลอดภัยขั้นสูงสุดจากการโจมตีโดยตรงโดยรัฐที่มีอำนาจมากกว่า แม้ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในสนามรบ และไม่ได้ป้องกันรัฐที่ครอบครองอาวุธเหล่านั้นจากการพ่ายแพ้ทางทหารด้วยน้ำมือของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ที่สถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งฟินแลนด์ เชื่อว่า “ยูเครนจำเป็นต้องมีการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เพื่อประกันความมั่นคงที่ยั่งยืน ...การตัดสินใจของรัสเซียที่จะโจมตียูเครนและใช้มาตรการบังคับทางนิวเคลียร์นับตั้งแต่วันแรกของการรุกราน ได้เผยให้เห็นถึงอันตรายของการถูกทิ้งไว้นอกร่มนิวเคลียร์ ...การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบโต้การบังคับขู่เข็ญด้วยนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม อกาสที่ดีที่สุดสำหรับยูเครนที่จะได้รับผลประโยชน์จากการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์คือการเข้ารับเป็นสมาชิกของ NATO โดยเร็วที่สุด”

แม้ว่าในปัจจุบันยูเครนจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ใช่มือใหม่ในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ในสมัยสหภาพโซเวียต โรงงานพิฟเดนมาช (Pivdenmash) ในเมืองดนีโปร (Dnipro) ของยูเครนผลิตขีปนาวุธที่สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ในขณะที่โรงงานเคมีปรีดนิพรอฟสกี้ (Prydniprovsky Chemical Plant) ในเมืองคาเมียนสค์ (Kamianske) แคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์เป็นหนึ่งในกระบวนการแปรรูปแร่ยูเรเนียมสำหรับโครงการนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต โดยเป็นผู้เตรียมเยลโลว์เค้กซึ่งเป็นขั้นตอนกลางในการแปรรูปแร่ยูเรเนียม นอกจากนี้ยังมีแหล่งสะสมยูเรเนียมในโชฟติ โวดี (Zhovti Vody) ในแคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์อีกด้วย ยูเครนยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สี่แห่งในแคว้นซาโปริซเซีย, ริฟเน, คเมลนีตสกี และแคว้นมิโคลายิฟ แม้ว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแคว้นซาโปริซเซียอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย

คำถามที่ว่ายูเครนสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่นั้น ปัจจุบันยูเครนไม่ได้ผลิตขีปนาวุธนิวเคลียร์แต่มันก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับเคียฟที่จะสร้างมันขึ้นมา โรเบิร์ต เคลลี่ (Robert Kelley) วิศวกรที่มีประสบการณ์มากกว่า 35 ปีในศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของกระทรวงพลังงานกล่าวว่า “เป็นไปได้ที่ยูเครนจะสร้างระเบิดฟิชชันยูเรเนียมแบบดั้งเดิมภายในห้าปี..มันค่อนข้างง่ายที่จะทำในศตวรรษที่ 21 การสร้างระเบิดฟิชชันพลูโทเนียมของยูเครนจะยากกว่า และมันจะยากต่อการซ่อนด้วย โดยจะใช้เวลาห้าถึง 10 ปีในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์พลูโตเนียม” เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ยูเครนอาจจะสามารถสร้างอุปกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาใดๆ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่น สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ที่ซับซ้อนกว่านี้ จะต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียและผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชาวยูเครนต่างยืนยันว่ายูเครนมีความสามารถในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ โดยเสริมว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปี” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) กล่าวว่า“ยูเครนจะมีความรู้และทรัพยากรที่จะกลายเป็นรัฐอาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่นอน หากยูเครนตัดสินใจทำเช่นนั้น”เทคโนโลยีที่ต้องการนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับหลายประเทศ และแน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับยูเครน เนื่องจากเป็นที่ตั้งองค์ประกอบสำคัญของศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียต ตอนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต” “...ยูเครนสามารถพัฒนาทั้งหัวรบนิวเคลียร์และยานพาหนะบรรทุกได้ เนื่องจากมีอุตสาหกรรมทางทหาร แหล่งสะสมยูเรเนียม และภาคพลังงานนิวเคลียร์ที่จำเป็น” 

นิโคไล โซคอฟ (Nikolai Sokov) เจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์การลดอาวุธและการไม่แพร่ขยายแห่งกรุงเวียนนา (the Vienna Center for Disarmament and Non-Proliferation) ให้ความเห็นว่า สำหรับยูเครนการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ "ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้แต่จะต้องใช้เวลาหลายปี เงินจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภายนอก อย่างน้อยก็ในด้านอุปกรณ์"” “ยูเครนไม่มีความสามารถทางอุตสาหกรรมในการผลิตและบำรุงรักษาคลังแสงนิวเคลียร์ ไม่มีวัสดุฟิสไซล์ ความสามารถในการเสริมสมรรถนะ การผลิตพลูโตเนียม และองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่นำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์” ในขณะที่ลิวิว โฮโรวิตซ์ (Liviu Horovitz) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามนิวเคลียร์แห่งสถาบันกิจการระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งเยอรมนี (the German Institute for International and Security Affairs) กล่าวด้วยว่ายูเครนจะต้องเผชิญกับความท้าทายหากตัดสินใจสร้างระเบิดนิวเคลียร์ เพราะโครงการอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวอาจมีต้นทุนหลายพันล้านดอลลาร์ โดยโครงการระเบิดนิวเคลียร์แบบดั้งเดิมที่สุดที่เน้นไปที่เครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียมอาจมีราคาประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ โครงการระเบิดพลูโตเนียมจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์)

ในขณะเดียวกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อโรงงานนิวเคลียร์ของยูเครน รัสเซียซึ่งมีคลังแสงมากมายทั้งขีปนาวุธธรรมดาและขีปนาวุธแบบธรรมดา สามารถโจมตีโรงงานใดๆ ของยูเครนที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ยูเครนจะสามารถดำเนินโครงการนี้สำเร็จได้ตราบใดที่สงครามยังดำเนินต่อไป โดยรัสเซียจะดำเนินการโจมตีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถระบุได้เพื่อขัดขวางโครงการนิวเคลียร์รวมถึงการก่อวินาศกรรมและการลอบสังหารด้วย ซึ่งคล้ายกับการขัดขวางโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน 5 คน ระหว่างปีค.ศ. 2010 – 2020 โดยอิสราเอล

นอกจากนี้การสร้างระเบิดนิวเคลียร์อาจส่งผลกระทบทางการเมืองของยูเครน โดยยูเครนเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการถอนตัวออกจากสนธิสัญญาจะทำให้เกิดการตอบโต้จากทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปของยูเครน สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นรากฐานสำคัญของนโยบายนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ ทุกรายของยูเครน โครงการอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนชาวตะวันตกของยูเครน ดังนั้นพันธมิตรของยูเครนจึงมีแนวโน้มที่จะกดดันให้ยุติโครงการทันทีที่ถูกค้นพบ สหรัฐอเมริกา ตะวันตก และประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะต่อต้านยูเครนหรือรัฐอื่นๆ ที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์หากแสวงหาเพื่อครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และจะตอบโต้โดยการคว่ำบาตรยูเครนทั้งทางการฑูตและเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับกรณีของอิหร่าน 

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ชาวตะวันตกยังมีแนวโน้มในการตีความการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนว่าเป็นการยกระดับสงครามครั้งใหญ่ โดยมองว่าโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนจะยิ่งนำไปสู่ความไม่มั่นคง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะขยายสงครามไปสู่ระดับการทำลายล้างที่มากยิ่งขึ้น พันธมิตรตะวันตกอาจจะหยุดให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน หากยูเครนเริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพราะมันขัดต่อความคิดเห็นของสาธารณชนภายในประเทศ

มิคาอิล โปโดเลียกที่ปรึกษาระดับสูงของเซเลนสกีกล่าวอย่างชัดเจนว่าแม้จะติดอาวุธปรมาณู เคียฟก็ไม่สามารถขัดขวางรัสเซียได้ อาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสงของยูเครนจะไม่มีอำนาจที่จะหยุดยั้งรัสเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางการทหารอย่างท่วมท้น เขาโพสต์ลงบนทเลแกรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา “...แม้ว่ายูเครนจะต้องสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตอันใกล้นี้ ..แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางจักรวรรดิรัสเซียที่มีคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้...” 

ตามเอกสารของสถาบัน think tank ของยูเครนซึ่งร่วมเขียนโดยโอเล็กซี ยิจฮัก (Oleksii Yizhak) เจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์แห่งชาติของยูเครน เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถสร้างระเบิดปรมาณูที่ใช้พลูโทเนียมได้ภายในไม่กี่เดือน คล้ายกับระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ทิ้งที่นางาซากิในปี ค.ศ. 1945 โดยใช้พลูโทเนียมจากแท่งเครื่องปฏิกรณ์เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว เอกสารดังกล่าวซึ่งอ้างโดยหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ ระบุว่าเคียฟสามารถควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ที่ปฏิบัติการได้ 9 เครื่องและสิ่งนี้จะทำให้ยูเครนสามารถเรียกพลูโตเนียมได้เจ็ดตัน ซึ่งสามารถสร้างหัวรบที่มีน้ำหนักทางยุทธวิธีหลายกิโลตัน ยูเครนสามารถใช้อาวุธดังกล่าวทำลายฐานทัพอากาศรัสเซียทั้งหมด หรือสถานที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่งทางทหาร อุตสาหกรรมหรือโลจิสติกส์” อย่างไรก็ตาม กีออร์จี้ ทีคี (Heorhii Tykhyi) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ตอบโต้คำกล่าวอ้างที่ว่าเคียฟสามารถพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ได้ภายในไม่กี่เดือน “...เราไม่ได้ครอบครอง พัฒนา หรือตั้งใจที่จะรับอาวุธนิวเคลียร์ ยูเครนทำงานอย่างใกล้ชิดกับ IAEA และมีความโปร่งใสในการตรวจสอบ ซึ่งห้ามการใช้วัสดุนิวเคลียร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร” 

ท้ายที่สุดแล้วประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียคงไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง โดยเขากล่าว่า “การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในโลกสมัยใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องยาก ...ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม มอสโกจะไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์” ความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามของยูเครนเพื่อให้ได้อาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถปกปิดได้และจะได้รับการตอบโต้ที่เหมาะสมจากรัสเซีย

สส.รัสเซียเตือน 'ไบเดน' คิดผิดมหันต์ หากอนุมัติอาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน

(18 พ.ย. 67) มาเรีย บูทีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย วัย 36 ปี แสดงความกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจกำลังผลักดันสถานการณ์ไปสู่ความขัดแย้งระดับโลก หากอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธของสหรัฐในการโจมตีลึกเข้ามาในดินแดนรัสเซีย  

บูทีนา ซึ่งเคยถูกคุมขังในสหรัฐเป็นเวลา 15 เดือนในปี 2561 ข้อหาทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัสเซียโดยไม่ขึ้นทะเบียน กล่าวกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลไบเดนดูเหมือนจะพยายามยกระดับความรุนแรงจนถึงจุดสูงสุดก่อนที่จะหมดวาระ เธอหวังว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีกำหนดเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า จะยุตินโยบายดังกล่าว เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ  

คำเตือนนี้เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานจากเจ้าหน้าที่สหรัฐและสื่อหลายแห่งว่า รัฐบาลไบเดนตัดสินใจอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลที่ผลิตในสหรัฐเพื่อโจมตีดินแดนรัสเซีย การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญ หลังจากที่สหรัฐเคยวางเงื่อนไขไม่ให้อาวุธดังกล่าวถูกนำไปใช้โจมตีในดินแดนรัสเซีย แม้ว่ายูเครนจะร้องขอมาเป็นเวลานาน  

ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เคยเตือนว่า หากชาติตะวันตกอนุญาตให้ใช้อาวุธของตนโจมตีรัสเซีย จะถือว่าเป็นการเข้าร่วมสงครามโดยตรงของนาโตและพันธมิตร ขณะที่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศแผนตอบโต้หากเกิดกรณีดังกล่าว

ด้านยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธรายงานนี้โดยตรง แต่ได้กล่าวในคลิปประจำวันว่า "ขีปนาวุธจะบอกทุกอย่างเอง" และย้ำว่า "ชัยชนะจะเป็นของยูเครน"  

ด้านนักวิเคราะห์มองว่าการอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกล ซึ่งมีระยะทำการถึง 300 กิโลเมตร อาจเป็นการยกระดับความขัดแย้งในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนี้อาจช่วยให้ยูเครนได้เปรียบในด้านยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในแคว้นคุสค์ที่ยูเครนสามารถเข้ายึดครองพื้นที่ได้บางส่วนแล้ว  

แหล่งข่าวในสหรัฐเผยว่า หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจนี้ คือรายงานว่ารัสเซียได้ใช้ทหารเกาหลีเหนือจำนวนมากถึง 11,000 นายในแคว้นดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันในสนามรบ  

การตัดสินใจของสหรัฐอาจเพิ่มความซับซ้อนในวิกฤตยูเครนและยกระดับความขัดแย้งไปสู่ระดับนานาชาติ ในขณะที่รัสเซียยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการต่อข่าวนี้ แต่ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นตัวแปรสำคัญในทิศทางของสงครามยูเครนในอนาคตอันใกล้ ซึ่งตรงกับช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหมดวาระ

เผยมิสไซล์ Oreshnik บึ้มฐานสหรัฐในอาหรับเพียง 15 นาที ยิงถึงฐานเพิร์ลฮาร์เบอร์-แผ่นดินใหญ่สหรัฐใน 25 นาที

(27 พ.ย.67) สำนักข่าวสปุตนิกเปิดเผยว่า หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เปิดตัวขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ 'Oreshnik' ที่ใช้ตอบโต้ยูเครน ซึ่งก่อนหน้านั้นยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธ ATACMS จากสหรัฐโจมตีพื้นที่รัสเซีย ชาตินาโต้เริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของขีปนาวุธดังกล่าว  

Oreshnik มีพิสัยการยิงครอบคลุมทั่วยุโรปและยังสามารถโจมตีฐานทัพสหรัฐในตะวันออกกลางได้ในเวลาเพียง 15 นาที นักวิเคราะห์รัสเซียเผยว่า ขีปนาวุธนี้สามารถเข้าถึงฐานทัพในตะวันออกกลาง แปซิฟิก อลาสกา และไซโลขีปนาวุธในสหรัฐได้อย่างรวดเร็ว  

หากยิงจากฐาน Kapustin Yar ในแคว้นอัสตราฮัน ทางตอนใต้ของรัสเซีย จะสามารถโจมตี ฐานทัพสหรัฐในคูเวต ระยะทาง 2,100 กม. ใน 11 นาที  ฐานทัพเรือที่ 5 ในบาห์เรน ระยะทาง 2,500 กม. ใน 12 นาที  ฐานทัพอากาศในกาตาร์ ระยะทาง 2,650 กม. ใน 13 นาที ฐานทัพในจีบูติ แอฟริกา ระยะทาง 4,100 กม. ใน 20 นาที  

สำหรับแถบแปซิฟิกและอลาสกา หากยิงจาก Kamchatka ในไซบีเรีย จะโจมตีฐานทัพในอลาสกา ระยะทาง 2,400 กม. ใน 12 นาที  เกาะกวม ระยะทาง 4,500 กม. ใน 22 นาที เพิร์ลฮาร์เบอร์ ระยะทาง 5,100 กม. ใน 25 นาที  

ขณะที่จากฐาน Chukotka ในรัสเซีย ขีปนาวุธ Oreshnik สามารถยิงถึง ฐานปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีปในมอนทานา ระยะทาง 4,700 กม. ใน 23 นาที ไซโลขีปนาวุธในนอร์ทดาโกตา ระยะทาง 4,900 กม. ใน 24 นาที

‘เกาหลีใต้’ นำ!! รถถังปลดประจำการ ไปเป็นเป้าซ้อมยิง กลบกระแสข่าวลือ!! ส่งยานเกราะค่ายโซเวียต ให้ยูเครน

(30 พ.ย. 67) เพจ ‘การทูตและการทหาร’ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ รถถัง T-80U และรถรบทหารราบ BMP-3 โดยมีใจความว่า

มีข่าวว่าเกาหลีใต้นำรถถัง T-80U และรถรบทหารราบ BMP-3 บางส่วนที่ปลดประจำการแล้ว ไปใช้เป็นเป้าซ้อมแล้ว ดังนั้นใครที่หวังว่าเกาหลีใต้จะส่งยานเกราะค่ายโซเวียตเหล่านี้ให้กับยูเครน (เกาหลีใต้ได้รับ T-80U และ BMP-3 จากรัสเซียเพื่อชดใช้หนี้สมัยโซเวียต) ก็อาจจะต้องเลิกหวังส่วนนี้แล้ว

ปัจจุบันกองทัพรัสเซียยังคงใช้งานยานเกราะทั้ง 2 รุ่นอยู่ โดยในส่วนของรถถัง T-80U นั้น รัสเซียได้มีการอัพเกรดเป็นรุ่น T-80UE-1 และเมื่อรัสเซียมีความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือมากขึ้น ก็มีโอกาสที่เกาหลีเหนือจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยียานเกราะจากรัสเซีย มาต่อยอดให้กับรถถังเกาหลีเหนือซึ่งที่ผ่านมาจะมีพื้นฐานมาจากรถถัง T-62 เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าเกาหลีใต้นำยานเกราะรัสเซียที่มีอยู่ มาทดสอบหาจุดอ่อน อย่างในข่าวนี้คือเป็นการทดสอบการโจมตีด้วยโดรน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกาหลีใต้ แต่สำหรับยูเครนที่ต้องการอาวุธทุกชิ้นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คงผิดหวังไม่น้อย

‘เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ’ รมต.ต่างประเทศรัสเซีย เผยกับ ‘นักข่าวอเมริกัน’ เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด 4 ประการในการยุติ!! สงครามยูเครน

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2024 มีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ระหว่างนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกับนายทัคเกอร์ คาร์ลสันนักข่าวชาวอเมริกัน ที่เคยสัมภาษณ์ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมาโดยได้พูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเกี่ยวกับสาเหตุของการเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนและความสัมพันธ์กับตะวันตก ครั้งนี้นักข่าวชาวอเมริกันรายนี้เดินทางกลับมายังมอสโกเพื่อพูดคุยกับนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย การสัมภาษณ์ของนายทัคเกอร์ คาร์ลสันครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่การทูตเกี่ยวกับการหยุดยิงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งและในขณะที่รัสเซียยังคงเดินหน้าในสนามรบทางตะวันออกของยูเครน การสัมภาษณ์ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ภายใน 3 ชั่วโมง มีผู้เข้าชมเกือบ 2.3 ล้านครั้ง โดยรัฐมนตรีเซอร์เกย์ ลาฟรอฟได้ตอบคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งในยูเครน และเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศรัสเซียในการยุติปัญหานี้ โดยสามารถสรุปประเด็นการสัมภาษณ์ดังกล่าวที่สำคัญได้ 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกา
- รัสเซียต้องการมีความสัมพันธ์ตามปกติกับทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ยิ่งใหญ่เช่นสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแสดงความเคารพต่อชาวอเมริกันและความสำเร็จของพวกเขาหลายครั้ง เราไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมรัสเซียและสหรัฐอเมริกาจึงไม่สามารถร่วมมือกันได้
- สำหรับมอสโกสิ่งสำคัญคือการหลีกเลี่ยงสงครามกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสงครามอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้
- โดนัลด์ ทรัมป์เป็นมิตร แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะโปรรัสเซีย
- สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนถูกเรียกว่าสงครามลูกผสม ยูเครนจะไม่สามารถทำสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ด้วยอาวุธสมัยใหม่ที่มีพิสัยไกลได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทอย่างแข็งขันในการจัดหาอาวุธให้กับทางเคียฟ 
โดยเขากล่าวว่า “ผมจะไม่พูดว่าในวันนี้รัสเซียและสหรัฐอเมริกากำลังทำสงครามกัน เราไม่ได้ทำสงครามอย่างเป็นทางการ และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราอยากจะมีความสัมพันธ์ตามปกติกับทุกประเทศ”

ประเด็นที่สอง ความเสี่ยงจากสงครามนิวเคลียร์
- ทางการรัสเซียมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สงครามนิวเคลียร์จะลุกลาม
- หลักคำสอนทางทหารของเรากล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์
- แนวคิดของชาติตะวันตกที่มองว่ารัสเซียไม่มี ‘เส้นแดง’ นั้นถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรง หลายครั้งที่ตะวันตกประกาศเส้นแดงเองและเปลี่ยนเส้นแดงนั้นไปมา โดยเขากล่าวว่า “นี่เป็นเกมที่อันตรายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทางตะวันตกมีการเรียกร้องภายในเพนตากอนและ NATO ให้ชิงโจมตีก่อนโดยมองว่าการโจมตีเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด รวมถึงการโจมตีด้วยนิวเคลียร์อย่างจำกัด ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดหายนะที่เราไม่ต้องการ

ประเด็นที่สาม การทดสอบขีปนาวุธ ‘Oreshnik’
- รัสเซียไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายลง แต่เนื่องจากขีปนาวุธ ATACMS และอาวุธระยะไกลอื่น ๆ ถูกใช้กับแผ่นดินรัสเซีย ทางการรัสเซียหวังว่าการทดสอบขีปนาวุธ 'โอเรชนิก' จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ เพื่อให้ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
- รัสเซียจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของตน สหรัฐอเมริกาและผู้ที่จัดหาอาวุธพิสัยไกลให้กับเคียฟต้องเข้าใจว่าเราจะพร้อมที่จะใช้วิธีการใด ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกประสบความสำเร็จในการสร้าง ‘ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์’ ให้กับเรา 

ประเด็นสุดท้าย ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน
- เราไม่ได้เริ่มสงคราม ในทางตรงกันข้าม เราได้เปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อยุติสงครามที่ระบอบการปกครองของเคียฟได้ปลดปล่อยต่อประชาชนใน Donbass ซึ่งสิทธิมนุษยชนของประชากรรัสเซียและที่พูดภาษารัสเซียในยูเครนถูกละเมิดอย่างร้ายแรงรัสเซียเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อยุติสงครามที่ระบอบเคียฟกำลังดำเนินการกับประชาชนของตนเองในพื้นที่ดอนบาส 
- ชาวตะวันตกกำลังต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของตนในโลก แต่เรากำลังต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ด้านความปลอดภัยที่ถูกต้องตามกฎหมายและต่อสู้เพื่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนเหล่านี้
- เราไม่มีเจตนาที่จะทำลายชาวยูเครน พวกเขาเป็นพี่น้องกันกับชาวรัสเซีย
- รัสเซียเรียกร้องหลายครั้งในปี 2014 และ 2017 ให้ในระดับข้อตกลงอนุญาตให้บางส่วนของ Donbass และ Novorossiya พูดและเรียนเป็นภาษารัสเซียได้ ประการแรกมีข้อตกลงมินสค์ซึ่งกำหนดไว้เพื่อบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนยกเว้นไครเมียแต่ข้อตกลงเหล่านี้ถูกทำลายตั้งแต่เริ่มแรก และเราถูกบังคับให้เปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหาร จากนั้นข้อตกลงอิสตันบูลในปี 2022 พูดถึงการที่ยูเครนไม่เข้าสู่ NATO เพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัย แต่ถูกล้มหลังจากการมาถึงของนายบอริส จอห์นสันนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 
- อย่าคิดว่ารัสเซียและสหรัฐฯ กำลังตัดสินใจประเด็นของยูเครนแทนทุกคนเพราะนี่ไม่ใช่สไตล์ของมอสโก
- เมืองหลวงบางแห่งเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งในยูเครน มีการพูดคุยกันว่าสหรัฐฯ ต้องการปล่อยให้เรื่องนี้ตกเป็นหน้าที่ของยุโรป
- รัสเซียพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ต้องการการเจรจาอย่างสันติ โดยตั้งใจที่จะดำเนินการเจรจาตามหลักการที่ตกลงกันในอิสตันบูล และต้องคำนึงถึงพื้นฐานความเป็นจริงที่ว่าขณะนี้มีสาธารณรัฐใหม่สี่แห่งในรัสเซีย แต่ข้อตกลงเหล่านี้ถูกตะวันตกปฏิเสธ

โดยรัฐมนตรีเซอร์เกย์ ลาฟรอฟกล่าวว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีสั่งห้ามการเจรจากับรัสเซีย และทางรัสเซียก็พร้อมสำหรับการเจรจา หากคำนึงถึงความสมดุลทางผลประโยชน์ 

ซึ่งทั้ง 4 ประเด็น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถึงท่าทีและการส่งสัญญาณของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียต่อทางสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกผ่านทางนายทัคเกอร์ คาร์ลสันซึ่งผู้กำหนดนโยบายจากชาติตะวันตกจำเป็นจะต้องศึกษาและถอดความหมายจากการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ต่อไป

เลือกตั้งโรมาเนีย กับสงครามรัสเซีย – ยูเครน ‘คาลิน จอร์เจสคู’ ผู้ต่อต้านนาโต มาเป็นที่หนึ่ง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีโรมาเนียรอบแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมามนายคาลิน จอร์เจสคู (Calin Georgescu) ผู้สมัครอิสระที่ต่อต้านนาโตและชื่นชอบรัสเซีย ได้รับการเลือกตั้งขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในการลงคะแนนเสียงประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเกือบ 23% ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่น่าตกใจ ซึ่งขัดแย้งกับการสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ในขณะที่การเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2024 พรรคชาตินิยมไม่สามารถคว้าเสียงข้างมากแต่กลับกันสมาชิกฝ่ายขวาจัดกลับได้รับเลือกมากกว่าสามเท่าในสภานิติบัญญัติของโรมาเนีย

นายคาลิน จอร์เจสคูเป็นนักการเมืองผู้ชื่นชอบทฤษฎีสมคบคิดซึ่งยกย่องประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียและไออน อันโตเนสคู (Ion Antonescu) เผด็จการชาวโรมาเนียที่สนับสนุนนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคาดว่านายคาลิน จอร์เจสคูจะต้องแข่งขันกับนางเอเลน่า ลาสโคนี (Elena Lasconi) ที่สนับสนุนสหภาพยุโรปในการเลือกตั้งรอบสองในวันที่ 8 ธันวาคม 2024 นี้ การที่นายนายคาลิน จอร์เจสคูผู้สมัครที่เป็นมิตรกับรัสเซียได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประชาชนชาวโรมาเนียนั้นเป็นสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับยูเครน 

แม้จะยังห่างไกลจากชัยชนะอย่างสมบูรณ์แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวในประเทศที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อนบ้านยูเครนอย่างแข็งขันเน้นย้ำถึงความเหนื่อยล้าที่เพิ่มมากขึ้นในยุโรป นอกจากนี้ยังเผยให้เห็นถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์การสนับสนุนยูเครนของยุโรป โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาของโรมาเนียครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงผลงานที่แข็งแกร่งของกลุ่มชาตินิยมที่เป็นมิตรกับรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาของโรมาเนียเน้น

ในช่วงแรกนายคาลิน จอร์เจสคูนักการเมืองหัวรุนแรงอนุรักษ์นิยมซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สมัครที่มีโอกาสชนะน้อยมากสามารถพลิกกลับมาประสบความสำเร็จได้ด้วยการมีตัวตนบนโซเชียลมีเดียซึ่งช่วยให้เขาได้คะแนนเสียงจากผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล ในการนับคะแนนรอบแรกนายคาลิน จอร์เจสคูถูกกล่าวหาว่า TikTok มีอคติให้การสนับสนุนจอร์เชสคูและการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย ทำให้ต้องนับคะแนนใหม่และต้องได้รับการรับรองโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ในการเลือกตั้งรัฐสภาพรรคพันธมิตรเพื่อสหภาพโรมาเนีย (AUR) ซึ่งนายจอร์จ ซีมิออน (George Simion) หัวหน้าพรรคถูกห้ามไม่ให้เข้ายูเครนได้คะแนนเสียงเป็นอันดับสอง 18% ตามหลังพรรคโซเชียลเดโมแครตซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่ได้เพียงแค่ 22% พรรคการเมืองขวาจัดอีกสองพรรคได้แก่ พรรค SOS Romania ของส.ส. ไดอานา โซโซอาคา (Diana Șoșoacă) ที่นิยมรัสเซียและพรรคเยาวชน (Party of Young People -POT) ที่เกี่ยวข้องกับนายคาลิน จอร์เจสคูได้รับคะแนนเสียงประมาณ 7.4% และ 6.5% ตามลำดับ ในขณะที่พรรคการเมืองสายกลางที่นิยมตะวันตกได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในการเลือกตั้งรัฐสภา การชนะของพรรคชาตินิยมและโอกาสของจอร์เจสคูในการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้เพิ่มความรู้สึกนิยมรัสเซียในยุโรปให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

ผลการเลือกตั้งที่ประชาชนชาวโรมาเนียให้การสนับสนุนนายคาลิน จอร์เจสคูอย่างมากส่งผลให้สหรัฐฯ ตอบโต้อย่างรวดเร็วด้วยการออกมาขู่กรรโชก โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าวอชิงตันกำลังจับตาดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีของโรมาเนียอย่างใกล้ชิดและเตือนโรมาเนียไม่ให้ละทิ้งแนวทางที่สนับสนุนยุโรปถึงขนาดออกมาขู่ว่าจะระงับความร่วมมือด้านความมั่นคงและการลงทุนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทางสหรัฐฯ ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานของสภาสูงสุดแห่งโรมาเนียด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งกล่าวหาว่ารัสเซียมีกิจกรรมทางไซเบอร์เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งของประเทศ ในขณะที่นายคาลิน จอร์เจสคูกล่าวว่าเขายินดีที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศโรมาเนีย แต่เน้นย้ำว่าความพยายามใดๆ ที่จะแทรกแซงจากภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2024 เจ้าหน้าที่โรมาเนียได้เปิดเผยหลักฐานที่เป็นความลับเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าแคมเปญโซเชียลมีเดียที่ "มีการจัดอย่างเป็นระบบ" และได้รับการสนับสนุนจาก ‘หน่วยงานของรัฐ’ เพื่อสนับสนุนนายคาลิน จอร์เจสคูผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่สนับสนุนรัสเซียในการลงคะแนนเสียง ในขณะที่หน่วยข่าวกรองต่างประเทศของโรมาเนีย (The Romanian foreign intelligence agency - SIE) ชี้ให้เห็นถึง ‘การโจมตีแบบผสมผสานของรัสเซียที่ก้าวร้าว รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ การรั่วไหลของข้อมูล และการก่อวินาศกรรม’ ที่กำหนดเป้าหมายคือโรมาเนีย รายงานฉบับหนึ่งซึ่งถูกเปิดเผยโดยประธานาธิบดี เคลาส์ อิโอฮานิส (Klaus Iohannis) ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ระบุว่านายคาลิน จอร์เจสคูได้รับการสนับสนุนจากแคมเปญที่ประสานงานโดยผู้ดำเนินการของรัฐบนแพลตฟอร์ม TikTok ของจีน แคมเปญดังกล่าวเริ่มต้นจากบัญชีประมาณ 25,000 บัญชีที่มีการใช้งานสูงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง แม้ว่าผู้สมัครจะอ้างว่าไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณการรณรงค์หาเสียงแต่หน่วยข่าวกรองระบุว่ามีบัญชี TikTok บัญชีหนึ่งที่จ่ายเงิน 381,000 ดอลลาร์ให้กับผู้ใช้ที่สนับสนุนนายคาลิน จอร์เจสคู นอกจากนี้หน่วยงานฯ ยังรายงานด้วยว่ามีการโจมตีทาง ไซเบอร์ 85,000 ครั้งเพื่อเข้าถึงและแทรกแซงข้อมูลการเลือกตั้งโดยใช้วิธีการขั้นสูงที่บ่งชี้ว่า "ผู้ดำเนินการได้รับการสนับสนุนจากรัฐ" กระทรวงมหาดไทยของโรมาเนียยังออกมาระบุว่าแคมเปญดังกล่าวใช้ผู้มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดียซึ่งมีผู้ติดตามรวมกันกว่า 8 ล้านคนเพื่อโน้มน้าวความคิดเห็นของประชาชนในลักษณะเดียวกับแคมเปญข้อมูลของรัสเซียในยูเครนก่อนที่รัสเซียจะรุกราน

การที่สหรัฐออกมาข่มขู่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีโรมาเนียครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโรมาเนียต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และสงครามรัสเซีย - ยูเครน โดยสามารถวิเคราะห์ความสำคัญของโรมาเนียต่อสงครามรัสเซียยูเครนและยุทธศาสตร์การต่อต้านรัสเซียของสหรัฐฯและพันธมิตรได้ดังนี้

ความสำคัญของการสนับสนุนของโรมาเนียต่อยูเครน
- โรมาเนียได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นพันธมิตรที่มั่นคงของยูเครน โดยให้การสนับสนุนด้านการทหาร เศรษฐกิจ และมนุษยธรรมที่สำคัญ โรมาเนียซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครนยาว 613 กิโลเมตร (380 ไมล์) ถูกคุกคามจากโดรนของรัสเซียที่ตกลงมาในดินแดนของตนระหว่างการโจมตียูเครนในเวลากลางคืน
- ประเทศนี้เป็นหนึ่งในพันธมิตรไม่กี่รายที่จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตให้กับยูเครน นอกเหนือไปจากรายการอุปกรณ์ลับส่วนใหญ่ที่รายงานว่ารวมถึงระบบจรวดหลายลำกล้อง APRA-40 หรือยานเกราะ TAB-71
- นักบินยูเครนกำลังเรียนรู้การบินเครื่องบินรบ F-16 ที่ศูนย์ฝึกอบรมของพันธมิตรในฐานทัพอากาศ Fetesti ทางตะวันออกเฉียงใต้ของโรมาเนีย ขณะที่ฐานทัพอีกแห่งมีกำหนดจะเป็นสถานที่ฝึกอบรมสำหรับนาวิกโยธินยูเครน

- ในฐานะเพื่อนบ้านของยูเครน โรมาเนียจึงมีความสำคัญต่อการขนส่งสินค้าเกษตรของยูเครนที่มุ่งหน้าสู่ตลาดโลก ท่ามกลางความพยายามของรัสเซียในการปิดกั้นเส้นทางการค้าในทะเลดำ
- แม้ว่าความสำคัญของเส้นทางโรมาเนียจะลดลงเนื่องจากยูเครนเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ แต่ท่าเรือคอนสแตนตาของโรมาเนียยังคงคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสี่ของการส่งออกเกษตรของยูเครนจนถึงปลายปี 2024
- ในฐานะส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศที่ถูกปิดล้อม โรมาเนียได้ให้การต้อนรับผู้ลี้ภัยมากกว่า 170,000 คนและสนับสนุนความพยายามในการกำจัดทุ่นระเบิดระหว่างประเทศ
- บูคาเรสต์ยังเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลเคียฟและการเข้าร่วมนาโตและสหภาพยุโรปบนเวทีระหว่างประเทศอีกด้วย ความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านได้แข็งแกร่งขึ้นด้วยสนธิสัญญาความมั่นคงระยะเวลา 10 ปีที่ลงนามเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2024

ความสำคัญของโรมาเนียต่อยุทธศาสตร์การต่อต้านรัสเซียของสหรัฐฯและพันธมิตร
- โรมาเนียซึ่งเคยเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาวอร์ซอ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของปีกตะวันออกของ NATO และยืนหยัดอยู่แนวหน้าในการพยายามคุกคามรัสเซียของกลุ่มประเทศสมาชิก
- ชายฝั่งทะเลดำของโรมาเนียทำให้โรมาเนียเป็นเส้นทางที่สะดวกสำหรับการขนส่งอาวุธไปยังเคียฟ
- โครงสร้างพื้นฐานทางทหารของ NATO ในโรมาเนียทำหน้าที่เป็นฐานในการยิงโดรน เช่น MQ-9 Reaper เพื่อสอดส่องกิจกรรมของรัสเซียจากน่านฟ้าเป็นกลางเหนือทะเลดำ และอาจช่วยประสานงานการโจมตีของยูเครนต่อดินแดนของรัสเซียได้
- สถานะของโรมาเนียในฐานะประเทศในทะเลดำช่วยให้ NATO สามารถพิสูจน์การมีฐานทัพเรือในส่วนนั้นของโลกได้
- ชายแดนระหว่างโรมาเนียกับมอลโดวาทำให้ NATO สามารถคุกคามทรานส์นีสเตรีย ซึ่งเป็นดินแดนแยกตัวของมอลโดวาที่อยู่ระหว่างมอลโดวาและยูเครน โดยมีกองกำลังรักษาสันติภาพของรัสเซียประจำการอยู่
- ฐานทัพอากาศ Mihail Kogalniceanu ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับคอนสแตนตากำลังขยายตัวและคาดว่าจะกลายเป็นฐานทัพทหารที่ใหญ่ที่สุดของ NATO ในยุโรป การขยายตัวนี้ส่งผลให้โรมาเนียกลายเป็น 'เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม' ที่อยู่หน้าประตูบ้านของรัสเซีย
- ฐานทัพทหาร Deveselu ใกล้กับคาราคัลเป็นที่ตั้งของระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล Aegis Ashore ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจใช้เครื่องยิง Mk 41 เพื่อยิงขีปนาวุธ (เช่น ขีปนาวุธร่อน Tomahawk) ใส่รัสเซีย

หากนายคาลิน จอร์เจสคู ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สอง ‘เขาจะมีความชอบธรรมในสายตาประชาชนในฐานะประธานาธิบดี’ ซึ่งระบบการเมืองของโรมาเนียเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสามารถหยุดยั้งแนวทางที่สนับสนุนยูเครนของประเทศได้ โดยประมุขแห่งรัฐของโรมาเนียเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ของกองทัพ เป็นประธานสภากลาโหม และเป็นตัวแทนของประเทศในระดับนานาชาติ รวมถึงในสภายุโรปและการประชุมสุดยอดนาโตด้วย ซึ่งหากนายคาลิน จอร์เจสคูได้รับเลือกโอกาสที่โรมาเนียจะหยุดให้การสนับสนุนยูเครนก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯและพันธมิตรยอมไม่ได้เห็นได้จากการที่เขาหาเสียงด้วยการออกมาพูดต่อต้านความช่วยเหลือทางทหารสำหรับเคียฟและโจมตีฐานทัพนาโตในประเทศว่าเป็น ‘แหล่งน่าละอาย’ ของชาติ 

ซึ่งบทสรุปอนาคตของโรมาเนียชาวโรมาเนียต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าโรมาเนียจะพอกับการให้การสนับสนุนสงครามในยูเครนต่อไปหรือไม่ ซึ่งเราต้องติดตามผลการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีของโรมาเนียที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2024 นี้อย่างใกล้ชิด

ทัพรัสเซียตั้งกองกำลังโดรนพลีชีพ เสริมทัพแนวหน้าศึกยูเครน

เมื่อวันที่ (16 ธ.ค. 67) นายอังเดร เบโลโซฟ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยว่า ได้อนุมัติการจัดตั้งกองกำลังรบรูปแบบใหม่ที่ใช้การโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ภายใต้หน่วยที่ชื่อ 'Unmanned Systems Forces' โดยหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้นอกจากเป็นกองกำลังด้านการรบโดยใช้โดรนในแนวหน้าแล้ว ยังรับผิดชอบด้านการฝึกอบรม จัดหายุทโธปกรณ์ จัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านโดรนโดยเฉพาะต่อหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลรัสเซียด้วย

Dmitry Kornev ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสารทางทหารของรัสเซียกล่าวกับสปุตนิก ว่า หนึ่งในวิธีการบริหารกองทัพที่มีประสิทธิภาพคือการจัดตั้งหน่วยงานที่เสมือนกองทัพขนาดย่อมๆ แยกต่างหาก เพื่อดำเนินการงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยที่ผ่านกองทัพรัสเซียเริ่มมีการใช้และจัดหาโดรนและอากาศยานไร้คนขับด้านการทหารมากขึ้น

Kornev ยังคาดการณ์กับสปุตนิกว่า โดรนที่คาดว่ากองทัพรัสเซียจะใช้ในภารกิจการรบและเฝ้าระวังในแนวหน้าแถบยูเครนมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่โดรนติดมิสไซส์ Ovod (Gadfly) และ Upyr ที่มามารถบรรทุกอาวุธ เช่น หัวรบจาก RPG-7 และระเบิดขนาดเล็กได้ ไปจนถึง โดรนสังหารแบบกามิกาเซ่ที่นอกจากใช้ลาดตระเวนแล้วยังสามารถเปลี่ยนให้เป็นโดรนทำลายเป้าหมายได้ด้วยเช่น 

Orlan-10 โดรนอเนกประสงค์สำหรับการลาดตระเวน ซึ่งสามารถบูรณาการกับระบบเรดาร์เฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์แบบ RB-341V Leer-3 ได้ มีพิสัยการบินไกล 600 กม. และบินอยู่กลางอากาศได้นาน 18 ชั่วโมง 

โดรนแบบ  HESA Shahed 136 เป็นโดรนโจมตีระยะไกลแบบกามิกาเซ่ที่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร มีเครื่องยนต์ไอพ่น บินได้เร็วถึง 800 กม./ชม. มีพิสัยการบิน 2,500 กม. และบรรทุกวัตถุระเบิดได้มากถึง 50 กก.

และโดรนแบบZALA Kub-BLA  ซึ่งเป็นโดรนสำหรับ ภารกิจ ลาดตระเวนและโจมตีแบบพลีชีพ โดยสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 3 กิโลกรัม บินด้วยความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. นาน 30 นาที ขณะที่รุ่นปรับปรุงใหม่สามารถโจมตีได้ไกลกว่า 50 กม. และสามารถโจมตีเป็นกลุ่มได้พร้อมกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top