Tuesday, 22 April 2025
ยูเครน

‘อ.เจษฎา’ ฟาดใส่!! ‘ทรัมป์’ คนโง่เท่านั้น ที่บอกว่า ‘ยูเครน’ เริ่มสงครามก่อน ชี้!! ‘รัสเซีย’ บุกรุกรานเข้ายึด ‘ไครเมีย’ ของยูเครน ตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

(22 ก.พ. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า …

เห็นด้วยตามนั้นครับ ‘คนโง่เท่านั้น ที่บอกว่า ยูเครนเริ่มสงครามก่อน’

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ รัสเซียบุกรุกรานเข้ายึดไครเมียของยูเครนได้สำเร็จไปรอบนึงแล้ว ตั้งแต่ปี 2014 .. และปี 2022 นี้ ก็ยกกำลังเข้ามาบุกรุกราน จนจะถึงเมือง เคียฟ อยู่แล้ว ด้วยความตั้งใจที่จะยึดประเทศให้ได้ใน 3 วัน (แต่ 3 ปีแล้ว ก็ยังคืบหน้าไปได้ไม่เยอะ)

ส่วนที่บางคนอ้างถึงสนธิสัญญามินซ์ อ้างว่ายูเครนทำผิดที่คิดจะเข้าเนโต้ .. จริงๆในสนธิสัญญา ไม่ได้มีเขียนระบุ เรื่องที่บอกว่าเนโต้จะไม่ขยายพื้นที่ ไม่มีเขียนระบุว่ายูเครนห้ามเข้า nato 

และที่ผ่านมาก็มีหลายชาติที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียต และมีพรมแดนติดกับประเทศรัสเซีย ก็เข้าร่วมเนโต้ไปตั้งนานแล้ว แต่ไม่ถูกรุกราน ไม่ถูกหาเรื่องจากรัสเซีย 

คนที่ฉีกสัญญาจริง ๆ คือรัสเซียต่างหาก ที่ละเมิดสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ให้ยูเครนยอมมอบอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีให้กับรัสเซีย เพื่อแลกกับสันติภาพ และการันตีว่าจะไม่บุกรุกราน แต่ปูตินก็ฉีกสัญญานั้น

สุดท้ายคือ เลิกโทษคนยูเครนหรือประธานาธิบดียูเครน ที่พยายามต่อสู้รักษาเอกราชของประเทศตน ได้แล้ว อันนั้นมันคือการ blame victim การไปโทษเหยื่อ ที่ขัดขืนคนร้ายขัดขืนฆาตกร จนถูกทำร้ายหรือเสียชีวิต 

สงครามเลวร้ายนี้หยุดได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ปูตินยอมถอนทัพกลับไปประเทศตัวเอง ซึ่งนานาชาติต้องร่วมกันผลักดันให้เห็นว่าเขาคิดผิดที่ก่อสงครามนี้

‘ทรัมป์’ บีบ!! ‘ยูเครน’ มอบทรัพยากรครึ่งประเทศ แลกเงินช่วย โดยไม่มี!! ‘หลักประกันด้านความมั่นคง’ ตอบแทน

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 68) ‘ยูเครน’ กำลังพิจารณาข้อเสนอใหม่จาก ‘รัฐบาลทรัมป์’ ซึ่งกำหนดให้ต้องแบ่งรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงแร่ ก๊าซ และน้ำมัน ให้กับสหรัฐฯ โดยไม่มีหลักประกันด้านความมั่นคงใดๆ ตอบแทน

เอกสารร่างข้อตกลงฉบับล่าสุดลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ระบุว่า ยูเครนต้องแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งจากทรัพยากรธรรมชาติให้สหรัฐฯ รวมถึงรายได้จากท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกับร่างข้อตกลงก่อนหน้านี้ที่ยูเครนเคยปฏิเสธเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพราะเห็นว่าเป็นภาระเกินไป

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงใหม่นี้ยังคง ไม่มีหลักประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ตามที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เรียกร้อง ก่อนหน้านี้ยูเครนเสนอให้สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรด้านทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางทหารเพิ่มเติม แต่ข้อตกลงเดิมไม่มีข้อผูกพันด้านความมั่นคง ทำให้เซเลนสกีปฏิเสธการลงนาม

ข้อตกลงฉบับล่าสุดยังระบุว่า รายได้จากทรัพยากรของยูเครนจะถูกส่งเข้าสู่กองทุนที่สหรัฐฯ ถือสิทธิทางการเงิน 100% โดยยูเครนต้องจ่ายเข้ากองทุนจนกว่าจะถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ทรัมป์เรียกร้องเป็น “ค่าตอบแทน” สำหรับความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้ยูเครน

ตัวเลข 500,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่ารายได้จากทรัพยากรของยูเครนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่เพียง 1,100 ล้านดอลลาร์ และมากกว่าสี่เท่าของมูลค่าความช่วยเหลือสหรัฐฯ ที่ให้ยูเครนจนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ตัวเลขนี้ไม่เคยถูกระบุในร่างข้อตกลง แต่ทรัมป์เคยพูดไว้ต่อสาธารณะว่าเป็นจำนวนที่เขาต้องการ

ยูเครนเจอแรงกดดันหนักจากทรัมป์

เจ้าหน้าที่ในเคียฟกำลังศึกษาข้อตกลงและยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ รัสลัน สเตฟานชุก ประธานรัฐสภายูเครนเผยว่า ยูเครนต้องการหลักประกันด้านความมั่นคง หากจะต้องยอมให้สหรัฐฯ เข้าถึงทรัพยากรของตน

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเซเลนสกีกับทรัมป์ตกต่ำลงอย่างหนัก ทรัมป์เรียกเซเลนสกีว่า “เผด็จการที่ไร้การเลือกตั้ง” ขณะที่เซเลนสกีโต้กลับว่า ทรัมป์ติดอยู่ใน “ใยข้อมูลเท็จ” หลังจากทรัมป์กล่าวหาอย่างผิดๆ ว่ายูเครนเป็นฝ่ายเริ่มสงครามกับรัสเซีย

เอกสารระบุว่า หากยูเครนได้รับความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ หลังลงนามข้อตกลง ยูเครนจะต้องจ่ายคืนเป็นมูลค่าถึง 2 เท่าของเงินที่ได้รับ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวระบุว่า ข้อตกลงนี้ถือเป็น “หลักประกันความมั่นคง” ของยูเครน เนื่องจากการมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในยูเครนจะช่วยป้องกันประเทศจากรัสเซีย

ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า “เซเลนสกีจะต้องลงนามในข้อตกลงนี้ และคุณจะเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้”

ขณะที่ทรัมป์กล่าวในทำเนียบขาวว่า “เราจะต้องได้ข้อตกลง หรือจะเกิดปัญหาใหญ่กับพวกเขา”

‘อ.เจษฎา’ ชี้!! ประธานาธิบดียูเครน ‘โวโลดีมีร์ เซเลนสกี’ ไม่ใช่ เผด็จการ เผย!! ประเทศต้องอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ทำให้การเลือกตั้ง ถูกระงับไปก่อน

(23 ก.พ. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า …

วันนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ โกหกอะไร ? 
สลิ่มไทยหัวใจรัสเซีย ออกมาเชียร์กันใหญ่ เมื่อฮีโร่คนใหม่ของพวกเขา อย่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา (ประเทศที่พวกเขาเคยเกลียดเข้ากระดูกดำกัน แถมประกาศจะยึดครองกาซ่าด้วย) ..

..ออกมาโจมตีประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ว่าเป็น "เผด็จการ ที่ประชาชนไม่สนับสนุน" เหมือนอย่างกับยืมคำของจอมเผด็จการตัวจริงอย่าง ปูติน มาใช้

โดย ทรัมป์ ได้โพสต์บนโซเชียลมีเดียกล่าวหาประธานาธิบดีเซเลนสกี ว่าเป็น "เผด็จการ ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง" เหมือนที่ปูตินเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ 28 มกราคม ที่ผ่านมา กล่าวหาว่าเซเลนสกีนั้นไร้ความชอบธรรมในการเป็นประธานาธิบดี

เพราะยูเครนไม่ได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 (ซึ่งตอนนั้น เซเลนสกีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 73%) และวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ได้สิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2024 

แต่ จริงๆ แล้ว ยูเครนอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มาตั้งแต่ที่โดนรัสเซียบุกรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ ปึ 2022 ทำให้การเลือกตั้ง ปธน. ถูกระงับไปก่อน
โดยกฎหมายกฎอัยการศึกนี้ ร่างขึ้นตั้งแต่ปี 2015 หลังจากที่รัสเซียบุกเข้ามายึดคาบสมุทรไครเมียของยูเครน เมื่อปี 2014 เนื่องจากอดีตประธานาธิบดียูเครน ที่ฝักใฝ่รัสเซีย ถูกประชาชนประท้วงขับไล่ออกจากตำแหน่ง

ซึ่งนั่นก็คือ กฎหมายนี้มีมาหลายปี ก่อนที่เซเลนสกี จะได้เป็นประธานาธิบดี (ไม่ใช่ว่าเขาเขียนกฎหมาย หรือแก้กฎหมาย เพื่อต่ออำนาจต่อเอง แบบที่ปูตินเคยทำ) 

เซเลนสกี ก็เคยประกาศให้คำมั่นแล้ว ว่าจะจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ หลังจากสงครามสิ้นสุดลง 

ในโลกความจริง ใครจะจัดเลือกได้ ถ้าประเทศยังมีสงครามแบบนี้ รัสเซียยังคงโจมตีหลายเมืองของยูเครนทุกวัน ยิงจรวดใส่ยูเครนทุกวัน 
และมีชาวยูเครนนับล้านคน ต้องอพยพลี้ภัยไปต่างประเทศ รวมถึงอีกจำนวนที่ติดอยู่ในพื้นที่ที่รัสเซียกำลังยึดครองอยู่

นายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค อดีตนายกรัฐมนตรียูเครน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า "โวโลดีมีร์ เซเลนสกี เป็นประธานาธิบดีที่ชอบธรรมโดยสมบูรณ์ เราไม่สามารถจัดการเลือกตั้งภายใต้กฎอัยการศึกได้"

กระแสโต้ทรัมป์จากฝั่งยุโรป

เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าเขาสนับสนุนประธานาธิบดีเซเลนสกี ในการสนทนาทางโทรศัพท์กับผู้นำยูเครน

เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีของประเทศสหราชอาณาจักร แสดงการสนับสนุนว่า "การระงับการเลือกตั้งในช่วงสงครามเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่สหราชอาณาจักรเคยทำ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 "

ที่แย่กว่านั้นคือ ทรัมป์ไม่ได้แสดงความเห็นอะไรถึงการตัดสินใจของปูติน ที่สั่งรุกรานยูเครนแม้แต่น้อย .. 

กลายเป็น victim blame โทษแต่เหยื่อฝ่ายเดียว ว่าเป็นฝ่ายไปเริ่มก่อน และไม่ยอมหยุดขัดขืน (ซึ่งจริงๆ คือการปกป้องอธิปไตยของตนเอง) จึงมีคนบาดเจ็บล้มตายนับล้าน 

ปูตินบุกยูเครน โดยอ้างว่าจะกำจัดลัทธินาซี ของรัฐบาลเซเลนสกี และห้ามไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมกับนาโต

ทั้งที่เซเลนสกี จริงๆ แล้วเป็นชาวยิว พรรคของเขาเป็นพรรคสายกลาง และผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของยูเครน ก็มีผู้สมัครกลุ่มขวาจัด ได้คะแนนเสียงเพียง 2% 

แถมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาโต ระบุในปี 2021 ด้วยว่ายูเครนเป็นเพียง "ผู้สมัคร" ที่อาจเข้าร่วมพันธมิตรในอนาคต แต่ยังไม่ได้อยู่ในกระบวนการ อย่างเป็นทางการใด ๆ

แถมทรัมป์ยังโกหกด้วยว่า ความนิยมของเซเลนสกี ในยูเครน ตอนนี้มีเพียง 4% .. ทั้งที่ผลสำรวจที่จัดทำในเดือนกุมภานี้ พบว่า 57% ของชาวยูเครนให้ความไว้วางใจกับประธานาธิบดี

‘บอริส จอห์นสัน’ เผย!! ยุโรปใช้ยูเครน เป็นตัวแทน ทำสงครามกับรัสเซีย ชี้!! สนับสนุนน้อยไปหน่อย จึงรบได้ไม่เต็มที่ คล้าย!! คนถูกมัดมือข้างหนึ่ง

(24 ก.พ. 68) เพจ ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า ...

โบโจ้ เอเคเอ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกอังกฤษ ให้สัมภาษณ์และสารภาพออกสื่อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุโรปใช้ยูเครน เป็นตัวแทนทำสงครามกับรัสเซีย โดยมียุโรป ในนามเนโต้หนุนหลัง

เขาเผยว่า สงครามตัวแทนนี้ ยุโรปในฐานะผู้ยุยงส่งเสริม ให้การสนับสนุนยูเครนน้อยจนเกินไป ยูเครนจึงอยู่ในสภาพคล้าย คนถูกมัดมือข้างหนึ่ง จึงรบได้ไม่เต็มที่

สหรัฐ-ยูเครน ปิดดีลแร่หายาก ทรัมป์ปลดล็อกส่งอาวุธ แต่ไร้หลักประกันความมั่นคง เปิดช่องรัสเซียเดินเกมรุก

(26 ก.พ. 68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐและยูเครนได้อนุมัติร่างข้อตกลงแร่ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการฟื้นฟูประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ระบุการรับประกันความปลอดภัยจากสหรัฐแก่ยูเครนโดยตรง ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อกังวลในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ

ร่างข้อตกลงฉบับนี้กำหนดให้มีการจัดตั้ง "กองทุนการลงทุนเพื่อการฟื้นฟู" (Reconstruction Investment Fund) เพื่อรวบรวมรายได้จากแหล่งแร่ธาตุ ไฮโดรคาร์บอน และทรัพยากรอื่น ๆ ของยูเครน โดยยูเครนจะต้องสมทบเงิน 50% ของรายได้สุทธิจากทรัพยากรธรรมชาติเข้ากองทุนจนกว่าจะถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท) ขณะที่สหรัฐจะให้การสนับสนุนทางการเงินระยะยาวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของยูเครน

แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและยูเครน แต่ประเด็นเรื่องความมั่นคงยังคงเป็นข้อถกเถียงสำคัญ แหล่งข่าวระบุว่าร่างข้อตกลงไม่ได้ให้การรับประกันด้านความปลอดภัยจากสหรัฐแก่ยูเครนอย่างชัดเจน หรือให้คำมั่นเกี่ยวกับการส่งอาวุธเพิ่มเติม โดยระบุเพียงว่าสหรัฐต้องการให้ยูเครนเป็น "อิสระ มีอำนาจอธิปไตย และปลอดภัย"

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันข้อตกลงนี้ กล่าวว่า หากสามารถบรรลุข้อตกลงยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ อาจจำเป็นต้องมีกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม รัสเซียแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกองกำลังจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

การหารือเกี่ยวกับข้อตกลงเกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างทรัมป์และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน โดยทรัมป์เคยกล่าวหาเซเลนสกีว่าเป็น "เผด็จการ" ขณะที่ผู้นำยูเครนตอบโต้โดยระบุว่า ทรัมป์ได้รับข้อมูลผิด ๆ จากรัฐบาลรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ เซเลนสกีปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลง เนื่องจากเห็นว่าสหรัฐเรียกร้องผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนมากเกินไปเมื่อเทียบกับความช่วยเหลือที่มอบให้ โดยสหรัฐได้ให้เงินช่วยเหลือยูเครนแล้วกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 11.8 ล้านล้านบาท) รวมถึงอาวุธและอุปกรณ์ทางทหาร

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงมองว่า แรงผลักดันของทรัมป์ในการเร่งยุติสงครามและท่าทีที่ประนีประนอมกับรัสเซีย อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของยูเครนและยุโรป รวมถึงเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์

สก็อตต์ แอนเดอร์สัน นักวิจัยจากสถาบันบรูคกิ้งส์ ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากยูเครน แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทรัมป์และสมาชิกสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน เนื่องจากช่วยให้สหรัฐมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์นี้

‘ทรัมป์ – เซเลนสกี’ ปะทะคารมเดือดต่อหน้าสื่อ สุดท้ายดีลแร่ธาตุหายากล่มไม่เป็นท่า

(1 มี.ค.68) เอพี รายงานความคืบหน้าหลังการหารือข้อตกลงธาตุหายาก หรือธาตุแรร์เอิร์ธระหว่าง ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ลงเอยด้วยความล้มเหลว

โดยเซเลนสกียืนกรานว่า จะไม่เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย จนกว่าจะมีหลักประกันด้านความปลอดภัยในการต่อต้านการโจมตีอีกครั้ง

ก่อนเสริมว่า การโต้เถียงอย่างดุเดือดกับประธานาธิบดีทรัมป์นั้น “ไม่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย” และว่า ทรัมป์ซึ่งยืนกรานว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย พร้อมจะยุติสงครามที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี จำเป็นต้องเข้าใจว่ายูเครนไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อรัสเซียได้ในทันที ขณะที่นายทรัมป์ตำหนินายเซเลนสกีว่าไม่ให้เกียรติและยกเลิกการลงนามข้อตกลง

การประชุมพิเศษที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เปลี่ยนจากการหารือที่อาจสร้างประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเหตุที่สร้างความตกตะลึงและอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก กำหนดเดิมนายเซเลนสกีคาดว่าจะลงนามในข้อตกลงที่อนุญาตให้สหรัฐเข้าถึงแร่ธาตุหายากของยูเครนได้มากขึ้น และจัดงานแถลงข่าวร่วมกัน แต่แผนดังกล่าวถูกยกเลิก หลังมีการโต้เถียงดุเดือดระหว่างสองผู้นำต่อหน้าสื่อมวลชน และยังไม่ชัดเจนว่าการพลิกผันครั้งนี้ จะส่งผลต่อข้อตกลงที่นายทรัมป์ยืนกรานว่ายูเครนจำเป็นต้องชดใช้เงินช่วยเหลือของสหรัฐกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.1 ล้านล้านบาทอย่างไร

เซเลนสกีและคณะเดินทางออกจากทำเนียบขาวไม่นาน หลังจากนายทรัมป์ตะโกนใส่ และแสดงออกว่าดูถูกอย่างเปิดเผย ทรัมป์กล่าวกับเซเลนสกีว่า “คุณกำลังพนันกับสงครามโลกครั้งที่สามและสิ่งที่คุณทำอยู่นั้นไม่เคารพประเทศนี้เลย ประเทศนี้สนับสนุนคุณมากกว่าที่หลายคนบอกว่าควรสนับสนุนเสียอีก”

ช่วง 10 นาทีสุดท้ายของการประชุมเกือบ 45 นาที กลายเป็นการปะทะคารมอย่างตึงเครียดระหว่างนายทรัมป์ รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ของสหรัฐ และนายเซเลนสกี ซึ่งต้องการกดดันนายทรัมป์ไม่ให้ละทิ้งยูเครนและเตือนว่าอย่าไว้ใจนายปูตินมากเกินไป เพราะผู้นำรัสเซียล่มข้อตกลงหย่าศึกด้วยตัวเองมากถึง 25 ครั้ง

แต่นายทรัมป์กลับตะโกนใส่นายเซเลนสกี ก่อนตอบว่า นายปูตินไม่ได้ทำลายข้อตกลงกับตน และส่วนใหญ่หลบเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับการเสนอหลักประกันความปลอดภัยให้กับยูเครน

สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดหลังจากแวนซ์ท้าทายเซเลนสกีว่า “ท่านประธานาธิบดี ด้วยความเคารพผมคิดว่าการที่คุณมาที่ห้องรูปไข่เพื่อพยายามฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อหน้าสื่ออเมริกันถือเป็นการไม่ให้เกียรติ”

เซเลนสกีพยายามคัดค้าน และทำให้นายทรัมป์พูดเสียงดังว่า “คุณกำลังพนันกับชีวิตของผู้คนนับล้าน” ในช่วงหนึ่งนายทรัมป์ประกาศว่าตัวเองอยู่ “ตรงกลาง” และไม่ได้อยู่ฝ่ายยูเครนหรือรัสเซียในความขัดแย้งนี้

ทั้งยังเยาะเย้ยความเกลียดชัง ที่เซเลนสกีมีต่อปูตินว่าเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพ “คุณเห็นความเกลียดชังที่เขามีต่อปูตินไหม มันยากมากสำหรับผมที่จะทำข้อตกลงด้วยความเกลียดชังแบบนั้น”

ขณะที่พรรคเดโมแครตวิจารณ์นายทรัมป์ และรัฐบาลทันทีที่ล้มเหลวการบรรลุข้อตกลงกับยูเครน นายชัค ชูเมอร์ หัวหน้าวุฒิสภาพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ทรัมป์และแวนซ์ “กำลังทำงานสกปรกให้ปูติน”

สหรัฐฯ ลั่นจะไม่ให้ความช่วยเหลือทางการทหารยูเครน อีกต่อไป หลังเกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงระหว่าง ทรัมป์ และ เซเลนสกี

(1 มี.ค.68) แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แถลงว่า สหรัฐฯ จะไม่ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนอีกต่อไป เนื่องจากสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพเป็นอันดับแรก การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเกิดข้อโต้แย้งระหว่างการเยือนของประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี

“เราจะไม่เขียนเช็คเปล่าอีกต่อไปสำหรับสงครามในประเทศที่อยู่ห่างไกลซึ่งไม่มีสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืน” ลีวิตต์ กล่าว

“เป็นเรื่องดีมากที่กล้องต่างๆได้มีการฉายภาพให้เห็นกันจะจะอย่างชัดเจน เพราะชาวอเมริกันและคนทั่วโลกได้เห็นสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์และทีมงานของเขากำลังดีลกับประตูที่ปิดสนิทในระหว่างการเจรจากับยูเครน” เธอกล่าวเสริม

ก่อนหน้านี้ The Washington Post รายงานว่ารัฐบาลทรัมป์ยังไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ที่จะระงับการจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมดไปยังยูเครน ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

นายกฯอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ ต้อนรับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เมื่อบินมาเจรจาถึงลอนดอน หลังปะทะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

(2 มี.ค. 68) ฝูงชนในกรุงลอนดอนต้อนรับ ประธานาธิบดีเซเลนสกี อย่างล้นหลาม เมื่อเขาเดินทางมาเจรจาที่สำนักนายกรัฐมนตรีบนถนนดาวนิง ก่อนประชุมผู้นำยุโรปในวันนี้ ที่ เซเลนสกี จะร่วมประชุมด้วยเพื่อหารือ แผนสันติภาพยูเครน

“ผมหวังว่าคุณคงได้ยินเสียงเชียร์บนท้องถนน นั่นคือประชาชนแห่งสหราชอาณาจักรออกมาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสนับสนุนคุณมากแค่ไหน และเรามุ่งมั่นอย่างที่สุดที่จะยืนเคียงข้างคุณ” สตาร์เมอร์กล่าวกับเซเลนสกีและว่าเขาได้รับ “การสนับสนุนเต็มที่จากทั่วสหราชอาณาจักร”

“เรายืนเคียงข้างคุณตราบนานเท่านาน” นายกฯอังกฤษ ย้ำ 

ด้านเซเลนสกีเผยว่า เขาได้คุย “เรื่องสำคัญและอบอุ่น” กับสตาร์เมอร์ หารือเรื่องเสริมสร้างสถานะยูเครนให้แข็งแกร่ง และได้การรับประกันความมั่นคงที่เชื่อถือได้

ก่อนพบกับนายกฯ อังกฤษเซเลนสกีเพิ่งปะทะคารมกับทรัมป์ที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว เมื่อวันศุกร์ ( ก.พ.) ทรัมป์ขู่จะเลิกสนับสนุนยูเครน ที่ถูกรัสเซียรุกรานมานานสามปี ร้อนถึงประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสต้องทำหน้าที่เป็นกาวใจคุยกับทั้งสองฝ่ายและเรียกร้องผ่านสื่อให้ใจเย็นๆ

สงครามยูเครน กับทางเลือกสุดท้ายของ เซเลนสกี้ จำ!! ต้องคืนสู่โต๊ะเจรจากับ ‘วลาดีมีร์ ปูติน’

(2 มี.ค. 68) สถานการณ์สงครามยูเครนในปัจจุบันกำลังเดินไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ อาจต้องกลับไปเจรจากับรัสเซียเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่แทบจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งหมด ไม่ใช่เพราะเซเลนสกี้เต็มใจ แต่เพราะสถานการณ์บีบให้ยูเครนแทบไม่เหลือทางเลือกอื่นอีกแล้ว

1. อเมริกาถอนตัว – ยูเครนเหลือเพียงตัวเอง
หนึ่งในปัจจัยที่ผลักยูเครนเข้าสู่สถานการณ์นี้คือสหรัฐฯ กำลังแสดงท่าทีลดการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายใน เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 ที่อาจนำโดนัลด์ ทรัมป์กลับคืนสู่ตำแหน่ง ซึ่งเขาเคยประกาศชัดว่าต้องการยุติสงครามโดยเร็ว หรือแม้แต่ฝ่ายเดโมแครตเองก็เริ่มมีความลังเลเรื่องการสนับสนุนทางการเงินและอาวุธแก่ยูเครน เมื่อเห็นว่าสงครามกำลังยืดเยื้อโดยไม่มีวี่แววของชัยชนะ นอกจากนี้ สหรัฐฯ กำลังเผชิญภาระทางทหารและเศรษฐกิจที่หนักขึ้นจากการสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกับฮามาส การขยายบทบาทในเอเชียเพื่อสกัดกั้นจีน และการเตรียมรับมือความขัดแย้งในภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้ความสำคัญของยูเครนในสายตาของวอชิงตันลดลงไป เมื่อสหรัฐฯ ไม่สามารถให้การสนับสนุนได้เต็มที่ ยูเครนจึงต้องเผชิญชะตากรรมของตัวเอง ท่ามกลางกองกำลังรัสเซียที่ยังคงรุกคืบอย่างต่อเนื่อง

2. อธิปไตยที่ต้องแลกด้วยดินแดน?
สงครามที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2022 ทำให้ยูเครนต้องเผชิญความสูญเสียอย่างหนัก ทั้งกำลังพลกว่า 500,000 นาย ที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ดินแดนสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น โดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาโปริชเชีย และเคอร์ซอน ที่ถูกรัสเซียผนวกอย่างเป็นทางการ การเจรจากลับไปสู่โต๊ะของปูตินในเวลานี้ย่อมหมายความว่ายูเครนอาจต้อง สูญเสียดินแดนบางส่วนเป็นเงื่อนไขของสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไครเมีย ซึ่งรัสเซียครอบครองมาตั้งแต่ปี 2014 และปัจจุบันมีฐานทัพเรือที่สำคัญในเซวาสโตโพล นอกจากนี้ แม้ยูเครนจะรักษาอธิปไตยได้ในทางเทคนิค แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศอาจกลายเป็น รัฐกันชน (Buffer State) ที่ต้องดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียโดยปริยาย หรืออาจถูกบีบให้มีสถานะคล้ายฟินแลนด์ในช่วงสงครามเย็น (Finlandization) ที่แม้จะเป็นเอกราช แต่ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่างประเทศที่เอื้อต่อมอสโก

3. บทเรียนจากการเลือกตั้งผู้นำที่มองข้ามประโยชน์ชาติ
หนึ่งในข้อวิพากษ์สำคัญคือการตัดสินใจของยูเครนที่เลือกผู้นำซึ่ง มองข้ามความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ และพยายามเดินหน้าชนรัสเซียอย่างไม่ไตร่ตรองถึงผลที่ตามมา เซเลนสกี้ในฐานะอดีตนักแสดงที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐ อาจไม่เข้าใจความซับซ้อนของเกมการเมืองระหว่างประเทศเท่าที่ควร และเลือกเดิมพันอนาคตของประเทศไว้กับการสนับสนุนของตะวันตกเพียงอย่างเดียว โดยลืมไปว่าการเจรจากับรัสเซียอาจเป็นหนทางที่หลีกเลี่ยงความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศได้ตั้งแต่แรก

4. การเดินหมากครั้งสุดท้ายของยูเครน
แม้ว่ายูเครนจะพยายามต่อต้านต่อไป แต่ สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ กำลังพลที่ลดลง และการขาดการสนับสนุนจากตะวันตกกำลังบีบให้ยูเครนต้องคิดใหม่ หากยูเครนยังคงเลือกแนวทางแข็งกร้าว อาจเสี่ยงต่อการล่มสลายของรัฐคล้ายกับอัฟกานิสถานหลังสหรัฐฯ ถอนตัว หรืออาจถูกบังคับให้ยอมรับข้อตกลงที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมหาศาล ในท้ายที่สุด เซเลนสกี้อาจไม่มีทางเลือกนอกจากกลับไปเจรจากับปูติน แต่ คำถามที่แท้จริงคือ ยูเครนจะยังเหลืออะไรอยู่บ้างให้ต่อรอง?

‘นายกรัฐมนตรีฮังการี’ แฉ USAID อยู่เบื้องหลัง ว่าจ้างคนดัง - ดารา สร้างภาพสนับสนุนยูเครน

(3 มี.ค. 68) นายกรัฐมนตรีฮังการี แฉ พวกคนดังฮอลลีวูด ที่เดินทางเยือนยูเครน เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนประเทศแห่งนี้ ระหว่างความขัดแย้งกับรัสเซีย ไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ แต่เพราะว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างหลายล้านดอลลาร์ 

วิคเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ TV2 ของฮังการี เมื่อวันเสาร์ที่ 1มี.ค. ที่ผ่านมาว่า การเดินทางเยือนกรุงเคียฟ ของบรรดาดาราดังทั้งหลาย ได้รับค่าจ้างจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) กลไกหลักของวอชิงตัน สำหรับให้เงินอุดหนุนโครงการทางการเมืองต่างๆนานาในต่างแดน

"มีคนได้รับเงินจากการแสดงออกของพวกเขา ผมกำลังพูดถึงพวกคนดังและดาราหนังทั้งหลาย พวกเขาได้รับเงินให้เดินทางไปยูเครน ดังนั้นพวกเขาไม่ได้ทำมันจากก้นบึ้งของหัวใจหรือรู้สึกเห็นอกเห็นใจชาวยูเครน จริง ๆ แล้วบางทีพวกเขาอาจรู้สึกเช่นนั้น แต่ก็เพราะพวกเขาได้รับเงิน"

นายกรัฐมนตรี รายนี้กล่าวอ้างว่า เงินค่าจ้างที่มอบแก่เซเลบและดาราดังทั้งหลายนั้น คิดเป็นจำนวนหลายล้านยูโรหรือหลายล้านดอลลาร์ แต่เขาไม่ได้เอ่ยชื่อว่ามีใครบ้าง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา แอนเจลีนา โจลี, ฌอน เพนน์, เบน สติลเลอร์ และ ออร์ลันโด บลูม เป็นหนึ่้งในบรรดาคนดังตะวันตก ที่เดินทางเยือนยูเครน นับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างเคียฟกับมอสโกลุกลามบานปลาย และลากยาวมานานกว่า 3 ปี

ในเดือนกุมภาพันธ์ มีรายงานปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ อ้างว่า โจลี ได้รับเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับทริปเดินทางไปยังเมืองลวิว ในเดือนเมษายน 2022 ส่วน เพนน์, สติลเลอร์ และ บลูม ได้รับเช็ค 5 ล้านดอลลาร์, 4 ล้านดอลลาร์ และ 8 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ จาก USAID

ย้อนกลับไปในตอนนั้น สติลเลอร์ ปฏิเสธคำกล่าวหา อ้างว่าเป็นคำโกหกจากสื่อมวลชนรัสเซีย นักแสดงรายนี้โพสต์ยืนยันบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ บอกว่าเขาเดินทางไปยังเคียฟด้วยเงินทุนของตนเอง ส่วนทนายความของ เพนน์ ระบุเช่นกันว่ารายงานข่าวที่อ้างว่าลูกความของเขาได้รับค่าจ้างจาก USAID ให้พบปะกับ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน นั้น "ไม่ถูกต้องโดยสิ้นเชิง ชี้นำผิดๆและขาดการไตร่ตรอง"

ไม่นานหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ทำการกวาดล้าง USAID กล่าวหาหน่วยงานแห่งนี้ว่ามีการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางและไร้ประสิทธิภาพ เขาสั่งการให้ระงับเงินทุนที่ป้อนแก่ USAID เป็นเวลา 90 วัน และถ่ายโอนการกำกับดูแลโครงการต่างๆของหน่วยงานแห่งนี้ ให้ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง

ระหว่างการให้สัมภาษณ์ ทาง ออร์บาน ระบุว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของ USAID ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา อาจเป็น "การคอร์รัปชันที่อื้อฉาวครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์โลกตะวันตก"

"ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน เงินหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ถูกโอนย้ายจากงบประมาณสหรัฐฯเข้าสู่กองทุนต่างๆและรูปแบบการสนับสนุนต่างๆนานา และจากนั้นก็ถูกจัดสรรไปทั่วโลก มอบให้คนที่มีความคิด จิตวิญญาณ โครงการและผลประโยชน์อย่างเจาะจง ตรงตามความต้องการของอเมริกา และพวกเขาได้รับเงินสำหรับสิ่งนั้น"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top