Tuesday, 22 April 2025
ยูเครน

จีนปัดข่าวเจรจาภารกิจสันติภาพกับยูเครนในบรัสเซลส์ ยืนยันหนุนแนวทางการทูต หวังยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

(25 มี.ค. 68) รัฐบาลจีนออกแถลงการณ์ปฏิเสธรายงานของสื่อที่อ้างว่าคณะนักการทูตจีนกำลังเจรจาในกรุงบรัสเซลส์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพในยูเครน โดยระบุชัดว่าข่าวดังกล่าว “ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง”

นายกัว เจียคุน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันจันทร์ว่า “จุดยืนของจีนต่อวิกฤตการณ์ในยูเครนนั้นมีความชัดเจนและสอดคล้องกันมาโดยตลอด” พร้อมยืนยันว่าจีนยังคงสนับสนุนแนวทางทางการทูตและการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่าคณะนักการทูตจีนได้หารือกับเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปเกี่ยวกับบทบาทที่เป็นไปได้ของจีนในภารกิจรักษาสันติภาพในยูเครน

อย่างไรก็ตาม จีนได้ปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวอย่างเด็ดขาด พร้อมเน้นย้ำถึงการสนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาทางการทูต แทนที่จะมีส่วนร่วมในปฏิบัติการทางทหาร

การตอบโต้อย่างชัดเจนของจีนสะท้อนถึงความพยายามของปักกิ่งในการรักษาภาพลักษณ์ความเป็นกลางในสงครามยูเครน ซึ่งเป็นท่าทีที่จีนดำเนินมาตลอดนับตั้งแต่การรุกรานของรัสเซียเริ่มต้นขึ้น ในขณะที่หลายประเทศตะวันตกเรียกร้องให้จีนมีบทบาทที่ชัดเจนขึ้นในการยุติความขัดแย้ง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า การปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวของจีนสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลปักกิ่งในการรักษาความสัมพันธ์กับทั้งรัสเซียและชาติตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จีนต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจจากนานาชาติ

ภาคประชาสังคมวิกฤติ หลังสหรัฐฯ ระงับงบ USAID ส่งผลให้โครงการสำคัญในยูเครนส่อหยุดชะงัก

(28 มี.ค. 68) ภาคประชาสังคมในยูเครนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศระงับงบประมาณของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (USAID) ที่ให้การสนับสนุนโครงการสำคัญหลายโครงการในประเทศ

การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้โครงการด้านสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การพัฒนาประชาธิปไตย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยูเครนต้องหยุดชะงักทันที นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยูเครน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะสงครามและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 73 แห่งต้องเผชิญภาวะขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก จากรายงานของ Open Space Works Ukraine และเครือข่าย Public Initiatives of Ukraine ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า 25% ขององค์กรที่ได้รับผลกระทบมีแผนลดจำนวนพนักงาน 19% จำเป็นต้องให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน และ 14% เตรียมระงับโครงการบางส่วนอย่างไม่มีทางเลือก

ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น คือ 75% ขององค์กรเหล่านี้กำลังดิ้นรนหาทุนทางเลือกใหม่ บางแห่งเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ปรับโครงสร้างการทำงาน และหันไปพึ่งพาผู้บริจาคภายในประเทศแทน

องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และหน่วยงานภาคประชาสังคมหลายแห่งออกมาแสดงความกังวลว่า การระงับงบประมาณครั้งนี้จะทำให้ประชาชนยูเครน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการระงับงบประมาณของ USAID แต่แหล่งข่าววงในระบุว่า อาจเกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางการเมืองภายในสหรัฐฯ รวมถึงแรงกดดันจากกลุ่มที่ต้องการให้มีการทบทวนการใช้เงินภาษีเพื่อช่วยเหลือต่างประเทศ

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียอิทธิพลในยูเครน และเปิดโอกาสให้มหาอำนาจอื่น เช่น สหภาพยุโรป หรือจีน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม

ด้าน องค์กรภาคประชาสังคมในยูเครนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่าความช่วยเหลือจาก USAID มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของสังคมยูเครนในช่วงวิกฤติ

“การระงับงบประมาณครั้งนี้ไม่เพียงกระทบต่อโครงการพัฒนา แต่ยังเป็นสัญญาณเชิงลบต่อประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในยูเครน” ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนยูเครนกล่าว

ในขณะที่รัฐบาลยูเครนยังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต่อกรณีนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจมีการเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เพื่อหาทางออกต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของยูเครนในระยะยาว และอาจเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต

สื่อนอกตีข่าว ยูเครนเปลี่ยนแผนกะทันหันโดยไม่แจ้งพันธมิตร ทำให้การโจมตีโต้กลับรัสเซีย ในปี 2023 พังตั้งแต่ต้นเกม

(31 มี.ค. 68) สำนักข่าว The New York Times (NYT) รายงานว่า รัฐบาลยูเครนและพันธมิตรตะวันตกเคยคาดหวังว่าการโต้กลับครั้งใหญ่ในปี 2023 จะเป็นจุดจบของสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ไม่ว่าจะนำไปสู่ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของเคียฟ หรืออย่างน้อยก็ผลักดันให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ต้องยอมเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพ

แผนการและความคาดหวัง ในช่วงต้นปี 2023 ยูเครนได้เตรียมปฏิบัติการโต้กลับครั้งสำคัญโดยได้รับการสนับสนุนจากอาวุธยุทโธปกรณ์และข้อมูลข่าวกรองจากประเทศพันธมิตรตะวันตก

โดยมีเป้าหมายคือการโจมตี “เมลิโตโปล” ทางตอนใต้เพื่อพยายามตัดเส้นทางไปยังแหลมไครเมีย แต่ในนาทีสุดท้าย ผู้นำยูเครนกลับเปลี่ยนแผนโดยพลการและเลือกเปิดการบุกพร้อมกันถึง 3 แนวรบ โดยไม่ได้แจ้งให้พันธมิตรรับทราบ 

ผลที่ตามมาคือ กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากที่ถูกฝึกมาเพื่อใช้ในแนวรบทางใต้กลับถูกส่งไปที่เมืองบัคมุตแทนซึ่งทำให้การโต้กลับหลักล้มเหลวตั้งแต่ช่วงแรก 

เมื่อผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามคาด และสถานการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ กองกำลังยูเครนต้องเผชิญกับแนวป้องกันที่แข็งแกร่งของรัสเซีย รวมถึงกับระเบิดจำนวนมหาศาล โดรนโจมตี และกำลังเสริมของมอสโกที่สามารถต้านทานการบุกของยูเครนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่ากองทัพยูเครนจะสามารถรุกคืบบางพื้นที่ได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างหนักและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่วางไว้

เจ้าหน้าที่ยูเครนคนหนึ่งกล่าวกับ The New York Times ว่า การเห็นการตัดสินใจที่จะโจมตีบัคมุตนั้น “เหมือนกับการดูการล่มสลายของการโจมตีเมลิโตโปลก่อนที่จะเริ่มการโจมตีเสียอีก” และเจ้าหน้าที่อเมริกันอาวุโสคนหนึ่งกล่าวว่า สหรัฐฯ “ควรจะถอยห่าง” จากการให้คำแนะนำแก่ยูเครนหลังจากการเปลี่ยนแผน

นอกจากนี้ การขาดแคลนกำลังพลและอาวุธสำคัญ เช่น ระบบป้องกันภัยทางอากาศและกระสุนปืนใหญ่ ทำให้ยูเครนไม่สามารถเดินหน้าการรุกได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน รัสเซียก็สามารถปรับตัวและเสริมกำลังแนวรบของตนได้อย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบและทิศทางของสงคราม ความล้มเหลวของการโต้กลับในปี 2023 ทำให้สงครามยืดเยื้อออกไปโดยไม่มีสัญญาณของการเจรจาสันติภาพที่ชัดเจน ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปในปี 2024 โดยทั้งสองฝ่ายยังคงพยายามรักษาพื้นที่และเพิ่มอำนาจต่อรองของตนในการเจรจาในอนาคต

รายงานของ NYT สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ยูเครนต้องเผชิญ และชี้ให้เห็นว่าปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความช่วยเหลือจากตะวันตก สถานการณ์ในรัสเซีย และความแข็งแกร่งของกองทัพยูเครนเอง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางของสงครามในระยะต่อไป

‘โอเดสซา’ เป้าหมายสำคัญ!! ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อพลังอำนาจ คุมเมืองนี้ได้!! หมายถึง การปิดล้อมยูเครน จากทะเลโดยสมบูรณ์

(7 เม.ย. 68) เมืองโอเดสซา (Odesa) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครนริมฝั่งทะเลดำ เป็นหนึ่งในเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากบทบาททั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร และประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หากโอเดสซาถูกยึดครองโดยรัสเซีย ความมั่นคงของยูเครนและโครงสร้างพลังงาน-การค้าของยุโรปจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

เราสามารถเห็นตลอดสงครามที่ผ่านมาโอเดสซาเป็นเป้าหมายสำคัญของการการโจมตีของฝั่งรัสเซียมาโดยตลอด เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าโอเดสซามีความสำคัญ 5 ด้านด้วยกัน

1) โอเดสซาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลและการค้าโลก
โอเดสซา (Odessa หรือ Odesa) ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลดำในตอนใต้ของยูเครน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก ทำเลของโอเดสซาเอื้อให้เมืองนี้ทำหน้าที่เป็น “ประตู” สำคัญของยูเครนในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ ยุโรปตอนใต้ (ผ่านช่องแคบบอสฟอรัส) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) รวมถึงเครือรัฐเอกราช (CIS) และตลาดยูเรเซียน ในแง่นี้ โอเดสซาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และ จุดผ่านส่งออกสินค้าเกษตร พลังงาน และสินค้าอุตสาหกรรมของยูเครน โดยเฉพาะธัญพืช เช่น ข้าวโพดและข้าวสาลี ซึ่งยูเครนถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก

ท่าเรือโอเดสซา (Odesa Port) เป็นหนึ่งในท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของทะเลดำ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานครบครันทั้งสำหรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าเหลว สินค้าเทกอง และเรือโดยสารรองรับการขนส่งมากกว่า 40 ล้านตันต่อปี เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายรางและถนนที่เชื่อมต่อกับยุโรปตะวันออก มีเขตปลอดภาษีและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อเทียบกับท่าเรืออื่น ๆ เช่น มิโคลาอีฟ(Mykolaiv) หรือ โครโนมอรสก์ Chornomorsk โอเดสซามีบทบาทสำคัญกว่าทั้งในแง่ของขนาด ความสามารถในการรองรับเรือขนาดใหญ่และการเป็นศูนย์ควบคุมด้านการค้า

โอเดสซาจึงเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดของยูเครนและมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เป็นท่าเรือส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันพืช ไปยังตลาดโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบทบาทสำคัญใน "ข้อตกลงธัญพืช" (Black Sea Grain Initiative) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างยูเครน–ตุรกี–สหประชาชาติ–รัสเซีย เพื่อให้การส่งออกผ่านทะเลดำดำเนินต่อไปได้แม้ในช่วงสงคราม หากโอเดสซาถูกปิดล้อมหรือยึดโดยรัสเซียจะทำให้ระบบส่งออกของยูเครนล่มสลาย และตลาดอาหารโลกเกิดความปั่นป่วน แสดงให้เห็นว่าโอเดสซาไม่ได้มีความสำคัญเพียงสำหรับยูเครนหรือรัสเซียเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ เสถียรภาพทางอาหารของโลกโดยตรงอีกด้วย

2) โอเดสซาเป็นจุดเชื่อมสำคัญของ NATO และตะวันตก
โอเดสซาอยู่ใกล้พรมแดนมอลโดวาและอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มประเทศ NATO ในยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนียและบัลแกเรีย ดังนั้นโอเดสซาจึงมีบทบาทเป็นแนวหน้าในการต้านการขยายอิทธิพลของรัสเซียทางทะเล การควบคุมโอเดสซาจะทำให้รัสเซียสามารถคุกคามน่านน้ำของ NATO ได้มากขึ้น และอาจกลายเป็นจุดตัดเส้นทางการขนส่งยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือจากตะวันตกผ่านทะเลดำ

3) การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ "Land Bridge" สู่ทรานส์นิสเตรีย
ทรานส์นีสเตรีย (หรือ “ПМР” – Приднестровская Молдавская Республика) เป็นดินแดนที่ประกาศเอกราชจากมอลโดวาในช่วงหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และยังคงมีทหารรัสเซียประจำการอยู่ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทรานส์นิสเตรียมีประชากรเชื้อสายรัสเซียและยูเครนจำนวนมาก มีรัฐบาลเฉพาะกิจและนโยบายที่ใกล้ชิดกับเครมลิน มีกองกำลังรัสเซียจำนวน1,500 นายประจำการในนาม “กองกำลังรักษาสันติภาพ” ดังนั้น ทรานส์นีสเตรียจึงเป็น “ด่านหน้าของรัสเซีย” ในยุโรปตะวันออก และอาจกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการขยายอิทธิพลไปยังมอลโดวาและคาบสมุทรบอลข่าน

ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครน แนวคิด “Land Bridge” หมายถึงการสร้างแนวต่อเนื่องของพื้นที่ควบคุมทางบกของรัสเซียจากดอนบาส ผ่านแคว้นเคอร์ซอน–ซาปอริซเซีย–ไครเมีย และลงมาทางโอเดสซา จนไปถึง ทรานส์นีสเตรีย (Transnistria) — ดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการในมอลโดวาตะวันออก หากรัสเซียสามารถควบคุมดินแดนนี้ได้ทั้งหมด จะทำให้เกิด “โค้งอิทธิพล” เชิงพื้นที่ที่เชื่อมรัสเซียกับดินแดนมอลโดวาตะวันออกโดยไม่ขาดตอน สามารถเสริมเส้นทางส่งกำลังทหาร/ข่าวกรอง/ทรัพยากร ระหว่างรัสเซีย–ไครเมีย–ทรานส์นีสเตรีย โดยไม่พึ่งทางอากาศหรือทะเลที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตี ซึ่งถือเป็นชัยชนะเชิงภูมิรัฐศาสตร์สำคัญ สามารถเชื่อมอิทธิพลทางทหารจากทะเลดำเข้าสู่ยุโรปตะวันออกตอนล่างและปิดกั้นทางออกทะเลของยูเครนอย่างสมบูรณ์ นี่จึงเป็นหนึ่งใน “Grand Strategy” ของรัสเซีย ที่ไม่ได้หยุดแค่ดอนบาสหรือไครเมีย แต่ครอบคลุมถึงการสร้าง “แนวต่อเนื่องแห่งอิทธิพล” บนแผ่นดินยุโรปตะวันออก

ซึ่งเห็นได้ชัดจากคำกล่าวของ พลโทรุสตัม มินเนคาเยฟ (Rustam Minnekayev) รองผู้บัญชาการกองทัพภาคกลางของรัสเซีย ที่กล่าวต่อสาธารณะในปี 2022 ว่า “เป้าหมายประการหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารพิเศษคือการสร้างการควบคุมอย่างเต็มรูปแบบเหนือพื้นที่ทางใต้ของยูเครน ซึ่งจะช่วยให้มีทางออกอื่นสำหรับทรานส์นีสเตรีย” แสดงให้เห็นว่า "Land Bridge" ไม่ใช่แนวคิดสมมุติ แต่เป็น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ในการพิจารณาของกองทัพรัสเซีย

4) ความหมายเชิงประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์
โอเดสซาเป็นเมืองที่มีความสำคัญในสมัยจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต มีประชากรรัสเซียจำนวนมากในอดีต แม้ว่ายูเครนจะเป็นรัฐอธิปไตยตั้งแต่ปี 1991 แต่โอเดสซายังคงมีประชากรจำนวนมากที่ใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก และมีประวัติของการสนับสนุนแนวคิดนิยมรัสเซียในบางช่วงเวลา หลังการปฏิวัติยูโรไมดานในปี 2014 และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย มีความตึงเครียดในโอเดสซาระหว่างกลุ่มสนับสนุนยูเครนกับกลุ่มนิยมรัสเซีย เช่นเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารสหภาพแรงงานในเดือนพฤษภาคม 2014 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 ราย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่รัสเซียใช้เพื่อชี้ถึงการ “ปราบปรามชาวรัสเซีย” ในยูเครน

นอกจากนี้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม การค้า และการทหารที่เคยเป็นของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 18  โอเดสซาก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1794 โดยคำสั่งของจักรพรรดินีแคเธอรีนมหาราชา หลังจากรัสเซียได้ดินแดนจากอาณาจักรออตโตมันผ่านสงคราม ในช่วงศตวรรษที่ 19 เมืองนี้กลายเป็นท่าเรือสำคัญและเมืองพหุวัฒนธรรมภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย มีบทบาทโดดเด่นในระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิและในเวลาต่อมาของสหภาพโซเวียต โดยมีประชากรพูดภาษารัสเซียจำนวนมาก สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และชีวิตทางวัฒนธรรมของโอเดสซาสะท้อนอัตลักษณ์รัสเซียอย่างลึกซึ้ง โอเดสซายังเป็นบ้านของนักเขียนชื่อดัง เช่น อิสฮัก บาเบล (Isaac Babel) ซึ่งสะท้อนภาพเมืองในฐานะศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของรัสเซียทางตอนใต้

ดังนั้นโอเดสซาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญใน “นโยบายรวมชาติชาวรัสเซีย” (русский мир) หรือ “Russian World” ของเครมลินซึ่งเป็นแนวคิดเชิงภูมิรัฐศาสตร์-วัฒนธรรมที่กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา แนวคิดนี้เสนอว่ารัสเซียมีหน้าที่และสิทธิในการปกป้อง “โลกของชาวรัสเซีย” ซึ่งหมายถึงประชาชนเชื้อสายรัสเซีย ชาวสลาฟอีสเทิร์น-ออร์โธดอกซ์ และผู้ใช้ภาษารัสเซียในประเทศอื่น ๆ ของอดีตสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในยูเครน เบลารุส คาซัคสถาน และประเทศในคอเคซัสและบอลติก ภายใต้นโยบาย (русский мир) โอเดสซาไม่ได้ถูกมองเพียงในมิติภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการ “กู้คืน” เมืองประวัติศาสตร์ที่ถูก “แยก” ออกจากโลกของรัสเซียโดยความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในมุมมองของผู้นำรัสเซียซึ่งเชื่อว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็น “โศกนาฏกรรม” ทางภูมิรัฐศาสตร์ ในปี 2021 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้เขียนบทความชื่อว่า “On the Historical Unity of Russians and Ukrainians” ซึ่งกล่าวถึงยูเครนว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “โลกเดียวกัน” กับรัสเซีย เมืองอย่างโอเดสซาจึงถูกตีความว่าเป็น “เมืองรัสเซียโดยธรรมชาติ” ที่ควรกลับคืนสู่โลกของรัสเซีย

5) สถานการณ์ทางทหารและการโจมตี
ตั้งแต่เริ่มสงครามในปี 2022 โอเดสซาเป็นเป้าหมายของขีปนาวุธจากรัสเซียซ้ำแล้วซ้ำเล่า โครงสร้างพื้นฐานพลังงานและท่าเรือถูกโจมตีหลายครั้งมีความพยายามในการใช้โดรนโจมตีท่าเรือและโกดังธัญพืชอย่างต่อเนื่องเป็นจุดที่ยูเครนพยายามตั้งระบบป้องกันทางอากาศอย่างเข้มข้น 

โดยเหตุการณ์การโจมตีที่สำคัญมีดังนี้

6 มีนาคม 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียระเบิดใกล้กับสถานที่ที่ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี และนายกรัฐมนตรีกรีซ คีเรียกอส มิตโซตากิส กำลังประชุมกันในโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน

17 พฤศจิกายน 2024: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 โดยยิงขีปนาวุธประมาณ 120 ลูกและโดรน 90 ลำ ไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วยูเครน รวมถึงโอเดสซา การโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนในโอเดสซา และตัดการจ่ายน้ำและไฟฟ้าในเมือง 

18 พฤศจิกายน 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียโจมตีโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 44 คน โดยผู้เสียชีวิตรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นาย เจ้าหน้าที่การแพทย์ 1 คน และพลเรือน 2 คน 

31 มกราคม 2025: รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของโอเดสซา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโก ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาคารประวัติศาสตร์ 

11 มีนาคม 2025: การโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียทำให้เรือบรรทุกสินค้าธัญพืชในท่าเรือโอเดสซาได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน 

21 มีนาคม 2025: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีด้วยโดรนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งต่อโอเดสซา ทำให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่และมีผู้บาดเจ็บ 3 คน
การโจมตีต่อเมืองนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัสเซียในการควบคุมเส้นทางการค้าและตัดยูเครนออกจากการเข้าถึงทางทะเล

สรุป โอเดสซาไม่ได้เป็นเพียงเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของยูเครนเท่านั้น แต่คือ "จุดยุทธศาสตร์" ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อโครงสร้างพลังอำนาจในทะเลดำและยูเรเซีย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อทั้ง การทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ในสงครามรัสเซีย–ยูเครน การควบคุมเมืองนี้จะทำให้รัสเซียได้เปรียบเชิงโครงสร้างทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ การยึดครองโอเดสซาอาจหมายถึงการปิดล้อมยูเครนจากทะเลโดยสมบูรณ์ และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสมดุลอำนาจระหว่างรัสเซียกับตะวันตก ขณะที่สำหรับยูเครน การรักษาโอเดสซาไว้ได้ คือการคงไว้ซึ่งเส้นทางสู่ทะเลดำและความอยู่รอดในระดับชาติ

‘นิกิตา ครีลอฟ’ นักสู้ UFC ขอเปลี่ยนสัญชาติ จาก ‘ยูเครน’ เป็น ‘รัสเซีย’ จุดชนวนดราม่าระอุโลก MMA

(17 เม.ย. 68) นิกิตา ครีลอฟ (Nikita Krylov) นักสู้ MMA ชื่อดังชาวยูเครน ประกาศยินดีเปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย พร้อมระบุว่าเขา “ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของรัสเซีย” ขึ้นชกในรายการ UFC 314 ซึ่งคำดังกล่าวกลายเป็นที่จุดชนวนความไม่พอใจและความโกรธเกรี้ยวในหมู่ชาวยูเครน และแฟนกีฬาทั่วโลกที่ติดตามความขัดแย้งระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิด

ครีลอฟ ซึ่งมีพื้นเพจากเมืองคราสนีย์ลุค ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และมีครอบครัวเชื้อสายรัสเซีย เคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงมอสโกมานาน เขาเคยต่อสู้ภายใต้ธงชาติรัสเซียมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่การประกาศอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันจุดยืนอย่างชัดเจน ในขณะที่รัสเซียและยูเครนยังคงอยู่ในภาวะสงคราม

“เราคุยเรื่องนี้กับ UFC แม้กระทั่งสองงานก่อนที่ได้ถามเกี่ยวกับการเลือกเมืองคิสโลวอดสค์ รัสเซียเป็นสถานที่สำหรับการต่อสู้ของผม” ครีลอฟกล่าว “ผมอาศัยอยู่ที่นั่น 2-3 ปีแล้ว และคิดว่าตอนนี้ผมได้รับเกียรติในการเป็นตัวแทนของพวกเขา”

บนโซเชียลมีเดียของยูเครน การตัดสินใจของครีลอฟถูกมองว่าเป็น “การทรยศ” อย่างรุนแรง หลายคนโจมตีว่าเขาหันหลังให้กับชาติบ้านเกิดในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนักจากการรุกรานของรัสเซีย บางคนถึงกับเรียกร้องให้ UFC พิจารณาถอดเขาออกจากการแข่งขัน

ครีลอฟมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยในอดีตเขาเคยแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในลูฮันสค์ และกล่าวว่าเขายินดีรับหนังสือเดินทางของสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ หากได้รับการรับรองในระดับสากล

สำหรับ ลูฮันสค์ (Luhansk) เป็นเมืองหลักในแคว้นลูฮันสค์ ทางตะวันออกของประเทศยูเครน ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนรัสเซีย และถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาค ดอนบาส (Donbas) ซึ่งรวมถึงแคว้นลูฮันสค์และโดเนตสค์

หลังเหตุการณ์การปฏิวัติยูเครนปี 2014 (Euromaidan) และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในลูฮันสค์และโดเนตสค์ ได้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลยูเครน ทำให้พวกเขาประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์” (Luhansk People's Republic – LPR) และแยกตัวจากยูเครน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ นิกิตา ครีลอฟ เป็นนักสู้ MMA วัย 33 ปี เจ้าของฉายา "The Miner" มีสถิติการชกอาชีพที่น่าประทับใจ โดยมีชัยชนะ 30 ครั้ง (ชนะน็อก 12 ครั้ง, ชนะซับมิชชัน 16 ครั้ง) และแพ้ 10 ครั้ง 

เขาเคยสร้างชื่อจากการเอาชนะนักสู้ชื่อดังอย่าง อเล็กซานเดอร์ กุสตาฟส์สัน และ ไรอัน สแปน ด้วยการน็อกเอาต์และซับมิชชันในยกแรก อย่างไรก็ตาม ในไฟต์ล่าสุดที่ UFC 314 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2025 ที่ไมอามี ครีลอฟพ่ายแพ้ให้กับ โดมินิค เรเยส (Dominick Reyes) ด้วยการน็อกเอาต์ในยกแรก หลังจากถูกหมัดซ้ายตรงของเรเยสส่งลงไปนอนบนพื้นเวที

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจาก UFC หรือองค์กร MMA อื่นๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนสัญชาติของ นิกิตา ครีลอฟ จากยูเครนเป็นรัสเซีย เนื่องจากเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ “สัญชาติในพาสปอร์ต” แต่เป็นบทสะท้อนความซับซ้อนของกีฬาในโลกที่การเมืองและอุดมการณ์ไม่อาจแยกจากกันได้อีกต่อไป

การเจรจาข้อตกลงแร่ธาตุสำคัญ!! ระหว่าง ‘ยูเครน – สหรัฐอเมริกา’ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม และการปะทะเชิงภูมิรัฐศาสตร์

เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2025 ที่ผ่านมายูเครนและสหรัฐอเมริกาได้ประกาศความคืบหน้าในการเจรจาความร่วมมือด้านแร่ธาตุสำคัญ (critical minerals) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งออกแร่เชิงยุทธศาสตร์ เช่น ลิเธียม, นิกเกิล, โคบอลต์, และกราไฟต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ พลังงานสะอาด และระบบอาวุธขั้นสูง การเจรจานี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นเพียงการลงทุนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังแฝงนัยสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคง และการฟื้นฟูยูเครนหลังจากสงครามที่ดำเนินมายาวนานกับรัสเซีย ทำให้การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสหรัฐอเมริกาและยูเครนว่าด้วยความร่วมมือด้านแร่ธาตุได้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติโดยเฉพาะจากฝ่ายรัสเซียซึ่งมองว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้มิได้เป็นเพียงข้อตกลงทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นยุทธศาสตร์การแผ่อิทธิพลของตะวันตกในพื้นที่ยุโรปตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยูเครนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแหล่งแร่หายากที่อาจกลายเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ของตะวันตก ในขณะที่รัสเซียมองว่าการแทรกซึมของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาคทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนเป็นการคุกคามต่ออิทธิพลของมอสโกในพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต ในบริบทนี้ นักคิด นักวิเคราะห์ และสื่อรัสเซียจำนวนมากจึงพยายามให้ภาพข้อตกลงดังกล่าวในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สหรัฐฯ กำลังใช้ทรัพยากรของยูเครนเป็นเครื่องมือต่อรองทางยุทธศาสตร์มากกว่าการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของชาวยูเครนโดยตรง โดยสาระสำคัญของข้อตกลง มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องประกอบด้วย

1) การจัดตั้งกองทุนร่วมเพื่อการฟื้นฟู (Joint Investment Fund) โดยยูเครนจะนำรายได้ 50% จากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เข้ากองทุนร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และอุตสาหกรรมภายในยูเครน การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามในการผสมผสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพันธมิตรกับเป้าหมายการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ถูกทำลายจากสงคราม
2) การลดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ: สหรัฐฯ ได้ลดข้อเรียกร้องในการชดเชยความช่วยเหลือจาก $300 พันล้าน เหลือ $100 พันล้าน เพื่อให้ข้อตกลงเป็นที่ยอมรับของยูเครนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยแสดงความคาดหวังว่ายูเครนควรจะให้สิทธิหรือผลประโยชน์บางอย่างเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการทหาร การเงิน และเทคโนโลยี โดยมีข่าวว่ามีการคาดการณ์มูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากฝั่งยูเครนสูงถึง $300 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่อาจเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่อง reconstruction bonds หรือการ “แปรค่า” ทรัพยากรเพื่อใช้หนี้หรือเป็นหลักประกันการฟื้นฟูหลังสงคราม การลดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นผลจาก 1) แรงกดดันภายในสหรัฐฯ เห็นได้จากความลังเลของรัฐสภาและกระแสต่อต้านการช่วยเหลือยูเครนที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้อง “ปรับท่าที” ให้มีลักษณะของ win-win deal มากขึ้น 2) แรงต้านจากยูเครน ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าข้อเรียกร้องที่มากเกินไปอาจละเมิดอธิปไตยทางเศรษฐกิจของยูเคร และกลายเป็นกับดักการพึ่งพิงระยะยาว และ 3) บริบทระหว่างประเทศ เมื่อจีนและรัสเซียเริ่มเคลื่อนไหวสร้างกรอบความร่วมมือด้านพลังงาน-แร่ธาตุกับประเทศกำลังพัฒนา สหรัฐฯ จึงต้อง ลดแรงกดดัน และ ปรับกลยุทธ์เพื่อไม่ให้สูญเสียพันธมิตร การลดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯลงเหลือ $100 พันล้าน สื่อถึงความพยายามสร้าง “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์” มากกว่าการเอาเปรียบ การเปลี่ยนผ่านจาก “ความช่วยเหลือเพื่อความอยู่รอด” สู่ “ความร่วมมือเพื่อการลงทุนและฟื้นฟู” รวมถึงอาจมีข้อตกลงที่ไม่เป็นทางการแฝงอยู่ เช่น สหรัฐฯ ได้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงแร่สำคัญอย่างลิเทียม แรร์เอิร์ธ หรือยูเรเนียมในภูมิภาคของยูเครน
3) การเข้าถึงแหล่งแร่ธาตุสำคัญ ข้อตกลงนี้จะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าถึงแหล่งแร่ธาตุสำคัญของยูเครน ซึ่งจำเป็นต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เทคโนโลยีขั้นสูง และความมั่นคงด้านอุตสาหกรรม

ในแง่เศรษฐกิจ ข้อตกลงนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการระดมทุนเพื่อฟื้นฟูประเทศในระยะกลางและยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาคโดยตรงจากภายนอก ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเข้าถึงแหล่งแร่ธาตุสำคัญของยูเครน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เทคโนโลยีขั้นสูง และความมั่นคงด้านอุตสาหกรรม

ในทางความมั่นคง ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่จะสานต่อการมีบทบาทในภูมิภาคยุโรปตะวันออก แม้จะไม่มีการให้หลักประกันด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ แต่ก็สื่อถึง “พันธสัญญาแฝง” (implicit commitment) ในการสนับสนุนยูเครนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์

ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ข้อตกลงนี้ไม่ใช่เพียงเรื่อง “ทรัพยากร” แต่เป็นการล็อกพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว โดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวประกัน สหรัฐฯ พยายามลดข้อขัดแย้งเพื่อสร้าง “เสถียรภาพความร่วมมือ” ในระยะยาว และกันไม่ให้ยูเครนเปิดดีลทางเลือกกับจีนหรือกลุ่ม BRICS ในทางกลับกันรัสเซียมองว่าการทำข้อตกลงเช่นนี้คือ การบ่อนทำลายภูมิรัฐศาสตร์พลังงานในยูเรเซียที่รัสเซียเคยครองอิทธิพลอยู่

นัยทางภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันกับรัสเซีย ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครน ความตกลงนี้มีนัยที่ลึกซึ้งในระดับโครงสร้าง กล่าวคือสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่สนับสนุนยูเครนในเชิงทหารเท่านั้นแต่ยังวางรากฐานความร่วมมือเชิงโครงสร้าง (structural alignment) ที่อาจเปลี่ยนแปลงสถานะของยูเครนในระบบระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัสเซีย

ในมุมของรัสเซีย ความร่วมมือระหว่างยูเครนและสหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการ “ครอบงำยูเรเชีย” ของตะวันตกและเป็นการท้าทายต่ออิทธิพลของรัสเซียในอดีตพื้นที่หลังโซเวียต ข้อตกลงนี้จึงอาจถูกตีความว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามตัวแทนทางเศรษฐกิจ” (economic proxy conflict) โดยสามารถแยกประเด็นในการวิเคราะห์ออกเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้
1) การมองว่าข้อตกลงฯดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลของรัสเซียในยูเครน นักวิเคราะห์รัสเซียหลายคนมองว่าข้อตกลงนี้เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการลดอิทธิพลของรัสเซียในยูเครน โดยการเข้าถึงทรัพยากรแร่ธาตุสำคัญของยูเครน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถของรัสเซียในการควบคุมภูมิภาคนี้ในระยะยาว
2) ข้อเสนอของรัสเซียในการร่วมมือด้านแร่ธาตุกับสหรัฐฯ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้แสดงความพร้อมที่จะเสนอความร่วมมือด้านแร่ธาตุหายากและอลูมิเนียมแก่สหรัฐฯ โดยเน้นว่ารัสเซียมีทรัพยากรเหล่านี้มากกว่ายูเครนและสามารถเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือได้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินยังได้แสดงความพร้อมที่จะเสนอความร่วมมือด้านแร่ธาตุหายากและอลูมิเนียมแก่สหรัฐฯ โดยเน้นว่ารัสเซียมีทรัพยากรเหล่านี้มากกว่ายูเครนและสามารถเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือได้ เห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้กล่าวต่อสาธารณะหลายครั้งว่า รัสเซียมีศักยภาพในการเป็นแหล่งจัดหาทรัพยากรแร่หายาก (rare earth elements) และโลหะอุตสาหกรรม เช่น อลูมิเนียม ไทเทเนียม และนิกเกิล ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีขั้นสูง  เมื่อวิเคราะห์ในประเด็นนี้รัสเซียมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากร เพราะมีแหล่งแร่ธาตุหายากจำนวนมาก โดยเฉพาะในไซบีเรียและตะวันออกไกล เช่น Yttrium, Neodymium, Dysprosium เป็นผู้ส่งออกอลูมิเนียมรายใหญ่ ผ่านบริษัท Rusal ซึ่งเคยเป็นผู้จัดหาสำคัญให้กับสหรัฐฯ รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตครบวงจร ตั้งแต่เหมือง การแปรรูป ไปจนถึงโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะทางรถไฟและทะเล) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วรัสเซียยังคงมีจุดแข็งที่เหนือกว่ายูเครน เนื่องจาก ปริมาณทรัพยากรแร่และโลหะหายากมากกว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมพร้อมกว่า และเสถียรภาพในบางภูมิภาคของรัสเซีย (เช่น ไครเมียตอนนี้) อาจมากกว่ายูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอนด้านความมั่นคง 
แม้ในเชิงเศรษฐกิจข้อเสนอของรัสเซียจะดูน่าสนใจ แต่ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ มีอุปสรรคสำคัญดังนี้ 1) ข้อจำกัดเชิงนโยบาย สหรัฐฯ มีนโยบายลดการพึ่งพาทรัพยากรจากประเทศ “ศัตรูเชิงยุทธศาสตร์” มีมาตรการกีดกันต่อบริษัทรัสเซียหลายแห่งในภาคเหมืองแร่และโลหะ เช่น Rusal, Norilsk Nickel นอกจากนี้การทำข้อตกลงกับรัสเซียอาจถูกวิพากษ์อย่างรุนแรงจากพันธมิตร NATO และ EU ในขณะที่การเลือกยูเครนนั้นเป็นการสร้างโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ โดยสหรัฐฯ ต้องการลงทุนระยะยาวในประเทศที่สามารถควบคุมเชิงระบบได้มากกว่าและยูเครนถูกมองว่าเป็น “รัฐในกระบวนการสถาปนาใหม่” ที่สามารถสร้าง dependency model ได้ง่าย
3) การเน้นย้ำถึงความไม่แน่นอนของทรัพยากรในยูเครน แม้ว่ายูเครนจะถูกกล่าวขานว่าเป็นประเทศที่ “อุดมด้วยทรัพยากรใต้ดิน” โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและตอนใต้ แต่ในทางวิชาการและอุตสาหกรรม ยังมีข้อจำกัดหลายประการ นักวิชาการรัสเซียบางคนชี้ให้เห็นว่าทรัพยากรแร่ธาตุในยูเครนอาจไม่มีปริมาณหรือคุณภาพที่เพียงพอสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยอ้างถึงข้อมูลที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณสำรองของแร่ธาตุหายากในยูเครน แหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับ REEs (rare earth elements) ของยูเครนจำนวนมากยังอยู่ในขั้น “preliminary estimates” (การประเมินเบื้องต้น) โดยไม่มีการสำรวจทางธรณีวิทยาเชิงลึก (deep exploration drilling) หรือ การประเมินเชิงปริมาณ (proven reserves) ที่ได้รับการรับรองในระดับสากลข้อมูลที่ปรากฏในสื่อยูเครนจำนวนมาก เช่น การกล่าวว่า “ยูเครนมีแร่หายาก 117 ชนิด” นั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเป็นทางการ และไม่ปรากฏในฐานข้อมูลของ USGS หรือ IAEA แม้บางแหล่งจะมี REEs แต่หากระดับความเข้มข้นต่ำ (low-grade ores) การสกัดจึงต้องใช้ต้นทุนสูงและอาจไม่คุ้มกับการลงทุนระยะยาว

นอกจากนี้มีรายงานจากนักธรณีวิทยาท้องถิ่นยูเครนว่าแหล่งแร่บางแห่งใน Zhytomyr และ Kirovohrad มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อน (impurities) เช่น thorium และ uranium ทำให้ต้องใช้กระบวนการแยกที่ซับซ้อนและแพง ยูเครนยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านเหมืองแร่และการแปรรูป ยูเครนไม่มีโรงงาน separation plant สำหรับแร่หายาก ซึ่งจำเป็นในการแยกธาตุเฉพาะออกจากแร่ดิบ การขนส่งโลจิสติกส์ในบางพื้นที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เขตความขัดแย้งทางทหาร (Donbas, Kharkiv) พื้นที่ที่อ้างว่ามีศักยภาพแร่ เช่น Donetsk, Luhansk, Zaporozhzhia ล้วนอยู่ในเขตความขัดแย้งที่ยังไม่สงบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนทางความมั่นคง ปัญหาคอร์รัปชัน และข้อจำกัดด้านกฎหมายในยูเครน แม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากสหรัฐฯ
ข้อตกลงฯดังกล่าวยังคงมีข้อกังวลและประเด็นที่ยังต้องเจรจาอีกในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 
1) การควบคุมท่อส่งก๊าซ สหรัฐฯ มีข้อเสนอให้ควบคุมท่อส่งก๊าซสำคัญที่ผ่านยูเครน ซึ่งเป็นประเด็นที่ยูเครนยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ
2) การให้หลักประกันด้านความมั่นคง แม้ข้อตกลงจะไม่มีการให้หลักประกันด้านความมั่นคงโดยตรง แต่ยูเครนหวังว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศในระยะยาว
3) การให้สัตยาบันโดยรัฐสภายูเครน ข้อตกลงนี้ยังต้องได้รับการให้สัตยาบันจากรัฐสภายูเครนก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ 
แม้ข้อตกลงนี้จะเป็นเพียงกรอบเบื้องต้น แต่หากได้รับการให้สัตยาบันและดำเนินการจริง อาจเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุน และเป็นกรณีศึกษาสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ–การเมืองระหว่างประเทศขนาดกลางกับมหาอำนาจในโลกหลังความขัดแย้งในขณะเดียวกัน ยูเครนจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ข้อตกลงนี้ขัดแย้งกับพันธะสัญญาต่อสหภาพยุโรป หรือเงื่อนไขของ IMF ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรของรัฐ

บทสรุป การลงนามข้อตกลงแร่ธาตุระหว่างยูเครนกับสหรัฐฯ ถูกจับตามองจากรัสเซียอย่างใกล้ชิด โดยนักวิเคราะห์รัสเซียมองว่าข้อตกลงนี้เป็นการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ เข้ามาในภูมิภาคที่มีความละเอียดอ่อนทั้งด้านประวัติศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งยังสะท้อนถึงการใช้ยูเครนในฐานะเครื่องมือทางภูมิยุทธศาสตร์ของตะวันตกเพื่อสกัดกั้นรัสเซียในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน โลจิสติกส์ หรือทรัพยากรแร่ธาตุ แม้ว่ารัสเซียจะพยายามเสนอความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านเดียวกันเพื่อรักษาฐานอำนาจของตน แต่พลวัตของภูมิภาคยุโรปตะวันออกกลับเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องไปสู่การจัดระเบียบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเอื้อประโยชน์ต่อมอสโกอีกต่อไป บทวิเคราะห์เหล่านี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงอำนาจในศตวรรษที่ 21 ที่รัสเซียจำเป็นต้องเผชิญหน้าและปรับตัว ทั้งในแง่ยุทธศาสตร์และวาทกรรม

‘ผบ.กองทัพรัสเซีย’ รายงาน!! ถึงความคืบหน้าการยึดคืน ‘แคว้นคุสค์’ จากยูเครน ‘ปูติน’ ประกาศ!! 19 – 21 เม.ย. เป็นช่วงพักรบ ไม่มีการเข้าโจมตี และอาจมีขยายเวลา

(20 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

พล.อ เกราซิมอฟ ผบ.กองทัพรัสเซีย รายงานความคืบหน้าการยึดคืนแคว้นคุสค์ จากยูเครน มีความคืบหน้า 99.5% ปธน.ปูตินแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของกองทัพ และอวยพรกองทัพเนื่องในโอกาสเทศกาลอิสเตอร์

ปธน.ปูติน ประกาศให้ตั้งแต่ 18:00 เวลามอสโคว์ของวันที่ 19 เมษายน จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 21 เมษายน เป็นช่วงเวลาพักรบ รัสเซียจะไม่โจมตีเข้าไปในยูเครน และจะดูพฤติกรรมของยูเครนเพื่อพิจารณาขยายเวลาพักรบ

ยูเครนรับร่างทหารกลับคืน 909 ราย ต่อเดือน พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มสงครามรัสเซีย

(21 เม.ย. 68) ​ตามรายงานจากสื่อต่างประเทศหลายแห่ง ระบุว่าในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2568 ยูเครนได้รับร่างทหารของตนกลับคืนจากรัสเซียจำนวน 909 ร่างในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกัน จำนวนทหารรัสเซียที่เสียชีวิตที่ถูกส่งตัวไปยังสหพันธรัฐรัสเซียก็ลดลงด้วย จาก 49 นายในเดือนมกราคมเป็น 41 นาย ในเดือนเมษายน 

การแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตระหว่างสองประเทศนี้สะท้อนถึงสถานการณ์ในสนามรบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในภูมิภาคคูร์สก์ ซึ่งกองทัพรัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการเชิงรุกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 

โดยสามารถตัดเส้นทางลำเลียงของยูเครนในเขตซูจานได้ และในวันที่ 8 มีนาคม ได้ใช้ยุทธวิธีเคลื่อนกำลังไปตามท่อส่งก๊าซ บุกเข้าตีแนวรับของยูเครนบางส่วนในรูปแบบกึ่งวงล้อม ทำให้ยูเครนต้องถอนกำลังออกจากฐานที่มั่นขนาดใหญ่หลายแห่งอย่างฉุกละหุก

คำให้การของทหารยูเครนที่ถูกจับเป็นเชลยระบุว่า การถอนกำลังเกิดขึ้นโดยไม่มีการวางแผนใดๆ ทหารหลายคนต้องทิ้งร่างเพื่อนร่วมรบเพื่อหนีเอาตัวรอด บางส่วนติดอยู่ในพื้นที่และถูกยิงเสียชีวิตหลังจากนั้น ในขณะที่โชคดีหน่อยก็ถูกจับเป็นเชลย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมยูเครนจึงได้รับร่างทหารกลับคืนเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ

สถิติเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโมเมนตัมในสนามรบ ซึ่งฝ่ายที่รุกคืบหน้าจะมีโอกาสเก็บกู้ร่างทหารของฝ่ายตรงข้ามได้มากกว่า ในขณะที่ฝ่ายที่ล่าถอยอาจต้องทิ้งร่างทหารของตนไว้ในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง

สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและความสูญเสียที่ยังคงดำเนินต่อไปในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย แม้จะมีความพยายามในการเจรจาและหยุดยิงในบางช่วงเวลา แต่ความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั้งสองฝ่าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top