Tuesday, 20 May 2025
พรรคประชาธิปัตย์

6 สิงหา ชี้ชะตา!! 77 ปี ‘ประชาธิปัตย์’ เส้นทางการเมืองที่มาจรดอยู่บนปากเหว

(23 ก.ค. 66) เกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จะรอดไหม? ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป (คนที่ 9) เป็นคำถามยอดฮิตที่เข้าใจว่า แฟนคลับยังอาลัยอาวรณ์กับพรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาว ยืนหยัดผ่านพงหนามมา 77 ปี ย่าง 78 ปี สร้างนักการเมือง สร้าง ส.ส.สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 4 คน ประธานรัฐสภาก็มี

“พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาอย่างยาวนาน แต่ในทางการเมืองไม่ได้อยู่อย่างมั่นคง ราบรื่นตลอด แต่พรรคก็ผ่านมาได้ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเหมือนโรงเรียน สถาบันที่สร้างนักการเมือง หลายคนที่ผู้ในพรรคอื่นล้วนแล้วแต่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา พรรคจึงมีประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน มีหัวหน้าพรรคมาถึง 8 คน” นายชวน หลีกภัย กล่าวในวันครบ 77 ปี ประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นพรรคเก่าแก่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และพรรคนี้ก่อตั้งขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฏร์ พระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) อันเกิดจากการก่อการของคณะราษฎร มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาบังคับใช้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ตั้งพรรคการเมือง เข้าร่วมในการบริหารประเทศ

‘ควง อภัยวงค์’ และคณะขึ้นให้กำเนิดก่อเกิด ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ขึ้นมา พร้อมกับเจตนารมณ์ หรืออุดมการณ์ของพรรค 10 ข้อ และถ้าได้นั่งลงพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ และจิตใจที่เป็นกลาง จะพบว่าอุดมการณ์ทั้ง 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ยังทันสมัย โดยเฉพาะเรื่องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านการทุจริต-คอร์รัปชัน ไม่เอาเผด็จการ และการกระจายอำนาจ

พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ซึ่งเป็นการประชุมที่เลื่อนมาจากวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ไม่ครบองค์ประชุม ก็เป็นที่จับตากันว่า ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป และจะนำพาพรรคไปในทิศทางไหน

77 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประชาธิปัตย์เจอขวากหนามมากมาย บนถนนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เคยตกต่ำถึงขีดสุดๆ  และเฟื่องฟูสูงสุดมาแล้ว ผ่านวิบากกรรมคดียุบพรรคมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยความเชี่ยวของคนในประชาธิปัตย์ จึงพารอดมาได้ทุกครั้ง เคยตกต่ำถึงขั้นในกรุงเทพฯ เหลือ ส.ส.อยู่คนเดียว จากที่เคยเฟื่องฟู มี ส.ส.100 กว่าคน

แต่น่าใจหายเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มถดถอยอีกครั้ง เหลือ ส.ส.อยู่เพียง 52 คน รันทดใจมากกว่านั้นในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ต้องเผชิญกับ ‘จุดต่ำสุด’ อีกครั้ง ดำดิ่งที่สุดอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะ นำ ส.ส. เข้าสภาฯ ได้เพียง 25 คน ส.ส.เขตเหลือแค่ 22 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคให้เร่ง ‘กอบกู้’ และ ‘ฟื้นฟู’ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเร็วก่อนถึงจุดจบ ท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่เป็นเอกภาพในพรรค

เสียงเรียกร้องให้เร่งฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ เกิดจากความห่วงหาอาทร อาลัยรัก พรรคเก่าแก่ พรรคที่เคยรักเคยชอบ เคยให้ความไว้วางใจ เวลานี้ ‘ทั้งรัก ทั้งชัง’

คนที่ยังรัก ปรารถนาดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ก็มีข้อเสนอมากมาย ที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องนำมาพิจารณาทบทวน กำลังยุทธศาสตร์ แนวทางของพรรคใหม่ ส่วนคนชังก็ซ้ำเติม “พรรคเอาแต่พูด ไม่เห็นทำอะไร” / “พรรคเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น” เหล่าเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ถาโถมเข้าใส่ประชาธิปัตย์แบบกอดรัดฟัดเหวี่ยงจนยากจะสลัดออก จนมาถึงวันนี้ประชาธิปัตย์เหมือนคนที่ยืนอยู่ปากเหว จะกระโดดไปข้างหน้าก็กลัวตกเหว จะถอยหลังก็กลัวเหยียบอุจจาระตัวเองที่ถ่ายทิ้งไว้

6 สิงหาคม จะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตประชาธิปัตย์ว่าจะเดินลงเหว หรือเดินถอยหลังไปเหยียบอุจจาระตัว หรือนั่งลงตั้งสติ ขบคิดทบทวน แสวงหาแนวร่วมมาช่วยคิด ช่วยทำ #นายหัวไทร เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ได้คนที่มีวิสัยทัศน์ มีมุมมอง เป็นคนทันสมัย ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ประชาธิปัตย์ก็ยังไปได้ ยังฟื้นฟูได้ เพียงแค่ให้ตั้งสติ ขบคิด ทบทวน ถอดบทเรียนในอดีต แล้วกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีใหม่ ร่วมกันเดิน ช่วยกันตี ‘สะตอต้องมารวมฝัก’ เป็น ‘สะตอสามัคคี’ กำหนดยุทธศาสตร์ ‘อีสานประสานใต้’

ถึงมวลสมาชิกประชาธิปัตย์ ลองหลับตานึกผลการเลือกตั้งปี 2500 ที่พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 31 คนทำให้พลพรรคประชาธิปัตย์ประสานเสียงเรียกร้องให้เร่งปฏิรูป-ฟื้นฟูพรรคไม่แตกต่างจากหลังเสร็จศึกเลือกตั้ง 2566 เสียงอื้ออึงระงมไปทั่วแผ่นดิน เป็นเสียงที่ชาวประชาธิปัตย์ต้องขบคิด และรับฟังอย่างตั้งใจ เพราะไม่ใช่เสียงกบ เสียงเขียด เสียงอึ่งอ่าง ยามหน้าฝน แต่เป็นเสียงจากคนที่รักประชาธิปัตย์ ยังอยากเห็นชื่อประชาธิปัตย์โลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมือง

ลดฐิติ ลดความอยากลงบ้าง แล้วมานั่งตั้งสติว่า จะกระโดดข้ามเหว ถอยหลัง ตั้งสติ อย่าเอาอัตตาของตัวเองเป็นตัวตั้ง ‘หัวหอก หัวขาว หัวดำ’ ก็ต้องรับฟัง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคของประชาธิปัตย์ ไม่ใช่พรรคของเรา

เปิด 8 รายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
1.) พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2489-2511 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4
2.) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2511-2522 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6
3.) พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2522-2525
4.) พิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2525-2534
5.) ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2534-2546 เคยเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 20
6.) บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2546-2548
7.) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2548-2562 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27
8.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2562-2566

‘ขยัน’ อดีต สส.ลำพูน มั่นใจ!! สมาชิก ปชป.จะเลือกทางที่ถูกต้อง เพื่อสานต่ออุดมการณ์พรรค มากกว่าตอบแทนบุญคุณตัวบุคคล

(23 ก.ค. 66) นายขยัน วิพรหมชัย อดีต สส.ลำพูน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลือกตั้งหัวหน้า และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 6 ส.ค. 66 ว่า จากการที่ได้พูดคุยกับสมาชิกในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะเมื่อผู้อาวุโสที่สืบทอดอุดมการณ์และจุดยืนที่มั่นคงของพรรคมากว่า 50 ปี หลายท่านต่างช่วยกันประคับประคอง ให้พรรคยืนหยัดความเป็นสถาบันของบ้านเมืองที่ประชาชนสามารถยึดเหนี่ยวได้ ด้วยความเป็นห่วงว่าพรรคจะกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจเฉพาะกาล ท่านชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค จึงออกมาเรียกร้องให้สมาชิกทุกท่านช่วยกันรักษาพรรค เพื่อเป็นหลักของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

นายขยัน กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นต่อจุดยืน และอุดมการณ์ของผู้อาวุโสของพรรคทุกท่าน โดยเฉพาะท่านชวนฯ ที่ต้องถือว่าเป็นเสาหลักของพรรคมากว่า 30 ปี ด้วยหลักคิดที่สำคัญคือพรรคต้องมีหลักคิดที่ถูกต้องเพื่อประเทศชาติ และประชาชนมากกว่า เป็นเครื่องมือเพื่อตอบแทนบุญคุณของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลไดบุคคลหนึ่ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้สืบทอดอุดมการณ์นี้กันมารุ่นต่อรุ่นในระยะเวลา 78 ปี ที่ผ่านมา

“ผมเชื่อว่าสมาชิกพรรรคทุกคน ก็คงจะยึดมั่นในอุดมการณ์และจุดยืนนี้เช่นกัน ผมจึงเชื่อว่าด้วยความเป็นชาวประชาธิปัตย์ ทุกคนจะสามารถเลือกหนทางที่ถูกต้อง เพื่อพรรคประชาธิปัตย์ของเราต่อไป” นายขยัน กล่าวทิ้งท้าย

‘ราเมศ’ ยัน!! พรรคไม่เคยมีมติดีล ‘ทักษิณ’ เพื่อร่วมรัฐบาล ย้ำ!! ปชป.มีหลักการพรรค คนใดคนหนึ่งจะตัดสินใจเองไม่ได้

(28 ก.ค. 66) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายเดชอิสม์ขาวทอง ได้เดินทางไปฮ่องกง เพื่อพบกับนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อเจรจาถึงการร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ ว่า…

ในเรื่องนี้ตนยืนยันได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยส่งใครไปเจรจากับนายทักษิณ เพราะตามหลักการของพรรคโดยเฉพาะเรื่องการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ไม่ได้เป็นอำนาจการตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะการร่วมรัฐบาลถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องมีการปรึกษาหารือกันในพรรคอย่างละเอียดรอบคอบ อีกทั้งพรรคมีข้อบังคับที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อมีประเด็นการที่จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ จะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่าง กก.บห. และ สส. ของพรรคชุดปัจจุบันที่จะต้องร่วมกันพิจารณา แล้วจึงจะมีมติพรรคออกมาว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ส่วนที่จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคทันต่อการพิจารณาเรื่องร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น นายราเมศกล่าวว่ากก.บห. ชุดปัจจุบันซึ่งทำหน้าที่รักษาการอยู่ ก็มีอำนาจในการร่วมพิจารณา ไม่ใช่เฉพาะกรณีร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลแต่สามารถร่วมพิจารณาได้ในทุกๆ เรื่อง สำหรับการที่มีรายงานข่าวกรณีของนายเดชอิสม์นั้น อยากให้ไปสอบถามเจ้าตัวจะดีกว่า

ศึกชิงหัวหน้า ‘ประชาธิปัตย์’ ดัชนีชี้วัดการเข้าร่วมรัฐบาล ใต้ความ ‘มืดมน-ไม่ชัดเจน’ บุคคลที่จะลงชิงหัวหน้าพรรค

‘มืดมน’ คือคำตอบที่ได้รับจากปากของแกนนำประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในวันที่ 6 สิงหาคม คำว่ามืดมนสะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นบุคคลที่มีแววว่าจะนำพาพรรคไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องเป็นบุคคลที่กล้าคิด กล้าทำ กล้านำการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือต้องยึดมั่นใน 'เจตนารมณ์ อุดมการณ์ของประชาธิปัตย์'

มีวิธีคิด มุมมองใหม่ๆ กับสถานการณ์ที่ ‘ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม ผู้นำพาพรรคจะต้องมากบารมี’ (แคริทม่า)

ก่อนหน้านี้ที่ปรากฏชื่อ โดยที่เจ้าตัวไม่เคยพูดไม่เคยเปิดเผย ‘หล่อใหญ่-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้า อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจนถึงนาทีนี้ก็ยังไม่รู้ว่า ‘อภิสิทธิ์’ จะยังยืนหยุดลงชิงอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งถ้าอภิสิทธิ์ลงชิง แม้จะไม่ใหม่ซิงๆ แต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง พอจะเห็นแวว เห็นแนวทาง ซึ่งถ้าเป็นไปตามข่าว ถ้าอภิสิทธิ์มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะไม่นำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล จะใช้เวลากับการคิด การทำงาน เพื่อฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ ในบทบาทของฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ในการแก้ไขปัญหาชาติเป็นด้านหลัก

‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ รองหัวหน้าพรรคจากภาคเหนือ ภายใต้การผลักดันของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการพรรค ‘เดชม์อิศ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ซึ่งนราพัฒน์ เข้ามาสู่วงการการเมืองสืบทอดต่อจากบิดา ‘ไพฑูรย์ แก้วทอง’ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าพรรคจะเฟื้องฟู หรือตกต่ำ ‘แก้วทอง’ ไม่เคยตีจากประชาธิปัตย์ ร่วมยืนหยัดต่อสู้มาตลอด แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป ยังไม่มีใครยืนยันว่า นราพัฒน์ ยังยืนยันจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่

มีบางกระแสบอกว่า สายเฉลิมชัยอาจจะส่ง ‘ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ลงชิงแทน แต่ก็เป็นแค่กระแสข่าวเช่นกัน ไม่มีใครยืนยัน ซึ่งถ้าส่ง ดร.เอ้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านด่านข้อบังคับพรรค คนชิงหัวหน้าพรรค ต้องเป็นสมาชิกอย่างน้อย 5 ปี ถ้าข้อมูลไม่ผิดพลาด ดร.เอ้น่าจะเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคก่อนลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็สามารถเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของดเว้นใช้ข้อบังคับได้ แต่ด่านหินคือต้องใช้เสียงขององค์ประชุม 3/4 ถ้ามั่นใจว่าจะผ่านด่านนี้ไปได้ ก็ลงชิงได้ ถ้ามั่นใจ และไม่กลัวถูกขุดคุ้ยปูมหลัง

ส่วน ‘ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข’ ที่เปิดตัวจะลงชิงด้วย ก็เป็นน้ำจิ้ม หรือผักเหนาะ ให้สีสันความเป็นประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์ 

ด้าน ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ รองหัวหน้าพรรค ที่เปิดตัวก่อนใคร ก็ถอนตัวไปตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมแล้ว โดยไม่รู้ว่าสาเหตุลึกๆ จริงๆ คืออะไร ซึ่งต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังแน่นอน หรือเป็นการถอนตัวเพื่อส่งต่อคะแนนให้ทีมเฉลิมชัย เพราะต้องไม่ลืมว่าอลงกรณ์ทำงานใกล้ชิดเฉลิมชัยในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ปรึกษาใหญ่ และแสดงบทบาทนำมาโดยตลอด

แต่ประเด็นใหญ่ของประชาธิปัตย์ คือ จะเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของเพื่อไทย มีข่าวหนาหูหลัง ‘นายกฯ ชาย เดชม์อิศ ขาวทอง’ เดินทางไปฮ่องกง และได้พบปะพูดคุยกับทักษิณ ชิณวัตร กับข้อเสนอ 19 เสียง พร้อมสนับสนุนเพื่อไทย แต่เข้าใจว่าเพื่อไทยคงไม่อยากได้ 19 เสียง คงอยากได้ทั้งพรรค 25 เสียง และเข้าร่วมโดยมติพรรค ซึ่งแน่นอนว่าซีกของผู้อาวุโส คงไม่ประสงค์เข้าร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย เพราะถือว่า เพื่อไทยคือคู่แข่ง และสู้รบปรบมือกับระบอบทักษิณมาตั้งแต่ปี 2543 ในยุคทักษิณ ไล่มาจนถึงยุคสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร จู่ๆ จะนำทัพไปร่วมสมทบแบบ ‘ลืมอดีต’ น่าจะเป็นไปได้ยาก

แต่ถ้าพิจารณา จุดยืนของพรรค ประชาธิปัตย์ ได้แก่…
1.) ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่แก้ไขมาตรา 112
2.) ไม่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.)
3.) ไม่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย
4.) พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีแนวทางอย่างไร ตามที่ ชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาธิการพรรคกล่าว

ถ้าดูเงื่อนไข 4 ข้อกับช่องทางที่เพื่อไทยเปิดไว้ ประชาธิปัตย์ ก็ไม่น่าจะติดตรงไหนในการเข้าร่วมรัฐบาล แต่สภาพความเป็นพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร อนาคตจะต่ำสิบตามคำสบประมาทหรือไม่ การเข้าร่วมรัฐบาล ได้นำนโยบายพรรคไปใช้แก้ปัญหาชาติ จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับฟื้นคืนชีพจากภาวะสลบไสลได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่แกนนำพรรคจะต้องคิดให้จงหนัก นำบทเรียนในอดีตมาถอด อย่างการนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้ทำให้ประชาธิปัตย์ดีขึ้น นโยบายหลายข้อของประชาธิปัตย์ก็ได้นำไปใช้ เช่น ประกันรายได้เกษตรกร

ประชาธิปัตย์เคยมีคะแนนมากถึง 10 ล้านเสียง แต่พอเลือกตั้งปี 62 ลดลงเหลือ 3 ล้านกว่าเสียง ยิ่งหนักเข้าไปอีกเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ประชาธิปัตย์ได้คะแนนมาเพียง 9 แสนกว่าคะแนน ได้ สส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน คือ ‘ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์’

ถ้านำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาลกับขั้วที่เคยเป็นคู่แข่ง คู่รักคู่แค้นกันมา น่าสนใจยิ่งว่า อนาคตประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร จะดีขึ้น หรือตกต่ำกว่าเดิม

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 6 สิงหาคม จะเป็นวันชี้ชะตาว่าอนาคตประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ คงต้องรอชม…

‘นิด้าโพล’ ชี้!! ‘อภิสิทธิ์’ เหมาะนั่งหัวหน้าพรรค ปชป. ผลโหวตประชาชน เผย ค้าน ปชป.ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย

(13 ส.ค. 66) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจ เมื่อถามประชาชนถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 58.63 ระบุว่า ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์, รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566, ร้อยละ 9.31 ระบุว่า เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.48 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, อันดับ 2 ร้อยละ 24.43 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย, อันดับ 3 ร้อยละ 9.85 ระบุว่าเป็น ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้), อันดับ 4 ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็น น.ส.วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์), อันดับ 5 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, อันดับ 7 ร้อยละ 2.67 ระบุว่าเป็น นายอลงกรณ์ พลบุตร, อันดับ 8 ร้อยละ 1.76 ระบุว่าเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, อันดับ 9 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ขณะที่ร้อยละ 1.46 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน, นายเดชอิศม์ ขาวทอง, นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ และร้อยละ 10.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชน หากพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, รองลงมา ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 16.18 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.62 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘ตู่-ป้อม’ ดาวคนละดวง ปชป.แหกโค้ง หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี…

บันทึกเอาไว้ว่า วันที่ 22 ส.ค.2566 เหตุการณ์ใหญ่ทางการเมืองสองเหตุการณ์ผ่านพ้นไปด้วยดี  มีความน่าระทึกใจอยู่บ้าง แต่มันก็ผ่านไปแล้ว… ตถตา… มันเป็นเช่นนั้นเอง…

เรื่องแรก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย หลังบำเพ็ญเพียรเป็นนักโทษหนีคดีอยู่ 15 ปีเศษ ได้เดินทางกลับบ้าน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เข้าไปอยู่ในเรือนจำรับโทษ 3 คดีที่ถึงที่สุดแล้วจำนวน 8 ปี อนาคตจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ หรือลดโทษอย่างไรหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกที ส่วนจะอยู่กินอย่างไรในคุกนั้น ไม่ต้องเป็นห่วง มาวันแรกก็ได้ใช้สิทธิ์กลุ่มเปราะบางวัย 74 ปี นอนเตียงเดี่ยวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว แต่ไม่ทันย่ำรุ่งก็ย้ายไปนอนเกาสะดืออยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เรียบร้อยโรงเรียนชินวัตรไปแล้ว

กรณีทักษิณกลับบ้าน… ถ้าไม่คิดอะไรให้มากความ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยยุทธการป่วนไทยอยู่ในต่างแดนก็หายไป… ยิ่งวันนี้พรรคเพื่อไทยที่ตัวเองสร้างมากับมือได้หวนคืนมาเป็นรัฐบาล ก็คงไม่กล้าด่าหรือทำมิดีมิร้ายกับประเทศ… ความสงบเรียบร้อยก็เกิดขึ้น และอาจจะตามมาด้วยการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติครั้งใหญ่ หากรัฐบาลชุดใหม่คิดใหญ่-ทำเป็น… นิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่เกี่ยวคดีทุจริตและอาญาฆ่าคนให้เป็นเรื่องเป็นราว

เรื่องที่สอง การโหวตนายกรัฐมนตรีประเภทม้วนเดียวจบ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับคะแนนสนับสนุนหรือเห็นชอบท่วมท้น 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 งดออกเสียง 81 โดยในส่วนคะแนนที่เห็นชอบนั้น เป็นคะแนนของสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ถึง 152 เสียง ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลที่กำลังรวมตัวกันอยู่มีเสียงสนับสนุน 314 เสียง แต่ปรากฏว่ามีเสียงสนับสนุนจาก สส.สูงถึง 330 เสียง ตรวจสอบพบว่าเป็นเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ 16 เสียง…

กรณีพรรคประชาธิปัตย์นั้นอ่านไม่ยาก… สาระสำคัญก็คือที่ประชุม สส.มีมติให้งดออกเสียง แต่นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้ขออนุญาตที่ประชุมว่าจะลงมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ ไว้แล้ว แต่กลุ่ม สส.ภายใต้ร่วมธงของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนายเดชอิศม์ ขาวทอง โหวตเห็นชอบแบบเย้ยฟ้าท้าดินนั้น เจตนาก็ชัดเจนเป็นการตีตั๋วเข้าร่วมรัฐบาล ยอมเป็นยางอะไหล่ไปพลางก่อน… ทำให้สถานภาพพรรคประชาธิปัตย์นาทีนี้ดิ่งเหว… หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี… มันจบแล้วครับนาย!!

สำหรับกรณีที่เสียง สว.โหวต ‘เห็นชอบ’ ท่วมท้นนั้น พบว่า สว.สายบิ๊กตู่ ‘พรึ่บ’ หนุนเศรษฐา ทวีสิน ทำให้ สว.บางส่วนที่ทำการบ้านเพื่อคว่ำเศรษฐา รู้สึกว่าตัวเองโดน ‘เท’ เกิดอาการน้อยอกน้อยใจกันพอประมาณ บางกลุ่มก็ตั้งคำถามในเชิงไม่เข้าใจว่า ‘บิ๊กตู่’ เล่นเกมอะไร… โดยเฉพาะกลุ่ม สว.ที่ทำการบ้านรุกฆาตให้พรรคเพื่อไทยรับปากไม่รื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ค่อนข้างผิดหวังกับบิ๊ก สว.สายบิ๊กตู่… ดังกรณี สว.สมชาย แสวงการ โพสต์ในเฟซบุ๊กตัวเองตั้งแต่ผลโหวตยังไม่จบว่า…

“#สงสารประเทศไทย” และต่อมาโพสต์อีกว่า “#เสียของ” เป็นต้น…

ทราบว่าขณะนี้กำลังเคลียร์ใจล้างใจกันยังไม่จบ..!!

ส่วน สว.สายบิ๊กป้อม… ซึ่งมีอยู่ประมาณ 40-50 คนนั้น ปรากฏว่าส่วนใหญ่จะงดออกเสียง แม้แต่ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ‘บิ๊กปุ้ม’ น้องชายแท้ๆ บิ๊กป้อมก็ไม่ไปร่วมประชุม… วิเคราะห์กันว่า สว.สายบิ๊กป้อมพยายามลากเกมให้ไหลไปถึงคิว ‘บิ๊กป้อม’ แต่ สว.สายบิ๊กตู่ไม่เล่นด้วย ก็เลยปิดเกมโหวตให้เศรษฐา ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องหมายเหตุเอาไว้ว่า กลุ่มทุนพลังงานและรถไฟฟ้ามีบทบาทไม่น้อย ที่ทำให้พรรคการเมือง 3-4 พรรคประสานผลประโยชน์กันแบบ ‘มองตาก็รู้ใจ’

สวัสดี

เมื่อพายุแห่งความขัดแย้งโหมกระหน่ำ ‘ประชาธิปัตย์’ ‘นายกฯ ชาย’ หรือ ‘นายกฯ ชวน’ ใครจะอยู่ ใครจะไป?

(25 ส.ค. 66) ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ แปลความได้ว่า “วาจาจริง เป็นสิ่งไม่ตาย” เป็นคำที่ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ สส.สงขลา เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ยกขึ้นมากล่าวอ้างกับสถานการณ์ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้

สรรเพชญ เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เลือดใหม่ของประชาธิปัตย์ ที่ได้รับเลือกเป็น สส.สมัยแรกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา สรรเพชญ เป็นทายาททางการเมืองของ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เลือดใหม่อย่าง ‘สรรเพชญ’ ถือว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” และน่าจะมีพ่อเป็นเทรนเนอร์ที่ดี

3 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นบทบาทของสรรเพชญ ‘ทำหน้าที่ที่ได้รับที’ ในสภาฯ ได้เห็นการอภิปรายสะท้อนปัญหา ปรึกษาหารือในหลายประเด็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากสี่แยกเกาะยอ การตั้งคำถามเรื่องการก่อสร้างอาคารหอยสังข์ที่คาราคาซังมาเป็นสิบปี

ในพื้นที่ก็เกาะติดมาตลอด 3 เดือน เสร็จภารกิจในสภาฯ ก็เดินหน้างานในพื้นที่ ประเดิมด้วยการเดินสายเจอกงสุลของแต่ละประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน กล่าวได้ว่า เลือดใหม่ประชาธิปัตย์ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ คือ ‘ดาวฤกษ์’ คนหนึ่งที่น่าติดตามผลงาน

ส่วน ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ หรือ ‘วาจาจริง เป็นสิ่งไม่ตาย’ เป็น ‘พุทธสุภาษิต’ ที่ติดอยู่กับโลโก้ประชาธิปัตย์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค ตั้งแต่ยุค ‘ควง อภัยวงศ์’ ผู้ก่อตั้งพรรค และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก และถือเป็นพุทธสุภาษิตที่ชาวประชาธิปัตย์ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน

การที่สรรเพชญ ยก ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ ขึ้นมากล่าวอ้าง ในเวลานี้เหมือนต้องการจะสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ มีใครบางคน บางกลุ่มก้อนไม่รักษา ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ กลับไปกลับมา

สถานการณ์ในประชาธิปัตย์ขัดแย้งชัดเจน ระหว่างขั้วของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการ ที่ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว หลังนำพาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยมี ‘นายกฯ ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ เป็นแนวร่วมขับเคลื่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่โหวตเห็นชอบให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มนี้จะมี สส.อยู่ในมือ 16 คน ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘กลุ่ม 16’

กลุ่มของชวน หลีกภัย เป็นกลุ่มที่ไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย มี ‘บัญญัติ บรรทัดฐาน-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-นิพนธ์ บุญญามณี’ เป็นแนวร่วม โดย ชวน-บัญญัติ โหวตไม่เห็นชอบ จุรินทร์โหวตงดออกเสียง และมีสรรเพชญ ที่งดออกเสียงด้วย

กลุ่มของเฉลิมชัยมีความพยายามสูงยิ่งในการขอเข้าร่วมรัฐบาล แต่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เทียบเชิญ กลุ่มของเฉลิมชัยถึงขั้นส่งตัวแทนไปพบ ‘ทักษิณ’ ถึงฮ่องกง แต่ได้รับการปฏิเสธ แม้กระทั่งนาทีสุดท้ายก่อนโหวตเพียงไม่กี่นาที ยังมีการพูดคุย-ต่อรอง กลุ่มจะโหวตให้ ไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ไม่เป็นไร แต่จะเป็นอะไหล่ให้ เผื่อพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคงอแง สุดท้ายกลุ่ม 16 ก็พากันโหวตเห็นชอบให้เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีในนาทีสุดท้ายของการโหวต

ส่วนกลุ่มของชวน หลีกภัย ไม่ประสงค์จะนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่ต้องการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น เป็นฝ่ายค้านที่มีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างจริงจัง พร้อมสนับสนุน ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค รับบทบาทหนักในการฟื้นฟูพรรคอย่างทุ่มเท ซึ่งถ้าหันซ้ายมองขวาก็ยังหาใครเหนือกว่าอภิสิทธิ์ไม่มี แต่กลุ่มเฉลิมชัยก็เฟ้นหาคนลงแข่ง ก็ไปคว้า ‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ มาลงแข่ง หลังจากเข็น ‘ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ไม่ขึ้น

ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ก่อตัวขึ้นในการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทน ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ ที่รับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง จึงลาออกไป เมื่อสองขั้วเชียร์คนละคนกัน และเป้าหมายต่างกันชัดเจน

เกมล้มประชุมถูกกำหนดขึ้น เมื่อมีการประเมินว่าฝ่ายของตัวเองยังไม่มีโอกาสชนะ จากการคุมเสียงของโหวตเตอร์ยังไม่พอ จากจุดอ่อนของข้อบังคับพรรคที่ให้น้ำหนักกับ สส.ปัจจุบันถึง 70% ส่วนโหวตเตอร์อื่นๆ มีน้ำหนักเพียง 30% ในขณะที่กลุ่มของเฉลิมชัย กุมเสียง สส.อยู่มากกว่า 16 คน แต่กลุ่มของนายชวนจะกุมเสียงสาขา ตัวแทนจังหวัด และอื่นๆ ซึ่งมีน้ำหนักแค่ 30% โหวตอย่างไรกลุ่มของนายชวนก็แพ้

การประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ล้มลงแล้วถึงสองครั้ง ซึ่งในการจัดประชุมแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท สองครั้งก็ 6 ล้านบาทเข้าไปแล้ว

ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์มาแตกหักเมื่อมีการประชุม สส.เพื่อกำหนดท่าทีในการโหวต มีแค่ 3 แนวทางคือ ‘เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง’ แต่เมื่อพรรควางตัวเป็นฝ่ายค้าน ‘เห็นชอบ’ จึงถูกยกไป มีการแลกเปลี่ยนกันว่าจะไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ‘งดออกเสียง’ แต่ ‘ชวน-บัญญัติ’ ขออนุญาตต่อที่ประชุมว่าจะขอโหวต ‘ไม่เห็นชอบ’

รองโฆษกพรรคแถลงข่าวชัดเจนว่า มติเสียงส่วนใหญ่ให้งดออกเสียง ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ ก็โพสต์ในเฟซบุ๊กในเวลาต่อมาว่า พรรคมีมติให้งดออกเสียง แต่เมื่อถึงเวลาโหวต มี สส.16 คน ยกมือเห็นชอบ 6 คน งดออเสียง และ 2 คน ไม่เห็นชอบ

เดชอิศม์ ขาวทอง นำทีม 16 สส.แถลงข่าวในวันต่อมา เหมือนกับว่าพรรคไม่ได้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อใกล้เวลาโหวต สส.ในกลุ่มก็มานั่งคุยกัน และเห็นร่วมกันว่าจะยกมือเห็นชอบ โดยไม่หวั่นเกรงต่อการถูกขับออกจากพรรค ถ้าถูกตั้งกรรมการสอบ เดชอิศม์ไม่หวั่นเกรง เพราะมีเสียง สส.อยู่ในมือจำนวนมาก กับเสียงที่ต้องใช้ในการขับสมาชิกออกจากพรรค 3/4 น่าจะเพียงพอ แถมตั้งเป็นปุจฉาไว้ด้วยว่า “ไม่รู้ว่าใครจะขับใคร”

“ไม่รู้ว่าใครจะขับใคร” เป็นหอกที่แหลมคมพุ่งไปยัง ‘ชวน หลีกภัย’ ตรงๆ เลย เพราะชวนเป็นคนออกมาตอกย้ำว่า นายกฯ ชายเป็นคนพูดเองว่า “ใครไม่ปฏิบัติตามมติพรรค ก็ต้องลาออกไป”

ถึงเวลานี้ไม่รู้ว่า กลุ่มนายกฯ ชาย หรือกลุ่มนายกฯ ชวนต้องลาออกไป แต่ที่สำคัญสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ‘สัจจัง เว อมตวาจา : วาจาจริง เป็นสิ่งไม่ตาย’

‘ราเมศ’ ออกโรงป้อง หลักการ ‘ชวน’ ไม่ใช่มรดกความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องของความถูกผิด-อุดมการณ์พรรค ที่ทุกคนต้องเรียนรู้

(25 ส.ค. 66) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงประเด็นมติที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ว่า…

“ต้องยอมรับว่ามีข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงในหลายประเด็น การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนวันที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ในส่วนของนายชวน หลีกภัย ที่ได้แจ้งต่อที่ประชุมและได้บอกเหตุผลว่าเหตุอันใดที่มีความจำเป็นต้องโหวตไม่เห็นชอบ ไม่มีผู้ใดขัดข้อง มติที่ประชุมเป็นไปตามที่โฆษกที่ประชุม สส.คือนางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ได้ออกมาแถลงผลการประชุมคือ ที่ประชุมมีมติให้งดออกเสียง กรณีของนายชวน จึงไม่ใช่การฝ่าฝืนมติที่ประชุมแต่อย่างใด

นายชวนได้อยู่พรรคมานาน เป็นบุคคลที่ยึดมั่นในหลักความถูกต้อง อะไรที่ไม่ถูกต้อง นายชวนไม่ทำอยู่แล้ว และแนวคิดของนายชวน ในเรื่องการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย ท่านได้ต่อสู้มาโดยตลอด ไม่ใช่ความเคียดแค้นส่วนตน แต่เป็นเรื่องความถูกผิด เป็นเรื่องของอุดมการณ์พรรค ประชาชนภาคใต้ยังจดจำการเลือกปฏิบัติกับพี่น้องในภาคใต้ การแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ไม่ได้ยึดกฎหมายบ้านเมือง เหตุการณ์ที่กรือเซะที่ตากใบ การทุจริตโครงการจำนำข้าว เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เห็นว่าอุดมการณ์ในทางการเมือง ความซื่อสัตย์สุจริตการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอีกหลายเรื่อง มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นายชวน หลีกภัย คือ ‘เสาหลักของพรรคประชาธิปัตย์’ ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีคนชื่อ ‘ชวน หลีกภัย’ ประชาธิปัตย์ไม่สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ในวันนี้ และเชื่อว่าทุกคนในพรรคระลึกถึงบุญคุณของนายชวน ที่ได้ทำประโยชน์ให้กับพรรคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คงไม่มีใครคิดขับท่านชวนออกจากพรรค วันที่คนของพรรคเพื่อไทยแกล้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ท่านชวน คือคนที่ต่อสู้และต่อสู้ด้วยความยากลำบากจนชนะคดีพรรคไม่ถูกยุบ แนวคิดประสบการณ์ในทางการเมืองคือสิ่งสำคัญที่คนรุ่นหลังมีความจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อนำหลักการที่ดีไปปรับประยุกต์ใช้ในการนำพาพรรควันข้างหน้า เชื่อว่าทุกคนยอมรับว่าการเมืองเปลี่ยนไปมาก แต่พรรคประชาธิปัตย์มีหลักคิดที่ดีมีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เราทุกคนจะทำอย่างไรที่จะซึมซับสิ่งเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า”

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า ขณะนี้ก็ต้องแจ้งพี่น้องประชาชนว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอย่างเต็มรูปแบบ ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศอย่างเต็มที่ ฝ่ายค้านคงไม่ใช่แค่การตรวจสอบอย่างเดียว แต่จะรวมถึงการทำงานในเชิงรุกที่ตนในฐานะโฆษกพรรคได้แถลงไว้ก่อนพรรคอื่น คือจะใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการผลักดันแก้ปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงการยกร่างและการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การขับเคลื่อนในการแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนทั่วทั้งประเทศ ที่จำต้องมีการสังคายนากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

‘เสธฯ หนั่น’ ผู้สร้างตำนาน ‘งูเห่า’ ในแวดวงการเมืองไทย ต้นฉบับการข้ามขั้วครั้งใหญ่ เจ้าของนิยาม “เลี้ยงไม่เชื่อง”

(27 ส.ค. 66) ‘พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์’ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คือผู้สร้างตำนาน ‘งูเห่า’ ขึ้นในวงการการเมืองไทยด้วยการดึง 13 สส.จากพรรคประชากรไทย ของ ‘นายสมัคร สุนทรเวช’ หัวหน้าพรรคประชากรไทย พลิกข้ามขั้วมาสนับสนุน ‘นายชวน หลีกภัย’ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัย 2

13 สส.พรรคประชากรไทย จากทั้งหมด 18 คน ที่พลิกขั้วมาสนับสนุนนายชวน ประกอบด้วย นายวัฒนา อัศวเหม, นายพูนผล อัศวเหม, นายสมพร อัศวเหม, นายมั่น พัธโนทัย, พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์, นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ, นายไกรสิทธิ์ ไกรสิทธิพงศ์, นายประกอบ สังข์โต, นายสำเร็จ อัจฉริยะประสิทธิ์, นายฉลอง เรี่ยวแรง, นายสุชาติ บรรดาศักดิ์, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์

การถูกหักหลังในครั้งนั้น นายสมัครเปรียบเทียบว่า “เหมือนชาวนากับงูเห่า” เพราะก่อนการเลือกตั้ง นายวัฒนาตกเป็นข่าวมีชื่อในแบล็กลิสต์ ผู้พัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดของทางการสหรัฐอเมริกา จนไม่มีพรรคไหนยอมให้เข้าร่วม เว้นแต่พรรคประชากรไทยของนายสมัคร แต่แล้ว เมื่อนายสมัครยืนยันจะยืนอยู่ฝ่ายรัฐบาลเดิม กลับมีลูกพรรคแหกมติไปลงคะแนนให้อีกฝ่าย ทิ้งให้หัวหน้าพรรคกลายเป็นฝ่ายค้าน ส่วนพวกตนเองสลับขั้วไปร่วมรัฐบาล “เลี้ยงไม่เชื่อง-ทรยศ-หักหลัง” คือนิยามง่ายๆ ของคำว่า “งูเห่า”

ย้อนกลับไปดูการเมืองในช่วงนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไมต้องมีงูเห่า

ปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติค่าเงินบาทในสมัยรัฐบาล ‘พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ’ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี ค่าเงินบาทถูกโจมตีหนัก รัฐบาลโดยแบงก์ชาติก็นำเงินคงคลังออกมาสู้อย่างหนัก แต่ก็ไม่อาจต้านทานได้ พล.อ.ชวลิต ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท บางคนอาจจะบอกว่า “ลดค่าเงินบาท”

พล.อ.ชวลิต สุดจะต้านทานกระแส ประกาศลาออกเมื่อ 6 พ.ย. 2540 จึงเกิดการพยายามรวมเสียงเพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่

ฝ่ายรัฐบาลเดิมยังคงได้เปรียบ พรรคความหวังใหม่ และอีก 5 พรรคร่วมรัฐบาล ลงสัตยาบันประกาศชู ‘พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ’ อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ขณะที่ฝ่ายค้านพยายามรวมเสียงเพื่อชู นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาท้าชิง

เสียงฝั่งรัฐบาลที่ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคประชากรไทย, พรรคเสรีธรรม และพรรคมวลชน 221 เสียง เหนือกว่า พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทย, พรรคเอกภาพ, พรรคไท และพรรคพลังธรรม ที่ได้ 172 เสียง

แต่พรรคเสรีธรรมและพรรคกิจสังคมเปลี่ยนขั้ว (4+20) ทำให้ช่องว่างกลับมาเฉือนกันแค่คะแนนเดียว อยู่ที่ 197 – 196 แม้เสียงจะปริ่มน้ำสุดๆ แต่มันสมองอันแหลมคมของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็มองเห็นประเด็นนี้ออก จึงแก้เกมโดยขอแค่แยกสมาชิกพรรคใดมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาทั้งพรรค เกมจะเปลี่ยนทันที

พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีอยู่ 18 คน กลายเป็นเป้าหมายของ ‘เสธฯ หนั่น’ เจรจาดึงออกได้ถึง 13 คน แต่ตอนหลัง ‘นายชัยวัฒน์ ศิริภักดิ์’ ได้ลาออกจาก สส.ไป เกมพลิกทันที ทำให้ขั้วอำนาจฝ่ายสนับสนุนนายชวน รวมเสียงได้ 208 – 185

ผลจากการเปลี่ยนขั้วของ สส. 12 คน ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรีของนายชวน ถึง 4 คน คือ นายวัฒนา อัศวเหม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายประกอบ สังข์โต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

หลังจาก เรื่องราวของงูเห่าก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ แต่ที่ยกเรื่องตำนานงูเห่าขึ้นมาเล่า เพียงแต่จะบอกว่า งูเห่าเกิดขึ้นครั้งแรกเป็น สส.ข้างมากของพรรคประชากรไทย 13 คน ไม่ใช่เสียงข้างน้อย หรือจำนวนน้อยถึงจะเรียกว่า “งูเห่า” ซึ่งไม่เป็นความจริง

ล้มหล่น ‘ประชาธิปัตย์’ อาจได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน แต่ความขัดแย้งในพรรค ส่อทำให้ชวดโอกาสทอง 

‘ก้าวไกล’ ยืนยันว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ไม่รับตำแหน่ง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ และ ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ก็จะอยู่ต่อ ไม่ยอมลาออก โดยขั้นตอนคือ ก้าวไกลจะต้องทำเรื่องแจ้งเพื่อสละสิทธิ์ให้กับพรรคฝ่ายค้านลำดับรองลงมา

พรรคลำดับรองลงมา คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีอยู่ 25 เสียง แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีปัญหาเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เวลานี้มี ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รักษาการหัวหน้าพรรค ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า จะเลือกหัวหน้าพรรคได้เมื่อไหร่ ซึ่งไม่น่าจะทูลเกล้าชื่อของรักษาการหัวหน้าพรรค เผื่อมีการเลือกหัวหน้าพรรคตัวจริงเร็วๆ นี้ เรื่องก็จะยุ่งยากไปอีก

ส่วนถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่รับ หรือติดขัดปัญหาทางเทคนิค ก็จะหลุดไปถึงพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ลาออกจากหัวหน้าพรรคเช่นกัน มีแต่รักษาการหัวหน้าพรรค ยังไม่มีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

ตามรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมี ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ในการปฏิบัติหน้าที่สำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ อาทิ สรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สรรหากรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งคณะกรรมการจริยธรรมของสภา และอีกหลายอย่าง

โดยหลักการเมื่อพรรคก้าวไกลปฏิเสธตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ตำแหน่งนี้ก็จะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทันที ซึ่งประชาธิปัตย์ก็ต้องไปแก้ไขปัญหาของตัวเอง ด้วยการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคให้แล้วเสร็จ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อยังมีปัญหาความแตกแยก-ขัดแย้ง เป็นสองขั้วชัดเจน และยังมีปัญหา สส.ของพรรคลงมติในสภาฯ ขัดมติพรรคอีก และมีสมาชิกยื่นให้ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อลงโทษ สส.กลุ่ม 16 ออกจากพรรค ฐานทำให้พรรคเสียหาย เสื่อมเสียศรัทธาต่อประชาชน

แต่จนถึงขณะนี้ พรรคยังไม่มีมติว่าจะตั้งกรรมการสอบสวนหรือไม่ การเลือกหัวหน้าพรรคจึงยังคาราคาซังต่อไป ต้องดูการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ในวันอังคารว่าจะออกมาอย่างไร

1.) จะตั้งกรรมการสอบ สส.ที่โหวตสวนมติพรรคหรือไม่
2.) จะกำหนดวันเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคใหม่หรือไม่

การไม่ลงตัวของประชาธิปัตย์ อาจจะทำให้ชวดโอกาสในการเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปด้วย ทั้งๆ ที่โอกาสมาถึงแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top