ล้มหล่น ‘ประชาธิปัตย์’ อาจได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน แต่ความขัดแย้งในพรรค ส่อทำให้ชวดโอกาสทอง 

‘ก้าวไกล’ ยืนยันว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ไม่รับตำแหน่ง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ และ ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ก็จะอยู่ต่อ ไม่ยอมลาออก โดยขั้นตอนคือ ก้าวไกลจะต้องทำเรื่องแจ้งเพื่อสละสิทธิ์ให้กับพรรคฝ่ายค้านลำดับรองลงมา

พรรคลำดับรองลงมา คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีอยู่ 25 เสียง แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีปัญหาเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เวลานี้มี ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รักษาการหัวหน้าพรรค ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า จะเลือกหัวหน้าพรรคได้เมื่อไหร่ ซึ่งไม่น่าจะทูลเกล้าชื่อของรักษาการหัวหน้าพรรค เผื่อมีการเลือกหัวหน้าพรรคตัวจริงเร็วๆ นี้ เรื่องก็จะยุ่งยากไปอีก

ส่วนถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่รับ หรือติดขัดปัญหาทางเทคนิค ก็จะหลุดไปถึงพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ลาออกจากหัวหน้าพรรคเช่นกัน มีแต่รักษาการหัวหน้าพรรค ยังไม่มีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

ตามรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมี ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ในการปฏิบัติหน้าที่สำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ อาทิ สรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สรรหากรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งคณะกรรมการจริยธรรมของสภา และอีกหลายอย่าง

โดยหลักการเมื่อพรรคก้าวไกลปฏิเสธตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ตำแหน่งนี้ก็จะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทันที ซึ่งประชาธิปัตย์ก็ต้องไปแก้ไขปัญหาของตัวเอง ด้วยการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคให้แล้วเสร็จ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อยังมีปัญหาความแตกแยก-ขัดแย้ง เป็นสองขั้วชัดเจน และยังมีปัญหา สส.ของพรรคลงมติในสภาฯ ขัดมติพรรคอีก และมีสมาชิกยื่นให้ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อลงโทษ สส.กลุ่ม 16 ออกจากพรรค ฐานทำให้พรรคเสียหาย เสื่อมเสียศรัทธาต่อประชาชน

แต่จนถึงขณะนี้ พรรคยังไม่มีมติว่าจะตั้งกรรมการสอบสวนหรือไม่ การเลือกหัวหน้าพรรคจึงยังคาราคาซังต่อไป ต้องดูการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ในวันอังคารว่าจะออกมาอย่างไร

1.) จะตั้งกรรมการสอบ สส.ที่โหวตสวนมติพรรคหรือไม่
2.) จะกำหนดวันเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคใหม่หรือไม่

การไม่ลงตัวของประชาธิปัตย์ อาจจะทำให้ชวดโอกาสในการเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปด้วย ทั้งๆ ที่โอกาสมาถึงแล้ว