Tuesday, 20 May 2025
พรรคประชาธิปัตย์

'เฉลิมชัย' ย้ำ ปชป. ขึ้นปีที่ 79 อุดมการณ์ยังมั่นคง เทใจให้สื่อร่วมกันทำงาน 'เดชอิศม์' ยันพรรคเติบโตปีเดียวสมาชิกตลอดชีพเพิ่ม 2 หมื่นคน

เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา (24 ธ.ค. 67) พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดงานเลี้ยงปีใหม่ให้กับสื่อมวลชน ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าอาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สำนักงานใหญ่ของพรรค ถือว่าเป็นงานประเพณีของพรรคที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับในปีนี้บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น โดยมี กรรมการบริหาร สส. ไปจนถึงอดีต สส. เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง 

ในช่วงหนึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส.) กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความผูกพันกับสื่อมวลชนมาเป็นเวลานานมาก บางท่านเรารู้จักกันมานานถึง 10-20 ปีแล้ว วันนี้จึงอยากให้สื่อมวลชนได้มาเห็นว่าประชาธิปัตย์ของเราเปิดพื้นที่จริงๆ ไม่ได้เปิดแต่ปาก พร้อมกับปรับเปลี่ยนการทำงานทั้งหมด 

“ประชาธิปัตย์คนเดิมมีอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง คนใหม่ที่เข้ามาคือปรับการทำงาน จุดยืน อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และผมจะไม่ยอมเป็นหัวหน้าพรรคที่เปลี่ยนแปลงจุดยืนและอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์เด็ดขาด แต่ถ้าประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยน หรือผมไม่กล้าเปลี่ยน ประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ 100% ผมอยากให้ประชาธิปัตย์เดินต่อ มาเดินข้างผม มาเดินไปพร้อมๆ กับผม เชื่อเถอะครับว่า อนุรักษ์นิยมทันสมัย ยังอยู่ได้ในประเทศไทย” ดร.เฉลิมชัย กล่าว 

พร้อมกับได้อวยพรสื่อมวลชน ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2568 ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านให้ความเคารพนับถือ พระแม่ธรณีบีบมวยผมที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้โปรดประทานพรให้พี่น้องและเพื่อนสื่อมวลชน เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ  สส. สมาชิกพรรคทุกท่านให้โชคดี คิดสิ่งใดขอให้สำเร็จ สุขภาพร่างกายแข็งแรง เดินทางไปไหนให้แคล้วคลาดปลอดภัย 

จากนั้น นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ได้ขึ้นเวทีพร้อมกับกล่าวว่า หลายคนบ่นกับตนว่าเมื่อก่อน นายกชายเข้าง่าย สัมผัสง่าย โดยเฉพาะช่วงก่อนร่วมรัฐบาล พวกเราขยี้นายกชาย ได้อย่างเต็มที่ แต่พอไปเป็นรัฐมนตรี 3 เดือน แทบจะหาตัวไม่ได้เลย เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า 

1. ตนยังเป็น สส. เขตอยู่ เมื่อเสร็จงานที่กรุงเทพฯ ก็กลับไปอยู่ในเขตของตัวเอง และเพิ่งไปเห็นว่า จนท. พรรค ไปแค่ 3 วัน ก็มีประชาชน มีแกนนำมาสมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 4,000 กว่าคนแล้ว แบบนี้จะบอกว่ากระแสประชาธิปัตย์ตกต่ำได้อย่างไร 

2. ตนยังทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็ร่วมกับหัวหน้า และเพื่อนชาวประชาธิปัตย์ ฟื้นฟูพรรคให้ได้ เมื่อไปดูตัวเลขสมาชิกพรรค ตั้งแต่ ดร.เฉลิมชัย มาเป็นหัวหน้าพรรค จนถึงวันนี้ มียอดผู้สมัครเป็นสมาชิกแบบตลอดชีพ เกิน 20,000 คน แล้วประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ได้อย่างไร

“หลายคนดูถูกว่าเฉลิมชัย ศรีอ่อนมาเป็นหัวหน้าพรรค ทำให้พรรคตกต่ำอยู่แล้วยิ่งตกต่ำเข้าไปอีก พูดถึงขนาดว่าประชาธิปัตย์ต้องสูญพันธุ์ แล้วไปดูสิครับ วันนี้ จนท. พรรค คีย์รับสมัครไม่ทันเลย นั่นแสดงให้เห็นว่าประชาธิปัตย์ไม่สูญพันธุ์แน่นอน ประชาธิปัตย์เริ่มเชิดหัวขึ้นแล้ว” 

3. ตนได้รับฉันทามติจากพี่น้องประชาธิปัตย์ ให้ไปทำหน้าที่เป็น รมช. สธ. ผมดูแล 2 กรมเล็กๆ คือกรมแพทย์ทางเลือกฯ และกรมอนามัย กับอีก 5 สถาบัน แม้จะเป็นกรมเล็กๆ แต่มีผลต่อสุขภาพของคนไทย 

“ขอถือโอกาสนี้อำนวยอวยพรให้พี่น้องสื่อมวลชน ข้อ 1 ต้องมีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่แข็งแรง ข้อ 2 ให้มีความก้าวหน้าในการงานของท่าน ข้อ 3 ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยทุกคน ข้อ 4 ขอให้ลูกหลานของทุกท่านประสบความสำเร็จด้วย” เลขาธิการพรรค กล่าว 
 

'เดชอิศม์-รมช.สธ.' นำประชุมสมาคมฌาปนกิจฯ อสม. เดินหน้า 'รวมพลัง อสม.เป็นหนึ่งเดียว'

นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมสมาคม ฌกส. อสม. แห่งประเทศไทย (สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย) พร้อมกันนี้ได้ อวยพรปีใหม่ ให้กำลังใจ คณะกรรมการ โดยมีผู้บริหารสมาคมฯ ประธาน อสม.แต่ละจังหวัดและผู้แทน ร่วมพบปะพูดคุย จากนั้นได้เข้าตรวจเยี่ยมสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง จ.นนทบุรี โดยมีนายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยนายแพทย์ชลพันธ์ ปิยถาวรอนันต์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ให้การต้อนรับ ที่ทำการ สมาคม ฌกส.อสม.แห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง นนทบุรี (6 ม.ค.2568)

'นิพิฏฐ์' สะกิด 'อภิสิทธิ์' อย่าเพิ่มกำลังให้ศัตรู หลังเตรียมไปพัทลุงหาเสียง นายกอบจ. ให้คู่แข่งพรรค ปชป.

(28 ม.ค.68) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กข้อความว่า ศึกนี้ผมไม่รบ ทราบว่า พรุ่งนี้ ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมาปราศรัยให้ผู้สมัครนายกฯอบจ.ท่านหนึ่ง ที่จ.พัทลุง

ท่านอภิสิทธิ์ ก็ทราบแล้วว่าผมทราบเรื่องนี้แล้ว และท่านก็ท่านทราบแล้วว่าผมคงจะเสียใจ เพราะผมอยากให้ท่านเป็นกลาง ทุกคนสมัครอิสระ ให้คนพัทลุงเขาแข่งขันกันเองดีกว่า มีคนโทรไปห้ามท่านแล้วแต่ท่านก็จะมา ผมไม่โกรธท่านหรอก ใจผมเลยจุดนั้นไปนานแล้ว ผมเคารพการตัดสินใจของท่าน แต่ท่านคงลืมอะไรไป 3-4 เรื่อง

1.ผู้สมัครนายกอบจ. ที่ท่านจะมาช่วยปราศรัยนั้น เขาลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว และ ไปขอสมัครลงในนามพรรคประชาชน แต่พรรคประชาชนไม่รับ เขาจึงลาออกจากพรรคประชาชน แล้วมาสมัครอิสระ แต่ความจริงไม่อิสระหรอก มีพรรคการเมืองหนึ่งเป็น 'อีแอบ' หนุนหลังอยู่ และประกาศว่าจะทำการเมืองสีขาว ถ้าพรรคนี้ทำการเมืองสีขาว แล้วคนพัทลุงยังเชื่ออีกก็น่าหัวเราะล่ะ

2.ท่านอภิสิทธิ์ ไม่ควรมาหรอก แม้ท่านประกาศว่า บัดนี้ ท่านไม่สังกัดพรรคใด ๆ แล้ว และท่านประกาศจะสังกัดพรรคเดียวเท่านั้น คือ ประชาธิปัตย์ แต่อย่าลืมว่า พัทลุงมีสส.ประชาธิปัตย์ 2 คน ถ้าท่านมาปราศรัยก็เท่ากับท่านเพิ่มกำลังให้กับพรรคหนึ่ง ซึ่งเคยต่อสู้กันมาอย่างหนักหน่วง แล้วน้อง ๆ ที่เขาเป็นสส.ประชาธิปัตย์ เขาจะรู้สึกอย่างไร

3.เชื่อผมเถอะ วันที่ท่านอภิสิทธิ์ มาปรากฏกายที่พัทลุง ท่านจะถูกห้อมล้อมด้วยคนจากพรรคอื่น ซึ่งเคยต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่มีคนประชาธิปัตย์ห้อมล้อมให้กำลังใจท่าน ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้ที่ยื่นให้ท่านมาจากมือของคนที่ไม่เคยหยิบยื่นให้ท่านเลย เสียงตะโกนเชียร์มาจากปากของคนที่เคยก่นด่าท่าน คนที่รักท่านต่างหลั่งน้ำตา ด้วยความเสียใจ

4.ผมเข้มแข็งพอที่จะไม่น้อยใจ ผมกรำศึกแบบนี้มายาวนาน ผมเคยเป็นขุนพลข้างกายท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ ณ เวลานี้ สิ่งที่ผมต่างจากอดีตแม่ทัพของผม คือ “ผมไม่เพิ่มกำลังให้ศัตรู” ผมไม่ทรยศอดีตแม่ทัพ แต่ศึกครั้งนี้ ผมไม่ชักกระบี่สู้ตามแม่ทัพ

พรรคประชาธิปัตย์ จัดเดโมแครต ฟอรัมครั้งที่4 “วาระนโยบายน้ำ ก้าวใหม่ประปาหมู่บ้าน” หวังยกระดับคุณภาพน้ำสะอาดเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนกว่า6หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ

“การสุ่มเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2562-2567 จำนวน 10,271 แห่งพบว่ามีเพียง 420 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4 เท่านั้นที่ผ่านการรับรองเป็นน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด”

รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยวันนี้ว่าดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์สั่งการให้จัดเดโมแครต ฟอรัมครั้งที่4 หัวข้อ
“วาระนโยบายน้ำ ก้าวใหม่ประปาหมู่บ้าน“โดยตั้งเป้ายกระดับคุณภาพน้ำเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เวลา 9.00-12.00 น.โดยมีนาย เดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถา

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานจัดงาน เดโมแครต ฟอรัม(Democrat Forum)กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)แต่ที่ผ่านมายังประสบกับปัญหาคุณภาพน้ำประปาไม่ได้มาตรฐาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของน้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้มากที่สุด ข้อมูลจากกรมอนามัยในการสุ่มเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2561-2567 จำนวน 10,271 แห่ง พบว่า มีเพียง 420 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4 เท่านั้น ที่ผ่านการรับรองเป็นน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด ที่มีความปลอดภัยสำหรับนำมาบริโภคในครัวเรือน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับน้ำประปาในเขตเมือง และปัญหาสำคัญ คือ ยังขาดความครอบคลุมในการตรวจวิเคราะห์เพื่อประเมินคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน อันเนื่องมาจากขาดงบประมาณดำเนินการ ซึ่งทั้งประเทศมีประปาหมู่บ้าน ทั้งหมด 69,028 แห่ง

“ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์และนาย
เดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญใน

การพัฒนายกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านซึ่งจะทำให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนกว่า6หมื่นหมู่บ้านดีขึ้นและยังเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืนสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่6 (Sustainable Development Goal: SDG6) ขององค์การสหประชาชาติ (UN)กำหนดให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยโดยการสัมมนาครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการเร่งด่วนของพรรคประชาธิปัตย์จึงขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมงานสัมมนาตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว”

'อลงกรณ์-ประชาธิปัตย์' วิเคราะห์งบประมาณ 2569 ชี้งบประจำลดลงส่งสัญญาณบวกแต่กังวลงบลงทุนหดมากกว่า ห่วงผลกระทบ 'ทรัมป์2.0' ทำรายได้ประเทศลด แนะทำแผนงบสมดุลควรเริ่มระบบงบประมาณฐานศูนย์ปี 2570

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.และอดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กวันนี้เรื่อง “วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 : งบประมาณในภาวะผันผวน“

โดยชี้ว่าเป็นงบประมาณที่มีเปอร์เซ็นของงบประจำลดลงเล็กน้อย1%ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นแนวโน้มที่ดีแต่งบลงทุนลดลงมากกว่าคือ 7.3 %ในขณะที่งบชำระคืนเงินกู้เพิ่มขึ้น0.7%เป็นการชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นและยังไม่ปรากฏว่าแนวทางว่าจะเริ่มจัดทำงบประมาณสมดุลอย่างไรเมื่อใดซึ่งต้องรอฟังคำแถลงนโยบายงบประมาณของนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

โดยนายอลงกรณ์เขียนบทความ“วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 : งบประมาณในภาวะผันผวน“ ดังนี้

“บทวิเคราะห์นี้จะกล่าวถึงโครงสร้างของงบประมาณปี2569ในด้านงบประจำงบลงทุนงบชำระหนี้เงินกู้กับการเตรียมงบประมาณรับมือนโยบาย 'ทรัมป์ 2.0' และปัจจัยเสี่ยงโดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณา

ทั้งนี้ไทม์ไลน์ของกระบวนการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 มีกำหนดที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 20 พ.ค  2568 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 1 วันที่ 28–30 พ.ค. 2568 และวาระที่ 2-3 วันที่ 13–15 ส.ค. 68 (เป็นกำหนดการเท่าที่ยืนยันขณะนี้)

ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 มีดังนี้
1. โครงสร้างและวงเงินงบประมาณวงเงินรวม 3.78 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27,900 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น
1.1 รายจ่ายประจำ 2.65 ล้านล้านบาท (ลดลง 1%)  
1.2 รายจ่ายลงทุน 864,077 ล้านบาท (ลดลง 7.3%)  
1.3 รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 151,200 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.7%)   
1.4 งบขาดดุล 860,000 ล้านบาท

ภายใต้โครงสร้างงบประมาณเช่นนี้มีข้อสังเกตที่ควรไตร่ตรอง
1. การลดรายจ่ายลงทุนอาจกระทบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และพลังงาน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤต   
2. การเพิ่มวงเงินชำระหนี้สะท้อนภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นซึ่งต้องจับตาการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงทางการคลังระยะยาว  
3. การเตรียมงบประมาณรับมือวิกฤต เศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบาย “ทรัมป์ 2.0”

จากกรณีสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% ส่งผลให้ภาคส่งออกและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนัก โดยคาดว่า GDP จะปรับลดเหลือ 2.1% หรือต่ำกว่า 2.0%ทั้งนี้ขึ้นกับผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯในเร็ว ๆ นี้

ซึ่งเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะใช้กลไกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณปี2569ของสภาฯ ปรับโอนงบประมาณจากรายการไม่จำเป็นเข้างบกลาง 25,000 ล้านบาท (ตามที่ปรากฏเป็นข่าว) เพื่อรับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจ 
อย่างไรก็ตามการไม่ปรับแก้ในชั้น ครม. อาจทำให้ขาดรายละเอียดแผนรองรับที่ชัดเจน เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐ   
และอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่างบกลางที่เพิ่มขึ้น25,000 ล้านบาทจะเป็นการ 'ตีเช็คเปล่า' ไม่มีแผนและรายละเอียดในการตรวจสอบโดยรัฐสภาระหว่างการพิจารณางบประมาณซึ่งรัฐบาลและสำนักงบประมาณควรสร้างความชัดเจนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 เป็นงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเป็นงบประมาณในภาวะผันผวนซึ่งมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะได้แก่  
1. งบกลาง
การจัดสรรงบกลางเพื่อรับมือวิกฤตยังคลุมเครือสามารถแก้ไขได้โดยเพิ่มความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณแบบ Real-time ผ่านแพลตฟอร์ม Open Data 
2. งบประจำ
รายจ่ายงบประจำลดลงแม้เพียง1%ก็ถือเป็นสัญญาณบวกควรดำเนินการต่อในปีงบประมาณถัดไปอย่างต่อเนื่อง
3. งบลงทุน
การลดลงของงบลงทุนอาจกระทบการเติบโตระยะยาว  
4. งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าควรชะลอไว้ก่อน
ได้แก่โครงการลงทุนที่ไม่เร่งด่วน
เช่น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการทันทีหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจเพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน   
และโครงการที่ยังไม่มีแผนรองรับการใช้งานอย่างชัดเจน หรือโครงการที่ใช้งบประมาณสูงแต่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ  
5. หนี้สาธารณะ 

หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ปี 2564 มีสัดส่วน62.44% ของ GDP และปี 2569 จะเพิ่มใกล้แตะเพดาน 70 % ของ GDP   ทั้งนี้หนี้สาธารณะรวมเมื่อถึงปี 2569 คาดว่าจะสูงถึง 13.6 ล้านล้านบาท  เป็นภาระหนักของประเทศเสมือนโคลนติดล้อ
6. ความเสี่ยงของประเทศ
ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเช่น ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิอาการเปลี่ยนแปลง และภูมิเศรษฐศาสตร์ เช่นสงครามการค้า ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนผันแปรเร็วและแรงมากขึ้นอาจทำให้รายได้ประเทศจากภาษีและการพาณิชย์ลดลงและกดดันให้ต้องกู้หนี้สาธารณะเพิ่มจึงควรเตรียมงบประมาณให้พร้อมสำหรับการรับมือและปรับตัว
7. ความยั่งยืนของงบประมาณและการคลัง 
7.1 ควรมีแนวทางการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในคำแถลงนโยบายงบประมาณต่อสภาฯ.
7.2 ตัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่คุ้มค่า
7.3 ปรับลดงบประจำและเพิ่มงบลงทุน
7.4 ควรเริ่มเตรียมแผนการการปฏิรูประบบงบประมาณแบบใหม่โดยจัดทำงบประมาณฐานศูนย์(Zero based budgeting)ถ้ามีความพร้อมควรเริ่มในปีงบประมาณ 2570

หากรัฐบาลสามารถบริหารงบประมาณในภาวะผันผวนด้วยความโปร่งใส ใช้เทคโนโลยีและเพิ่มการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่าภาษีของประชาชนมากขึ้น.”

ผู้เขียน :
นายอลงกรณ์ พลบุตร
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์และประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. อดีต สส.6 สมัย
อดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top