Tuesday, 20 May 2025
พรรคประชาธิปัตย์

ย้อนอดีต ‘พรรคประชาชน’ กับ ‘กลุ่ม 10 มกราฯ’ ในพรรคประชาธิปัตย์ คนอกหักทางการเมือง ที่ไม่มีใครเห็นหัว สุดท้ายก็ยุบตัว ในสถานการณ์ที่ร่อแร่

(10 ส.ค.67) เมื่อคณะอดีตพรรคก้าวไกลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ได้อพยพกันไปอยู่พรรคใหม่ “ถิ่นกาขาวชาววิไล และเปลี่ยน ชื่อพรรคมาเป็น 'พรรคประชาชน'

ถามว่าพรรคประชาชนเคยมีตัวตนอยู่จริงไหม คนรุ่น 50-60 ขึ้นไปจะตอบได้ว่า “มี” อันก่อกำเนิดมาจากกลุ่ม 10 มกราฯในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอกหักทางการเมือง ถูกถีบส่งออกมา มี 'เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์-วีระ มุสิกพงศ์' เป็นแกนนำหลัก ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งพรรคใหม่ ใช้ชื่อว่า 'พรรคประชาชน' ใช้คำขวัญพรรคว่า 'ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน'

พรรคประชาชนมีชื่อเดิมว่าพรรครักไทย จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 พรรครักไทยได้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคประชาชน

คณะพรรคประชาชนมาเปิดที่ทำการพรรคอยู่ริมคลองประปา ตั้งอยู่ข้ามกระทรวงการคลัง ไม่ไกลจากที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์มากนัก ถ้าเป็นต่างจังหวัดพูดได้ว่า ตะโกนกันได้ยิน

กลุ่ม 10 มกราฯก่อตัวมาจากความขัดแย้งในการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ในยุคที่ 'พิชัย รัตตกุล' เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีดร.พิจิตต รัตตกุล ลูกชายได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรี ในขณะที่สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกมองข้าม แม้กระทั่งในกลุ่มวาดะห์ ก็ไม่มีใครเห็นหัว ไม่มีตำแหน่งใด ๆ

ความขัดแย้งขยายผลมาถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แบ่งเป็นสองทีมลงแข่งขันกันชัดเจน สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' พ่ายแพ้ศึกชิงหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค

กลุ่มของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกเฉดหัวออกมาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย ตัดญาติขาดมิตรต่อกัน กลุ่มก้อนการเมืองสายนี้จึงก่อเกิดเป็น 'พรรคประชาชน'

พรรคประชาชนยุคเปลี่ยนผ่านจึงมีหัวหน้าชื่อเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เลขาธิการชื่อวีระ มุสิกพงศ์ คำขวัญ ของพรรคประชาชน คือโดยประชาชน เพื่อประชาชน

สถานการณ์ทางการเมือง ทำให้พรรคประชาชนไปยุบรวมกับพรรคการเมือง อื่นๆอีก 4 พรรค เช่นพรรคกิจประชาคม พรรคก้าวหน้า เป็นต้น ก่อกำเนิดเป็น 'พรรคเอกภาพ' 

แกนนำของพรรคประชาชนในยุคนั้นนอกจากเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค และวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ยังมีแกนนำคนสำคัญ อาทิ เดโช สวนานนท์ ไกรสร ตันติพงศ์ เลิศ หงษ์ภักดี อนันต์ ฉายแสง สุรใจ ศิรินุพงศ์ ถวิล ไพรสณฑ์ พีรพันธุ์ พาลุสุขสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ กริช กงเพชร กลุ่มวาดะห์ในสามจังหวัดชายแดนใต้

เลือกตั้งครั้งแรก ปี 2532 พรรคประชาชนกวาดที่นั่งในสภามาร่วม 40 ที่นั่งในสถานการณ์ที่พรรคร่อแร่ 'วีระ มุสิกพงศ์' เลขาธิการพรรคติดคุกในช่วงหาเสียงเลือกตั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถวิล ไพรสณฑ์ ขึ้นมารักษาการเลขาธิการพรรคแทน

มาถึงวันนี้อดีตคนพรรคก้าวไกลตัดสินใจใช้ชื่อ 'พรรคประชาชน' อีกครั้งกับโฉมใหม่ โลโก้เป็นไป คำขวัญเป็นไป จุดยืนทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายชัดเจนว่า เลือกตั้งปี 70 ต้องได้เกินครึ่งของสภา จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ติดตามกันต่อไปครับว่า พรรคประชาชนอันมีรากเหง้ามาจากพรรคก้าวไกล จะเดินไปบรรลุเป้าหมายหรือไม่ หรือเป็นฝ่ายค้านต่อไป ไม่มีใครร่วมด้วย (ถ้าได้ไม่ถึงครึ่ง)

'อลงกรณ์' ตอบโจทย์วันนี้ประชาธิปัตย์ยังไม่มีมติร่วมรัฐบาล แจงยุทธศาสตร์ใหม่ปชป. ปลดแอกจากทุนการเมืองพร้อมเปิดพรรคกว้างสร้างพื้นที่ประชาชน

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นปมสมาชิกบางคนวิจารณ์พรรคในทางลบว่าไม่พัฒนาและไม่เห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลซึ่งกำลังเป็นที่จับตาช่วงการฟอร์มรัฐบาลในขณะนี้ โดยมีข้อความว่า

“….ผมอ่านข่าวสมาชิกพรรคและอดีตสมาชิกพรรค 4-5 คนแสดงความเห็นไม่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย บางท่านวิจารณ์พรรคว่าไม่ได้พัฒนาตัวเองย่ำเท้าอยู่กับที่ ซึ่งในด้านหนึ่งผมดีใจที่แต่ละท่านยังสนใจและมีความห่วงใยในพรรคประชาธิปัตย์ แต่อีกด้านก็ไม่สบายใจที่มีการใช้ถ้อยคำด้อยค่าพรรคประชาธิปัตย์ทั้งที่ไม่เคยมาช่วยพรรคทำงานในยามที่พรรคตกต่ำจึงขอทำความเข้าใจในส่วนการพาดพิงพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับอุดมการณ์ การพัฒนาพรรคและการร่วมรัฐบาล ดังนี้

1.พรรคประชาธิปัตย์ยังคงยึดมั่นปฐมอุดมการณ์ของพรรคและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการปรับปรุงสำนักงานใหญ่ ระบบบริหารจัดการและสถานที่ทำงานให้ทันสมัยมากขึ้น
โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริหารพรรคและการบริการประชาชน เช่น การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อการสื่อสาร การรับสมัครสมาชิกพรรคแบบออนไลน์ การยกระดับการสื่อสารทุกโซเชียลแพลตฟอร์ม 

3.มีการจัดทำยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์เป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ขณะนี้ยกร่างยุทธศาสตร์ฯ.เสร็จแล้ว
4.ลดอิทธิพลของนายทุนการเมืองและการทุจริตในระบบการเมืองฉ้อฉลโดย
หัวหน้าพรรคแต่งตั้งคณะกรรมการ001ทำหน้าที่รณรงค์ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอุดหนุนเงินภาษีให้พรรคประชาธิปัตย์เพื่อเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง

5.เปิดพรรคกว้างสร้างพื้นที่ของประชาชนตามนโยบายโอเพ่นเฮ้าส์(Open House)โดยเปิดพรรคจัดกิจกรรม“ลานพระแม่ ฟอรั่ม”และ“เดโมแครต ฟอรั่ม”ที่พรรคประชาธิปัตย์และในภูมิภาคด้วยระบบออนไลน์และอินไซท์
6.ยกระดับความเป็นสถาบันทางการเมืองด้วยการจัดตั้ง“เดโมแครต อะคาเดมี่”(Democrat Academy)โดยเริ่มโครงการหลักสูตรผู้บริหารการเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่การเมืองที่สุจริตมีประสิทธิภาพและก้าวหน้าทันสมัยจะเริ่มต้นรุ่นแรกในเดือนตุลาคมนี้

สุดท้ายเป็นประเด็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลมีการวิเคราะห์คาดเดาไปต่าง ๆ นานาว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน

คำตอบอยู่ที่มติของที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคและสส.พรรค จนถึงวันนี้ยังไม่มีการประชุมใด ๆ สำหรับวันข้างหน้าไม่ว่าพรรคจะมีมติอย่างไร ผมและสมาชิกพรรคถือปฏิบัติเช่นเดียวกับท่านชวนคือเคารพมติพรรคไม่ว่าจะมีความเห็นพ้องหรือเห็นต่างเมื่อมีมติพรรคก็จบ นี่คือความเป็นประชาธิปไตยในพรรคของเรา

อลงกรณ์ พลบุตร
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์
22 สิงหาคม 2567“

‘เทพไท’ อ้าง!! ถาม ‘คนสงขลา’ แล้ว ไม่เห็นด้วย ประชาธิปัตย์ ร่วมรัฐบาล ชี้!! เป็นการละทิ้ง ‘อุดมการณ์-จุดยืน’ ทำให้พรรคตกต่ำลง

(25 ส.ค. 67) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘เทพไท – คุยการเมือง’ ระบุว่า ‘ถามคนสงขลาแล้ว ไม่เห็นด้วย ปชป.ร่วมรัฐบาล’

เมื่อวาน (24 ส.ค.67) ผมได้เดินทางไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพของคุณแม่ใจ สามารถ มารดาของคุณสาโรจน์ สามารถ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. พัทลุง ที่วัดหาดใหญ่ใน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้พบปะกับพี่น้องประชาชนในหลากหลายอาชีพ จากสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่สนามบินหาดใหญ่  ตลาดหาดใหญ่ จากหลายอำเภอในจังหวัดพัทลุง และบางส่วนมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช 

ผมได้ถือโอกาสสอบถามความคิดเห็น เรื่องการที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ที่มีคุณอุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่มีแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาบอกว่า ให้สอบถามความเห็นของคนสงขลาว่า เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลกับระบอบทักษิณหรือไม่ 

ผมได้สอบถามความเห็นจากพี่น้องประชาชนหลายกลุ่ม หลายอาชีพ รวมถึงความเห็นของพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ผลปรากฏว่าจากการที่ได้สอบถามและพูดคุยกัน ทุกคนไม่เห็นด้วยและคัดค้านการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น เพราะเป็นการละทิ้งอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค ที่เคยต่อสู้กับระบอบทักษิณมายาวนาน ซึ่งพี่น้องประชาชนคนภาคใต้ส่วนใหญ่ ได้เข้าร่วมเดินขบวนขับไล่ระบอบทักษิณมาก่อนทั้งนั้น 

การเข้าร่วมรัฐบาลกับระบอบทักษิณ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศ และอุดมการณ์ของพรรค ในการต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบมายาวนาน มีประชาชนหลายคนตำหนิคณะกรรมการบริหารพรรค และสส. รุ่นใหม่ที่ไม่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค เห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า และประโยชน์ส่วนตัว จึงพร้อมใจกันสนับสนุนการเข้าร่วมรัฐบาลกับระบอบทักษิณ  โดยไม่ฟังเสียงของสมาชิกพรรค และประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำไปมากกว่านี้อีก

พี่น้องประชาชนหลายคนแสดงความเห็นใจ และสงสารนายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลของพรรค ที่ต้องออกมาแสดงท่าทีและจุดยืนส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ ได้ฝากให้กำลังใจท่านชวนมากับผมด้วย มีประชาชนหลายคนเตรียมทำใจ และเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสถาบันทางการเมือง มีระบบพรรคที่เข้มแข็ง มีผู้อาวุโสไม่กี่คน ลงมติโหวตกันก็ไม่ชนะ เพราะมีคณะกรรมการบริหารพรรคและสส.รุ่นใหม่จำนวนมากกว่า เหมือน ‘น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ’

พี่น้องประชาชนชาวสงขลาในหลากหลายพื้นที่ ได้ฝากให้นำความเห็นไปบอกกล่าวกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ว่า ได้มาสอบถามความเห็นจากชาวสงขลาแล้ว เขาไม่เห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ จะเข้าร่วมรัฐบาลกับระบอบทักษิณเลย

'อลงกรณ์' ชี้ข่าวขับ 'ชวน' ไม่จริง ยืนยัน 'ปชป.' ไม่มีวัฒนธรรมขับสมาชิกที่เห็นต่าง

ตามที่นายชวน หลีกภัยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีไม่เห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และอาจจะถูกขับออกจากพรรคประชาธิปัตย์นั้น

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์กล่าววันนี้ว่า ข่าวพรรคประชาธิปัตย์จะขับนายชวน หลีกภัยเพราะไม่เห็นด้วยที่จะไปร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถือเป็นเฟคนิวส์ไม่มีมูลความจริง พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีวัฒนธรรมขับสมาชิกที่เห็นต่าง 

ตนอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มากว่า30ปียังไม่เคยเห็นพรรคขับสมาชิกกรณีมีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน

“ท่านชวนเป็นถึงอดีตหัวหน้าพรรคและเป็นสมาชิกอาวุโสคนหนึ่งของพรรคเช่นเดียวกับท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ท่านเอนก ทับสุวรรณ ท่านเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ท่านไพฑูรย์ แก้วทอง ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ฯลฯ.ทุกท่านยังทำงานให้พรรคและสมาชิกทุกคนให้ความความเคารพทุกท่านตลอดมา อาจมีความคิดต่างกันบ้างในบางเรื่องบางนโยบายรวมทั้งมติการร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมก็เคยมีมาหลายครั้งถือเป็นเรื่องปกติภายในพรรคประชาธิปัตย์แต่เมื่อพรรคมีมติอย่างใดทุกคนก็เคารพและไม่เคยมีการลงโทษหรือขับไล่สมาชิกที่เห็นต่างจากพรรค“

'ศิริโชค โสภา' ยื่นใบลาออก ปิดฉาก 30 ปี คนพรรคประชาธิปัตย์ ทิ้งท้าย!! นักการเมืองต้องมีสัจจะวาจา และอุดมการณ์ที่ต้องรักษา

(29 ส.ค. 67) นายศิริโชค โสภา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งข่าวการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า...

เรียน  พี่น้องประชาชน และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคารพ

กระผมเริ่มชีวิตการเป็นนักการเมือง โดยเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ. 2544 และได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องอีก 4 สมัย  แม้ว่าจะเป็นฝ่ายค้านเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ผมก็ภูมิใจ ที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และได้มีส่วนร่วมกับทีมประชาธิปัตย์ทุกครั้งที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

ผมยังจำบรรยากาศในสมัยแรก ที่ผมเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องลุกขึ้นอภิปราย ไม่ไว้วางใจ เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง กรณี บริษัทโทรคมนาคม แห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร จนได้รับการเลือกจากสื่อมวลชนให้เป็นดาวสภาฯ และผลจากการอภิปรายฯ ในครั้งนั้น ทำให้ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า สองหมื่นล้านบาท

คณะบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ที่ผมต้องขอบคุณ มา ณ ที่นี่ ก็คือ พี่น้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัด พรรคประชาธิปัตย์ทุกท่านที่ช่วยกันต่อสู้ในสภาฯ อย่างเต็มที่ และที่ต้องขอบคุณเป็นพิเศษคือ นายชวน หลีกภัย และนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่คอยสนับสนุน และให้คำปรึกษาผมมาตลอด  และที่ขาดไม่ได้คือ พี่ถาวร เสนเนียม ที่คอยช่วยกัน ดูแลพยานปากสำคัญของผม ที่แม้ตอนหลังพยานผมจะเสียชีวิตก็ตาม 

ผมไม่เคยที่จะลืมบุญคุณ บุคคลคนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ และพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัด สงขลา ที่ให้โอกาสผมในการทำงาน เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี 

ผมไม่เคยคิดว่า วันนี้จะมาถึง เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ที่ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดเสมอว่า ที่นี่คือบ้านเดียวและบ้านหลังสุดท้ายของผม แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน มีอุดมการณ์ ที่ต่างไปจากพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต เป็นอย่างมาก ผมจึงมีความจำใจ ต้องเดินจากไป แม้จะมีความอาลัย อาวรณ์ต่อพรรคมากก็ตาม เพราะผมเชื่อเสมอว่า นักการเมืองต้องมีสัจจะวาจา และอุดมการณ์ที่ต้องรักษา หากปราศจากทั้งสองสิ่งนี้ ก็เป็นได้แค่นักเลือกตั้ง

คืนนี้ทั้งคืน เป็นคืนที่ผมนอนไม่หลับ เพราะเช้านี้แล้ว ที่ผมจำต้องยื่นหนังสือลาออกจากพรรคฯ ที่ผมรักและเทิดทูนที่สุด ทั้งน้ำตา 

แต่ผมก็ยังหวัง แม้จะเป็นความหวังอันน้อยๆ ว่าสักวัน พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมายิ่งใหญ่ อีกครั้ง พร้อมกับอุดมการณ์ที่มั่นคง และเป็นที่พึ่ง ที่หวังของประชาชนได้ แล้วผมจะเฝ้ารอดูครับ 

ขอแสดงความนับถือ 

นาย ศิริโชค โสภา 
อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

'อลงกรณ์' ชี้การเข้าร่วมรัฐบาลผสมข้ามขั้วของพรรคประชาธิปัตย์ คือการยุติ 2 ทศวรรษแห่งความขัดแย้งแตกแยกของประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศโพสต์ข้อความที่น่าสนใจเป็นมุมมองใหม่ทางการเมืองในเฟสบุ๊คส่วนตัววันนี้เกี่ยวกับประเด็นการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์มีข้อความดังต่อไปนี้

“…มติการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์คือกุญแจดอกสุดท้ายที่เปิดอนาคตใหม่ให้กับประเทศ
เพราะเป็นการยุติการต่อสู้ทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่กินเวลายาวนานถึง 20 ปี เป็น 2 ทศวรรษแห่งความขัดแย้งที่ต่อสู้กันทั้งในและนอกสภาฯ.แบ่งแยกประชาชนเป็นฝักฝ่ายนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างเดือนตุลาคมปี 2551-พฤษภาคม 2553 ล้มตายกว่า 100 คนและบาดเจ็บเกือบ 3 พันคนมีการรัฐประหารสูญเสียประชาธิปไตยถึง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557 

นับเป็นบาดแผลความขัดแย้งที่กว้างและลึกที่แม้แต่รัฐบาลในอดีตไม่ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามสร้างความสมานฉันท์ปรองดองก็ไม่ประสบความสำเร็จและไม่มีใครตอบได้ว่าความขัดแย้งแตกแยกดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

จนกระทั่งเมื่อมีการร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (พล.อ.ประยุทธ์) และพรรคพลังประชารัฐ (พล.อ.ประวิตร) ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งถือเป็นกุญแจดอกแรกที่เปิดประตูความร่วมมือข้ามขั้วระหว่าง2ฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้ง ก่อนที่กุญแจดอกสุดท้ายจะเกิดขึ้นเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลผสมข้ามขั้วเมื่อวานนี้ เป็นการสิ้นสุดอดีตที่ขมขื่นและเริ่มต้นวันใหม่ของประเทศ

ผมได้แต่หวังว่า ทุกฝ่ายจะเรียนรู้ความผิดพลาดทางการเมืองในอดีตอย่าให้ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยเดิม การยึดมั่นระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขการยึดถือหลักนิติรัฐนิติธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและการยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งคือแนวทางที่ประเทศและการเมืองไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและมีอนาคต

'อ.อุ๋ย-ปชป.' เตือน!! นักการเมืองแก้ รธน. ปมจริยธรรม มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกถึง 10 ปี

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญปมจริยธรรมนักการเมือง ว่า...

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 บัญญัติว่า ‘ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท’ ซึ่งมาตรา 4 แห่ง พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง พ.ศ. 2561 กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น สส. รัฐมนตรี หรือ สว. ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ โดยเฉพาะ สส. มีหน้าที่ในการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายเพื่อบริหารและแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น การที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางส่วน มีดำริที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระดับมาตรฐานทางจริยธรรมลง ทำให้ตนเองและพวกพ้องถูกดำเนินคดีทางจริยธรรมได้ยากขึ้น จึงถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการแก้ไขกฎหมาย ทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นการกระทำอันเป็นผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interest) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม เพื่อลดมาตรฐานจริยธรรมลง ยังส่งผลให้ประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะได้มีนักการเมืองที่มีจริยธรรมมาเป็นตัวแทนของตน ทำให้ประชาชนเสียหาย จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 157 อีกสถานหนึ่ง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี หรือปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ยังกำหนดให้สมาชิกต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด และห้ามกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม การที่นักการเมืองจะทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องจึงถือว่าละเมิดจริยธรรมข้อนี้เช่นกัน 

ผมจึงอยากเตือนนักการเมืองทั้งหลาย ว่าคิดให้ดีว่าประชาชนเลือกท่านมาทำอะไรกันแน่ ด้วยความปรารถนาดี  

พรรคประชาธิปัตย์ร่วมรำลึก 51 ปี 14 ตุลาฯ. เชิดชู “จิตวิญญาณ 14 ตุลาฯ.” คือคบเพลิงแห่งประชาธิปไตย“

เมื่อวันที่ (14 ต.ค. 67) พรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมวางพวงมาลารำลึก“ 51 ปี 14 ตุลาฯ. ” ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานคณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพร้อมด้วย
นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้วางพวงมาลาในนามพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีถ้อยแถลงว่า ”14 ตุลา วันประชาธิปไตย ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ นิสิต นักศึกษา และพี่น้องประชาชนได้รวมพลังกันต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการในขณะนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนและถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประชาธิปไตยและการมีสิทธิเสรีภาพในมิติต่างๆรวมทั้งการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม พรรคประชาธิปัตย์ขอร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ และเชื่อมั่นว่า จิตวิญญาณ 14 ตุลาฯ.จะเป็นคบเพลิงแห่งประชาธิปไตยที่นำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาการเมืองไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป“

'เฉลิมชัย-ประชาธิปัตย์' ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำยากจนจัดเวทีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเดโมแครต ฟอรั่ม 'ขจัดการผูกขาด: ลดเหลื่อมล้ำแก้จน'

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าววันนี้ว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการผูกขาด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชน ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์จึงได้จัดงานเสวนา เดโมแครต ฟอรั่ม (Democrat Forum) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ 'ขจัดการผูกขาด: ปฏิรูปเศรษฐกิจลดเหลื่อมล้ำแก้จน' ในวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคมนี้ เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ 

การจัดเสวนาครั้งนี้จึงมุ่งนำเสนอแนวทางในการขจัดการผูกขาดเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และการพัฒนานโยบายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเอง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยมี กำหนดการ ในการจัดงาน ดังนี้
8.30 - 9.00 ลงทะเบียน
9.00 - 9.30 พิธีเปิด 

กล่าวรายงานโดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
พิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
9.30 - 11.15 เสวนา 'ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ: ต้นเหตุความเหลื่อมล้ำและยากจน' โดยวิทยากร
1.ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
2.ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ อดีตรองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
3.นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่ 1และ
4.รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ข้อสังเกตต่อความเห็น : เพื่อส่งต่อสังคมการเมือง ปัจจุบัน
11.00 - 11.45 เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น
11.45 - 12.00 สรุปการเสวนา
โดยดร.เจนจิรา รัตนเพียร โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่พิธีกร

สำหรับผู้สนใจร่วมงานเดโมแครต ฟอรั่ม สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่: https://form.democrat.or.th/democrat-forum3 (50 ท่านแรกที่ลงทะเบียนจะได้รับต้นกล้าไม้คนละ 2 ต้นเพื่อช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อน ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
ทั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live พรรคประชาธิปัตย์ หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร: 065 714 6725

“ปชป.” สนับสนุนสันนิบาตสหกรณ์ฯ.เดินหน้าโครงการ“สภาสหกรณ์แห่งชาติ”ยกระดับอัพเกรดขบวนการสหกรณ์ของไทย

(9 ธ.ค. 67) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่ 1ได้รับมอบจากดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เข้าร่วมการประชุมและบรรยายตามคำเชิญของนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.)ในวาระการประชุมของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเรื่องโครงการจัดตั้งสภาสหกรณ์แห่งชาติ“ที่โรงแรมเอเซียแอร์พอร์ตวันนี้โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์

มีนโยบายสนับสนุนขบวนการสหกรณ์และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยเฉพาะในช่วงที่เป็นแกนนำรัฐบาลได้ปรับปรุงพรบ.สหกรณ์ปี2511ที่ใช้มา31ปีให้ทันสมัยในปี2542 ดังนั้นเมื่อสันนิบาตสหกรณ์ฯ.ริเริ่มโครงการจัดตั้งสภาสหกรณ์แห่งชาติจึงพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ “ขบวนการสหกรณ์ของไทยเกิดขึ้นมากว่า100ปีตั้งแต่ปี2458จนเติบใหญ่มีสมาชิกกว่า10ล้านคนในสหกรณ์7ประเภทจำนวนกว่า6,000สหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจใหญ่ที่สุดมีทรัพย์สินเงินทุนหมุนเวียนและธุรกิจไม่น้อยกว่า5ล้านล้านบาทมากกว่างบประมาณแผ่นดินเกือบ2เท่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอดมา 

ดังนั้นเมื่อสันนิบาตสหกรณ์ฯ.ริเริ่มโครงการจัดตั้งสภาสหกรณ์แห่งชาติจึงพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และพร้อมร่วมคิดร่วมจัดทำร่างพระราชบัญญัติ“สภาสหกรณ์แห่งชาติ” เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตได้ตราพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติพ.ศ. 2553เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของประเทศ“ ทั้งนี้นายอลงกรณ์ได้เสนอ2แนวทางในการจัดตั้งสภาสหกรณ์แห่งชาติ เช่น การตรากฎหมายใหม่หรือปรับปรุงกฎหมายเดิมยกฐานะสันนิบาตสหกรณ์ฯ.เป็นสภาสหกรณ์ฯ.หรือเป็นสภาสหกรณ์และเกษตรกรแห่งชาติภายใต้การปรับปรุงกฎหมายสภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งต้องหารือกับคณะกรรมการสภาเกษตรกรแห่งชาติว่าขัดข้องหรือไม่อย่างไรเพื่อให้ขบวนการสหกรณ์แข็งแกร่งและเป็นเอกภาพ นอกจากนั้นกฎหมายการจัดตั้งจะต้องตอบโจทย์การบริหารสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ต้นทุนเงินสหกรณ์และดอกเบี้ย ความสามารถในการประกอบธุรกิจแบบอเนกประสงค์ทันต่อยุคดิจิตอล รวมทั้งการให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่กำกับดูแลและสนับสนุนในรูปแบบRegulatorในสาขากิจการประกันภัย สาขากิจการสื่อสารโทรคมนาคม สาขากิจการไฟฟ้าฯลฯแทนกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการภายใต้คณะกรรมการกำกับกิจการที่เป็นองค์อิสระ.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top