Tuesday, 20 May 2025
พรรคประชาธิปัตย์

‘ชาญชัย’ ฟาดใส่ ‘ภูมิธรรม’ คิดสั้นเอาข้าวเก่า 10 ปี ส่งขายต่างประเทศ ชี้!! เป็น ‘รมว.พาณิชย์’ ไม่ใช่ ‘ทนายแก้ต่างให้ยิ่งลักษณ์’ เรื่องจำนำข้าว

(11 พ.ค.67) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีข้าวหอมมะลิเก่าค้างโกดังโครงการรับจำนำข้าว 10 ปี รวม 1.5 หมื่นตันที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแนวคิดที่จะนำเข้าสู่ระบบข้าวเพื่อส่งออกไปขายให้แอฟริกานั้นว่า ข้าวที่ค้างโกดัง 10 ปี ในยุครัฐบาลนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นี้เป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นอย่าเอาข้าวล็อตสุดท้ายจำนวน 1.5 หมื่นตันนี้ มาทำเล่นให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรชาวนา เพราะจะทำให้ต่างประเทศที่จะซื้อข้าวจากไทย ที่เราส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งหรือ อันดับสองของโลกต้องพลอยจะเสียชื่อของประเทศไทยไปด้วยว่า เราเอาข้าวเสื่อมคุณภาพเข้าระบบข้าว มาขายแล้วไปผสมให้เขา จะทำให้ต่างประเทศเขาสงสัยและเอาไปพูดต่อให้เสียหาย นี่เป็นเรื่องของการตลาดและความน่าเชื่อถือของข้าวไทย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าอยากจะช่วยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอให้ยึดความจริง อย่าไปเอาเรื่องไม่จริงไปหลอกลวงให้คนอื่นสับสนวุ่นวาย และมันจะกระทบต่อภาพรวมของวงการค้าข้าวทั้งระดับประเทศ ระดับโลก

ท่านจะซื้อข้าวนี้ไปเอง จะซื้อไปเก็บ หรือจะซื้อไปทำอะไรก็ไปทำเถอะ แต่อย่าเอามาเล่นเป็นการเมือง ผมขอฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่าคิดสั้น ให้คิดยาว คุณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทย ไม่ใช่ทนายแก้ต่างให้คุณยิ่งลักษณ์ในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ศาลท่านตัดสินแล้วว่าพวกคุณทำผิดกันและก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งมีการใช้หนี้ไปจำนวนมากแล้วโดยใช้เงินภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดใช้หนี้เสียจำนำข้าว ไม่ใช่เอาเงินของคุณยิ่งลักษณ์ หรือของตระกูลชินวัตรมาชดใช้ หรือเอาเงินของพรรคเพื่อไทยมาใช้หนี้แม้แต่บาทเดียว เพราะฉะนั้น ผมขอฝากชัด ๆ ว่า บ้านเมืองนี้ไม่ใช่ของเล่น เราเป็นนักการเมืองเข้ามาอาสารับใช้ประชาชน ไม่ใช่มานั่งแก้ตัว หรือหาเรื่องค้าบ้านค้าเมือง หาผลประโยชน์กันต่อ ที่หาเรื่องถกเถียงในเรื่องที่ศาลฎีกาตัดสินไปแล้ว ถ้าคุณไม่ยอมรับว่า เรื่องที่ศาลตัดสินไปแล้วว่าถูกต้อง คุณก็กลับไปฟ้องว่า ใครเป็นผู้ที่ทำผิด

และถ้าเกิดคุณสงสัยว่าข้าวที่อยู่ในโครงการนี้ในอดีตที่ผ่านมาสมัย คสช.ใครไปทำผิด ผมแนะนำว่า คุณมีอำนาจ คุณไปจัดการสอบสวนและดำเนินคดีกับคนนั้น ถ้าใครทำผิดก็เอาไปจัดการ เอาเข้าคุกไปและไปยึดทรัพย์เลย ผมท้าให้พวกคุณไปทำหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนประชาชน ผมจะขอบคุณด้วยซ้ำ ถ้าสามารถจับได้ว่า ใครที่ทำผิด จะมียศนายพลใหญ่ขนาดไหน ก็ไปจัดการตามกฎหมายเอา ถ้าแน่จริงขอฝากไปถึงนายทักษิณ และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และฝากถึงนายภูมิธรรม มือขวาของนายทักษิณด้วยว่า ถ้าแน่จริง ไปทำเลยถ้าไม่ทำก็แสดงว่า ไม่แน่จริง คุณกำลังเอาเรื่องนี้มาเป็นเกมการเมือง เพื่อจะช่วยเหลือน.ส.ยิ่งลักษณ์ตามที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์กันหรือไม่ สังคมกำลังติดตาม อย่ามาทำลายเกษตรกรชาวนาไทยด้วยวิธีนี้แค่ข้าว 1.5 หมื่นตัน มันเป็นเศษเสี้ยวของความเสียหายที่พวกคุณทำอะไรกันไว้ในอดีต ขอให้ยุติเรื่องพวกนี้และไปทำเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองจะดีกว่า นายชาญชัย กล่าว

‘สรรเพชญ’ ห่วง ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ กระทบศก.ภาคใต้ วอน!! รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน

(27 พ.ค. 67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาให้ความเห็น หลังชาวสวนปาล์มประสบปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ โดยกล่าวว่า “ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ เพราะประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2565 ก็มีสัญญาณเตือนจากนักวิชาการมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลให้เกิดภัยแล้ง หรือกรณีที่อินโดนีเซีย ได้ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ความนิยมในการใช้รถอีวีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้ความต้องการปาล์มน้ำมันในตลาดลดน้อยลง 

ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่า สินค้าที่น่าเป็นห่วง คือ “ปาล์มน้ำมัน” แต่ด้วยภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้กำกับดูแลด้านนี้โดยตรงในรัฐบาลที่แล้ว ทำให้ผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้ และส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันเป็นที่น่าพอใจ 

เมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาอยู่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชาวสวนปาล์มก็มีความหวังว่า รัฐบาลจะสามารถดำเนินงานเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้นได้ ประกอบกับเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ช่วงก่อนเลือกตั้งประธาน สส. และประธานคณะกรรมการนโยบายด้านการเกษตรของพรรคเพื่อไทยก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้น แก้ไขปัญหาเรื่องปาล์มน้ำมัน เนื่องจากอ้างว่าปาล์มน้ำมันปิดรับการรับซื้อเพราะปาล์มล้นตลาดและทำให้ราคาปาล์มน้ำมันในประเทศตกต่ำสวนทางตลาดโลก ในกรณีนี้น่าจะเป็นข้อมูลให้รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญและเตรียมการรับมือไว้เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาล 

ซึ่งนายสรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะนโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ระบุเรื่องเพิ่มราคาปาล์มน้ำมันให้ได้ 3 เท่าเหมือนสินค้าเกษตรอื่น ๆ จึงส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันตกลงมาดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และกลายเป็นว่ารัฐบาลเองทำให้ราคาปาล์มน้ำมันสวนทางตลาดโลกและตกต่ำกว่ารัฐบาลในสมัยที่แล้ว  

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่นายภูมิธรรม ได้ออกมาสั่งการให้กรมการค้าภายใน ลงพื้นที่สำรวจเพื่อติดตามราคาปาล์มน้ำมันว่า ตนคาดหวังอยากให้นายภูมิธรรม ได้ให้ความสนใจกับพื้นที่ภาคใต้มากกว่านี้ เหมือนความพยายามที่จะขายข้าวเก่า 10 ปีดังที่ปรากฏในข่าวปัจจุบัน เพราะปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ และหวังให้นายภูมิธรรม แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงให้จบไปแค่ตอนนี้ แต่คาดหวังให้เกิดความยั่งยืนและไม่เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกในอนาคต

‘เทพไท’ เผย ‘ชวน’ ขออยู่เฝ้าพรรค ขอเป็นหลักให้ปชป. ยัน!! ขอทำหน้าที่ ‘สส.’ อย่างเต็มที่ เพื่อพี่น้องประชาชน

(2 มิ.ย.67) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.เวลา15.00 น.นายชวน หลีกภัย สส. บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แวะมาเยี่ยมตนที่บ้านพักเขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เพราะท่านรู้ว่าตนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ยังอยู่ในระหว่างการพักโทษและติดกำไลอีเอ็มอยู่ การเดินทางออกนอกเขตควบคุม จะต้องขออนุญาตทุกครั้ง เพราะไม่ใช่นักโทษเทวดา ที่มีอภิสิทธิ์ชนเหนือนักโทษคนอื่นๆ ท่านชวนได้ให้ความเมตตาต่อตนมาก ตอนตนอยู่ในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ท่านก็กรุณาไปเยี่ยมถึง2ครั้ง เมื่อออกจากเรือนจำมาพักโทษที่บ้าน ท่านก็ยังอุตส่าห์แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจตนอีก ต้องกราบขอบพระคุณท่านมาก

นายเทพไท กล่าว ตนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์การเมืองในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ ที่กระแสนิยมยังไม่กระเตื้องขึ้นเลย เมื่อดูจากผลโพลของสำนักต่างๆ ปรากฎว่าความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ ยังอยู่ในระดับ 3% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ถ้าเปรียบเทียบกับโอกาสการเมืองในขณะนี้ในวันที่มวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ผิดหวังจากพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเดิม และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ก็ได้วางมือทางการเมืองไปแล้ว คะแนนนิยมของมวลชนกลุ่มนี้ ก็น่าจะกลับมาพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม แต่กลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมาย คนที่ผิดหวังกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม กลับไหลไปที่พรรคก้าวไกลมากกว่า 

“ผมจึงถามนายชวนว่า จะทำอย่างไรต่อไปกับบทบาทของท่านในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งท่านก็ยืนยันว่า ยังทำหน้าที่ในฐานะสส. คนหนึ่ง จะตั้งกระทู้ถาม อภิปรายตรวจสอบรัฐบาล เป็นปากเสียงให้กับประชาชน ไม่ว่า สส. ส่วนใหญ่หรือกรรมการของพรรคประชาธิปัตย์ จะวางบทบาทของพรรคอย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรค แต่ส่วนตัวท่านก็ยังทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างเข้มแข็งต่อไป จะไม่ลาออกจากพรรค และจะไม่ทิ้งพรรคอย่างเด็ดขาด ท่านยังแวะเยี่ยมพี่น้องประชาชนตลอดเส้นทาง ทุกครั้งที่เดินทางกลับจังหวัดตรังโดยรถยนต์ ผมได้ฝากความหวังและให้กำลังใจท่าน ขอให้ท่านได้เป็นเสาหลักของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ไม่ว่าจะเหลือใครสักกี่คนก็ตาม ขอให้ท่านรักษาพรรคไว้ เพื่อให้คนที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ได้กลับไปฟื้นฟูพรรคอีกครั้งหนึ่ง” นายเทพไท กล่าวทิ้งท้าย

'อลงกรณ์' ชี้ ประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะอับจนทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลไร้แผนรับมือ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์อดีตรัฐมนตรีและส.ส.6สมัยโพสต์ในเฟสบุ๊ควันนี้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศโดยชี้ว่า “ประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะอับจนทางเศรษฐกิจเพราะรัฐบาลไม่มีแผนรับมือที่ชัดเจนไม่มีแผนแม่บทในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจรวมทั้งแผนปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ทั้งที่รัฐบาลทำงานมาเกือบปี ล่าสุดเพิ่งเรียกประชุม“ครม.เศรษฐกิจ”

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมาแต่ก็ไม่มีแผนหรือมาตรการใดๆออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แม้จะมีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังทรุดหนักมาหลายเดือนแล้วเช่นตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้เติบโตเพียง 1.5 %ต่ำที่สุดในอาเซียนและต่ำกว่าปี2566ที่ขยายตัว 1.9 %

ในขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)น้อยกว่าอินโดนีเซีย7เท่า มาเลเซีย6เท่าและเวียดนามกว่า2เท่าโดยปี 2566 เอฟดีไอ.ไหลเข้าอินโดนีเซีย 21,701 ล้านดอลลาร์, มาเลเซีย 18,500 ล้านดอลลาร์, เวียดนาม 8,255 ล้านดอลลาร์ และไทย 2,969 ล้านดอลลาร์ 

เมื่อไม่มีการลงทุนใหม่ๆก็ไม่มีการจ้างงานเพียงพอต่อลูกหลานที่จบออกมาในแต่ละปี ส่วนมูลค่าการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สร้างรายได้หลักของประเทศก็โดนเวียดนามและมาเลเซียแซงหน้าไปแล้วโดยการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 94,274 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่เวียดนามมีมูลค่า 123,928 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซียมีมูลค่า 100,836 ล้านดอลลาร์สะท้อนถึงภาวะถดถอยของขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย

นอกจากนี้เรายังมีปัญหาโคลนติดล้อ นั่นคือ“หนี้สาธารณะ” ณ 31 มี.ค. 2567 มีจํานวน
11,474,153 ล้านบาท คิดเป็น 63.67% ของ GDP โดยเป็นหนี้ของรัฐบาลกว่า 10,087,188 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลยังมีแผนก่อหนี้เพิ่มขึ้นกว่าล้านล้านบาทในปีงบประมาณ2567-2568แต่ไม่มีแผนสร้างรายได้ที่จับต้องได้

“ประเทศต้องการการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมๆกันโดยมีแผนและกลไกที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียวไม่ได้ 

ผมเคยเสนอนายกรัฐมนตรีให้หยุดหรือลดการเดินสายทั้งในและต่างประเทศลงบ้างแล้วหันมาจัดทำแผนแม่บทในการกอบกู้และปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเร่งด่วนให้แล้วเสร็จแต่ก็ไม่ฟังกันจนเศรษฐกิจเริ่มชะงักงัน ถ้ารัฐบาลยังทำงานแบบที่ผ่านมา คนที่เดือดร้อนลำบากที่สุดคือประชาชนและประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการแข่งขันระดับโลกไม่สามารถก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่ติดหล่มมากว่า20ปี“

‘สรรเพชญ’ ซัด ‘รัฐบาล’ กู้เงินสูงสุด เป็นประวัติการณ์  หวั่น!! ก่อหนี้ก้อนใหญ่ในอนาคต สวนทางนโยบาย ที่เคยหาเสียงไว้

(16 มิ.ย.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่กำลังจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2567 นี้ โดยนายสรรเพชญ กล่าวว่า แม้ว่าเอกสารร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ซึ่งมีจำนวนกว่า 10,000 หน้า จะส่งมาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ศึกษาทำความเข้าใจในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ เพราะบรรดาเอกสารต่าง ๆ พึ่งมาถึงรัฐสภาและให้สมาชิกฯ ไปรับเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาซึ่งจะทำให้ทุกคนมีเวลาในการพิจารณาค่อนข้างน้อย แต่ตนมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้น ๆ เพราะเกี่ยวเนื่องกับประชาชนโดยตรง อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาลในการทำหน้าที่ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ในรัฐสภา 

จากการที่ตนได้ศึกษาดูเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 แล้ว เห็นว่างบประมาณดังกล่าวไม่ค่อยแตกต่างอะไรกับงบประมาณในปีที่ผ่าน ๆ มามากนัก ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณแทบจะ 100% สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2568 ที่มีการตั้งวงเงินกว่า 3.7 ล้านล้านบาท คือเรื่องของการกู้ขาดดุลที่มีการกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณถึง 865,700 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเกือบเต็มเพดานกรอบวงเงินที่รัฐบาลสามารถกู้ได้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และเมื่อพิจารณาที่ประมาณการสถานะการคลังระยะปานกลางรัฐบาลมีการประมาณการว่าในปี 2568 จะมีรายรับประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท และปี 2569 จะมีรายรับประมาณ 3 ล้านล้านบาท สิ่งที่น่ากังวลคือรัฐบาลจะมีรายได้ตามเป้าจริงหรือไม่ เพราะในปีที่ผ่าน ๆ มามักจะมีรายได้ไม่ตามเป้าแล้วจะทำให้รัฐบาลต้องกู้เพื่อชดเชยเงินคงคลังสูงขึ้นไปอีก ยิ่งกู้มากรัฐบาลก็เสี่ยงต่อการกู้ชนเพดานอันจะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจากการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจและไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ยังทำงบประมาณแบบเดิม ๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งสวนทางกับนโยบายที่จะให้คนไทยมีกิน มีใช้ ที่โฆษณาตอนหาเสียง 

ในงบประมาณปี 2568 นี้สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนคือรัฐบาลมีการตั้งค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนกว่า 152,700 ล้านบาทในงบกลาง เพื่อทำนโยบาย Digital Wallet ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งตนไม่ได้ติดใจอะไรหากรัฐบาลต้องการที่จะทำนโยบายนี้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ถนัดในการทำนโยบายโปรยเงินแบบ Helicopter Money ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะหาเงินใหม่จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าในประเทศเพื่อทำนโยบาย แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีการแบบทางลัดโดยการกู้เงินเพื่อทำนโยบายดังกล่าว เสมือนเป็นการสูบเลือดของประชาชนดังที่ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นอธิบายง่ายๆ มันก็คือ หมอบอกว่าคนไข้ว่าต้องการเลือดใหม่ แต่แทนที่จะหาเลือดใหม่มาอัดฉีดให้กับคนไข้ แต่สิ่งที่หมอทำคือ ‘สูบเลือดออกจากคนไข้ แล้วนำมาฉีดคืนให้กับคนไข้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง’ 

นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องให้ความกระจ่างกับประชาชนคือ เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ทสามารถซื้อโทรศัพท์ได้หรือไม่ เพราะถ้าหากซื้อได้ก็อาจเป็นการเอื้อนายทุนค่ายมือถือรายใหญ่ที่ขายเครื่องพร้อมแพคเกจให้กับประชาชนโดยใช้เงินจากโครงการของรัฐบาล  

“งบประมาณปี 2568 นี้ สิ่งที่รัฐบาลแสดงความสามารถให้เห็นได้ชัดเจนคือความสามารถในการกู้เงินและไปล้วงเงินจากที่อื่น ๆ มาได้ดีกว่าการหาเงินใหม่ ๆ เข้ามาในระบบ ซึ่งจนวันนี้แล้วรัฐบาลยังตอบไม่ได้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาใช้คืนหรือชดเชยคืนเงินที่เอามาทำนโยบาย Digital Wallet นี้เลย” นายสรรเพชญกล่าวในตอนท้าย

‘สรรเพชญ’ ถาม ‘รัฐบาล’ ผู้กล้าหาญปราบยางเถื่อนหายไปไหน?? เหตุใดราคายางลดฮวบ ลั่น!! ถนัดเคลมผลงานไปเรื่อย โกหกปชช.

(13 ก.ค.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นกรณีสถานการณ์ราคายางพาราในประเทศที่ลดฮวบ ซึ่งในพื้นที่ท้องถิ่นมีการรับซื้อจริงเหลือประมาณ 57 บาท/กิโลกรัมและน้ำยางลดเหลือ 61 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่ควรจะถึงระดับ 100 บาท/กิโลกรัม โดยในเรื่องนี้นายสรรเพชญกล่าวว่า หากย้อนกลับไปช่วงที่มีการอภิปรายในรัฐสภา ท่านอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย และท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องราคายางไว้ด้วยความเป็นห่วงว่าราคายางจะลดลง เพราะในขณะนั้นราคายางที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากเป็นไปตามกลไกของตลาดเพราะอยู่ในช่วงฤดูยางพาราผลัดเปลี่ยนใบ ซึ่งชาวสวนยางจะไม่กรีดยาง น้ำยางพาราจึงมีน้อยราคาจึงสูงขึ้น ไม่ใช่ผลงานของรัฐบาลตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง 

แต่รัฐบาลโดยท่านนายกเศรษฐา และท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ ร้อยเอกธรรมนัส ก็ต่างพูดกันอย่างเสียงแข็งว่าเป็นเพราะผลงานของรัฐบาลที่เดินหน้าปราบยางเถื่อนทำให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 10 ปี เมื่อมาพิจารณาราคายาง ณ ปัจจุบัน เหตุใดราคายางจึงลดลงเป็นอย่างมากหรือเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้ทำงานจริงจังในเรื่องของการปราบยางเถื่อนแล้วราคาจึงลดฮวบลงแล้วส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวสวนยางเช่นนี้ นายสรรเพชญจึงได้ขอให้รัฐบาลเร่งทำงานให้สมกับที่ได้คุยโวไว้ในสภาว่ารัฐบาลนี้ทำผลงานเรื่องราคายางไว้เป็นประวัติศาสตร์ เพราะหากรัฐบาลนิ่งเฉยหรือไม่ทำอะไร ตนเป็นกังวลว่าจะเป็นการเคลมผลงานโกหกประชาชนไปวัน ๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังขอให้รัฐบาลได้ฟังเสียงของสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยที่ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างเร่งด่วนในการช่วยเหลือชาวสวนยางต่อไป

‘จุรินทร์’ เหน็บ!! ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แค่เงินยาไส้ชั่วคราว หากพ้นช่วงกู้มาแจก ปัญหาปากท้องก็ยังวนมาเหมือนเดิม

จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้อภิปรายว่า... 

แนวความคิดทางเศรษฐกิจ อาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดา อ่านหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์เมื่ออ่านพร้อมกัน มาวิเคราะห์ ก็มีข้อถกเถียงกันเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ขณะนี้ รัฐบาลยืนยันถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาในช่วง 10 ปีก่อนที่อัตราการเจริญเติบโตตกต่ำ จนขณะนี้เจริญเติบโตในระดับต่ำสุดของภูมิภาค จึงยืนยันถึงความจำเป็นของการมีเม็ดเงินเติมลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนตัวเลขที่คณะกรรมการหลายท่านอ้างขึ้นมา เป็นตัวเลขที่รัฐบาลตระหนัก และดูอย่างใกล้ชิด สัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้รัฐ ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่มีตัวเลขใดที่สุ่มเสี่ยงจะทะลุเกินจะผิดพลาดไปตามกลไกที่เราตรากฎหมายกำกับไว้ ซึ่งก็รับทราบ เพราะมีหน่วยงานรัฐมาชี้แจงในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ว่าขณะนี้ การประมาณการไปข้างหน้าอีกหลายปี ไม่มีกรอบว่าตัวเลขใดจะเป็นปัญหา รัฐบาลยืนยันว่า ทำไปด้วยความรอบคอบ และจะไม่ให้มีปัญหาวิกฤติใด ๆ เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนของโครงการนี้คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้เราโตต่ำ โดยในปีนี้ด้วยการผลักดันตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งการเปิดฟรีวีซ่า เสริมความง่ายในการดำเนินธุรกิจ ตัวเลขในไตรมาส 2 โตจากไตรมาส 1 ขึ้นมา ด้วยการเร่งเครื่องของรัฐบาล และประกอบกับนโยบายที่เติมลงไป และการเติมเงิน 10,000 บาท เชื่อมั่นว่า จะดึงการเจริญเติบโตไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมคือ 4-5% ให้ได้ หากทำได้เช่นนั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นตัวหารของหนี้ต่าง ๆ ซึ่งหากเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐ ตัวเลขที่กังวลว่าจะไปเกิน หรือไปปริ่ม ก็จะสามารถแก้เรื่องนี้ได้

ประเด็นแรก การแสดงความห่วงใยด้านการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เกือบทุกท่านใช้คำว่าสุ่มเสี่ยง ซึ่งใจความหนึ่ง ก็หมายความว่ายังอยู่ในกรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ โดยหน่วยงานได้มาชี้แจงในทุกประเด็นแล้ว ซึ่งประเด็นที่มีการอภิปรายมากที่สุดคือการใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ที่อาจมีการเบิกจ่ายในไตรมาส 4 จะสอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่

ตามมาตรา 21 ของกรอบวินัยการเงินการคลัง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้เงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายปีถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงิน

พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมาตรา 4 กำหนดคำว่าหนี้ คือ ข้อผูกพันที่จะต้องจ่าย อาจจะต้องจ่ายเป็นเงิน สิ่งของ หรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นข้อผูกพันที่เกิดจากการกู้ยืม ค้ำประกัน การซื้อ หรือการจ้าง โดยใช้เครดิต หรือการอื่นใด ดังนั้น การก่อหนี้ผูกพันจึงไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะกรณีมีข้อผูกพันที่ต้องจ่ายเป็นที่แน่นอนแล้วเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงข้อผูกพันที่อาจทำให้ต้องจ่ายด้วย ซึ่งการดำเนินการโครงการของรัฐ อาจมีการทำสัญญากับประชาชนโดยตรง แต่ดำเนินการผ่านแผนงาน หรือโครงการประกอบกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมาตรา 40 กำหนดให้การจ่ายเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันของหน่วยงบประมาณ ต้องเป็นไปตามแผนการบริหารงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

ดังนั้น การที่รัฐบาลทำโครงการนี้ ให้ประชาชนลงทะเบียน โดยมีการยืนยันตัวตนของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นข้อผูกพันที่ต้องจ่ายตามกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของหนี้ โดยในการชี้แจง ได้บอกชัดเจนในคณะกรรมาธิการว่าเป็นการเสนอ และสนอง เมื่อประชาชนกดปุ่มขอใช้สิทธิ์ ก็เสนอกับรัฐ เมื่อรัฐยืนยันสิทธิ์ คือการสนองตอบตามข้อสัญญา ก็มีนิติกรรมร่วมกันระหว่างประชาชนกับรัฐ เช่นเดียวกับโครงการในอดีตของรัฐบาล

ล่าสุด (1 ส.ค. 67) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนสิงหาคมว่า อาจจะเป็นเดือนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ในหลายกรณี เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่ประดังกันเข้ามาในช่วงเดือนสิงหาคมพอดี แต่ถ้าดูให้ลึกจะเห็นว่า แต่ละสถานการณ์มันมีที่มาที่ไปหรือเกิดแต่เหตุ ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจงใจสร้างขึ้นมาได้ และหลายเหตุก็มาจากการกระทำของรัฐบาลเอง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า แต่ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร มันก็มีทางออกของมัน ในฐานะของผู้ที่อยู่กับการเมืองจึงไม่ได้รู้สึกห่วงใยอะไรเป็นพิเศษ แต่ที่เห็นว่าน่าห่วงเป็นอย่างยิ่งคือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของคนรากหญ้าไปถึงคนชั้นกลาง ที่กำลังประสบกับภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้มากขึ้นทุกวัน ทั้งภาวะค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน ที่มีรายได้มาเท่าไหร่ต้องใช้หนี้ 90 กว่า% จนคนไทยต้องจมปลักอยู่กับภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ธุรกิจจีนเข้ามากินรวบกิจการคนไทย ธุรกิจฐานรากไทยเข้าคิวปิดกิจการ เป็นต้น

“ที่สำคัญจนถึงวันนี้ยังไม่มีแสงสว่างใด ๆ จากปลายอุโมงค์ให้เห็น นอกจาก ‘เงินยาไส้ชั่วคราว’ ก้อนเดียวคือดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเมื่อพ้นจากดิจิทัลวอลเล็ตหรือเงินกู้มาแจกแล้ว ยังมองไม่เห็นว่าประชาชนจะมีอะไรหลงเหลือให้หวังได้อีก” นายจุรินทร์ กล่าว

‘สรรเพชร’ ฟาดรัฐบาล ดึง ‘งบเบิกจ่าย’ ล่าช้า รั้งไว้ ทำนโยบายแจกเงิน จี้!! ต้องตอบเรื่องนี้ให้กระจ่าง มิใช่เพียงตั้งกรรมการ เพื่อลบข้อครหา

(4 ส.ค. 67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร แสดงถึงความห่วงใยในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีความล่าช้า 

นายสรรเพชญ กล่าวว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2567 นี้ ตนมีความเห็นว่า ไม่ตรงตามเป้าที่ควรจะเป็นเนื่องจากภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 โดยกรมบัญชีกลางระบุว่า ในวงเงินงบประมาณทั้งหมดกว่า 3.48 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 2.62 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.50 ในส่วนของรายจ่ายประจำ วงเงิน 2.75 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายไป 2.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.19 ซึ่งการเบิกจ่ายงบประจำ ตนมีความเห็นว่า มีความเหมาะสม เพราะเหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเศษ คือ ในสิ้นเดือนกันยายน จะปิดปีงบประมาณ 2567 สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องของการเบิกจ่ายงบลงทุน ในวงเงิน 7.2 แสนล้านบาท แต่กลับมีการเบิกจ่ายเพียง 3 แสนกว่าล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.36 โดยประมาณ ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีงบประมาณ 2566 มีการเบิกจ่ายร้อยละ 60 แสดงว่าลดลงจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 18 อีกทั้งยังเป็นที่น่าสงสัยในสังคมว่า รัฐบาลพยายามดึงการเบิกจ่ายให้ล่าช้า เพราะจะนำงบประมาณที่เหลือจ่ายจากปี 2567 มาใช้จ่ายในโครงการแจกเงินผ่าน DIGITAL WALLET โดยในเรื่องนี้รัฐบาลต้องตอบคำถามกับประชาชนให้กระจ่าง แม้ว่าจะมีการตั้งกรรมการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่าย แต่การทำงานยังไม่มีความคืบหน้า เกรงว่าจะเป็นเพียงการตั้งกรรมการเพื่อลบข้อครหาในเรื่องนี้มากกว่า ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ คือ การให้มีการเบิกจ่ายเป็นปกติและอย่ารั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้งบประมาณเข้าสู่ระบบตามที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน/การบริโภคของภาครัฐ ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หนึ่งในทางเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิด Fiscal Multiplier อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ในเดือนหน้าที่จะครบวาระการทำหน้าที่ของรัฐบาลครบ 1 ปี ตนเห็นว่า รัฐบาลยังมีงานที่คั่งค้างอยู่อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องโครงการรับซื้อเรือประมงคืน ซึ่งเรื่องนี้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนมาก และยังรอคอยคำตอบจากรัฐบาลว่า จะช่วยเหลือชาวประมงเมื่อใด รัฐบาลยังคงเพิกเฉยในเรื่องนี้ ไร้วี่แววความคืบหน้า ในขณะนี้รัฐบาลสามารถใช้งบกลางเพื่อช่วยเหลือชาวประมงในเรื่องนี้ได้ ซึ่งหากรัฐบาลสามารถช่วยชาวประมงในเรื่องนี้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงเป็นอย่างมาก เพราะชาวประมงจะสามารถนำเรือที่โดนยึดกว่า 1,007 ลำ ออกไปประกอบอาชีพได้ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากสามารถไปต่อได้จากการหยุดชะงักมาหลายปี แต่สิ่งที่น่าชื่นชมรัฐบาลที่สามารถทำงานได้ดีที่สุด คือ การทำให้ประชาชนคิดถึงรัฐบาลชุดก่อนที่กำลังเป็นกระแสในสื่อออนไลน์ หากแกนนำรัฐบาลไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรถึงจะทำงานสำเร็จได้ตนแนะนำให้ไปถามรัฐมนตรีใน ครม. เพราะส่วนใหญ่มีแต่หน้าเก่า ๆ น่าจะเข้าใจปัญหาดี สามารถให้คำแนะนำเรื่องภารกิจที่คั่งค้างและควรทำให้สำเร็จโดยเร็วได้ 

ปชป.ลั่น พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านเข้มข้นขึ้น หลังก้าวไกลถูกยุบ

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิแกนนำพรรค 11 คนนั้น

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในกรณีดังกล่าววันนี้ว่า กรณีการยุบพรรคก้าวไกลได้ลดทอนความเข้มแข็งของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง

ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเพิ่มบทบาทและความเข้มข้นในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะการคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน และการบริหารนโยบายของรัฐบาล

“ระบบเสียงข้างมากข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเพื่อคานอำนาจกับรัฐบาลที่มีเสียงในสภาฯ.กว่า 300 เสียง ยิ่งฝ่ายค้านเข้มแข็งมากเท่าใดยิ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น

นายอลงกรณ์ยังแสดงความหวังว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลภายใต้สังกัดพรรคใหม่จะสามารถตั้งหลักกลับมาทำหน้าที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้โดยเร็วอีกครั้งหนึ่ง

รวมทั้งการเสนอชื่ิอผู้ที่จะมาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

‘ชัยชนะ’ ยันทำงานฝ่ายค้านร่วม ‘พรรคประชาชน’ ได้เหมือนเดิม ไร้ปัญหา แต่หากยังเดินหน้าแก้ ม.112 ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ชัดเจน!! ไม่สนับสนุน

(10 ส.ค.67) นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกับพรรคประชาชน ว่า การทำงานในฐานะฝ่ายค้านก็ทำร่วมกันตามปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ ซึ่งวันนี้เราก็เห็นแล้วว่าวิกฤติการเมืองมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราจะเห็นว่างูเห่าจากพรรคก้าวไกลไม่มีเลย ทุกคนที่ยังเหลืออยู่ก็ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันในสภาฯ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่มีอะไรแตกต่างเรายังทำงานกันเหมือนเดิม

เมื่อถามว่าการที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน จะทำให้การทำงานร่วมกันมีปัญหาหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวต่อว่า ไม่มีปัญหาอะไรเพราะนายณัฐพงษ์ เราก็ได้ทำงานร่วมกันมา ตั้งแต่การทำงานในวิปฝ่ายค้าน และคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณ ซึ่งนายณัฐพงษ์ก็ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันก็ไม่ได้ติดขัดอะไร และนายณัฐพงษ์ ก็เป็นคนที่ความสามารถ และมีบทบาทในสภาฯอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่า พรรคประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทางพรรคประชาธิปัตย์จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร นายชัยชนะกล่าวว่า เรื่อง มาตรา 112 ถือเป็นสิทธิของพรรคเขา ที่เขาจะเดินหน้าในจุดยืนของเขา แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เรายืนยันอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขกฎหมายถ้าไปกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เราไม่สนับสนุนอยู่แล้ว

“วันนี้ทำงานในพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ใช่ว่าเราเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วจะเห็นชอบด้วยทุกเรื่อง ฉะนั้นเรื่องไหนที่ขัดต่ออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และขัดกับจุดยืนของเรา เราก็ไม่เห็นด้วย เช่นกฎหมายที่เสนอให้เปิดร้านเซ็กส์ทอยให้ถูกกฎหมาย เราก็โหวตไม่เห็นด้วย แต่เรื่องหลักการทำงานขับเคลื่อนฯ ต้องทำร่วมกันอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาอะไร” นายชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top