Tuesday, 20 May 2025
พรรคประชาธิปัตย์

‘นิพนธ์’ แนะ กระจายอำนาจ หนุนท้องถิ่นมีส่วนร่วมทางการเมือง เชื่อมั่น!! “เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง”

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 66 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเวทีเสวนา การติดตามนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง หัวข้อ ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ในการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 ประจำปี พ.ศ.2566 ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อาคาร 2 อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยมีผู้แทนจาก พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคก้าวไกล พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การทำงานของถิ่นในบางภารกิจยังมีอุปสรรคในการบริหาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุน และแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินการภายใต้กติกาที่กำหนดไว้ เพื่อให้งานเดินต่อไปได้และไม่เกิดปัญหาภายหลัง

สำหรับเรื่องจัดเก็บภาษีนั้น ก็ควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีพร้อมทั้งพิจารณาจัดเก็บฐานภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมที่ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้นสามารถนำมาพัฒนาพื้นที่รับผิดชอบ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

ในส่วนความคืบหน้าเรื่องกระจายอำนาจ ในขณะนี้อยู่ในแผนที่ 3 แต่ขณะเดียวกัน แผนที่ 1 และ 2 ก็ยังถ่ายโอนไม่หมด ซึ่งควรพิจารณาว่าภารกิจใดที่ท้องถิ่นทำได้ก็ให้เร่งรัดถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณพร้อมบุคลากรให้ท้องถิ่นได้ดำเนินการ เพราะการถ่ายโอนภารกิจใดไปและดำเนินการไม่ได้อาจจะถูกดึงภารกิจกลับ ซึ่งเรื่องกระจายอำนาจนั้นสามารถทำได้ทันทีโดยนายกรัฐมนตรี ต้องนั่งเป็นประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ กำหนดนโยบายการถ่ายโอนภาระกิจ ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

นายนิพนธ์ยังกล่าวด้วยว่า การป้องกันการทุจริต ปัจจุบันมีการพัฒนาในกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการตรวจรับงานจ้าง รวมถึงการสร้างความโปร่งใสในการบริหารงานท้องถิ่น ดังนั้น จึงไม่ควรนำเรื่องทุจริตมาปิดกั้นการกระจายอำนาจ เพราะการกระจายอำนาจ คือการสร้างการมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนได้ดีที่สุด และเชื่อมั่นว่า “เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง”
 

‘ป้อม-สุชาติ’ เต็งหามสองผู้นำ ‘อภิสิทธิ์’ รอสัญญาณฉันทามติ คัมแบ็ค ปชป..

เลียบการเมือง สุดสัปดาห์..”เล็ก  เลียบด่วน”  รายงานตัว ณ วันที่ 24 มิ.ย.2566  ตรงกับวันครบรอบ 91 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...จริงๆแล้วคณะราษฎรอยู่ในอำนาจในห้วงปี 2475 -2500 รวม 25 ปี..ข้อดีก็มีไม่น้อย แต่ข้อด้อยข้อผิดพลาดก็มีมาก..อย่างน้อยก็เป็นต้นตำรับของการรัฐประหารชิงอำนาจ...แต่ข้อไม่ดีของคณะราษฎรไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนักในยุคนี้เพราะกลัวรถทัวร์สามนิ้วมาจอดหน้าบ้าน...

เลี้ยวมาสู่การเมืองเรื่อง...ไทม์ไลน์การชิงอำนาจผ่านตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี..คาดว่าวันที่ 3 ก.ค.จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา  จากนั้นวันที่ 4หรือ5ไม่เกินวันที่ 6 ก.ค.ก็จะโหวตลับเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร  ก่อนที่ประมาณวันที่ 13 ก.ค.ก็จะประฃุมรัฐสภา  โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี...

ตำแหน่งประธานสภาหากว่ากันในนาทีนี้ก็พอจะเห็นเค้าชัดเจนว่า...ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็คว้าไปครอง โดยชื่อของสุชาติ  ตันเจริญ   ยังเป็นเต็งหนึ่ง...การหักเหลี่ยมโหดตำแหน่งประธานสภา จะ เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ทางแยกของพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล...แม้หลังจากเลือกประธานสภาแล้วพรรคเพื่อไทยจะทนุถนอมประคับประคองโหวตหนุนพิธาเป็นนายกฯแบบเต็มแม็กซ์  แต่เชื่อว่า”พิธา”ก็ไม่ผ่านโหวตอยู่ดี...

ถึงนาทีนั้นพรรคก้าวไกลเจอกับโจทย์ใหญ่ว่าจะเดินหน้ายังไงต่อไป  เกาะขาพรรคเพื่อไทยขอเข้าร่วมรัฐบาล  หรือประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน...ถ้าให้”เล็ก เลียบด่วน” ฟันธงก็ต้องเปรี้ยงว่า คงเลือกหนทางเป็นฝ่ายค้าน...บางกระแสข่าวบอกว่าดีไม่ดีพรรคก้าวไกลอาจประกาศแยกทางชักธงรบเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ถูกหักเหลี่ยมเก้าอี้ประธานสภาสภาฯแล้วก็ได้...

สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี...นาทีนี้เต็งจ๋ายังเป็น “บิ๊กป้อม”  พล.อ.ประวิตร  วงศ์สุวรรณ    ที่จะมากอบกู้เผชิญหน้าสถานการณ์การชุมนุมการต่อต้านรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ยังตั้งรัฐบาลไม่แล้วเสร็จ

โดยรัฐบาลใหม่พรรคเพื่อไทยในฐานะมีเสียงสูงสุดก็คงจะได้กระทรวงสำคัญไปบริหารสร้างผลงานเพื่อขับเคี่ยวกับพรรคก้าวไกลในสมัยหน้า...ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า..พรรคเพื่อไทยพยายามที่จะเจรจาต่อรองขอ “นายกฯคนละครึ่ง” หรือคนละ2ปีกับพล.อ.ประวิตรด้วย...

ปืดท้ายกันที่พรรคเก่าแก่ที่สุด อายุ 77 ปี 2เดือนเศษ อย่างประชาธิปัตย์..นับถอยหลังวันที่ 9 ก.ค.ก็จะเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดรักษาการที่ จุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์   แสดงสปิริตลาออกหลังนำทัพพ่ายศึกเลือกตั้ง  จาก 52 เสียงเหลือ 25 เสียง...สาละวันเตี้ยลง สาละวันตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ....ซึ่งเมื่อไปดูกติกามารยาทการเลือกหัวหน้าพรรคของพรรคนี้แล้ว  จากบรรดาโหวตเตอร์10กว่ากลุ่มนั้น  พบว่ากลุ่มส.ส.ในปัจจุบัน 25 คนมีน้ำหนักโหวตสูงสุด  70 %  อีกสิบกว่ากลุ่มโหวตยังไงก็ได้ไม่เกิน 30 %...แน่ชัดตามกติกานี้อิทธิพลและอำนาจชี้เป็นชี้ตายอยู่ที่สองผู้ยิ่งใหญ่ เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รักษาการเลขาธิการพรรคที่จะไม่รับตำแหน่งอะไรอีกนอกจากผู้มีบารมีในพรรค  กับอีกคนคือ เดชอิศม์  ขาวทอง   หรือ”นายกฯชาย” รองหัวหน้าพรรคภาคใต้  ที่หุ้นกำลังพุ่งกระฉูดเป็นหนึ่งในตัวเต็งหัวหน้าพรรค และเป็นคนประกาศว่า..ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเปลี่ยนแปลง 360 องศา..

ต้องบอกว่านาทีนี้เป็นยุคที่ประชาธิปัตย์หาวีรบุรุษหรือวีรสตรียากมากถึงยากที่สุด...”ดร.เอ้” หรือ “มาดามเดียร์” ที่พูดๆถึงกันนั้นก็ยังขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรค  ถึงจะมีข้อยกเว้นแต่ส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่า สองคนนี้ต้องเป็นคิวต่อไป...ดังนั้น...กระแสในพรรคประชาธิปัตย์อีกด้านหนึ่งขณะนี้เรียกร้องให้ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี  ออกมากอบกู้พรรค  แต่อภิสิทธิ์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ  กระนั้นก็เดาได้ไม่ยากว่า..อภิสิทธิ์คงพร้อมมาช่วยพรรคแต่ต้องเป็นแบบกึ่งฉันทามติ...ไม่ต้องมาแข่งกันแบบเลือดเดือดเหมือนครั้งก่อนๆ..ซึ่งหลายฝ่ายก็น่าจะเห็นด้วยกับสูตรนี้...
0 ถ้าที่สุดหวยงวดวันที่ 9 ก.ค.ออกมาว่า..อภิสิทธิ์ –หัวหน้า , เดชอิศม์ –เลขาฯ  ก็น่าจะทำให้ลูกพระแม่ธรณีสดชื่นขึ้นมาไม่น้อย..!!

เรื่อง : เล็ก เลียบด่วน

วิเคราะห์ทิศทาง ศึกชิง ‘หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์’  จับตาเดือด ‘อภิสิทธิ์-นายกฯชาย’ ใครจะได้นั่งตำแหน่งนี้

แทน-ชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แทนจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ลาออกรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่ล้มเหลว

ก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์ทางการเมืองออกมาระบุว่า มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวพรรคคนใหม่ โดยอดีตกลุ่มผู้บริหารบางกลุ่ม เพื่อให้เป็นไปตามที่กลุ่มเขาต้องการ และจะสามารถเข้ามากุมทิศทางของพรรคได้

แน่นอนว่า ถึงแม้นจะมีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามจะล็อคสเป็คว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แต่ไม่ใข่เรื่องง่ายในการเดินไปสู่ชัยชนะ เพราะระเบียบพรรคประชาธิปัตย์ในกำหนดเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคไว้ค่อนข้างละเอียด โดยมีโหวตเตอร์หลากหลายกลุ่ม

โหวตเตอร์กลุ่มแรกคือ ส.ส.ชุดปัจจุบัน 25 คน มีน้ำหนัก 70% ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซนต์ เป็นอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขาพรรค ตัวแทนพรรคในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นี้คือกลุ่มของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ของประชาธิปัตย์

กล่าวสำหรับกลุ่มแรก เป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ทางภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ 2 คน นครศรีธรรมราช 6 คน พัทลุง 2 คน สงขลา 6 คน ปัตตานี 1 คน ตรัง 2 คน ส่วนที่เหลือเป็นแม่ฮ่องสอน 1 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 

อาทิตย์หน้าจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าใครจะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บ้าง แต่เบื้องหลังเห็นชื่ออยู่ 4 คน แต่เจ้าตัวเองไม่เคยออกมาพูดว่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่นักข่าว นักวิเคราะห์เห็นร่องรอยของการเคลื่อนไหว และความพยายาม เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้า นายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ วทันยา บุนนาค หรือตั๊ก จิตภัสร์ กฤษดากร เป็นต้น หรือแม้กระทั่ง ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

แต่เข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคต้องการให้เห็นความเป็นเอกภาพ มีผู้สมัครจำนวนน้อย แต่เพื่อให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ก็อาจจะมีคนลงชิง 2-3 คน แต่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม หลังจากประเมินการหยั่งเสียงแล้ว น่าจะมีคนทยอยถอนตัว หรืออาจจะเกิดจากการล็อบบี้ของผู้อาวุโสที่มากบารมี 

แต่ถ้าให้สวยงาม อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค มีนายกฯชายเป็นเลขาธิการ ส่วนแทน-ชัยชนะ ในฐานะนำทีมนครศรีธรรมราชเข้ามาถึง 5 คน ก็ก้าวขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้แทนนายกฯชาย ประเด็นคือนายกฯชายก็อยากเป็นหัวหน้าพรรคและจากการประเมินเสียงน่าจะสู้จริง ผู้ใหญ่ในพรรคคงต้องล็อบบี้กันหนัก ให้นายกฯชายไม่ลง รอหัวหน้าพรรคคนใหม่เสนอชิงเลขาธิการพรรค

ที่สำคัญทีมบริหารพรรคชุดใหม่ต้องให้เห็นภาพว่า เป็นคนรุ่นใหม่ ใหม่จริงๆ ไม่ใช่แค่ทีมใหม่ ดร.อิสระ / ดร.เอ้ / ตั๊น / วทันยา / แทน /ร่มธรรม เป็นต้น ต้องเข้ามาเป็นกรรมการบริหาร เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพรรค กำหนดแนวทาง ทิศทางของพรรค ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ส่วนคนเก่าๆก็ต้องไม่ทิ้ง ตะเคียนทองที่ถูกฝังอยู่ใต้น้ำก็ต้องขุดขึ้นมาใช้งาน แล้วแต่ผู้บริหารชุดใหม่จะวางบทบาทอะไรให้ทำ ถ้าเป็นที่ปรึกษาก็ต้องปรึกษาจริง ไม่ใช่ตั้งไว้ลอยๆ แล้วไม่เคยปรึกษาเลย 

ถ้าวิเคราะห์กันอย่างตรงไปตรงมาถึงปัจจัยแพ้ชนะ ส.ส.ปัจจุบันมีสัดส่วนน้ำหนักมากถึง 70%
-ทีมนายกฯชาย ส.ส.น่าจะมีแค่ 14-16 คือ 
-ประจวบคีรีขันธ์ 2
-นครศรีธรรมราช 5
-สงขลา 3
-ตรัง 2
-พัทลุง 2 (ไม่ชัวร์ว่าฝ่ายไหน)
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่ายังจะมีใครอีก

ทีมชวน-อภิสิทธิ์
-ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์ (3)
-นครศรีธรรมราช 1
-สงขลา 3
-ปัตตานี 1
-อิสาน 2 (อุบลราชธานี-สกลนคร)
-แม่ฮ่องสอน 1
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่าจะมีเพิ่มตรงไหนอีก

ถ้าพิจารณาตามข้อมูลที่ #นายหัวไทร จะเห็นว่า ทีมนายกฯชาย น่าจะมีอยู่ 14 เสียง ทีมของชวน-อภิสิทธิ์ น่าจะมีอยู่ 11 เสียง ยังอยู่ในสถานการณ์ที่เสียงเปรียบ

โหวตเตอร์ อีกกลุ่มที่น่าสนใจว่าจะอยู่สายไหน ทั้งสายตัวแทนจังหวัด / ประธานสาขา / ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค/ อดีต ส.ส./อดีตรัฐมนตรี 90% อยู่สายชวน
แต่ต้องจับตาดูว่า นิพนธ์ บุญญามณี ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มนี้สูงในฐานะอดีตรองหัวหน้าพรรคฝ่ายกิจการสาขา จะช่วยทีมไหน จะเอาเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด หรือจะเอานายหัวเก่า นายหัวไทรเชื่อว่าช่วยอภิสิทธิ์

การปรากฏตัวของชวน หลีกภัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เชาร์ มีขวด และผู้อาวุโสอีกหลายท่านในงานวันเกิดของแฟนคลับประชาธิปัตย์ผู้เหนียวแน่น ไม่ใช่เป็นการปรากฏตัวขึ้นธรรมดาแบบไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดธรรมดาเป็นแน่แท้ ต้องมีอะไรมากกว่านั้น คือการหารือถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่

อาทิตย์หน้าบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์จะคึกคักขึ้นกับบรรยากาศของการเดินสายหาเสียงกับโหวตเตอร์ทั้งหลาย ขออย่าให้ได้ยินเสียงอีกนะครับว่า ใช้เงินหว่านซื้อเสียงให้เข้าหูอีก เพราะนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยสุจริต
นายหัวไทร

‘นิพนธ์’ หนุนแนวทาง ‘อภิสิทธิ์’ เน้น ต้องทำให้พรรคมีเอกภาพ คิดถึงอนาคตเป็นหลัก

วันที่ 25 มิ.ย. 66 – นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือก หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหาร(กก.บห.) พรรคฯชุดใหม่ ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้คุยกัน แต่ส่วนตนคิดว่า หลังได้อ่านคำสัมภาษณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา เห็นว่า แนวทางที่ท่านเสนอมา จะทำให้พรรคฯ เดินไปข้างหน้าได้
การสร้างเอกภาพภายในพรรคฯเป็นสิ่งจำเป็น ตนจึงเห็นด้วยกับแนวทางของ นายอภิสิทธิ์ เพราะเรามีบทเรียนมาหลายครั้งแล้ว ก่อนจะพูดถึงเรื่องตัวบุคคลในประชาธิปัตย์ ใครก็ได้มีคนที่เหมาะสมอยู่แล้ว

“ดังนั้นวันนี้เราต้องคุยกันและต้องเห็นพ้องต้องกันก่อนว่า ถ้าจะแก้ปัญหาได้จะทำอย่างไร พรรคฯเรามีบทเรียนมาหลายครั้งหลายรอบแล้ว ถ้ามันไม่มีเอกภาพจะเดินไปข้างหน้าลำบาก ฉะนั้นการทำให้พรรคฯมีเอกภาพเป็นสิ่งจำเป็น

ผมยังเห็นด้วยว่า ถ้าคุยกันได้ก็ต้องคุยกัน เราไม่ใช่คนอื่นคนไกล ทุกคนเป็นคนในพรรคฯ ด้วยกัน มีอะไรก็ต้องคุยกัน และในทางการเมืองมันไม่มีใครได้อะไรร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ทุกอย่างก็ต้องคุยกันแบบพี่แบบน้อง คุยกันฉันพี่ฉันน้อง ซึ่งเป็นเรื่องของคนภายในพรรค” นายนิพนธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณี สื่อมวลชนหลายสำนักวิเคราะห์ตรงกันว่า กลุ่ม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคฯ ยังกุมความได้เปรียบเรื่องเสียงโหวตตามข้อบังคับพรรคฯ อยู่ ที่ 70 ต่อ 30 เปอร์เซ็นต์ นายนิพนธ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ฝั่งของใคร ทุกคนเป็นประชาธิปัตย์ และตนเชื่อมั่นในประชาธิปัตย์ คิดว่าทุกคนคิดถึงอนาคตของพรรคฯเป็นหลัก
ตัวบุคคลเรามาแล้วก็ไป แต่พรรคต้องอยู่ ตัวบุคคลเราเปลี่ยนมาเยอะหลายยุคแล้ว ย้อนไปตั้งแต่สมัยตนเคยเป็นยุวประชาธิปัตย์ นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรคฯ นายพิชัย ไป นายชวน หลีกภัย มาเป็นหัวหน้าพรรคปชป. พอ นายชวน ไป นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็มาเป็นหัวหน้าพรรคฯ นายบัญญัติ ไปนายอภิสิทธิ์ ก็มา พอ นายอภิสิทธิ์ ไป นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ก็มาเป็นหัวหน้าพรรคฯ

“ตัวบุคคลไปได้ แต่พรรคจะต้องอยู่ แต่ถ้าเราคิดว่าตัวบุคคลมาก่อนพรรค อันนี้มันเป็นคนละหลักการแล้ว แต่สำหรับผมที่เคยอยู่มาตั้งแต่สมัยยุวประชาธิปัตย์ คิดว่าตัวบุคคลเปลี่ยนได้แต่พรรคจะต้องอยู่ ฉะนั้นในฐานะที่เป็นพี่เป็นน้องกันมีอะไรก็คุยกันฉันพี่ฉันน้อง คุยกันฉันท์มิตร”นายนิพนธ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่าวันนี้ว่าได้ตัดสินใจลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในการประชุมใหญ่พรรควันที่ 9 กรกฎาคมนี้

นายอลงกรณ์กล่าวย้ำว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องการก้าวใหม่ของตัวเองและโอกาสใหม่จากประชาชนด้วยการแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่เข้มแข็งและกล้าหาญบนจุดยืนประชาธิปไตยที่ชัดเจนนำประเทศออกจากกับดักความขัดแย้งและวงจรอุบาทว์ด้วยหลักนิติรัฐและธรรมาภิบาลสู่เอกภาพและศักยภาพใหม่ของประเทศเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกคน โลกเปลี่ยนเร็วและแข่งขันแรงทั้งการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ประเทศไทยต้องมีพรรคการเมืองที่ทันสมัยก้าวหน้าทันโลกทันเกมและก้าวใหม่ประชาธิปัตย์คือคำตอบ”

“ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยวิสัยทัศน์ความรู้และอุดมการณ์ที่มั่นคงกับพรรคประชาธิปัตย์ตลอด 30 ปีรวมทั้งประสบการณ์เป็นรองหัวหน้าพรรค4สมัยเป็น ส.ส.6สมัยและเป็นรัฐมนตรีมาแล้วจะสามารถนำพรรคสู่ก้าวใหม่ด้วยการปฏิรูปพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนด้วยแนวทางเสรีนิยมก้าวหน้าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรคและส.ส.ของพรรคเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

นายอลงกรณ์ พลบุตร เมื่อครั้งเป็น ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคเคยเสนอให้ปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2556 และเคยลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแข่งขันในระบบไพรมารี่ในปี 2561แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง.

ประวัติและผลงาน
นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 4 สมัยและอดีต ส.ส. เพชรบุรีและ ส.ส. บัญชีรายชื่อ6สมัย 
.
>จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงจากหลายประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ปอร์ตุเกส ฯลฯ 
>เป็น ส.ส.สมัยแรกในปี 2535
>เป็นเลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและเลขานุการนายกรัฐมนตรี(ชวน หลีกภัย) ปี 2539-2544
>ได้รับฉายา”มิสเตอร์เอทานอล” ปี 2543-2544 ในฐานะประธานโครงการเอทานอลทำให้มีน้ำมันแก๊ซโซฮอลล์จำหน่ายทั่วประเทศ
>เป็น”ดาวเด่นแห่งปีของรัฐสภา”ปี 2546จากผลงานการปราบปรามคอรัปชั่น
>ได้รับรางวัล”คนดีสังคมไทย”และรางวัล”บุคคลดีเด่นประจำปี 2548-2549”
>เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และทำหน้าที่รมต.เศรษฐกิจอาเซียน ปี 2551-2554
>ได้รับการโหวตให้เป็นรัฐมนตรีที่มีผลงานดีเด่น2ปีซ้อน ปี 2552-2553
>เป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปี 2558-2560
>เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่ประชุมการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ (UN-GFHS) ปี2660-2561
>เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ.กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(2562-2566)
>เป็นผู้บรรยายพิเศษปริญญาเอก ปริญญาโทและปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
>เป็นผู้บรรยายพิเศษหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชนเช่น บยส. นธป.วตท. Tepcot สวปอ. นบส. วกส. วพน. วิทยาการตำรวจ สถาบันพระปกเกล้า  ฯลฯ
>มีผลงานเขียนหนังสือ 4 เล่มด้านต่างประเทศ วิทยาศาสตร์และการเมือง
 

เปิดประวัติ ความเป็นมา ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ ผู้ผลักดันการปฏิรูป เข้มแข็งและกล้าหาญ บนจุดยืนประชาธิปไตยที่ชัดเจน

“อลงกรณ์”คือใคร เคยทำอะไร เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ สถาบันการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศในยามที่พรรคตกต่ำถดถอยได้หรือไม่

เขาเป็นคนหนึ่งที่ผลักดันการ

ปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์และการปฏิรูปประเทศมาโดยตลอด คราวนี้ประกาศลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นคนแรก

ลองมาดูประวัติและผลงานโดยสังเขป ของนายอลงกรณ์ พลบุตร

เขามีความเป็นมาอย่างไรและทำอะไรมาบ้าง

>จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

>ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงจากหลายประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ปอร์ตุเกส ฯลฯ

>เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยคนแรกและกรรมการสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย(ปี2524-2528)เป็น1ในแกนนำต่อสู้เพื่อเสรีภาพปลดโซ่ตรวน ปร.42

>เคยเป็นหุ้นส่วนเจ้าของและผู้บริหารบริษัทนำเข้าส่งออก บริษัทคอมพิวเตอร์ บริษัทโฆษณา-สื่อมวลชน บริษัทเหมือนแร่ กิจการร้านอาหาร

>เป็น ส.ส.สมัยแรกในปี 2535และเคยเป็นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการงบประมาณ กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรหลายคณะเช่นการท่องเที่ยว,การพาณิชย์,การทหารฯลฯ

>เป็นเลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและเลขานุการนายกรัฐมนตรี(ชวน หลีกภัย) ปี 2539-2544

>ได้รับฉายา”มิสเตอร์เอทานอล”

ปี 2543-2544 ในฐานะประธานโครงการเอทานอลทำให้มีน้ำมันแก๊ซโซฮอลล์จำหน่ายทั่วประเทศ

>เป็น”ดาวเด่นแห่งปีของรัฐสภา”ปี 2546จากผลงานการปราบปรามคอรัปชั่น

>ได้รับรางวัล”คนดีสังคมไทย”และรางวัล”บุคคลดีเด่นประจำปี 2548-2549”และคนดีศรีเมืองเพชร”ปี2565

>เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และทำหน้าที่รมต.เศรษฐกิจอาเซียน ปี 2551-2554

>ได้รับการโหวตให้เป็นรัฐมนตรีที่มีผลงานดีเด่น2ปีซ้อน ปี 2552-2553

>ได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารอังกฤษ”Intellectual Property Magazine ให้เป็น1ใน50ผู้ทรงอิทธิพลของโลกด้านการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา

>เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเคยเป็นเลขาธิการสภาพรรคการเมืองเสรีนิยมและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย(CALD)

>เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรรัฐสภาแห่งเอเชีย-แปซิฟิก(APPF:ASIA-Pacific Parliamentary Forum)

>เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ

>เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปี 2558-2560

>เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่ประชุมการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ (UN-GFHS) ปี2660-2561

>สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยประกาศเกียรติคุณให้เป็น ”บุคลากรผู้ทรงคุณค่าต่อขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทย “ปี 2563

>เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการกว่า10คณะเช่นประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ.กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0 และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC:Agritech and Innovation Center) ระหว่างปี2562-2566

>เป็นประธานมูลนิธิWorkdview Climate Foundation (2565-ปัจจุบัน)

>เป็นผู้ก่อตั้ง-ประธานและประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย

>เป็นหุ้นส่วนเจ้าของ-ผู้บริหารหลายบริษัทด้านการเกษตร รีสอร์ท และพัฒนาที่ดิน

>เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise)ชื่อRFC(Read For Change)

> เป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 4 สมัยและอดีตส.ส.เพชรบุรีและส.ส.บัญชีรายชื่อ6สมัย

>เป็นอดีตประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์เพชรบุรี(สาขาพรรคดีเด่น)

> เป็นคนที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี2534เพียงพรรคเดียว ไม่เคยสังกัดกลุ่มใดในพรรคจนได้รับการเรียกขานว่า”รองฯ.อิสระ”และ ไม่เคยย้ายพรรค

>เป็นผู้บรรยายพิเศษปริญญาเอก ปริญญาโทและปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

>เป็นผู้บรรยายพิเศษหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชนเช่น บยส. นธป.วตท. Tepcot สวปอ. นบส. วกส. วพน. วิทยาการตำรวจ สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯหัวข้อหลัก การปฏิรูปประเทศไทย และอนาคตเศรษฐกิจดิจิตอล(The Future of Digital Economy)ฯลฯ.

>มีผลงานเขียนหนังสือ(pocketbook)4เล่มด้านต่างประเทศ วิทยาศาสตร์และการเมือง

“อลงกรณ์”กล่าวตอนหนึ่งในคำแถลงเปิดตัวลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า

“วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องการก้าวใหม่ของตัวเองและโอกาสใหม่จากประชาชนด้วยการแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่เข้มแข็งและกล้าหาญบนจุดยืนประชาธิปไตยที่ชัดเจนเพื่อนำประเทศออกจากกับดักความขัดแย้งและวงจรอุบาทว์ด้วยหลักนิติรัฐและธรรมาภิบาลสู่เอกภาพและศักยภาพใหม่ของประเทศเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกคน โลกเปลี่ยนเร็วและแข่งขันแรงทั้งการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ประเทศไทยต้องมีพรรคการเมืองที่ทันสมัยก้าวหน้าทันโลกทันเกมและก้าวใหม่ประชาธิปัตย์คือคำตอบ”

เขาจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่9ได้หรือไม่ วันที่ 9 กรกฎาคมนี้ คนประชาธิปัตย์จะเป็นผู้ให้คำตอบ

‘ทนายเชาร์’ ขย่ม ‘เฉลิมชัย’ รักพรรคจริงเลิกกินรวบ  เสนองดใช้ข้อบังคับพรรค เลิกใช้สัดส่วน 70 % ของ ส.ส.ชี้ขาดใครนั่ง หน.พรรค 

อีกรอบแล้วที่เชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Chao Meekhuad ) หัวเรื่อง "1 เสียง 1 โหวต ทางออก ฟื้น ปชป. " อันเป็นข้อเสนอที่แหลมคมยิ่ง หวังให้เป็นทางออกจากวิกฤติของประชาธิปัตย์ และทิ่มแทงตรงๆไปยัง “ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน”อดีตเลขาธิการพรรค ที่ถูกมองว่า แม้นจะประกาศเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต หากประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าเดิม แต่เงาดำทมึนยังคลุมงำประชาธิปัตย์อยู่

การเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มปรากฏชัดถึงความถดถอย ได้ ส.ส.มาแค่ 52 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้เป็น 100 เริ่มถดถอยในช่วงที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”เป็นหัวหน้าพรรค และมี “จุติ ไกรฤกษ์” เป็นเลขาธิการพรรค อันเกิดจากสารพัดปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะการชุมชุมของกลุ่ม นปช.จนไม่มีเวลามาบริหารราชการแผ่นดิน และอภิสิทธิ์ ต้องหอบหิ้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหนีม็อบครั้งแล้วครั้งเล่าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด 

เฉลิมชัยก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” การเลือกตั้งปี 2566 เฉลิมชัยลั่นวาจาครั้งแล้วครั้งล่าว ถ้าประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต วันนั้นมาถึงแล้ว ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มาเพียง 25 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “เฉลิมชัย”จึงน่าจะวางมือทางการเมือง และจัดวางตัวเองให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เหมือน “เนวิน ชิดชอบ” ผู้อยู่เบื้องหลังภูมิใจไทย

เชาร์ระบุว่า พรรคประชาะปัตย์ มีกำหนดประชุมใหญ่ วาระสำคัญคือการเลือกผู้บริหารชุดใหม่ มาแทนชุดเดิม ที่พ้นตำแหน่งไป จากการลาออกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เพื่อรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในคราวนี้ แตกต่างไปจากอดีตที่เคยมีมา แทบจะไม่มีใครเสนอตัวออกมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลย ยกเว้น นายอลงกรณ์ พลบุตร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนในพรรครู้ดีแก่ใจว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรค รวมถึงผู้บริหารทั้งหมด ในตอนนี้ อยู่ในอาณัติของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคฯ ที่กุมเสียง สส.ในมือราว 20 คน จากทั้งหมด 25 คน สั่งให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคคนนั้นก็จะได้เป็น 

เชาร์ อธิบายว่า เนื่องจากข้อบังคับพรรคให้น้ำหนัก ส.ส.เป็นสัดส่วนถึง 70 % ขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ในการลงคะแนน ข้อบังคับพรรคไม่ได้ผิดอะไร ที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ในอดีตก็มีการแก้ไขสัดส่วนคะแนนเสียง ส.ส. มาตลอดเพื่อให้สมดุลเข้ากับสถานการณ์แต่ละยุค ซึ่งตอนแก้ข้อบังคับเมื่อปี 61 ก่อนหน้านี้พรรคมีส.ส.เกินหลักร้อยมาตลอด และใครก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะตกต่ำเหลือแค่ 25 คนในยามนี้ จากพรรคขนาดใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง และกำลังเป็นพรรคขนาดเล็ก ถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้จึงไม่สมควรที่จะให้ส.ส. 25 คน มากุมชะตากรรมพรรคเพียงลำพัง 

เชาร์เสนอให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติสามในห้าขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้ยกเว้นข้อบังคับข้อ 87 (1),(2) ที่ให้ถือเกณฑ์คำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสัดส่วน สส. 70 % และสมาชิกอื่นที่เป็นองค์ประชุม 30 % เสีย โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้ลงคะแนนเสียง เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ มีหนึ่งเสียง หนึ่งโหวตเท่ากันในการกำหนดชะตาครั้งสำคัญของพรรค

"ถ้ารักพรรคจริง ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสิน ไม่ใช่ใช้ข้อได้เปรียบจากข้อบังคับพรรคมาจ้องกินรวบพรรคอย่างที่เป็นอยู่ คนชอบพูดว่าผมเป็นคนของนายกฯอภิสิทธิ์ ผมไม่ปฏิเสธว่าเคารพรักท่าน แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคสำหรับผม จะชื่ออะไรก็ได้ สำคัญที่คน ๆ นั้น ต้องมีบารมี มีเจตจำนงค์ทำ พรรคให้เป็นพรรค ไม่ใช่คิดแต่ใช้พรรคเป็นบันไดในการแสวงหาอำนาจ เรามีบทเรียนมามากพอแล้วกับการละทิ้งคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน”

เชาร์ย้ำว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เปราะบาง ประชาธิปัตย์ต้องเข้มแข็งเพื่อเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ส่วนจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ชี้วัดกันที่การเลือกหัวหน้าพรรควันที่ 9 ก.ค. ที่ผมยืนยันว่า ต้องยกเว้นข้อบังคับ เลิกสัดส่วน 70 % ของสส. เป็นให้ทุกคะแนนมีค่าเท่ากัน 

อย่างที่เชาร์กล่าวไว้ ทำไมการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งคราวนี้ถึงเงียบเชียบ ที่ปรากฏตัวชัดแล้วมีแค่ “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค 4 สมัย และ 30 ปี ยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะแพ้การเลือกตั้งชิงหัวหน้าพรรค ที่บางคนพอแพ้ก็ทิ้งพรรคไป ไม่ว่าจะเป็น “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” ออกไปตั้งพรรคไทยภักดี พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ กรณ์ จาติกวณิชย์ ออกไปตั้งพรรคกล้า 

หันซ้ายมองขวาในประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นคนเก่า หรือคนใหม่ ยังไม่เห็นใครว่าจะนำพาพรรคประชาธิปัตย์กลับไปยืนอยู่แถวหน้าได้ แต่พอจะเห็นเค้าอยู่บ้างสำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้ว่าจะไม่ใหม่นัก แต่ไม่เก่าจนเกินไป และเป็นคนมีบารมี มีอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ และมีจุดยืนชัดเจน และแม้จะลาออกจาก ส.ส.คราวนั้น ก็ยังเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์อยู่ และเชื่อว่า ถ้าอภิสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะมีแรงสนับสนุนจาก “ชวน หลีกภัย”บัญญัติ บรรทัดฐาน-นิพนธ์ บุญญามณี” รวมถึงโหวตเตอร์สายอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขา และตัวแทนพรรคอยู่ไม่น้อย ยิ่งถ้ายกเว้นข้อบังคับตามข้อเสนอของทนายเชาร์ โหวตเตอร์สาย ส.ส.อาจจะเหวี่ยงหลุดแห มาทางอภิสิทธิ์บ้างก็ได้

แม้บนบกจะดูคลื่นลมเงียบสงบ แต่เชื่อว่าใต้น้ำ ประชาธิปัตย์กำลังเกิดภาวะน้ำวน มีการเคลื่อนไหวที่พอเห็นร่องรอยอยู่บ้าง

'กรณ์' ปัดเอี่ยว แคนดิเดตหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ แต่หวัง ปชป.กลับมาผงาด เป็นทางเลือก ปชช.ต่อไป

(8 ก.ค.66) นายกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

บางสื่อยังดึงผมเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ของ #ประชาธิปัตย์

ขอยืนยันว่า ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ นะครับ แม้แต่สมาชิกพรรคยังไม่ได้เป็นเลย แต่ยอมรับว่า ผมแอบเชียร์อยู่ และเป็นกำลังใจให้กับพรรคเก่าของผม

'ประชาธิปัตย์' เคยมีบทบาทสำคัญในฐานะพรรคการเมืองหลัก เป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นพรรคที่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตของชาติบ้านเมืองหลายต่อหลายครั้ง 

พรรคเคยมีบทบาทโดดเด่นในฐานะผู้นำทางความคิด (ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับความคิดของพรรคหรือไม่ก็ตาม) เคยมีบทบาทในการชี้นำ และชี้แนะให้แก่สังคมไปในทิศทางที่ถูกที่ควร

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งผมอยากเห็นบทบาทนี้จากประชาธิปัตย์อีกครั้ง เพื่อประชาชนอย่างเราๆ จะได้มีทางเลือกที่ดีเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป

ในฐานะอดีตลูกพรรค ผมอยากเห็นพรรคกลับมามีความทะเยอทะยานที่จะเป็นผู้นำทางสังคมอีกครั้ง ผมคิดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากการที่ประเทศชาติมีพรรคแนวอนุรักษ์นิยมแบบก้าวหน้าที่สร้างสรรค์ (จะเรียกเป็นกลางซ้ายหรือกลางขวาก็ได้) 

ส่วนกรณีหลายสำนักข่าววิเคราะห์ชื่อของผมในกระบวนการคัดสรรหัวหน้าพรรค ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และทั้งหมดนี้เป็นการแสดงความเห็นในฐานะผู้ถูกพาดพิงและอดีตสมาชิกพรรคเท่านั้น 

ขอให้กำลังใจว่าที่หัวหน้าพรรคทุกคนครับ

เกม 'ล้มประชุม' เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เบรกความฮอตขั้ว 'เฉลิมชัย' อีก 1 เดือนวัดกันใหม่

การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มขึ้นเวลา 09.00 น.ของวันที่ 9 กรกฎาคม โดยการกล่าวต้อนรับสมาชิกโดยผู้อำนวยการพรรค จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยดำเนินการไปตามระเบียบวาระ เมื่อจะเข้าวาระ 4 ว่าด้วยเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ที่ประชุมได้เชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคกรุงเทพมหานคร เสนอให้ยกเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรค ในขณะที่นายสาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรค เสนอให้งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคเกี่ยวกับสัดส่วน-น้ำหนัก ส.ส.กับโหวตเตอร์อื่นๆ 70:30 ทำให้นายจุรินทร์ เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น มีสมาชิกแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายองอาจจึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน พี่น้องภายในพรรคไปคุยตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเอาอย่างไร

การประชุมยังเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่ด้านนอกมีกระแสข่าวมาเรื่อยๆ 'อลงกรณ์ พลบุตร' ถอนตัวจากการชิงหัวหน้าพรรคกระทันหัน และไม่เข้าร่วมประชุมด้วย

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ให้คำตอบในนาทีสุดท้าย ปฏิเสธลงชิงหัวหน้าพรรค เกมเริ่มพลิก ขั้วของเฉลิมชัย ศรีอ่อน ขาดหัวในการชิงหัวหน้าพรรค จึงดึง 'นราพัฒน์ แก้วทอง' จากพิจิตร มาเสนอตัวแทน และ 'ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล' ตัวจี๊ดขันอาสามาสมัครอีกคน

บรรยากาศในห้องประชุมยังดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดกับข้อเสนอให้งบใช้ข้อบังคับการประชุม การประชุมลากยาวไปถึงภาคบ่าย และสไตล์ประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นไม่ตรงกันก็จบลงด้วยการลงมติ ที่ประชุมไม่ให้เลื่อนการประชุมออกไป และยังใช้ข้อบังคับพรรคในสัดส่วน 70:30 ต่อไป

กว่าจะได้พักรับประทานอาหารการประชุมลากยาวมาถึงบ่ายโมง พัก 1 ชั่วโมง นัดประชุมใหม่ 14.00 น. 

ผู้ล้ำลึกในเกมวิเคราะห์ถึงการชิงไหวชิงพริบกันในภาคเช้า ขั้วของเฉลิมชัยยังอยู่ในฐานะได้เปรียบในทุกประตู ทั้งไม่เลื่อนการประชุม และงดใช้สัดส่วน 70:30

แต่หลังรับประทานอาหารเสร็จ ภาพที่เห็นคือ คนที่เป็นองค์ประชุมเริ่มเช็กเอาต์ ลากกระเป๋าออกจากห้องพัก ซึ่งเป็นไปตามกติกา ถ้าไม่พักต่อก็ต้องเช็กเอาต์ก่อนบ่ายสองโมง 

สัญญาณเริ่มได้ยิน "ล้มการประชุม" องค์ประชุมหลายคนจึงลากกระเป๋าออกจากโรงแรม บางคนอ้างจองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว จองตั๋วรถทัวร์ไว้แล้วบ้าง

14.00 น.การประชุมช่วงบ่ายเริ่มขึ้น คนเริ่มโหรงเหรง เหลือครึ่งหนึ่ง จึงมีคนเสนอให้นับองค์ประชุม เป็นไปตามคาด 'ไม่ครบองค์ประชุม'

จริงๆ แล้ว การนับองค์ประชุม เป็นเกมที่ไม่ต้องการให้การประชุมเดินต่อไปได้ ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเดินไปสู่การเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อได้นั่นเอง และถ้าดูผลการประชุมในช่วงเช้า ขั้วของเฉลิมชัย ที่ดันนราพัฒน์ ยังเป็นต่ออยู่ เกมล้มการประชุมด้วยการนับองค์ประชุมจึงถูกกำหนดขึ้น และบรรลุเป้าหมาย ยังมีเวลาอีก 1 เดือนในการล็อบบี้ 

งานนี้นักการเมืองหนุ่มขั้วเฉลิมชัยถึงกับส่ายหน้ากับเกมล้มการประชุมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ประเด็นเวลานี้คือ อลงกรณ์มีเหตุผลอะไรถึงถอนตัวจากการลงชิงหัวหน้าพรรค และไม่เข้าร่วมประชุม เกิดอะไรขึ้น 1 วันก่อนการประชุม เช่นเดียวกับ ดร.เอ้ ที่มาปฏิเสธในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดูท่าทีดีใจที่ถูกผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามให้ลงชิงหัวหน้าพรรค แต่กลับมาตัดสินใจ และบอกกล่าวในนาทีสุดท้าย จนขั้วเฉลิมชัย เกือบพลิกตัวไม่ทัน ยังดีที่ไปคว้านราพัฒน์ไว้ได้ทัน

ชัดเจนครับว่า การประชุมครั้งหน้า ก็จะเริ่มต้นด้วยการเสนอชื่อผู้ที่จะลงชิงหัวหน้า ไม่ต้องมาหารือ หรือลงมติเรื่องอื่นกันให้เสียเวลาอีก แต่ 1 เดือนที่เหลือ น่าจะเป็นช่วงเวลาของการล็อบบี้-หาคะแนนกันอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายสนับสนุน 'นราพัฒน์ แก้วทอง' และฝ่ายสนับสนุน 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

‘มัลลิกา’ ลั่น!! ‘ปชป.’ไม่โหวต ‘พิธา’ แม้ยังไม่มีมติจากพรรค ชี้ การใช้มวลชนกดดัน ส.ว.ผ่านสื่อ ถือเป็นวิธีบีบบังคับแบบเผด็จการ

(11 ก.ค. 66) นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะก้าวหน้ากับพรรคก้าวไกล ใช้วิธีนำมวลชนไปกดดันสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ทั้งที่แกนนำพรรคก้าวไกลได้ประกาศต่อประชาชนแล้วว่าเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีของนายพิธาครบแล้ว โดยเฉพาะได้เจรจากับสมาชิกวุฒิสภาจนได้เสียงครบมั่นใจแล้ว

“ดังนั้น ก็ไม่มีเหตุอันใดสมควรในการที่จะระดมมวลชนมากดดัน หรือใช้วิธีให้ด้อมส้มหรือผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลบนโซเชียลมีเดีย เที่ยวไปทัวร์ลงหรือระรานกดดันผู้อื่นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของสมาชิกวุฒิสภา กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองอื่น เพราะแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับความคิดเห็นต่างและไม่ใช่วิถีแห่งเสรีประชาธิปไตย แต่ชัดเจนว่าเป็นวิถีของเผด็จการ” นางมัลลิกา กล่าว

นางมัลลิกา กล่าวด้วยว่า โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์แม้ว่ายังไม่มีมติ เพราะยังไม่มีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ด้วยธรรมนูญและอุดมการณ์ของพรรคเรา มีรากเหง้าที่มาต้องดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้นเชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคล้วนมีดุลพินิจเองได้ และทุกคนทราบถึงอุดมการณ์และธรรมนูญของพรรคดี ความมั่นคงต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หมายถึงคุณลักษณะที่แสดงออกถึงการเป็นพลเมืองดีของชาติ ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติ ศรัทธายึดมั่นในศาสนาและเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ดังนั้น ช่วงเลือกตั้งเราตอบคำถามสื่อต่อหน้าประชาชนว่าพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนว่า เราจะไม่แก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งเป็นมาตราแห่งความมั่นคงและปกป้องรักษาไว้ซึ่งพระเกียรติยศของสถาบันสำคัญของชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top