Tuesday, 29 April 2025
ค้นหา พบ 47762 ที่เกี่ยวข้อง

‘ภูมิธรรม’ นำทีม ส่งกำลังพลจากกองทัพไทย ออกปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเมียนมา

(30 มี.ค.68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีส่งกำลังพลจากกองทัพไทย เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในประเทศเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ผ่านมา พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เขตดอนเมือง ท่ามกลางการร่วมเป็นสักขีพยานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงและครอบครัวของกำลังพลที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ

โดยมีพันเอกขจรศักดิ์ พูลลโพธิ์ทอง​ รองผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการกรมยุทธการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ​ พร้อมกำลังพลรวม 55 นาย แบ่งออกเป็น 8 ชุด ได้แก่ ชุดควบคุม, ชุดงานต่างประเทศทหาร, ชุดค้นหาและกูภัยเขตเมือง, ชุดแพทย์ฉุกเฉิน, ชุดประเมินความเสียหาย, ชุดสื่อสาร, ชุดประชาสัมพันธ์ และชุดรักษาความปลอดภัย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลเมียนมา และดูแลช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่

สำหรับภารกิจในครั้งนี้ กองทัพไทยได้จัดส่งกำลังพลและทีมกู้ภัย พร้อมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อเข้าไปสนับสนุนการบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยจะประสานงานกับหน่วยงานด้านบรรเทาสาธารณภัยของเมียนมา รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่

ภายหลังจากนี้ รัฐบาลไทยและกองทัพไทยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมส่งกำลังสนับสนุนเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ขณะที่ทีมช่วยเหลือของไทยจะปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นของเมียนมา เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ทั้งนี้ การเดินทางของกำลังพลไทยในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่สะท้อนถึงน้ำใจและความร่วมมือระหว่างประเทศในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่

กรมศิลปากรเตรียมแผนบูรณะ พระพุทธรูป 696 ปี วัดพระบรมธาตุฯ ชัยนาท หลังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในเขตประเทศเมียนมา

(30 มี.ค. 68) หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในเขตประเทศเมียนมา ได้มีการตรวจสอบความเสียหายของโบราณสถานสำคัญในหลายพื้นที่ ล่าสุดพบว่าพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ประดิษฐานภายในวัดพระบรมธาตุวรวิหาร จังหวัดชัยนาท ได้รับความเสียหาย โดยมีรอยร้าวปรากฏเป็นทางยาวบริเวณด้านหลังและแขนขวาขององค์พระ

พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง มีอายุยาวนานกว่า 696 ปี ที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง และถือเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรม 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร พบมีรอยแตกร้าวเป็นแนวยาวที่บริเวณด้านหลัง ตั้งแต่ต้นคอถึงกลางหลัง ยาวกว่า 2 เมตร และที่ใต้ศอกขวา และแขนขวาแตกร้าวยาวกว่า 1 เมตร
โดยรอยร้าวที่เกิดขึ้นมีความลึกและอาจส่งผลต่อโครงสร้างขององค์พระในระยะยาว

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานศิลปากรที่ 4 สุพรรณบุรี ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เพื่อประเมินแนวทางการบูรณะซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับพระภิกษุและชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันดูแลและป้องกันไม่ให้ความเสียหายลุกลามมากขึ้น

หลังมีข่าวความเสียหายของพระพุทธรูปแพร่ออกไป มีประชาชนและผู้ศรัทธาจำนวนมากเดินทางมายังวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เพื่อกราบไหว้สักการะและขอพร พร้อมร่วมกันถวายปัจจัยเพื่อสนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมองค์พระให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง

ทางกรมศิลปากรยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมพระพุทธรูปองค์นี้อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ศิลปกรรมดั้งเดิมให้มากที่สุด และจะเฝ้าระวังโบราณสถานอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ทางวัดพระบรมธาตุวรวิหารยังคงเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ตามปกติ พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ที่เข้าชมปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย

‘เอกนัฏ’ สั่งตรวจสอบมาตรฐานเหล็กเส้นในตึก สตง. ถล่มหลังแผ่นดินไหว หวั่นใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน เตรียมขยายผลไปยังโรงงานผลิตที่เกี่ยวข้อง

(30 มี.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มเนื่องจากแผ่นดินไหวที่ผ่านมา 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทีมงานพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเก็บหลักฐานที่จุดเกิดเหตุบริเวณตึก สตง. ที่ถล่ม ซึ่งหากพบว่าผู้ก่อสร้างใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน จะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงขยายผลไปยังโรงงานผลิตเหล็กที่เกี่ยวข้องด้วย

นายพงศ์พลกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบแบบแปลนโครงสร้างตึก สตง. ที่กำลังก่อสร้างมีความสูงถึง 30 ชั้น คาดว่าต้องใช้เหล็กเส้นข้ออ้อย (เหล็กเส้นกลมมีบั้ง) ขนาด DB16, DB20, DB25 ในการเสริมแรงโครงสร้างคอนกรีต โดยเฉพาะในส่วนของเสา คานพื้น และฐานราก เพื่อรองรับน้ำหนักและแรงอัด แรงดึง และแรงเฉือน ซึ่งหากมีการใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานไม่เป็นไปตามหลักทางวิศวกรรม จะทำให้โครงสร้างเปราะและแตกหักง่าย ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างอาคารในกรณีที่มีแรงกระแทกหรือแผ่นดินไหว

การผลิตและจำหน่ายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและไม่สามารถปล่อยผ่านได้ เพราะอาจส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ รัฐมนตรีเอกนัฏได้ดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้มาโดยตลอด

โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กที่เป็นบริษัทร่วมจดทะเบียนและบริษัทต่างชาติไปแล้วถึง 7 ราย ล่าสุดได้สั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และพบเหล็กเส้นข้ออ้อย SD 40 และ SD 50 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 24-2559 จากการทดสอบของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อประชาชน และเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างทั่วประเทศ

ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในสภาวะวิกฤติ ตัวชี้วัดสภาวะผู้นำในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(30 มี.ค. 68) ในช่วงสถานการณ์ไม่ปรกติแบบนี้ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในสภาวะวิกฤติเป็นสิ่งสำคัญอย่างอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะในบริบทของการบริหารจัดการในยามคับขัน หรือ Crisis Management เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความตื่นตระหนกของประชาชน ป้องกันความเข้าใจผิด และเพิ่มโอกาสในการจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนะครับ 

ขออนุญาตงดเว้นการยกตัวอย่างผู้นำท่านต่างๆที่ปรากฏตัวออกสื่อในช่วงเวลานี้ เพราะพวกเราก็คงจะเห็นและประเมินสภาวะผู้นำของแต่ละท่านผ่านสื่อได้ตามวิจารณญาณของแต่ละคน ในฐานะของคนที่เล่าเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์และการสื่อสารทางการเมือง ขออนุญาตสรุปแนวทางการสื่อสารในสภาวะวิกฤติไว้ให้นะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย 

1. ความชัดเจนและกระชับ
- ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน หลีกเลี่ยงศัพท์เฉพาะหรือคำที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือคลุมเครือ
- ส่งสารอย่างตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ เนื้อๆเน้นๆ 
- สรุปโครงสร้างการจัดการปัญหาที่ชัดเจน เช่น ใครต้องทำอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร  

2. การสื่อสารอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
- ส่งสารโดยเร็วที่สุดเพื่อลดความสับสนและความกังวลของคนจำนวนมาก
- ให้ข้อมูลปัจจุบัน และ update เป็นระยะ 
- ใช้ช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทันที เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือ Social Media ต่างๆ

3. การใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
- ข้อมูลที่เผยแพร่ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานรัฐ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์
- ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ เพื่อหลีกเลี่ยงข่าวลือหรือข้อมูลเท็จ  

4. การใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย
- ผสมผสานช่องทางการสื่อสาร เช่น การแถลงข่าว อีเมล ข้อความ SMS และ Social Media
- คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีข้อจำกัด เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ  

5. การสื่อสารแบบสองทาง (Two-Way Communication) 
- เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถสอบถามหรือให้ข้อมูลกลับมาได้  
- มีช่องทางติดต่อที่ชัดเจน เช่น ศูนย์ข้อมูล หรือสายด่วน 

6. การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจและความมั่นใจ
- แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในความกังวลของประชาชน  
- ให้ข้อมูลที่สร้างความมั่นใจ พร้อมแนวทางแก้ปัญหา  

โดยสรุปก็คือ 
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤติ ต้องเป็น “ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ทันเวลา เชื่อถือได้ และเปิดกว้างสำหรับการตอบกลับ” เพื่อช่วยลดความตื่นตระหนก และเพิ่มความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญและประชาชนครับ

ชาวเน็ตชื่นชม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างซีคอนฯ อาสาพาลูกค้ากลับบ้าน หลังแผ่นดินไหวทำจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ

(30 มี.ค. 68) จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับบ้านด้วยความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความวุ่นวายยังมีเรื่องราวดีๆ ที่สร้างรอยยิ้มให้กับสังคม

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chaiyaporn Chinaprayoon ได้แชร์ภาพและข้อความชื่นชมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ที่อาสานำมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวออกมาช่วยรับ-ส่งลูกค้าที่ติดอยู่ภายในห้างฯ และบริเวณใกล้เคียงจนถึงช่วงดึก เพื่อให้ทุกคนได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย

“ลูกค้าไม่ท้อ รปภ. ไม่ทิ้ง” เฟซบุ๊กของ Chaiyaporn Chinaprayoon โพสต์ข้อความดังกล่าว สะท้อนถึงน้ำใจของเจ้าหน้าที่ที่อาสาขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งลูกค้าโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกจากนี้ยังมีลูกค้าหลายคนที่ได้รับความช่วยเหลือเข้ามาเขียนข้อความขอบคุณทีมงานรักษาความปลอดภัยของห้างฯ ที่ทุ่มเทช่วยเหลือประชาชนในช่วงเวลาคับขัน

ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลอย่างมาก โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและชื่นชมเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่แสดงออกถึงความมีน้ำใจและจิตอาสา หลายคนมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความมีน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือกันแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว แต่ยังแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ดีงามของคนไทย ที่ไม่ทอดทิ้งกันแม้ในยามวิกฤติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top