Wednesday, 30 April 2025
ค้นหา พบ 47762 ที่เกี่ยวข้อง

‘บางจาก’ เดินหน้าขับเคลื่อนน่านฟ้าคาร์บอนต่ำ ตั้งหน่วยผลิต Neat SAF แบบ Stand Alone แห่งแรกในไทย

กลุ่มบริษัทบางจาก เปิดหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง เป็นหน่วยผลิต Neat SAF 100% ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ (Stand Alone) แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก ภายใต้ระบบที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล สะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมสีเขียวเพื่อความยั่งยืน จากผู้นำพลังงานทดแทนสู่ผู้บุกเบิกพลังงานแห่งอนาคต

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หน่วยผลิต SAF แห่งนี้เป็นหน่วยผลิต Neat SAF 100% แบบ Stand Alone แห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง ภายใต้ระบบที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISCC (International Sustainability and Carbon Certification) โดยมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน ใช้เทคโนโลยี HEFA (Hydroprocessed Esters and Fatty Acid) แปรรูปกรดไขมันหรือน้ำมันพืช เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาโดยความร่วมมือกับ 2 บริษัทชั้นนำของโลก คือ Desmet จากประเทศเบลเยี่ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการปรับสภาพวัตถุดิบ (Pretreatment) และ UOP Honeywell จากสหรัฐอเมริกา ผู้นำด้านเทคโนโลยีแปรสภาพไฮโดรโปรเซสซิ่ง (Hydroprocessing) ทำให้กระบวนการผลิตสามารถควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ การปรับสภาพน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว การเติมไฮโดรเจน การปรับโครงสร้างโมเลกุล ไปจนถึงการกลั่นแยก (Fractionation) เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำมันอากาศยานตามมาตรฐาน ASTM (American Society for Testing and Materials) โดยมีผลิตภัณฑ์หลักคือ Neat SAF และผลิตภัณฑ์ร่วมเช่น Bio-LPG และ Bionaphtha ขณะนี้ หน่วยผลิต SAF อยู่ระหว่างการทดสอบสมรรถนะของโรงงาน (Plant Performance Test Run) 

จากข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ภาคการบินมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 492 ล้านตันต่อปี แม้จะใช้พลังงานเพียงร้อยละ 2.9 ของโลกเท่านั้น การพัฒนา SAF จึงเป็นหัวใจของแผนการลดคาร์บอนในระดับโลก สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึงร้อยละ 80 ซึ่งมากกว่าและคุ้มทุนกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ในปัจจุบัน โดยหลายประเทศได้ออกมาตรการบังคับใช้ SAF (SAF Blending Mandate) ในเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานแล้ว เช่น สหภาพยุโรป (ร้อยละ 2 ในปี 2568 และร้อยละ 6 ในปี 2573) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 2 ในปี 2568 และร้อยละ 10 ในปี 2573) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 1 ในปี 2569 และร้อยละ 5 ในปี 2573) สำหรับประเทศไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาการกำหนดมาตรการผสมดังกล่าว

นอกจากช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการบินแล้ว SAF ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแทบไม่มีสารอะโรมาติกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารนี้เป็นสารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการกระตุ้นการเกิดโรคมะเร็ง และยังมีปริมาณสารซัลเฟอร์ต่ำมาก จึงช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ รวมถึงลดความเสี่ยงของการเกิดฝนกรดอีกด้วย

โครงการนี้สะท้อนความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานของกลุ่มบริษัทบางจาก ต่อยอดจากประสบการณ์กว่า 20 ปีในการพัฒนาพลังงานทดแทน เริ่มจากความร่วมมือกับกรมอู่ทหารเรือในปี 2543 ในการสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว เพื่อใช้ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และนำร่องการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลเป็นรายแรกในประเทศไทยในสถานีบริการน้ำมันบางจากเมื่อปี 2547 นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วจากชุมชนและเครือข่าย เพื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลตั้งแต่ปี 2551 จนได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านพลังงานทดแทนของประเทศ และพัฒนามาสู่ผู้บุกเบิกพลังงานแห่งอนาคตด้วยการผลิต Neat SAF ซึ่งให้ความสำคัญกับระบบความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วผ่านโครงการ 'ทอดไม่ทิ้ง' ที่สถานีบริการบางจากกว่า 290 แห่งทั่วประเทศ และตั้งเป้าขยายเป็น 2,000 แห่งภายในสิ้นปี 2568 รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดหาวัตถุดิบกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรภาคธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมรองรับระบบ Book & Claim ซึ่งเป็นแนวทางที่องค์กรระดับโลกใช้ในการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงสะอาด เพื่อให้ผู้โดยสารและสายการบินสามารถร่วมสนับสนุนการลดคาร์บอนได้โดยตรง ผ่านการอ้างสิทธิ์การใช้ SAF ที่ผลิตขึ้นจริง พร้อมได้รับใบรับรองการลดคาร์บอน ช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้อย่างเป็นรูปธรรม

ม.นานาชาติกวางตุ้ง ผลักดันโมเดล ‘ภาษา+เทคโนโลยี’ ส่งนักศึกษาเยือน Alibaba แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน AI และระบบคลาวด์ เพื่อพัฒนาการแปลในยุคดิจิทัล

(29 เม.ย. 68) มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง (GDUFS) เดินหน้าปั้นนักแปลพันธุ์ใหม่ที่ไม่เพียงเก่งภาษา แต่ยังเข้าใจเทคโนโลยี ล่าสุดส่ง “หลี่ หมิงข่าย” นักศึกษาสายเทคโนโลยีและการแปล ร่วมภารกิจระดับโลกที่สำนักงานใหญ่ Alibaba และบริษัทเทคโนโลยี Xinfengwei เมืองหางโจว ประเทศจีน เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียด้าน AI กับเยาวชนจากนานาชาติ

ภารกิจครั้งนี้ หลี่ หมิงข่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยคีล ประเทศเยอรมนี พร้อมนำเสนอโปรเจกต์ “แอป AI แบบไม่ต้องเขียนโค้ด” บน DingTalk ด้วยภาษาอังกฤษ และเข้าร่วมการถกประเด็นระดับโลก เช่น บทบาทของ AI ต่อการศึกษาและความร่วมมือข้ามชาติ ถือเป็นเวทีที่ผสมผสานทั้งนวัตกรรมและวัฒนธรรมอย่างลงตัว

ในการเยือน ซิน เฟิงเวย นักศึกษาจาก GDUFS ยังได้สัมผัสเวิร์กช็อปด้าน “AI แปลภาษาบนคลาวด์” ซึ่งร่วมพัฒนาโดย GDUFS และ Alibaba Cloud พร้อมเรียนรู้เบื้องหลังการจัดการระบบคลาวด์ แชทอัจฉริยะ และโมดูลการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งทีมของหลี่หมิงข่ายกำลังนำกลับไปปรับใช้กับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น

ความร่วมมือดังกล่าวสะท้อนวิสัยทัศน์ของ GDUFS ที่ต้องการยกระดับการศึกษาด้านการแปลให้ทันสมัย ด้วยเทคโนโลยี AI และการเรียนรู้แบบประสานศาสตร์ โดยในเดือนธันวาคม 2024 ได้เปิดตัว “แพลตฟอร์ม AI แปลภาษาผ่านระบบคลาวด์” ที่ออกแบบตามมาตรฐาน CSE ของจีน มีฟีเจอร์ล้ำสมัย เช่น การวัดผลอัตโนมัติและ AI เพื่อนช่วยเรียน

ไม่หยุดแค่ในประเทศ GDUFS ยังขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเก๊า (MPU) และองค์การสหประชาชาติ เพื่อปั้นนักแปลที่มีทั้งอุดมการณ์ ความรู้รอบด้าน และศักยภาพในการทำงานระดับโลก โดยในปี 2023 ได้จัดการแข่งขันล่ามระดับนานาชาติ “อวิ๋นซานเปย” รอบชิงชนะเลิศครั้งที่ 3 อย่างยิ่งใหญ่

จากเวทีหางโจวสู่คลาสเรียนดิจิทัล GDUFS กำลังเขียนนิยามใหม่ของนักแปลมืออาชีพในศตวรรษที่ 21 ด้วยการผนวก “ภาษา+เทคโนโลยี” เข้าด้วยกัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก้าวสู่โลกอนาคตที่ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างทักษะและนวัตกรรมอีกต่อไป

ญี่ปุ่นเตือนแรง มาตรการภาษี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กำลังเขย่าพันธมิตร ชี้อาจเป็นบูมเมอแรงทำเอเชียตีตัวออกห่างสหรัฐฯ ซบอกจีนแทน

(29 เม.ย. 68) อิตสึโนริ โอโนเดระ (Onodera Itsunori) หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น (LDP) แสดงความกังวลว่า มาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้หลายประเทศในเอเชียที่เคยมีท่าทีใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หันไปสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่โอโนเดระร่วมงานที่สถาบันฮัดสัน กรุงวอชิงตัน โดยเขาระบุว่าหลายประเทศในเอเชียเริ่มไม่สบายใจกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการภาษีของทรัมป์ที่อาจสร้างแรงจูงใจให้พันธมิตรเดิมเปลี่ยนทิศทางทางยุทธศาสตร์

โอโนเดระยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีน โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลในช่องแคบไต้หวัน การซ้อมรบเชิงรุก และการกดดันด้านจิตวิทยาในประเด็นดินแดนพิพาท

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นเตรียมเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่กับสหรัฐฯ โดยมีรายงานว่าทรัมป์พยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันให้ญี่ปุ่นมากขึ้น โอโนเดระเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาความร่วมมือในการผลิตและส่งออกอาวุธ เช่น กระสุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายใหม่ของญี่ปุ่นที่เปิดทางสู่การส่งออกยุทโธปกรณ์มากขึ้นในอนาคต

30 เมษายน พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทอดพระเนตรสุริยุปราคากับคณะทูตฝรั่งเศส ปูทางสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสมัยอยุธยา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระโอรสของพระเจ้าปราสาททองและพระราชเทวี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยพระปรีชาสามารถและวิสัยทัศน์ที่ล้ำลึก ทั้งด้านการทหาร การทูต และการส่งเสริมวัฒนธรรมและวิทยาการ โดยเฉพาะการเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก ซึ่งในขณะนั้น ฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงศรีอยุธยาอย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาและการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงการสังเกตดาราศาสตร์ผ่านกล้องดูดาวที่พระองค์ทรงได้รับการช่วยเหลือจากคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่พระองค์และข้าราชการไทย

โดยในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 เป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย เนื่องจากในวันดังกล่าว สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่เกิดขึ้น ณ พระที่นั่งเย็น พระที่นั่งตำหนักกลางทะเลชุบศร เมืองลพบุรี โดยมีคณะบาทหลวงฝรั่งเศสและข้าราชบริพารฝ่ายไทยร่วมทอดพระเนตรด้วยกัน เหตุการณ์นี้ถือเป็นการแสดงออกถึงพระราชความสนใจในวิทยาการและการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งพระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะนำความรู้จากตะวันตกมาปรับใช้ในการปกครองและพัฒนาประเทศไทยในด้านต่าง ๆ

การทอดพระเนตรสุริยุปราคาในครั้งนี้สะท้อนถึงความสนพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ในวิทยาการและความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ พระองค์ไม่เพียงแต่สนใจในเรื่องการทหารและการปกครองเท่านั้น แต่ยังทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาอาณาจักรอยุธยาในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้และเปิดรับความรู้จากต่างประเทศ

ในรัชสมัยของพระองค์ การทูตกับฝรั่งเศสมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการส่งคณะราชทูตไปยังฝรั่งเศสเพื่อสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ฝรั่งเศสภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ให้ความสำคัญกับการส่งคณะทูตและนักวิทยาศาสตร์มายังประเทศไทย การเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตนี้นอกจากจะส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการทหารแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการเปิดประตูสู่วัฒนธรรมตะวันตกในประเทศไทยอีกด้วย

เหตุการณ์ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 เป็นการสะท้อนถึงความสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในฐานะพระมหากษัตริย์ที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล ทั้งในด้านการปกครอง การทหาร และการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการสนใจในดาราศาสตร์และการสังเกตการณ์สุริยุปราคา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการพัฒนาประเทศผ่านการศึกษาความรู้จากต่างประเทศ การทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนี้จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงออกถึงความรู้ในวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดรับนวัตกรรมและวิทยาการจากโลกภายนอก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอาณาจักรอยุธยาในหลายมิติ

'อดีตข้าราชการ กต.' เผยเหตุ 'ในหลวง-พระราชินี' ทรงขับเครื่องบินเยือน ‘ภูฏาน’ ด้วยพระองค์เอง

(29 เม.ย. 68) นายบุญญ์พัชรเกษม เสริมวัฒนากุล อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ผลิตสารคดีเทิดพระเกียรติ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก "Boonpachakasem Sermwatanarkul" ระบุว่า Why not? คำถามซ่อนความนัย ทำไมถึงต้องทรงขับเครื่องบินด้วยพระองค์เองล่ะ?

ทำไมไม่ให้นักบินประจำเครื่องบินพระที่นั่งขับเครื่องบินถวายเพื่อพระองค์ท่านจะได้พักพระวรกายก่อนทรงงานตามหมายเสด็จพระราชดำเนินเต็มทั้งวันและทุกวันในการเสด็จเยือน?

ทำไม ทำไม และทำไม ที่ไม่อาจนำคำถามสารพันและสารเลวมาโพสให้ย่ำยีหัวใจคนไทยที่กำลังเปี่ยมสุขและเต็มปิติในการเสด็จเยือนต่างประเทศเป็นทางการ หรือ State Visit เป็นครั้งแรกแห่งรัชสมัยที่ 10

ก่อนจะตอบตามความเข้าใจของข้าพเจ้าที่เฝ้าติดตามอ่าน รับฟังและรับชมข่าวพระราชสำนักผ่านหนังสือพิมพ์ ฟังประกาศทางวิทยุทรานซิสเตอร์ ผ่านหน้าจอทีวีขาวดำเลยจนมาเป็นทีวีสี ผ่านสื่อมวลชนทั้งหมดเหล่านี้คือรวมเวลาประสบการณ์ในการเป็นผู้รับข่าวสารราชสำนักมามากกว่า #ครึ่งศตวรรษ แล้วยิ่งได้ใช้เวลาร่ำเรียนฝึกปรืองานพิธีทางการทูตไทย #เกือบ2ทศวรรษ กับการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ และ #กว่า1ทศวรรษ ในการตระเวนตะลุยเกือบทุกจังหวัดในทุกภูมิภาคและคนไทยในต่างประเทศเพื่อถ่ายทำถ่ายทอดหัวใจคนไทยทุกหมู่เหล่าผ่านสารคดีเฉลิมพระเกียรติ เพื่อจะแสดงยืนยันถึง #สัญญะของการตั้งใจมุ่งมั่น หรือ #มีเจตนาอย่างแน่วแน่ ที่จะมอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อแสดงความหมายที่ถ่องแท้ของคำว่า #มิตรภาพอันยิ่งใหญ่ ให้กับใครสักคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง

การทรงขับเครื่องบินเพื่อลงจอดหรือขึ้นบินบนสนามบินที่ได้ชื่อว่า เป็น #สนามบินที่หินที่สุดและยากที่สุดอันดับต้นของโลก แค่มีรับสั่งอย่างฉับพลันทันใดแล้วก็ทรงประทับที่นั่งและทรงขับเครื่องบินได้ทันทีกระนั้นหรือ

เปล่าเลย..ไปถามนักบินทุกคนไม่ว่านักบินไทยหรือต่างชาติ การจะบินลงสนามบินที่ภูฏานคงต้องซ้อมบินในห้องนักบินจำลองไม่รู้กี่สิบหรือร้อยชั่วโมงบิน ถึงจะชำนาญและมั่นใจพร้อมจะทำการบินได้จริง

พระองค์ท่านล่ะ..ก็คงต้องทรงงานไม่ต่างจากนักบินคนอื่นๆ คงทรงตระเตรียมเส้นทางการบิน ทรงซ้อมบิน ทรงวางแผนการบินมาอย่างดี ด้วยพระประสงค์ประการเดียว คือ ทรงให้การตั้งพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการบินของพระองค์ครั้งนี้เป็นเสมือน #ของขวัญพิเศษ เป็นประจักษ์หลักฐานแห่งมิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศ ระหว่างทั้งสองพระราชวงศ์และสัมพันธภาพของประชาชนชาวภูฏานและชาวไทย

#สัญญะ คือ #ความตั้งพระทัย ในครั้งนี้ ทุกคนทุกฝ่ายทุกดวงใจประจักษ์ตรงกันเที่ยงแท้แน่นอนว่า ทรงมุ่งมั่น ทรงกล้าหาญ และทรงตั้งพระทัยพระราชทานมอบความกล้าหาญของทั้งสองพระองค์นี้ฝากไว้บนดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัย บนแผ่นดินราชอาณาจักรภูฏานไปจนตราบนานแสนนาน

#ที่เราเห็นอาจเป็นเพียงเสี้ยว
#ที่เราไม่เห็นยังมีอื่นๆอีกมากมาย
#สิ่งสำคัญคือมิตรภาพงดงามตราบนาน

ขอพระราชทานพระราชานุญาต กราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาทของทั้งสองบดินทร์ เพื่อปักปิ่นมิตรภาพไทยและภูฏานให้แน่นแฟ้น และเพื่อเป็นเช่นปิ่นหทัยบนกลางดวงใจพสกนิกรทั้งสองแผ่นดิน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า นายบุญญ์พัชรเกษม เสริมวัฒนากุล (ผู้ร้อยเรียงเรื่องราวแห่งสัญญะอันสง่างาม) 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top