1 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนธรรมเนียมในราชสำนัก จากการหมอบกราบบนพื้น เป็นนั่งเก้าอี้ทำงานตามแบบตะวันตก
ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการทำงานภายในราชสำนัก โดยเฉพาะในระบบราชการหรือ 'ออฟฟิศ' จากธรรมเนียมไทยแบบเดิมที่ต้องนั่งพับเพียบหรือหมอบกราบบนพื้น มาเป็นการ 'ยืน' และ 'นั่งเก้าอี้' ตามแบบอย่างของชาวตะวันตก ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของประเทศที่เจริญแล้วในยุคนั้น
ในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม 3 ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกรมศิลปากร ได้เล่าว่า “เมื่อราชสำนักเลิกหมอบเฝ้าและใช้เก้าอี้ในระยะแรกๆ คนไทยยังคงนั่งเก้าอี้ไม่เป็น ผู้หญิงขึ้นไปนั่งพับเพียบ ส่วนชายนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ จนรัชกาลที่ 5 ต้องมีพระราชโองการแนะนำวิธีการนั่งเก้าอี้ โดยใช้วิธีหย่อนก้นเท่านั้นลงบนเก้าอี้ ส่วนขาให้ห้อยลงไป”
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพยายามปรับปรุงระเบียบแบบแผนของราชการไทยให้ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศที่เจริญและมีความเสมอภาคระหว่างผู้ปฏิบัติราชการ ซึ่งเป็นรากฐานหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการไทยในยุคใหม่
นอกจากนี้ ยังนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปรับตัวของสังคมไทยเข้าสู่ระบบบริหารจัดการแบบตะวันตก อันมีอิทธิพลต่อโครงสร้างราชการ ระบบกฎหมาย และวัฒนธรรมองค์กรของไทยในเวลาต่อมา
