Tuesday, 29 April 2025
ค้นหา พบ 47762 ที่เกี่ยวข้อง

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#19 'Saigon, the Last Day' 30 เมษายน 1975 วันสุดท้าย 'กรุงไซ่ง่อนและสาธารณรัฐเวียตนาม'

วันนี้ ย้อนหลังไป 50 ปีก่อนเป็นวันล่มสลายของสาธารณรัฐเวียตนามหรือเวียตนามใต้ รำลึกนึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยบทความที่แปลจากบันทึกของคุณ Loren Jenkins อดีตบรรณาธิการอาวุโสฝ่ายต่างประเทศของสำนักข่าว NPR ขณะเป็นนักข่าวของ Newsweek ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ขณะกรุงไซ่ง่อนล่มสลายจากการยึดครองของกองทัพเวียตนามเหนือ และกองกำลังเวียตกงในปลายเดือนเมษายน 1975 เขาเล่าให้ฟังถึงชั่วโมงสุดท้ายที่สุดวุ่นวายในสถานเอกอัครรัฐทูตสหรัฐฯ ซึ่งเขาเขียนและเผยแพร่ในขณะที่ยังเป็นบรรณาธิการอาวุโสฝ่ายต่างประเทศของสำนักข่าว NPR

สิ่งที่ผมจำได้เกี่ยวกับวันสุดท้ายในเวียตนาม ผมตื่นขึ้นมาก่อนรุ่งสางจากเสียงและแรงระเบิด ในช่วงครึ่งหลับครึ่งเคลิ้มผมกลิ้งไปบนพื้น ดึงที่นอนที่อยู่ด้านบนแล้วนอนหลับต่อ ปฏิกิริยานั้นเป็นสัญชาตญาณ Pavlovian Reflex เพื่อหลีกเลี่ยงเศษกระจกที่แตกกระจายหากมีการระเบิดใกล้ ๆ แต่แล้วผมก็ตื่นขึ้น และตระหนักว่า การระเบิดนั้นเป็นการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ไปยังสนามบิน Ton Son Nhut กองกำลังเวียตนามเหนือเคลื่อนที่ไปทางใต้เป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว โดยก่อนหน้านั้นคลื่นขนาดยักษ์ของผู้ลี้ภัย ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็มาถึงกรุงไซ่ง่อน หลังจากเวลาผ่านไปสิบปีสงครามก็กำลังจะสิ้นสุดลง

เมื่อฝ่ายเวียตนามเหนือกำลังเข้ายังมีนักข่าวมากมายที่พูดคุยกันไม่หยุดหย่อนในลานของโรงแรม Continental Palace ซึ่งเป็นที่พักของนักข่าวต่างประเทศ เราควรจะอยู่เพื่อบันทึกการเข้ายึดครองกรุงไซ่ง่อนที่เราอยู่มานานของกองทัพเวียตนามเหนือเป็นครั้งสุดท้ายแล้วหรือไม่? หรือเราควรปฏิบัติตามแผนการของสถานทูตสหรัฐฯ ที่จะส่งรถบัสมารับไปยังสนามบิน Ton Son Nhut เพื่อขึ้นเครื่องบินอพยพไปยังเกาะกวมซึ่งบินมารอแล้วหลายสัปดาห์หรือไม่? แผนการอพยพของสหรัฐฯ นั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนการผจญภัยในสหรัฐอเมริกา แต่เกิดขึ้นในเวียตนาม เมื่อมีการตัดสินใจที่จะดึงปลั๊กปฏิบัติการในเวียตนามใต้เป็นครั้งสุดท้าย เพลง "White Christmas" จะถูกเปิดโดยสถานีวิทยุของกองทัพสหรัฐฯ นั่นจะเป็นสัญญาณให้คนอเมริกันหลายพันคนที่ยังคงอยู่ในกรุงไซ่ง่อนรีบเดินทางไปยังสถานที่ที่ได้รับการเตรียมการทั่วเมืองเพื่อรอรถบัสที่จะมารับและพาไปยังสนามบิน Ton Son Nhut

แต่ในฐานะผู้สื่อข่าวของ Newsweek ซึ่งติดตามปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของอเมริกาในเวียตนาม การไปสนามบินเป็นความคิดที่ตัดทิ้งไปเลย ขณะที่กรุงไซ่ง่อนล่มสลายสิ่งสุดท้ายที่ผมอยากทำ เมื่อประธานาธิบดี ฟอร์ดสั่งให้การอพยพของชาวอเมริกันในกรุงไซ่ง่อนเริ่มต้น เนื่องจากการโจมตีสนามบินผมเลือกที่จะบันทึกนาทีสุดท้ายของปฏิบัติการของสหรัฐฯในเวียตนามที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไซ่ง่อนแทน สถานทูตฯ ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีตสีขาวยาว 15 ฟุต เสริมด้วยขดลวดหนาม อาคารสถานทูตหกชั้นเป็นป้อมปราการที่ทันสมัยตั้งตระหง่านอยู่เหนืออาคารทรงเตี้ยที่ล้อมรอบ ที่นั่นนโยบายของสหรัฐฯ ถูกนำมาปฏิบัติมายาวนาน และที่นี่ในที่สุด Graham Martin เอกอัครรัฐทูตประจำสาธารณรัฐเวียตนาม ผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามนโยบายฯ เป็นคนสุดท้าย

ผมจำได้ว่า เมื่อเช้านั้นได้พบกับ David Greenway แห่ง The Washington Post ที่แผนกต้อนรับของ Continental Palace เขาค่อย ๆ ควักเงินเวียตนามที่กำลังจะหมดค่าออกมาจ่ายค่าโรงแรม โดยพูดว่า ไม่มีสุภาพบุรุษคนไหนออกจากโรงแรมโดยไม่จ่ายบิล และเราขับรถไปที่สถานทูตฯ ด้วยรถยนต์โตโยต้าของ The Washington Post ไปตามถนนที่ไม่มีการจราจรซึ่งผิดปกติ บนถนนเกลื่อนไปด้วยเครื่องแบบและรองเท้าบู๊ทของทหารเวียตนามใต้ถอดทิ้งเอาไว้ เมื่อเรามาถึงสถานทูตฯ ประตูปิดอยู่ และนาวิกโยธินติดอาวุธยืนเฝ้าอยู่เหนือกำแพงคอนกรีต เมื่อชาวเวียตนามนับพันเริ่มร้องขอให้นำอพยพออกมาพร้อมกับชาวอเมริกัน เราทั้งผลักทั้งดันกลุ่มคนเวียตนาม แสดงหนังสือเดินทางของสหรัฐฯ และกดบัตรที่ประตู แล้วมีคนมาเปิดและให้พวกเราเข้าไปในสถานทูตฯ

ภายในมีความวุ่นวาย ไร้ระเบียบ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนาวิกโยธิน เจ้าหน้าที่ซีไอเอ และอาสาสมัครของกระทรวงการต่างประเทศเดินไปมาทั่วบริเวณ และจัดวางกำลังพร้อมอาวุธหลากหลายประเภท ตั้งแต่ปืนกลมือทอมสันโบราณไปจนถึงมีดล่าสัตว์ติดกับเข็มขัด ชาวเวียตนามหลายพันคนที่กำลังสิ้นหวัง กรีดร้อง และกำลังพยายามปีนกำแพง และมุดผ่านขดลวดหนาม ซึ่งก็ถูกผลักกลับเข้าไปในถนนด้วยปืน M16 อย่างไร้ความปราณี ต้นมะขามขนาดใหญ่ที่บังเงาให้รถของเอกอัครรัฐทูตพึ่งถูกตัดและลากไปไว้ด้านข้างเพื่อเปลี่ยนลานจอดรถให้เป็นจุดลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ ยิ่งไปกว่านั้นมีคนหลายร้อยถูกปล่อยให้เข้ามา เพราะทำงานร่วมกับชาวอเมริกันรวมตัวกันอยู่กลางกองกระเป๋าเดินทาง กล่องกระดาษแข็งและเสื้อผ้า มีนายพลเวียตนามใต้อย่างน้อยสามคนในชุดเครื่องแบบกับครอบครัว นักการเมืองเวียตนามใต้ อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไซ่ง่อน หัวหน้าหน่วยดับเพลิงและคนของเขาอีกสิบคนยังคงสวมหมวกเหล็ก ชาวเวียตนามคนอื่น ๆ บุกเข้าไปในโรงอาหารของสถานทูตเพื่อค้นหาเครื่องดื่ม และอาหารเท่าที่พวกเขาสามารถหาได้

ชั้นบนสุดของอาคารซึ่งจัดเก็บเอกสารลับสุดยอดไว้ เอกสารที่ถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ เรียงซ้อน และทิ้งออกนอกหน้าต่างออก มีควันจากสำนักงานบางแห่งที่มีการเผาเอกสารอื่น ๆ และจนถึงจุดหนึ่งเจ้าหน้าที่ซีไอเอสามคนในเสื้อแจ็กเก็ตเลื่อนรถเข็นที่เต็มไปด้วยธนบัตรร้อยดอลลาร์จากตู้เซฟ และทิ้งลงในเตาเผาขยะด้านนอก จากนั้นก็มีเสียงของใบพัดเฮลิคอปเตอร์ที่บินลงมาจากท้องฟ้าสีคราม เฮลิคอปเตอร์ CH-46 ขนาดใหญ่บินจากเรือรบของกองเรือที่ 7 แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ลอยลำอยู่ในทะเลจีนใต้ ความวุ่นวายเป็นกิจวัตรเช่นนี้ตลอดทั้งวันทั้งคืน เฮลิคอปเตอร์บินเข้ามาและบินจากไป ในที่สุดเวลา 18 ชั่วโมงหลังจากการอพยพเริ่มขึ้น ประธานาธิบดีฟอร์ดได้สั่งให้ยุติการอพยพโดยทีมเฮลิคอปเตอร์ 80 ลำที่บินแล้วจนหมดแรงแล้ว 495 เที่ยว มีการบอกกล่าวอย่างเงียบ ๆ กระจายออกไปว่าจะมีเพียงชาวอเมริกันที่เหลือเท่านั้นที่จะได้รับการอพยพ ทหารนาวิกโยธินบนกำแพงถอยกลับเข้าไปในอาคารสถานทูตฯ ประตูถูกปิดและพวกเราข้างในก็ขยับขึ้นไปบนหลังคา

ในที่สุดประมาณตี 4 ทูต Graham Martin ปรากฏตัวเงียบ ๆ พร้อมกับทีมงานบนหลังคาอาคารอย่างเงียบ ๆ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยและอิดโรย มีธงชาติสหรัฐฯ ของสถานทูตฯ ที่พับแล้วอยู่ใต้วงแขนของเขา ผมเข้าไปร่วมกับเลขานุการส่วนตัวของเขาและ Nitnoy สุนัขพุดเดิ้ลสีดำสัตว์เลี้ยงของเขา (น่าจะเป็นชื่อไทยว่า “นิดหน่อย” ด้วยตัวทูต Graham Martin เคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย) ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ CH-46 ลำหนึ่งบนหลังคา ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์ CH-46 ยกตัวออกมา มุมมองสุดท้ายต่อประเทศที่เขาเป็นดั่งอุปราชอเมริกันคือ ภาพของพลุดอกไม้ไฟขนาดยักษ์ที่เกิดจากบรรดากระสุนที่ทิ้งไว้ในค่าย Bien Hoa ทางทิศเหนือเกิดระเบิดขึ้น และแสงไฟจากรถบรรทุกที่ยาวเหยียดไกลสุดสายตา ซึ่งสามารถเห็นได้ว่า ขบวนรถของกองทัพเวียตนามเหนือมุ่งลงไปทางใต้เพื่อชัยชนะ

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

สส.เดโมแครต เสนอ 7 ญัตติด่วนถอดถอน ‘ทรัมป์’ พ้นตำแหน่ง ปธน. ปมใช้อำนาจเกินขอบเขต-ขัดขวางกฎหมาย-รับสินบน และอีกเพียบ!!

(29 เม.ย. 68) นายชริ ธาเนดาร์ (Shri Thanedar) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียจากพรรคเดโมแครต รัฐมิชิแกน เสนอญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าเป็นการรับมือกับพฤติกรรมที่บ่อนทำลายหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยของสหรัฐฯ พร้อมนำเสนอบทความถอดถอนจำนวน 7 ประการ ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวหาการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจบริหารโดยมิชอบ การติดสินบน และการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐอย่างผิดกฎหมาย

ในรายละเอียดข้อกล่าวหา นายธาเนดาร์ ระบุว่าทรัมป์ได้เพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง ดำเนินนโยบายเนรเทศที่ละเมิดสิทธิทางกฎหมาย ใช้อิทธิพลครอบงำกระทรวงยุติธรรม และก่อตั้ง “กระทรวงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล” หรือ DOGE ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยมีการกล่าวหาว่า “อีลอน มัสก์” ได้รับอำนาจเกินควรผ่านหน่วยงานดังกล่าว

บทความถอดถอนยังชี้ว่าทรัมป์ใช้ตำแหน่งเพื่อโจมตีนักวิจารณ์และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เป็นการละเมิดสิทธิตามบทบัญญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการใช้นโยบายภาษีเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการคุกคามทางทหารต่อประเทศอื่น ๆ ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ

นายธาเนดาร์เรียกร้องให้รัฐสภาเร่งดำเนินการ โดยกล่าวว่า “เราไม่สามารถรอให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ได้” อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าญัตติดังกล่าวมีแนวโน้มไม่คืบหน้า เนื่องจากพรรครีพับลิกันยังควบคุมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งอาจขัดขวางการพิจารณาได้ตั้งแต่ต้นทาง

ถอดรหัสผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีธรรมราช ‘กระสัน กระแส กระสุน’ ปัจจัยหนุน ‘บิ๊กโอ’ คว้าชัย

มีคนถามมาว่า อะไรเป็นปัจจัยชัยชนะของ 'บิ๊กโอ-ก้องเกียรติ เกตุสมบัติ' หรือ สจ.โอ ในการเลือกตั้งซ่อม เขต 8 นครศรีฯ หลังจาก 'มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล' จากพรรคภูมิใจไทย โดนใบแดง ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

ความจริงข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือไสว เลื่องสีนิล สามีของมุกดาวรรณ ที่มาลงสมัครแทน ได้คะแนนถึง 28,000 กว่าคะแนน ซึ่งมากกว่า คะแนนที่มุกดาวรรณ เคยได้ 23,000 กว่าคะแนน แต่คะแนนของบิ๊กโอกลับพุ่งขึ้นไปเกือบทะลุ 40,000 คะแนน คว้าชัยชนะไปแบบขาดลอย ม้วนเดียวจบ

บิ๊กโอในวัย 40 กว่าๆ ถือว่าเป็นช่วงวัยหนุ่มวัยทำงาน วัยวุฒิพร้อม คุณวุฒิพร้อม องคาพยพพร้อม การที่ใครสักคนจะได้เป็นรับเลือกตั้งจากประชาชนเป็นสส. นอกจากโชคชะตาแล้วยังมีองค์ประกอบหลายด้านเป็นความลงตัวในทุก ๆ มิติที่เกี่ยวข้องกับตัวตนของเขา

กระสัน กระแส กระสุน เป็นปัจจัยหลักในการนำชัยชนะคราวนี้ กระสัน คือความอยากมีในตัวของ บิ๊กโอแน่นอน อยากเข้าสู่แวดวงการเมือง เขาเริ่มเข้ามาสัมผัสจากการเป็นสารวัตรกำนัน ต.ละอาย อ.ฉวาง จังหวะปะเหมาะก็ลงชิง ส.อบจ.อ.ฉวาง จ.นครศรีฯ และได้รับเลือกตั้ง 

ด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนี้ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มคน มีผู้คนมาให้กำลังใจมากมาย

บิ๊กโอทำหน้าที่ ส.อบจ.อยู่ 2 ปี ตัดสินใจลาออก เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.เขต 8 นครศรีฯ (ฉวาง ช้างกลาง นาบอน และพิปูน) ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้บิ๊กโอไม่ได้ลงสมัคร

สองปีที่รอคอย 'ใบแดง' บิ๊กโอเริ่มแต่งเนื้อแต่งตัว เตรียมความพร้อม เขาตัดสินใจเข้าสังกัดค่ายธรรมนัส พรหมเผ่า พรรคกล้าธรรม และเมื่อใบแดงชัดเจน พรรคกล้าธรรมก็เปิดตัวส่งบิ๊กโอลงสนาม แม้จะต้องราวีกับพ่อตา -ชินวรณ์ บุณยะเกียรติ จากพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม

กระแสของบิ๊กโอมีมาตลอดว่าจะลง สส.ในเขต 8 แน่นอน มีการกล่าวขานถึงเด็กหนุ่ม ไฟแรงคนนี้มาตั้งแต่ต้น แม้จะสังกัดพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่เคยผ่านสนามเลือกตั้งมาก่อน แต่ฝีมือระดับผู้กองธรรมนัส และพลพรรค เป็นทีมการเมืองที่สามารถกำกับบังคับให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงตามที่ต้องการได้ ผู้กองธรรมนัส เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งซ่อมเขต 4 นครศรีธรรมราชมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็ใช้วิธีการตั้งวอร์รูมแล้วบริหารคะแนนเสียงให้มากพอ พอที่จะเป็น สส.ก็ประสบความสำเร็จมาแล้ว ดันให้ 'อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ' เป็น สส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ 1 สมัย

กระสุนเป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า พรรคที่ยิงกระสุนเยอะๆ ก็จะมีคะแนนมาก ส่วนพรรคซื้อๆ ทำการเมืองสุจริต คะแนนออกมาแทบจะเป็นลม ระดับ 'ชินวรณ์' อดีต สส.9 สมัย อดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการ มีคะแนนแค่ 4000 กว่าคะแนน พรรคประชาชนมีคะแนนแค่ 6000 กว่าคะแนน ซึ่งผิดคาดหมด

ก็ไม่รู้ว่า พรรคการเมืองที่มีคะแนนมากๆ ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ กับข่าวลือหัวละ 1000-2000 บาท ภายใต้การจัดการเลือกตั้งที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต .) ก็ทำอะไรไม่ได้ หรือไม่ทำอะไรเลยในการขจัดหรือยับยั้งการซื้อสิทธิ ขายเสียง ทั้ง ๆ ที่มีกลไกตัวช่วยมากมาย แต่กลับนั่งรอให้คนไปร้องเรียนส่งหลักฐานให้

พรรคการเมืองกล้าทำการเมืองแบบหวังผลโดยไม่คำนึงถึงเรื่องวิธีการ ว่าเป็นความเลวร้าย ทำลายระบบการเมือง ทำลายประชาธิปไตย เขาก็ย่อมทำจนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

น่าสนใจถอดรหัสการเลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีฯกับอนาคตทางการเมืองในภาคใต้ของพรรคกล้าธรรม

บทเรียนจากไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในยุโรป ไทยพร้อมรับมือหรือยัง? หากต้องเผชิญสถานการณ์เช่นนี้

เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.68) เกิดเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในยุโรปที่ไม่เคยมีมาก่อน ครอบคลุมพื้นที่ 4 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม สเปน โปรตุเกส และภาคใต้ของฝรั่งเศส โดยเหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางวัน ระบบไฟฟ้าของแต่ละประเทศล่มพร้อมกันในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่งผลให้ระบบคมนาคมหลักอย่างสนามบิน รถไฟ รถราง และรถไฟใต้ดินต้องหยุดให้บริการทันที บางขบวนหยุดกลางเส้นทาง ผู้โดยสารหลายหมื่นคนติดค้างอยู่กลางทางโดยไม่มีการสื่อสาร

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในหลายพื้นที่หยุดทำงาน ประชาชนไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสิ้นเชิง บรรยากาศในเมืองใหญ่หลายแห่งเงียบสนิทราวกับกลายเป็นเมืองร้างชั่วขณะหนึ่ง สถานพยาบาลต้องหันไปใช้ไฟฟ้าสำรองด้วยเครื่องปั่นไฟ ส่วนร้านค้า สถานีบริการน้ำมัน และตู้เอทีเอ็มต่าง ๆ ก็หยุดชะงักไปตามกัน ความเสียหายครั้งนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะระบบไฟฟ้าเท่านั้น แต่ขยายวงไปกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง

แม้ว่ายังไม่มีการยืนยันสาเหตุอย่างเป็นทางการ แต่หลายฝ่ายรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงไซเบอร์ต่างตั้งข้อสันนิษฐานไปในทิศทางเดียวกันว่านี่ไม่น่าใช่อุบัติเหตุธรรมดา หากแต่เป็นการโจมตีทางไซเบอร์ที่มุ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างจงใจ หลายคนสังเกตว่าความพร้อมเพรียงในการล่มของระบบหลายประเทศในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และอาจมี 'แผนการ' หรือ 'วาระซ่อนเร้น' อยู่เบื้องหลัง

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงนำมาสู่คำถามสำคัญที่เราคนไทยต้องย้อนกลับมามองตัวเองอย่างจริงจังว่า —

หากวันหนึ่งประเทศไทยต้องเผชิญสถานการณ์คล้ายกัน เราพร้อมรับมือหรือยัง?

ระบบไฟฟ้า ระบบคมนาคม เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต คือหัวใจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในทุกวันนี้ แต่ในขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ก็เต็มไปด้วยความเปราะบาง หากถูกโจมตีพร้อมกันแม้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ผลกระทบอาจหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าที่เราคาดคิด

เรามีระบบเตือนภัยไซเบอร์แบบเรียลไทม์เพียงพอหรือไม่?

เรามีแผนสำรองรองรับสถานการณ์ไฟฟ้าดับหรือเครือข่ายล่มระดับประเทศหรือไม่?

เราซักซ้อมประชาชนให้รู้วิธีรับมือในภาวะไร้ไฟ ไร้สัญญาณ หรือไร้เงินสดหรือยัง?

ที่สำคัญกว่านั้น — เราพร้อมจะลงทุนป้องกันภัยที่ 'อาจจะเกิด' ก่อนที่มันจะกลายเป็นภัยที่ 'เกิดขึ้นจริง' หรือไม่?

บทเรียนจากยุโรปในวันนี้ กำลังส่งสัญญาณเตือนเราดัง ๆ ว่า โลกในยุคนี้ไม่ได้แข่งขันกันแค่เศรษฐกิจหรือเทคโนโลยี แต่กำลังแข่งขันกันเรื่อง 'ความอยู่รอด' ของโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นกัน และใครที่ไม่เตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ อาจไม่มีโอกาสได้แก้ตัวในวันพรุ่งนี้

และสิ่งที่เราต้องตระหนักให้ชัดเจนคือ — เหตุการณ์ครั้งนี้อาจไม่ได้เป็นเพียง 'ภัยธรรมชาติ' หรือ 'ความผิดพลาดของระบบ' แต่อาจเป็นสัญญาณชัดเจนของ 'สงครามพลังงาน' และ 'สงครามลูกผสม' (Hybrid Warfare) รูปแบบใหม่ ที่ศัตรูไม่จำเป็นต้องยิงปืนสักนัด ก็สามารถทำให้ทั้งประเทศเป็นอัมพาตได้ในเวลาไม่กี่นาที

สงครามพลังงาน (Energy War) ใช้อาวุธที่มองไม่เห็น — คือการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน เพื่อบั่นทอนเศรษฐกิจ เสถียรภาพ และความมั่นใจของประชาชน ขณะที่สงครามลูกผสม (Hybrid Warfare) ผสานทั้งการโจมตีทางไซเบอร์ การบิดเบือนข้อมูล และการทำลายระบบสาธารณูปโภคในคราวเดียวกัน

วันนี้ยุโรปได้เผชิญหน้าไปแล้ว — พรุ่งนี้จะถึงคราวของเราหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า "วันนี้" เราจะเริ่มป้องกันตัวเองทันหรือเปล่า

'มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง' มุ่งสู่จังหวัดที่ 20 ของภาคอีสาน สร้างโอกาส สร้างชีวิต แก่ชาวยโสธร มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่ครัวเรือนยากจน มอบจักรยานให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ชนบท พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนฟรี

(29 เม..ย.68) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการ และนางศิริพร กระจ่างหล้า ผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ และนางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมลงพื้นที่จังหวัดยโสธร (จังหวัดที่ 20 ของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่ครัวเรือนยากจน  จำนวน 31 ครัวเรือน และมอบรถจักรยานแก่โรงเรียนชนบทที่ขาดแคลน จำนวน 2 โรงเรียน รวมจำนวน 20 คัน เพื่อให้นักเรียนที่ประสบปัญหาในการเดินทางได้ยืมเรียน รวมถึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าพาหนะแก่ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเสริมสร้างให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย เรียนรู้กฎจราจร เรียนรู้การแบ่งปัน และดูแลรักษาสาธารณสมบัติร่วมกัน รวมมูลค่าการดำเนินการช่วยเหลือชาวยโสธรในครั้งนี้ทั้งสิ้น 802,240 บาท (แปดแสนสองพันสองร้อยสี่สิบบาทถ้วน) 

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้จัดหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมแพทย์อาสาฯ เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ ทีมบรรเทาสาธารณภัย (กู้ชีพ) และอาสาสมัครลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา ทันตกรรม คัดกรองเบาหวาน กิจกรรมนันทนาการ ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น บริการตัดผม ฯลฯ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายชาญชัย ศรศรีวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร พร้อมด้วย นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ผู้แทนอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อดีตอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานร่วมในพิธี และคณะมูลนิธิรวมสามัคคียโสธร เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี พร้อมด้วย อาสาสมัครศิลปินมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายนพดล ทรงแสง (จิ้ม ชวนชื่น) นายสวิช เพชรวิเศษศิริ (บี๋) ร่วมในพิธี และสร้างสีสันภายในงาน โดยมี ประชาชน เยาวชน และผู้แทนจากสถาบันการศึกษา เป็นผู้รับมอบ ณ หอประชุมจังหวัดยโสธร ศาลากลางจังหวัดยโสธร อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้สนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ช่วยเหลือครัวเรือนยากจน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชนและมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งมูลนิธิฯ ได้จัดงบประมาณดำเนินการเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพมอบให้แก่ครัวเรือนยากจน ให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยในกลุ่มเป้าหมายแรกดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง 17 จังหวัด รวม 98 ครัวเรือน ต่อมา ได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ 17 จังหวัด รวม 230 ครัวเรือน ซึ่งได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในขณะได้พิจารณาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 20 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู บึงกาฬ ยโสธร ศรีสะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ สกลนคร เลย หนองคาย และ นครพนม

ตลอดระยะเวลากว่า 115 ปี ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลายทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป ดังปณิธาน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top