Wednesday, 30 April 2025
ค้นหา พบ 47762 ที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจภูธรภาค 2 ส่งกำลัง 200 นาย ช่วยภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยตึกถล่มจากแผ่นดินไหว ผบช.ภ.2 กำชับ แผน 6 ข้อ ตำรวจพร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เปิดที่ทำการ โรงพักให้หลบภัย ส่งกำลังใจผู้ประสบภัย และแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีย

(29 มี.ค.68) พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (ผบช.ภ.2) เปิดเผยว่า ได้จัดกำลังตำรวจ จากตำรวจภูธรภาค 2 จำนวน 200 นาย สนับสนุนภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดใต้ซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ในเขตจตุจักร กทม. พังถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาตามข้อสั่งการของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ผบช.ภ.2 กล่าวว่า ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อก ส่งผลกระทบหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยพื้นที่ภาคตะวันออกในความรับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 2 ก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยวานนี้ (28 มีนาคม 2568) ตำรวจในสังกัด ตำรวจภูธรภาค 2 ได้ลงพื้นที่ช่วยอพยพประชาชนจากอาคารสูง โดยเฉพาะอพยพผู้ป่วยจากโรงพยาบาล รวมถึงอำนวยการจราจร โดยสถานการณ์โดยรวมเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 2 ทุกหน่วย สำรวจพื้นที่รับผิดชอบว่า มีความเสียหายอันเกิดจากแผ่นดินไหวที่ส่งผลต่อประชาชน โดยทั่วไปและสถานที่ราชการหรือไม่  อย่างไร  เช่น อาคารที่ทำการ ยานพาหนะ บุคคล  และให้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวและข่าวสาร การประกาศแจ้งเตือน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

“กรณีในพื้นที่รับผิดชอบ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ให้ดำเนินการ 6 ข้อ ดังนี้ 
1. ให้ออกตรวจตรา และให้ความช่วยเหลือ อพยพประชาชนออกนอกอาคารหรือตึกสูงไปยังพื้นที่ปลอดภัย 
2. กรณีที่พื้นที่ใดมีผลกระทบหรือมีเหตุตึกอาคารทรุดหรือไม่ปลอดภัย ให้เร่งเข้าช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยและนำไปยังพื้นที่พยาบาลหรือพื้นที่ปลอดภัย 
3. จัดเตรียมบริหารจัดการเหตุการณ์ในพื้นที่ อำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อนำส่งการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เน้นการติดต่อสื่อสารสั่งการในพื้นที่  
4. กำหนดแผนปฏิบัติ มอบหมายผู้รับผิดชอบในการบริหารการจัดการในทุกมิติ และกำกับ ดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติ ให้เป็นไปตามแผน ขั้นตอนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการและอำนวยการจราจร ในที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียง  
5. ประชาสัมพันธ์เส้นทางการจราจรทางช่องทางต่าง ๆ ทุกช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ 
6. ประสานงานและอำนวยความสะดวกนำส่งผู้ได้รับบาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด” ผบช.ภ.2 กล่าว 

พล.ต.ท.ยิ่งยศ กล่าวย้ำว่า ตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมดูแลเคียงข้างช่วยเหลือประชาชนในทุกสถานการณ์ พร้อมเปิดพื้นที่ที่ทำการของตำรวจ ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้พักพิงหลบภัย หากมีเหตุด่วนต้องการความช่วยเหลือ โทร. 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขอส่งกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัยครั้งนี้ทุกท่าน และขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สูญเสียจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย

ชาวเน็ตแห่แชร์คำทำนาย 2 หมอดูชื่อดัง เคยคำนาย ปี 68 จะเกิด ‘แผ่นดินไหว’

(29 มี.ค. 68) นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า…

“Fact
47 สึนามิ = ไอ้แม้ว
54 น้ำท่วมใหญ่ = อิปู
68 แผ่นดินไหว = อุ้งอึ้ง”

แน่นอนว่าทำให้หลายคนตีความไปว่าทุกสมัยที่มีคนจากตระกูล ‘ชินวัตร’ ขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้นำประเทศ ก็จะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติน่าสลดใจ

โดยในปี 2547 นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ คร่าชีวิตและมีผู้สูญหายจำนวนมาก

ต่อมาปี 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ หรือที่คนไทยจดจำในชื่อ ‘น้ำท่วม 54’ ซึ่งก็สร้างความเสียหายไม่น้อย

มาจนถึงปี 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือก็คือลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งเก้าอี้ได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและมีตึกถล่ม

ชาวเน็ตได้นำประเด็นนี้ไปเชื่อมโยงกับคำทำนายของหมอดูหลาย ๆ คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘หมอปลาย พรายกระซิบ’ ที่เคยกล่าวคำทำนายดวงเมืองประเทศไทย ปี 68 ไว้เมื่อปลายปี 67 ซึ่งขณะนี้กลายเป็นคลิปที่ถูกแชร์ต่อในโซเชียลอย่างมาก

โดย ‘หมอปลาย พรายกระซิบ’ ได้เปิดเผยคำทำนายไว้ในรายการ คุยเล่นเน้นจริง EP.7 เผยแพร่เมื่อ 27 ธ.ค.67 ทางช่องยูทูบ Golfbenjaphon TV โดยหมอปลาย ระบุว่า…

“อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ประมาณช่วงครึ่งปีแรกเหมือนกันก็คือ เรื่องของแผ่นดินไหว ประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นจังหวัดที่ใกล้ก็เตรียมตัว กรุงเทพฯ รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน เพราะว่าท่านก็ให้เห็นมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่กล้าพูดตรงอื่น เห็นอันนี้มาตั้งแต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา” 

ซึ่งหมอปลาย และกอล์ฟ เบญจพล ก็ย้ำว่าที่พูดเพราะหวังดี อยากให้มองที่เจตนา อยากมีการป้องกัน เฝ้าระวัง หมอปลายเผยอีกว่า “อยากให้เก็บเงินเข้าที่สูง เก็บเงินเข้าธนาคาร ไม่อยากให้มันถูกน้ำพัดไป ไม่อยากให้อาคารมันพัง แล้วก็ทับบ้านทับ”

โดยเหตุจะเกิดช่วงประมาณกลางของกลางปี ประมาณเดือนที่ 3 หรือเดือนที่ 4

นอกจากนี้ยังมีคำทำนายของนอสตราดามุสเมืองไทย หรือ ‘อ.โสรัจจะ นวลอยู่’ ที่เคยเอ่ยถึงดวงเมืองประเทศไทยปี 68 ไว้ในรายการ THAIRATH TALK ช่วงปลายเดือน พ.ย. ปี 67 โดยระบุว่า…

“จะมีแผ่นดินไหวใจกลางกรุงเทพ จริง ๆ ปีนี้มันหนักกว่าปีที่แล้ว ถ้าถามว่า ความร้ายแรงหนักกว่าปี 2567 แค่ไหน หนักกว่า 10 เท่า เนื่องจากมันมีโรคระบาด มีภัยพิบัติ แค่ 2 เรื่องนี้ คนก็ตายไปเยอะ อาจจะมีโรคร้ายที่ไม่เคยเกิดขึ้นด้วย ปี 68-69-70 ก็ยังหนักอยู่ กับดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ 3 ปีนี้”

ต่อมาพิธีกรรายการได้ถามถึงเหตุแผ่นดินไหว ที่จะไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่จะเกิดรอบ ๆ แรงสั่นสะเทือนที่กรุงเทพมากขึ้นเรื่อย ๆ กรุงเทพเสี่ยงต่อรอยเลื่อนที่มีพลัง และตึกของเราไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว

ด้าน ‘โหรโสรัจจะ’ ตอบชัดว่า “ใช่ มันจะเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เรื่องการดูดวงหรือการทำนายล่วงหน้า เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล ควรใช้วิจารณญาณ

‘ดร.ธรณ์’ เปิดภาพพฤติกรรม ‘ปลา’ ขณะเกิดแผ่นดินไหว นอนราบนิ่งกับพื้น เพราะรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ก่อนคน

(29 มี.ค. 68) ดร.ธรณ์ ธำรงนาาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า

ปลารู้ไหมว่าแผ่นดินไหว ถ้ารู้แล้วทำไง? 

เพื่อนธรณ์ไปดำน้ำที่สิมิลันช่วงนั้นพอดี จึงเจอปรากฏการณ์สุดแปลกที่แทบไม่มีรายงานมาก่อน ในช่วงแผ่นดินไหว ปลาในแนวปะการังต่างพากันลงไปนอนนิ่งกับพื้น!!

ลองดูภาพนะครับ ถ้าเป็นปลาตัวเดียวทำอาจไม่แปลกอะไร แต่ที่เจอคือปลาหลายตัวล้วนทำเช่นนั้น ลงไปนอนแนบกับพื้นทันที ที่เห็นชัดคือฝูงปลา ปรกติตอนกลางวันจะว่ายอยู่ในมวลน้ำ จะไม่ลงไปนอนติดพื้นพร้อมกันทั้งฝูง ต่อให้เป็นกลางคืนปลานอน ปลาก็แยกกันนอน ไม่รวมฝูงนอนแบบนี้

ปลารู้ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น เพราะปลารับแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำได้ดีมาก จากนั้นคงเป็นสัญชาตญาณ ทำให้ปลาลงไปนอนแนบพื้น เพราะอาจเกิดกระแสน้ำปั่นป่วนหรือแม้กระทั่งสึนามิตามมา

การนอนแนบพื้นของปลาก็เหมือนเวลาเราหลบภัยต้องหมอบราบกับพื้น หากลอยอยู่กลางน้ำมีความเสี่ยงที่จะโดนกระแสน้ำหรือคลื่นพัดพาไป

เพื่อนธรณ์ที่เป็นอาสาสมัครบินโดรนเฝ้าพะยูนก็รายงานว่า ช่วงแผ่นดินไหว พะยูนก็ตื่นตกใจเผ่นพรวดหนีไปจากที่ตื้น เพื่อว่ายหนีไปที่ลึกตามหลักการหลบสึนามิ

พะยูนไวมากครับ ตอนที่เกิดสึนามิ จึงไม่มีข่าวพะยูนโดนคลื่นพัดมาเกยฝั่ง (เท่าที่ทราบ) ทั้งที่บางแห่งเป็นบริเวณที่พะยูนอาศัย เช่น กระบี่

จะมีก็แค่โลมาที่เขาหลัก ลอยตามคลื่นมาติดค้างในอ่างเก็บน้ำแถวนั้น แต่คลื่นที่เขาหลักแรงมาก จนโลมาอาจไม่คาดคิด

แม้แผ่นดินไหวเมื่อวานไม่ได้เกิดในทะเล ไม่เกิดสึนามิ แต่แรงสั่นสะเทือนก็เกิดในทะเลเช่นกัน เพราะพื้นท้องทะเลก็ไหวเหมือนแผ่นดินครับ

ปลาหรือพะยูนคงบอกไม่ได้ว่า แผ่นดินไหวในทะเลหรือบนบก เมื่อรับรู้ว่ามีแผ่นดินไหว ปลาหลบไว้ก่อน

แล้วปลารู้ล่วงหน้าได้ไหม? พยากรณ์แผ่นดินไหวได้ไหม?

เมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้น จะเกิดคลื่นแรงสั่นสะเทือนหลายแบบ บางคลื่นเบาแต่เร็วกว่า ปลาอาจรับรู้คลื่นพวกนี้ขณะที่มนุษย์ไม่รู้สึก จากนั้นคลื่นแรงสั่นสะเทือนแบบแรง ๆ จะตามมา คราวนี้เรารู้สึกแล้วครับ

ทว่า ต่อให้รู้คลื่นล่วงหน้า ปลาก็ไม่มีทางบอกก่อนได้เป็นชั่วโมง ๆ เพราะปลารู้ก่อนแป๊บเดียวเท่านั้น

ที่บอกกันว่าสัตว์เตือนภัยได้ ก็คือสัตว์รู้ก่อนคน แต่ไม่ใช่นาน ๆ

ขอบคุณเพื่อนธรณ์ที่ส่งภาพมาให้ ถือเป็นหนแรกของไทยที่มีหลักฐานให้ดูกันชัด ๆ ว่าปลาทำยังไงเมื่อแผ่นดินไหว อันที่จริง ในต่างประเทศก็แทบไม่มีภาพชัดเจนแบบนี้ครับ

รัสเซีย-จีน-อินเดีย-มาเลเซีย ส่งทีมช่วยเหลือเมียนมา กองทัพว้า มอบเงินช่วยเหลือ 200 ล้านจั๊ต ขณะยอดเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น

(30 มี.ค. 68) นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้รายงานยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 1,644 คน ผู้บาดเจ็บ 3,408 คน และสูญหาย 139 คน ขณะที่ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางซากปรักหักพังและอาคารที่ยังคงถล่มในบางพื้นที่

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่สำคัญ ในพื้นที่เขตเนปยีดอ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหว มีผู้เสียชีวิตจำนวน 96 คน และได้รับบาดเจ็บ 432 คน ส่วนในภาคสะกายมีผู้เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บ 300 คน ขณะที่ภาคมัณฑะเลย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยมีผู้เสียชีวิต 30 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอาจเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากปฏิบัติการช่วยเหลือยังไม่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ได้

การช่วยเหลือจากนานาชาติ จากสถานการณ์ที่รุนแรง รัฐบาลเมียนมาได้เปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยขณะนี้ รัสเซีย จีน อินเดีย และมาเลเซียได้ส่งทีมกู้ภัยเข้าช่วยเหลือแล้ว ขณะที่ศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) ก็ได้เสนอความช่วยเหลือเพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้ กองทัพสหรัฐพันธรัฐว้า (UWSA) ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 200 ล้านจั๊ต หรือประมาณ 15.3 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภูมิภาค เมื่อวันที่ 9 มีนาคม มีรายงานว่า ทีมบรรเทาสาธารณภัยจากมณฑลยูนาน ประเทศจีน จำนวน 16 คน จะเดินทางเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่เมืองหมูแจ่ รัฐฉานตอนเหนือ ในขณะที่ทีมกู้ภัยจากประเทศสิงคโปร์ก็กำลังมุ่งหน้าไปยังภาคมัณฑะเลย์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว

บทบาทของไทยและอเมริกา ประเทศไทยได้เตรียมส่งทีมกู้ภัยและค้นหาพร้อมทีมแพทย์และเวชภัณฑ์จากกองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 49 นาย เดินทางด้วยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และสำรวจความต้องการของรัฐบาลเมียนมาเพื่อส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็น

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้พยายามติดต่อเมียนมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคบางประการ เนื่องจากในอดีต เมียนมาเคยมีสำนักงานของ USAID แต่ได้ถูกปิดไป ส่งผลให้การเข้าถึงความช่วยเหลือยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเป็นปัญหาสากลที่ควรได้รับการช่วยเหลือโดยไม่คำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมือง

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียให้กับชาวเมียนมา แต่ยังเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง บางประเทศได้แสดงออกถึงความเป็นมิตรอย่างชัดเจน ขณะที่บางประเทศอาจยังมีท่าทีที่ไม่แน่ชัด ท่ามกลางความขัดแย้งที่มีอยู่ ภัยพิบัติในครั้งนี้อาจเป็นบททดสอบที่แสดงให้เห็นว่าใครคือพันธมิตรที่แท้จริงของเมียนมา

ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในสภาวะวิกฤติ ตัวชี้วัดสภาวะผู้นำในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(30 มี.ค. 68) ในช่วงสถานการณ์ไม่ปรกติแบบนี้ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในสภาวะวิกฤติเป็นสิ่งสำคัญอย่างอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะในบริบทของการบริหารจัดการในยามคับขัน หรือ Crisis Management เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความตื่นตระหนกของประชาชน ป้องกันความเข้าใจผิด และเพิ่มโอกาสในการจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนะครับ 

ขออนุญาตงดเว้นการยกตัวอย่างผู้นำท่านต่างๆที่ปรากฏตัวออกสื่อในช่วงเวลานี้ เพราะพวกเราก็คงจะเห็นและประเมินสภาวะผู้นำของแต่ละท่านผ่านสื่อได้ตามวิจารณญาณของแต่ละคน ในฐานะของคนที่เล่าเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์และการสื่อสารทางการเมือง ขออนุญาตสรุปแนวทางการสื่อสารในสภาวะวิกฤติไว้ให้นะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย 

1. ความชัดเจนและกระชับ
- ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน หลีกเลี่ยงศัพท์เฉพาะหรือคำที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือคลุมเครือ
- ส่งสารอย่างตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ เนื้อๆเน้นๆ 
- สรุปโครงสร้างการจัดการปัญหาที่ชัดเจน เช่น ใครต้องทำอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร  

2. การสื่อสารอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
- ส่งสารโดยเร็วที่สุดเพื่อลดความสับสนและความกังวลของคนจำนวนมาก
- ให้ข้อมูลปัจจุบัน และ update เป็นระยะ 
- ใช้ช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทันที เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือ Social Media ต่างๆ

3. การใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
- ข้อมูลที่เผยแพร่ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานรัฐ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์
- ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ เพื่อหลีกเลี่ยงข่าวลือหรือข้อมูลเท็จ  

4. การใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย
- ผสมผสานช่องทางการสื่อสาร เช่น การแถลงข่าว อีเมล ข้อความ SMS และ Social Media
- คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีข้อจำกัด เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ  

5. การสื่อสารแบบสองทาง (Two-Way Communication) 
- เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถสอบถามหรือให้ข้อมูลกลับมาได้  
- มีช่องทางติดต่อที่ชัดเจน เช่น ศูนย์ข้อมูล หรือสายด่วน 

6. การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจและความมั่นใจ
- แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในความกังวลของประชาชน  
- ให้ข้อมูลที่สร้างความมั่นใจ พร้อมแนวทางแก้ปัญหา  

โดยสรุปก็คือ 
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤติ ต้องเป็น “ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ทันเวลา เชื่อถือได้ และเปิดกว้างสำหรับการตอบกลับ” เพื่อช่วยลดความตื่นตระหนก และเพิ่มความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญและประชาชนครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top