Tuesday, 29 April 2025
ค้นหา พบ 47762 ที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ประกาศหยุดสู้รบ 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กู้ภัยช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหว

(30 มี.ค. 68) กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยและองค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตเนปิดอว์ ภาคซะไกง์ และภาคมัณฑะเลย์

แถลงการณ์จากแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธระบุว่า การหยุดยิงชั่วคราวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคจากสถานการณ์สู้รบ และป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นจากทั้งภัยพิบัติและความขัดแย้งทางทหาร

“กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) จะหยุดดำเนินการปฏิบัติการทางทหารเชิงรุกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ยกเว้นปฏิบัติการเชิงป้องกัน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2568” รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลเงาระบุในคำแถลง

ด้านองค์กรบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศและกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงอย่างจริงจัง และเปิดทางให้ความช่วยเหลือเข้าถึงทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน

ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีท่าทีตอบสนองต่อแถลงการณ์หยุดยิงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าองค์กรกาชาดสากล และศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) กำลังเร่งประสานงานกับทั้งสองฝ่ายเพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด

ญี่ปุ่นออกคำเตือน ภูเขาไฟเกาะคิวชูส่งสัญญาณปะทุ ประกาศห้ามประชาชนเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงภูเขาไฟ

(30 มี.ค. 68) เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นได้ออกคำเตือนระดับกลางเกี่ยวกับภูเขาไฟแห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะคิวชู โดยแนะนำให้ประชาชนอย่าเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง เนื่องจากมีสัญญาณว่าอาจเกิดการปะทุขึ้นในเร็วๆ นี้

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น (JMA) รายงานว่ามีการตรวจพบแรงสั่นสะเทือนที่เพิ่มขึ้นบริเวณภูเขาไฟ พร้อมทั้งพบควันพวยพุ่งจากปล่องภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการเคลื่อนตัวของแมกมาใต้พื้นดิน เจ้าหน้าที่จึงได้ประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากเถ้าภูเขาไฟและหินร้อน

นอกจากนี้ หน่วยงานด้านภัยพิบัติของญี่ปุ่นยังเตรียมมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือหากมีการปะทุเกิดขึ้น รวมถึงการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภูเขาไฟจำนวนมาก และมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

สงครามกลางเมืองปะทะภัยธรรมชาติ ประชาชนเผชิญความสิ้นหวัง หายนะที่ยังไร้จุดจบ

(30 มี.ค. 68) เมียนมาเผชิญกับอนาคตที่มืดมนยิ่งขึ้น หลังจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ตามรายงานของ เดลิเมล สื่ออังกฤษ

ขอบเขตของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังไม่แน่ชัด โดยเฉพาะในเมียนมา ซึ่งกำลังอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองและการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,600 ราย ในเมียนมา และอีกอย่างน้อย 10 รายในกรุงเทพฯ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตสุดท้ายอาจแตะระดับหลายพันคน

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว สถานการณ์ในเมียนมาก็เลวร้ายอยู่แล้ว ประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน และอีกหลายแสนคนถูกตัดขาดจากโครงการช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุข ผลจากสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมานานกว่า 4 ปี โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลทหารว่าใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า

เมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวายตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ อองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 จุดชนวนให้เกิดการต่อต้านทั่วประเทศ การประท้วงที่เริ่มต้นอย่างสันติถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องจับอาวุธต่อต้าน ส่งผลให้ความขัดแย้งกระจายไปทั่วประเทศ

หลังเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก ขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยระบุว่าต้องการโลหิตเป็นจำนวนมากในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก

เทเลกราฟ รายงานโดยอ้างแพทย์คนหนึ่งในเมียนมาว่า ระบบสาธารณสุขในประเทศอ่อนแออยู่แล้ว และไม่มีทรัพยากรหรือบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ ขณะที่ ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ให้สัมภาษณ์กับ ไทม์เรดิโอ ว่า

“นี่อาจเป็นหายนะซ้อนหายนะ ประชาชน 20 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตั้งแต่ก่อนแผ่นดินไหวแล้ว มีผู้พลัดถิ่น 3 ล้านคน และมากกว่าครึ่งของประชากรเมียนมาดำดิ่งสู่ความยากจนขั้นรุนแรง”

โจ ฟรีแลนด์ นักวิจัยด้านเมียนมาของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของเมียนมา ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงอยู่แล้ว”

แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อไทย โดยมีรายงานว่ากรุงเทพฯได้รับแรงสั่นสะเทือนและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่ามาตรการตัดลดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกาศระงับโครงการช่วยเหลือต่างประเทศเป็นเวลา 90 วัน อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะในแคมป์ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในไทยที่มีผู้พักพิงมากกว่า 100,000 คน

โครงการอาหารโลก (WFP) รายงานว่าการปันส่วนอาหารในเมียนมาจะถูกตัดขาดเกือบทั้งหมดในเดือนเมษายน แม้ว่าประเทศกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรง

ปัจจุบัน มีประชากร 15.2 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ไม่มีอาหารเพียงพอ และราว 2.3 ล้านคน ต้องเผชิญกับภาวะหิวโหยระดับฉุกเฉิน

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) คาดการณ์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 10,000 - 100,000 ราย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์เมียนมาว่า “ยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่านี้”

รัฐบาลทหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 5 ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ มัณฑะเลย์, สะกาย, มะกเว, ฉาน และบะโก ด้านองค์การสหประชาชาติจัดสรรงบประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ สำหรับความช่วยเหลือเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายจากพื้นที่ภัยพิบัติแสดงให้เห็นถนนแตกร้าว สะพานถล่ม และเขื่อนแตก สร้างความกังวลว่าทีมกู้ภัยจะเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ยาก ในประเทศที่กำลังจมดิ่งสู่ภาวะวิกฤติอยู่แล้ว

หนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar รายงานว่า เมืองและหมู่บ้าน 5 แห่ง พบเห็นอาคารพังถล่ม และมีสะพานพัง 2 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นสะพานหลักที่เชื่อมไปยัง มัณฑะเลย์ โดย โมฮัมเหมด ริยาส ผู้อำนวยการด้านเมียนมาของ คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (IRC) ระบุว่า

"อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะทราบถึงขอบเขตความเสียหายที่แท้จริง และอาจมีผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้"

จากสงครามกลางเมืองที่ยังไม่มีจุดจบ สู่ภัยธรรมชาติร้ายแรงที่ซ้ำเติม เมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากยิ่งขึ้น ความช่วยเหลือจากนานาชาติจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในประเทศที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งชุดเฉพาะกิจสางปัญหาที่ดินวัดทั่วประเทศ

(31 มี.ค. 68) "มหานิยม" ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาวัดและที่พักสงฆ์มีปัญหาออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศ พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจสางปัญหาที่ดินวัดทั่วประเทศ จำนวน 10 คน

"ดร.นิยม เวชกามา" หรือ "ดร.มหานิยม" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และนายธนัฏฐา ฐาปนะสุต  ผู้อำนวยการกลุ่มศาสนสถานและควบคุมทะเบียนวัด พร้อมด้วยนักวิชาการศาสนาชำนาญการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาวัดและที่พักสงฆ์ ที่มีปัญหาในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน (คณะที่ 1) ครั้งที่ 2/2568 เพื่อพิจารณาข้อมูล รวบรวมปัญหา และสรุปแนวทางการแก้ไข  ณ ห้องประชุม 2503 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ

ดร.นิยม เวชกามา กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการพบว่ามีวัดและที่พักสงฆ์ประมาณ 11,000 แห่งทั่วประเทศ ที่อยู่ในที่ดินของรัฐและประสบปัญหาเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น จากการลงพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พบว่าในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ มีวัดทั้งหมดจำนวน 37 วัด ในจำนวนนี้มีถึง 32 วัด ที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ตั้งวัดทับซ้อน เพื่อให้การดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ จึงขอเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงาน ที่เสมือนเป็นชุดเฉาะกิจขึ้นมา 1 ชุด จำนวน 10 คน เป็นคณะทำงานของตน

"ประกอบด้วย ดร.ณพลเดช มณีลังกา ประธานคณะทำงาน นายอุทัย มณี, น.ส.นิภาภรณ์ เวชกามา, นายธวัชชัย ผลสะอาด, นายกร ศิรินาม, ผศ.ดร.เสถียร วิพรมหา, นายนันทภพ บรรจบพุดซา, นางวราพร อรรถสุข, นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม และนายพรพล สุวรรณมาศ ให้เป็นคณะทำงาน  โดยให้มีผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการในการให้ข้อมูล ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคต่อไป” มหานิยมกล่าวในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top