Sunday, 28 April 2024
WORLD

ทำความรู้จัก ‘อักชตา มูรธี’ ภรรยานายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่

เมื่อสามีเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดและหนุ่มที่สุดของสหราชอาณาจักรอังกฤษหมาดๆ,นายริชชี่ ซูนัค, คนอาจใคร่รู้ว่า ภรรยาของเขาคือใคร

Akshata Murty  หรือ อักชตา (อัก-ชะ-ตา) มูรธี วัย ๔๒ เช่นเดียวกับสามีเธอ ทั้งคู่แต่งงานกันในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ และมีบุตรสองคน เราอาจจะคิดว่าเธอเป็นแม่บ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่งแต่ถ้าเอ่ยชื่อเธอหรือบิดาของเธอในอินเดียแล้ว นั่นหมายถึงบิดาและบุตรสาวฐานะมหาเศรษฐีของอินเดีย

อักชตา ถือหุ้นในบริษัทอินโฟซี Infosys  ๐.๙ % หมายถึงมูลค่า ๗๐๐ ล้านปอนด์ที่เธอเป็นเจ้าของตามรายงานประจำปีล่าสุดของบริษัท นั่นยังไม่รวมทรัพย์สินอื่นที่เธอและสามีร่วมลงทุนอีกราว ๓๐ ล้านปอนด์

บิดาของอักชตาคือ นารายณ์ มูรธี ร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัททางด้านไอทีในอินเดียเมื่อราว ๓๐ ปีที่แล้วกับเพื่อนๆอีก ๖ คนด้วยเงินลงทุนที่ยืมมาจากภรรยาของเขาเพียง ๒๕๐ ดอลล่า ซึ่งเขายังรำลึกถึงบุญคุณของเธอจนปัจจุบัน

และปัจจุบัน Infosys มีสำนักงานใน ๕๐ ประเทศมีพนักงานกว่าหนึ่งแสนคนและมีรายได้หลายพันล้านดอลล่า

ฟังดูแล้วเราอาจจะคิดว่าอักชตา ภรรยาของริชชี่ สุนัคมีชีวิตที่แสนสะดวกสบายมาตั้งแต่ต้นซึ่งตรงกันข้ามกับเรื่องราวที่บิดาของเธอได้เล่าในเวลาต่อมาว่า

เมื่ออักชตาเกิดอีกในเมืองหนึ่งในเดือนเมษายนปี พ.ศ. ๒๕๒๓ แต่บิดาเธอมาทำงานอีกในเมืองหนึ่งกว่าเขาจะรู้ว่าภรรยาเขาให้กำเนิดบุตรสาวก็อาศัยข่าวจากเพื่อนที่รู้จักที่เดินทางมายังเมืองที่เขาอยู่เพราะเขาไม่มีโทรศัพท์ที่จะติดต่อกับครอบครัว อักชตาอายุได้เพียง ๒-๓ เดือนก็ต้องไปอยู่กับย่า เพราะพ่อและแม่ของเธอต้องไปทำงานที่มุมไบ และหนึ่งปีให้หลังพ่อของเธอก็ร่วมกับเพื่อนก่อตั้งบริษัทซอฟท์แวร์ซึ่งทำให้เขากลายเป็นบิล เกตส์แห่งอินเดียในเวลาต่อมา

บิดาของเธอเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูก ๆ และเพื่อให้ลูกสนใจในการศึกษามากที่สุดภายในบ้านจึงไม่มีโทรทัศน์ เขาส่งอักชตาไปเรียนยังวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐด้านเศรษฐกิจและภาษาฝรั่งเศส และเธอยังได้ประกาศนียบัตรด้านแฟชั่นที่เธอสนใจอีกด้วย

เธอเริ่มอาชีพด้านการเงินที่บริษัท Deloitte และ ยูนิลีเวอร์ ต่อมาเธอเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดของสหรัฐ ที่ซึ่งเธอได้พบกับสามีคือริชชี่ ซูนัค

หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ตั้งบริษัทในปีพ.ศ. ๒๕๕๖ ในการที่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ อักชตา มีชื่อในธุรกิจหลายอย่างเช่น Digme fitness เครือบริษัทสถานออกกำลังที่จ่ายเป็นรายครั้งที่เข้าเล่น นอกจากนี้เธอยังมีชื่อเป็นผู้อำนวยการบริษัทขายเสื้อผ้าผู้ชายราคาแพงอีกด้วย

นอกจากเรื่องราวชีวิตที่ดูเหมือนเทพนิยายที่ครอบครัวสร้างฐานะร่ำรวยจนกลายเป็นมหาเศรษฐีของประเทศและล่าสุดสามีของเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่หนุ่มที่สุดของประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจแห่งหนึ่ง เรื่องราวของอักชตาในขณะนี้ก็ยังไม่มีประเด็นที่จะถูกวิจารณ์มากนัก ยกเว้นเรื่องภาษีที่เธอถูกวิจารณ์ว่าน่าจะเสียให้กับประเทศที่ครอบครัวเธออาศัยอยู่บ้าง

เรื่องของเรื่องก็คือ อักชตา อยู่ในอังกฤษในฐานะ ที่เรียกกันว่า non-dom; non-domiciled individual หมายถึง ผู้อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา ซึ่งก็คือคนต่างชาติ(ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช้ประเทศภูมิลำเนาของตน) หรือพูดได้ว่าคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ได้ลงทะเบียนเสียภาษีในประเทศนั้น

‘อีลอน มัสก์’ นั่งแท่นเจ้าของใหม่ ‘ทวิตเตอร์’ พร้อมเซ็นไล่ออก 4 ผู้บริหาร ข้อหาหลอกลวง

รอยเตอร์สรายงานความเคลื่อนไหวของ อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสล่า มอเตอร์ ได้กลายเป็นเจ้าของใหม่ของทวิตเตอร์ โซเชียลแพลตฟอร์มชื่อดัง หลังปิดดีลมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ดำเนินการเจรจาซื้อกิจการมาตั้งแต่เมษายน โดยมัสก์ ประเดิมงานแรกในฐานะเจ้าของใหม่ ด้วยการเซ็นไล่ออก 4 ผู้บริหารชุดเดิมรวมถึง ปารัค อกราวัล (Parag Agrawal) CEO และเน็ต ซีกัล (Ned Segal) CFO และวิชญา กัทเด (Vijaya Gadde) หัวหน้าฝ่ายนโยบายและกฎหมาย

อีลอน กล่าวว่า เขาต้องการ “เอาชนะ” บอทสแปมบนทวิตเตอร์ สร้างอัลกอริธึมที่กำหนดวิธีการนำเสนอเนื้อหาต่อสาธารณะแก่ผู้ใช้ และป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มกลายเป็นห้องสะท้อนความเกลียดชังและการแบ่งแยก แม้ว่าเขาจะจำกัดการเซ็นเซอร์ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม มัสก์ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเขาจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้อย่างไร และใครจะเป็นคนบริหารบริษัท เขาได้กล่าวว่าเขาวางแผนที่จะเลิกจ้างงาน ทำให้พนักงานของ Twitter ประมาณ 7,500 คนกังวลเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา นอกจากนี้ เขายังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาไม่ได้ซื้อ Twitter เพื่อสร้างรายได้ แต่ “เพื่อพยายามช่วยเหลือมนุษยชาติที่ผมรัก”

เปิด 10 ทิศทางของ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ภายใต้ผู้นำที่ชื่อ ‘สี จิ้นผิง’ ตลอดทศวรรษ

การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ปิดม่านไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสี จิ้นผิง ครองอำนาจสูงสุดของพรรคเป็นสมัยที่ 3 พร้อมกับคัดเลือกทีมผู้นำระดับสูงสุดในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองมาร่วมปกครองประเทศ โดยทั้งหมดล้วนเป็นผู้ใกล้ชิดจงรักภักดีต่อสีจิ้นผิง ดังนั้น อำนาจใหญ่ของผู้นำสีในสมัยที่ 3 จึงทรงพลังที่สุดนับจากท่านประธานเหมาเจ๋อตง ผู้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

ระหว่างช่วง 10 ปีที่สีครองอำนาจสูงสุดในพรรคนับจากสมัยแรกของการนำเมื่อปี 2012 จีนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกล้ำทั้งภายในประเทศและกระจายไปทั่วโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้นำเสนอ 10 เรื่อง หรือ 10 ทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปของจีนภายใต้การนำของสี ดังต่อไปนี้

1.) โลกตะวันตกและเหล่าพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา มีความเข้าใจจีนในทางที่แย่ลง

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เสื่อมถอยลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยรัฐบาลพญาเหยี่ยวของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เร่งสปีดความเสื่อมถอยดังกล่าว ความเข้าใจของโลกตะวันตกยิ่งแย่ลง ๆ จากความขัดแย้งในประเด็นสิทธิมนุษยชน และการที่จีนทวีความแข็งกร้าวต่อไต้หวัน

2.) แคมเปญปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของสี จิ้นผิง

หลังจากที่สีได้นั่งบัลลังก์อำนาจสูงสุดของพรรค ก็บุกตะลุยกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันภายในพรรค ซึ่งเรียกคะแนนนิยมจากสาธารณชนได้เป็นกอบเป็นกำ แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า แคมเปญปราบคอร์รัปชันของสี ยังเป็นเครื่องมือขจัดปฏิปักษ์การเมืองไปด้วย

3.) สร้างระเบียบความสงบเรียบร้อยตามชายแดนที่เคยเป็นเขตมีปัญหาวุ่นวาย

ภูมิภาคทิเบต ซินเจียง ฮ่องกง ซึ่งเป็นเขตปกครองตัวเองและเขตบริหารพิเศษภายใต้อธิปไตยจีน เคยสร้างความปวดเศียรหนักให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน

สี ได้จัดปฏิบัติการปราบปรามที่เด็ดขาดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กวาดล้างเสี้ยนหนามที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของแผ่นดิน และคุมภูมิภาคชายแดนได้อยู่หมัด

ในซินเจียง ชาติส่วนน้อยมุสลิมอุยกูร์ราวหนึ่งล้าน เข้ามาฝึกฝนอาชีพในค่ายอาชีวศึกษา

ในฮ่องกง ทางการจีนได้จัดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติมาปราบกลุ่มที่ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2019 จนดินแดนเข้าสู่ภาวะสงบเรียบร้อยโรงเรียนจีน

4.) อุณหภูมิขัดแย้งไต้หวันสูงขึ้น

กลุ่มผู้นำสูงสุดของจีนทุกคนจากยุคเหมาเจ๋อตง ล้วนย้ำนักย้ำหนาถึงความสำคัญของการ “รวมชาติจีน” กับเกาะที่จัดตั้งรัฐบาลปกครองตัวเองแห่งไต้หวัน

ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันร้อนกระฉูดภายใต้การนำของสี กองทัพปลอดแอกประชาชนจีนเพิ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวรอบ ๆ เกาะในไม่กี่ปีมานี้ ทั้งหมั่นซ้อมรบ ไปยันรุกล้ำเข้าไปท้าทายในเขตป้องกันภัยทางอากาศ

ในเดือนสิงหาคม ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ นางแนนซี โพโลซี ยังมาเยือนไทเป กระตุ้นหนวดพญามังกรอย่างย่ามใจยิ่ง และจีนก็ตอบสนองโดยจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ปิดล้อมเกาะไต้หวัน 3 วัน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน

บริษัทญี่ปุ่นผุดไอเดีย ‘เครื่องซักคน’ แค่นอนเฉย ๆ ไม่ต้องเหนื่อยถู

บริษัทเทคโนโลยีญี่ปุ่น ซึ่งเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมห้องน้ำและห้องครัว ออกมาเผยแผนการผลิต ‘เครื่องซักคน’ เพิ่มความสะดวกสบายเอาใจผู้บริโภคที่ขี้เกียจถูตัว ต่อจากนี้แค่นอนเฉย ๆ ไม่ต้องลำบาก เดี๋ยว AI อาบให้!

อันที่จริงคอนเซปต์เครื่องซักคนไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อหลายสิบปีก่อนนี้บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่อย่าง ‘ซันโย อิเล็กทริก’ เคยนำเครื่องซักคนตัวต้นแบบที่เรียกว่า ‘Ultrasonic Bath’ ออกมาเปิดตัวในงาน Osaka Expo เมื่อปี 1970 มาแล้ว พร้อมโฆษณาว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วย ‘ล้างทำความสะอาด นวดตัว และเป่าแห้งโดยอัตโนมัติ เสร็จสรรพภายใน 15 นาที’

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ยังไม่เคยถูกพัฒนาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายในท้องตลาดมาก่อน

ล่าสุด บริษัท ไซเอนซ์ จำกัด (Sciences Co. Ltd.) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครโอซากา ได้ประกาศแผนสร้างและผลิตเครื่องซักคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานได้จริงภายใต้ชื่อ ‘Project Usoyaro’ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์ได้ภายในปี 2025

ถอดเนื้อหา FARCRY 6 สู่บริบททึ่คล้ายคลึง 'เมียนมา' สันติภาพไม่มีอยู่จริง หากทุกฝ่ายยังชิงชังไม่จบสิ้น

หากใครเป็นคอเกม ย่อมรู้จักเกม FAR CRY เป็นอย่างดี เพราะเป็นซีรีส์เกมที่ออกมาเมื่อไหร่ก็ฮิตเป็นพลุแตกทุกครั้ง โดยในภาคที่ 6 นี้เนื้อเรื่องของภาคนี้เข้มข้นเหมือนกับชีวิตจริงในเมียนมาเสียจนเอย่าต้องขอยกเรื่องนี้มาเขียนเป็นบทความกันเลยทีเดียว

ในเกม FAR CRY 6 นี้จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นบนประเทศที่เป็นหมู่เกาะในคาบสมุทรแคริเบียนที่ชื่อว่า 'ยาร่า' เรื่องราวมีอยู่ว่า ในปี 1967 คณะกองโจรปฏิวัติ 'เกอริญ่า' ได้โค่นล้มระบอบการปกครองเผด็จการของประธานาธิบดี เกเบรียล คาสติโญ่ ลงได้สำเร็จ แต่มันก็นำไปสู่วิกฤติการล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศยาร่า เวลาผ่านไปในปี 2014 ลูกชายของเขา อันตน คาสติโญ่ ได้ขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง และให้คำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นฟูประเทศใหม่ โดยคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า 'วิวิโร่' ซึ่งเป็นยารักษาโรคมะเร็งชนิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากใบยาสูบในประเทศยาร่า และใช้ชื่อโปรเจกต์การฟื้นฟูยาร่าว่า 'บูรณะแดนสวรรค์'

เมื่อเวลาผ่านไป 7 ปี การปกครองของอันตนก็เป็นระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ เขาใช้แรงงานประชาชนเยี่ยงทาส ปกครองประชาชนด้วยเผด็จการเพื่อเกณฑ์กำลังคนมาเป็นกองทัพ และร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานในการสร้างวิวิโร่ขึ้นมา รวมไปถึงสร้างกองกำลังติดอาวุธ Fuerzas Nacionales de Defensa (FND) ขึ้นมา ประชาชนทุกหย่อมหญ้าเดือดร้อนจากการปกครองด้วยระบอบนี้ แดนี่ โรฮาส ตัวเอกในเกมส์ของเราและเพื่อนอีกสองคนคือ ลิต้า ตอร์เรส และอเลโฮ รูอิซ ตัดสินใจที่จะหนีออกจากขุมนรกแห่งนี้ไปยังอเมริกา  

ก่อนการหลบหนี อเลโฮทนไม่ไหวกับการทำตัวป่าเถื่อนของเหล่าทหาร จึงโผล่หน้าออกไปตะโกนด่าทอ ก่อนจะโดนสวนกลับมาด้วยลูกปืนที่ปลิดชีวิตของเขา ลิต้าและแดนี่จึงรีบหลบหนีออกจากเมืองไปยังเรือที่กำลังจะพาผู้คนหนีออกนอกประเทศ แต่เรื่องราวกลับเลวร้ายเมื่อบนเรือนั้น กลับมี ดิเอโก้ ลูกชายของอันตนอยู่ด้วย อันตนจึงนำกองกำลังมาสกัดและพาตัวดิเอโก้กลับไป พร้อมกับสั่งฆ่าประชาชนทุกคนที่อยู่บนเรือ เรือจมลงสู่ใต้ทะเลและแดนี่กับลิต้าก็ถูกพัดมาเกยตื้นบนชายหาดเกาะซานตัวริโอ้ ส่วนลิต้าที่ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตไปอีกคน  

จากการรอดตายครั้งนี้ทำให้แดนี่ได้พบกับคลาร่า การ์เซียผู้นำกองโจรปฏิวัติ ลิเบอร์ตาด เพื่อต่อต้านระบอบการปกครองของคาสสิโญ่ และฮวน คอร์เตซ อดีตสายลับและผู้ผลิตอาวุธที่คอยขัดขวางระบบการผลิตวิวิโร่บนเกาะซานตัวริโอ้ จากนั้นแผนการโค่นล้มระบอบเผด็จการจึงได้เริ่มต้นขึ้น 

และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดก่อนจะเริ่มเกม โดยหากใครเล่นเกมจะพบว่ากองทัพปฎิวัตินั้น แยกเป็นหลายกลุ่มซึ่งมีแดนี่เป็นคนดึงให้ทุกกลุ่มมมาอยู่ด้วยกันจนสามารถโค่นล้มประธานาธิบดี อัลตน คาสติโญ่ได้สำเร็จ  

จากเนื้อหาในเกม หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เมียนมาเป็น มีอะไรเหมือนหรือแตกต่างจากเกมบ้าง?

ในเกมประธานาธิบดีอัลตน พยายามแยกชาวยาร่าว่ามี 2 กลุ่มคือชาวยาร่าแท้ ๆ กับอีกกลุ่มที่ในเกมระบุว่าเป็นพวกชายขอบ ซึ่งเนื้อหาจุดนี้คล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ตรงที่มีปัญหาจากความแตกต่างของชาติพันธุ์เป็นทุนเดิม แต่ในเมียนมานั้น ทางรัฐบาลทุกรัฐบาลแม้กระทั่งรัฐบาลทหารก็มีท่าทีที่จะรวบชาติพันธุ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกับชาติพันธุ์เมียนมา ไม่ได้แบ่งแยกเหมือนในเกม

กลุ่มผู้ต่อต้านกระจายกันอยู่ต่างฝ่ายต่างมีแนวทางของตัวเอง มีเพียงในเกมเท่านั้นที่มีสถานการณ์ที่ทำให้ทุกฝ่ายรวมกันเป็นกลุ่มเดียว แต่ในความเป็นจริงนั้นทำได้ยากมาก

เพราะเรื่องจริงนั้นมักจะมีมือที่สามให้การสนับสนุนทั้งฝ่ายรัฐบาลของอัลตนและฝ่ายเกอริญา โดยในเกมระบุว่าฝ่ายรัฐบาลนั้นมีแยงกี้เป็นผู้สนับสนุนในการลงทุนการทำฟาร์มยาสูบวิวิโร่ ส่วนฝ่ายต่อต้านได้เงินและการสนับสนุนอาวุธจากการค้าของเถื่อน

นอกจากนี้ ผู้ทรยศก็ล้วนมีอยู่ทุกฝ่าย หากใครเล่นเกมจะเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีผู้ทรยศต่อฝ่ายตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งสถานการณ์ในเมียนมาก็มีไม่น้อยที่ทหารหลายคนแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับฝั่งของมินอ่องหล่ายและฝ่ายต่อต้านก็มีหลายคนที่เลือกที่จะหยุดไม่สนับสนุนการต่อต้านอีกต่อไปด้วยเหตุผลส่วนตัวของเขาเช่นกัน

อย่างไรซะ ไม่ว่าจะในเกมหรือชีวิตจริง ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงบาดเจ็บและสียชีวิตก็คือชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่อยู่ในเขตสู้รบ

การทำโฆษณาชวนเชื่อ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดึงมวลชนมาเป็นพวกของตน ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านไม่ว่าจะในเกมหรือในชีวิตจริงเรื่องนี้เป็นจริงเสมอ

แม้แม่ทัพใหญ่จะตาย เกมจะจบ แต่สงครามของความขัดแย้งไม่มีวันจบ เพราะจะมีคนมาแทนเสมอ  เฉกเช่นเดียวกันกับที่แม้ฝั่งกองทัพเมียนมาจะสังหารหัวกะทิแม่ทัพตายไปมากมายเท่าไรก็ตาม ก็จะมีคนใหม่มาแทนเสมอ

แม้ประธานาธิบดีอัลตนจะตายไปแต่ยาร่า ก็ไม่ได้มีเสรีภาพตามที่เกอริญาคาดหวังไว้อยู่ดี เพราะสุดท้ายก็จะมีกลุ่มที่เคยให้การสนับสนุนประธานาธิบดีอัลตนกำเนิดขึ้นมาเป็นกลุ่มต่อต้านพวกเกอริญา ซึ่งเป็นบทสรุปว่าสงครามไม่เคยนำพาสันติภาพไม่ว่าจะในรูปแบบใด แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้แสวงหาประโยชน์จากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสงครามเท่านั้น

ส.ส.หัวเสรีนิยมจากพรรคเดโมแครตโดนถล่มเละ หลังเรียกร้องยุติสงครามยูเครนด้วยการเจรจา

รอยเตอร์ส - เมื่อ (25 ต.ค.) ที่ผ่านมากลุ่มส.ส.หัวเสรีนิยมจากพรรคเดโมแครต ตัดสินใจถอนหนังสือฉบับหนึ่งที่ส่งถึงทำเนียบขาว เรียกร้องให้หาทางคลี่คลายวิกฤตสงครามในยูเครนด้วยการเจรจา หลังจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในพรรคของพวกเขาเอง

พรามิลา จายาปาล ส.ส.จากพรรคเดโมเครต ประธานกลุ่ม ส.ส.หัวก้าวหน้าในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ (Congressional Progressive Caucus) กล่าวว่า "ทางกลุ่มได้ถอนหนังสือในเรื่องเกี่ยวกับยูเครน ที่ส่งถึงทำเนียบขาวเมื่อเร็ว ๆ นี้" พร้อมระบุว่า "หนังสือฉบับนี้ร่างไว้ตั้งแต่หลายเดือนก่อน เคราะห์ร้ายที่มันถูกเผยแพร่โดยเจ้าหน้าที่โดยไม่ผ่านการตรวจสอบ"

หนังสือฉบับนี้ที่ลงนามโดยสมาชิกหัวก้าวหน้า 30 คน ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวันจันทร์ (24 ต.ค.) และทำให้ส.ส.ของพรรคเดโมแครตคนอื่น ๆ รู้สึกเหมือนถูกเล่นงานโดยไม่ทันตั้งตัว ราว 2 สัปดาห์ ก่อนถึงศึกเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินว่าพรรคจะยังคงครองเสียงข้างมากในสภาคองเกสไว้ได้หรือไม่

ขณะเดียวกันหนังสือฉบับนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกมา ในช่วงเวลาที่สมาชิกรีพับลิกันก็มีเรื่องให้กังวลเช่นกัน หลังมีข่าวว่าทางพรรคอาจปรับลดเงินช่วยเหลือทางทหารและมนุษยธรรม ที่มอบให้แก่ยูเครนนับตั้งแต่ถูกรัสเซียเปิดฉากรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

หลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก สมาชิกของกลุ่มส.ส.หัวก้าวหน้าในสภาคองเกรสหลายคน เผยแพร่ถ้อยแถลงแสดงจุดยืนสนุบสนุนยูเครน เน้นย้ำว่าที่ผ่านมา พวกเขาก็ให้ความร่วมมือกับสมาชิกเดโมแครตคนอื่นๆ ในการลงมติเห็นชอบมอบเงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ยูเครน

บางส่วนในนั้นอ้างว่าพวกเขาลงนามในหนังสือดังกล่าวตั้งแต่หลายเดือนก่อน และตอนนี้สิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว 

"จังหวะเวลาของการเจรจาคือทุก ๆ อย่าง ฉันลงนามในหนังสือนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน แต่หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนไปแล้วนับตั้งแต่นั้น ถ้าเป็นวันนี้ ฉันจะไม่ลงนามมัน" ส.ส.ซารา จาค็อบส เขียนบนทวิเตอร์

ส.ส.เจมี ราสคิน ซึ่งลงนามในหนังสือดังกล่าวเช่นกัน ระบุในถ้อยแถลงว่า เขารู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่ามันถูกถอนออกมาแล้ว

'จีน' ผงาด!! มหาวิทยาลัยจีนอันดับที่ดีที่สุดโลก แซงหน้า 'มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ' เป็นครั้งแรก

เว็บไซต์ข่าวมาร์เก็ตวอทช์รายงานว่า รายงานการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 2,000 แห่งจากมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลกโดยนิตยสารยูเอสนิวส์แอนด์เวิลด์รีพอร์ต (U.S. News & World Report) พบว่า มีมหาวิทยาลัยของจีนถึง 338 แห่งติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยของสหรัฐจำนวน 280 แห่ง โดยนับเป็นครั้งแรกที่จำนวนมหาวิทยาลัยของจีนติดอันดับดังกล่าวแซงหน้ามหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2565-2566 (The 2022-2023 Best Global Universities rankings) ที่เปิดเผยในวันอังคาร (25 ต.ค.) แสดงให้เห็นว่า จีนมีจำนวนมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกมากกว่าสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยมหาวิทยาลัยของจีนและสหรัฐติดอันดับจำนวนมากที่สุด ตามด้วยญี่ปุ่น (105 แห่ง), สหราชอาณาจักร (92 แห่ง) และอินเดีย (81 แห่ง)

การจัดอันดับดังกล่าวนั้นเริ่มขึ้นในปี 2557 เนื่องจากมหาวิทยาลัยจำนวนมากขึ้นเริ่มแข่งขันกันในการแย่งชิงนักศึกษา ตลอดจนการลงทุนด้านคณาจารย์และการวิจัยด้วย โดยการจัดอันดับจะวัดจากปัจจัยจำนวนมาก รวมถึงชื่อเสียงด้านงานวิจัย การตีพิมพ์งานวิจัย การจัดประชุม และการถูกนำไปอ้างถึง แต่จะไม่รวมผลการเรียนของนักศึกษาและโปรแกรมการเรียนรายบุคคล

แม้จีนจะมีมหาวิทยาลัยติดอันดับมากกว่าสหรัฐฯ 58 แห่ง แต่มหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังคงติดอันดับบน รวมถึงติด 10 อันดับแรกได้ถึง 8 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (อันดับ 1), สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (อันดับ 2), มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (อันดับ 3), มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ (อันดับ 4), มหาวิทยาลัยวอชิงตัน-ซีแอตเทิล(อันดับ 6), มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (อันดับ 7), สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (อันดับ 9) และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (อันดับ 10) โดยใน 10 อันดับแรกมีมหาวิทยาลัยจากสหราชอาณาจักรติดอันดับ 2 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (อันดับ 5) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (อันดับ 8)

อย่างไรก็ตาม ในการจัดอันดับดังกล่าวนั้นได้เพิ่ม 4 สาขาวิชาใหม่ในการพิจารณาได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การศึกษาและการวิจัยทางการศึกษา, อุตุนิยมวิทยาและบรรยากาศศาสตร์ และทรัพยากรน้ำ โดยนายโรเบิร์ต มอร์ส หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ข้อมูลของยูเอส นิวส์ เปิดเผยกับมาร์เก็ตวอทช์ว่า “สาขาวิชาดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในหลายระดับ”

ทั้งนี้ AI เป็นหนึ่งในไม่กี่สาขาที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนถือว่ามีความสำคัญทางด้านกลยุทธ์ระดับประเทศ โดยคณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ลงนามในร่างกฎหมายการริเริ่ม AI แห่งชาติ (National AI Initiative Act) ให้เป็นกฎหมายในปี 2564 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้สหรัฐฯ ขึ้นเป็นผู้นำในด้านดังกล่าว

'ไบเดน' เรียกชื่อนายกฯ ใหม่อังกฤษผิด จาก 'ริชี ซูนัค' เป็น 'ราชี ซานุก'

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอ่ยชื่อ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษผิดพลาดในวันจันทร์ (24 ต.ค.) ระหว่างแสดงความคิดเห็นกรณีที่เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ เหตุเลอะเลือนล่าสุดที่พบเห็นบ่อยครั้งขึ้นของผู้นำสหรัฐฯ

ระหว่างกล่าวปราศรัยในวาระเทศกาลดิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงสว่างของอินเดีย ไบเดน ยกย่องการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรของ ซูนัค นักการเมืองเชื้อสายอินเดีย ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ที่มีความสำคัญอย่างแท้จริง

"เราได้รับข่าวว่า ราชี ซานุก (Rashee Sanook) ตอนนี้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี" ผู้นำสหรัฐฯกล่าว "อย่างที่พี่น้องผมมักพูดว่า ไม่น่าเชื่อเลย"

ในวันอังคาร (25 ต.ค. 65) ซูนัค กล่าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ หลังเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 หลังจากพระองค์ทรงตอบรับการลาออกของอดีตนายกรัฐมนตรี ลิส ทรัสส์ อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ทรัสส์ มีเวลาอยู่ในตำแหน่งเพียงแค่ 44 วัน กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลังวัย 42 ปีและผู้จัดการกองทุนเฮลจ์ฟัน เป็นบุคคลผิวสีและชาวฮินดูรายแรกที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของสหราชอาณาจักร เขาคว้าชัยในศึกชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษนิยมหลัง เพนนี มอร์ดันท์ คู่แข่งคนสำคัญ รวบรวมคะแนนเสียงจากบรรดาส.ส.ของพรรคอนุรักษ์นิยมได้ไม่มากพอ ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน อีกหนึ่งคู่แข่ง เลือกที่จะถอนตัวไปก่อนหน้านี้

ขณะที่ ไบเดน กำลังขบคิดว่าจะลงสมัครกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยหรือไม่ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 ตัวเขาเองกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์เหน็บแนมอย่างกว้างขวาง จากอาการหลงลืมต่างๆนานา ที่ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและสุขภาพจิตของเขา

ในวันจันทร์ (24 ต.ค. 65) เช่นกัน ไบเดน มีท่าทีเหมือนคนหลงทิศ เดินกลับอาคารหลักไม่ถูก หลังออกมาร่วมพิธีปลูกต้นไม้ที่สนามหญ้าทางทิศใต้ของทำเนียบขาว จนเจ้าหน้าที่ต้องชี้ทาง แนะให้เขาเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

เมื่อเดือนที่แล้ว ไบเดน ก็เพิ่งแสดงอาการหลงและสับสน หลังจากเสร็จสิ้นการกล่าวสุนทรพจน์ในนิวยอร์ก

ประธานาธิบดีรายนี้ ซึ่งจะอายุครบ 80 ปีในเดือนหน้า หันรีหันขวางอยู่บนเวที ดูเหมือนกำลังมึนงงว่าจะลงจากเวทีอย่างไร ระหว่างนั้นพิธีกรได้กล่าวขอบคุณ ซึ่งดึงดูดความสนใจของ ไบเดน กลับไปยังพิธีการบนเวทีแทน

ในเดือนกันยายน ไบเดน สร้างความสับสนแก่สักขีพยานและเจ้าหน้าที่อีกครั้ง หลังจู่ๆเขาก็เดินออกจากโพเดียม ขณะกำลังกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับหายนะภัยจากเฮอร์ริเคนเอียน ที่สำนักงานใหญ่ของสำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลกลาง(FEMA)

5 ความท้าทาย พิสูจน์กึ๋นนายกฯ หนุ่ม 'ริชี ซูนัค' ภายใต้รัฐบาลใหม่ ความหวังใหม่ที่ประชาชนรอชม

"I will place economic stability and confidence at the heart of this government's agenda.
“เสถียรภาพและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจคือหัวใจของนโยบายของรัฐบาลชุดนี้”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำปราศัยยาวหกนาทีของนายกรัฐมนตรีคนใหม่หมาด ๆ ของอังกฤษอย่าง นายริชี ซูนัค หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวท์นิ่ง ซึ่งจะเป็นที่พักของเขาหลังจากนี้

นายริชีแถลงต่อสื่อมวลชนหลังจากที่เข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในตอนเช้าของวันอังคารที่ 25 กันยายนที่มีรับสั่งให้เขาจัดตั้งรัฐบาล นายริชีรู้ดีว่าการล่มสลายภายใน 45 วันของรัฐบาลของนางลิซ ทรัสส์มาจากอะไร เขาจึงบอกกับคนอังกฤษว่า รัฐบาลของเขาจะมีความซื่อสัตย์, เป็นมืออาชีพและรับผิดชอบในทุกระดับ และชาวอังกฤษจะได้รับความเชื่อมั่นนี้

พร้อมกันนี้นายริชียังให้คำมั่นสัญญาต่อไปว่า การบริการทางสาธารณะสุขจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น, โรงเรียนจะดีกว่าเดิม, ถนนหนทางจะปลอดภัย, การควบคุมชายแดนของประเทศจะรัดกุมยิ่งขึ้น, คุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อม, ให้การสนับสนุนกองทัพ,ยกระดับและเสริมสร้างเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิดโอกาสของการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อันจะนำไปสู่การลงทุนทางธุรกิจ, การคิดค้นสิ่งใหม่และการสร้างงาน

สิ่งที่นายริชีกล่าวมา ตามภาษาอังกฤษที่ว่า it’s too good to be true มันดูจะดีเกินจริงไปหน่อยมั้ย ซึ่งเขาก็ดูจะรู้ดี จึงย้ำว่า...

"ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่อหน้าท่านขณะนี้และพร้อมที่จะนำประเทศของเราไปสู่อนาคต จะทำให้ความต้องการของท่าน (ให้ความสำคัญของประชาชน) อยู่เหนือการเมือง, และสร้างรัฐบาลที่แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพพรรคการเมืองดังเช่นพรรคของข้าพเจ้า"

"So I stand here before you, ready to lead our country into the future, to put your needs above politics, to reach out and build a government that represents the very best traditions of my party.”

นี่ถือเป็นคำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรีหนุ่มวัย 42 ปีเชื้อสายอินเดียต่อประเทศที่เขาบอกว่ามีบุญคุณที่ต้องตอบแทน

ว่าแต่รัฐบาลของนายริชีจะมีหน้าตาอย่างไร?

บีบีซีภาษาอังกฤษได้รวบรวมมาให้ดู ซึ่งก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นายเจเรมี่ ฮันท์ยังคงเป็นรมต.คลังต่อไป, นายโดมินิค ลัปป์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมต.ยุติธรรม, นางซูเอลล่า บลาเวอแมน กลับมาเป็นรมต. มหาดไทย หลังจากประกาศลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเธอยอมรับผิดว่าใช้อีเมล์ส่วนตัวส่งเอกสารราชการให้คนรู้จัก ข่าวบอกว่าเธออาจเป็นเป้าของพรรคฝ่ายค้านที่จะโจมตีรัฐบาล, รมต.ต่างประเทศ และ รมต.กลาโหมคนเดิมไม่เปลี่ยน เช่นเดียวกับนางเพนนี มอร์ด้อนน์ ผู้ที่ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับนายริชชี่ แต่ต้องถอนตัวออกเพราะคะแนนเสียงไม่พอ เธอยังคงได้ตำแหน่งประธานสภาสามัญเช่นเดิม 

แต่มีตำแหน่งหนึ่งที่คนค่อนข้างแปลกใจคือ นายไมเคิล โกรฟ  Michael Gove กลับมาเป็นรมต. ที่เรียกว่า The Levelling Up Secretary โดยตำแหน่งนี้ พรรคคอนเซอร์เวทีฟตั้งขึ้นมาไม่นานนักและนายโกรฟ เคยเป็นมาก่อนและถูกนายบอริส จอนห์สันไล่ออกเพราะความขัดแย้งที่นายโกรฟขอให้นายบอริสลาออกหลังจากความผิดพลาดหลายอย่าง ซึ่งหน้าที่ของ รมต.นี้ คือ ทำหน้าที่ที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในประเทศ

เหล่านี้ ก็เป็นไปตามกฎที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ 22 คน

อย่างไรเสีย พรรคเลเบอร์ก็วิจารณ์คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ว่าส่วนใหญ่ก็หน้าเดิมๆ ที่หน้าเดิมนี้อาจตีความหมายได้ว่า นายริชีต้องการประนีประนอมภายในพรรคให้เกิดความสามัคคี แต่รมต.ที่จะทำให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัยก็คือ นายเจเนมี่ ฮันต์ ผู้ที่จะต้องเสนอแผนงบประมาณชุดเล็ก Mini-budget ต่อสภาในวันที่ 31 ต.ค. นี้

เปิดคำ 'อิงฟ้า' ถึง 'ปูติน' คำตอบเชิงภาพลักษณ์ ที่อาจสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จากเวทีประกวด Miss Grand International 2022 ที่จบไป พร้อมกับการคว้ารองชนะเลิศอันดับหนึ่งของ 'อิงฟ้า' ก็มีควันหลงเกี่ยวกับคำตอบมากมายของเธอหลั่งไหลอยู่บนโลกโซเชียล

โดยหนึ่งในผู้ใช้เฟซบุ๊กในชื่อ Kawin Kankeow ได้มีการโพสต์ติงคำตอบของอิงฟ้า พร้อมทวนให้ฟังดังนี้ว่า...

"Dear President Putin, everything you do is not different from a beast."
(ประธานาธิบดีปูติน ทุกสิ่งที่คุณทำไม่แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน)

แรงไปมั้ยครับ การประกวดนางงามจะตอบเอามันอย่างเดียวไม่ได้ ควรคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่ตนเองเป็นตัวแทน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่จำเป็นมากครับ

รู้ทัน 'กฎหมายศาสนา' ในเมียนมา เรื่องอ่อนไหว ที่ไม่ควรล่วงเกิน

จากประเด็นล่าสุดที่เกิดขึ้นในเมียนมา คือมีคนนำตุ๊กตายางที่ชายหนุ่มกลัดมันซื้อมาเป็นเพื่อนคลายเหงามาทำเป็นองค์สักการะนัตสุรัสสตีและนัตสิริเทวีประดิษฐานไว้บริเวณด้านล่างของเจดีย์ชเวดากองทางทิศใต้ ซึ่งหากประดิษฐานไว้ที่อื่น เอย่าเชื่อว่าคงไม่มีประเด็นอะไร แต่เนื่องจากเป็นที่เจดีย์ชเวดากอง ดังนั้นดราม่าจึงเกิดขึ้น

ชาวโซเชียลของเมียนมาเริ่มมีการพูดถึงความไม่เหมาะสมในการนำตุ๊กตายางมาสวมชุดเป็นนัตมากขึ้นจนลามไปถึงเรื่องของเจ้าหน้าที่บริหารสถานที่เจดีย์ชเวดากองว่า ทำไมถึงยอมให้มีการนำหุ่นแบบนี้มาใช้เป็นนัตให้คนสักการะ (นัต: ผีบรรพบุรุษ ลักษณะกึ่งผีกึ่งเทวดาคล้ายเทพารักษ์)

แต่ความจริงเรื่องราวทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นขึ้นถ้าชายหนุ่มผู้บริจาคนัตนี้ให้เป็นองค์สักการะ ไม่โพสต์ใบเสร็จที่ระบุสเป็กของหุ่นว่า ตุ๊กตายางสูง...เซนติเมตร หน้าอกไซส์ใหญ่ 1 และหน้าอกไซส์ธรรมดา 1 ผมสี...ตาสี... ซึ่งแน่นอนเมื่อเขาโพสต์ลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์กและเปิดสถานะเป็นสาธารณะแบบนี้ จึงเป็นประเด็นทันที เพราะหากเขาไม่โพสต์ใบเสร็จใบนี้ ชาวเน็ตเมียนมาอาจจะคิดว่าเป็นตุ๊กตาทั่วไปไม่ใช่ตุ๊กตายางสำหรับใช้งานในเรื่องอย่างว่า

สุดท้ายกระทรวงกิจการศาสนาและวัฒนธรรมของเมียนมา จึงดำเนินคดีข้อหาดูหมิ่นพุทธศาสนาต่อผู้ที่นำตุ๊กตายางแต่งเป็นนัตไปให้ประชาชนกราบไหว้บูชาที่ลานจอดรถพระเจดีย์ชเวดากอง รวมถึงดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตโดยพลการด้วย สรุปงานเข้าไปตาม ๆ กัน

ประเด็นศาสนาเป็นเหตุแบบนี้ นี่ไม่ใช่เคสแรกในเมียนมา หากสืบค้นไปแล้วในเมียนมามีกฎหมายประหลาด ๆ หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่นเมื่อหลายปีก่อนมีชาวแคนาดาและชาวสเปนถูกเนรเทศออกจากเมียนมา เพราะสักรูปพระพุทธรูปบนร่างกาย อีกทั้งยังมีเคสอื่น ๆ อีกเช่น มีชาวต่างชาติตะโกนด่าเนื่องจากชุมชนใกล้โรงแรมมีกิจกรรมเทศนาตอนค่ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีหลังฝน สุดท้ายชาวต่างชาติคนนั้นถูกจับและดำเนินคดี หรืออย่างอีกเคสหนึ่งเป็นไนท์คลับที่เอารูปพระพุทธรูปมาประดับสุดท้ายก็โดนตำรวจจับและปิดไปตามระเบียบ

จะเห็นได้ว่าประเด็นทางศาสนาเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากสำหรับคนเมียนมาถึงขั้นมีการตราเป็นกฎหมายสรุปคร่าว ๆ ว่า...

รู้จัก ‘ริชชี่ สุนัค’ นายกฯอังกฤษคนใหม่ หลังก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม

อนุดี เซียสกุล

นายริชชี่ สุนัคได้รับเลือกจากส.ส.พรรคคอนเซอเวทีฟด้วยคะแนนเสียงเกือบ ๒๐๐เสียงให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายนนี้และเขาจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนางเอลิซาเบธ ทรัสส์ที่ลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากที่เข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓

ในตอนบ่ายสองโมงของวันจันทร์ตามเวลาในลอนดอนซึ่งเป็นเส้นตายของการเสนอชื่อผู้เข้าชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟ (อนุรักษ์นิยม)คนใหม่ นายริชชี่ได้คะแนนเสียงจากส.ส.ร่วมพรรคของเขา ๑๙๓ คนจากจำนวนส.ส.ทั้งหมด ๓๕๗ คนจำนวนนี้จากการสอบถามของบีบีซีและจากกการประกาศของส.ส.เหล่านั้นด้วยตนเอง ส่วนผู้สมัครอีกคนหนึ่งคือนางเพนนี มอร์ด้อน ได้เพียง ๒๖ เสียงเท่านั้น

ตามกฎของการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในครั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องได้เสียงจากส.ส. พรรค ๑๐๐ คน ด้วยเหตุนี้จึงจะมีผู้สมัครได้เพียงสามคนเท่านั้น ก่อนหน้าที่นายริชชี่จะประกาศลงชิง ฝ่ายทีมของเขาได้เปิดเผยรายชื่อส.ส.ที่หนุนเขาว่ามีอยู่เกิน ๑๐๐ คนแล้ว และนางเพนนีมีอยู่ราว ๒๐ กว่าคน ส่วนค่ายนายบอริส จอนห์สันก็อ้างว่าตนมีอยู่ ๕๐ กว่าคน แต่ในที่สุดนายบอริสก็ประกาศไม่ลงชิงตำแหน่ง

เมื่อนางเพนนีได้เสียงไม่ถึง ๑๐๐ ตามกำหนดเธอได้ประกาศถอนตัวและหันมาสนับสนุนนายริชชี่ ตามกฎของพรรคเมื่อเหลือผู้สมัครอยู่เพียงคนเดียวเขาก็คือผู้ชนะ  คือนายริชชี่ สุนัค

นายริชชี่ไม่ใช่ผู้ชิงชัยหน้าใหม่ ก่อนหน้านั้น ๔๕ วันเขาคือผู้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟกับนางลิซ ทรัสส์ แต่นางทรัสส์ชนะจากการเลือกของสมาชิกพรรคคอนเซอเวทีฟที่อยู่ราว ๑๖๐,๐๐๐ คน( อย่างไรก็ดีก่อนที่จะให้สมาชิกพรรคออกเสียงเลือกนั้น นายริชชี่ ชนะได้เสียงจากส.ส.ในพรรคมากกว่านางทรัสส์) การส่งมอบอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่อ่าจจะใช้เวลาระยะหนึ่งเมื่อโฆษกทำเนียบนายกฯแถลงว่าอาจจะไม่ใช่ในวันจันทร์นี้เพราะอดีตนายกฯ นางทรัสส์ต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ก่อน

ริชชี่ สุนัค คือใคร

บิดาของเขาเป็นหมอและมารดาเปิดร้านขายยาทั้งคู่ย้ายมาจากอัฟริกาตะวันออกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอังกฤษและเป็นคนอินเดีย ริชชี่เกิดที่เซ้าท์แฮมตัน, เรียนจบจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด,สหรัฐอเมริกา สมรสกับนักธุรกิจหญิงชาวอินเดียชื่อ Akshata Murthy  และมีบุตรสองคน ครอบครัวภรรยาของเขามีธุรกิจซอฟท์แวร์(Infosys ให้บริการในกว่า ๕๐ ประเทศ)ที่รำรวยอย่างมหาศาลในอินเดียและนี่เป็นจุดอ่อนที่เขามักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าภรรยาของเขาไม่เสียภาษีให้กับประเทศอังกฤษซึ่งที่จริงสามารถทำได้ และเพื่อกลบเสียงวิจารณ์นั้นต่อมาเธอได้ยอมเสียภาษีบางส่วนให้กับอังกฤษ เดอะซันเดย์ไทม์ลงรายชื่อของสามีภรรยาคู่นี้ว่ารำรวยโดยมีทรัพย์สินราว  ๗๓๐ ล้านปอนด์ 

ก่อนที่จะมาเล่นการเมือง ริชชี่ สุนัค เคยทำงานให้กับบริษัท โกลด์แมน แซค และบริษัทกองทุนรวมอื่นอีกสองแห่ง  นอกจากจะถือสัญชาติอังกฤษแล้ว เขายังมีกรีนการ์ดของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

เส้นทางการเมืองของริชชี่ สุนัค ก้าวหน้ารวดเร็วที่เดียวเขาได้รับเลือกเป็นส.ส. ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๘ ในเขตริชมอนด์,ยอร์คเชียร์เหนือ  แลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยนายบอริส จอนห์สันเป็นนายกฯ และในปลายเดือนตุลาคมปีนี้เขาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษที่มีเชื้อสายอินเดีย

ในคำแถลงครั้งแรกหลังจากประกาศผลว่าเขาชนะการเลือกหัวหน้าพรรคทอรี่ นายริชชี่บอกว่า

"It is the greatest privilege of my life to be able to serve the party I love and give back to the country I owe so much to."  นับว่าเป็นเกียร์ติอย่างยิ่งในชีวิตของข้าพเจ้าที่ได้ทำงานให้กับพรรคที่ข้าพเจ้ารักและได้ตอบแทนประเทศที่มีบุญคุณอย่างเหลือล้น (ส่วนหนึ่งของคำปราศรัย)

"We now need stability and unity and I will make it my utmost priority to bring our party and our country together." ขณะนี้เราต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเสถียรภาพ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับแรกข้าพเจ้าที่จะนำพรรคของเราและประเทศของเราให้ไปด้วยกัน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่านายริชชี่ สุนัค ขณะนี้อาจจะดูว่าเป็นผู้ที่จะเข้ามาประสานรอยร้าวภายในพรรคคอนเซอเวทีฟและด้วยความหวังที่จะอุดรอยรั่วของเรือเศรษฐกิจของประเทศ จากนโยบายทางด้านภาษีที่เขายืนหยัดในระหว่างที่ต่อสู้กับนางทรัสส์เมื่อสองเดือนที่แล้ว แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่านายริชชี่จะสามารถนำประเทศให้ไปถูกทิศทางได้จริงเพียงใดก็ต้องคอยดูในนโยบายงบประมาณ mini-budget ที่รมต. คลังจะประกาศในวันที่ ๓๑ ตุลาคมนี้ ซึ่งถ้านโยบายนี้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย นายริชชี่ก็คงจะรอดพ้นสามารถทำงานต่อไปได้ แต่ถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้น มาฟังพรรคฝ่ายค้านเขาให้ความคิดว่าอย่างไรกับการเข้ารับตำแหน่งของเขา

ส่อง 7 โปลิตยูโร ยุคใหม่ ที่ได้ชื่อว่าเป็น 7 อรหันต์แดนมังกร ผู้กุมอำนาจการบริหารสูงสุดของจีน ภายใต้ผู้นำ 'สีจิ้นผิง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความถึงคณะกรรมการประจำกรมการเมือง หรือ โปลิตบูโร ชุดที่ 20 ของจีน ผู้กุมอำนาจทางการเมืองของจีนในปัจจุบันว่า ...

ถ้าให้สรุป 3 คำ สำหรับ PSC ชุดที่ 20 ผมจะใช้คำว่า "ทีมสีจิ้นผิง สายปฏิรูป ทีมเศรษฐกิจ"

หลังจากการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อเปิดสมัยการประชุมที่ 20 จบลงในวันที่ 22 ตุลาคม 2022 เราก็ได้เห็นรายชื่อของคณะกรรมการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนประเภทสมาชิกเต็ม จำนวน 205 คน และนั่นทำให้เราต้องเริ่มวางตัวศึกษาประวัติว่า ใครบ้างที่จะได้มีโอกาสสูงที่จะได้ดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee: PSC) ซึ่งถือเป็นกลไกสูงสุดในการตัดสินใจของประเทศ โดยจะมีจำนวน PSC ทั้งหมด 7 ท่าน รายชื่อที่ผมพยายามจะรวบรวม และประวัติพอสังเขปของแต่ละท่าน เรียงตามลำดับหน้าที่ความรับผิดชอบ มีดังนี้

1. Xi Jinping 
ใครอยากฟังประวัติชีวิตของท่าน เชิญไปฟังตาม link นี้ได้เลยครับ https://www.youtube.com/watch?v=s7pfQVb0QiA&t=10s 

2.Li Qiang

สายตรงคุมเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้ ถึงแม้จะบริหารผิดพลาดในเรื่องโควิด แต่ก็ได้รับโอกาสอีกครั้ง ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี

Li Qiang เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1959 ในมณฑลเจ๋อเจียง ปัจจุบันอายุ 63 ปี เรียนจบทางด้านวิศวกรรมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเจ๋อเจียง ซึ่งเป็นหนึ่งในห้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของจีน

เริ่มต้นเข้าทำงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1983 โดยรับตำแหน่งเป็นเลขาธิการของ Communist party Youth League จนได้รับตำแหน่งเลยเลขาธิการพรรคประจำเมือง Yongkang และ Wenzhou

และในปี 2005 เขาได้เป็นคณะกรรมการประจำกรมการเมืองในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับเลขาธิการประจำมณฑลเจ๋อเจียงซึ่งก็คือสี จิ้นผิงในขณะนั้น 

Li Qiang จบการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Hong Kong polytechnic University

ในที่สุดเขาก็ได้ขึ้นเป็นรองเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ๋อเจียงในปี 2011 พร้อมๆกับที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมสมัชชาสมัยที่ 18

ความใกล้ชิดกับ สีจิ้นผิง ทำให้เขาได้ร่วมคณะเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งที่สีจิ้นผิงยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ปี 2016 เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคมณฑลเจียงซู 

ก่อนที่จะได้รับการโปรโมทอีกครั้ง โดยได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ ในปี 2017 และด้วยตำแหน่งนี้ทำให้เขาได้อยู่ในกรมการเมือง ในการประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 19

3. Zhao Leiji

ผลงานที่สำคัญที่สุดของ Zhao Leiji คือ การเป็นเลขาธิการของคณะทำงานปราบปรามคอรัปชั่น Central Commission for Discipline Inspection (CCDI) ที่เกิดขึ้นในยุคของ สี จิ้นผิง และปราบปรามคดีคอรัปชั่นได้อย่างเป็นรูปธรรม หาคนผิดมาลงโทษได้ถึง 650,000 กรณี จากที่มีข้อสงสัยร่วม 2 ล้านกรณี และมีมากกว่า 84,000 กรณี ที่ผู้ทำผิดยอมสารภาพ โดยเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นจากการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI และ Big Data เข้ามาประยุกต์ใช้

Zhao Leiji เกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1957 ที่เมือง Xining มณฑล Qinghai ปัจจุบันอายุ 65 ปี เขาเริ่มต้นเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่ปี 1975 ในช่วงปลายของการปฏิวัติวัฒนธรรม และเมื่อเหตุการณ์เลวร้ายจบลง เขาก็เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในวิทยาลัย ongnongbing xueyuan ที่สอนเกษตรกร/ทหาร/นักศึกษา ไปพร้อมๆ กัน เมื่อผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง นักศึกษาจากวิทยาลัยนี้ก็ยังมีอยู่ พวกเขาจะทำการฝึกทั้งวิชาทหาร เดินแถว ออกกำลังกาย สวนสนาม เรียนทำการเกษตร และธุรกิจการเกษตร ควบคู่กับ การเรียนปรัชญาการเมืองคอมมิวนิสต์ และระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เพื่อจบการศึกษาจะได้กลับไปทำงานให้พรรคเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่างๆ โดย Zhao Leiji เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งก็กลับไปทำหน้าที่สมาชิกพรรคที่ Qinghai

ปี 1999 เขาได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำเมืองบ้านเกิด ก่อนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในระดับมณฑล นั่นคือ เลขาธิการพรรคประจำมณฑล Qinghai และเมื่อเขาควบคุมนโยบายของมณฑลได้อย่างเต็มที่ ผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการขยายโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ และเคร่งครัดเรื่องการลงทุนที่ต้องเป็นมิตรกับสภาวะแวดล้อม ร่วมกับการส่งเสริมการค้า การลงทุนอย่างเต็มที่ ทำให้ในระหว่าง ปี 2003 – 2007 ผลผลิตมวลรวมของมณฑล ปรับตัวสูงขึ้นถึง 300%

และเมื่อเขาได้รับการสนับสนุนให้ไปเป็นเลขาธิการพรรคที่มณฑล Shaanxi ในปี 2007 เขาก็ทำให้ในปี 2008 Shaanxi กลายเป็นมณฑลที่ GDP ขยายตัวสูงที่สุดในประเทศจีน ด้วยอัตรา 15% ผลงานที่เข้าตานี้เองทำให้เขาได้เข้ามาเป็นกรมการเมืองในปี 2012 การประชุมสมัชชาพรรคที่ 18 โดยควบคุมดูแลการจัดตั้งของพรรค และในปี 2017 การประชุมสมัชชาพรรคที่ 19 เขาก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง PSC ที่ดูแลคณะทำงานปราบปรามคอร์รัปชัน Central Commission for Discipline Inspection (CCDI)

4.Wang Huning

Wang Huning คือ มันสมองและกุนซือที่ทำหน้าที่วางหมากทางการเมืองมาแล้วตลอด 3 ยุคผู้นำที่ผ่านมา ทั้ง เจียง เจ้อหมิน, หู จินเทา และ สี จิ้นผิง ผู้สังเกตการณ์เรื่องจีนหลายท่านขนานนามเขาว่าคือ China’s Kissinger

เขาเกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1955 ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันอายุ 67 ปี Wang Huning เริ่มเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัย Shanghai Normal University และด้วยผลคะแนนดีเลิศ เขาได้รับข้อเสนอพร้อมทุนการศึกษาให้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของจีนทันที นั่นคือ มหาวิทยาลัย Fudan โดยเขาเลือกเรียนสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และจบปริญญาโทได้วุฒิกฎหมาย ในปี 1981 และเริ่มต้นการเป็นรองศาสตราจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุดของจีนในขณะนั้น ก่อนที่จะได้เป็นศาสตราจารย์ เป็นผู้อำนวยการภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย Fudan ในปี 1995

Wang Huning เริ่มเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี 1984 และเป็นคณะทำงานร่างนโยบายด้านทฤษฎีการเมืองให้กับการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 13 (1987-1992) และทำงานด้านวิชาการให้พรรคมาโดยตลอด จนได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2002 

ในสมัยการประชุมสมัชชาพรรคที่ 16 เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง Secretariat of the CPC หรือเทียบเท่ากับ เลขานุการด้านกิจการการเมืองของผู้นำรุ่นที่ 4 หู จินเทา โดย Wang Huning ร่วมกับ Ling Jihua และ Chen Shiju คือ 3 บุคคลที่ร่างนโยบายให้กับพรรคคอมมิวนิสต์และประเทศจีนในขณะนั้น

ปี 2012 ที่ สี จิ้นผิง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสมัยแรกใน การประชุมสมัชชาพรรคที่ 18 Wang Huning ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกกรมการเมือง และขึ้นเป็น คณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee: PSC) ในปี 2017 การประชุมสมัชชาพรรคที่ 19 โดยถือเป็น PSC คนแรกที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑล และขึ้นมาด้วยความเป็นสายวิชาการล้วน ๆ (แทบจะเรียกได้ว่าไม่เคยไปประจำการในต่างจังหวัดเลยด้วยซ้ำ)

ปี 2020 เขาคือ รองหัวหน้าคณะทำงานควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีนายกรัฐมนตรี หลี่ เคอเฉียงเป็นหัวหน้า และในปี 2021 เขาคือ ผู้ร่างเอกสารการทบทวนประวัติศาสตร์จีนครั้งที่ 3 ที่เป็นการสร้างความชอบธรรมเพื่อประกาศว่า สี จิ้นผิง คือผู้นำคนแรกของยุคที่ 3 ของจีน ที่มีเป้าหมายการสร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity 共同富裕 Gòngtóng fùyù) ต่อจากยุคแรกที่จีนยืนขึ้นมาได้ ในยุคของประธานเหมา และยุคที่ 2 ที่คนจีนพอมีพอกิน ภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 2-5 เติ้ง เสี่ยวผิง, เจียง เจ๋อหมิน, หู จินเทา และสี จิ้นผิงใน 2 สมัยแรก

และในเมื่อ แนวคิดนำในยุคอนาคตของจีน คือ ความมั่งคั่งรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) Wang Huning จึงเป็นอีก 1 คนที่ต้องจับตา 

5.Cai Qi

เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมปี 1955 ณ มณฑลฟูเจี้ยน อายุ 66 ปี จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เศรษฐศาสตร์การเมือง) โท (กฎหมาย) และ เอก (เศรษฐศาสตร์การเมือง) จากมหาวิทยาลัย Fujian Normal University

Cai Qi เข้าพรรคในปี 1975 โดยทำงานในระดับจังหวัดในมณฑล Fujian จนขึ้นสู่ตำแหน่งระดับผู้บริหารจังหวัด และย้ายมาทำงานที่มณฑล Zhejiang ในระดับรองเลขาธิการพรรคประจำจังหวัดในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่ สี จิ้นผิง เข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ๋อเจียง ซึ่งนั่นทำให้ Chi Qi ถูกพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในกลุ่ม New Zhijiang Army หรือ ขุนพลของสี จิ้นผิง ที่ทำงานด้วยกันมาร่วม 20 ปี ตั้งแต่สมัยที่พวกเขาเป็นผู้บริหารระดับมณฑล 

ปี 2014 Cai Qi ได้รับการโปรโมทให้เข้ามาทำงานส่วนกลางด้านความมั่นคง ในกรุงปักกิ่ง โดยดำรงตำแหน่งเบอร์ 2 ของ National Security Commission (เทียบได้กับ สมช.) และในปี 2016/2017 เขาได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งในระดับเลขาธิการพรรคประจำมณฑล และงานสำคัญที่สุดที่เขาได้รับผิดชอบคือเป็นแม่งานในการจัดมหกรรมกีฬาที่สำคัญที่สุดของโลก นั่นคือ กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่จะเกิดขึ้นในปี 2022 รวมทั้งยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของกรุงปักกิ่ง ซึ่งถือว่ามีผลงานดีเยี่ยมในทั้ง 2 หน้าที่

อีกหนึ่งมิติที่น่าสนใจของ Cai Qi คือ เขาเป็น active user ของ Weibo (เทียบเท่ากับ Twitter ในโลกตะวันตก) โดยใช้นามในโลก Social Media ว่า Cai Qi, a Bolshevik (แต่ตอนเปิด Account ใช้ชื่อว่า Qianshui ซึ่งแปลว่า นักดำน้ำ) โดย Cai Qi มีผู้ติดตามมากกกว่า 10 ล้านคน โดยหลายๆ ครั้งเขากล่าวขานถึง สี จิ้นผิง ในโลก Social Media ด้วยคำว่า “Xi Dada” ซึ่งแปลว่า คุณพ่อสี และ “Boss Xi!”

6. Ding Xuexiang

Ding Xuexiang เกิดวันที่ 13 กันยายน 1963 ในมณฑลเจียงซู ปัจจุบันอายุ 60 ปี เขาจบการศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Yanshan University ในปี 1982 เริ่มต้นชีวิตการเมือง โดยการเป็นสมาชิกพรรคในปี 1984 และเริ่มต้นทำงานในมหานครเซี่ยงไฮ้ ในปี 1982 ณ Shanghai Research Institute of Materials ในระหว่างทำงานเขาเรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านการบริหารจัดการภาครัฐ จากมหาวิทยาลัย Fudan และด้วยประสบการณ์ทำงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาโดยตลอด ทำให้ในปี 1999 เขาได้รับตำแหน่ง Deputy Director ของ Shanghai Municipal Science and Technology Commission และได้รับตำแหน่งสูงสุดในมหานครเซี่ยงไฮ้ Secretary of the Political and Legal Committee of the Shanghai Municipal Party Committee

Ding Xuexiang ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 และขึ้นเป็นกรมการเมืองในปี 2017 โดยเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนและมีบทบาทในพรรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่จีนต้องการเป็นผู้นำเรื่องวิทยาศาสตร์ในเวทีโลก

7. Li Xi

Li Xi เกิดเดือนตุลาคม 1956 ในมณฑล Gansu ปัจจุบันอายุ 65 ปี เริ่มเป็นสมาชิกพรรคในปี 1982 เขาทำงานให้กับพรรคจนได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำจังหวัด Zhangye ก่อนที่จะย้ายมาเป็นเลขาธิการพรรคประจำเมือง Yan’an มณฑล Shaanxi ในปี 2006 Yan’an ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะที่นี่คือจุดหมายปลายทางของการเดินทัพทางไกลในช่วงสงครามกลางเมือง ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปี 2011 เขาได้รับสนับสนุนให้ไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายจัดตั้งองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์ มหานครเซี่ยงไฮ้ และเจริญเติบโตจนได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ ก่อนที่จะถูกส่งกลับไปที่เมือง Liaoning มณฑล Gansu อีกครั้งเพื่อนำเอาประสบการณ์ที่เซี่ยงไฮ้ไปพัฒนาเมืองในพื้นที่ยากจนห่างไกล และได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำเมือง Liaoning ในปี 2015

ด้วยผลงานการพัฒนาเมืองที่โดดเด่นทำให้เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นมณฑลที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของประเทศจีน โดยเขาเข้ามารับตำแหน่งต่อจากอีก 1 ดาวรุ่งของพรรค นั่นคือ Hu Chunhua 

ตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้ง เป็นอีก 1 ตำแหน่งที่มักจะเป็นเส้นทางของผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำระดับสูงของจีน ไม่ว่าจะเป็น อดีตเลขาธิการพรรค Zhao Ziyang, Xi Zhongxun คุณพ่อของสี จิ้นผิง, อดีตรองนายกรัฐมนตรี Zhang Dejiang และอดีตกรรมการถาวรกรมการเมืองอย่าง Li Changchun และ Wang Yang ก็เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน
และด้วยตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้ง จึงทำให้ Li Xi ได้ขึ้นมาเป็นกรมการเมืองในปี 2017 ในการประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 19

FATF ขึ้นบัญชีดำทางการเงินต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ฤานี่จะเป็นสงครามตัดท่อน้ำเลี้ยงของประเทศตะวันตก

มีข่าวดัง เมื่อคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินสากล หรือ Financial Action Task Force: FATF ออกประกาศขึ้นบัญชีดำทางการเงินต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งประกาศดังกล่าวเหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่กระทบกับผู้ประกอบการในเมียนมาอย่างจัง เพราะเกิดการกระทบกับระบบค่าเงินของเมียนมาในทันที 

โดยอัตราแลกเปลี่ยนในวันหลังประกาศของ FATF ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนดิ่งจาก 75 จ๊าดต่อบาท เป็น  93-95 จ๊าดต่อบาท ก่อนที่อัตราแลกเปลี่ยนจะคืนกลับมาอยู่ที่ประมาณ 90 จ๊าดต่อบาทในช่วงค่ำ ซึ่งถือว่าการกระทบครั้งนี้เป็นการกระทบทางการเงินไม่ต่างกับช่วงก่อนที่มีเรื่องดอลลาร์ในเมียนมาขาดตลาดจนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนพุ่งไปเป็น 100 จ๊าดต่อบาทมาแล้ว

แต่ก่อนอื่นรู้กันไหมว่า คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินสากล หรือ Financial Action Task Force: FATF เป็นใคร?

FATF เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาล จัดตั้งขึ้นโดยที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G7 ปัจจุบันมีสมาชิก 39 ราย มีเครือข่ายความร่วมมือ 9 แห่ง ในทุกภูมิภาคของโลก โดยปัจจุบันมีประเทศที่เป็นสมาชิก FATF 37 ประเทศ ได้แก่...

อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, บราซิล, แคนนาดา, จีน, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีช, ซาอุดีอาระเบีย, ฮ่องกง, ไอซ์แลนด์, อินเดีย, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ลักแซมเบิร์ก, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, โปรตุเกส, รัสเซีย, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, สเปน, สวีเดน, สวิสเซอร์แลนด์, ตุรเคีย, สหราชอาณาจักรอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศร่วมสังเกตการณ์ ส่วนไทยเรานั้นเพิ่งได้รับมติ ครม. เห็นชอบให้สมัครเข้าร่วม FATF เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา

ตามรายงานของ FATF ล่าสุดประกาศเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น เมียนมาเป็นประเทศที่ติดอันดับประเทศที่ FATF เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกและประเทศอื่นๆ ใช้มาตรการตอบโต้ เช่นเดียวกันกับ เกาหลีเหนือ และ อิหร่าน ในขณะที่ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ติดระดับ 3 คือเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงอย่างใกล้ชิดโดย FATF

ในช่วงเวลาใกล้กันก่อนการประกาศของ FATF กองทหาร KNU/KNLA ร่วมกับ PDF ยกพลถล่มค่ายทหารเมียนมาบริเวณก๊อกกาเร็ก ซึ่งส่งผลให้การค้าชายแดนเงียบสงัด ซึ่งถ้าเรามองว่าเหตุการณ์การโจมตีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ FATF ประกาศก็พอจะมองได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาก็มีการทดสอบอาวุธของพวก PDF หลายที่ไม่ว่าจะในรัฐสะกายหรือที่ตรงเชิงเขาของพระธาตุอินทร์แขวนที่ทำให้ผู้แสวงบุญเสียชีวิตไปหลายคน  

แต่ในขณะเดียวกันที่การค้าชายแดนกำลังจะดีขึ้นการรบและการประกาศของ FATF ก็คือตัวที่ทำการค้าชายแดนให้หยุดชะงักไปอย่างทันที จากจุดนี้จึงมองว่าเป็นการวางแผนจากประเทศตะวันตกในการจะทำลายเศรษฐกิจของเมียนมาที่กำลังจะฟื้นตัวหรือไม่

'รีพับลิกัน' แบะท่าจำกัดความช่วยเหลือ หากชนะเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่ยูเครนถึงกับช็อก หลังรีพับลิกันออกมาบ่งชี้ว่า “ความช่วยเหลือใด ๆ ในอนาคตที่จะมอบแก่เคียฟ อาจเป็นไปอย่างจำกัด หากว่าพรรคคว้าชัยชนะในสภาล่างในศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน” เรียกร้องขอทั้ง 2 พรรคการเมืองเดินหน้าให้การสนับสนุนยูเครนต่อไป

ไม่นานมานี้ เควิน แมคคาร์ธี ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากรีพับลิกัน ได้กล่าวเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ โดยเผยว่า การอนุมัติเงินช่วยเหลือใด ๆ ที่จะมอบให้แก่ยูเครนในอนาคตจะเป็นเรื่องยากลำบากกว่าเดิม หากว่าพรรคของเขาครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ซึ่งจากผลสำรวจจากโพลต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น

“ผมคิดว่าประชาชนกำลังนั่งอยู่บนขอบเหวของภาวะถดถอย และพวกเขาจะไม่มีทางเขียนเช็คเปล่าให้ยูเครนอีกต่อไป” แมคคาร์ธี กล่าว

ขณะที่ ไมเคิล แม็คคอล สมาชิกระดับสูงของรีพับลิกัน ในคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก ว่า รีพับลิกันยังคงสนับสนุนช่วยเหลือยูเครน แต่ต้องการให้ยกระดับกำกับดูแลเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่ “ผมคิดว่าความพยายามนี้ยังคงได้รับการสนับสนุนจากทั้ง 2 พรรค แต่เราต้องการรับประกันว่าพันธมิตรนาโตของเราจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง และช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่าย”

ส่วน จอช ฮอว์ลีย์ วุฒิสมาชิกจากมิสซูรี กล่าวในถ้อยแถลงเมื่อวันพุธ (19 ต.ค.) ว่า สหรัฐฯ ใช้เงินในการให้ความช่วยเหลือยูเครน มากกว่าพันธมิตรยุโรปทั้งหมดของเรารวมกันเสียอีก และไม่มีการกำกับดูแลอย่างมีนัยสำคัญ นี่มันโง่เขลามาก และไม่ยั่งยืนเลย

“รัฐบาลไบเดนกล่าวว่า แม้พวกเขาคาดหมายว่าความขัดแย้งในที่สุดจะจบลงบนโต๊ะเจรจา แต่ ณ เวลานี้ ยังไม่เห็นแนวโน้มของการพูดคุยหารือใด ๆ มีแต่จะเดินหน้ามอบความช่วยเหลือทำลายล้างเสริมอำนาจต่อรองแก่ยูเครนต่อไป” ฮอว์ลีย์ กล่าว

ทันทีที่ข้อความนี้จากรีพับลิกันปรากฎ เดวิด อาราคาเมีย หัวหน้าพรรคของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ในรัฐสภา ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียลไทม์ส เมื่อวันพุธ (19 ต.ค.) ว่า “เราช็อกมากที่ได้ยินความคิดเห็นนี้จากมิสเตอร์แมคคาร์ธี ด้วยความสัตย์จริง”

อาราคาเมีย กล่าวต่อว่า เขาเพิ่งมีโอกาสพบปะกับแมคคาร์ธี ระหว่างเดินทางเยือนวอชิงตันเมื่อเร็ว ๆ นี้ และในตอนนั้น ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะยังคงให้การสนับสนุนเคียฟต่อไป 

“ไม่กี่สัปดาห์ก่อน คณะผู้แทนของเราเพิ่งเดินทางเยือนสหรัฐฯ และพบปะกับแมคคาร์ธี เราเชื่อมั่นว่าแม้พวกเขาชนะเลือกตั้ง ทั้ง 2 พรรคก็จะยังให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ กับการให้แรงสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย” อาราคาเมีย กล่าว

ทั้งนี้ร่องรอยความเห็นต่างระหว่าง 2 พรรคใหญ่แห่งสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นนี้ เริ่มปรากฏออกมาชัดขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน วุฒิสภาจากรีพับลิกัน 11 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรีพับลิกัน 57 คน คัดค้านคำร้องขอเงินช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ยูเครน 40,000 ล้านดอลลาร์ และบรรดา ส.ส.กับพวกนักวิเคราะห์คาดหมายว่าแรงขัดขืนจากรีพับลิกันจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นในสภาคองเกรสชุดถัดไป โดยเฉพาะศึกเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึงในปี 2024


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top