Wednesday, 14 May 2025
SPECIAL

‘เศรษฐา’ แจงปม ‘เป๋าตังดิจิทัล 1 หมื่นบาท’ มั่นใจ!! เศรษฐกิจโต ปีละไม่ต่ำกว่า 5%

(7 เม.ย.66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบายพรรค พท. และประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค พท. นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรค แถลงกรณีมีการตั้งข้อสงสัยกระเป๋าตังค์ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 

นายเศรษฐา กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากที่พรรค พท. แถลงนโยบายกระเป๋าตังค์ดิจิทัลวอลเลตเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะเอาเงินมาจากไหน ช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาประเทศเราบอบซ้ำมาเยอะโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ พี่น้องประชาชนมีรายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม จนกระทั่งอยู่ในภาวะที่เรียกว่าซึมลึก ซึมนาน ซึมยาว รัฐบาลปัจจุบันก็ค่อยๆ หยอดน้ำข้าวต้มมาเรื่อยๆ เป็นจำนวนเงินเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจที่เหมาะสม พรรค พท.เราคิดใหญ่ทำเป็น โดยจำนวนเงิน 10,000 บาทนั้น เราจะให้เป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาทเลย ที่ต้องให้เป็นกระเป๋าตังค์ดิจิทัลไม่ให้เป็นเงินสด เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่เราสามารถจำกัดวิธีการใช้ได้ หากให้เป็นเงินสดก็อาจจะใช้ไปในทางอื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น เรื่องของการพนัน ยาเสพติด การใช้หนี้นอกระบบ เทคโนโลยีจะสามารถบอกได้ว่าไปใช้อะไรบ้าง ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่าหากเป็นหนี้สถาบันการเงิน จะสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราต้องลงพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการ หากเป็นความต้องการเราก็จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง 

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ส่วนระยะเวลาที่เราให้ใช้ภายใน 6 เดือนนั้น เพราะเราต้องการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องให้ความสำคัญ อีกเรื่องคือระยะรัศมีในการใช้ตามบัตรประชาชน 4 กิโลเมตรนั้น หากพื้นที่ไหนที่ไม่มีร้านค้า ก็สามารถขยายระยะทางออกไปได้ ส่วนคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่บัตรประชาชนอยู่ต่างจังหวัดจะสามารถใช้ได้หรือไม่นั้น เราตอบชัดเจนว่าไม่ได้ เพราะเราอยากให้กลับไปใช้เงินที่บ้าน เพื่อที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ไม่ใช่มากระจุกตัวที่หัวเมืองอย่างเดียว หากภายใน 6 เดือนนั้นไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเลย เงินก็จะหายไป ฉะนั้นคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ให้พี่น้องได้กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ภูมิลำเนาและไปกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนด้วย 

เมื่อถามว่ามีนักวิชาการมองว่าเป็นนโยบายประชานิยมสุดขั้ว พร้อมตั้งคำถามว่าเงินมาจากไหน และจะกระทบหนี้สาธารณะของประเทศ นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายนี้จะทำให้ภาครัฐเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น นี่จะตอบคำถามได้ว่าเงินมาจากไหน ยืนยันว่าเม็ดเงินมาจากการจัดสรรงบประมาณ การจัดเก็บภาษี VAT ที่ได้เพิ่มมากขึ้น และการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล รวมทั้งสวัสดิการรัฐที่ลดน้อยลง ตนไม่อยากให้ใช้คำว่าประชานิยมสุดโต่ง แต่เป็นความจำเป็นและความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ต้องการการช่วยเหลือเวลานี้

เมื่อถามว่างบประมาณปี 67 ที่ตั้งไว้ 3.35 ล้านล้านบาท ถ้าเป็นรัฐบาลและนำเสนอนโยบายนี้ จำเป็นต้องปรับลดงบประมาณกระทรวงอื่นๆ อย่างเช่นกระทรวงกลาโหม หรืองบประมาณลงทุนหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีจะได้เพิ่มมากขึ้นกว่า 2 แสนล้าน ส่วนงบประมาณอื่นๆ นั้น จะต้องดูงบประมาณในส่วนอื่นๆ ไม่ใช่งบประมาณกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ว่าอะไรเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

เมื่อถามว่าจำนวนเงินที่ได้สามารถนำไปใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้ทั้งหมด ยกเว้นซื้อบุหรี่หรือใช้หนี้นอกระบบ 

เมื่อถามว่าร้านค้าสะดวกซื้อทั่วไปร่วมโครงการได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า สามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมด ไม่กีดกั้นใครคนใดคนหนึ่ง เราเสมอภาคเท่าเทียม 

เมื่อถามว่าคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถใช้ได้ แล้วจะใช้งบประมารณเท่าไร นายเศรษฐา กล่าวว่า จะมีประชาชนกว่า 50 ล้านคนที่ได้รับสิทธิ์ ซึ่งจะใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ช่วงไตรมาส 3 หากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะเริ่มได้ประมาณวันที่ 1 ม.ค.67 

เมื่อถามว่าคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ภายใน 4 ปี การเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี 

เมื่อถามว่ากรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายนี้มองประชาชนเป็นยาจก นายเศรษฐา กล่าวว่า “ผมไม่เคยมองประชาชนเป็นยกจก เป้าหมายของของพรรค พท. คือช่วยประชาชนพ้นหลุมดำของความยากจน ถ้าเกิดว่าดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เป็นจุดสตาร์ทให้ประชาชนลุกขึ้นเดิน ลุกขึ้นทำมาหากินได้อีกครั้งหนึ่ง ผมถือว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชน”

เปิดรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในศึกเลือกตั้ง 2566

เปิดรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในศึกเลือกตั้ง 2566

 

พรรครวมไทยสร้างชาติ
1.พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
2.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

พรรคพลังประชารัฐ
1.พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พรรคก้าวไกล
1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พรรคประชาธิปัตย์
1.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
.
พรรคภูมิใจไทย
1.อนุทิน ชาญวีรกูล

‘พิธา’ ลุยพื้นที่สมุทรปราการ อ้อนขอคะแนน ปชช. ชูนโยบาย ‘หวยใบเสร็จ’ กระตุ้นเศรษฐกิจรายย่อย

(7 เม.ย.66) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย วรรณวิภา ไม้สน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการเพื่อช่วยหาเสียงผู้สมัคร ส.ส. สมุทรปราการ พรรคก้าวไกลในหลายเขตพื้นที่ โดยตลอดการหาเสียง มีพี่น้องประชาชนให้การต้อนรับและร่วมพูดคุยอย่างคึกคัก ก่อนที่ในช่วงเย็น พรรคก้าวไกลจะจัดเวทีปราศรัยย่อย เพื่อแนะนำนโยบายพรรคและผู้สมัคร ส.ส. ณ ตลาดครุในไนซ์มาร์เก็ต อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

สำหรับช่วงเช้า เริ่มต้นที่ตลาดสุขอนันต์คลองด่าน พิธา และ ตรัยวรรธน์ อิ่มใจ ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ เขต 8 พรรคก้าวไกล เดินตลาดเพื่อทักทายประชาชนในพื้นที่ ระหว่างหาเสียง มีประชาชนเข้ามาพูดคุยและร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกจำนวนมาก จากนั้นหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ ในหลายเขตพื้นที่ ได้ขึ้นรถแห่รอบตลาดตำหรุ พื้นที่เขตบางปู ร่วมกับ รัชนก สุขประเสริฐ ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ เขต 2 พรรคก้าวไกล เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมฟังปราศรัยย่อยในช่วงค่ำ ระหว่างเดินทักทายประชาชน ได้รับเสียงตอบรับจากพ่อค้าแม่ขายและคนในพื้นที่เป็นอย่างดี

ด้านวรรณวิภา ในฐานะอดีตแรงงานที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมปราศรัยขอคะแนนพี่น้องประชาชน ให้ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกตั้ง กาก้าวไกลเพื่อให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ให้คนใหม่ได้เข้าไปทำงานในสภาฯ ให้พิธาเป็นนายกฯ

‘ธรรมรักษ์’ ติวเข้มผู้สมัคร ส.ส.ชัยภูมิ พปชร. เน้นก้าวข้ามความขัดแย้ง ตามเจตนารมณ์ ‘บิ๊กป้อม’

(7 เม.ย.66) พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ลงพื้นที่จ.ชัยภูมิ ให้กำลังใจ และแนะนำผู้สมัครส.ส.ชัยภูมิ 7 คน ได้แก่นางจิตราภรณ์ กล้าแท้ เบอร์ 3 เขต 1 อ.ชัยภูมิ (ยกเว้น ต.ห้วยต้อน ต.ท่าหิน ต.ชับสีทอง), น.ส.สุนทรี ชัยวิรัตนะ เบอร์ 4 เขต 2 อ.จัตุรัส อ.เนินสง่า อ.บ้านเขว้า อ.ซับใหญ่, นายสนั่น พัชรเตชโสภณ เบอร์ 7 เขต 3 อ.บำเหน็จณรงค์ อ.เทพสถิต อ.หนองบัวระเหว, น.ส.กาญจนา จังหวะ เบอร์ 5 อ.หนองบัวแดง อ.ภักดีชุมพล อ.เมืองชัยภูมิ (เฉพาะต.ห้วยต้อน) อ.เกษตรสมบูรณ์ (เฉพาะต.หนองข่า), นายสุขสันต์ ชื่นจิตร เบอร์ 6 เขต 5 อ.เกษตรสมบูรณ์ (ยกเว้น ต.หนองข่า) อ.คอนสาร, นายพีระพล ติ้วสุวรรณ เบอร์ 7 เขต 6 อ.ภูเขียว อ.บ้านแท่น และนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ เบอร์ 7 เขต 7 อ.แก้งคร้อ อ.คอนสวรรค์ อ.เมืองชัยภูมิ (เฉพาะ ต.ท่าหินโงม และต.ซับสีทอง) โดยมีนายอร่าม โล่ห์วีระ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชัยภูมิ พร้อมด้วยชาวบ้านให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าวว่า ผู้สมัครของพรรคพปชร. ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง โดยขอให้ประชาสัมพันธ์หมายเลขของพรรคให้ประชาชนรับทราบ พร้อมกับเดินหน้าลงพื้นที่เพื่อชูนโยบายของพรรคให้ทุกคนเข้าใจ นอกเหนือจากการดูแลปากท้องชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ยังต้องมุ่งเข้าไปดูแลปัญหาทางสังคมให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันเด็กและบุคลากรทางการศึกษาให้ห่างไกลจากยาเสพติด และที่สำคัญต้องสร้างให้สังคมไทยก้าวข้ามความขัดแย้งตามนโยบายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มุ่งมั่นมาโดยตลอด

‘เพื่อไทย’ ลั่น!! ‘สร้างโอกาสใหม่ เพื่อฟุตบอลไทย’ ขอยกระดับมาตรฐานวงการทัดเทียมนานาชาติ

‘เพื่อไทย’ ประกาศแผน 100 วันแรก ดันกีฬาฟุตบอล ชูนโยบาย ‘สร้างโอกาสใหม่ เพื่อฟุตบอลไทย’ ยกระดับมาตรฐานวงการฟุตบอลไทย ส่งนักกีฬาไทยไประดับโลก

(7 เม.ย.66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพิมล ศรีวิกรม์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายกีฬา พรรคเพื่อไทย แถลงนโยบาย ‘สร้างโอกาสใหม่ เพื่อฟุตบอลไทย’ โดย นายพิมล กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าหมายใหญ่โดยจะยกระดับมาตรฐานกีฬาฟุตบอลไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ สร้างนักกีฬาสมัครเล่นไปสู่นักกีฬาฟุตบอลอาชีพระดับโลกด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมของวงการฟุตบอลอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างรายได้ สร้างงานอย่างมั่นคง นอกจากนักกีฬามืออาชีพ ยังมีทั้งผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอน นักวิทยาศาสตร์การกีฬา

ทั้งนี้ ในอดีตพรรคไทยรักไทยได้ริเริ่มโครงการ ‘สตรีท ซอคเกอร์’ (Street soccer) ทั่วประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้จุดประกายให้เยาวชนที่มีใจรักในกีฬาฟุตบอลให้หันมาเล่นกีฬานี้อย่างจริงจัง นักกีฬาที่จัดอยู่แถวหน้าของการแข่งขัน ได้รับโอกาสไปฝึกซ้อมในต่างประเทศกับทีมชั้นนำ เช่น ทีมฟูแลม (Fulham F.C.) ซึ่งนโยบาย ‘สร้างโอกาสใหม่ เพื่อฟุตบอลไทย’ จะมาต่อยอดจากนโยบายนี้

กกต. แจ้ง 10 ข้อห้ามทำในช่วงเลือกตั้ง ฝ่าฝืนเจอโทษหนัก ‘เพิกถอนสิทธิ-ยุบพรรค’

(7 เม.ย.66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เน้นย้ำเกี่ยวกับ ‘ข้อห้าม’ ไม่ให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการ

1.จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

2.ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด

3.ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ

4.เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

5.หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

‘อรรถวิชช์’ ย้ำ!! แบ่งเขตแบบนี้ ประชาชนสับสน ส.ส.ทำงานยากขึ้น ลดความผูกพันผู้คนในพื้นที่

(7 เม.ย. 66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวหลังศาลปกครองพิพากษายกฟ้องคดี กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ไม่ขัดต่อกฎหมายว่า ถือเป็นสร้างบรรทัดฐานใหม่ เห็นได้ชัดว่า การเลือกตั้งรอบนี้ กกต. ยึดหลักเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 10% คำนวณหา ส.ส. 1 คนต่อจำนวนราษฎร เป็นครั้งแรก ซึ่งตนได้เน้นย้ำว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลให้ละลายเขตเลือกตั้ง และ ศาลมีดุลยพินิจว่า การจะใช้หลักเกณฑ์คำนวณหา ส.ส.นั้น ล้วนเป็นอำนาจของ กกต. ในการกำหนดเกณฑ์ 10% โดยถือหลักจำนวนราษฎรสำคัญกว่า การนำอำเภอมาใช้แบ่งเขตเลือกตั้ง ก็แปลว่าในอนาคตการเดินลงพื้นที่ของ ส.ส. จะลำบากมากขึ้น เพราะเขตเลือกตั้งต่อจากนี้จะถูกแบ่งเขตได้ตลอดเวลา

‘ชวน’ ประเดิมปราศรัยใหญ่ ลานคนเมืองเย็นนี้ ก่อนเดินหน้าลุยช่วย ‘ปชป.’ หาเสียงทั่วประเทศ

(7 เม.ย.66) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การปราศรัยใหญ่ของพรรคฯ ที่ลานคนเมือง กทม.ในวันนี้ (7 เม.ย. 66) ตั้งแต่เวลา 17.30 น.เป็นต้นไป นอกจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ จะนำทัพผู้สมัคร ส.ส. กทม. ปชป. และผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบปะประชาชนแล้ว นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ประเดิมเป็นครั้งแรกด้วย ก่อนที่จะเดินสายรณรงค์หาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคทั่วประเทศ โดยนายชวน พร้อมด้วยผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวนหนึ่งจะร่วมคณะเดินสายช่วยรณรงค์หาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส. ปชป. ทั่วประเทศจนเสร็จสิ้นการหาเสียงในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค. ตามกฎหมายกำหนด ก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566

‘หัวไทร-ปากพนัง’ เขตที่ ‘แทน’ ต้องทำให้ ‘เท่ห์’ ชนะ แต่ต้องจับตา ‘มนตรี-เพื่อไทย’ พร้อมเสียบ

เดินเก็บข้อมูลอยู่ในเขต 3 นครศรีธรรมราช (ปากพนัง-หัวไทร) 3 วัน ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ถึงวิธีคิดของชาวบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะ

เขตหัวไทร-ปากพนัง เดิมเป็นเขตเลือกตั้งที่ 2 แต่ปัจจุบันเป็นเขต 3 ซึ่งมี ‘สัญหพจน์ สุขศรีเมือง’ เป็น ส.ส.อยู่ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ และเลือกตั้งคราวนี้ยังอยู่ในสังกัดพลังประชารัฐเหมือนเดิม และเป็นพรรคที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค รวมทั้งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ตามที่ได้ฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน กระแสของ ‘สัญหพจน์’ แผ่วเบามาก และแผ่วเบาพอ ๆ กับเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งสัญหพจน์ได้รับการเลือกตั้ง น่าจะเกิดจากกระแส ‘ลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่า เมื่อบวกรวมกับความต้องการเปลี่ยนของชาวบ้าน และสอนบทเรียนให้ประชาธิปัตย์ ทำให้สัญหพจน์ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปเป็น ส.ส. และถือเป็นเขตล้มช้าง เพราะเอาชนะ ‘วิทยา แก้วภารดัย’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนิดหักปากกาเซียน

แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ‘ลุงตู่’ ไม่อยู่แล้ว ย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ กระแสลุงตู่สำหรับสัญหพจน์จึงไม่มี ไม่มีตัวช่วยเหมือนครั้งก่อน ตัวช่วยอย่าง พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ก็ไม่อยู่แล้ว คราวปี 2562 พ.อ.สุชาติ เป็นตัวช่วยในการทำคะแนนให้สัญหพจน์ไม่น้อย

ถามว่า ถ้าอย่างนั้นกระแสจะไปอยู่ตรงไหน ใครมีโอกาสได้รับเลือกเป็น ส.ส. ย้อนไปเมื่อ 5-6 เดือนก่อน กระแสของ ‘มานะ ยวงทอง’ จากพรรคภูมิใจไทย ค่อนข้างแรงกับคนรุ่นใหม่ กับพรรคที่กำลังมีกระแสแรงในภาคใต้ แต่วันเวลาผ่านไป กระแสของมานะเริ่มจะถดถอย ถดถอยอันเกิดจากหลายเหตุผล ประการแรกเกิดจากตัวมานะเองที่ไม่ชัดเจนในบางเรื่อง ทำงานจัดตั้งไม่เข้มแข็งพอ ได้หน้าลืมหลัง เดินไปข้างหน้า ไม่หันไปมองข้างหลัง หัวคะแนนระดับ ‘หัวกะทิ’ เริ่มถอยห่าง ซึ่งเป็นหัวกะทิในระดับจัดการคะแนนได้ จัดตั้งเป็น รู้จักคนในพื้นที่ดีว่าใครเป็นใคร น่าจะช่วยใคร แต่มานะกลับไม่เห็นคุณค่า ปล่อยให้เขาเคว้งคว้าง และคนอื่นมาคว้าพุงปลามันไปกิน

เมื่อบวกรวมกับกระแสพรรคภูมิใจไทยที่ไม่หวือหวาเหมือนเดิม ถูกโหมกระหน่ำหนักทั้งเรื่องกัญชา เรื่องศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถูกศาลสั่งพักงาน ‘เสี่ยชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’ ก็ตามบี้ไล่หลัง ยังมีเรื่องศาลสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง ที่ถูกกล่าวหาบุกรุกที่ดินรถไฟอีก…หนักหน่อยนะ

ใครเข้ามาคว้า ที่เห็นอย่างน้อยสองคน คนแรกคือ ‘เท่ห์’ พิทักษ์เดช เดชเดโช จากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเขตเลือกตั้งชัด ‘เท่ห์’ ก็ชัดว่า จะลงเขต 3 และเริ่มลุยหัวไทรทันที โดยหลังจากบุกปากพนังมาแล้วหลายเดือนจนลงตัว ‘เท่ห์’ ก็เข้าหัวไทรถี่ยิบ โดยมีพี่ชาย ‘แทน’ ชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนชี้เป้า ชี้เป้าไปยังผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้นำตามธรรมชาติ และบางคนแทนยกหูคุยเอง และเดินทางไปพบด้วยตัวเอง

ไม่ใช่แค่นั้น หลังแทนบุกเข้าไปชี้เป้าให้เท่ห์ ยังมี ‘เจ๊ต้อย’ กนกพร เดชเดโช นายกฯ อบจ.ผู้เป็นแม่ ตามไปสำทับ ผ่านองค์กรท้องถิ่น ผู้นำสตรีอีกครั้ง กระแสประชาธิปัตย์ที่เดิมไม่ค่อยดีนัก แต่การเข้ามาเองของ ‘แทน-ต้อย’ เริ่มมีคนกล่าวขานถึง กล่าวขานถึงการมีโอกาสได้รับเลือกตั้งสูง และเชื่อว่า ‘ต้อย-แทน’ จะต้องทำให้ ‘เท่ห์’ ชนะในเขตนี้ ไม่งั้นก็ ‘บัดสีคน’

เมื่อ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ จะก้าวข้าม พร้อมผงาดนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

ได้ยินมาเต็มสองรูหูจากปาก ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยว่า เบื้องหลังหมายเลข 7 เบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคนั้น พระอาจารย์ภัตร อริโย แห่งวัดนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เป็นผู้จัดให้...

ตอนไปกราบพระอาจารย์บอกว่าอยากได้หมายเลข 1 แต่พระอาจารย์บอกว่าเลขที่ถูกโฉลกกับพรรคภูมิใจไทยงวดนี้คือ หมายเลข 7

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามพระอาจารย์ว่า... แต่แค่นั้นยังไม่พอ อนุทิน เล่าด้วยว่า พระอาจารย์ภัตร อริโย ยังบอกว่า หลังวันที่ 14 พ.ค.วันเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยจะได้เลขสามหลัก ซึ่งตรงกับที่ตนคำนวณไว้ทุกประการ…

ครับ..วันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยอายุครบ14ขวบ ย่างสามขุมสู่ปีที่ 15 ว่ากันตามทฤษฎีการเมืองแบบไทยๆ  พรรคที่อายุเกินรอบนักษัตร 12 ปี ก็พอจะนับเป็น ‘สถาบันทางการเมือง’ ได้แล้ว…

และที่น่าจับตายิ่งปีนี้ หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.เชื่อตรงกันแทบทุกสำนักว่า ภูมิใจไทย จะเข้าป้ายลำดับสอง รองจาก พรรคเพื่อไทย อยู่ที่ 100 บวกลบที่นั่ง...โดยประการสำคัญยิ่ง พรรคภูมิใจไทย จะเป็นแชมป์ในปีกขั้วอำนาจเดิมหรือรัฐบาลในปัจจุบัน

ดังนั้น ตามคณิตศาสตร์การเมือง...ภูมิใจไทย และ อนุทิน ชาญวีรกูล วันนี้ คือ ตัวเต็งนายกรัฐมนตรีและแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเลยทีเดียว...

คำนวณกันทีเล่นทีจริง ถ้าผลเลือกตั้งออกมาประมาณว่า ภูมิใจไทย 100 เสียง รวมไทยสร้างชาติ, ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ ได้พรรคละ 50 เสียงเท่ากัน ก็นับได้ 250 เสียงแล้ว บวกกับอีกสองพรรคคือชาติไทยพัฒนาและชาติพัฒนากล้าอีกอย่างน้อย 15 เสียง เท่ากับ 265 เสียง..เป็นเสียงข้างมากในสภาฯ ตอนโหวตเลือกนายกฯ ถ้า ส.ว.ไม่งอแง ยกมือหนุนให้อนุทินเป็นนายกฯ ได้...

‘ธนาธร’ ลั่น!! เลือกก้าวไกล ทำงานได้จริง ชี้ หาก 4 ปีไร้ผลงาน เทใจพรรคอื่นได้เลย

ประกาศขอ ปชช.เลือกคนที่ทำงานได้จริง ทำเพื่อประชาชน หาก 4 ปีในสภาฯ บอกหาก ‘ก้าวไกล’ ไม่มีผลงานให้เห็น เปลี่ยนใจเลือกพรรคอื่นได้ ย้ำพรรคเป็นประชาธิปไตยแน่นอน

(7 เม.ย. 66) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, นางสาวรัชนก ศรีนอก, นายปูอัด ไชยยามพวาน ผู้สมัคร ส.ส.ฝั่งธนบุรี ลงพื้นที่หาเสียงภายในซอยโรงเรียนบางขุนเทียนศึกษา มาจนถึงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีพระราม 2

หลังลงพื้นที่หาเสียงแล้ว นายธนาธรพร้อมผู้สมัคร ส.ส.ได้ปราศรัยย่อย บริเวณตลาดนัดหน้าบิ๊กซีพระราม 2 โดยย้ำถึงจุดยืนของพรรคก้าวไกล ว่ามีความพร้อมมากกว่าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562 เพราะ ส.ส.ทุกคนมีคุณภาพ ทำงานเรียนรู้และมีประสบการณ์มาตลอดระยะเวลา 4 ปีในสภาผู้แทนราษฎร มั่นใจจะทำงานตอบโจทย์แก้ปัญหาประชาชนได้ดีกว่าอดีตพรรคอนาคตใหม่ปี 2562 จึงอย่าปล่อยให้ ส.ส.มีคุณภาพหลุดมือไม่ได้รับใช้ประชาชน ‘พวกเราก้าวไกล พร้อมรับใช้ประชาชน’

ขณะที่หลังการลงพื้นที่หาเสียง และปราศรัยย่อยเสร็จสิ้นแล้ว มีประชาชนเดินเข้ามาหานายธนาธร พร้อมยื่นสลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ใบ ที่ใบเลขท้ายตรงกับหมายเลขพรรคก้าวไกล คือ เลข 31 และบอกนายธนาธร ว่า หากถูกรางวัลที่ 1 ให้นำเงินไปขึ้นได้ทันที พร้อมสะท้อนเรื่องการประกอบอาชีพของเด็กจบใหม่ว่า สร้างตัวว่ายากแล้ว มีกินมีใช้ไปวัน ๆ ยังยากเลย หางานไม่ยากแต่หาเงินใช้รายวันยากกว่า บางเดือนรายได้รายรับลดลง รายจ่ายกลับสวนทาง

‘ชวน’ บุกตลาดท่าดินแดง เป็นเขตแรกใน กทม. หลังยุบสภาฯ ช่วย ‘ศิริภา’ หาเสียง อ้อน ปชช.หนุนคนดี ทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง

(7 เม.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็น วันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ตลาดท่าดินแดง เขตคลองสาน ช่วย น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้สมัคร ส.ส. กทม. หมายเลข 11 เขตธนบุรี คลองสาน และราษฎร์บูรณะ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หาเสียง ซึ่งถือเป็นการประเดิมช่วยพรรคหาเสียงเลือกตั้ง เป็นเขตแรก ของ กทม. หลังมีการยุบสภาฯ

โดยนายชวน ได้เดินพบปะพี่น้องประชาชน และศักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปึงเถ่ากงม่า พร้อมนำ น.ส.ศิริภา เดินแจกเอกสารแนะนำตัว ในตลาดท่าดินแดง โดยมีประชาชนมาขอถ่ายรูปและเข้ามาทักทายจำนวนมาก

ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด เกมหักเหลี่ยมเฉือนคม สะท้อนนิยาม 'การเมือง' ผลประโยชน์ที่ไม่เข้าใครออกใคร

เริ่มจากร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เข้าสู่รัฐสภา เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างส.ส. และส.ว. ได้เสนอมาตอนนั้นในร่างมาตรา 29 มันไม่มีคำว่า 'กัญชา' อยู่ตั้งแต่ร่างมาแล้ว ทั้งๆ ที่กัญชาประเภท 5 เป็นยาเสพติดที่ถูกให้ความสำคัญมาตลอด ในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ

ต่อมารัฐสภาได้ทำการพิจารณาร่างประมวลกฎหมาย ยาเสพติด ซึ่งเสนอโดยรัฐบาล 
ในมาตรา 29 ประเภท 5 มันไม่มีคำว่า 'กัญชา' อยู่ ซึ่งมีคำว่าพืชฝิ่น กับเห็ดขี้ควาย 2 อย่างเท่านั้น ซึ่งเมื่อก่อนตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษปี 2522 ประเภท 5 มันมีคำว่ากัญชา ยาฝิ่น กระท่อม แล้วก็ถอดกระท่อมออกเหลือ 2 อย่าง 

นายศุภชัย ใจสมุทร เฝ้าเกาะติด มาตรา 29 มาตลอด มีคนเสนอว่า ควรจะต้องมีคำว่ากัญชาด้วยไหม ในการประชุม นายศุภชัย ใจสมุทร เข้าร่วมประชุมด้วย บอกว่า ไม่ มันไม่มาตั้งแต่แรก นายศุภชัยเป็นรองประธาน ในเวลานั้น บอกว่าไม่ต้องมีคำว่ากัญชา นี่คือที่มาทั้งหมด 

>>พฤศจิกายน 2564
-รัฐสภาทำการพิจารณาแล้วเสร็จ จึงมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และ มีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 30 วัน

>>8 ธันวาคม 2564
-จุดเริ่มต้นของการปลดล็อกกัญชา
-ประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลใช้บังคับ โดยการลงมติเห็นชอบ พร้อมทั้ง ส.ส. สว. ทั้งฝ่ายค้าน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นกัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดนับตั้งแต่วันที่ 8/12/2564 จนถึงปัจจุบัน

>>มกราคม 2565
-คณะกรรมการ ป.ป.ส.ได้มีการจัดประชุม คือตามกฎหมายมาตรา 29 กำหนดว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบเรื่องนี้ ให้ประกาศระบุประเภทของยาเสพติดแต่ละประเภท 

-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการป.ป.ส. ว่าสิ่งที่เป็นยาเสพติด คือ 1 คือ พืชฝิ่น 2 คือเห็ดขี้ควาย 3 คือสารสกัดจากกัญชา มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (tetrahydrocannabinol – THC) เกิน 0.2 % ที่ยังเป็นยาเสพติด

-พรรคภูมิใจไทย ขอให้มีการประกาศบังคับใช้ โดยมีการนับไปอีก 120 วัน ก็คือวันที่ 8 มิถุนายน 2565

-นายศุภชัย เสนอ จะต้องมีกฎหมายพ.ร.บ. กัญชา กัญชง มาอีกฉบับหนึ่ง 

-ที่ประชุมมอบให้พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีฉบับร่างอยู่แล้ว นำฉบับร่างพ.ร.บของพรรคภูมิใจไทย ที่เกี่ยวกับการทำเรื่องกัญชาเสรีทางการแพทย์นั้นมายื่น เพื่อให้ทันภายใน 120 วัน โดย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ไปยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาเองโดยตรง 

-นายชวน หลีกภัย ประธานสภา พิจารณาบรรจุเข้ามาเป็นร่างพระราชบัญญัติต่อไปได้ และนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติรับรองให้ทันทีทันใด

>>9 มิถุนายน 2565
-วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 25 คน และทำการพิจารณากันจนแล้วเสร็จ ผ่านไป 19 วันมีการประชุมรัฐสภาอีกครั้ง ปรากฏว่า มีการเสนอเข้าที่ประชุมแล้ว การเปิดเสรีกัญชานั้นได้ถูกตีตก จากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย พลังประชารัฐ ก้าวไกล และพรรคประชาชาติ ไม่ยอมให้กฎหมายผ่านมติการประชุม

-พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าสู่วาระที่ 2  มีส.ส.จากพรรค ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ ยืนยันจะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จน ณวันนี้สภาปิด พ.ร.บ.กัญชา ก็ค้างในสภา พรรคภูมิใจไทย เดินหน้าต่อ เพื่อจะทำกัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่หาเสียง และเศรษฐกิจ จะไม่เอานันทนาการ พรรคภูมิใจไทย จะเอากัญชาทางการแพทย์เท่านั้น แต่โดนบิดเบือนจากพรรคการเมืองตรงข้ามพรรคภูมิใจไทย  

>>10 มิถุนายน 2565
-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการ “มหกรรมกัญชา 360 องศา ปลดล็อกกัญชา ประชาชนได้อะไร” พร้อมแจกต้นกล้ากัญชา 1 พันต้น ณ จังหวัดบุรีรัมย์ 

>>16 มิถุนายน 2565
-กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ สธ. มีผลบังคับใช้วันที่ 17 มิ.ย 2565 เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 4, 44, 45(3), 45(4) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 กำหนดให้กัญชา หรือสารสกัดกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม

>>18 มิถุนายน 2565
-อนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย แจง ประกาศ สธ. กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม มีผลตามกฎหมายแล้ว

การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กว่า 1 ปี ในช่วงแรกเน้นให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ ที่ได้มาตรฐานจากสถานพยาบาลใกล้บ้านกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ 

กลาโหม เลื่อนรายงานตัว ‘ทหารเกณฑ์’ ผลัด 1 จากเดิม 1 พ.ค. เป็น 15 พ.ค. หลังเลือกตั้งเสร็จ

(7 เม.ย. 66) เมื่อวันที่ 6 เม.ย 66 มีการเผยแพร่ หนังสือกระทรวงกลาโหม เรื่อง การกำหนดวันรายงานตัวเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2566 ลงนามโดย พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหมทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปถึง รมว.มหาดไทย มีเนื้อหาระบุถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 นั้นเนื่องด้วยพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497มาตรา 34 กำหนดให้ "ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการผู้ใด จักต้องเริ่มเข้ารับราชการทหารกองประจำการเมื่อใด ให้นายอำเภอท้องที่ที่รับเข้าตรวจเลือกเป็นผู้กำหนด และให้นายอำเภอออกหมายนัดเพื่อให้ทหารกองเกินผู้นั้นมา ณ ที่อำเภอท้องที่ตามที่ได้กำหนดไว้นั้น เพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ถ้าทหารกองเกินผู้นั้นไม่มาตามนัดให้ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน"

ความดีที่ถูกมองข้าม เทียบมุมมองนักการเมืองที่ดีในทัศนะของคนอินเดีย ในขณะที่ไทยยังชิงอวด ‘ความเก่ง’ เหนือ ‘ความดี'

 

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกตั้งในบ้านเรา ระบอบประชาธิปไตยที่ดีจะอยู่รอดได้หรือไม่ แล้วเราคนไทยเคยนึกถึงนิยามของ ‘นักการเมืองที่ดี’ แล้วหรือยัง? ทุกวันนี้ทุกพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งบ้านเราล้วนแล้วแต่ขาย ‘ความเก่ง’ และแทบไม่มีพรรคการเมืองไหนขาย ‘ความดี’ เลย จึงขอนำเสนอบทความนี้ ซึ่งการกล่าวถึง นักการเมืองที่ดีในทัศนะของคนอินเดีย

ชาวอินเดียจะได้รับประโยชน์มากมายจากงานวิจัยในเรื่อง ‘ใครคือนักการเมืองที่ดี’ เพราะเราเคยถามกันไหมว่า ‘นักการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร?’ อย่างไรก็ตาม ในประเทศอย่างเรา (อินเดีย) การถกเถียงกันเรื่องการเมืองเป็นเรื่องปกติที่แผงขายน้ำชาริมถนนและบนรถไฟ แต่เราบังเอิญหลีกเลี่ยงคำถามนี้ การอภิปรายเหล่านี้ส่วนใหญ่มีนัยยะเชิงวิพากษ์ มีการแบ่งขั้วตามอุดมการณ์ทางการเมืองที่ใคร ๆ มอบให้ และส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ว่าด้วย ‘การเลือกคนที่เลวที่น้อยกว่า’ แล้วอะไรล่ะที่ขัดขวางไม่ให้เราปล่อยตัวปล่อยใจไปกับความจริงที่สำคัญของคำถาม?

ผู้คนต่างพากันคลั่งไคล้ในความคิดที่ว่า รัฐบาลปล่อยให้พลเมืองไม่มีการศึกษา เพราะมันง่ายที่จะปกครองพลเมืองที่ไร้การศึกษา แต่ในปัจจุบันด้วยความสามารถของอินเทอร์เน็ต อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลได้ถูกทำลายลง และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียงแค่สัมผัสสมาร์ทโฟน สิ่งนี้น่าจะทำให้พลเมืองของประเทศหนึ่งหลงระเริงกับการคอร์รัปชั่น อัตราการเกิดอาชญากรรมสูง และทุกสิ่งที่ไม่ถูกต้องในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อค้นหานักการเมืองที่เหมาะสมเป็นตัวแทนของพวกเขา

บางคนบอกว่า ‘นักการเมืองสมัยนี้ไม่ดีพอ’ สำหรับบางคน ‘การเมืองไม่เคยสร้างประโยชน์อะไรเลย’ และในขณะที่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าเป็นพวกที่ ไม่ยุ่งกับการเมือง" แม้ว่าก่อนหน้านี้จะบ่งชี้ว่าผู้คนกำลังหมดความสนใจในการเมือง แต่การเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วสู่ยุคดิจิทัลทำให้ผู้คนหันไปสนใจเรื่องการเมืองในทันที แม้ว่าจะมีทั้งเรื่องแย่และแย่กว่าก็ตาม

ระบอบประชาธิปไตยของอินเดียที่ปรารถนาจะเป็นมหาอำนาจและศูนย์กลางความรู้ของโลกได้พยายามดิ้นรนเพื่อให้ทันกับธรรมชาติของการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป คนอินเดียเคยยกย่องชื่นชมนักการเมืองรุ่นแรกที่เติบโต และเป็นผลพวงของการต่อสู้เพื่อเอกราชกับการปกครองของอังกฤษ เราบูชาเสน่ห์และวิธีการของมหาตมะ คานธี ความเรียบง่ายของศาสตรี ความมุ่งมั่นของพาเทล ความรู้และวิสัยทัศน์ของอัมเบดการ์ ความซื่อสัตย์ของชอมธารี จรัล ซิงห์ และคนอื่น ๆ เรามีชีวิตอยู่ในความถวิลหาผู้นำที่เป็นไอดอลในสมัยก่อน แต่ไม่เต็มใจที่จะพัฒนาผู้นำสำหรับอินเดียในอนาคต หากรัฐบาลชุดก่อน ๆ หรืออย่างน้อยที่สุดพรรคการเมืองได้ลงทุนเพื่อหาผู้ที่เหมาะสมลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ประเทศจะได้ประโยชน์มากมายจากมัน แต่เราจะไปจุดนั้นได้อย่างไร?

ประเทศที่พัฒนาแล้วได้มาถึงจุดที่พวกเขาอยู่ เพราะพวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญของการวิจัยและได้ลงทุนกับมัน เราต้องเข้าใจว่าความรู้มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ความรู้เกี่ยวกับกลไกที่ยั่งยืนในการระบุประเภทผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เหมาะสมจะให้ผลลัพธ์ดังที่คาดหวัง แต่ในอินเดีย ทั้งประชาชนและพรรคการเมืองไม่ได้ทำงานเพื่อริเริ่มวาทกรรมว่า 'ใครเป็นนักการเมืองที่ดี' เป็นเพียงตำนานหรือสามารถกำหนดคุณลักษณะของ 'นักการเมืองที่ดี' ได้จริงหรือไม่?

งานวิจัยก่อนหน้านี้โดย ศ. Rainbow Murray (สำนักการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิทยาลัย Queen Mary มหาวิทยาลัยแห่ง London) ในปี ค.ศ. 2010 และ ค.ศ. 2015 และ Reuven Hazan & Gideon Rahat ในปี ค.ศ. 2010 แสดงให้เห็นว่า บรรดาพรรคการเมืองใช้เกณฑ์อัตวิสัยหลายอย่างในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ฝีปาก ความฉลาด และความสามารถพิเศษ พวกเขาอาจเลือกผู้สมัครตามตัวแปรที่ไม่มีความชัดเจน เช่น ความภักดีต่อพรรค ความสัมพันธ์ในครอบครัว และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ศ. Murray ให้เหตุผลว่าการใช้ตัวแปรอื่นแทน เช่น 'ความสำเร็จทางการศึกษา' และ 'เส้นทางอาชีพ' เพื่อวัดความเก่งกาจและความสามารถพิเศษเป็นการสร้างปัญหา เนื่องจากการศึกษาที่ใช้เกณฑ์เหล่านี้อาจพบว่า เป็นการยากที่จะแยกแยะระหว่างผู้ที่ได้รับสถานะทางสังคมสูงระหว่างผู้ที่บรรลุและผู้ที่ได้รับมาโดยสิทธิพิเศษ การวิจัยของ ศ. Murray ทำให้เธอสรุปได้ว่า ผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเลือกตั้งคือ บุคคลที่มีความรู้จริง และพิสูจน์ได้สามารถจัดการปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้คนต้องเผชิญและอุทิศตนเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านั้น บุคคลนั้นควรมีทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ที่โดดเด่น และควรสามารถต่อสู้เพื่อให้ได้เหตุผลและสามารถเจรจาประนีประนอมได้เมื่อจำเป็น ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า คุณสมบัติที่เธอระบุสำหรับนักการเมืองที่ดีคือ ความรู้ ทัศนคติในการแก้ปัญหา ความตั้งใจในการทำงาน และทักษะในการสื่อสารและได้รับสนับสนุนที่ดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top