Friday, 23 May 2025
SPECIAL

ชลบุรี - ศรชล.บูรณาการร่วมกำหนดแนวทางควบคุมป้องกันโควิด เรือช่วยรบสหรัฐ ขอเข้าราชอาณาจักร เพื่อการซ่อมบำรุงเรือ

เมื่อ 16 ก.ค.64  ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดชลบุรี (ศรชล.จว.ชบ.) โดย น.อ.ณัฐวุฒิ งามวงศ์วาน รอง ผอ.ศรชล.จว.ชบ. ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการ (ศรชล.ภาค 1, ศรชล.จว.ชบ., ศคท.จว.ชบ., อ.ศรีราชา, สจป.ศรีราชา, ตม.แหลมฉบัง, ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือศรีราชา-เกาะสีชัง, บ.ยูนิไทย, ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์, ตัวแทนเรือ และ ผชท.สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย) เพื่อร่วมกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่ง ศบค. เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 9) ข้อ 1 (5) (5.1) และในกรณี เรือช่วยรบสัญชาติอเมริกา (เรือ USNC Charles Drew) ขอเข้าราชอาณาจักร เพื่อการซ่อมบำรุงเรือ ณ ห้องประชุม สนง.ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ อ.ศรีราชา จว.ชลบุรี

โดยมี พล.ร.ต.สมพงษ์ ศรอากาศ ผอ.สน.ฝอ.ศรชล.ภาค 1 เป็นประธาน ซึ่งมีมติในที่ประชุมดังนี้

1. มาตรการก่อนเดินทางเข้าราชอาณาจักร ของ เรือ USNC Charles Drew ด่านควบคุมโรคฯ ตรวจสอบแล้ว เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด

2. เรือ USNC Charles Drew ยินยอมให้คนประจำเรือทั้งหมดเข้ารับการกักกันโรคบนเรือ จำนวน 14 วัน

3. เรือ USNC Charles Drew ยินยอมให้คนประจำเรือทั้งหมดรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง โดย ร.พ.คู่สัญญา ในการกำกับของด่านควบคุมโรคฯ

4. เมื่อการเตรียมการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ร.พ.คู่สัญญา พร้อมแล้ว อนุญาตให้ เรือ USNC Charles Drew เข้าเทียบท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ โดยให้จัดทำเขตกั้นบริเวณจอดเรือให้ชัดเจน และจัด จนท.ตรวจสอบตลอด 24 ชม.

5. เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

5.1 ตรวจครั้งที่ 1 หลังจากเรือเทียบท่าแล้ว

5.2 เมื่อผลตรวจครั้งที่ 1 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-7 ของระยะเวลากักกันโรค

5.3 เมื่อผลตรวจครั้งที่ 2 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 3 ในวันที่ 12-13 ของระยะเวลากักกันโรค

6. เมื่อกักกันโรคครบ 14 วันแล้ว ไม่พบการติดเชื้อของคนประจำเรือ ผู้ประกอบการสามารถขึ้นเรือดำเนินการซ่อมทำได้

7. การส่งเสบียงในระหว่างการซ่อมทำ ให้ดำเนินการโดยอยู่ในการกำกับของด่านควบคุมโรคฯ

8. หลังจากเรือเข้าเทียบท่าแล้ว ให้ตัวแทนเรือ ทำหนังสือขออนุญาต ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี เพื่อขอเข้าประเทศ (เฉพาะพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในกรณีคนประจำเรือทั้งหมดตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อ)


ภาพ/ข่าว สนง.ศรชล.ภาค 1

ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

ปทุมธานี - เตรียมความพร้อมเปิดศูนย์พักคอยตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี (รับผู้ป่วยโซนสีเขียว)

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เวลา 14.00 น.ณ มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายจักรินทร์ สุขสมบูรณ์ (คุณโก๊ะ)และ ร้อยโทบรรณ์ฑูรย์ ผลสุขขา

(หมวดฑูรย์) พร้อมด้วย ปลัดอำเภอลาดหลุมแก้ว กำนันตำบลหน้าไม้ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหน้าไม้ ให้การต้อนรับ ด้านร้อยโทบรรณ์ฑูรย์ ผลสุขขา ได้กล่าวเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19ภายในตำบลหน้าไม้และชุมชนต่าง ๆ ปัจจุบันนี้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้ป่วยได้ทำการกักตัวรักษาตัวอยู่ภายในบ้าน ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทางกลุ่มใจอาสาไพลิน

นำโดยคุณจักรินทร์ สุขสมบูรณ์ และกระผมได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าปรึกษานายปรีดา เดชดี กำนันตำบลหน้าไม้เพื่อหาสถานที่ในการแยกผู้ป่วยที่จะติดเชื้อเพื่อเป็นการหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและทางกำนันปรีดา เดชดี ได้เรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่ ในตำบลหน้าไม้ เพื่อหาสถานที่ ที่จะทำศูนย์พักคอยตำบลหน้าไม้ ได้ข้อสรุปว่าจะใช้มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หมู่ 1 ต.หน้าไม้ แห่งนี้ เป็นศูนย์พักคอยตำบลหน้าไม้เพื่อคัดแยกผู้ป่วยในโซนสีเขียว พักคอยดูอาการ

และกระผมได้ประสานไปทางอำเภอลาดหลุมแก้ว โรงพยาบาลสนามตำบลหน้าไม้ในการจัดตั้งศูนย์พักคอยตำบลหน้าไม้ โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณวัฒนา สุจิตราณรักษ์ ประธานชมรมอุตสาหกรรมลาดหลุมแก้ว และสมาชิกในชมรมฯ ได้สนับสนุนตียงและที่นอนจำนวน 70 เตียงในเบื้องต้นและในวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น.จะทำการซักซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะได้เปิดศูนย์พักคอยให้ได้โดยเร็วท่านได้กล่าวทิ้งท้ายไว้


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

ปส.รวบขบวนการค้ายาเสพติดจากภาคเหนือ มุ่งเข้า กทม. สะกดรอยจับกุมได้ที่บริเวณถนนสายเอเชีย (หมายเลข 32) ได้ของกลาง 6.2 ล้านเม็ด

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1– กก.2 บก.สกส. บช.ปส.อำนวยการโดย พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผบช.ปส. , พล.ต.ต.พรชัย เจริญวงศ์ , พล.ต.ต.นพดล ศรสำราญ , พล.ต.ต.สุศักดิ์ ปรักกมะกุล , พล.ต.ต. อนุภาพ ศรีนวล รอง ผบช.ปส. , พล.ต.ต.พลัฏฐ์ วิเศษสิงห์ ผบก.สกส.บช.ปส. , พ.ต.อ.วัสสา วัสสานนท์ , พ.ต.อ.อิทธิพล จันทร์ศรีบุตร , พ.ต.อ.ประสงค์ ศิริทิพย์วานิช รอง ผบก.สกส.บช.ปส. ได้บูรณาการร่วมกันทำการจับกุมตัว ขบวนการจำหน่ายยาเสพติด จากภาคเหนือ ได้ผู้ต้องหาได้จำนวน 3 คน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับว่า นายสุทัศน์ แซ่ว่าง , นายหวาน ลาเซ และ นายกิตติพิชญ์ แซ่ม้า กับพวก มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพฤติการณ์ร่วมกันลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ทางภาคเหนือ และจะนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้าในพื้นที่ทางกลางและปริมณฑล ตามสั่งการของผู้ว่าจ้างอยู่เป็นประจำ

โดยสายลับแจ้งว่าในระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2564 จะร่วมกันลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ จว.เชียงราย เพื่อนำไปส่งมอบให้กับลูกค้าตามสั่งการของผู้ว่าจ้าง โดยจะใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อ TOYOTA แบบมีหลังคาด้านท้าย (แครี่บอย) สีเทา หมายเลยทะเบียน บพ 4127 พะเยา และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อ CHEVROLET รุ่น OPTRA สีดำ หมายเลขทะเบียน กษ 7674 เชียงราย เป็นยานพาหนะในการขนลำเลียง จึงวางแผนในการตรวจค้นจับกุมบุคคลดังกล่าวหากพบว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจริง

โดยในช่วงเช้าวันนี้ ตำรวจชุดจับกุมพบรถยนต์ทั้งสองคันในพื้นที่ จว.สิงห์บุรี ตรงกับที่สายลับแจ้ง จึงได้สะกดรอยติดตาม และให้ทำการตรวจค้นจับกุมในที่ปลอดภัย และเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมสามารถสกัดกั้นรถยนต์ทั้งสองคันได้ที่บริเวณลานจอดรถยนต์ ตลาดกลางกุ้ง ถนนสายเอเชีย (หมายเลข 32) ตำบลหันตรา อำเภอ พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยผู้ต้องหา 3 ราย 1. นายหวาน ลาเซ อายุ 23 ปี ที่อยู่ 257 หมู่ 9 ตำบลดงมหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย 2. นายสุทัศน์ แซ่ว่าง อายุ 23 ปี ที่อยู่ 0/89 หมู่ที่ 07 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายและ 3. นายกิตติพิชญ์ แซ่ม้า อายุ 21 ปี ที่อยู่ 203 หมู่ที่ 12 ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยของกลาง จำนวน 4 รายการ 1. ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาบ้า จำนวน 3,100 มัด รวมเป็นยาบ้าเบื้องต้นทั้งสิ้นประมาณ 6,200,000 เม็ด ตรวจยึดได้จากรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อ TOYOTA แบบมีหลังคาด้านท้าย (แครี่บอย) สีเทา หมายเลขทะเบียน บพ 4127 พะเยา รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อ CHEVROLET รุ่น OPTRA สีดำ หมายเลขทะเบียน กษ 7674 เชียงราย จำนวน 1 คัน โทรศัพท์มือถือ จำนวน 5 เครื่อง โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกัน มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้น ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสามคนพร้อมของกลาง มาที่ กก.2 บก.สกส.บช.ปส. เพื่อรอทำการขยายผลการจับกุม และทำการจับกุมผู้รับปลายทางต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุจินดา อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา

สมุทรปราการ - ทร. ส่งกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิง เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น

โฆษก ทร.เผย เจ้ากรมสวัสดิการและประธานกรรมการมวยสากลสมัครเล่นกองทัพเรือ ส่งกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิงกองทัพเรือ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ญี่ปุ่น

วันที่ 17 ก.ค.64 พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 18.00 น. พลเรือตรี ดุลยพัฒน์ ลอยรัตน์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือ/ประธานกรรมการกีฬามวยสากลของ กองทัพเรือ ได้มาส่ง อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพร สีสอนดี นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิง รุ่น 60 กิโลกรัม (ไลท์เวท) ในการเดินทางไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่น ในการนี้ได้อวยพรขอให้ประสบความสำเร็จและนำชื่อเสียงกลับประเทศ โดยมี ดร.สมชาย พูนสวัสดิ์ ประธานฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะนักมวยฯ ทีมชาติไทยในครั้งนี้

สำหรับกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2021” ที่ประเทศญี่ปุ่น จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2564 กำหนดชิงชัยกัน 33 ชนิดกีฬา 50 ประเภท รวมแข่งขันทั้งหมด 339 รายการ


ภาพ/ข่าว สนง.โฆษกกองทัพเรือ

นิราข / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือ ร่วมจิตอาสา ศิลปิน และอส.ภาคประชาชน อัญเชิญสิ่งของพระราชทาน มอบผู้นำชุมชนส่งให้ ปชช.ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

พลเรือตรี พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ร่วมกับศิลปิน ฝันเด่น จรรยาธนากร อาสาสมัครภาคประชาชน กลุ่มใจถึงใจคนไทยไม่ทิ้งกัน อัญเชิญเจลล้างมือพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำอาหารกล่อง น้ำดื่ม จำนวน 1,400 ชุด มอบให้กับผู้นำชุมชนในพื้นที่ เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี กรุงเทพฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล ณ นันทอุทยานสโมสร ฐานทัพเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2564 เวลา 11.00 น.     

และในวันเดียวกันช่วงเวลา 12.00 น. พลเรือตรี พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ อัญเชิญเจลล้างมือพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำอาหารกล่อง เครื่องอุปโภค บริโภค จำนวน 300 ชุด มอบให้กับผู้นำชุมชนมัสยิดสวนพลู เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจ ต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล ณ  มัสยิดสวนพลู เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

สำหรับกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล โดยตั้งครัวสนามเคลื่อนที่แจกจ่ายอาหารให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 นี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคล ห้วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2564 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564

กองทัพเรือ จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19” ถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดย กองทัพเรือ ได้จัดรถครัวสนาม เพื่อจัดทำอาหารกล่อง และน้ำดื่ม ร่วมกับสมาคมภริยาทหารเรือ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สนับสนุนสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค นำไปมอบให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับหน่วยงานของกองทัพเรือ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ของทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2564


ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

สงขลา –ขบวนคาราวานประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ นำถุงยังชีพ 50,000 ถุง แจกจ่ายแก่พี่น้องชาวภาคใต้ สู้ภัยโควิด-19

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (18 ก.ค.64 ) นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยการมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ลงพื้นที่โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ อ.เมือง จ.สงขลา พร้อมด้วย นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายจักรธร สุริแสง นายกเทศบาลเมืองเขารูปช้าง นายร่อเซ็ง ไหรเจริญ นายกเทศบาลตำบลเกาะแต้ว นายสรรเพชญ บุญญามณี ปชป.เขต 1 สงขลา ผู้ช่วยดำเนินงานประธานรัฐสภา และนายนิพัฒน์ อุดมอักษร เลขานุการนายก อบต.สงขลา/นายกสมาคม SME จังหวัดสงขลา ตลอดจนตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ชายแดนใต้ ร่วมปล่อยขบวนรถ "คาราวาน ประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ สู้ภัยโควิด"

โดย ขบวนคาราวานประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ สู้ภัยโควิด นี้จะนำถุงยังชีพจำนวนกว่าห้าหมื่นถุง ไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องชาวภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งถุงยังชีพดังกล่าวได้รับการจัดสรรและบริจาคจากมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รวมถึง ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้นำมาส่งมอบให้เพื่อนำไปดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งภายในถุงยังชีพจะบรรจุ ข้าวสารหอมมะลิเกรดคุณภาพ 5 กก. ปลากระป๋อง หน้ากากอนามัย เป็นต้น โดยจะมีตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์แต่ละพื้นที่นำไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งภาคใต้ และ ในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า "ได้รับมอบหมายจากท่านจุรินทร์ ในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในการปล่อยขบวนรถคาราวานถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วยข้าวสาร ปลากระป๋องและหน้ากากอนามัย ในการที่จะส่งไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์โดยมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ฯ ต้องการจัดถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจากภัยโควิด-19  วันนี้จึงเป็นวันที่นัดปล่อยคาราวานถุงยังชีพลงไปในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบกับภัยโควิดอยู่ในขณะนี้  และขอถือโอกาสนี้ในการขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบภาวะความยากลำบาก"

"พรรคประชาธิปัตย์ โดยมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชก็ได้ดูแลพี่น้องมาตลอดตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ ด้วยการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนกว่า 5 ล้านชิ้น แจกอาหารพร้อมรับประทาน รับซื้อพืชผลทางเกษตรเพื่อลดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาดราคาตกต่ำ ตลอดจนการประสานช่วยเหลือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในสถานการณ์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด และยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยังคงทำหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้สั่งการและมอบหมายให้แต่ละพื้นที่ลงไปดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ดังนั้นขบวนรถคาราวานถุงยังชีพ 50,000 ถุง โดยจัดไปในพื้นที่ 4จังหวัดชายแดนจำนวน 15,000ถุง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายๆส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดเพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว" นายนิพนธ์ กล่าว


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

กาฬสินธุ์ – ภาคประชาชนร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อประนีประนอม ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ลดขั้นตอนการพิจารณาคดีความ โดยไม่ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ ไม่ต้องจ้างทนาย และไม่เสียค่าบริการ

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดป้ายที่ทำการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยมีพระครูโสภณวินัยวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอยางตลาด (ธ) ประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน นายประหยัด ไม้แพ ยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น คณะทำงานบริหารประจำศูนย์ฯ ประชาชน ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ ทุกคนต่างปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน กล่าวว่า ในภาวะสังคมปัจจุบัน ทั้งการดำเนินชีวิต การจราจร การประกอบอาชีพต่าง ๆ จะเห็นว่าเกิดข้อขัดแย้ง กรณีพิพาท เป็นคดีความ นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้คู่ขัดแย้งหรือคู่กรณี เสียทรัพย์ เสียเวลา จากการว่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งๆที่บางคดีเป็นเรื่องเล็กๆน้อย สามารถยอมความกันได้ แต่กลับต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากตกลงกันไม่ได้

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวอีกว่า จากสาเหตุดังกล่าว ตนและเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จึงได้ร่วมกับส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งคณะทำงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนถึงชุมชนหรือหมู่บ้านขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ มีหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านคดีความให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาบางคนอาจเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลา โดยเป้าหมายต่อไปเครือข่ายยุติธรรมภาคประชาชน ยังจะร่วมกันเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ให้ครอบลมทุกตำบลในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 3 แห่ง คือที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยแห่งนี้ รวมทั้ง อ.นามน และ อ.ห้วยเม็ก

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนบ้านโคกเครือที่จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีข้อขัดแย้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคู่กรณี ทั้งอุบัติเหตุทางจราจร เรื่องที่ดิน เรื่องมรดก ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ซึ่งไม่ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หรือว่าจ้างทนายความ ทางศูนย์พร้อมที่จะให้คำปรึกษา หาทางออกที่ดี โดยให้ความคุ้มครองทางสิทธิ เสรีภาพ และไม่เสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ซึ่งเมื่อคู่กรณีมารับบริการที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยและสามารถตกลงยอมความกันได้ ก็จะทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ส่งข้อมูลเข้าระบบกระบวนการยุติธรรมทุกสาขา ถือเป็นการยุติข้อร้องเรียนหรือความขัดแย้งกรณีนั้น และจะไม่สามารถฟ้องร้องกันอีก

ทั้งนี้ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้น จึงเป็นทั้งศูนย์สร้างความปรองดองและศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในเชิงรุกถึงหมู่บ้าน ประโยชน์ที่ชุมชนในพื้นที่จะได้รับจากการเข้ามาไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ฯ คือนอกจากจะใกล้บ้านแล้ว ยังเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องจ้างทนายความ โดยเฉพาะเป็นการให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยฟรี ไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

สุโขทัย - วิทยาลัยเกษตรสุโขทัย ติวเกษตรยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาผลผลิตยั่งยืน

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้ดำเนินโครงการอบรมพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะปลูก ณ ห้องประชุมอาคาร 8 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวว่าโครงการนี้ เป็นแนวคิดของคณะผู้บริหารและครูผู้สอน ในการต้องการเสริมการทำเกษตรแบบดั่งเดิมเพื่อต่อยอดทักษะและความรู้สู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างองค์ความรู้ ขยายผลสู่นักเรียน นักศึกษา และชุมชนให้มีคุณภาพสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ การเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก 

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เป็นวิทยาลัยเกษตร หรือโรงเรียนที่ได้เป็นตัวแทนของจังหวัดสุโขทัย ในการประกวดโครงการต่าง ๆ ของภาคเกษตรระดับประเทศ ที่เน้นการทางเกษตรอินทรีย์ และต้องการต่อยอดเทคโนโลยี 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการเพาะปลูก มาผสมผสานกับการเกษตรแบบดั่งเดิม และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน นักเรียน นักศึกษา แก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะขาดทุน และการใช้สารเคมีในการปลูกพืชทำให้เกิดสารพิษจากการสัมผัสโดยตรงมากเกินไปของเกษตรกร ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาประชาชนเป็นโรคต่าง ๆ

ดังนั้นจึงมอบหมายให้ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ทดลองฝึกใช้ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก และแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุด ที่นักเรียน นักศึกษา ยอมรับและเต็มใจ เห็นด้วยจากความคิดที่ได้นำมาทดลอง และแลกเปลี่ยนความคิดกัน เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ และการใช้แรงงาน ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา 

ดังนั้นทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย จึงเห็นถึงความสำคัญนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูกในปัจจุบัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ ในการศึกษาผลิตการเป็นผู้ผลิตพืชผัก ผลไม้ และเกษตกรรมด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะวิชาการ รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ในการทำงานเป็นทีม มีทักษะการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยียุค 4.0 ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น พึ่งพาตนเองได้ ลดการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง เด็กรักถิ่นเกิดของตนเองเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบ และจังหวัดสุโขทัย และสามารถสร้างอาชีพได้อย่างแท้จริง

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวเพิ่มเติมว่าวัตถุประสงค์ มุ่งสร้างให้เยาวชนเป็นเด็กเก่งและเด็กดี ของสังคมและประเทศชาติ โดยเน้นพัฒนาด้านทักษะและสมรรถนะมากขึ้น เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเรียนรู้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และต่อยอดสู่อาชีพ การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตนักเรียน นักศึกษา และอาชีพที่เติบโต  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษารู้เครื่องมือใช้งาน อุปกรณ์ควบคุม และการเขียนโปรแกรม ควบคุมอุปกรณ์เทคโนโลยีสุโขทัย

ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถต่อยอดความรู้ไปสู่นวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนารูปแบบวิธีการเดิม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสามารถนำนวัตกรรมไปสู่ชุมชน ต่อยอดให้ความรู้แก่ชุมชนยั่งยืนได้


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

'เฉลิมชัย' สั่ง 'เกษตรฯ'​ เร่งช่วยประชาชนฝ่าวิกฤตโควิด-19

'เฉลิมชัย'​ สั่ง 'เกษตรฯ'​ เร่งช่วยประชาชนฝ่าวิกฤตโควิด-19

บอร์ดเกษตรกรรมยั่งยืนรับลูกเห็นชอบโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) มอบ  'อลงกรณ์'​ นำทีมขับเคลื่อนทันทีตั้งเป้าขยายผลใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อทั่วประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 2/2564 ล่าสุดวันนี้ (18 ก.ค) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการธนาคารสีเขียว​ (Green Bank) เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจโดยมีเป้าหมาย​ 6​ ประการได้แก่ การเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ,การเพิ่มทรัพย์สิน รายได้ อาชีพและธุรกิจใหม่ๆ​ ให้กับประชาชน, การลดปัญหาหนี้นอกระบบ, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและนอกเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนและเมือง แก้ปัญหา​ PM2.5, การแก้ปัญหาโลกร้อน​ (Global Warming) และเพิ่มคาร์บอนเครดิตของประเทศและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ​ (SDG) และยุทธศาสตร์ชาติรวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเกษตรและเศรษฐกิจ โดยแต่งตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ​ เป็นประธานและมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนขยายผลต่อยอดโครงการนี้โดยผนึกความร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ภาคการวิจัย เช่นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สวก. ภาควิชาการเช่นสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC) ภาคเอกชนเช่นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร  สภาเอสเอ็มอี ภาคเกษตรกรเช่นสภาเกษตรกรแห่งชาติ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สมาคมเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เกษตรกร ภาคท้องถิ่นเช่นอบจ. เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา รวมทั้งภาคีเครือข่ายมูลนิธิ องค์กรเอกชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบรายงานผลการดำเนินการที่ผ่านมาของโครงกาสินเชื่อไม้ยืนต้นจากข้อมูลของกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์รายงาน ณ วันที่​ 5 ก.ค. 2564​ ว่า​ตั้งแต่ปี2562ถึงปัจจุบัน มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 87​ สัญญา จำนวน 119,498 ต้น วงเงิน​ 134,375,912.00 บาทโดยแบ่งเป็น กลุ่มให้สินเชื่อรายย่อย​ (พิโกไฟแนนซ์ ปล่อยสินเชื่อวงเงิน5หมื่นถึง​ 1​ แสนบาท) 80 สัญญา คิดเป็น 92%ของสัญญารวมวงเงินค้ำประกัน​ 4​ ล้านบาท กลุ่มสถาบันการเงิน​ (ธนาคารกรุงไทยและธกส.) 7​ สัญญา คิดเป็น 8% ของสัญญา รวมวงเงินค้ำประกัน 130ล้านบาท

“ระบบการให้สินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ผ่านมายังดำเนินการได้ไม่มากนัก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจึงมอบนโยบายให้ต่อยอดขยายผล​ (Scale up) โครงการด้วยการเร่งส่งเสริมเกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินตนเองซึ่งเป็นการเพิ่มทรัพย์สินสร้างหลักประกันให้กับครอบครัวและความมั่นคงในอนาคตรวมทั้งสามารถใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อโดยเกษตรกร ประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับวงเงินสินเชื่อรายย่อย​ 50,000-100,000 บาทต่อรายและวงเงินสินเชื่อรายใหญ่จากสถาบันการเงินเช่นธนาคารเป็นต้น” นายอลงกรณ์​ กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project)โดยมีการแต่งตั้งโครงสร้างและระบบในการทำงานดังนี้.. 

1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ระดับเขต แบ่งตามพื้นที่รับผิดชอบตามการแบ่งเขตตรวจราชการของกระทรวงฯ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำเขตตรวจราชการ เป็นประธานอนุกรรมการ 

2) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองทั้ง 77 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นเลขานุการ 

3) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เป็นประธาน มีผู้อำนวยการสำนักสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร เป็นเลขานุการ

4) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่เมืองพัทยา โดยมอบหมายให้เมืองพัทยาพิจารณาสรรหาบุคคลที่เหมาะร่วมเป็นอนุกรรมการ

5) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัด (Green Temple) มีนายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นประธาน 

6) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วิทยาลัย (Green College) โดยมีนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย เป็นประธาน 

7) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่โรงเรียน (Green School) มีนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เป็นประธาน 

8) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus) มี รศ.ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล เป็นประธาน 

9) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่การเคหะแห่งชาติ มีผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธาน

10) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองระดับชุมชนและท้องถิ่น (Green Community) มีนายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด เป็นประธานคณะทำงาน 

11) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่อาคารชุด (Green Condo) โดยมีนางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดเป็นประธาน

รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าในการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)และมีมติให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการต่อไป

สำหรับการจัดตั้งและขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส แห่งประเทศไทยจะมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแนวทางและแผนการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์ ในวันที่ 18 สิงหาคม

ที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล โดยผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการโครงการไปแล้วร้อยละ 46 ของโครงการ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 30,000 คน และดำเนินการจ้างผู้ปฏิบัติงานจากเกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ว่างงานจากผลกระทบของ COVID-19 แล้วจำนวน 9,157 ราย 

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 2/2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมพร้อมด้วยนายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ นายศรีสะเกษ สมาน ตัวแทนสภาเกษตรกรแห่งประเทศ นายกันตพงษ์ แก้วกมล ประธานเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer Thailand) และกรรมการภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ (zoom)

พูดกับลูกแบบนี้ ไม่ได้ผล!! การพูดจาข่มขู่ เป็นวิธีการให้ลูกทำตัวเกเร ไม่มีการกระทำที่ถูก จากวิธีคิดที่ผิด

พ่อแม่บางคนติดกับดักอำนาจตัวเอง สำหรับเด็กๆ แล้วเหมือนคำท้าทายให้เด็กๆ ทำในสิ่งที่พ่อแม่ห้าม คำว่า “เดี๋ยวเถอะ ถ้าลูกทำอีกครั้งนะ” การรับรู้ของเด็กจะไม่ได้ยินคำว่า “ถ้าลูก” แต่จะได้ยินคำว่า “ลูกทำอีกครั้งนะ” การตีความการข่มขู่ครั้งนั้น เหมือนว่า ถูกคาดหวังว่าให้พวกเขาทำตัวเกเรอีกครั้ง

คำตักเตือนของคุณ เสมือนเป็นการท้าทายให้เด็กพยามแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น ถ้าเขาเป็นคนเคารพในตัวเองมากๆ เขาจะฝ่าฝืนคำสั่งคุณ เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่าเขาไม่ใช่คนที่รู้สึกเกรงกลัวและหวั่นไหวเมื่อถูกข่มขู่

วิธีสื่อสารบางอย่างที่เราใช้พูดกับลูก เป็นสิ่งที่ไม่ได้ผลอย่างยิ่ง นอกจากจะทำให้เราไม่บรรลุจุดมุ่งหมายในการสื่อสารกับลูกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น มันจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย วิธีสื่อสารที่ว่า เช่น การข่มขู่ การติดสินบน การให้คำมั่นสัญญา การพูดจาถากถาง การใช้คำพูดที่รุนแรงเกินเหตุ การพูดทำร้ายจิตใจ รวมถึงการสอนเด็กให้สุภาพมีมารยาทด้วยคำพูดที่หยาบคาย

การทำร้ายเด็กด้วยคำพูด ข่มขู่ ต่อว่า ตำหนิ ว่าเขาน่าเกลียด โง่  ซุ่มซ่าม ย่อมมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับเด็ก เด็กจะมีปฏิกิริยาทั้งร่างกายและจิตใจ  เช่น เสียใจ โกรธ เกลียด เด็กจะเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะในใจครุ่นคิดแต่จะเอาคืน อาจมีปัญหาในการแสดงออก ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ทั้งเด็กและพ่อแม่ต้องทุกข์ระทม

พ่อแม่ที่พูดซ้ำ ๆ ว่าลูกโง่ เด็กคนนั้นก็จะเชื่อคำพูดประโยคซ้ำๆ นี้โดยอัตโนมัติ เชื่อว่าตัวเองนั้นโง่จริงๆ เขาจะเริ่มเห็นตัวเองเป็นคนโง่ลงเรื่อย ๆ  และจะยอมแพ้ต่อความพยายามและต่อการใช้ความคิดไปโดยปริยายเช่นกัน

แต่ก็ประหลาดใจมากที่บ่อยครั้งที่ได้ยินคำพูดที่ข่มขู่ เกรี้ยวกราด ถากถาง คำพูดเชิงลบ ที่ลดคุณค่าตัวตนของลูก

ตัวอย่างเช่น 
- เธอมันหนักไม่เอา เบาไม่สู้ ทำอะไรก็ไปไม่รอด
- ตั้งแต่เธอลืมตาดูโลก ธุรกิจฉันก็ขาลงทันที
- เธอมันเหมือนแม่ไม่มีผิด ไม่ได้เรื่องพอๆ กัน
- อย่าให้ฉันรู้นะว่าเธอ….
- คนอย่างเธอมันเก่งไม่จริง
- ระวังตัวให้ดี สักวันหนึ่ง….
- เธอมันคือตัวปัญหา ตัวซวย

แบบแผนการสื่อสารแบบนี้ ถือว่าเป็นการสื่อสารที่มีแต่จะทำร้ายจิตใจลูกให้ตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังของหลักการสื่อสาร คือ การที่ผู้ใหญ่ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และต้องมีความเคารพในตัวของเด็ก


เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima

อ้างอิงข้อมูล: หนังสือ วิธีพูดกับลูก

‘ความเข้าใจผิด ๆ ที่คิดว่าช่วย รักษ์โลก’ I LOCK LENS GURU EP.37

LOCK LENS GURU รายการที่จะพาทุกคนมาเจาะลึกประเด็นที่น่าสนใจ ไปกับ ’กูรู’ ตัวจริง 

วันนี้พบกับ ‘คุณก้อง ชณัฐ วุฒิวิกัยการ’ ผู้ผลิตคอนเทนต์แยกขยะ ช่อง TikTok และ YouTube : KongGreenGreen

???? ดำเนินรายการโดย เจ THE STATES TIMES

.


.


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

"นุช-นนท์" ทำดีต่อเนื่อง!!​ เจ้าของ ร้านทุเรียน "ตลาดสี่มุมเมือง" มอบอาหาร 100 กล่อง ให้ "สถาบันราชประชาสมาสัย" (พระประแดง) และประชาชนในพื้นที่ในเทศบาลเมืองคูคตอีก 50 กล่อง

ณ สถาบันราชประชาสมาสัย ตำบลบางหญ้าแพรกอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ "ดร.นิยม ไกรปุย"รองผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นผู้รับมอบอาหารจำนวน 100 กล่อง

โดย "น.ส.ชาลินี ลอยนุ้ย" เจ้าของร้านทุเรียน "นุช-นนท์" ตลาดสี่มุมเมือง ประสานงานสะพานบุญ ให้ "นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย และตำแหน่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน พร้อมด้วย "นายโกสินธ์ จินาอ่อน" บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามโฟกัสไทม์ ที่ปรึกษา​ "สมาคมสื่อมวลชนเพื่อสังคม" นำอาหารจำนวน 100 กล่อง เพื่อมอบให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน รวมถึงคนพิการ ครอบครัวคนพิการ ที่ได้รับเชื้อไวรัส Covid-19 ที่รักษาตัวอยู่ใน "สถาบันราชประชาสมาสัย"

ทั้งนี้​ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเชื้อโควิด-19 ได้รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และร่างกาย เป็นการตอบแทนน้ำใจ ความเสียสละแรงกาย แรงใจ เวลาอันมีค่ามาดูแลรักษาพี่น้องประชาชนคนไทย คนพิการ ให้รอดปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด_19 ไปด้วยกัน

ในการนี้ "ดร.นิยม ไกรปุย" รองผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาสัย ได้กล่าวขอบคุณในน้ำใจไมตรีจิต ที่มอบให้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ รู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมาก และพร้อมจะทำหน้าที่ในการดูแลรักษาสุขภาพของพี่น้องประชาชนคนไทย ให้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังกล่าวประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทย เจ้าของสถานประกอบการ ร้านค้า และภาคเอกชน ที่มีจิตเป็นกุศลอยากจะร่วมด้วยช่วยกัน คนละไม้คนละมือ สร้างสรรค์สังคมไทยให้ปลอดภัย ร่วมกันแบ่งปันความสุข รอยยิ้ม กำลังใจ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน

เพราะการปฏิบัติงานนั้น ในช่วงสถานการณ์เชื้อไวรัส Covid-19 กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยทั้งชาติ จึงอยากจะประชาสัมพันธ์ เชิญชวน ท่านที่พอมี กำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ร่วมกันสนับสนุน เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ถังออกซิเจน และอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในการช่วยเหลือชีวิตพี่น้องประชาชนที่กำลังรักษาตัวจากเชื้อไวรัสโควิค-19 ได้ทุกโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามในทุกๆพื้นที่หรือติดต่อมายัง "สถาบันราชประชาสมาสัย" ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ทั้งนี้นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย และตำแหน่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงานได้มอบอาหารข้าวกล่องให้​ นายวะจะนะชัย วาจาพารวย ผู้สื่อข่าวจังหวัดปทุมธานี จำนวน 50 กล่อง เพื่อนำไปมอบให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในพื้นที่เทศบาลเมืองคูคตต่อไปและเมื่อวันที่ 10 และ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564  ที่ผ่านมา น.ส.ชาลินี ลอยนุ้ย เจ้าของร้านทุเรียน "นุช_นนท์" ตลาดสี่มุมเมือง ได้มอบข้าวกล่องให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในหลายๆ พื้นที่ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าอาหารให้กับประชาชนได้บ้างซึ่งตนได้ทำก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือประชาชนคนไทยด้วยกัน

#คนละมือ_คนละมือ

​​

ฤดูกาลแห่ง “เชอรี่” ในฟาร์มอดิเรก ความสุขที่ปลูกเองได้

ช่วงเดือนกรกฎาแบบนี้จะไม่พูดถึงหน้าผลไม้คงไม่ได้ ขอยกให้ “เชอรี่” เป็นนางเอกของเรา !! ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมนี้เลย 

หากย้อนไปเมื่อปีที่แล้วก็พอได้เก็บเกี่ยวเชอรี่ไว้บ้างแล้ว แต่ปีนี้เข้าสู่ความหนาวอย่างยาวนาน ทำให้ช่วงเมษายนอากาศหนาวจัดอยู่ประมาณ 7 ครั้ง มี 2 ครั้งที่หนาวถึงติดลบ 7 องศา ทำให้มีดอกที่ติดแล้วร่วงลงไปเยอะ แถมช่วงมิถุนายนมีลูกเห็บตก แถว ๆ ตรงที่วี่อยู่ ขนาดเท่า ๆ ลูกมะนาวที่ใหญ่มาก ทำให้ปีนี้เชอรี่เลยออกล่าช้าไปนิดนึง เพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศช่วงฤดูใบไม้ผลิล้วน ๆ เลย ดังนั้นในปีนี้เอง ทำให้ที่ฟาร์มของวี่แทบจะไม่มีเชอรี่เลย 

ใกล้บ้าน ก็มีฟาร์มแบบต้นเตี้ย ๆ ยืนเก็บถึงบ้าง ถูกเก็บรักษาโดยการปิดด้วยตาข่าย ช่วงที่หนาวมาก ๆ จะมีการจุดไฟเพื่อไม่ให้ต้นเชอรี่ได้รับความหนาวเกินจนดอกที่ติดแล้วร่วงลงไป

ฟาร์มของวี่เอง อย่างที่เคยเล่าไปในตอนแอปเปิลว่าต้นไม้แต่ละต้นนั้นสูงเป็นสิบเมตร การจะเอาตาข่ายคลุมจุดไฟนั้นค่อนข้างยาก ประกอบกับที่เราทำฟาร์มเพราะรัก หรือเป็นแค่งานอดิเรกเพื่อการอนุรักษ์ฟาร์มแบบสมัยก่อนและพันธุ์ไม้เก่าแก่เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อดำรงชีพ เราจึงปล่อยให้การได้ผลผลิตเป็นไปตามธรรมชาติจัดสรร แต่คงความเป็นออแกนิกให้มากที่สุด

ฟาร์มของวี่มีต้นเชอรี่อยู่ 10 ต้น ต้นที่แก่ที่สุดอายุ 55 ปี ส่วนต้นที่สูงที่สุดคือ 12 เมตร และมีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ ต้นเชอรี่สายพันธุ์เตี้ยสามารถมีอายุได้นานเฉลี่ยถึง 40-60 ปี ส่วนไม้ยืนต้นสูงแบบที่ฟาร์มอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 80-100 ปี ที่ฟาร์มมีอยู่ต้นนึงที่วี่ชอบรสชาติมาก มีอายุ 38 ปี เป็นสายพันธุ์ Kordia (คอร์เดีย) เจ้าต้นนี้ต้นเดียวก็ได้เป็นร้อยกิโลกรัมซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะเชอรี่ที่ฟาร์มลูกจะค่อนข้างเล็ก เนื่องจากเป็นพันธุ์ค่อนไปทางเก่า ไม่เหมือนตามซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ลูกใหญ่ ๆ แต่วี่การันตีเลยว่าถ้าได้ลิ้มลองละก็!! จะต้องบอกว่าเล็กพริกขี้หนูจริง ๆ ลูกใหญ่ ๆ น้ำจะเยอะแต่รสชาติจะไม่เข้มข้นเท่า ไม่รู้จะอธิบายยังไงเหมือนกัน แต่เอาเป็นว่าถ้าทุกคนที่ได้ชิมเชอรี่ที่ฟาร์มของวี่ จะต้องบอกว่าอร่อยและหายากมาก เพราะบางฟาร์มที่เขาปลูกเพื่อขายดำรงชีวิต เขาจะปลูกพันธุ์ที่ผสมมาเพื่อให้ลูกใหญ่จะได้น้ำหนักเยอะและขายได้ราคาดี ๆ โดยส่วนตัววี่ไม่เคยซื้อที่อื่นกินเพราะมีราคาสูง และไม่อร่อยเท่าที่ฟาร์มของเราเอง  

เชอรี่ที่ฟาร์มเรามีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งสีแดงสด สีแดงเข้ม สีออกม่วงดำ สีเหลืองล้วน ซึ่งพันธุ์สีเหลืองล้วนเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ชื่อพันธุ์ Dennis Gelbe Bernstein-Kirche (เดนนิส เกลเบ แบรนชไตน์ เคีรยชเช่) เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างเก่า ในระแวกนี้ไม่มีใครมีนอกจากที่ฟาร์มเรา ต้นนี้อายุแค่ 12 ปีเท่านั้น สูง 6 เมตร ถ้าพูดเรื่องนี้ชาวนาอินดี้ (สามีวี่เอง) จะยืดอกภูมิใจยิ้มหน้าบานเป็นจานดาวเทียมเลยทีเดียว รสชาติจะหวานและกรอบมาก แต่ปี ๆ นึงจะออกมาให้ชื่นใจไม่เยอะมากหรอก ประมาณ 6-10 กิโลกรัมเท่านั้น

วิธีการเก็บเราก็จะเอาตะกร้าเล็ก ๆ ร้อยเข้ากับเข็มขัด แล้วก็ปีนขึ้นไปเก็บได้เลย เชอรี่ที่ฟาร์มทั้งหมดเก็บเกี่ยวได้ต่อปีประมาณ 350 กิโลกรัม ราคาขายต่อกิโลกรัมคือ 14 ฟรังค์ แต่ที่ฟาร์มเราคือแจกซะเป็นส่วนใหญ่ คือวี่จะเอาไปแจกเพื่อนคนไทยบ้าง เพื่อนที่ทำงานบ้าง หรือบางทีเพื่อน ๆ ก็จะมาปีนเก็บกันเองสด ๆ จากต้น ถ้าจะขายคือขายครึ่งนึงของราคาตลาดเพื่อให้เพื่อนฝูงและคนรอบข้างได้กินของอร่อยคุณภาพดี นี่แหละวี่ถึงเรียกสามีว่าชาวนาอินดี้ 

บางครั้งความสุขก็มาในรูปแบบของการแบ่งปัน และการอยู่กับธรรมชาติทำให้จิตใจเราเป็นสุขได้มากกว่าที่เราคิด ที่สำคัญวี่เชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้มีราคาที่ต้องจ่าย แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่เราสามารถจ่ายได้ด้วยเงิน…


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เปิดมุมมองการลงทุนอย่างยั่งยืน ในโลก ‘การเงินสีเขียว’

ในมุมมองของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม การตัดสินใจลงทุนและการพิจารณาผลตอบแทนที่ต้องการจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในรูปของตัวเงินและความมั่งคั่งสูงสุดเท่านั้น หากแต่มีวัตถุประสงค์ของการลงทุนเพื่อผลตอบแทนในระยะยาวและสร้างผลกระทบเชิงบวก หรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ด้วยการลงทุนตามแนวคิดการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Investment) ผ่านการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ หุ้นกู้สีเขียว หรือ กรีนบอนด์ (Green Bond) 

ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นตราสารทางการเงินที่มุ่งเน้นระดมเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้การส่งเสริมจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 

(1) ลดและแก้ไขปัญหามลภาวะ 

(2) ส่งเสริมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 

(3) ลดและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 

โดยมีมาตรฐานตราสารหนี้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.0 (Climate Bond Standard) เพื่อรับรองว่าตราสารหนี้จะให้เงินทุนสำหรับโครงการที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกันโดยสมบูรณ์กับหลักการตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond Principles)

ประเภทของกรีนบอนด์ ประกอบด้วย 

1.) Standard Green Bond ได้แก่ Green Bond ที่มุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ถือตราสารหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกตราสารหนี้ชําระหนี้และจ่ายผลตอบแทนตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกัน

2.) Green Revenue Bond ได้แก่ Green Bond ที่มีกระแสเงินสดเป็นหลักประกันการชําระหนี้ เช่น รายได้ ค่าธรรมเนียม ภาษีจากโครงการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เงินที่จะได้รับจากการออกตราสารหนี้ลักษณะนี้จะนําไปใช้ในโครงการที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดนั้นเองหรือโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นด้วยก็ได้

3.) Green Project Bond ได้แก่ Green Bond ที่ออกเพื่อระดมทุนให้แก่โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะโครงการเดียวหรือหลายโครงการซึ่งผู้ลงทุนเป็นผู้รับความเสี่ยงโดยตรงในผลสำเร็จของโครงการนั้น

4.) Green Securitized Bond ได้แก่ Green Bond ที่มีการนําโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมโครงการเดียว หรือหลายโครงการมาเป็นหลักประกัน เช่น Covered Bonds Asset-Backed Securities และ Mortgage-Backed Securities โดยการออกตราสารหนี้ดังกล่าวนั้นต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่มุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมด้วย

ตลาดกรีนบอนด์ในไทยในปีนับจากปี 2562 มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านบริษัทมหาชนจำกัดที่ประสบความสำเร็จจากการจำหน่ายกรีนบอนด์ อาทิเช่น 

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ออกและเสนอขายกรีนบอนด์ อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี มูลค่า 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ลงทุนในโครงการเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและลดภาวะโลกร้อน เพื่อดูแลป่าในระยะยาว และศูนย์เรียนรู้ของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. 

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ออกและเสนอขายกรีนบอนด์ ชนิดไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน มูลค่าของหุ้นกู้ที่จะเสนอขายรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ในพัฒนาโครงการไฟฟ้าสะอาดสู่ความยั่งยืน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร (Waste-to-Energy) 

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกและเสนอขายกรีนบอนด์ 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไป ใช้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนด้วยพลังงานไฟฟ้า ลดการใช้รถยนต์ และจะช่วยลดการปล่อยมลภาวะในเขตกรุงเทพมหานคร

โดยการประเมินผลตอบแทนในกรีนบอนด์ จะคำนึงถึง “Greenium” (การผสมคำระหว่าง Green และ Premium) หรือผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) กับตราสารหนี้ทั่วไป (Conventional Bond) ทั้งนี้ผลจากศึกษาที่ผ่านมา พบว่ามีทั้งในกรณีที่ที่สูงกว่า และ ต่ำกว่า) ตราสารหนี้ทั่วไป


ข้อมูลอ้างอิง 

https://www.setsustainability.com/page/sustainable-investment

http://www.pddf.or.th/upload/article/file_200921095754.pdf


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เมื่อ​ 'ประกันชีวิต'​ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

เชื่อเถอะครับว่า​ นาทีนี้คำว่าประกันชีวิต คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเราอีกต่อไป 

หลาย ๆ​ คนมีวัตถุประสงค์ ในการทำประกันชีวิตแตกต่างกัน เช่น... 

- เพื่อคุ้มครองเวลาจากไป​ คนข้างหลังจะได้ไม่ลำบาก 
- เพื่อออมเงิน 
- เพื่อลดหย่อนภาษี 
- เพื่อลงทุน 
- หรือเพื่อช่วยเหลือเพื่อน 

สำหรับผมแล้ว การได้เข้ามาสู่ธุรกิจประกันชีวิตเมื่อ​ 20​ ปีก่อน ภาพลักษณ์ของธุรกิจช่างแตกต่างกับตอนนี้มาก 

สมัยนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ​ ก็ไม่มีอะไรมา​ Support มากนัก หลาย ๆ​ ครั้งต้องอธิบายแบบประกันด้วยการวาดแบบบนกระดาษ​ A4 พกเอกสารนำเสนอเป็นตั้ง 

แต่สมัยนี้ ipad เครื่องเดียวสามารถทำได้ทุกอย่าง 

การพบลูกค้าสมัยนั้นก็ต้องโทรนัด เปิดกระบวนการขาย แต่สมัยนี้ส่งเอกสารทางไลน์ ลูกค้าตัดสินใจ ตัวแทนส่งเอกสารไปให้เซ็น ลูกค้าถ่ายรูปบัตรประชาชน กับ เซลฟี่รูปตัวเอง และเซ็นเอกสารกลับมา แล้วรอรับกรมธรรม์ที่บ้านได้เลย 

ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเข้ามาแทน คนเข้าถึงความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น ​ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจ 

แน่นอนว่าหลาย ๆ​ คนอาจถามว่า แล้วจะหาลูกค้าจากไหน? 

คำตอบสมัยก่อน กับสมัยนี้ คงไม่ต่างกัน คือ เริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน คนในครอบครัว คนรู้จัก เพื่อน และลูกค้าแนะนำ หรือถ้าใครรู้จักคนเยอะ​ ก็ยิ่งง่าย

เช่นเดียวกันกับตัวผม ด้วยความที่ตัวเราเองเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้เรารู้จักคนเยอะ และท่านผู้อ่านก็คงคิดว่า งานง่ายละสิ...แต่เปล่าเลยครับ!! อาชีพนี้แปลก!!

หลาย ๆ​ ครั้งเราไม่กล้าเปิดปากว่าเราทำอะไรอยู่ จึงทำให้พลาดอะไรไปหลาย ๆ​ อย่าง ซึ่งในส่วนของผมนั้น​ จำนวนลูกค้ากลุ่มแรก คือ​ กลุ่มเพื่อนที่เป็นนักกิจกรรมต่างมหาวิทยาลัยที่พวกเรารวมตัวกัน และได้สนิทติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

เราตั้งชื่อว่า​ 'กลุ่มหัวจุก'​ ครับ แต่ผมคงไม่ขอลงรายละเอียด​ เพราะว่าถ้าบอกชื่อไปท่านผู้อ่านคงรู้แน่ ๆ​ ว่าเป็นใครบ้าง เพราะหลาย ๆ​ ท่านตอนนี้ เป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคมครับ (^^)​

เพื่อนกลุ่มนี้ เราได้​ Support ซึ่งกันและกันมาตลอดครับ เอาเป็นว่าในตอนถัดไป ผมจะเล่าประสบการณ์ขายประกันให้กับเพื่อน หรือคนที่รู้จักให้อ่านกันครับ ว่ามีอะไรน่าตื่นเต้นบ้าง

หลาย ๆ​ ครั้งได้รับการตอบรับดี แต่หลายๆ​ ครั้งก็โดนปฏิเสธ 

พบกันตอนหน้าครับ กับเรื่องเล่าสนุก ๆ ของคนขายประกัน

ส่วนครั้งนี้ขออนุญาตมาแนะนำตัวก่อนครับ


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top