Wednesday, 21 May 2025
SPECIAL

กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกับตำรวจทางหลวง ร่วมกันสกัดจับกุมกลุ่มขบวนการลักลอบขนยาเสพติดกว่า 8 ล้านเม็ด คาด่านฯ ธัญบุรี

ตามนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.,พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย ผบก.สส.บช.น. และกองบังคับการตำรวจทางหลวง โดย พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล., พ.ต.อ.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ รอง ผบก.ทล. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกวดขันผู้กระทำความผิดอาชญากรรมทุกรูปแบบทุกพื้นที่

โดย กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.กฤศณัฎฐ์ ธนศุภณัฏฐ์ ผกก.สส. บก.สส. บช.น. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สส. บช.น. ทำการสืบสวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสำคัญพร้อมขยายผล กระทั่งทราบว่า มีกลุ่มลำเลียงยาเสพติดในพื้นที่ลพบุรี มีพฤติกรรมลักลอบลำเลียงยาเสพติดส่งขายให้กับลูกค้าในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ โดยใช้รถยนต์ประกอบด้วย

1.รถยนต์ฟอร์ด เรนเจอร์ สีเทา หมายเลขทะเบียน บว 6745 ลพบุรี

2.รถยนต์โตโยตต้า วีออส สีขาว หมายเลขทะเบียน 4กอ 3517 กทม.

3.รถยนต์ซูซุกิ เซียส สีเทา หมายเลขทะเบียน 6 กฮ 2781 กทม.

ในการลำเลียงยาเสพติดจากชายแดนภาคอิสาน พื้นที่จังหวัดเลย โดยใช้เส้นทางถนนหมายเลข 21 (พุแค-หล่มสัก) เป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติด ซึ่งชุดจับกุมได้ติดตามดูพฤติการณ์เรื่อยมา กระทั่งสืบทราบว่า นายธรรมธัชกับพวก  ไปรับยาเสพติดและนำมาพักไว้ในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี จึงได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมตลอดเส้นทาง พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงจัดชุดสืบสวนตลอดเส้นทาง  

โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส.ทล.1 กก.1 บก.ทล. เฝ้าติดตาม กระทั่งกลุ่มผู้ต้องหามาถึงบริเวณ  กม.26 มุ่งหน้าบางนา ถนนกาญจนาภิเษก หน้าด่านเก็บเงินธัญบุรี 1 จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ส.ทล.2 กก.8 บก.ทล. สกัดจับกุมไว้ได้ ได้ผู้ต้องหา 4 ราย คือ 1.นายธนกิจ ปลูกนิกร 2.นายธรรมธัช โสภา 3.นายวรกันต์ ในชัยภูมิ และ 4.นายสันติสุข นาควัน พร้อมของกลาง ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) จำนวนประมาณ 7,950,000 เม็ด หลังจากนั้นได้นำผู้ต้องหาและของกลางส่งพนักงานสอบสวน บช.ปส. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว ตำรวจทางหลวง จะดำเนินการอย่างเข้มงวดเพื่อกวดขัน  ผู้กระทำความผิดบนเส้นทางหลวงอย่างเคร่งครัด หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1193 ตำรวจทางหลวง

 

สถานที่ ๆ ขึ้นชื่อทั้งในเรื่องของความสวยงามของทิวทัศน์และรวมสัตว์แปลก ๆ ที่หาชมได้ยากไว้ที่นี้ สัมผัสบรรยากาศที่ไม่เคยพบเจอที่ไหนมาก่อนได้ที่ หมู่เกาะกาลาปากอส (Galapagos)

กาลาปากอสเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวที่ต้องจ่ายแพงกว่าปกติ ค่าที่ขึ้นชื่อระดับโลกเรื่องสัตว์แปลก ๆ รวมถึงความงดงามมหัศจรรย์ของภูมิทัศน์ ผนวกเข้ากับเรื่องราวของ ชาลส์ ดาร์วิน ผู้เคยร่วมโดยสารเรือหลวงอังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เขาได้ผ่านไปเยือนหมู่เกาะแห่งแปซิฟิกซึ่งห่างจากฝั่งราวพันกิโลเมตรเหล่านี้ แล้วเขียนหนังสือท้าทายความเชื่อของคริสตศาสนจักรว่าด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ นี่ยิ่งกระพือความอยากของใครต่อใครให้ไปเยือนกาลาปากอส

คนมีเงินเป็นถุงเป็นถังคงไม่กระไร แต่สำหรับผมผู้ซึ่งเป็นนักเดินทางทุนต่ำจำเป็นต้องคิดแล้วคิดอีกหลายตลบกว่าจะตัดสินใจจัดทริปนี้ให้กับตัวเอง เริ่มตั้งแต่ตั๋วเครื่องบิน ซึ่งคนต่างชาติต้องจ่ายแพงกว่าคนเอกวาดอร์ราวสองเท่า ไหนจะค่าเข้าเขตพิเศษ ค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ ค่าที่พักอาหารและจิปาถะต่าง ๆ ระหว่างที่อยู่บนเกาะ รวม ๆ แล้วเพียงสิบวันผมต้องควักเงินจ่ายไปเท่ากับค่าใช้จ่ายในการเดินทางปกติสองเดือน ถือว่าโหดมาก

ผมตั้งต้นที่เมืองวายากิล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศเอกวาดอร์ (หรือจะขึ้นเครื่องที่สนามบินเมืองหลวงกีโตก็ได้เช่นกัน) เครื่องบินเทคออฟจากรันเวย์ ใช้เวลาราวชั่วโมงก็ลดระดับความสูงลงเพื่อจะร่อนลงรันเวย์ของสนามบินเซย์มอร์บนเกาะบัลตราอันเป็นหน้าด่านแรก น้ำทะเลสีครามน้ำเงินปรากฎขึ้น เห็นผืนแผ่นดินสีน้ำตาลเห็นจากมุมสูงก็รู้ทันทีว่านั่นต้องเป็นหมู่เกาะกาลาปากอสแน่นอน ผู้โดยสารส่วนใหญ่ออกอาการตื่นเต้นกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเครื่องจอดสนิทแล้วผู้คนก็ออกมาสู่อาคารผู้โดยสาร เดินตาม ๆ กันไป เจ้าหน้าที่ประทับตราการเข้าสู่เกาะลงในพาสปอร์ตเสร็จก็ไปขึ้นรถบัสซึ่งอยู่ด้านนอกอาคาร นักท่องเที่ยวบางส่วนที่มากับทัวร์ก็มีไกด์คอยอำนวยความสะดวกให้ ส่วนคนที่มาเองก็ต้องช่วยเหลือตัวเองเพื่อจะไปยังเกาะซานตาครูซ รถบัสพามาถึงท่าเรือ เกาะบัลตราและซานตาครูซอยู่ใกล้กันมาก นั่งเรือเล็กไม่ถึงห้านาทีก็ข้ามมาอีกฝั่งแล้ว จากนั้นก็ต้องนั่งรถบัสอีกหนึ่งต่อเพื่อไปยังปวยร์โตอโยราอันเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของเกาะ 

เนื่องจากผมไม่ได้จองที่พักล่วงหน้า จึงต้องใช้เวลาเดินหาเกสต์เฮาส์ที่ราคาไม่โหดเกินไปนัก เสียเวลาราวสองชั่วโมงก็ได้ห้องเดี่ยวในราคา 15 เหรียญต่อวัน (ประเทศเอกวาดอร์ใช้เงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ) อาจจะถูกสุดในเมืองแล้ว ภารกิจต่อไปคือการหาร้านเช่าจักรยาน เมืองนี้เล็กเท่าปาย เดินเที่ยวก็ได้ แต่จะสะดวกกว่าหากอยากออกนอกเมืองไปยังจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ เสร็จจากการเช่าจักรยานก็มาจัดการเรื่องปากท้องบ้าง ร้านอาหารทั้งหลายเน้นขายนักท่องเที่ยว ซึ่งราคาแพงกว่า วิธีลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็คือการจับจ่ายในร้านชำหรือซูเปอร์มาร์เก็ตหรือกินอาหารที่ตลาดสดแทน

ตัวเมืองปวยร์โตอโยราไม่ได้ต่างจากเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ ในแง่ที่เต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร บริษัททัวร์ และอะไรต่อมิอะไรพรักพร้อมรองรับคนจับจ่ายซื้อหาในสิ่งที่ตนต้องการ แต่สิ่งที่แตกต่าง ก็คือสัตว์เชื่อง ๆ ทั้งหลายที่ไม่ค่อยกลัวมนุษย์ บริเวณตลาดปลามีแมวน้ำกระดึ๊บตามแม่ค้าต้อย ๆ ชายชาวประมงต่างทำการแล่ปลาบนเรือเล็กก็มีนกพิลิแกนมะรุมมะตุ้มอ้าปากกว้างคอยรับเศษอาหาร นกหน้าตาประหลาดก็บินเล่นแถวนั้น ตามโขดหินมีปูแดงขี้ตกใจมากมาย นกฟินช์ตัวเล็กเท่านกกระจอกก็เชื่องมากพอที่จะเข้าไปใกล้เพื่อทักทายและถ่ายรูปพวกเขา ในวันแดดดีเจ้าอิกัวน่าทะเลทั้งหลายต่างพากันขึ้นมาผึ่งแดด พวกมันชื่นชอบการดำน้ำและเป็นนักดำน้ำที่เก่งกาจ เมื่อขึ้นฝั่งมาอาบแดดก็พ่นน้ำออกทางจมูก หน้าตาพวกมันคล้ายกับก๊อตซิลล่ามาก พื้นที่บนหาดเล็กใกล้ท่าเรืออีกแห่งก็มีสิงโตทะเลพากันนอนขี้เกียจขึ้นอืดอย่างไม่แคร์สายตานักท่องเที่ยว เข้าใกล้มากอาจจะโดนขู่บ้าง แต่พวกมันก็ไม่น่าเข้าใกล้เท่าไหร่เพราะกลิ่นตัวแรงมาก เวลาบ่ายแก่ เด็ก ๆ ชาวเกาะพากันปั่นจักรยานมาท่าน้ำเพื่อกระโดดน้ำเล่น

ในระยะเดินทอดน่องสามารถไปเที่ยวสถานีวิจัยดาร์วิน เป็นสถานที่เรียนรู้ระบบนิเวศกาลาปากอส รวมถึงการพยายามสอดแทรกจิตสำนึกด้านการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่าทว่าเปราะบางเหล่านี้ เมื่อเข้าไปในศูนย์ จะมีฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ นักท่องเที่ยวเดินเป็นวงกลม นับว่าเป็นห้องเรียนที่ดีเยี่ยมทั้งสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก ๆ ด้วย นอกจากสิ่งที่จัดแสดงแล้ว ทางศูนย์ยังทำงานวิจัยหลายอย่างด้วย เช่นการขยายพันธุ์เต่าบกยักษ์ เป็นต้น

อีกด้านของปวยร์โตอโยรามีหาดตอร์ตูกาทรายขาวน้ำใส เหมาะสำหรับเดินเล่น อาบแดด ว่ายน้ำ และพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง ดูเหมือนอิกัวน่าทะเลจะมีปริมาณมากกว่านักท่องเที่ยวเสียอีก นกบู๊บบี้ตีนฟ้าน่าจะเป็นอีกไฮไลต์ พวกมันก็เชื่องมากเช่นกัน ท้ายหาดมีเวิ้งอ่าว นักท่องเที่ยวบางส่วนเช่าคายักพายเล่นกัน บ้างหลบใต้ต้นไม้นอนอ่านหนังสือ คนที่มากันเป็นครอบครัวก็จัดปิกนิคกัน สังเกตว่าไม่มีขยะเกลื่อน น่าจะเพราะทุกคนรู้ว่าจะต้องช่วยกันอนุรักษ์เพื่อให้ความงดงามคงอยู่นานเท่านาน

ยังมีอีกหาดทรายงามซึ่งอยู่ห่างจากย่านชุมชนค่อนข้างมาก คือการ์ราปาเตโร นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้วิธีเช่าแท็กซี่ให้ไปส่ง แต่ผมปั่นจักรยานไป ระหว่างทางผ่านบ้านเรือนเรือกสวน กาลาปากอสมีประชากรอยู่ราวสามหมื่นคน ประกอบอาชีพเกษตรและด้านการท่องเที่ยว เมื่อปั่นผ่านหมู่บ้านเบยาวิสตา รู้ว่ามีถ้ำลาวาจึงแวะชมเสียหน่อย ผมไม่ได้สนใจการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา จึงไปแค่ให้ได้เห็นและเป็นประสบการณ์เท่านั้น ออกจากถ้ำก็ปั่นต่อไปจนถึงหาดการ์ราปาเตโร ซึ่งพบว่าสงบเงียบมาก ทางเดินลงสู่หาดสร้างไว้เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกเส้นทาง ลมพักโบกโกรกเย็นเกือบหนาวในวันที่เมฆห่มคลุมท้องฟ้า บรรยากาศแบบนี้ไม่ได้ชวนให้ลงไปแหวกว่ายเล่นน้ำ แต่เหมาะสำหรับเดินทอดน่องเล่นตามชายหาด โดยมีเจ้านกนางนวลโฉบดิ่งลงสู่ทะเลเพื่อจับปลาเป็นอาหาร เป็นภาพเพลินตาเพลินใจดี ความพิเศษของหาดโดดเดี่ยวแห่งนี้ คือสามารถพักแรมได้ โดยจะต้องนำเต็นท์มากางนอนได้ในจุดที่บริการไว้ให้ เสียดายที่ผมไม่ได้นำเต็นท์มาด้วย เพราะก่อนมาที่นี่หาข้อมูลเรื่องแคมป์ปิ้งจากอินเตอร์เน็ตไม่ได้เลย

ไฮไลท์ตื่นตาตื่นใจอีกแห่งบนเกาะซานตาครูซคือศูนย์อนุรักษ์เต่าบกยักษ์เอลชาโต นี่ก็ต้องอาศัยแรงขาในการปั่นจักรยานไป เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองร่วมสิบกิโลเมตร ดีที่การจราจรบนเกาะไม่คับคั่ง จึงปั่นช้า ๆ อย่างเพลิดเพลินทั้งไปและกลับ นักท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนใส่รองเท้าบู๊ตเมื่อจะเข้าไปในศูนย์ และต้องเว้นระยะห่าง ไม่เข้าไปใกล้เต่ายักษ์ทั้งหลายมากจนเกินไป จากข้อมูลบอกว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนยังมีประชากรเต่าบกยักษ์นับแสน ปัจจุบันลดจำนวนลงไปมาก สาเหตุหนึ่งคือฝีมือการล่าของมนุษย์นั่นเอง 


เขียนโดย : คุณสว่าง ทองดี จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา) ชอบปั่นจักรยานท่องโลกและหลงไหลกาแฟ

‘พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ’ รอง ผบช.สตม.ตรวจเยี่ยม จุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรอง การเดินทางเข้า-ออก จังหวัดสมุทรปราการ

ตามนโยบาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ให้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

วันที่ 17 ส.ค. 64 เวลาประมาณ 16.30 น. พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ รอง ผบช.สตม. เดินทางมาตรวจเยี่ยมจุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรองการเดินทางเข้า - ออก ป้องกันการแพร่ระบาด โรคไวรัสโควิด-19 จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ถ.สุขุมวิท(ขาเข้า) ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

พบ พ.ต.อ.ปริญญา กลิ่นเกษร ผกก.ตม.จว.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง , เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สำโรงใต้ , เจ้าหน้าที่ทหาร และฝ่ายปกครอง ว.4 ร่วมบริเวณจุดตรวจ

ทั้งนี้ ได้แสดงความห่วงใยเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน และการใช้ชีวิต เนื่องจาก ห้วงเวลานี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 และได้กล่าวขอบคุณในความเสียสละ และอวยพรให้เจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงาน ปลอดภัยจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19

ทั้งนี้ ได้มอบสิ่งของบำรุงขวัญ อาทิ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และเครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าตำรวจ ในการปฏิบัติหน้าที่

ลำปาง - สมาคมแม่บ้านทบ. สาขา มทบ.32 มอบงบประมาณและสิ่งของ แก่ครอบครัวผู้ฝึกฯทหารใหม่

“แนวหลังห่วงใย ใส่ใจดูแล เผื่อแผ่แบ่งเบา เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน” ตามที่สมาคมแม่บ้านทหารบกได้ห่วงใยคู่สมรสที่ทุพพลภาพและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยได้โอนงบประมาณเป็นทุนยังชีพทุนละ 5,000 บาท ให้หน่วยดำเนินการมอบให้บุคคลดังกล่าว ทั้งได้ห่วงใยกำลังพลและครอบครัวของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ฝึกทหารใหม่ ด้วยการมอบเงินให้หน่วยไปจัดซื้อสิ่งของที่จำเป็นมอบให้ครอบครัวของผู้ฝึก ผู้ช่วยผู้ฝึกและครูนายสิบนั้น เมื่อ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. คุณลักขณา ชัยมงคล ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา มณฑลทหารบกที่ 32  และคณะ ได้เดินทางไปมอบงบประมาณเป็นทุนยังชีพให้คู่สมรสที่ทุพพลภาพ จำนวน 2 ราย และบุตรที่มีความต้องการพิเศษ จำนวน 2 ราย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วย ณ บ้านพัก จากนั้นได้เดินทางไปมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นช่วยเหลือครอบครัวของผู้ฝึก, ผู้ช่วยผู้ฝึกและครูนายสิบ โดยมอบให้ภริยาของครูนายสิบ จำนวน 2 ราย และมอบให้ผู้แทนกำลังพลที่จะนำสิ่งของที่เหลือไปมอบให้ครอบครัวของกำลังพลอีก 17 นาย ที่ยังไม่สามารถมาร่วมรับสิ่งของได้ เพื่อให้ได้ครบทุกนายทั้ง 19 นาย ตามลำดับต่อไป

ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระความเดือดร้อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในห้วงปัจจุบัน พลตรี อโณทัย  ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้กรุณามอบงบประมาณช่วยเหลือครอบครัวของกำลังพลที่ทำหน้าที่ฝึกทหารใหม่ทั้ง 19 นาย (มอบพร้อมสิ่งของ) สร้างความดีใจ อบอุ่นใจเกิดแก่ครอบครัวและเจ้าหน้าที่ฯซึ่งได้ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในการฝึกทหารใหม่ให้เต็มกำลังขีดความสามารถและให้สมบูรณ์จนกว่าภารกิจการฝึกทหารใหม่จะเสร็จสิ้น 


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

นครพนม - สภาสังคมสงเคราะห์ ร่วมกับ จ.นครพนม มอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัยโควิดนครพนม ถวายเป็นพระราชกุศล “น้ำพระทัยพระราชทานส่วนภูมิภาค”

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่บริเวณหอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นางฉวีวรรณ ธรรมชาติ ประธานชมรมแม่ดีเด่นแห่งชาติประจำจังหวัดนครพนม ตลอดจนคณะหัวหน้าส่วนราชการ เหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมส่งมอบเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 98 ชุดให้กับผู้นำชุมชนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ตกงาน ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ในจังหวัดนครพนม

เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ภายใต้กิจกรรมโครงการน้ำพระทัยพระราชทานส่วนภูมิภาค สภาสังคมสงเคราะห์ฯ 76 จังหวัด ประจำปี 2564 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ร่วมกับจังหวัดนครพนม จัดขึ้น โดยการสนับสนุนจากโครงการสลากการกุศล

โดยกิจกรรมในครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2541 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย ประธานสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ในขณะนั้นนำคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์ฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายดอกมะลิงานวันแม่แห่งชาติ จำนวน 2 ล้านบาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้สภาสังคมสงเคราะห์ฯ พร้อมทั้งได้มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งกองทุนอาหารกลางวันเลี้ยงผู้ตกยาก ผู้ประสบทุกข์ยากเดือดร้อน รวมทั้งครอบครัวในภาวะวิกฤต โดยสภาสังคมสงเคราะห์ได้น้อมเกล้าฯ รับพระราชเสาวนีย์มาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ จำนวนกว่า 15 ล้านบาท สนับสนุนโครงการและทรงพระกรุณาให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ เยี่ยมเยียนโครงการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ยังได้พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคให้โครงการตลอดมาเช่นกัน โดยปีนี้เป็นปีที่ 23 ที่มีการจัดกิจกรรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย ทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ทุกคนได้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม

ชลบุรี - ‘นายกปลื้ม’ เมืองพัทยา แจงโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา หลังจากมีผู้ไม่เห็นด้วย

นายกเมืองพัทยา แจงโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา ศึกษาต่อยอดโครงการเสริมทรายขยายชายหาด ด้วยงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล  พัฒนาเมืองพัทยา สู่ศูนย์กลาง EEC ย้ำอยากให้มองภาพรวม ยันต้นไม้เก่ายังอยู่ 75%

จากกรณีเมืองพัทยา ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยาระยะทาง 2.7 กม. โดยว่าจ้าง บริษัท นงนุชแลนด์สเคป แอนด์ การ์เด้นดีไซน์ จำกัด ด้วยงบประมาณกว่า 166 ล้านบาท โดยดำเนินการปรับพื้นที่เปิดหน้างาน ก่อนมีกระแสเรียกร้องให้หยุดและพิจารณาโครงการใหม่ เนื่องจากมองว่าเป็นการทำลายธรรมชาติ และอยากให้มองในส่วนของความจำเป็นในการนำงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น

วันที่ 17 ส.ค.64 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้เปิดห้องรับรองศาลาว่าการเมืองพัทยา เพื่อแถลงข่าวชี้แจงและสร้างความเข้าใจต่อโครงการพัฒนาดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยาระยะทาง 2.7 กม.ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือถึงหาดพัทยาใต้ เป็นโครงการที่มีการศึกษาต่อยอดมาจากโครงการเสริมทรายขยายพื้นที่ชายหาดเมืองพัทยา ตามที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้ร่วมกับ กรมเจ้าท่า สำรวจข้อมูลการพัฒนาไปตั้งแต่ปี 2562

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบอุดหนุนมาจากรัฐบาล ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC โดยผลักดันให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางของ EEC ที่มีระบบการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน ซึ่งได้ทำการศึกษาต่อเนื่องไปจนถึงชายหาดจอมเทียน ที่จะมีการเสริมทรายขยายชายหาดและปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยเช่นกัน โดยได้ทำการสำรวจต้นไม้ทุกต้นที่มีอยู่ว่าอยู่ในจุดไหน บริเวณใด และได้มีการศึกษาออกแบบปรับแต่ง เคลื่อนย้าย และปลูกใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามระยะเวลาที่ได้ศึกษาไว้

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่มีการรื้อถอนต้นหูกวางนั้น จะทราบกันดีในกลุ่มผู้ประกอบการชายหาดว่า ต้นหูกวางเป็นไม้เนื้ออ่อนที่ปลูกง่ายโตเร็ว ผู้ประกอบการจึงนำมาปลูกเพื่อให้ร่มเงา แต่ก็มีปัญหาในส่วนของต้นไม้ที่มีอายุมากขึ้น กิ่งไม้หักโค่นเวลาลมแรง ลูกและใบต้นหูกวางที่ผลัดลงมา รวมทั้งหนอนและวัชพืชเหล่านี้ ก็สร้างปัญหาในกลุ่มผู้ประกอบการเรื่อยมาเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องปรับแต่งในส่วนที่หักโค่นและปลูกเพิ่ม เพื่อให้เกิดความงดงาม รวมทั้งให้ร่มเงา และพื้นที่ยังสามารถใช้จัดกิจกรรมได้ ซึ่งอยากให้ประชาชนมองภาพรวมในการพัฒนา

สิ่งสำคัญคือ การศึกษาออกแบบจะเน้นเรื่องการปรับภาพลักษณ์และทัศนียภาพให้เข้ากับบรรยากาศของชายทะเล ไม่ใช่ปลูกแต่ต้นปาล์มตามที่มีบางสื่อได้นำเสนอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยการดำเนินการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยา จะรักษาต้นไม้เดิมไว้ไม่ต่ำกว่า 75% แต่มีการปรับปรุงให้มีความสวยงามและเหมาะสมในเรื่องของการใช้พื้นที่อย่างเกิดประโยชน์

นายกเมืองพัทยา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้มีการทำประชาพิจารณ์เรื่องดังกล่าวไปแล้ว ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถจัดการประชุมให้ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมได้ จึงจัดทำประชาพิจารณ์โดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายตามรัศมีของการดำเนินโครงการ รูปแบบเดียวกับโครงการอาคารจอดรถนาเกลือ  เป็นการสำรวจข้อมูลในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตรงกับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ

จากประเด็นในเรื่องของการช่วยเหลือในเรื่องของโควิด-19 นั้น ที่ผ่านมา เมืองพัทยาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนทางเลือก มาให้บริการประชาชนท้องถิ่นเมืองพัทยา การปฏิบัติงานเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในระบบ  Hospitel การช่วยเหลือแจกจ่ายเยียวยา สนับสนุนถุงยังชีพ ให้ประชาชนตามบ้านเรือน รวมทั้งผู้ป่วยกักตัวไปแล้วนับหมื่นหลังคาเรือน

“อยากให้แยกมองว่าเป็นคนละส่วนกัน ระหว่างการพัฒนาและการควบคุมโรค ซึ่งหากประชาชนมีข้อข้องใจก็พร้อมจะตอบทุกคำถามเพื่อความกระจ่างชัด ขอยืนยันว่าเมืองพัทยา จะไม่ใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องอื่นที่ไม่จำเป็น” นายกเมืองพัทยา ระบุ


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

สุรินทร์ - รองแม่ทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่สุรินทร์ ติดตามการปฎิบัติงาน ตามแผน กอ.รมน.ภาค 2

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 10.30 น. พลตรี สวราชย์ แสงผล รองแม่ทัพภาคที่ 2(3) รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 และคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อประชุมและติดตามการปฎิบัติงานตามแผน ณ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้กำชับในเรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 

โดยมี พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนย่อย 2 พันเอกกิติพงษ์ พุทธิมณี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ พันเอกชินวิช  เจริญพิบูลย์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 พันเอกอัครสิทธิ์ ปะกิระตา หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายและแผนฯ พันเอกหญิงพรพรรณ ทัศนศร ครูฝีก/วิทยากร(อพป.) และข้าราชการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ให้การต้อนรับ


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

ในยุคที่สมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้ส่งผลเสียรวมไปถึงอวัยวะร่างกาย “นิ้ว” ก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเล่นสมาร์ทโฟน ศิลปะจึงเป็นศาสตร์ที่เข้ามาช่วยในการรักษาอาการแก้ปวดนิ้วได้

มือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายและใช้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น จากการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานการล้างหน้า การแปรงฟัน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำเป็นประจำทุกวัน เป็นต้น ทุกคนใช้มือเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการประกอบอาชีพ ดังนั้นมือจึงควรได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เมื่อมือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการใช้งาน อาจส่งผลให้มือชาหรืออ่อนแรง เช่น อาการชาจากการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ส่งผลให้ความสามารถในการใช้งานของมือลดลง เช่น การหยิบจับสิ่งของ การฝึกทักษะของมือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูให้มือกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีเช่นเดิม

กิจกรรมฝึกทักษะมือ
โดยปกติแล้วนักกิจกรรมบำบัดมีบทบาทในการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูความสามารถมือ เมื่อพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมือ เช่น ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อติด มีปัญหาการใช้งานของมือหรือการหยิบจับวัตถุ นักกิจกรรมบำบัดใช้กิจกรรมที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาเป็นสื่อในการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูให้เหมาะสมกับปัญหา โดยเริ่มปรับกิจกรรมจากง่ายไปยาก เพื่อพัฒนาความสามารถอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังนี้

1.) การบริหารมือและนิ้วมือ
กำมือ-แบมือ-กางนิ้วมือ-หุบนิ้วมือ-นิ้วตูมเข้าหากัน-พับนิ้วมือ-จีบนิ้วมือ

2.) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังมือและนิ้วมือ
ออกแรงบีบวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกบอล ดินน้ำมัน แป้งโดว์ ตัวหนีบผ้า

3.) การฝึกหยิบจับวัตถุรูปแบบต่างๆ จากวัตถุขนาดใหญ่ไปจนถึงวัตถุขนาดเล็ก

นอกจากนี้สามารถผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา การทำอาหาร มาร่วมในการฝึกทักษะมือ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ทั้งนี้ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นการกระตุ้นให้รู้สึกอยากทำกิจกรรมมากขึ้น 

ศิลปะบำบัดกับการบริหารมือ

1.) กิจกรรมปั้นดินน้ำมัน หรือแป้งโดว์

เริ่มจากออกแรงนวดดินน้ำมันเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อมือ

ใช้นิ้วมือกดดินน้ำมันให้แบน

ใช้ปลายนิ้วบีบดินน้ำมันให้แบน

ปั้นดินน้ำมันเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

2.) กิจกรรมตัวหนีบผ้า

จับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้

ฝึกจับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและด้านข้างของนิ้วชี้

หนีบตัวหนีบผ้าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

3.) กิจกรรมตัวปั๊ม

เลือกตัวปั๊มที่ชอบและออกแรงกดตัวปั๊มลงบนแป้นหมึก

ออกแรงกดตัวปั๊มลงบนกระดาษ
ปั๊มเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

4.) กิจกรรมเสียบหมุดให้เป็นรูปภาพ

ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบหมุด

อาจใช้นิ้วกลางและนิ้วโป้งหรือนิ้วอื่น ๆ หยิบหมุด

เสียบหมุดเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

5.) กิจกรรมระบายสี

เลือกรูปภาพและสีที่ชอบ ระบายสีให้สวยงามตามต้องการ 

.

เขียนโดย : กบ.นิรมล ประทุมรัตน์
นักกิจกรรมบำบัด ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลธนบุรี


ข้อมูลอ้างอิง 
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา. (2531). ปัญหาของมือที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/998/Hand-Exercises

นครนายก - ด้วยรักและห่วงใย 'พ.ต.อ.สุรพล บุญมา' รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก ปันสุขเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

พันตำรวจเอกสุรพล บุญมา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนาก ได้ปันสุขมอบข้าวสาร 5 กิโลกรัม 1000 ถุงผ้ากันเปื้อน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่ท้ายตลาดสดแยกจ่าดมและในตลาดสดเทศบาลเมืองนครนายก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก พ.ต.อ.สุรพล บุญมา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนยก ด้วยรักและห่วงใยนำข้าวสารหอมมะลิคัดพิเศษ 5 กิโลกรัมจำนวน 1000 ถุงนำมาปันสุขเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชนตั้งแต่ปากทางท้ายตลาดเทศบาลเมืองนครนายก พร้อมเดินแจกข้าวสารหอมมะลิคัคพิเศษและผ้ากันเปื้อนให้กับพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดสดทั้งสองฝั่งข้างทาง โดยมีประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสิ่งของในตลาดสดมาเข้าแถวรับข้าวสารและผ้ากันเปื้อนเป็นจำนวนมาก จากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

เนื่องด้วย พ.ต.อ.สุรพล บุญมา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนยากลำบากของพี่น้องประชาชนชาวในจังหวัดนครนายก โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้ชรา และผู้ยากไร้ จึงมีแนวคิดที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน จึงได้ประสานผู้นำชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครนายก ได้สำรวจยอดผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้ยากไร้ และมอบหมายให้ผู้นำชุมชนแต่ละตำบลในจังหวัดนครนายก ได้นำ ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภคมามอบให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อน เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์จึงได้นำสิ่งขอมมามอบให้ประชาชน แทนด้วยรักและห่วงใย ดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

นราธิวาส - แม่ทัพภาคที่ 4 เยี่ยมชมการดำเนินงานโรงงานแปรรูปผลไม้ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด พร้อมผลักดัน รองรับผลผลิตทางการเกษตรแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

วันนี้ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ โรงงานแปรรูปผลไม้ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เดินทางเยี่ยมชมการดำเนินงานโรงงานแปรรูปผลไม้ ที่ถือเป็นศูนย์กลางการรวบรวม และแปรรูปผลไม้ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมหารือถึงการเพิ่มคุณภาพ ศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลอด นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการต่อยอดโครงการ  แนวโน้มการเติบโตในอนาคต ให้สามารถกระจายรายได้กับคนในชุมชนอย่างทั่วถึงครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากในปัจจุบันมียอดการสั่งซื้อกว่า 1,000  ตัน และในอนาคตคาดว่ายอดจะพุงสูงขึ้นเป็น 5,000 ตัน หากมีศักยภาพและกำลังการผลิตที่เพียงพอ จะสามารถพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้เติบโต และมีเสถียรภาพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน  โดยมี พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15/  ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส,  นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, ผู้แทนบริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด และส่วนที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

โดยแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ได้ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ล้นตลาด ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่มีการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบูรณาการประสานการทำงาน สร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับพี่น้องเกษตรกร ในขณะเดียวกันหากมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จำเป็นที่จะต้องมีโรงงานในลักษณะนี้ เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกร แปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มศักยภาพทางการผลิตให้สามารถส่งออก และกระจายสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ขอให้ทุกคนได้มุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนาโรงงาน ให้สามารถเป็นจุดแข็งรองรับ และช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย คือการให้ความรู้กับพี่น้องเกษตรกร การรักษาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรให้สามารถเป็นที่ยอมรับ และคงคุณภาพสินค้าไว้ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้เติบโตเป็นที่ยอมรับ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป"

ทั้งนี้ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด จัดตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตลาดกลางการเกษตร เพื่อส่งออกภาคใต้ชายแดน จังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่จำนวน 32 ไร่ นับเป็นองค์กรที่สนับสนุน และส่งเสริมราคาผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความได้เปรียบในเวทีการค้าโลก เกิดจากการต่อยอดธุรกิจจากรุ่นแม่เป็นผู้รวบรวมผลไม้ในพื้นที่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งตกทอดมาถึงปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาจากการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าในพื้นที่ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และสะตอ โดยใช้เทคโนโลยีแช่เยือกแข็ง ปัจจุบัน บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด ถือเป็นบริษัทผลิต และรวบรวม และจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร รวมไปถึงการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า มีการวางแผนกับหน่วยงานราชการ พูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงการรักษามาตรฐานคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับสร้างการเติบโตอีกด้วย

ตราด - “FROM THE SEA” หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ทัพเรือภาคที่ 1 ส่งกำลังใจทางทะเล ให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าบนเกาะช้าง

ระหว่าง 15-16 ส.ค.64 ขณะออกเรือลาดตระเวนตามแผน ร.ล.ตากใบ ได้ร่วมกับ ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ เกาะช้าง (ศรภ.ทร.เกาะช้าง) สนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด ลำเลียงขนส่งทางทะเล เตียงสนามกระดาษ จำนวน 30 เตียง เพื่อส่งไปยังศูนย์พักคอย (community isolation) เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จว.ตราด โดยการประสานงานของ ศรชล.จว.ตราด

และในโอกาสที่ ร.ล.ตากใบ จอดเทียบที่ท่าเทียบเรือสวนหลวง เกาะช้าง ทัพเรือภาคที่ 1 โดยหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน และ ศรชล.ภาค 1 โดย ศรชล.จว.ตราด และ ศคท.จว.ตราด ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตราด รวมทั้ง ชมรมศิษย์เก่าสวนกุหลาบจังหวัดจันทบุรี-ตราด บูรณาการร่วมกันจัดกิจกรรม “ครัวเรือหลวง ห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์”  แพคใจใส่กล่อง ส่งมอบกำลังใจทางทะเล โดยใช้ศักยภาพของครัวเรือหลวงตากใบ ปรุงอาหารกล่องเมนูยอดนิยม (กระเพราหมู+ไข่ดาว) จำนวน 140 ชุด โดยฝีมือเชฟประจำเรือ (สหโภชน์) ส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเกาะช้าง จำนวน 120 ชุด และเจ้าหน้าที่ด่านชุมชน เทศบาลตำบลเกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จว.ตราด จำนวน 20 ชุด เพื่อแบ่งเบาภาระ และเติมกำลังใจเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ให้ต่อสู้ฝ่าฟัน จนผ่านพ้นสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ป้อง COVID -19 เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากากป้องกันละอองฝอย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และน้ำดื่มจำนวนหนึ่ง มามอบให้อีกด้วย โดยมี น.อ.เกียรติกูล สุวรรณ ผู้บังคับหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน (ผบ.มชด.) น.อ.นฤพนธ์ วิไลธัญญา รอง ผอ.ศรชล.จว.ตราด และ นายสัคศิษฐ์ มุ่งการ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จว.ตราด เป็นผู้แทนส่งมอบ

การบูรณาการร่วมกันในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยใช้ขีดความสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อเสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ภายใต้แนวคิด From The Sea (การช่วยเหลือทางทะเล) ที่ พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) มอบให้หน่วยในการบังคับบัญชา ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ น.อ.เกียรติกูล สุวรรณ ผู้บังคับหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน (ผบ.มชด.) ได้สั่งการให้เรือในหมู่เรือลาดตระเวนชายแดนส่วนที่ 1 (มชด./1) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ แบ่งเบา และบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทุกโอกาส ที่มีการออกเรือลาดตระเวนและไปจอดตามเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ


ภาพ/ข่าว  มชด./1 และกองกิจการพลเรือนทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

ชลบุรี – ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดอาคารประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ สร้างความภาคภูมิใจในหน่วยรบพิเศษของกองเรือยุทธการ

วันที่ 16 ส.ค.64 พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ โดยมี พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และ พล.ร.ต.ศุภชัย ธนสารสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ ณ อาคารประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

อาคารประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ สร้างขึ้นเพื่อ รวบรวมประวัติความเป็นมาของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ตลอดระยะเวลา 66 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งหน่วย , วิวัฒนาการด้านกำลังพล , การฝึก , ยุทโธปกรณ์ , การปฏิบัติราชการที่สำคัญ , เผยแพร่วีรกรรม , เชิดชูเกียรติบุคคลที่มีส่วนร่วมและได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศและกองทัพเรือ อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางทหารที่เป็นแบบอย่างของความเสียสละ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เพื่อชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และกองทัพเรือ เป็นตัวอย่างให้แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษา ร่วมภาคภูมิใจต่อหน่วยรบพิเศษของกองเรือยุทธการสืบไป


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

กาฬสินธุ์ – ผุดธนาคารน้ำใต้ดิน เพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์เขาวงพ้นภัยแล้ง ตั้งเป้าได้ผลผลิตมากกว่า 500 ก.ก.ต่อไร่

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเขาวง ข้าวอินทรีย์ GI อันดับหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุน ส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวงและการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าได้ผลผลิตมากกว่า 500 ก.ก.ต่อไร่

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่แปลงนานางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.) พร้อมด้วยนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ทสจ. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ กิจกรรมหลักปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเพื่อการเกษตรและอาหารปลอดภัย กิจกรรมย่อยจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อบาดาลเสริมระบบแหล่งน้ำในไร่นา เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ข้าวเขาวง โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้อนรับ และรายงานความคืบหน้าผลดำเนินการ

นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุน ส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวงและการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ซึ่งตามข้อมูลสถิติในปี 2557 พบว่า จ.กาฬสินธุ์มีผลิตภัณฑ์ของจังหวัดค่าหัวอยู่ในระดับต่ำ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนแก้ไขปัญหาความยากจนให้ประสบผลสำเร็จ ด้วยการพัฒนาศักยภาพการผลิตการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด

นายอัครพงษ์กล่าวอีกว่า ข้าวเขาวง ซึ่งได้รับมาตรฐาน  GI เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ ประกอบกับทาง จ.กาฬสินธุ์ จัดโครงการกรีนมาร์เก็ต มุ่งเน้นผลผลิตจากภาคเกษตร อาหารปลอดภัย และเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จึงได้เลือกพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกข้าวเขาวงซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ เป็นจุดนำร่องของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดินฯ ดังกล่าว โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.เขาวง อ.นาคู และ อ.กุฉินารายณ์ เข้าร่วมโครงการ 60 ราย 

ด้านนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าโครงการดังกล่าว ได้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวเขาวง ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ของชลประทาน การทำเกษตรกรรมอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทั้งนี้ ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการ ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่เป้าหมาย สำรวจความต้องการของเกษตรกร จากนั้นทำความเข้าใจและลงนามความร่วมมือ  เลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ที่สามารถขุดบ่อกักเก็บน้ำขนาด 1 ไร่ เพื่อรองรับน้ำตามหลักการส่งน้ำจากฟ้าสู่ใต้ดิน และมีพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งการดำเนินการได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ เป็นการขุดและวางระบบน้ำให้ฟรี เกษตรกรไม่ต้องจ่ายเงินสมทบแต่อย่างใด

ขณะที่นางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ตนมีพื้นที่ทำนา 13 ไร่ โดยที่ผ่านมาปลูกข้าวเหนียวเขาวง บางปีที่ฝนทิ้งช่วง ประสบภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน ขณะที่ในปีที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล ได้ผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 400-500 ก.ก.ต่อไร่ อย่างไรก็ตาม จากการที่สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ เข้ามาส่งเสริมโครงการดังกล่าว ตนและเพื่อเกษตรกรมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ที่นำโครงการดี ๆ มาถึงเกษตรกร สำหรับตนมั่นใจว่าต่อไปนี้จะไม่ประสบภัยแล้ง เพราะจะมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวตลอดปี และได้ผลผลิตข้าวเขาวงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจะสามารถกระจายน้ำไปสู่ที่นาของเพื่อนเกษตรและปลูกพืชผสมผสานชนิดอื่นได้ตลอดปีอีกด้วย

สมุทรปราการ - “พระครูแจ้” หนุนเกษตรกรพิจิตร เหมาแตงโม 8,000 โล แจกประชาชนที่มาฉีดวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในวัดบางพลีใหญ่กลาง ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้มีรถกระบะบรรจุผลไม้มาเต็มคันรถ  และจากการสอบถามทราบว่ารถคันดังกล่าว  ได้มีการลำเรียงผลไม้มาเป็นจำนวนมากเดินทางมาจากทางจังหวัดพิจิตร  โดยการสนับสนุนจากท่าน​ พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ที่มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนจังหวัดพิจิตร จึงได้ให้การสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรชาวสวน โดยการสั่งผลไม้ประเภทแตงโม ของพี่น้องชาวสวนจังหวัดพิจิตร จำนวน 8 ตัน หรือ 8,000 กิโลกรัม เพื่อเป็นการช่วยเหลือและให้กำลังใจเกษตรกรชาวสวนเพื่อช่วยกันฟันฝ่าวิกฤต Covid-19

โดย ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง กล่าวว่า ผลไม้ทั้งหมดได้สั่งตรงมาจากสวนผลไม้ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนในจังหวัดพิจิตร จำนวน 8 ตัน หรือ 8,000 กิโลกรัม เพื่อเป็นการช่วยเหลือและอุ้มพี่น้องเกษตรกรชาวสวนเพื่อฟันฝ่าวิกฤต Covid-19

อีกทั้ง ในวันนี้ศูนย์ฉีดวัคซีนวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกให้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12-18 ปี 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม และผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกิน 80 กิโลกรัม โดยตั้งแต่ในช่วงเช้าภายในศูนย์ฉีดวัคซีนวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้มีผู้ปกครองนำบุตรหลานเดินทางมารอรับการฉีดวัคซีนกันอย่างต่อเนื่อง ตามที่โรงพยาบาลได้มีการแจ้งผ่านทาง SMS และได้ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีการจัดระเบียบและเว้นระยะห่างแบบ New normal

โดยทุกคนที่เดินทางมารับการฉีดวัคซีนยังศูนย์ฉีดวัคซีนวัดบางพลีใหญ่กลาง จะได้รับมอบแตงโมจากท่าน พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง มอบแตงโมให้คนละ 2 ลูก นำกลับไปทานที่บ้านโดยสั่งตรงมาจากเกษตรกรชาวสวนในจังหวัดพิจิตร จำนวน 8,000 กิโลกรัม 

อย่างไรก็ตาม ผลไม้ทั้งหมดที่ช่วยเกษตรกรอุดหนุนมานั้น จะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ โรงพยาบาลสนาม รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการตำรวจและพี่น้องประชาชนในชุมชน อีกทั้ง ยังเป็นการแสดงออกถึงความรักและความห่วงใยที่มีต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนและจะนำผลผลิตทั้งหมดแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่เดินทางมารับการฉีดวัคซีนในวันนี้แต่จะทำการแจกทุก ๆ วัน จนกว่าผลไม้ที่สั่งมานั้นจะหมดเพื่อแทนความห่วงใยที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังคงปฎิบัติหน้าที่อย่างเหน็ดเหนื่อย รวมถึงประชาชนที่เดือดร้อน ประชาชนที่ขาดรายได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

แม่ฮ่องสอน - เกษตรกรบ้านหนองผักหนาม ร้องศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียง สร้างพนังกั้นริมตลิ่งน้ำยวมเปลี่ยนทางส่งผลกระทบที่ทำกิน เร่งให้หน่วยงานรับผิดชอบแก้ไข ได้รับความเดือดร้อนนับสิบราย

บริเวณสะพานบ้านไร่ - บ้านคะปวง มีกลุ่มเกษตรกรจากบ้านหนองผักหนาม และพี่น้องเกษตรกรที่อาศัยทำกินริมฝั่งลำน้ำยวมบ้านนาคาว  บ้านทุ่งพร้าว บ้านไร่ ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 50 คน มาร่วมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขผลกระทบจากการก่อสร้างพนังกั้นริมตลิ่งน้ำแม่ยวม บริเวณฝั่งบ้านคะปวง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางกัดเซาะพื้นที่ทำกินของเกษตรกรบ้านหนองผักหนามกว่า 10 ราย โดยมี นายวีกิจ เจ้าดูรี ปลัดอำเภอแม่สะเรียง เดินทางมารับเรื่องร้องเรียน จากกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อน สำหรับการก่อสร้างพนังกั้นริมตลิ่งในเขต ต.แม่ยวม ระหว่าง บ้านคะปวง – บ้านทุ่งแพม เป็นของหน่วยงานกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ โอภาสงวน เกษตรกรบ้านหนองผักหนาม เป็นตัวแทนในการยืนหนังสือร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียง ถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า กรณีการขุดลอกลำน้ำยวมเพื่อจัดทำพนังกั้นตลิ่งริมน้ำ ส่งผลทำให้เกิดการเบี่ยงทางน้ำหรือน้ำเปลี่ยนทางเข้าพื้นที่ทำกินที่นา ที่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ของชาวบ้านนับสิบราย ประกอบกับเข้าสู่ฤดูฝนหากเกิดปัญหาน้ำไหลหลากก็จะทวีความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางราษฏรบ้านหนองผักหนามที่มีที่ทำกินติดริมน้ำบริเวณฝั่งตรงข้าม ไม่รู้เรื่องการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบทำการประชาคมกับราษฏรฝั่งเขตตำบลแม่ยวมเท่านั้น ไม่ได้มีการทำประชาคมหรือประชามติรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงหรือผู้เสียหายจากโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขการเปลี่ยนทางน้ำ หรือ ดำเนินการทำพนังกั้นลำน้ำทั้งสองฝั่ง

ด้าน นายวีกิจ เจ้าดูรี ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่สะเรียง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากทางศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียงได้รับหนังสือร้องเรียน ก็จะดำเนินการทำหนังสือด่วนที่สุดถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะมีการนัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกรอบเพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top