คณะพยาบาล มช. และบริษัท ยู เวลเนส เซนเตอร์ จำกัด ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพ
วันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2566 เวลา 11.00 - 12.00 น. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท ยู เวลเนส เซนเตอร์ จำกัด โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ นายเริงณรงค์ เจริญอ้น กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยู เวลเนส เชนเตอร์ จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านการบริหารนวัตกรรม วิเทศสัมพันธ์และพันธกิจสากลการสื่อสารองค์กร กล่าวแสดงความยินดี ในความร่วมมือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ อดีตคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และอดีตนายกสภาการพยาบาล รองศาสตราจารย์วิลาวัณย์ เสนารัตน์ อดีตคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ คณะกรรมการ Wellness & Spa Center คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน ณ ห้องประชุมสมจิตต์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท ยู เวลเนส เซนเตอร์ จำกัด ในวันนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ คณะพยาบาลศาสตร์ ต้องการจะพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะด้านสปาเพื่อสุขภาพ ที่คณะฯ มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ยั่งยืน ประกอบกับ คณะฯ ได้มี "ศูนย์พัฒนาศักยภาพการบริการสปาเพื่อสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ที่ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดเชียงใหม่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ภายใต้ศูนย์ดังกล่าว คณะฯ ได้มีการดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดหลักสูตรผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ (Spa Manager) หลักสูตรการนวดล้านนาเอ็กโซติก หลักสูตรการบริหารจัดการสุขอนามัยที่ดีในสถานประกอบการน้ำพุร้อนและน้ำแร่ และหลักสูตรภูมิปัญญาไทยกับการให้บริการสปาเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ไปแล้ว จำนวนประมาณกว่า 2,000 คน โดยผู้ผ่านการอบรมได้นำความรู้ประสบการณ์ ไปพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในการให้บริการแก่ผู้รับบริการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
โดยคงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ ของไทย โครงการดังกล่าวยังได้เกิดประโยชน์ และสร้างคุณค่าต่อสังคม ชุมชน/องค์กร ด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการพัฒนาการบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ด้านการสร้างชื่อเสี่ยงและการยอมรับในการบริการที่คงเอกลักษณ์เฉพาะตนของสปาไทย และด้านการสร้างรายได้และการมีอาชีพของบุคคลในชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงด้านฐานะและเศรษฐกิจของคนในชุมชนและสังคม และเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นการสร้างอัตลักษณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสปาและสมุนไพรไทยอีกด้วย
