Sunday, 6 July 2025
NEWS FEED

จุฬาฯ สานพลัง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สธ. ผลิตหลักสูตรระยะสั้นด้านสุขภาพและการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูงและผู้ประกอบการด้านสุขภาพ ผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยสู่นานาชาติ

วันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์ สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ทุกระดับ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับกระแสโลก ตลอดจนร่วมกันจัดทำโครงการจัดการความรู้ การพัฒนางานวิจัย รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ และ/หรือ นวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อไปในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้


การลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรในครั้งนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่สอดคล้องกันที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาการความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในระดับโลกถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยด้วยอุตสาหกรรมการแพทย์ จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรในด้านการธุรกิจและบริการด้านสุขภาพรองรับการเติบโต โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้ที่ครอบคุลมทุกช่วงวัย มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) จึงเป็นที่มาของผนึกกำลังระหว่างองค์กร เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นภายใต้ของตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้


ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งหวังที่จะนำความรู้วิชาการทางด้านสุขภาพและการแพทย์ใหม่ ๆ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมาถ่ายทอดสู่ผู้นำของประเทศที่มีสมรรถนะในการสร้างสรรค์องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย การที่จุฬาฯ ได้ผนึกกำลังร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงของประเทศต่อไป


นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีพันธกิจที่มุ่งพัฒนากำลังคนคุณภาพในระบบเศรษฐกิจสุขภาพ หลักสำคัญคือการผลักดันและส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศได้เพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ในรูปแบบหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต จึงเกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะมีความร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตร 
การจัดการความรู้ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากร เพื่อตอกย้ำเจตนารมย์ของความร่วมมือดังกล่าว จึงได้เปิดตัวแนะนำหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และธุรกิจสุขภาพ หลักสูตรแรกของประเทศไทย หลักสูตร “เวฬา” หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” ซึ่งเป็นหลักสูตรภายใต้ความร่วมมือระหว่างระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยรวมองค์ความรู้ล้ำสมัย เช่น การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Reverse Aging) สุขภาพเพศกับการมีอายุยืน (Sexual Health & Longevity) เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การนอนหลับ และสุขภาพจิต (Sleep and Mental Health) เป็นต้น

ขอนแก่น-'ธปท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ' เตือนภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของอีสาน

วันที่ 3 พ.ค. 2566 ที่ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ริมบึงแก่นนคร เขตเทศบาลนครขอนแก่น ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้แถลงข่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 1 ปี 2566 ยังไม่ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศ และทรงตัวจากไตรมาสก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ทรงตัว จากรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ยังเปราะบาง กอปรกับค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และการสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่เคยเป็นแรงพยุงสำคัญ ด้านการลงทุนหดตัวต่อเนื่องตามผลของเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลงสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้างจากการเบิกจ่ายภาคการคลังที่ขยายตัว
   

คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 ยังคงทรงตัว ตามภาคเกษตรที่ผลผลิตลดลงจากผลกระทบของน้ำท่วมในปีก่อนและภัยแล้งในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรปรับลดลง กอปรกับการผลิตเพื่อส่งออกที่ยังไม่ได้รับผลดีเมื่อเทียบกับการส่งออกของประเทศ
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 จากปัจจัยพิเศษที่มีวันหยุดยาว วันหยุดพิเศษ และการเลือกตั้งในช่วงกลางปี แต่ครึ่งหลังของปี 2566 ยังเผชิญแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังอยู่ระดับสูงอย่างไรก็ดี ภาคการคลังที่ขยายตัวต่อเนื่องยังเป็นแรงสนับสนุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

'อุ๋ย บุดด้า เบลส' ปลื้ม!! เจอชาวต่างชาติทักทายเป็นภาษาไทย บอกชอบเมืองไทยมาก แต่ที่กลับมาบ้านเกิด ก็เพื่อหาเงินไปใช้ที่เมืองไทย

(3 พ.ค.66) 'อุ๋ย บุดด้า เบลส' (Buddha Bless) หรือ 'นที เอกวิจิตร' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

นั่งรถไฟจากเวลส์กลับมา London พี่ฝรั่งคนนี้จ้องหน้าผมอยู่หลายรอบ พอถึงเบอมิงแฮม เค้ากำลังจะลง ก็พูดกับผมขึ้นมาว่า...สวัสดีครับ คนไทยใช่มั้ยครับ...คงนั่งฟังผมคุยภาษาไทยกับภรรยามานานแล้ว🤣🤣🤣 

พี่เค้าพูดไทยเก่งมาก เลยถามว่าเคยอยู่ไทยมาก่อนเหรอครับ...เค้าบอกว่า ไปๆ มาๆ 16 ปีแล้วครับ อยู่อุบลฯ มีภรรยาคนไทย ใช้ชีวิตแบบทำงานที่อังกฤษปีละ 5 เดือน แล้วเอาเงินกลับไปใช้ที่ไทย 7 เดือน 

‘ทนายตั้ม’ เปิดอกเคลียร์ใจ ปมชีวิตหรูหรา ยัน!! บินฝรั่งเศสไปทำงาน-ไม่เอี่ยวเว็บพนัน

(3 พ.ค. 66) นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ทนายความชื่อดัง เปิดแถลงข่าวชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่ถูกกล่าวหา ที่สำนักงาน Sittra Law Firm โดย นายษิทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข้อสงสัยการใช้ชีวิตที่ดูหรูหราของตนในขณะที่งบการเงินของสำนักงานดูเหมือนจะขาดทุนหรือมีกำไรไม่มากนัก ซึ่งตนยืนยันยังชี้แจงเหมือนครั้งก่อน ๆ ว่าตนเปิดบริษัท Sittra Law Firm ในปี 2565 แต่ก่อนหน้านั้น ตนเคยเปิดบริษัทชื่อ Wisdom Law Firm และทำเหมือนทนายความทั่วไปคนหนึ่ง รายได้เข้าบริษัทบ้าง เข้าตนเองบ้าง แต่รับคดีไม่มีค่าใช้จ่ายก็เยอะ

กระทั่งตามทำคดีลุงพล จึงได้มาเปิดบริษัท Sittra Law Firm โดยหนังสือของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุชัดว่าบริษัท Sittra Law Firm เดิมชื่อ Wisdom Law Firm กระทั่งเปลี่ยนชื่อในวันที่ 25 ม.ค. 2565 จากนั้นจึงเริ่มทำธุรกิจจริง ๆ ในเดือน เม.ย. 2565 ดังนั้นอย่าไปดูงบการเงินปีเก่า ๆ เพราะตอนนั้นไม่ค่อยมีรายได้ โดยสามารถไปขุดภาพเก่า ๆ จากอินสตาแกรมของตนได้ ตนเพิ่งจะมามีรายได้มากในปี 2565 นี่เอง

“งบการเงินของ Sittra Law Firm ปี 2565 ที่ผ่านมา ผมมีรายได้ทั้งหมด 22 ล้าน เป็นรายได้ของบริษัท แต่ตอนนี้งบเขายังทำไม่เสร็จ ผมก็เลยยังไม่รู้ว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไร แต่ผมเสียภาษีทุกเดือนเยอะอยู่แล้ว เพราะมีทั้งภาษี VAT ภาษีอะไร 2-3 ตัวที่ผมจะต้องโอนจ่ายอยู่ทุกเดือน แล้วของ Sittra Law Firm เรามีผู้ตรวจบัญชีแล้วก็ส่งสรรพากร อันนี้เราก็ยินดีให้ตรวจสอบได้” นายษิทรา กล่าว

นายษิทรา กล่าวต่อไปว่า ตนทำธุรกิจด้านกฎหมาย เป็นที่ปรึกษาให้หลายบริษัท รวมถึงรับว่าความ ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา ตนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปประมาณ 1 ล้านบาท ยังไม่รวมกับทางบริษัท Sittra Law Firm ดังนั้นรายได้ทุกบาททุกสตางค์ที่เข้ามาตนยื่นภาษีถูกต้อง นี่จึงเป็นเหตุที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไม่รับคดีของตนแต่ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรตรวจสอบตามกระบวนการ ใครจะไปร้องเรียนอะไรตนไม่กังวล เพียงแต่ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ออกมาตอบโต้เพราะรอบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง 

ส่วนประเด็นการทำคดีลุงพลในเวลานั้น ยอมรับว่าเคยเจอกระทั่งรอ 6 เดือนกว่าเงินจะเข้า เพราะเมื่อไปทำคดีลุงพล ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นจึงไม่มีใครจ้างตน เวลานั้นจึงใช้เงินเก่าไปก่อนในช่วงที่ไม่มีงาน ส่วนการเปิดมูลนิธิทนายประชาชน ก่อนหน้านี้ที่มีบุคคลอ้างว่ามีการโอนเงินให้ตนหลักหมื่นถึงหลักล้าน บอกได้เลยว่าไม่เป็นความจริง เรื่องนี้ค้นหาข่าวเก่า ๆ ได้ ตนก็เคยตอบไปแล้วว่าแฟนคลับลุงพลชอบสร้างเรื่อง 

โดยสามารถตรวจสอบจากเอกสารเส้นทางเงินเข้า-ออกบัญชี หรือสเตทเม้นของมูลนิธิ ช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2564 ที่ตนรับทำคดีลุงพลได้ ยอดโอนเข้ามามีเพียงหลักสิบ หลักร้อย อย่างมากก็หลักพันบาท และล่าสุดที่เพิ่งปรับสมุดบัญชีมา เพราะสเตทเม้นยังไม่ออก พบมูลนิธิมีเงินเหลือประมาณ 2 แสนบาท ส่วนประเด็นคำถามว่าเหตุใดตนต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสบ่อยครั้ง เรื่องนี้ด้านหนึ่งคือการไปเที่ยว แต่อีกด้านก็ไปทำงานด้วย เพราะตนก็มีลูกความเป็นเศรษฐีชาวไทยที่ไปอยู่กับสามีที่ฝรั่งเศส 

จากนั้น นายษิทรา ได้เชิญลูกความคนดังกล่าวมาร่วมแถลงข่าวด้วย โดยขอไม่เปิดเผยชื่อ-นามสกุลจริง เพราะต้องการความเป็นส่วนตัว โดยขอเรียกว่า 'พี่อ้อย' ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้อยากมาออกสื่อ แม้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะเคยสมทบทุน 20 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อวัคซีน แต่ที่ผ่านมามีการนำคลิปวิดีโอไปเผยแพร่แล้วทำให้ได้รับความเสียหาย ส่วนอีกคนที่มาด้วยกันคือ 'พี่น้อย' เป็นเลขาของพี่อ้อย ซึ่งเหตุที่บินกลับมาเมืองไทย เพราะวันที่ 5 พ.ค. 2566 ต้องไปทำพิธีส่งมอบอาคารเรียนที่ ร.ร.วัดขนงพระเหนือ ที่บริจาคเงิน 84 ล้านบาทเพื่อก่อสร้าง

โดย อ้อย เล่าว่า คลิปที่มีตำรวจยกกระเป๋า วันนั้นนายษิทราไปส่งตนที่สนามบิน แล้วมีตำรวจ 2 นาย เห็นตนยกกระเป๋าอยู่ และเห็นนายษิทรา ด้วยความที่รู้จักกับนายษิทราจึงเข้ามาทักทายสอบถามว่าจะไปไหน นายษิทราก็ตอบไปว่ามาส่งตนไปต่างประเทศ ตำรวจ 2 นายนั้นก็เข้ามาช่วยยกกระเป๋า แต่ตนก็ไม่ทราบว่าทั้ง 2 นายเป็นใคร ส่วนตอนไปเช็กอินแล้วมีพนักงานยกมือไหว้ อันนี้เป็น Service Mind ของพนักงานอยู่แล้ว ก็ต้องไปถามสายการบิน

แม่ทัพภาคที่ 4 มอบรางวัลการประกวดการแต่งกายชุดท้องถิ่นมลายู และการประกวดซุ้มประตู “ปีตูฆีรบาน”(PINTU GERBANG) ของชาวอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

ที่ ศาลาประชาคมอำเภอรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานในพิธี และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะประกวดซุ้มประตู 'ปีตูฆีรบาน' (PINTU GERBANG) และการประกวดการแต่งกายชุดมลายูประจำถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้วงเดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1444 จัดโดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 ร่วมกับ อำเภอรือเสาะ ร่วมจัดกิจกรรมประกวดซุ้มประตู 'ปีตูฆีรบาน' (PINTU GERBANG) และการประกวดการแต่งกายชุดมลายูประจำถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้วงเดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1444 ในพื้นที่ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 1 / 2566 ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 100,000 บาท เพื่อเป็นการสนับสนุนการแสดงออกถึงความเป็นอัตลักษณ์และการรักษาอัตลักษณ์ ของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการจัดให้มีการประกวด เพื่อสื่อให้ถึงความสวยงามของการแต่งกาย

รวมถึงความสวยงามของสิ่งปลูกสร้างที่ผสมผสานศิลปะวัฒนธรรมที่มีความสำคัญเชิงอัตลักษณ์ของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น และถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ว่าในช่วงเดือนรอมฎอน เยาวชนและคนหนุ่มสาวในแต่ละหมู่บ้านจะร่วมแรง ร่วมใจ และรวบรวมกำลังทรัพย์ สามัคคีช่วยกันสร้างซุ้มประตู “ปีตูฆีรบาน” ขึ้นมาในพื้นที่หมู่บ้านตนเอง สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นอัตลักษณ์มลายู และยังเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมสู่ชนรุ่นหลังให้ร่วมกันสืบทอดต่อไปอีกด้วย ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐร่วมทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยมี นายปรีชา  นวลน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, พลตรี เฉลิมพร  ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส, นายณัฏฐ์กร  บุญโรภาคย์ นายอำเภอรือเสาะ, พันเอก สิทธิชัย  บำรุงเขต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 พร้อมด้วย ส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนที่ร่วมกันแต่งกายด้วยชุดมลายูเข้าร่วมในกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

สำหรับประชาชนผู้ได้รับรางวัลในกิจกรรมประกวดซุ้มประตู “ปีตูฆีรบาน” (PINTU GERBANG) มีชุมชนเข้าร่วมประกวดจำนวน 9 ตำบล จำนวน 71 ซุ้ม ชิงเงินรางวัลรวม 100,000 บาท สำหรับรางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ มัสยิดกาจอปอรี บ้านบริจ๊ะ หมู่ที่ 7 ตำบลลาโละ รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 ได้แก่ มัสยิดฮีดายาตุลมุสลีมีน บ้านบาโงกือมา หมู่ที่ 1 ตำบลสาวอ รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 ได้แก่ มัสยิดดารุลนาอีม บ้านเจาะกือเเยง หมู่ที่ 9 ตำบลสามัคคี และมอบรางวัลชมเชยอีก จำนวน 9 รางวัล  และการประกวดการแต่งกายชุดมลายูประจำถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชิงเงินรางวัลรวม 52,000 บาท ผู้ชนะการประกวดรางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล จำนวน 5,000 บาท 2 รางวัล, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้รับเงินรางวัลจำนวน 4,000 บาท 2 รางวัล, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท 2 รางวัล และรางวัลชมเชย ได้รับเงินรางวัล จำนวน 1,000 บาท 28 รางวัล ซึ่งรางวัลทั้งหมดมอบโดย แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมรับใบประกาศนียบัตร และถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

คณะเยาวชนสมาคมศิลปะฯ เข้าคารวะอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  ให้การต้อนรับและกล่าวให้โอวาทแก่คณะเยาวชน ในโอกาสที่ นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร นายกสมาคมศิลปะเพื่อเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  ได้นำคณะเยาวชน ทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบันที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จากการประกวดในรายการแข่งขันทางศิลปะการแสดง อาทิ ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย ระดับชาติ จำนวน ๕๐ คน พร้อมนำรางวัลที่ได้รับเข้าพบ รวมถึงเยาวชนที่ได้รับเกียรติบัตรจากการแสดงในโอกาสต่าง ๆ ให้กับทางราชการ เข้าคารวะ แสดงความกตัญญูพร้อมรับโอวาทจากอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ณ ห้องประชุม ชั้น ๔ สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์

สวธ.จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566 'รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม' ปลุกเยาวชนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้ศิลปะการแสดง 4 ภูมิภาคของประเทศ

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานแถลงข่าว การจัดประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566 'รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม' ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคเหนือ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร ผู้แทนสมาคมศิลปินพื้นบ้าน เข้าร่วมงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการตัดสินการประกวด 4 ภูมิภาค เข้าร่วมการเสวนา พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาทักษะและเทคนิคการแสดงเพื่อสร้างสรรค์และออกแบบชุดการแสดงเพื่อการประกวด ณ โถงชั้น 1 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

นายอิทธิพล คุณปลื้ม ประธานกล่าวว่า ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ ซึ่งแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาคจะมีศิลปะการแสดงที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในปัจจุบันดนตรีและการแสดงพื้นบ้านได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษาและต่อยอด อาจเสี่ยงต่อการสูญหาย กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุน อนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิตและความเป็นไทย  ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของดนตรีและการแสดงพื้นบ้านซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของคนไทย
 
นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริม อนุรักษ์ ผลักดันให้ ดนตรี และการแสดงพื้นบ้านทั้ง 4 ภาค ยังคงอยู่กับประเทศไทย ผ่านการสานต่ออย่างสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน มาตลอด 15 ปี ผ่านการจัดกิจกรรมการประกวดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พุทธศักราช 2549 จนถึงปัจจุบัน สำหรับการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านในปีนี้ ยังคงจัดภายใต้แนวคิด “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 เพื่อเปิดโอกาสให้คณะนักแสดงได้มีโอกาสในการสร้างสรรค์ชุดการแสดงที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม วรรณคดี วรรณกรรมพื้นบ้าน ประเพณี ที่สื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค ซึ่งได้มีการเปิดรับสมัครเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 ทั้งนี้ 
มีทีมที่สมัครเข้าร่วมประกวดร่วม 40 ทีม

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านมาแล้ว 15 ครั้ง เริ่มจาก พ.ศ. 2549 และตั้งแต่ พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็น “วิศิษฏศิลปิน” และเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สร้างความสนใจให้เกิดกระแสอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย เปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน สร้างมิติใหม่ให้วัฒนธรรมมีความร่วมสมัย ยกระดับขีดความสามารถของดนตรี พัฒนาเทคนิคทางการแสดง ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดของแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง
    
นายโกวิท กล่าวต่อว่า การจัดประกวดในปี 2566 นี้ มีความพิเศษตรงที่ไม่จำกัดอายุของผู้เข้าประกวด เพื่อมุ่งส่งเสริม รักษา ต่อยอด และเปิดพื้นที่ให้ศิลปินพื้นบ้านในแขนงต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีโอกาสร่วมถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดง และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ไปสู่สายตาประชาชน โดยมีกำหนดจัดการประกวดใน 4 ประเภท ดังนี้ 1) การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคกลาง ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2) การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด 3) การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา และ 
4) การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
       
ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัลรวม (๔ ภาค) 1,000,000 บาท ประกอบด้วย -รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ เงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร -รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เงินรางวัล 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร -รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และ -รางวัลชมเชย ภาคละ 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัล ๆ ละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร  โดยสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมการประกวด และข้อมูลทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th หรือ เฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ line@วัฒนธรรม 

ผบช.ภ.2 มอบทุนการศึกษาผ้าป่าสามัคคี บุตรข้าราชการตำรวจ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ประจำปี 2566

วันที่ 3 พ.ค.66 ที่ห้องประชุมขันตีอุตสาหะ ศูนย์ฝึกอบรมด้านการป้องกันอาชญากรรม กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 จ.ชลบุรี พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.ภ.2 เป็นประธานในพิธีมอบทุนการศึกษาโครงการผ้าป่าสามัคคีทุนการศึกษาบุตร-ธิดาข้าราชการตำรวจ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ประจำปี 2566 

โดยมี พล.ต.ต.สุรจิต ชิงนวรรณ์ รอง ผบช.ภ.2 พล.ต.ต.ปรัชญา ประสานสุข รอง ผบช.ภ.2 พล.ต.ต.อิทธิพร โพธิ์ทอง รอง ผบช.ภ.2 พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2 พ.ต.อ.นิทัศน์ แหวนประดับ ผกก.ปพ.บก.สส.ภ.2 พ.ต.ต.สิรภพ เงินดี สว.ฝอ.บก.สส.ภ.2 ร่วมให้การต้อนรับ 

ข้าราชการตำรวจในสังกัด กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 นำบุตร-ธิดาเข้าร่วมรับทุนการศึกษา จำนวน 141 ทุน เป็นทุนเรียนดี จำนวน 47 ทุน และทุนเรียนในระดับปกติ จำนวน 94 ทุน ผู้ที่มีสิทธิ์รับทุนการศึกษาในครั้งนี้ ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุบาล จนถึง ระดับปริญญาตรี เท่านั้น  โดยในวันนี้ได้มีบุตรร่วมรับทุนจำนวน 70 คน

เนื่องด้วย พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2 ได้มีความห่วงใย ในความยากลำบากของข้าราชการตำรวจ ในสังกัดในช่วงเปิดเทอม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ส่งเสริมการศึกษาและผู้มีผลการเรียนดี เพิ่มโอกาสทางการศึกษา และสร้างความสัมพันธ์ความสามัคคีในหมู่คณะและในครอบครัว

สวนนงนุชพัทยา เป็นจุดหมายกลุ่มคาราวาน Porsche Club Vietnam Asean Caravan Tour 2023 มุ่งหน้าเยี่ยมชม 1 ใน 10 สวนที่สวยที่สุดในโลก

วันนี้ เวลา 13.30 น. นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา ให้การตอนรับกลุ่มคาราวาน  Porsche Club Vietnam มุ่งหน้าจากประเทศเวียดนาม สู่ประเทศไทย โดยการเดินทางข้าม 4 ประเทศใน 10 วัน ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2023  ระยะทางรวม 3400 Km  มีผู้เข้าร่วม จำนวน 15 คัน ซึ่งในวันนี้ กลุ่มคาราวาน  Porsche Club Vietnam ได้มุ่งหน้าจากกรุงเทพฯ มาเที่ยวชมสวนนงนุชพัทยา พร้อมรับประทานอาหารกลางวัน หลังจากนั้นได้นั่งรถชมสวนสวยที่ติด 1ใน10 สวนที่สวยที่สุดในโลกและแหล่งเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน ของทางสวนนงนุชพัทยา แวะทานบุฟเฟ่ต์ผลไม้ ก่อนเดินทางกลับ

‘โฟร์ท นฤมล’ อดีตนักร้องยุค 90 สู่ตำแหน่งใหญ่ นั่งผู้บริหารหญิงคนไทยคนแรกของ ‘ธนาคารซิตี้แบงก์’

ซิตี้แบงก์ แต่งตั้ง ‘โฟร์ท นฤมล’ อดีตนักร้องยุค 90 นั่งผู้บริหารหญิงคนไทยคนแรก

(3 พ.ค. 66) ธนาคารซิตี้แบงก์ ประกาศแต่งตั้ง นางสาวนฤมล จิวังกูร ขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย (Citi Country Officer for Thailand) ดูแลรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจภายในประเทศไทย โดยขึ้นตรงต่อ นายอมล กุปเต ผู้บริหารใหญ่ธนาคารซิตี้แบงก์ ภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน (Head of South Asia and Asean for Citi) และมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ นางสาวนฤมล เป็นผู้บริหารหญิงและคนไทยคนแรกของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

นางสาวนฤมล จิวังกูร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เอกบริหารการเงิน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เริ่มต้นทำงานที่ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2539 ซึ่งก่อนการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย นางสาวนฤมลดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดเงินตลาดทุน ของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top