Saturday, 25 May 2024
POLITICS

“โฆษกพปชร.” แนะ “ศุภชัย”  อย่าติดกับคนผู้ไม่หวังดี ชี้ ภาวะวิกฤตต้องมีสติ-หนักแน่น จับมือแก้ปัญหา

น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม.ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวกรณีที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ตัดพ้อถึงการทำงานของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ว่า การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมถึง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกกระทรวง ทุ่มเทแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 เต็มที่ การบริหารจัดการสถานการณ์ปัจจุบันในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีทั้งข้อจำกัดและแรงกดดันมากเป็นทวีคูณ การตัดสินใจดำเนินการสิ่งใด ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อเกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนอย่างสูงสุด แต่สิ่งที่ยากก็คือข้อจำกัดที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ทำให้อาจจะไม่สามารถทำอย่างที่เราต้องการได้ทั้งหมด

น.ส.พัชรินทร์ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลถูกโจมตีจากผู้ไม่หวังดีและบิดเบือนความจริงจำนวนมาก ยิ่งต้องรับแรงกดดันด้วยสติ และแก้ปัญหาต่อไปโดยไม่กล่าวโทษไปมา เพราะทุกการตัดสินใจผ่านคณะที่ปรึกษา และคณะรัฐมนตรี ร่วมตัดสินใจด้วย จึงอยากให้มีความหนักแน่น เพื่อพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้โดยเร็วที่สุด และนำความปกติสุขคืนสู่ประชาชน ไม่หวั่นไหวไปกับการกระพือข่าวสร้างความแตกแยกของผู้ไม่หวังดีต่อชาติ แต่หากเสียงสะท้อนนั้นสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ก็นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

ศบค. ย้ำ ข้อกำหนดเข้ม ลดการเดินทาง “ให้ลดผดส.-ขนส่งสาธารณะ ทั่วประเทศไม่เกิน 50เปอร์เซ็นต์” แนะ รอฟังประกาศแต่ละจ.กำหนดเพิ่มเติม

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.กล่าวว่า สำหรับข้อกำหนดเรื่องการเดินทางของประชาชนใน 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่21 ก.ค.นี้ ให้กระทรวงคมนาคม กทม.จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักร
ให้จำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของความจุผู้โดยสาร คือให้ลดการเดินทางทั้งประเทศ ไม่เฉพาะ 13 จังหวัด โดยเดินทางได้ แต่ต้องลดพื้นที่ขนส่งลง 50 เปอร์เซ็น ให้เว้นระยะห่าง และให้บริการเพียงพอต่อความจำเป็นในเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอำนวยความสะดวกรับส่งผู้โดยสารไปฉีดวัคซีน  ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนขอความร่วมมือสายการบิน จากดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ได้งดเที่ยวบินที่ออกจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดสีแดงเข้มให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.เป็นต้นไป ดังนั้นเพื่อลดความแออัดขอความร่วมมืออย่าเดินทางในเวลานี้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนั้นยังคงมาตรการเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 21.00 น.-04.00ของวันรุ่งขึ้นเป็นเวลา 14 วัน และยังควบคุมการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มให้ซื้อกลับที่บ้านได้จนถึงเวลา 20.00 น. และห้ามขายแอลกอฮอล์ ส่วนการเปิดห้างจะเข้มข้นขึ้น โดยให้เปิดบริการได้เฉพาะซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์เท่านั้น และพื้นที่จัดให้บริการฉีดวัคซีน เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น. และปิดกิจการร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ธนาคาร สื่อสารฯ ในห้างใหญ่ ด้านร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น. และให้เแต่ละจังหวัดพิจารณาสั่งปิดได้ตามความจำเป็น หากมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ส่วนโรงแรมให้งดจัดกิจกรรมประชุม สัมมนาหรือจัดเลี้ยง และห้ามรวมกลุ่มเกิน 5 คน หากเป็นการรวมกลุ่มของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตไปก่อนหน้านั้น ให้มาขออนุญาตอีกครั้งเพื่อตรวจสอบและทบทวนให้เป็นไปตามมาตรการ นอกจากนั้นให้ภาครัฐสั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรปฎิบัติงานนอกสถานที่หรือเวิร์กฟรอมโฮมขั้นสูงสุด โดยใช้วิธีประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ และขอความร่วมมือเอกชนปฎิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้มากที่สุดเช่นกัน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมและกิจการอื่น เช่น สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง สวนสาธารณะ สามารถทำได้หรือไม่ทางศบค.ให้แต่ละจังหวัดออกประกาศข้อกำหนดของตัวเองให้สอดคล้องกับมาตรการหรือเข้มข้นมากขึ้น ขอให้ประชาชนรอฟังประกาศของจังหวัดนั้นๆอีกครั้ง

นอกจากนั้นสถานที่อนุญาตให้เปิดได้ตามความจำเป็น ได้แก่  โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ทุรกรรมการเงิน ธนาคารเอทีเอ็ม การสื่อสารคมนาคมไปรษณีย์และพัสดุ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด ที่อยู่นอกห้าง รวมถึงสถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการสินค้าและอาหารตามสั่งสามารถเปิดได้ตามความจำเป็น 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วมีการคาดการณ์ว่าจะติดเชื้อ 16.9ล้านคน ถ้าไม่ทำอะไรก็จะมีจะมีการคาดการณ์อาจจะติด9แสนคนหรือ9ล้านคน หรือ4แสนคน วันนี้เห็นเป็นรายวันที่บอกวันละ1 หมื่น2หมื่น 3หมื่นคน แต่เราไม่อยากให้เป็น วันนี้แตะหมื่นหลายวัน จึงอยากให้ลดลงไปโดยทุกคนต้องช่วยกันช่วยกันได้ ความสามัคคีที่จะช่วยกันได้ ข้อกำหนดออกมาเหมือนกติกาที่จะอยู่ร่วมกันเพื่อดึงกราฟตัวเลขลงมาได้ เพื่อให้เห็นพลังและจิตใจของคนไทยนอกจากช่วยตัวเองและญาติพี่น้องก็ยังช่วยชาวไทยทุกคนด้วยจึงขอกราบขอความร่วมมือประชาชนทุกคนแล้วเราจะผ่านความทุกข์ยากไปด้วยกัน

พท.พ้อ ปชช.อยู่กับรบ.ทิพย์ เหน็บมีแต่กลาโหมขยันจะซื้อแต่เรือดำน้ำ

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า นอกจากการล็อกดาวน์ประเทศ จะล็อกดาวน์ประชาชน ล็อกดาวน์พื้นที่ ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลกำลังล็อกดาวน์บทบาทหน้าที่การทำงานของตัวเองด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผอ.ศบค.รับผิดชอบภาพรวมการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศ และตั้งตัวเองเป็นผอ.ศูนย์แก้โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ล้มเหลว ผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพแทบทุกตำแหน่ง สะท้อนผ่านการประกาศยกระดับ 13 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม และมีแนวโน้มอาจต้องประกาศยกระดับจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ทั้งหมดล้วนเป็นความรับผิดชอบของพล.อ.ประยุทธ์ แทนที่จะเพิ่มไอคิว ดันเพิ่มไอโอ จนต้องปั่นไอโอสู้กันเองระหว่างทหารกับพรรคร่วมรัฐบาล เหมือนทหารเหยียบตาปลาหมอ อุตส่าห์ยึดอำนาจมารวมศูนย์ไว้ที่ตัวเอง แต่กลับล็อกดาวน์บทบาทหน้าที่ตัวเอง ไม่ทำงาน ไม่ตั้งสติ ตรวจสอบ แทนที่จะยอมรับผิดแล้วเดินหน้าปรับปรุงแก้ไข แต่ก็ละทิ้งโอกาสและไม่ทำ แทบทุกกระทรวงหายไปจากสารบบของการดูแลเยียวยาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ปล่อยให้ประชาชนต้องดูแลเยียวยาตัวเอง 

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มีรัฐบาลก็เหมือนมีรัฐบาลทิพย์ ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ กระทรวงดีอีเอส แทนที่จะบริหารจัดการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบบิ๊กดาต้า เพื่อให้สามารถเข้าถึงการเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อน แต่กลับไปเน้นหนักในการทำหน้าที่ไล่ฟ้องประชาชน ปกป้องอำนาจรัฐกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ควรจะมีบทบาทหลักในการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง กลับล็อคดาวน์ตัวเอง กระทรวงศึกษาธิการที่ควรเป็นเจ้าภาพในการงดหรือลดค่าเทอมหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในช่วงที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ให้ผู้ปกครอง ก็ไม่สามารถทำได้ ที่ขยันผิดกระทรวงอื่น คือกระทรวงกลาโหมที่ยังคงดำรงความมุ่งหมายในการจ้องจะซื้อเรือดำน้ำอันเป็นความปรารถนาอย่างสูงสุดของกองทัพ

“รัฐบาลทิพย์ รัฐมนตรีล็อกดาวน์บทบาทตัวเอง คนเปราะบาง ประชาชนเดือดร้อนทั่วทุกหย่อมหญ้า เยียวยาไม่พอยาไส้ แต่ให้ประชาชนดูแลกันเอง จิตใจทำด้วยอะไร” นายอนุสรณ์ กล่าว 

พท.อัดรัฐอาการหนัก ล้มเหลวทำวิกฤตโควิดลามหนัก  เย้ยจะอยู่เป็น รบ.เพื่ออะไร

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีการล็อกดาวน์หลังผ่านการบังคับใช้มาครึ่งทางว่า ประชาชนประเมินการล็อกดาวน์ครั้งนี้ มีแนวโน้มเจ็บแต่ไม่จบ  และอาจต้องเจ็บหนักขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ สถานการณ์ที่ต้องปิดเมืองก่อนเปิดประเทศ  เศรษฐกิจพังลามวิกฤตหนักไปอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก กดตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้ติดเชื้อไม่ลง ก็ยกระดับไปเรื่อยๆ ไม่เห็นแผนงานที่เป็นขั้นเป็นตอนทั้งก่อนและหลังการล็อกดาวน์ จุดเปลี่ยนสำคัญของโควิดระลอกนี้ คือการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างโดยไม่มีแผนรองรับ กลายเป็นการส่งเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศอย่างเป็นทางการด้วยคำสั่งของรัฐบาลเอง หลักฐานฟ้องความล้มเหลวชัด คือการประกาศขยายล็อกดาวน์ไปยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็น 13 จังหวัด และมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องประกาศเพิ่มจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำในภาวะวิกฤตและเวลาเหลือน้อยมากแล้ว คือ 1.สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้เร็วขึ้น เพื่อแยกคน แยกโรค ลดขั้นตอนและลดภาระของประชาชน ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง  Rapid Antigen Test ต้องเข้าถึงง่าย ไม่เป็นภาระของประชาชน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า 2.ต้องเร่งจัดหาวัคซีนคุณภาพ mRNA มาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและประชาชน เปิดเผยไทม์ไลน์ที่ชัดเจนถูกต้อง เปิดเผยสัญญาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ภาคประชาชนได้ร่วมตรวจตรวจสอบ ลดไอโอ เพิ่มไอคิว หยุดกล่าวโทษและด้อยค่าประชาชน ยุติการนำเข้าวัคซีนประสิทธิภาพต่ำแล้วเพิ่มวัคซีน mRNA 3.เร่งสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ รวมถึงยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิดให้เพียงพอ เพราะแม้ต้องดูแลตัวเองที่บ้าน ถ้ามียาเพียงพอ ผู้ติดเชื้อก็สามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง 4.การเยียวยาต้องถ้วนหน้า เข้าถึงง่าย ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ อาการหนักของรัฐบาล คือไม่รู้สภาพตัวเองว่ากำลังป่วยหนัก ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหา ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ แล้วไม่ยอมปรับปรุงการทำงาน จะอยู่เป็นรัฐบาลไปเพื่ออะไร

“อดีตรองโฆษกปชป.” เสนอรัฐ เจรจาร้านสะดวกซื้อ แปลงเป็นคลังอาหารชุมชน กระจายอาหาร-ยา ช่วงล็อกดาวน์  ชี้ ถึงเวลาคืนกำไรให้ ปชช. ช่วยชาติยามวิกฤต เผยชุมชนโรงปูน ห้วยขวาง ติดเชื้อหนัรอเตียง 58 คน

นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊กว่า ให้ใช้ร้านสะดวกซื้อ เป็นคลังอาหารให้ชุมชน ทั้งนี้ตนเห็นด้วยว่ารัฐบาลต้องกำหนดมาตรการที่เข้มข้นขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุหลักหมื่น ยอดผู้เสียชีวิตทะลุหลักร้อย และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงแบบนี้ต่อไปไม่น้อยกว่าสองเดือน สิ่งที่ต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นเพื่อให้นโยบายรัฐบาลสัมฤทธิ์ผลคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจภาครัฐ พร้อมร่วมมือทำตามทุกนโยบายที่กำหนดออกมา ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้ ภาครัฐต้องมีความชัดเจนในเรื่องการดูแลปากท้องของประชาชน นอกเหนือไปจากการเยียวยาที่ออกมาด้วย โดยเฉพาะชาวชุมชนที่กลายเป็นพื้นที่ระบาดในวงกว้าง และยากต่อการควบคุม เมื่อห้ามทุกกิจกรรม ก็ต้องดูแลปากท้องคนเหล่านี้ด้วย  
         
“การลงพื้นที่ชุมชนย่านห้วยขวางพบความจริงที่น่าตกใจ เช่น ชุมชนโรงปูน เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.)มีผู้ป่วยรอเตียงมากถึง 58 คน ยังไม่รวมกลุ่มเสี่ยงสูงต้องกักตัวหลายร้อยคนที่รอความช่วยเหลือตามยถากรรม ต้องรับปัญหา 2 เด้งทั้งต้องหายารักษาตัวเองและหาข้าวกินในแต่ละมื้อเพื่อประทังชีวิตไปวันๆ ซึ่งก็หนี ไม่พ้นที่เขาต้องดิ้นรนออกนอกบ้าน ในที่สุดก็จะแพร่เชื้อติดต่อกันไปเป็นเท่าทวีคูณ นี่คือความจริงของคนจนเมืองที่ภาครัฐต้องเร่งเข้ามาดูแล ผมเรียกร้องมาหลายครั้งให้จัดถุงยังชีพ ข้าวกล่อง และยาเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ ในการดูแลทุกชีวิตที่ขาดรายได้ของคนกลุ่มนี้ แบบมีหน่วยบริการดูแลเฉพาะในการส่งข้าว ส่งน้ำให้ทุกวัน ซึ่งทำได้หลายช่องทาง เช่นให้ร้านสะดวกซื้อที่อยู่ตามจุดใกล้เคียงตามชุมชน ซึ่งมีข้าวกล่องสำเร็จรูปแช่แข็ง รวมทั้งยาเวชภัณฑ์จำเป็น และมีพนักงานรับส่งอยู่ในมือแล้วด้วย ผมคิดว่าแค่รัฐสั่งการลงมาก็สามารถทำได้ทันที่”นายเชาว์ กล่าว
           
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่าขณะนี้การตั้งโรงครัวก็ทำไม่ได้เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน ขัดต่อกฎหมายและสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด จะรอข้าวกล่องจากกลุ่มจิตอาสาต่างๆก็มีน้อยเต็มที เพราะนาทีนี้ทุกคนก็ต่างระวังตัว ตนจึงขอเสนอให้รัฐเร่งเจรจากับร้านสะดวกซื้อที่มีสาขากระจายอยู่ทุกที่ ให้เป็นคลังอาหารของชาวชุมชน โดยนำอาหารแช่แข็งสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่จำหน่ายในร้าน มาขายให้รัฐในราคาย่อมเยา ช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐ ช่วยประชาชนอิ่มท้อง นอกเหนือจากข้าวกล่องล้านกล่องที่รองนายกฯประวิตร เตรียมดำเนินการ เพราะประชากรในกทม.มีมากกว่า 10 ล้านคน อย่างไรก็ไม่พอ ที่สำคัญต้องเลิกระบบลงทะเบียน เนื่องจากสำนักงานเขตมีข้อมูลประชาชนในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว และให้มอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือไลน์แมนส่งของในพื้นที่นั้น ๆ เป็นผู้ขนส่งกระจายอาหารให้กับชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนเหล่านี้ด้วย 
         
“ในอดีตเราจ่ายเงินซื้อของในร้านโซห่วยข้างบ้าน อาจจะขายแพงกว่า แต่ในยามทุกข์สุขเจ้าของร้านยังไปร่วมดูใจให้ความช่วยเหลือ เพราะถือเป็นเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันเราจ่ายเงินซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ที่ไม่เคยเอาเงินใส่ซองคืนกลับมาให้เรา ไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง งานบวช หรืองานบุญใด ๆ เมื่อบ้านเมืองพัฒนาหลายอย่างเปลี่ยนไป ก็ควรใช้พัฒนาการนั้นมาร่วมคลี่คลายวิกฤตในบ้านเมืองด้วย สโลแกน สะดวกครบ จบที่เดียว ขอให้เกิดในการช่วยเหลือประประชาชนยุคโควิด-19 ด้วยจะได้หรือไม่ เมื่อถึงวันที่ประชาชนแข็งแรง ท้องหิวเมื่อไหร่จะได้แวะไปได้” นายเชาว์ระบุ

ไอติม พริษฐ์ โพสต์ข้อความ 10 ข้อที่รัฐบาลต้องยอมรับต่อประชาชน ย้ำ ต้องลาออกและแก้รัฐธรรมนูญ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นแกนนำกลุ่ม Re-Solution ที่เคลื่อนไหวด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ถึงการทำงานของรัฐบาล ว่า

หมดเวลาของรัฐบาลที่ไร้ความรับผิดชอบทางการเมือง : “ขอโทษ” ไม่พอ / ต้อง “ลาออก” และ “แก้รัฐธรรมนูญ” เท่านั้น

คงไม่มีใครคาดหวัง ว่ารัฐบาลใด ๆ ก็ตาม จะสามารถการแก้ไขทุกปัญหาได้อย่างไร้ข้อผิดพลาด

แต่สิ่งที่เราควรจะคาดหวังได้จากทุกรัฐบาลคือ “ความรับผิดชอบ” ทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ขาดมาโดยตลอด

“ความรับผิดชอบ” ขั้นพื้นฐานที่สุดที่รัฐบาลควรจะมี คือการสำรวจตัวเองว่าทำอะไรลงไปบ้าง หากผิดพลาดก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเองทำอะไรพลาดไป และปรับแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ในขณะที่รัฐบาลมัก “สั่งสอน” ประชาชนอยู่เสมอ ว่าการแก้ปัญหาต่าง ๆ ต้องให้ประชาชน “เริ่มต้นที่ตัวเอง” แต่รัฐบาลนี้ไม่เคย “เริ่มต้นที่ตัวเอง” เลยสักครั้ง ในการบริหารทั้งวิกฤตสาธารณสุข วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมือง ที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่

1.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ข้อเสนอจากหลายฝ่ายในช่วงแรก ๆ ของการระบาด ให้สรรหาวัคซีนหลากหลายยี่ห้อตั้งแต่ต้นเพื่อกระจายความเสี่ยง...

...รัฐบาลก็มัวแต่ไปไล่ฟ้องคนที่ออกมาทักท้วงเพียงเพราะเขามาจากขั้วตรงข้ามทางการเมือง และไม่เอาเวลาไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงข้อดีของการเข้าร่วมโครงการ COVAX

2.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าตัวเองดำเนินการล่าช้าและบริหารอย่างผิดพลาดมหาศาลในการตกลงสัญญากับ AstraZeneca เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่ประกาศกับประชาชน...

...รัฐบาลกลับเลือกปกปิดข้อมูลและ “โกหก” ต่อหน้าประชาชนกลางสภา จนกระทั่งความจริงถูกเปิดโปงจากจดหมายระหว่าง AstraZeneca กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

3.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าวัคซีน Sinovac ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าวัคซีนชนิด mRNA และรีบทำทุกวิถีทางให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ถูกฉีดเข้าร่างกายบุคลาการทางการแพทย์ด่านหน้าได้เร็วที่สุด...

...รัฐบาลกลับดึงดันที่จะสั่ง Sinovac เข้ามาเพิ่ม แถมใช้เวลาไปมากมายกับการงัดสารพัดเหตุผล เพื่อพูดถึงข้อดีของวัคซีนที่แม้กระทั่งประเทศเจ้าของอย่างจีน ยังไม่เลือกที่จะใช้เพิ่ม

4.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ความจริง ว่าการล็อกดาวน์อาจมีความจำเป็น แต่ต้องมาควบคู่กับแผนการเยียวยาที่เพียงพอ ครอบคลุม และทันท่วงที เพื่อชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนจำนวนมาก...

...รัฐบาลกลับขาดความชัดเจนในการประกาศมาตรการ ขาดความรวดเร็วในการวางแผนการเยียวยา และขาดความเข้าใจในความยากลำบากของประชาชน ยังไม่รับการจงใจเลี่ยงบาลีไม่ใช้คำว่า “ล็อกดาวน์” เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบของรัฐบาลในการเยียวยาประชาชน

5.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าระบบสาธารณสุขของเรากำลังขาดแคลนทรัพยากรอย่างสาหัส ทั้งจำนวนเตียง ปริมาณยา และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำให้งบประมาณสาธารณสุขต้องได้รับความสำคัญที่สุดในการักษาความมั่นคงของประเทศ...

...รัฐบาลกลับยังคงใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงรูปแบบเดิม ๆ เพื่อจัดสรรงบประมาณมาให้กับ “ของเล่น” ต่าง ๆ ของกองทัพที่ไม่จำเป็น หรือ “โครงการเชิงวัฒนธรรม” ต่าง ๆ ที่อยู่รอดมาได้จากความเคยชิน แต่ไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน

6.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าการตนเองดำเนินการอย่างไร้ความโปร่งใส คัดเลือกบุคลากรมาดำรงตำแหน่งสำคัญที่ขาดความสามารถและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน และเผชิญข้อครหาเรื่องการทุจริตที่ไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลก่อน ๆ ที่ตนเองชอบต่อว่า...

...รัฐบาลกลับมัวแต่ไปป่าวประกาศอย่างไร้ประโยชน์ ให้การกำจัดการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ แถมใช้เวลาในสภาไปกับการกระแนะกระแหนรัฐบาลก่อน ๆ มากกว่าการชี้แจงคำถามต่อการทำงานของตนเอง

7.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าอำนาจที่ตนเองมีอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ได้มาจากการแข่งขันที่เป็นธรรมในการครองใจประชาชน แต่มาจากรัฐธรรมนูญที่ตนเองเขียนขึ้นมาเองเพื่อสืบทอดอำนาจตนเอง ผ่านองค์กรที่ไร้ศักดิ์ศรีอย่างวุฒิสภา ที่มีทั้งอำนาจทั้งเลือกนายกฯ และอำนาจแต่งตั้ง กกต. ให้เข้ามาบิดสูตรคำนวน ส.ส. เพื่อพลิกผลเลือกตั้ง...

...รัฐบาลกลับอ้างอยู่เสมอว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญเรายังเขียนให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจมากกว่าประชาชน 19 ล้านคน

8.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าตนเองมีส่วนสำคัญในการตั้งใจลากหรือปล่อยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไหลเข้ามาในความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านการกล่าวอ้างและผูกขาดความจงรักภักดี หรือผ่านความไม่กล้าหาญของนายกรัฐมนตรีที่จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการกระทำใดที่สุ่มเสี่ยงจะขัดกับหลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข…

...รัฐบาลกลับเลือกปราบประชาชนด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และผลักไสไล่ส่งหลายคนที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูป ว่ามีเจตนาล้มลางสถาบันฯ

9.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าตนเองตัดสินใจพลาดในหลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิด จนทำให้ชีวิตประชาชนจำนวนมากยังต้องอยู่บนเส้นดาย ที่ล้อมรอบไปด้วยทั้งโรคระบาดและพิษเศรษฐกิจ และทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยทรุดโทรมกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก…

...แต่รัฐบาลกลับชอบอ้างว่าประเทศอื่นก็เผชิญวิกฤต และชอบหาสารพัดสถิติมาใช้ในแถลงการณ์ ศบค. เพื่อทำให้สถานการณ์ในประเทศไทยดูดีกว่าที่เป็นจริง โดยไม่เคยเอ่ยปากขอโทษประชาชน เหมือนกับผู้นำในอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่อาจเคยตัดสินพลาดบ้างในบางครั้ง

10.) แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าตนเองกำลังทำลายความฝันของประชาชนจำนวนมากที่ต้องการเห็นบ้านเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้าง และใช้เวลานั่งคิดกับตัวเองบ้าง ว่าทำไมประชาชนจำนวนมาก จึงยอมเสี่ยงชีวิตตนเอง เพื่อออกมาต่อสู้บนท้องถนน…

...รัฐบาลกลับเลือกที่จะตอบโต้ด้วยวิธีการอำมหิต ที่ขัดหลักสากล ขาดความเป็นมนุษย์ และขาดความจริงใจในการรับฟังหรือแก้ไขปัญหาร่วมไปกับประชาชนจำนวนมากที่เป็นเจ้าของประเทศนี้เช่นกัน

ถ้าหากนายกฯ และรัฐบาล เคยแสดงให้เห็นมาก่อนถึง “ความรับผิดชอบทางการเมือง” ขั้นพื้นฐาน ที่พร้อมจะยอมรับข้อผิดพลาด ปรับปรุงตนเอง และเดินหน้าแก้ไขปัญหาด้วยความเห็นอกเห็นใจ คำว่า “ขอโทษ” อาจพอซื้อเวลาพวกท่านได้ ก่อนที่พวกท่านจะต้องถูกตัดสินโดยประชาชนในสนามเลือกตั้ง ที่ต้องเสรีและเป็นธรรม และต้องปราศจากกลไกการสืบทอดอำนาจอย่าง ส.ว. 250 คน หรือ กกต. ที่พวกท่านแต่งตั้งเอง

จนมาถึงวันนี้ คำว่า “ขอโทษ” ไม่เคยออกจากปากพวกท่าน

ถึงคำขอโทษ ยังจำเป็นอยู่ต่อการรักษาเกียรติของตัวท่านเอง แต่มันไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วต่อการรักษาบาดแผลที่ท่านได้สร้างให้กับประเทศและประชาชน

การลาออกของพวกท่าน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ถึงจะเพียงพอ ต่อการที่ประเทศเดินไปข้างหน้า ด้วยการเมืองที่ช่วยชีวิตประชาชน

 

ที่มา : https://www.facebook.com/254171817929906/posts/6359189010761459/


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

รพ.ทบ. สนับสนุนรัฐบาลดูแลผู้ติดเชื้อสีเขียวแบบ Home isolation เฉพาะรพ.พระมงกุฎเกล้า ดูแลกว่า 176 ราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

พ.ท.หญิง พัชรินทร์ บุศยกุล ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างจำกัด รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ผู้ป่วยติดเชื้อสีเขียว ใช้มาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home isolation) ซึ่งพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก” ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.64 ที่ผ่านมา โดยให้ 37 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกทั่วประเทศ ดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อสีเขียว(ไม่แสดงอาการ) สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้านภายใต้การดูแลติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จากโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก โดยกรมแพทย์ทหารบกรับผิดชอบบริหารจัดการในภาพรวมและกำหนดแนวทางการปฏิบัติ เพื่อสอดรับนโยบายให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกระทรวงสาธารณสุขและเกิดประสิทธิภาพในการรักษาอย่างดีที่สุด

โดย 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนตั้งแต่จัดรถรับผู้ติดเชื้อจากบ้าน เพื่อให้ทีมแพทย์ตรวจประเมินอาการ แยกประเภทผู้ป่วย หากเป็นผู้ป่วยติดเชื้อสีเขียวและมีความประสงค์จะรักษาที่บ้าน จะให้ยาต้านไวรัส และมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการตรวจเบื้องต้น เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เครื่องวัดความดัน พร้อมส่งอาหาร 
3 มื้อ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่องผ่านระบบสื่อสารต่างๆ หากมีอาการรุนแรงขึ้น จะรับผู้ป่วย
มารักษาต่อในโรงพยาบาลโดยทันที ซึ่ง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยแยกกักตัวในความดูแล จำนวน 176 ราย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐ ที่ช่วยให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างทั่วถึง และสามารถช่วยให้การบริหารจัดการเตียง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้ส่งมอบของเยี่ยมและสิ่งของจำเป็นในการกักรักษาตัวที่บ้านของผู้ป่วยติดเชื้อในความดูแลของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นการส่งผ่านความห่วงใยและกำลังใจให้กับผู้ป่วยสามารถดูรักษาตัวเองให้ปลอดภัยและกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป

"ธัญวัจน์" อัด รัฐบาลล้วงกระเป๋าประกันสังคมรับภาระเยียวยาแทน จี้ วางแผนเยียวยาระยะยาว เพราะรอบนี้ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

นายธัญวัจน์​ กมลวงศ์วัฒน์​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประกาศล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการอีกครั้งว่า ตนมีความห่วงใยต่อพี่น้องผู้ประกอบการรายเล็กทุกท่าน รวมไปถึงกลุ่มอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริการ ศิลปิน นักดนตรี นักเต้น นางโชว์ ที่เคยร่วมยื่นหนังสือเรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมให้ออกมาตราการเยียวยา เนื่องจากอาชีพดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะโดนปิดก่อนและเปิดทีหลัง โดยตามมติคณะรัฐมตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 64 ได้ออกมาตรการเยียวยาล็อกดาวน์ ใน 10 จังหวัดที่ประกาศล็อคดาวน์ ให้อาชีพอิสระลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ขอให้สมัครเข้าผู้ประกันตน มาตรา 40 ภายในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งตนมีความเห็นด้วยอย่างมากที่อาชีพอิสระจะได้รับเงินเยียวยา แต่มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินของรัฐบาล ว่าการเยียวยาครั้งนี้คงไม่ใช่การทำงานลูบหน้าปะจมูกที่ช่วยแค่ครั้งนี้​ และครั้งต่อๆ ไปจะทำอย่างไร จะบริหารจัดการอย่างไร เพราะเมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้ชี้แจงแล้วว่ารัฐบาลล้วงลูกกองทุนประกันสังคมไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท คำถามคือมาตราการครั้งนี้ คือ การช่วยเหลือหรือเป็นการผลักภาระให้กับประกันสังคมหรือไม่ และท่านจะชดเชยหรือมีเงินคืนกลับมาให้จากพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านหรือไม่ เพราะนี่ไม่ใช่การเยียวยาครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาด้วยการวางแผนระยะยาว และพร้อมจัดสรรงบประมาณแบ่งคืนให้กับกองทุนประกันสังคม เพื่อให้การเยียวยาครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการผลักภาระและได้หน้าอยู่คนเดียว ท่านต้องไม่ลืมว่าท่านมีเงินกู้ 1 ล้านล้าน และ 5 แสนล้าน รวมถึงงบประมาณประจำปี 2565 ประกันสังคมยังถูกตัดงบลงอีก และตนคิดว่าการบริหารจัดการงบประมาณของท่านดูจะไม่ตอบโจทย์หรือมีความพร้อมระยะยาวที่จะต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประกอบกับในขณะนี้อยู่ในช่วงพิจารณางบประมาณแผ่นดิน 2565 ตนเข้าใจว่าท่านได้ตั้งงบประมาณมาก่อนเกิดวิกฤตและอาจจะเป็นสถานการณ์ที่ท่านอาจไม่คำนึงถึง แต่คำถามที่เกิดขึ้นและต้องตอบกับประชาชนคือ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบนี้จะปรับแผนในงบประมาณอย่างไร​ อย่าทำให้การเยียวยานั้นไม่จบสั้น ห้วน และสุดท้ายทิ้งทวนว่า "ช่วยแล้วนะอย่ามาขออีก" ตนหวังว่าจะไม่ได้ยินคำพูดเหล่านี้

เสกสกล ซัด โทนี่-กลุ่มแคร์ เคลื่อนไหว หวัง ปั่นหุ้นการเมือง ทำประชาชนสับสน วุ่นวาย ทำลายขวัญกำลังใจบุคคลากรที่ทำงานหนัก

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกลุ่มแคร์ และนายทักษิณ ชินวัตร หรือโทนี่ วู้ดซั่ม ส่งจม.ถึง นายกฯ เปิดข้อเสนอแนะแก้วิกฤต 24 ข้อ ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทราบดีว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะได้ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่เกิดการระบาดเชื้อโควิด-19 ข้อเสนอที่ส่งมานั้นนายกฯดำเนินการอยู่ โดยประเด็นด้านการบริหารจัดการยังมีความจำเป็นในการคง ศบค. ไว้เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และมาตรการเร่งด่วนในการบริหารสถานการณ์ ทำงานร่วมกับทุกกระทรวง การทำงานของ ศบค.ยังได้รับฟังข้อเสนอต่างๆจากกระทรวงสาธารณสุข หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นหลักอยู่แล้วก่อนที่จะออกมาตรการหรือข้อกำหนด

การสื่อสารกับประชาชน ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบถึงสถานการณ์รายวันอยู่แล้ว รวมถึงชี้แจงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์อีกช่องทางหนึ่ง สำหรับการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนานแล้ว ซึ่งจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นก็มาจากการตรวจเชิงรุก และอย. ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเองแล้ว เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยตนเอง

การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม กทม.จัดไว้แล้ว ก่อนหน้านี้กองทัพยังให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามใน กทม. และยังนำกำลังพลทหารเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนตามพื้นที่ต่างๆ จัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิด การนำอากาศยานสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือโควิดของกองทัพอากาศ

การบริหารจัดการวัคซีนโดยอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ชี้แจงแล้วว่า วัคซีนแอสตร้าเซเนกายังจัดส่งวัคซีนให้ต่อเนื่อง นายกฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นในไตรมาสที่ 4 จะมีวัคซีนโมเดอร์นา และไฟเซอร์เข้ามาอีก รวมถึงบุคลากรด่านหน้าด้านสุขภาพทุกคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มจะได้รับบูสเตอร์ โดยอาจเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนชนิด mRNA 

การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนนายกฯได้ทำอย่างต่อเนื่อง โดยหลังออกข้อกำหนดฉบับล่าสุด ยังได้เตรียมแผนการช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว เช่น ชดเชยผู้ประกอบการและลูกจ้างใน 9 กลุ่มกิจการ รวมถึงผู้มีอาชีพอิสระ มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งลดค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นเวลาสองเดือน ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือน ให้กับทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ต้องปิดกิจการ และพิจารณาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ปิดกิจการแต่มีรายได้ลดลง มีมาตรการอื่นๆ เช่น การลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษา  

ตนเองคิดสงสัยว่า การที่กลุ่มแคร์มีข้อเสนอให้นายกฯ แต่เป็นข้อเสนอที่ไม่มีอะไรใหม่ เพราะนายกฯและรัฐบาลได้ทำอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมองว่าข้อเสนอต่างๆและยังมีชื่อนายโทนี่ด้วยนั้นคงไม่ได้อยากจะช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์ให้บ้านเมืองและประชาชนจริง แค่อยากอาศัยจังหวะนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองให้กับนายโทนี่เท่านั้น  และหากกลุ่มแคร์มีความจริงใจที่อยากจะแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติจริง ตนเองก็ขอเพียงแค่ให้กลุ่มแคร์อยู่เฉยๆไม่ต้องไปเอานายโทนี่และนางสาวยิ่งลักษณ์ นักโทษหนีคดีทุจริต ออกมาพูดบิดเบือนใส่ร้ายป้ายสี ด้อยค่าคนอื่นก็พอ 

เพราะการออกมาพูดของนายโทนี่และนางสาวยิ่งลักษณ์ ทำให้ประชาชนสับสนวุ่นวาย ยิ่งทำลายขวัญกำลังใจบุคคลากรที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ และมีแต่จะซ้ำเติมประเทศชาติประชาชน ไม่ได้ช่วยให้อะไรมันดีขึ้น ยิ่งสร้างความแตกแยกหนักมากกว่าเดิม 

ดังนั้นควรหยุดวิธีคิดทำลายประเทศชาติได้แล้ว คนในกลุ่มแคร์ ต้องมีจิตสามัญสำนึกมากกว่านี้ อย่าคิดว่า คนไทยส่วนใหญ่จะโง่จนรู้ไม่ทันว่า กำลังปั่นหุ้นการเมือง คิดวางแผนเล่นเกมการเมืองอะไรร่วมกันกับนายโทนี่อยู่ อย่าคิดว่าคนไทยรู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของคนในกลุ่มแคร์เลย ให้ระวังกฎแห่งกรรมเอาไว้ มีจริงหรือไม่เรื่องนี้ ให้ไปถามนายโทนี่เพราะรู้แก่ใจดี

“ผอ.ศปก.ศบค.” เตรียมประเมิน 7 วันหลังออกมาตรการเข้ม จุดไหนไม่สำเร็จพร้อมปรับใช้วิธีอื่นแทน “แจง”ยังไม่ปิดตลาดสด-ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะเห็นความจำเป็น-ความเดือนร้อน ปชช. “ขู่”มีปัญหาพร้อมปรับเปลี่ยนทันที 

ที่สำนักงานใหญ่กสทช. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) .เชิญผู้บริหารสื่อ เข้าหารือและรับฟังความเห็นเห็นการเสนอข่าวในช่วงวิกฤติโควิดระบาด

โดยพล.อ.ณัฐพล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า จากที่ศปก.ศบค.ตั้งใจไว้หลังมี มาตรการประกาศออกมาในวันเดียวกันนี้นั้น เบื้องต้นประมาณ 30 วันจะมีการประเมินผลแต่ทั้งนี้จะประมเมินตั้งแต่ 14 วันแรกและในส่วนของศปก.ศบค.จะประเมินผลย่อย ในช่วง 7 วันด้วย

 “คราวนี้ตั้งเป้าไว้ 14 วัน แต่ทั้งนี้พอ 7 วันผ่านไป อาจารย์แพทย์ได้แนะนำว่ายังน่าห่วงจึงจำเป็นต้องปรับมาตรการเข้มข้นขึ้น แต่ในทางการเราจะประเมินทุก 14 วัน และในความเป็นจริงจะประเมินผลและติดตามสถานการณ์ทุกวันอยู่แล้ว พอ 7 วันแล้วถ้าดูว่าน่าจะปรับก็ปรับ” เลยา สมช.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีมาตรการเข้มในรายละเอียดเรื่องของตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตออกมาหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในส่วนของตลาดสดจะมีมาตรการในการกำกับที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วบรรดาอาจารย์แพทย์มีความเป็นห่วงในเรื่องของตลาดสดอย่างมาก เพราะปัจจุบันในตลาดสด มาตรการการเว้นระยะห่างต่างๆยังน่าเป็นห่วงอยู่ แต่เนื่องจากยังเห็นถึงความจำเป็น อาจกระทบต่อความเดือดร้องของประชาชนที่ประกอบอาชีพค้าขายในตลาดสด ก็จะลองให้โอกาสไปก่อน โดยให้พื้นที่กำกับดูแลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและให้พิจารณาเป็นกรณีไป เว้นแต่ในภาพร่วมถ้าเกิดความไม่เรียบร้อยก็ต้องว่าอีกที

เมื่อถามว่าที่มีกระแสข่าวว่า ในส่วนของซุปเปอร์มาร์เก็ตจะเปิดลักษณะวันเว้นวันมีข้อเท็จจริงอย่างไร พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่เป็นความจริงเพราะศปก.ศบค.มองเห็นถึงความจำเป็นเนื่องจากซุปเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าที่มีความจำเป็น  โดยเฉพาะเรื่องของอาหาร ถ้าไปเปิดวันเว้นวันอาจยิ่งทำให้ประชาชน ไปแออัดขับข้างในวันที่เปิด จึงเปิดกระจายไปเพื่อให้เกิดการเฉลี่ยของประชาชนในการจับจ่ายใช้สอยและสามารถเว้นระยะห่างได้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้มข้น เรื่องการรับประทานอาหารในร้าน ยังใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 24 เรื่องพื้นที่สีแดงสามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ แค่ 23.00 น.แต่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในร้าน 
ส่วนพื้นที่ควบคุมสีส้ม ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในร้านเช่นกัน แต่เปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติ ใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ใช่ โดยเพิ่มจาก 10 จังหวัดเป็น 13 จังหวัด คือ อยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา

เมื่อถามถึงกรณีการเดินทางข้ามจังหวัดมาตรการที่ออกมายังมีการผ่อนคลายในเรื่องของเหตุจำเป็นจะสร้างความมั่นใจได้อย่างไรที่จะไม่มีการแพร่ระบาดจาารเดินทาง ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจเรื่องนี้ศบค.พยายามจะไม่ใช้ มาตรการเข้มจนเกินไปทำให้คนเดือดร้อน สังเกตว่าเราจะค่อยๆมี มาตรการที่เข้มขึ้นและประเมินดูว่าได้รับความร่วมมือหรือไม่ ถ้าความร่วมมือทำให้ มาตรการเป็นไปได้อย่างเรียบร้อยก็จะคงมาตรการนั้นไว้ แต่ถ้ามาตรการใดไม่เรียบร้อยก็ต้องมาดูว่าจุดไหนเป็นจุดเสี่ยงกิจกรรมหรือกิจการเสี่ยงก็ต้องค่อยๆปรับลดลงไป จะได้ไม่กระทบกับความเดือดร้อนของประชาชนในภาพร่วม

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคสามห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชน โดนได้กำชับศปก.ศบค.ว่า ให้ กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและกำกับดูแลอย่าง ปราณี เพื่อให้ สถานการณ์ค่อยค่อยคลี่คลายลงโดยเร็ว เพื่อที่จะได้ไม่กระทบกับประชาชน ทุกวันนี้ศปก.ศบค. เข้าประชุมทุกวันเพื่อประมวลผลอยู่แล้ว ในส่วนของศบค.ชุดใหญ่ก็ได้ประชุมเมื่อวันที่ศุกร์ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการที่ออกมาในวันนี้ ก็เป็นมติของศบค.ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาที่ต้องการให้ออกข้อกำหนดโดยเร็วโดยได้อนุมัติหลักการปรับเพิ่มมาตรการมากขึ้น โดยกำหนดเป็นมาตรการหลักไว้และมอบหมายมห้ศปก.ศบค.หารือในรายละเอียด

เมื่อถามย้ำว่าการประเมิน 7 วันในรอบแรกกรณีหากมีการติดเชื้อเพิ่มในส่วนของรายจังหวัดต้องมีการประบมาตรการใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มีหลายอย่างหลายวิธีอาจจะเพิ่มในส่วนทั่งของจังหวัด กิจกรรมกิจการ ซึ่งมีหลายวิธีแต่ทั้งหมดต้องฟัง ด้านการแพทย์การสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง จากนั้นทุกฝ่ายจะร่วมการพิจารณาว่าเมื่อได้มีมาตรการประกาศออกไปแล้วทำได้จริงหรือไม่ อะไรที่ประกาศแล้วทำไม่ได้จริงก็จะใช้มาตรการอื่น เช่นการกำกับใกล้ชิดมาใช้แทน

พล.อ.ณัฐพล ยังกล่าวถึงการเชิญสื่อมาทำความเข้าใจในวันนี้ว่า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางศปก.ศบค.ส่วนหนึ่งได้ติดตามสถานการณ์ทางสื่อในทุกๆแขนง ซึ่งสื่อมวลชได้ให้ข้อคิดเห็นหลากหลาย ซึ่งหลายอย่างเป็นประโยชน์วันนี้จึงอยากรับฟัง ขณะเดียวกันพบว่า ข้อมูลบางอย่างสื่อมวลชนก็ยังไม่ทราบวันนี้ก็จะได้มีการแลกเปลี่ยน โดยเวลาส่วนใหญ่จะรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชนมากกว่าการสั่งการ

“สิระ” ซัด "ยุทธพงศ์” หวังตีกินทางการเมือง มโนซื้อเรือดำน้ำ ทำให้ปชช.เข้าใจรัฐบาลผิด ทั้งที่ "กมธ.งบ" ยังไม่ได้หยิบมาพูดคุย ไล่ เอาหนังสือมารยาทไปต้มกิน ถาม ยังเหมาะจะเป็น กมธ.ต่อหรือไม่ 

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ และไอซีที กล่าวถึงกรณีที่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวระบุถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ว่า ที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาในงบประมาณส่วนนี้ ซึ่งตามกำหนดการจะเข้าที่ประชุมประมาณวันที่ 22-23 ก.ค.นี้ โดยเป็นการเสนอเข้ามาของกองทัพเรือ แต่การที่นายยุทธพงศ์ออกมาแถลงข่าวลักษณะโจมตีรัฐบาลเสมือนว่างบประมาณในส่วนนี้ได้ผ่านที่ประชุมไปแล้ว เป็นการกระทำที่เสียมารยาท หวังแค่จะตีกินทางการเมือง มโนภาพ จินตนาการให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ยังไม่มีมูลความจริง 

“ผมเห็นพฤติกรรมตีกินแบบนี้ของนายยุทธพงศ์มาตลอดตั้งแต่เข้ามาเป็น ส.ส.กว่า 2 ปี ผมก็มีคำถามว่านายยุทธพงศ์ยังมีความเหมาะสมท่ีจะเป็นกรรมาธิการต่อไปหรือไม่ เมื่อที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาหรือหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยเลย แต่นายยุทธพงศ์กลับออกมาโวยวายให้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต เจตนาของนายยุทธพงศ์ต้องการออกมาพูดให้ประชาชนเข้าใจผิดรัฐบาลใช่หรือไม่ สถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเช่นนี้ นายยุทธพงศ์ยังต้องการสร้างความแตกแยกไปเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องตัวเองใช่หรือไม่” นายสิระ กล่าว 

นายสิระ กล่าวต่อว่า นายยุทธพงศ์ต้องไปซื้อหนังสือมารยาทไปต้มกินบ้างจะได้รู้ว่าการทำงานร่วมกับคนหมู่มากต้องทำตัวอย่างไร การเอาความคิดเห็นของตัวเองมาชิงเด่นชิงดังกว่าเพื่อน พฤติกรรมแบบนี้ใช่หรือไม่ถึงอยู่ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ในส่วนชื่ออักษรย่อที่นายยุทธพงศ์นำไปแถลงข่าวก็ต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายกับบุคคลที่สาม ต้องรับกรรมที่ตัวเองทำที่แถลงข่าวโดยไม่มีข้อเท็จจริง แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ขอให้นายยุทธพงศ์กล้าๆ เปิดเผยชื่อจริงพร้อมหลักฐานออกมา อย่ากล่าวหาผู้อื่นลอยๆ 

นายสิระ กล่าวอีกว่า สำหรับการเชิญผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ มาชี้แจง ขณะนี้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ทางกมธ.จึงได้ให้ผู้บริหารแต่ละกระทรวงชี้แจงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือระบบซูม ซึ่งผู้บริหารแต่ละกระทรวงที่ได้ชี้แจงยังคงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางบประมาณของแผ่นดินเช่นเดิม เพียงแค่ใช้ระบบออนไลน์ ลดการมารวมตัวในห้องประชุมแคบๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ฉะนั้นการดำเนินการเช่นนี้ของกมธ.ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะการประชุมทุกครั้งมีตัวแทนทั้ง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงไม่มีข้อสงสัยเรื่องของความไม่โปร่งใสอยู่แล้ว 

“โจ้ ยุทธพงศ์” งัดหลักฐานหนังสือลงนามซื้อเรือดำน้ำโดย “พล.ร.อ.ลือชัย” ถึงบริษัทขายที่จีน หลังพบพิรุธเร่งจัดซื้อโดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพ ถาม”บิ๊กตู่”ไม่สงสารปชช.บ้างหรือ เรือดำน้ำปราบโควิดได้หรือไม่ เผย กมธ.งบฯฟากฝ่ายค้านเตรียมเสนอ กมธ.ชุดใหญ่ตัดทิ้งเรือด

ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  พร้อมด้วยนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ที่จะมีการนำเข้าสู่พิจารณาของคณะกรรมธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจาณาร่าพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในวันที่ 19 ก.ค.

โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ตนมีหนังสือจาก พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ไปถึงนายสู จ้าน ปิน รองประธานองค์กรบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกัน ประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในหนังสือมีพิรุธคือ หนังสืออกจากกองทัพเรือ วันที่ 24 กันยายน 2563 เร่งรัดให้มีการลงนามในสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ให้ทันในปีงบประมาณ 63 หรือภายในเดือนกันยายนปี 63 โดยระบุอีกว่า หากดำเนินการไม่ทันสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย อาจจะทำให้ต้องเริ่มต้นจัดหากันใหม่ นอกจากนี้ในหนังสือยังระบุอีกว่า หากประเทศจีนไม่สามารถส่งผู้แทนมาลงนามในสัญญาได้ก็ขอให้ผู้แทนจากสถานเอกอัคราชทูตจีนในประเทศไทยมาลงนามในข้อตกลงดังกล่าวแทน 
          
“นี่คือข้อพิรุธว่า การซื้อขายเรือกดำน้ำเที่ยวนี้ ถ้าบอกว่าเป็นการซื้อขายแบบจีทูจีจริง ทำไมพล.ร.อ.ลือชัยออกหนังสือไปวันที่ 24 กันยายน 63 จะให้ทางจีนมาเซ็นต์ก่อนวันที่ 30 กันยายน 63 หรือก่อนที่ พล.ร.อ.ลือชัย จะเกษียณ ด้วยสถานการณ์โควิด จะเดินทางเข้าประเทศได้ต้องมีการกักตัวจึงบอกว่า ถ้าทางจีนมาไม่ได้ก็ขอให้เอาคนจากสถานทูตจีนในประเทศไทยก็ได้ “นายยุทธพงศ์ กล่าว
        
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในหนังสือยังอ้างถึงเรืออีก 1 ลำ คือเรือ LPD สนับสนุนเรือดำน้ำที่กองทัพเรือของไทยซื้อมาจากประเทศจีนเช่นกัน โดยเรือลำนี้มูลค่า 6,200 ล้านบาท แต่ไม่มีระบบอำนวยการรบ และระบบใดๆทั้งที่ต้องมี แต่ได้เรือมาเปล่าๆ พล.ร.อ.ลือชัย จึงเขียนหนังสือไปขออาวุธปืนเขา ซึ่งเรือลำนี้ในงบปี 65 ที่วันที่ 19 ก.ค. จะมีการพิจารณาในกมธ.งบฯ 65 นั้นมีการของบฯเข้ามา 1,800 ล้านบาท สรุปการไปขอร้องบริษัทจีนดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่า พล.ร.อ.ลือชัยเร่งรัดเซ็นสัญญาซื้อเรือ LPD มูลค่า 6,200 ล้านบาท และเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท ในช่วงที่ตนเองเป็น ผบ.ทร. เท่านั้น โดยอ้างว่ามีงบประมาณจำกัด เอาตัวเรือมาก่อน โดยไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพของเรือแม้แต่น้อย และเป็นการแสดงให้เห็นว่า กองทัพเรือไปต่อเรือลำนี้มาโดยไม่มีความพร้อมในด้านการรบเลยแม้แต่น้อย เป็นการซื้อที่ขาดแผนงาน คำนึงถึงแต่ประโยชน์ที่ไปซื้อเรือเท่านั้น และที่เสียหายมากที่สุดคือการไปร้องขอให้เขาติดตั้งระบบอำนวยการรบ ระบบอาวุธต่างๆให้ เป็นการเสียชื่อเสียงของประเทศไทยมาก 
         
“สัญาญาระหว่างกองทัพเรือไทย และประเทศจีนผ่านบริษัท china shipbuilding & offshore international co. ltd (CSOC) ในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำแรก และลำที่ 2 และ 3 ที่มีลักษณะเดียวกันนั้น ระบุให้รัฐบาลจีนมอบอำนาจให้บริษัทนี้เป็นตัวแทนฝ่ายจีนต่อเรือดำน้ำระหว่างรัฐบาลไทยที่มีพล.ร.อ.ลือชัย ลงนาม กับรัฐบาลจีนที่มีนายสู จีคี ประธานบริษัท CSOC เป็นตัวแทน ซึ่งสัญญาเป็นการซื้อขายแบบจีทูจี แต่เหตุใดตอนจ่ายเงิน รัฐบาลไทยจึงจ่ายเข้าบัญชีของบริษัท CSOC ที่ปักกิ่ง ทำไมไม่จ่ายเงินไปที่กระทรวงกลาโหมของจีน หรือรัฐบาลจีน” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีคนติดเชื้อโควิดวันละหมื่นกว่าคน คนวันละร้อยกว่าคน ระบบสาธารณสุขเราสู้ไม่ได้ คนป่วยล้น คนรอเข้ารับการรักษาอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันประชาชนจำนวนมาก อดอยาก หิวโหย แต่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับจะไปซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน แล้วพล.อ.ประยุทธ์อย่าบอกว่าไม่รู้เรื่อง ไม่ได้นะ เพราะท่านในฐานะรมว.กลาโหมที่ต้องเป็นผู้ลงนามในสัญญา และในฐานะนายกฯ ที่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของ ครม. ท่านไม่สงสารประชาชนเลยหรือ แล้วท่านไม่สงสัยในประสิทธิภาพของเรือดำน้ำหรือ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเหมือนวัคซีนซิโนแวกที่ประชาชนสงสัยทั้งประเทศ เหตุใดท่านไม่เอาลำแรกมาลองใช้กอน ทำไมจึงต้องเร่งซื้อทีเดียวถึง 2 ลำ
 
“ 19 ก.ค. จะมีการประชุมของ กมธ.งบฯ 65 ซึ่งเป็นการประชุมออนไลน์ โดยกมธ.ซีกรัฐบาลไม่ยอมให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 4 ท่าน มาชี้แจง โดยอ้างว่ากลัวโควิด ฝ่ายค้านพยายามต่อสู้ให้ผบ.เหล่าทัพมาชี้แจง แต่กมธ.ซีกรัฐบาลก็ไม่ยอม เรื่องนี้ต้องถามนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กมธ.ฯฟากรัฐบาล ว่าทำไมถึงไม่ให้ผบ.เหล่าทัพมาชี้แจง ทั้งนี้กมธ.ฯซีกฝ่ายค้านทุกพรรค เราได้หารือร่วมกัน และมีมติแล้วว่า จะขอให้ กมธ.ชุดใหญ่ตัดทิ้งงบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำไปเลย โดยไม่ต้องส่งไปให้อนุกมธ.ฯพิจารณา ถ้ากมธ.ฯซีกรัฐบาลไม่ยอมเราจะขอเสนอให้โหวตเลย แพ้เป็นแพ้ จะได้รู้ว่าใครบ้างที่ยกมือโหวตผ่านให้ซื้อเรือดำน้ำ อยากถามว่าเรือดำน้ำปราบโควิดได้หรือไม่  และในวันที่ 19 ก.ค. ผมมีหลักฐานใหม่ที่จะเอามาแฉให้ห้องประชุม กมธ.ใหญ่ ได้เห็นอีก”นายยุทธพงศ์ กล่าว

“องอาจ” จี้นายกฯ ช่วยคนติดโควิดให้มีที่ไป อย่าให้ตายคาบ้าน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นทุกวันในขณะนี้ว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ของอดีต ส.ส. อดีต ส.ก. ตัวแทนพรรค สาขาพรรค พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นหลักหมื่นกว่าคนและยอดผู้เสียชีวิตมากกว่าหลักร้อยคน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร ที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดมากๆ ทางเดินแคบๆ แทบจะเดินสวนกันไม่ได้ บ้านที่อยู่อาศัยซึ่งน่าจะเรียกว่าห้องพักอยู่กันมากกว่า 2-3 คน ขึ้นไป ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หาเช้ากินค่ำ เมื่อมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นทำให้ง่ายต่อการแพร่ระบาดออกไปมาก

สาเหตุสำคัญเกิดจากผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดไม่มีที่ไป ไม่มีใครให้คำแนะนำ จนกว่าจะหาคนมาช่วยเหลือได้ บางครั้งก็สายเกินไป ต้องเสียชีวิตก่อนที่จะได้รักษา 

จากการทำงานดูแลช่วยเหลือประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยประสบการณ์ที่สัมผัสกับเหตุการณ์จริงๆ ในแต่ละวันพบว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะอยู่ในระดับสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดงก็ตาม แล้วไม่มีที่รักษาตัว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในรายที่อาการหนัก หรือโรงพยาบาลสนามในรายที่อาการยังไม่หนักมาก คนเหล่านี้ก็จะรอการช่วยเหลืออยู่ที่บ้าน ทำให้เอาเชื้อโควิดมาติดกับสมาชิกในบ้าน และเนื่องจากคนในชุมชนแออัดต้องหาเช้ากินค่ำ จึงต้องออกไปทำงานรับจ้างต่างๆ ทำให้นำเชื้อไปแพร่ต่อให้คนอื่นๆ อีกจำนวนมาก 

ถึงแม้ภายหลังจะเริ่มมีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) แต่คนในชุมชนแออัดเมื่อติดโควิดแล้ว ถึงแม้จะอยู่ระดับสีเขียว ก็ไม่สามารถแยกกักตัวในบ้านได้ เพราะสภาพบ้านที่อยู่คือห้องที่อยู่รวมกันหลายคน 

จากสภาพความจริงส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้นในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานครดังกล่าว จึงขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ประธาน ศบค. เร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนดังนี้

1. เมื่อมีผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดต้องรีบนำออกไปดูแลรักษาตามความหนักเบาของอาการ จะใช้วิธีแยกกักตัวที่บ้านไม่ได้ เพราะในชุมชนแออัดจะอยู่รวมกันอย่างแออัดในห้องเดียวกัน ไม่ได้มี 2-3 ห้องเหมือนบ้านคนมีฐานะทั่วไปที่จะทำให้ใช้วิธีแยกกักตัวได้
2. รีบตรวจหาเชื้อสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดเชื้ออย่างเร่งด่วน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้าติดเชื้อจะได้ดูแลรักษาต่อไป ถ้าไม่ติดเชื้อก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงควรให้กักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน
3. ภาครัฐควรจัดหาข้าวสาร อาหารแห้งมามอบให้ผู้กักตัวมีข้าวกิน เพราะถ้าไม่มีอะไรกิน ผู้กักตัวเหล่านี้ก็จะต้องออกไปดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากเป็นผู้หาเช้ากินค่ำ ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อหรือรับเชื้อได้โดยง่าย

ขอให้นายกฯ หาทางแก้ไขตามข้อเสนอนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

เพราะถ้ายังปล่อยให้ผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดไม่มีที่ไป จะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน จึงขอวิงวอนนายกฯ รีบบริหารจัดการให้แตกต่างจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดผู้ติดเชื้อให้ได้ในที่สุด

ทหารตำรวจ  พร้อมจัดกำลังเสริมการสนับสนุนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระบบ รับมือสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังมีแนวโน้มรุนแรง

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึง กรณีการเตรียมสนับสนุนของ กระทรวงกลาโหม ในการรับมือกับการแก้ปัญหานำผู้ป่วยติดเชื้อตามบ้านและชุมชนที่มีมากขึ้นออกมารักษาในระบบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้นว่า  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กำชับให้ทุกเหล่าทัพและตำรวจ เตรียมจัดกำลังและยานพาหนะเพิ่ม เสริมการทำงานร่วมกับ สธ.แล้ว  จากเดิม ที่ได้จัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด 19” ขึ้น โดยระดมยานพาหนะจากทุกเหล่าทัพและตำรวจกว่า 100 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ควบคุมการปฏิบัติ โดย ศปม.  เข้าสนับสนุนการทำงานร่วมกับ กทม.โดย “ศูนย์เอราวัณ” และ สธ.โดย “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่อาจตกค้างหรือมีเพิ่มตามบ้านและชุมชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เข้ารับการรักษาตามระบบ โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ 24 เม.ย.64 ถึงปัจจุบัน ศูนย์ดังกล่าวที่ กระทรวงกลาโหม จัดตั้งขึ้น ได้สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว รวมกว่า 15,000 ราย

โดยมีขั้นตอนการทำงานร่วมกัน เมื่อได้รับแจ้งจากผู้ป่วยติดเชื้อตามบ้านหรือในชุมชน ผ่านบริการสายด่วน หมายเลข 1668  1669 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ หมายเลข 062 -442-7903 “ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด 19” ที่กองทัพจัดตั้งเสริมขึ้น  

โดยจะประสานทำงานร่วมกันในการประเมินอาการผู้ป่วยและเตรียมสถานพยาบาลปลายทางรองรับ หลังจากนั้นจะจัดเจ้าหน้าที่และยานพาหนะไปรับถึงบ้าน เพื่อนำพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระบบ ตามอาการในสถานพยาบาลระดับต่างๆที่จัดขึ้น เช่น ผู้ป่วยสีเขียวในรพ.สนาม ผู้ป่วยสีเหลืองและแดงใน รพ.หลัก หรือ Hospitel เป็นต้น  ทั้งนี้ผู้ป่วยสีเขียวที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ สามารถขอรับการกักและรักษาตัวที่บ้าน ( Home Isolation ) หรือในสถานที่พักคอยของชุมชน (Community Isolation) ได้ ภายใต้มาตรการและการดูแลที่สาธารณสุขที่กำหนด 

“บิ๊กตู่”ห่วงผู้ป่วยโควิด-19 สั่งปรับการบริหารให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ได้ รวมทั้งจัดการดูแลผู้ป่วยในลักษณะที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. รับทราบด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์โควิด-19  ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 และการรักษาพยาบาล จึงได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาการจัดการและปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีอยู่อย่างจำกัด โดยในที่ประชุมศบค. วานนี้(16 ก.ค.)นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งการตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมให้มากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง และการจัดการดูแลผู้ติดเชื้อในลักษณะการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือการดูแลรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) และปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อตรวจให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด และนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว ลดการแพร่ระบาดในชุมชน

“ซึ่งมาตรการ Home Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน และมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน เป็นมาตรการเสริมซึ่งนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสูงโดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อน้อย ก็ยังคงใช้มาตรการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชนก็จะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดส่ง Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team ที่ประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และเจ้าหน้าที่เขตของกทม. ติดตามการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชนของผู้ป่วยด้วย”นายอนุชา กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ มาตรการ Home Isolation มีหลักการดังนี้ 1.ผู้ป่วยติดเชื้ออาการต้องไม่รุนแรงหรือเป็นผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการปอดอักเสบ ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก หรือมีภาวะโรคเสี่ยง 2.ที่พักต้องเป็นแบบที่อยู่ด้วยกันแบบไม่แออัดจนแยกกักตัวไม่ได้ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายคนแล้วต้องนอนรวมกัน ก็ไม่เหมาะกับ Home Isolation เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อ ต้องจัดเป็น Community Isolation หรือที่ชุมชนจัดให้แทน 3.ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการกักตัว ไม่ควรออกไปนอกบ้านจนทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ 4.โรงพยาบาลจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีแพทย์ที่สามารถทำ Video call ติดตามอาการคนไข้ได้ทุกวัน มีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนให้  มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และยาฟ้าทะลายโจร และมีอาหารให้ผู้ติดเชื้อ 3 มื้อ และในกรณีที่อาการเปลี่ยนแปลง จะส่งต่อรักษาโรงพยาบาลทันที

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน คกก.โรคติดต่อจังหวัด และเจ้าของสถานที่หรือชุมชน จะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์และความพร้อม โดยพิจารณาจากจำนวนและระดับอาการผู้ติดเชื้อ จำนวนและระดับอาการของผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ผู้ป่วยยืนยันติดโควิด-19 เป็นผู้ที่อยู่ในชุมชน เป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ท่ีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา และรองรับได้ทุกกลุ่มผู้ป่วย โดยจะคัดเลือกพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนหรือภาคเอกชนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ เป็นความร่วมมือระหว่างเขต โรงพยาบาล (ทั้งภาครัฐและเอกชน) และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และเป็นชุมชนที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการที่บ้านหรือแยกกักในชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เข้ารับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด รวมทั้งยังช่วยสงวนเตียงโรงพยาบาล เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงได้เพียงพอ นอกจากนี้ ผอ. ศบค. ยังขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่จะมีการยกระดับที่เข้มข้น เช่น งดการรวมกลุ่ม จำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่ อยู่ในที่พักตามเวลาที่กำหนด โดยขอให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top