Sunday, 19 May 2024
POLITICS

“องอาจ” จี้นายกฯ ช่วยคนติดโควิดให้มีที่ไป อย่าให้ตายคาบ้าน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นทุกวันในขณะนี้ว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ของอดีต ส.ส. อดีต ส.ก. ตัวแทนพรรค สาขาพรรค พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นหลักหมื่นกว่าคนและยอดผู้เสียชีวิตมากกว่าหลักร้อยคน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร ที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดมากๆ ทางเดินแคบๆ แทบจะเดินสวนกันไม่ได้ บ้านที่อยู่อาศัยซึ่งน่าจะเรียกว่าห้องพักอยู่กันมากกว่า 2-3 คน ขึ้นไป ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หาเช้ากินค่ำ เมื่อมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นทำให้ง่ายต่อการแพร่ระบาดออกไปมาก

สาเหตุสำคัญเกิดจากผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดไม่มีที่ไป ไม่มีใครให้คำแนะนำ จนกว่าจะหาคนมาช่วยเหลือได้ บางครั้งก็สายเกินไป ต้องเสียชีวิตก่อนที่จะได้รักษา 

จากการทำงานดูแลช่วยเหลือประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยประสบการณ์ที่สัมผัสกับเหตุการณ์จริงๆ ในแต่ละวันพบว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะอยู่ในระดับสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดงก็ตาม แล้วไม่มีที่รักษาตัว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในรายที่อาการหนัก หรือโรงพยาบาลสนามในรายที่อาการยังไม่หนักมาก คนเหล่านี้ก็จะรอการช่วยเหลืออยู่ที่บ้าน ทำให้เอาเชื้อโควิดมาติดกับสมาชิกในบ้าน และเนื่องจากคนในชุมชนแออัดต้องหาเช้ากินค่ำ จึงต้องออกไปทำงานรับจ้างต่างๆ ทำให้นำเชื้อไปแพร่ต่อให้คนอื่นๆ อีกจำนวนมาก 

ถึงแม้ภายหลังจะเริ่มมีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) แต่คนในชุมชนแออัดเมื่อติดโควิดแล้ว ถึงแม้จะอยู่ระดับสีเขียว ก็ไม่สามารถแยกกักตัวในบ้านได้ เพราะสภาพบ้านที่อยู่คือห้องที่อยู่รวมกันหลายคน 

จากสภาพความจริงส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้นในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานครดังกล่าว จึงขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ประธาน ศบค. เร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนดังนี้

1. เมื่อมีผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดต้องรีบนำออกไปดูแลรักษาตามความหนักเบาของอาการ จะใช้วิธีแยกกักตัวที่บ้านไม่ได้ เพราะในชุมชนแออัดจะอยู่รวมกันอย่างแออัดในห้องเดียวกัน ไม่ได้มี 2-3 ห้องเหมือนบ้านคนมีฐานะทั่วไปที่จะทำให้ใช้วิธีแยกกักตัวได้
2. รีบตรวจหาเชื้อสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดเชื้ออย่างเร่งด่วน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้าติดเชื้อจะได้ดูแลรักษาต่อไป ถ้าไม่ติดเชื้อก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงควรให้กักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน
3. ภาครัฐควรจัดหาข้าวสาร อาหารแห้งมามอบให้ผู้กักตัวมีข้าวกิน เพราะถ้าไม่มีอะไรกิน ผู้กักตัวเหล่านี้ก็จะต้องออกไปดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากเป็นผู้หาเช้ากินค่ำ ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อหรือรับเชื้อได้โดยง่าย

ขอให้นายกฯ หาทางแก้ไขตามข้อเสนอนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

เพราะถ้ายังปล่อยให้ผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดไม่มีที่ไป จะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน จึงขอวิงวอนนายกฯ รีบบริหารจัดการให้แตกต่างจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดผู้ติดเชื้อให้ได้ในที่สุด

ทหารตำรวจ  พร้อมจัดกำลังเสริมการสนับสนุนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระบบ รับมือสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังมีแนวโน้มรุนแรง

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึง กรณีการเตรียมสนับสนุนของ กระทรวงกลาโหม ในการรับมือกับการแก้ปัญหานำผู้ป่วยติดเชื้อตามบ้านและชุมชนที่มีมากขึ้นออกมารักษาในระบบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้นว่า  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กำชับให้ทุกเหล่าทัพและตำรวจ เตรียมจัดกำลังและยานพาหนะเพิ่ม เสริมการทำงานร่วมกับ สธ.แล้ว  จากเดิม ที่ได้จัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด 19” ขึ้น โดยระดมยานพาหนะจากทุกเหล่าทัพและตำรวจกว่า 100 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ควบคุมการปฏิบัติ โดย ศปม.  เข้าสนับสนุนการทำงานร่วมกับ กทม.โดย “ศูนย์เอราวัณ” และ สธ.โดย “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่อาจตกค้างหรือมีเพิ่มตามบ้านและชุมชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เข้ารับการรักษาตามระบบ โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ 24 เม.ย.64 ถึงปัจจุบัน ศูนย์ดังกล่าวที่ กระทรวงกลาโหม จัดตั้งขึ้น ได้สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว รวมกว่า 15,000 ราย

โดยมีขั้นตอนการทำงานร่วมกัน เมื่อได้รับแจ้งจากผู้ป่วยติดเชื้อตามบ้านหรือในชุมชน ผ่านบริการสายด่วน หมายเลข 1668  1669 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ หมายเลข 062 -442-7903 “ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด 19” ที่กองทัพจัดตั้งเสริมขึ้น  

โดยจะประสานทำงานร่วมกันในการประเมินอาการผู้ป่วยและเตรียมสถานพยาบาลปลายทางรองรับ หลังจากนั้นจะจัดเจ้าหน้าที่และยานพาหนะไปรับถึงบ้าน เพื่อนำพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระบบ ตามอาการในสถานพยาบาลระดับต่างๆที่จัดขึ้น เช่น ผู้ป่วยสีเขียวในรพ.สนาม ผู้ป่วยสีเหลืองและแดงใน รพ.หลัก หรือ Hospitel เป็นต้น  ทั้งนี้ผู้ป่วยสีเขียวที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ สามารถขอรับการกักและรักษาตัวที่บ้าน ( Home Isolation ) หรือในสถานที่พักคอยของชุมชน (Community Isolation) ได้ ภายใต้มาตรการและการดูแลที่สาธารณสุขที่กำหนด 

“บิ๊กตู่”ห่วงผู้ป่วยโควิด-19 สั่งปรับการบริหารให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ได้ รวมทั้งจัดการดูแลผู้ป่วยในลักษณะที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. รับทราบด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์โควิด-19  ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 และการรักษาพยาบาล จึงได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาการจัดการและปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีอยู่อย่างจำกัด โดยในที่ประชุมศบค. วานนี้(16 ก.ค.)นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งการตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมให้มากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง และการจัดการดูแลผู้ติดเชื้อในลักษณะการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือการดูแลรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) และปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อตรวจให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด และนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว ลดการแพร่ระบาดในชุมชน

“ซึ่งมาตรการ Home Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน และมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน เป็นมาตรการเสริมซึ่งนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสูงโดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อน้อย ก็ยังคงใช้มาตรการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชนก็จะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดส่ง Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team ที่ประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และเจ้าหน้าที่เขตของกทม. ติดตามการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชนของผู้ป่วยด้วย”นายอนุชา กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ มาตรการ Home Isolation มีหลักการดังนี้ 1.ผู้ป่วยติดเชื้ออาการต้องไม่รุนแรงหรือเป็นผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการปอดอักเสบ ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก หรือมีภาวะโรคเสี่ยง 2.ที่พักต้องเป็นแบบที่อยู่ด้วยกันแบบไม่แออัดจนแยกกักตัวไม่ได้ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายคนแล้วต้องนอนรวมกัน ก็ไม่เหมาะกับ Home Isolation เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อ ต้องจัดเป็น Community Isolation หรือที่ชุมชนจัดให้แทน 3.ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการกักตัว ไม่ควรออกไปนอกบ้านจนทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ 4.โรงพยาบาลจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีแพทย์ที่สามารถทำ Video call ติดตามอาการคนไข้ได้ทุกวัน มีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนให้  มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และยาฟ้าทะลายโจร และมีอาหารให้ผู้ติดเชื้อ 3 มื้อ และในกรณีที่อาการเปลี่ยนแปลง จะส่งต่อรักษาโรงพยาบาลทันที

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน คกก.โรคติดต่อจังหวัด และเจ้าของสถานที่หรือชุมชน จะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์และความพร้อม โดยพิจารณาจากจำนวนและระดับอาการผู้ติดเชื้อ จำนวนและระดับอาการของผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ผู้ป่วยยืนยันติดโควิด-19 เป็นผู้ที่อยู่ในชุมชน เป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ท่ีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา และรองรับได้ทุกกลุ่มผู้ป่วย โดยจะคัดเลือกพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนหรือภาคเอกชนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ เป็นความร่วมมือระหว่างเขต โรงพยาบาล (ทั้งภาครัฐและเอกชน) และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และเป็นชุมชนที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการที่บ้านหรือแยกกักในชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เข้ารับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด รวมทั้งยังช่วยสงวนเตียงโรงพยาบาล เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงได้เพียงพอ นอกจากนี้ ผอ. ศบค. ยังขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่จะมีการยกระดับที่เข้มข้น เช่น งดการรวมกลุ่ม จำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่ อยู่ในที่พักตามเวลาที่กำหนด โดยขอให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน

พท.อัดรัฐล็อกดาวน์ 6 วัน ตายทะลุร้อย ติดทะลุหมื่น เชื่อ ปชช.ไม่ทนให้ “ประยุทธ์” ยกระดับอะไรอีกแล้วนอกจากลาออก

 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวกรณีที่รัฐบาลเตรียมล็อกดาวน์เข้มข้น หลังพบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่ลดลงแต่กลับเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องว่า ขอแสดงความสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์การเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น เป็นเช้าวันสาร์ที่รันทด หดหู่สลดใจเป็นที่สุด เส้นทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเดินทางมาถึงจุดที่วิกฤตหนัก ฝันร้ายได้กลายเป็นจริง สถานการณ์เช้านี้ที่มีผู้เสียชีวิตทะลุ 100 ราย ผู้ติดเชื้อทะลุ 1 หมื่นคนต่อวัน

รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์มา 6 วัน เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ นอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้สียชีวิตไม่ลดลงแล้ว ยังเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ แสดงว่าแนวทางที่ทำมานั้นเดินมาถูกทางหรือไม่ จะยกระดับล็อกดาวน์เรื่อยๆหรือ คำถามคือสถานการณ์วิกฤตขนาดนี้ รัฐบาลควรจะแสดงความรับผิดชอบแล้วหรือยัง 

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์วิกฤตหนักขนาดอียูถอดไทยออกจากประเทศปลอดภัยจากโควิด  บริษัทประกันภัยขอยกเลิกประกันภัยโควิด-19 แม้พล.อ.ประยุทธ์จะปลอบใจตัวเองว่าจะไม่ลาออก จะไม่ยอมถอดฟันยาง จะสู้จนกว่าชนะ ไม่แน่ใจว่าท่านสู้กับอะไร ถ้าสู้กับโควิด พล.อ.ประยุทธ์แพ้มาทุกระลอก แพ้ทุกสถานการณ์ แม้จะพร้อมสู้ ไม่ยอมแพ้ แต่ถ้าประชาชนเป็นกรรมการคงสั่งยุติการชกไปตั้งนานแล้ว เพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะแก้ไขปัญหาอะไรได้ แทนที่จะเร่งทำงานแข่งกับความเป็นความตายของประชาชน ลดขั้นตอนให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้มากขึ้น แยกคน แยกโรค เร่งจัดหาวัคซีนคุณภาพมาฉีดให้กับประชาชน แต่ก็ทำท่ากลายเป็นวัคซีนทิพย์ ที่ผ่านมาประกาศผิด ประกาศใหม่ เยียวยาผิด ยกเลิกคำสั่ง ล็อกดาวน์ไม่ได้ผล เตรียมยกระดับล็อกดาวน์ พล.อ.ประยุทธ์ใช้โอกาสไปเปลืองมากแล้ว ถึงเวลาต้องแสดงความรับผิดชอบ
 
“ตายทะลุร้อย ติดทะลุหมื่น เห็นท่าไม่ดี เตรียมยกระดับเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์ ถ้าติด ถ้าตายมากกว่านี้อีก ประเทศชาติและประชาชนไม่พร้อมที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ยกระดับอะไรอีกแล้ว นอกจากให้ท่านยกระดับแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก” นายอนุสรณ์ กล่าว      

“บิ๊กตู่” สั่งกองทัพ จัดกำลังร่วม กทม. เร่งค้นหาเชิงรุก ฉีดยากลุ่มเสี่ยงตามบ้านและแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน พร้อท เร่งจัดตั้ง รพ.สนามเพิ่ม

.ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม  เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ  ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุม หน่วยงาน กอ.รมน. หน่วยขึ้นตรวกระทรวงกลาโหม  เหล่าทัพ และ ตร. ผ่านระบบ VTC เพื่อเร่งเข้าไปสนับสนุนรับมือกับวิกฤตโควิด-19 สายพันธ์ุใหม่ ที่พบแนวโน้มการแพร่ระบาดในประเทศยังสูงต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวม กองกำลังป้องกันชายแดนทั้งทหาร ตำรวจ ยังตรึงกำลัง เฝ้าระวังคัดกรองบุคคลผ่านเข้า-ออกชายแดน และจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายได้อย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ที่ผ่านมา จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ถึง 248 คน ( ลาว 110 กัมพูชา 69 พม่า 25 และจีน 4 คน ) โดยเจ้าหน้าที่ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง เพื่อหยุดและลดความเสี่ยงของการกระจายเชื้อสายพันธ์ใหม่ในพื้นที่ชายแดน 

ขณะเดียวกัน กำลังทหารตำรวจ ยังคงกระจายกันควบคุมดูแลแคมป์คนงาน 606 แห่งในพื้นที่ต่างๆของ กทม. พร้อมทั้งจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจ 88 จุด ในพื้นที่ต่างๆ ทำความเข้าใจกับประชาชนและเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายตามข้อกำหนดกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชนและการรวมกลุ่มในกิจกรรมเสี่ยง เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติในการควบคุมโรคอย่างจริงจังร่วมกัน

“เหล่าทัพ และตำรวจ ร่วมมือกันเร่งหยุดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ  กองทัพได้จัดกำลังร่วมกับ กทม.ทำหน้าที่ชุดตรวจค้นหาเชิงรุก ( CCRT ) จำนวน 69 ชุด และเตรียมจัดเพิ่มเป็น 188 ชุด เร่งเข้าชุมชนต่างๆใน 50 เขต ตรวจคัดกรองแยกผู้ป่วยออกจากบ้านและชุมชน เข้ารับการรักษาในระบบ พร้อมทั้งฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงตามบ้านในคราวเดียวกัน ระหว่าง 15-25 ก.ค.64 เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยถึงชีวิต”โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว 

ทั้งนี้พล.อ.ชัยชาญ ได้ย้ำสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ขอให้ทุกเหล่าทัพ ให้ความสำคัญ คงความเข้มข้นเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย  พร้อมทั้งขอให้สำรวจพื้นที่ในหน่วยทหาร ขยายผลจัดตั้ง รพ.สนามเพิ่มเติมใน จว.ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่  10 จว.สีแดงเข้ม และเตรียมบุคลากรทางการแพทย์แถวสองและอาสาสมัคร เพื่อดูแลรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มมากขึ้นให้เพียงพอ

นอกจากนี้ รมช.กลาโหม ยังได้กำชับทุกเหล่าทัพ ให้ความสำคัญสนับสนุน จว.สีแดงเข้มเร่งตรวจค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน และให้ประสานทำงานร่วมกับศูนย์เอราวัณดำรงความต่อเนื่องสนับสนุนยานพาหนะและเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ยังมีในชุมชนเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว  พร้อมกันนี้ ขอให้ทุกเหล่าทัพที่มีหน่วยทหารในพื้นที่สีแดงเข้ม ทำการตรวจเชิงรุกในชุมชนหน่วยทหาร และจัดตั้งพื้นที่คัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน ( CI ) รองรับการดูแลกันเองในหน่วยทหาร ควบคู่ไปกับการสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่  เพื่อร่วมมือกันลดการแพร่ระบาดของโรคให้ได้โดยเร็ว

ทร. รับ เสนอจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ในงบฯปี 65 เจรจาจ่ายงวดแรก 1 ใน 3 ยืนยันมีหน้าที่ต้องเสนอ เตรียมข้อมูลแจง กมธ. 

พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 พรรคฝ่ายค้านคัดค้านการตั้งงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่2-3 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19ว่า มีการเสนอในการจัดทำงบประมาณทุกปี ซึ่งปีนี้ก็เช่นกัน โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขอตัดงบฯ นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 

“กองทัพเรือทำตามหน้าที่ ที่เราต้องเสนอทุกปี เป็นขั้นตอนตามปกติ เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรม ในการดำรงภารกิจของตัวเอง ส่วนจะผ่านหรือไม่ผ่านนั้นก็ไม่เป็นไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กรรมาธิการฯ และรัฐสภา ไม่ได้มีอะไรซ่อนเร้น”โฆษกกองทัพเรือ กล่าว 

เมื่อถามว่า การเสนอจัดซื้ออาวุธช่วงนี้ถูกโจมตีว่าไม่เหมาะสมในช่วงสถานการณ์โควิด พล.ร.อ.เชษฐากล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอขึ้นไป ไม่ว่าเสนอปีไหนก็โดน และไม่ใช่เพิ่งโดน ก็โดนมาตลอด จะเลือกจากประเทศใดไหน เยอรมัน สวีเดน จีน ก็โดนโจมตี

เมื่อถามว่า กรณีสังคมไม่เห็นด้วยเพราะประชาชนกำลังเดือดร้อนนั้น โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอ คงต้องรอการพิจารณาในขั้นตอนของกรรมาธิการฯ ซึ่งฝ่ายค้านเขาก็ทำหน้าที่ของเขา กองทัพเรือก็ทำหน้าที่ของเรา หากเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไร   เมื่อกองทัพมีแผนพัฒนาเพื่อดำรงความพร้อมตามหน้าที่ เราก็ต้องทำ เมื่อเว้นไปก็จะมีผลกระทบ เนื่องจากโครงการเป็นลักษณะของแพ็คเกจ เมื่อจัดหาลำหนึ่งมาแล้ว จำเป็นต้องมีลำที่2-3 เพื่อนำมาหมุนเวียน ช่วงซ่อมบำรุง ซึ่งมีปัจจัยหลายหลายอย่างเข้ามาประกอบ

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวอีกว่า ในการตั้งงบประมาณปี 65  ได้มีการเจรจากับจีนขอลดวงเงินในปีแรกลง1 ใน3 ตามคำแนะนำของฝ่ายค้านเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งเราจะเตรียมข้อมูล เหตุผล จำเป็น ชี้แจงในคณะกรรมาธิการ ส่วนรายละเอียดเรื่องตัวเลข โดยทางกองประชาสัมพันธ์กองทัพเรือจะนำมาเผยแพร่ต่อไป

สำหรับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯนั้น จะใช้ระบบออนไลน์ โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ เสนาธิการเหล่าทัพผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม ปลัดบัญชีทุกเหล่าทัพ จะอยู่ ณ ที่ตั้งหน่วยของตัวเองแล้วชี้แจงไปยังห้องประชุมคณะกรรมาธิการ

ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานฯ นำทีมร่วมบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค พัดลม แก่รพ.สนาม จ.สมุทสาคร สู้โควิด-19 

นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานด้านติดตามศึกษานโยบายแรงงาน และโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค พัดลม ในนามสถาบันอนุสรีรวมใจให้กัน มูลนิธิพุทธรังษี ร่วมกับ กลุ่ม "เฮียธิ พี่อาย ทนายกันต์" (ธิติรัตน์ พุ่มไสว อนุสรี และ กันต์กวี ทับสุวรรณ) แก่โรงพยาบาลสนามพื้นที่เทศบาลตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์และนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้รับมอบ มีหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

จากนั้น ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานด้านติดตามศึกษานโยบายแรงงาน และโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะได้เยี่ยมชมสถานที่ที่เป็น (Factory Quaranteen : FQ) ตามคำเชิญของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ตำบลท่าไม้ และที่โรงงานพัทยาฟูดส์  ซึ่งเป็นต้นแบบภาคเอกชนที่เสียสละให้พื้นที่แก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดมาเข้ารับการกักตัว โดยมีระบบติดตาม เฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า การทำ FQ นี้ เป็นวิธีการแบ่งเบาภาระการขาดแคลนเตียงในการรักษาจากสถานพยาบาล โดยชุมชนร่วมกันดูแล ในลักษณะ Community Isolation ซึ่งในอนาคตหากมีปริมาณผู้ติดเชื้อมากขึ้น กลุ่มโรงงานเล็ก ๆ ที่ร่วมกันจัดตั้งสถานที่นี้ในชุมชน ช่วยกัน จะเป็นการช่วยคนป่วยที่ไม่มีเตียง และอยู่ในบ้านที่ไม่สามารถจัดการกักตัวได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรสนับสนุนภาคเอกชนในเรื่องการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวหารือในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

“โฆษกศบศ.” แจง “บิ๊กตู่” สั่งเร่งช่วยลูกหนี้ 10 จังหวัดล็อกดาวน์ เผยคลังถกแบงค์ชาติเตรียมพักชำระหนี้ 2 เดือน ช่วยผู้ประกอบการ-แรงงาน ที่ปิดกิจการจากมาตรการของรัฐ ส่วนลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการแต่ได้รับผลกระทบ เตรียมพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็น

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ก.ค. 64) ให้รีบหารือกันโดยเร่งด่วน เพื่อหามาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า ทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ จึงร่วมกันออกออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วประเทศ ซึ่งได้แก่ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมแต่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป แล้วแต่กรณี

นายธนกร กล่าวต่อว่า สำหรับลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ ควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น 

นายธนกร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการหลายๆ มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ให้ผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain สามารถกู้เงินกับธนาคารออมสิน วงเงินต่อรายอยู่ที่ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ซึ่งตอนนี้ อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว จำนวน 2,885 ราย วงเงินรวม 1,218 ล้านบาท
สินเชื่ออิ่มใจ ธนาคารออมสินให้กู้กับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม วงเงินต่อราย อยู่ที่ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และสินเชื่อสำหรับ SMEs ขนาดย่อมและขนาดกลาง  ได้แก่ สินเชื่อ Extra cash โดย SME Bank ให้กู้กับ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น วงเงินรายละ 3 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติแล้ว 4,283 ราย วงเงินรวม 7,335 ล้านบาท และสินเชื่อมีที่มีเงิน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป ได้แก่ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูอีกด้วย 

 

กอ.รมน. ร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน เชิงรุก แก้ไขปัญหาหลบหนีเข้าเมือง ทุกพื้นที่ 

พล.ต.ธนาธิป  สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า กอ.รมน. ได้ประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. เพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการจัดประชุมผ่านระบบวิดิทัศน์ทางไกล (VTC) เพื่อป้องกันการอยู่ร่วมกันเป็น หมู่คณะตามนโยบายของรัฐบาล และมาตรการที่ ศบค. กำหนด โดยมี พล.อ.วรเกียรติ  รัตนานนท์ เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานการประชุม ว่า ทางกอ.รมน. ได้ร่วมบูรณาการจัดตั้งทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการเชิงรุกแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และบุคคลหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จับกุมบุคคลหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาการจับกุมบุคคลต่างด้าวที่ใช้ช่องทางธรรมชาติลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทย ยังคงมีการตรวจพบและจับกุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลการจับกุมในพื้นที่ชายแดนมีแนวโน้มลดลง แต่มีผลการจับกุมที่ตรวจพบในสถานประกอบการเพิ่มขึ้น
 
โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ยังคงตรวจพบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่ม (คลัสเตอร์) ใหม่ๆ และมีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ, ปริมณฑล และจังหวัดเศรษฐกิจ/อุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยให้ห้วงเดือนที่ผ่านมา  กอ.รมน. ร่วมบูรณการกับกระทรวงมหาดไทย กรมอนามัย และสภาอุตสาหกรรม ประชาสัมพันธ์ จึงขอความร่วมมือให้สถานประกอบการปฏิบัติตามแนวทางที่ดีของโรงงาน (Good Factory Practice) (GFP)  สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันโรค ด้วยการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม มาตรฐานความปลอดภัยป้องกันโควิค – 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่   Thai Stop COVID Plus (TSC) และร่วมจัดตั้งทีมสหวิชาชีพเข้าประเมินโรงงานแบบ on site ในระดับจังหวัด โดยจะสุ่มตรวจให้ทุกจังหวัดต้องมีการประเมินโรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-20 ตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้
  
พล.ต.ธนาธิป กล่าวอีกว่า การดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ผ่านมามีการควบคุมโรคในรูปแบบพื้นที่ปิดเฉพาะ (Bubble and Seal) โดย กอ.รมน. ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐร่วมสกัดกั้นควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ตรวจสอบสถานประกอบการ ยกระดับมาตรการการป้องกันโรค และเร่งรัดการฉีดวัคซีน รวมทั้งหาแนวทางที่จะดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น คาดว่าจะสามารถควบคุมการแพร่การกระจายเชื้อโควิด - 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  
 

โฆษกอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน.จัดโครงการตู้ปันสุขช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิค - 19 โดยกอ.รมน. ได้ดำเนินการจัดทำโครงการตู้ปันสุข ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ที่ต้องการให้ กอ.รมน. มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระในการครองชีพให้กับประชาชนในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งกอ.รมน. ได้ดำเนินการจัดตั้งตู้ปันสุขที่บริเวณด้านหน้า กอ.รมน. และชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ซึ่งได้ประสานผู้นำชุมชนและให้ช่วยดูแลและบริหารจัดการในการแบ่งปันสิ่งของอุปโภค บริโภคในตู้ปันสุขให้กับประชาชนในชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม, ชุมชนซอยโซดา และชุมชนนครไชยศรี ให้ได้รับสิ่งของต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ โดยกำหนดเวลาการเติมสิ่งของในตู้ปันสุขในวันราชการ จำนวน 2 ครั้ง คือ 09.00 น. และ เวลา 14.00 น. ซึ่งที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง 

“ก่อนปิดการประชุม พล.อ.วรเกียรติ ได้กล่าวถึงนโยบายของ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ได้สั่งการให้เหล่าทัพสนับสนุนยุทโธปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิค – 19 (สีเขียว) ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับไปรักษายังภูมิลำเนา โดยที่  ผ่านมาได้ดำเนินการ “โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ทบ. และ กอ.รมน. พาคนกลับบ้าน” เพื่อสนับสนุนรัฐบาลลดภาระระบบสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถช่วยแบ่งเบาภาระการรักษาผู้ป่วยฯ ของโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลในระบบของกระทรวงสาธารณสุขได้ในระดับหนึ่ง โดยในห้วงต่อไปจะดำเนินการขยายผลโดยใช้อากาศยานของกองทัพบก สนับสนุนการเดินทางให้กับผู้ป่วยโควิค – 19 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเดินทางกลับไปพักรักษาตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ กอ.รมน. ใคร่ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยดำเนินการขยายผลและประชาสัมพันธ์ให้ได้รับทราบต่อไป” พล.ต.ธนาธิป กล่าว

เข้าใจดีว่าอึดอัด ‘วิโรจน์’ ดีใจ ‘สาธิต’ ยอมเปิดปากกล้าสารภาพความจริงที่ ‘ประยุทธ์ - อนุทิน’ ปกปิด จี้ เปิดข้อมูลสำคัญที่ถูก ‘ถมดำ’ เพื่อประโยชน์ประชาชน ถามย้ำ ปชป.ยังจะร่วม ‘รัฐบาลประยุทธ์’ ที่ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนต่อไปอีกหรือ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล  กล่าวถึงจากกรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ออกมาสารภาพความจริง ให้ประชาชนได้รับทราบว่า สัญญาที่รัฐบาลได้ทำเอาไว้กับ AstraZeneca ไม่ได้ระบุว่าต้องส่งมอบเมื่อใดนั้น และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลไม่น่าจะได้รับวัคซีนเพื่อนำมาใช้ปกป้องชีวิตของประชาชนคนไทยจากโรคระบาด ได้ครบ 61 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 นี้ โดยมีการขยายระยะเวลาการส่งมอบไปถึงเดือน พ.ค. ปี 65 ซึ่งถ้าสัญญา ไม่ได้ระบุ ระยะเวลาในการส่งมอบที่ชัดเจน ก็ไม่รู้ว่าจะถูกเลื่อนการส่งมอบอีกหรือไม่

วิโรจน์ กล่าวต่อกรณีนี้ว่า แม้จะรู้สึกคับแค้น และเสียใจที่ได้รับทราบข่าวดังกล่าว แต่ก็ยังดีที่วันนี้ได้รู้ความจริง จากปากของ นายสาธิต ที่กล้านำเอาความจริงที่ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ไม่ยอมบอกกับประชาชน มาบอกให้ประชาชนได้ล่วงรู้ความจริง ว่าเรื่องวัคซีนจะมีเต็มโรงพยาบาล มีเต็มแขนของประชาชน คงจะเป็นไปได้ยากมากๆ แล้ว เข้าใจว่านายสาธิต คงต้องเผชิญแรงกดดันจากทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน เป็นอย่างมาก ที่นำเอาความจริงมาเปิดเผยในครั้งนี้ 

“ในเมื่อประชาชนได้รู้ความจริงแล้วว่า รัฐบาลนั้นเชื่อถือไม่ได้อีกแล้ว ต่อจากนี้ไป ประชาชนคงต้องเน้นพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น ตลอดจนช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามทุกข์ยามยากให้มากขึ้น” 

วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ตนและภาคประชาชน ได้เตือนรัฐบาลมาโดยตลอด ว่าหากรัฐบาลไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนเอาไว้ล่วงหน้า ถ้าเกิดปัญหาการส่งมอบวัคซีนล่าช้า หรือเกิดปัญหาประสิทธิผลของวัคซีนที่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันการระบาด หรือเกิดปัญหาอาการไม่พึงประสงค์หลังรับการฉีดวัคซีนที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น หรือในกรณีที่ต้องเผชิญหน้ากับเชื้อกลายพันธุ์ แล้วรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ในเมื่อนายสาธิต กล้าที่จะนำเอาความจริงมาเปิดเผยแล้ว ก็ควรจะเปิดเผยความจริงทั้งหมดให้กับประชาชนได้รับทราบ เพราะมีอีกหลายเรื่อง ที่ประชาชนอยากรู้ความจริง เช่น

1) ในเมื่อเงื่อนไขการอุดหนุนวงเงิน 600 ล้านบาท ให้กับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีเงื่อนไขที่ระบุในหนังสือจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ลงวันที่ 24 ส.ค. 63 ระบุชัดว่า มีเงื่อนไขจำกัดการส่งออก และประเทศไทยจะมีสิทธิสั่งซื้อเป็นอันดับแรก แล้วเหตุใด ในรายละเอียดในหนังสือแสดงเจตจำนงในการทำสัญญา (Letter of Intent) ในวันที่ 12 ต.ค. 63 รัฐบาลจึงไปตกลงที่ยอมให้ AstraZeneca สามารถส่งออกได้ โดยปราศจากเงื่อนไข

2) ตกลงแล้วสัญญาวัคซีน AstraZeneca 26 ล้านโดส ที่ลงนามในวันที่ 12 ม.ค. 64 นั้นมีเงื่อนไขจำกัดการส่งออก และประเทศไทยมีสิทธิซื้อก่อน อยู่หรือไม่ แล้ว ณ วันนี้ ที่ประชาชนได้รับวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน 10 ล้านโดสต่อเดือน รัฐบาลสามารถบังคับสัญญาได้หรือไม่

3) ในกรณีที่ไม่มีเงื่อนไขการจำกัดการส่งออก และสิทธิการซื้อวัคซีนก่อน แล้วสัญญารับทุนอุดหนุนของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ลงนามในวันที่ 18 ธ.ค. 63 นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

4) สัญญาที่เปิดเผย ณ วันนี้ นั้นเป็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca ที่ปรากฎตัวเลขเพียง 26 ล้านโดส เท่านั้น จึงอยากจะสอบถามว่า ตัวเลขอีก 35 ล้านโดส เพื่อรวมเป็น 61 ล้านโดส นั้นอยู่ในสัญญาฉบับไหน และมีเงื่อนไขการสั่งซื้ออย่างไร

นอกจากนี้ วิโรจน์ ยังได้ทวงถามไปถึงนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวง อว. ว่า ปกติแล้วประชาชนทั่วไป จะสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลสต๊อกวัคซีนโควิด-19 ได้ผ่านระบบการติดตามตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็นของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยกระทรวง อว. แต่ทำไม ในปัจจุบัน จึงมีการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวง อว. กลับมาเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลสต๊อกวัคซีน โดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของประชาชน ความโปร่งใสเท่านั้น ที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมาได้ ยิ่งปิดกั้น ยิ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในรัฐบาล และจะทำให้รัฐบาลล่มสลายในความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในที่สุด

สุดท้าย วิโรจน์ ได้ให้กำลังใจนายสาธิต เพราะเข้าใจในความอึดอัดของนายสาธิตดี ที่ต้องทนเห็นประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เห็นประชาชนตายคาบ้าน เห็นคนรอคิวตรวจต้องนอนรอตามริมกำแพงวัด นอนรอบนฟุตบาท ต้องตากฝนรอ เห็นน้ำตาประชาชนที่หมดหนทางในการหาเตียง เห็นเด็กตัวเล็กๆ ต้องกำพร้าที่จะไม่ได้รับอ้อมกอดจากพ่อแม่อีก เห็นคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หมดอาลัยตายอยากในชีวิต

“ผมขอตั้งคำถามเชิงให้กำลังใจ ไปยังนายสาธิตว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังจะยอมให้กับ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อกรรมเข็ญกับประชาชน ต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้ จริงๆ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ทำได้แค่เบือนหน้าหนี กัดริมฝีปากล่าง และแอบไปร้องไห้ปาดคราบน้ำตา กับภาพความทุกข์ยากสิ้นหวังของประชาชน ที่สาหัสขึ้นอยู่ทุกวัน ทำได้แค่นี้จริงๆ หรือ”  วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

“ราเมศ”ประกาศ ระดมพลนักกฎหมายทั่วประเทศ ช่วย ปชช ถูกยกเลิกกรมธรรม์ โควิด-19 หลังบริษัทประกันบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์และเลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่บริษัทประกัน ได้บอกเลิกกรมธรรม์ ประชาชนที่ทำประกันภัยการติดเชื้อโควิด-19 ว่า เรื่องนี้กฎหมายระบุไว้ชัดประชาชนผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ บริษัทตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งในกรณีภัยหากมีขึ้น คือหากผู้ทำประกันภัยติดเชื้อโควิด-19 บริษัทก็ต้องทำตามสัญญาคือการใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ ผูกพันสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อได้หลักความสมบูรณ์ของสัญญาประกันภัยแล้ว ก็ต้องมาดูว่ากรณีที่จะยกเลิกสัญญาประกันภัย ทำได้เพราะเหตุใดบ้าง หลักกฎหมายกำหนดไว้ชัดว่า หากมีการแถลงข้อความอันเป็นเท็จหรือรู้อยู่แล้วไม่บอกความจริง สามารถบอกเลิกได้ เช่น หากติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่นำหลักฐานเท็จมาแสดงต่อบริษัทว่าตนไม่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด ต่อมาเมื่อทำสัญญาประกันแล้ว นำผลตรวจมาแจ้งว่าติดเชื่อโควิดเพื่อขอรับเงินค่าสินไหม กรณีตัวอย่างนี้บอกเลิกสัญญาได้ เช่นเดียวกันคือประชาชนผู้ทำสัญญาประกันภัยกระทำการทุจริต เช่น นำผลตรวจปลอมมาขอรับเงินค่าสินไหม กรณีนี้บอกเลิกสัญญาได้

นายราเมศ กล่าวต่อว่า กรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย อ้างเหตุบอกเลิกสัญญาตามกรมธรรม์ ข้อ 2.4.3 ที่ระบุการสิ้นสุดความคุ้มครองเมื่อผู้เอาประกันภัยหรือบริษัทบอกเลิกกรมธรรม์ตามเงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนดข้อ 2.5 และอ้างเหตุตาม ข้อ 2.5.1. ที่ระบุว่าบริษัทสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัยตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบโดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการโดยทุจริตเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัยนี้ บริษัทจะไม่คืนเบี้ยประกันภัยที่ได้เรียกเก็บมาแล้ว เพราะเหตุแห่งการฉ้อฉลหรือการทุจริตดังกล่าวข้างต้นและบริษัทจะไม่รับผิดสำหรับการเรียกร้องค่าทดแทนอันเกิดจากการกระทำดังกล่าว” จากกรณีการกล่าวอ้าง กรมธรรม์ข้อ 2.4.3. และข้อ 2.5.1. ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายและกรมธรรม์ การจะเลิกสัญญาได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่นกรณีการปกปิดความจริง การทุจริตฉ้อฉล หากไม่มีเหตุย่อมไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาประกันภัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

นายราเมศ กล่าวต่อว่า การทำประกันของประชาชนเพื่อป้องกันความเสี่ยงภัยในอนาคต ไม่ใช่ว่าบริษัทเสี่ยงภัยแล้วเลยบอกเลิกสัญญา แล้วอย่านี้จะทำสัญญาประกันไปทำไม ไร้ประโยชน์ การบอกว่าจะคืนเบี่ยประกันบางส่วนยิ่งเป็นเรื่องตลก เพราะเหตุผลที่บอกมาคือบริษัทต้องบริหารความเสี่ยง เพราะเป็นวิกฤตที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ คือบริษัทเสี่ยงจึงบอกเลิก ทั้งที่เหตุเกิดจากบริษัท แล้วจะให้ประชาชนรับกรรมจากความเสี่ยงของบริษัทอย่างไร ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่าขอให้ฝ่ายกฎหมายกลับไปดู พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้ดีด้วย มาตรา 4 ระบุไว้ชัด ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายมิได้ผิดสัญญาในสาระสำคัญ ถือได้ว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ไปท่องให้ขึ้นใจ และประชาชนที่ทำประกันภัยกับบริษัทสินมั่นคง ไม่จำเป็นต้องรับคืนค่าเบี้ยประกันที่บริษัทจะจ่ายคืน เพราะสัญญายังสมบูรณ์ และประชาชนที่ทำประกันติดเชื้อโควิด ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินตามจำนวนที่เอาประกันภัยไว้คือ 100,000 บาท

“ผมขอประกาศจุดยืนตอนนี้เลยว่าจะสู้เรื่องนี้ให้กับประชาชน โดยจะระดมนักกฎหมายทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมให้กับประชาชน การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับประชาชนไม่ใช่เรื่องยาก บริษัทจะมีเงินทองมากมายก่ายกองขนาดไหนไม่สำคัญ แต่หลักสำคัญคือบริษัทต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมกับประชาชน เพราะบริษัทอยู่ได้มีรายได้มากก็เพราะประชาชนในประเทศนี้ อย่าซ้ำเติมวิกฤติในสถานการณ์แบบนี้เลย” นายราเมศ กล่าว

ผบ.นทพ. ตรวจคัดกรองกำลังพลที่ปฏิบัติงานในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

พลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) ได้ประสานขอรับการสนับสนุนรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย พระราชทาน จากกรมควบคุมโรค จำนวน 1 คัน มาตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เชิงรุก ด้วยการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ (Swab) โดยการเก็บสารคัดหลั่งบริเวณหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) ของกำลังพลกลุ่มเสี่ยง นทพ. ที่ออกปฏิบัติงานตามนโยบายและสั่งการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ในการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC ) กรุงเทพมหานคร  ณ รพ.บุษราคัม, สนามบินสุวรรณภูมิ, แคมป์คนงานและจุดตรวจในพื้นที่เขตลาดกระบัง และจุดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นทพ. เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน 

รวมทั้งป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยได้สั่งการให้สำนักงานสนับสนุน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (สสน.นทพ.) จัดเตรียม บุคลากรที่ได้รับการฝึกปฏิบัติจาก สถาบันป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม) พร้อมกับการจัดสถานที่ อำนวยการ ประสานงาน และกำกับดูแลการตรวจคัดกรอง ณ บริเวณโรงจอดรถยนต์ขนาดใหญ่ ด้านหลังอาคารกองบังคับการ สำนักงานสนับสนุน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และมีกำลังพล จิตอาสา 904 นทพ. ร่วมอำนวยความสะดวกในการตรวจคัดกรอง

ทั้งนี้ เพื่อดูแลและเฝ้าระวังกำลังพลของหน่วยที่ออกปฏิบัติงานในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงและใกล้ชิดกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้สามารถปฏิบัติงานตามนโยบายและสั่งการได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย

‘ธนาธร’ แจง นำเสนอข้อมูลกรมหม่อนไหม เนื้อหาหลัก มุ่งปฏิรูปราชการ ลดภาระงบประมาณ ชี้ไม่มีกรมฯ ก็สนับสนุนผ้าไหมได้ ยัน ไร้ข้อความดูหมิ่นเกียรติยศของอาชีพหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผ้าไหม ย้ำอาชีพทุกอาชีพล้วนมีเกียรติ

วันที่ 16 ก.ค. 64 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

จากกรมหม่อนไหมถึงการปฏิรูปรัฐราชการ : งบประมาณมาจากภาษีประชาชน ต้องนำไปรับใช้ประชาชน

เป็นโอกาสดีที่การพูดถึงกรมหม่อนไหมของผมได้รับความสนใจทั้งจากผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก

ก่อนอื่นผมจำเป็นต้องยืนยันว่า อาชีพทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงไหม, ครู, เกษตรกรมังคุด, ข้าราชการกรมหม่อนไหม หรือพนักงานทำความสะอาด ล้วนแต่เป็นอาชีพที่มีเกียรติ

สิ่งที่ผมนำเสนอ ไม่มีข้อความใดดูหมิ่นเกียรติยศของอาชีพหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผ้าไหมเลย

กลับกัน ผมยังชื่นชมผ้าไหม เห็นศักยภาพและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ไหม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปอีสาน ยังซื้อผ้าไหมนาคำไฮหลายชิ้นกลับมาฝากคนที่บ้านดังที่เห็นจากรูป

เมื่อตัดเรื่องใส่ความ บิดเบือนคำพูดเพื่อสร้างให้ประชาชนเกลียดชังผมออกไป เนื้อหาหลักคือ ระบบราชการไทย รวมศูนย์อำนาจ ใหญ่โต เทอะทะ ขาดประสิทธิภาพ ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และรับใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนเสมอ

ในภาวะที่ประเทศไทยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมหาศาล และกำลังจะเกินวินัยการคลังที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เราจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการ ลดหน่วยงานที่ไม่จำเป็น ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดอำนาจและงบประมาณราชการส่วนกลาง คืนอำนาจสู่ท้องถิ่น นี่คือข้อเสนอที่สำคัญทางการเมืองเพื่อสถานภาพทางการคลังของรัฐ, เพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และเพื่อให้ท้องถิ่นมีโอกาสเจริญเติบโต ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท

ไม่ใช่สร้างรัฐราชการส่วนกลางให้เติบโตไปเรื่อย ๆ

การปฏิรูประบบราชการคือความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การสร้างดราม่าด้วยเกียรติยศของอาชีพ, การเสียสละของข้าราชการ และประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่สามารถบิดเบือนหรือซ่อนเร้นความจำเป็นนี้ได้

เราสามารถสนับสนุนผ้าไหมได้โดยไม่ต้องมีกรม เหมือนเช่นที่ กรมปศุสัตว์ หรือ กรมประมง สนับสนุนหลายสาขาอาชีพได้

ไม่อย่างนั้นต่อไปเราอาจมี “กรมไก่ชน” “กรมสุราพื้นบ้าน” “กรมกัญชา” หรือ “กรมทุเรียน”

ถ้าปัญหาทุกด้านต้องมีหน่วยงานระดับกรมขึ้นมาดูแล เราก็จะมีกรมเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ภาระงบประมาณก็จะมากมายมหาศาล

ตลาดวัวในประเทศไทย ใหญ่ถึง 4.1 หมื่นล้านบาท ตลาดนมวัว 1.8 หมื่นล้านบาท ตลาดเนยจากวัวอีก 3.7 พันล้านบาท รวมมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์วัวเท่ากับ 6 หมื่นล้านบาท

สินค้าจากวัวยังสร้างมูลค่าการส่งออกอีกปีละ 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2020

ขณะที่ผ้าไหมมีตลาดในประเทศปีละ 3 พันล้านบาท และสร้างมูลค่าการส่งออก 6 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ไม่รวมเสื้อผ้าไหมสำเร็จรูป

แต่เรากลับไม่มี “กรมวัว”

ที่กล่าวมา ผมไม่ได้หมายถึงว่าประเทศไทยต้องมี “กรมวัว” เพราะเรามีกรมปศุสัตว์ที่ดูแลกิจการเกี่ยวกับปศุสัตว์ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมีกรมวัวแยกต่างหาก

อ้างอิงจากสไลด์ของคุณ Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ใช้ในการอภิปรายในสภา 16 ปีจาก 2547 ถึง 2563 ราชการไทยใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ รายจ่ายประจำจาก 66% (0.8/1.2) ของงบประมาณ กลายเป็นถึง 75% (2.4/3.2) ของงบประมาณ ทำให้ศักยภาพการลงทุนเพื่ออนาคตของเราน้อยลง

ประเด็นสุดท้าย ผมยืนยันว่าตามหลักประชาธิปไตย เมื่องบประมาณมาจากภาษีของประชาชน ผู้ที่ประชาชนเลือกมาเท่านั้นที่ทรงอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ และงบประมาณนั้น ต้องถูกนำไปใช้เพื่อทำนุบำรุงความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน ไม่ใช่นำไปส่งเสริมอำนาจบารมีให้กับผู้หนึ่งผู้ใด"


ที่มา : https://www.facebook.com/ThanathornOfficial


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

อย่าทำเหมือนไม่มีวิกฤต! ‘ศิริกัญญา’ เสนอ ‘ส่วนกลาง’ หนุนเงินให้โรงเรียน ลดภาระค่าเทอมผู้ปกครอง กังวล อุปสรรค ‘เรียนออนไลน์’ อุปกรณ์และระบบไม่พร้อม สร้างภาระให้ครู-นักเรียนแสนสาหัส จี้ จัดงบสนับสนุนหน่วยงานด้วย

ที่อาคารรัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการช่วงหนึ่งว่า ประเด็นเรื่องการลดค่าเทอม เป็นเรื่องที่ประชาชนในสังคมต่างให้ความสนใจ รวมทั้งมีข่าวออกมาว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็เคยมีการสั่งการเรื่องนี้ แต่มองไม่เห็นทางออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร หากไม่มีเงินอุดหนุนจากส่วนกลางมอบให้ไป จะให้ไปบีบบังคับโรงเรียนแต่ละโรงเรียนลดค่าเทอมเองคงแทบจะเป็นไปไม่ได้ และยิ่งโรงเรียนเอกชนไม่ต้องพูดถึง เพราะปัจจุบันก็ยังไม่สามารถอุดหนุนเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายบุคลากรหรือครูให้กับพวกเขาได้เลยด้วยซ้ำ เพราะเงินอุดหนุนรายหัวที่อุดหนุนกันนั้น ครอบคลุมแค่ค่าดำเนินการเท่านั้น การไปบีบให้ลดค่าเทอมอีกจึงเป็นไปไม่ได้

“เห็นด้วยถ้าจะนำเงินกู้ส่วนหนึ่งไปช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ปกครองในยามวิกฤตด้วยการอุดหนุนค่าเทอมบางส่วนให้กับแต่ละโรงเรียน แนวทางนี้คิดว่าอาจจะเป็นทางออกของเรื่องนี้ได้” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการเรียนออนไลน์นั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเทอมที่ 3 แล้ว ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ จึงขอสอบถามถึงการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานว่าได้มีการเตรียมอุปกรณ์ เตรียมความพร้อมให้กับครูและผู้เรียนอย่างไรบ้าง เพราะจากที่ดูจากงบประมาณที่ตั้งมายังไม่ค่อยเห็นรายการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ มีแต่รายการที่ใช้สำหรับอบรมวิธีการสอนออนไลน์เท่านั้น

“หลายที่มีการเก็บข้อมูล รวมถึงของหน่วยงานอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีรายงานข้อมูลมาว่า ครอบครัวที่ยากจนนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างสะดวก ด้วยความที่ขาดแคลนอุปกรณ์ แม้กระทั่งกรณีที่ไม่ได้เป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก แต่หากต้องเรียนออนไลน์ผ่านทางโทรทัศน์ ถ้าในครอบครัวนั้นมีลูก 2 คนขึ้นไป ก็ทำไม่ได้แล้ว หากที่บ้านมีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว และยิ่งไปกว่านั้นการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่ทรมาน เมื่อต้องนั่งจ้องจอมือถือที่มีจอขนาดเล็กไปนานๆ 
.
“ดิฉันจึงรู้สึกเห็นอกเห็นใจเด็กๆมาก รวมไปถึงครูเองด้วยที่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้น โดยครูบางท่านต้องแก้ปัญหาโดยการแบ่งจำนวนนักเรียนในห้องออกเป็น 2 ห้อง เพราะไม่สามารถสอนนักเรียนพร้อมกันได้ทั้ง 50-60 คน โดยที่ต้องดูนักเรียนที่อยู่ในออนไลน์พร้อมกันได้ กลายเป็นว่าต้องสอน 2 รอบ ต้องวิ่งส่งงานให้ตามบ้านนักเรียนบ้าง ต้องทำงานเพิ่มขึ้น คำถามคือมีการเพิ่มอัตรากำลังบ้างหรือไม่ หรือมีการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงให้กับครูที่ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่” นางสาวศิริกัญญา ระบุ

นางสาวศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า จากผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกอย่างบริษัท McKinsey พบว่า การเรียนออนไลน์ทำให้ความรู้ของเด็กถดถอย ดังนั้นภายหลังจากที่มีการกลับมาเรียนปกติแล้ว จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูการเรียนรู้กลับคืนมา ทางหน่วยงานได้เตรียมการ เตรียมงบประมาณสำหรับใช้จัดการเรื่องนี้แล้วหรือไม่ จำเป็นต้องมีการเรียนเสริมหรือเรียนเพิ่มอะไรหรือไม่ และที่สำคัญในปีการศึกษา 2563 จำนวนวันการเรียนการสอนก็น้อยลง น้อยลงไป 10 % แล้ว โดยจากเดิมที่หนึ่งปีจะเรียนประมาณ 200 วัน จะเหลือเพียงปีละประมาณ 180 วันเท่านั้น ไม่นับว่าการเรียนออนไลน์อาจทำให้เรียนไม่ทันตามบทเรียนอีกด้วย หน่วยงานจะมีการวางแผน จัดการอย่างไร

“ปีนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ถูกลดงบประมาณไปประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มูลค่า 3,000 ล้านบาทเป็นการลดลงของงบประมาณด้านบุคลากร เนื่องจากมีการเกษียณอายุราชการในแต่ละปีค่อนข้างมาก แม้จะรับครูเข้ามาทดแทน แต่ก็ยังไม่เท่ากับจำนวนครูที่เกษียณออกไป ดังนั้นจึงขอเอกสารชี้แจงว่ามีจำนวนครูที่เกษียณในอีก 10 ปี ข้างหน้า โดยแต่ละปีมีจำนวนเท่าใด และขอแผนที่จะมีการรับครูเข้ามาทดแทนด้วย เพื่อที่จะดูแผนและงบประมาณว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

ในเรื่องหลักสูตร นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า แม้ว่าทาง สพฐ. มีแผนที่จะปฏิรูปการสอนเรื่องเพศวิถีและเพศศึกษา แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่า การอบรมศึกษานิเทศก์ ในเนื้อหาการอบรมมีการเหยียดเพศและมีการพูดถึงว่า เด็กที่ความหลากหลายทางเพศเป็นเพราะเด็กเห็นเพื่อนเป็นกันเยอะแล้วสนุกดี ก็เลยมีแนวโน้มที่จะเป็นคนข้ามเพศ จึงเป็นความน่าผิดหวังและอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นปฏิรูปการสอนเรื่องเพศหรืออย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องการสอนในห้องเรียนแล้วมีครูที่แสดงทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพศหลากหลาย แต่นี่คือการอบรมศึกษานิเทศก์ ซึ่งจะเป็นการผลิตซ้ำความคิดแบบนี้ไปกับครูอีกหลายๆ ท่าน

“ในปีนี้ทราบว่าจะเริ่มการเรียนแบบการจัดการการเรียนรู้แบบใช้สมรรถนะเป็นฐาน (Competency-based learning) เป็นปีแรก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากการศึกษาในระดับแนวหน้าของโลกก็เปลี่ยนมาใช้วิธีการแบบนี้กันหมดแล้ว ทั้งนี้ทางหน่วยงานได้มีการเตรียมพร้อมให้กับบุคลากรแล้วหรือไม่ เพื่อที่จะเข้าอกเข้าใจและสามารถถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้วิธีการดังกล่าวได้ เนื่องจากขณะนี้การอบรมครูก็มีการทำแบบออนไลน์เช่นเดียวกัน จึงทำให้หวั่นใจว่าหากไม่มีการเตรียมความพร้อม ก็อาจจะทำให้ล้มเหลวแบบที่เกิดขึ้นแบบในอดีตที่มีการเปลี่ยนหลักสูตร ถึงแม้ว่าหลักสูตรจะถูกออกแบบไว้ดีแค่ไหนก็ตาม หากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลทำให้เด็กๆ ต้องเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

“คนรักสถาบันฯ” ร้อง “นายกฯทบทวนคุณสมบัติ “ชัยวุฒิ” นั่งดีอีเอส เหตุ ปล่อยปละเกิด เฟกนิวส์ กระทบความมั่นคง

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน(ศปปส.) กลุ่มภาคีประชาชนปกป้องสถาบัน ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด Bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) อาชีวะปกป้องสถาบัน ในนาม พสกนิกรปกป้องสถาบัน นำโดย นางแน่งน้อย อัศวกิตติกร อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.พิษณุโลก พรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.)ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ตรวจสอบการทำงานของนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผ่านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี

นางแน่งน้อย กล่าวว่า สภาวะของประเทศไทยเวลานี้ เต็มไปด้วยความขัดแย้งของผู้คนในสังคม การต่อสู้กันจะอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ทุกแพลตฟอร์ม วิธีการที่นิยมนำมาใช้เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามคือการสร้างข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และมีอำนาจโดยตรงในการเข้ามาจัดการกับข่าวปลอมคือ กระทรวงดีอีเอส แต่สิ่งที่เกิดขึ้น และประชาชนเห็นชัดคือ กระทรวงดีอีเอส ไม่สามารถจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ข่าวปลอมยังท่วมประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และไม่สามารถนำคนที่ปล่อยข่าวปลอมมาลงโทยเอาผิดทางกฎหมายได้ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ประชาชนภาคสังคม จึงขอให้พล.อ.ประยุทธ์ ตรวจสอบการทำงานของนายชัยวุฒิ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบันว่ามีความสามารถ และมีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ที่จะมาเป็นรัฐมนตรี เพื่อกำกับดูแลกระทรวงดีอีเอส ซึ่งถือเป็นกระทรวงหลักสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ

ด้านนายเสกสกล กล่าวว่า ขอชื่นชมทั้งองค์กรที่มาในวันนี้ที่มาช่วยกันรวมพลังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดตราบนานเท่านาน ตนขอชื่นชมจากใจจริงเพราะก็เป็นคนหนึ่งที่พร้อมร่วมมือปกป้องสถาบันฯ และไม่ต้องการที่จะให้ใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้ามาคิดไม่ดีต่อสถาบันฯ ทั้งการจาบจ้วงก้าวล่วงหรือทำผิดกฎหมายมาตรา 112 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top