Monday, 19 May 2025
POLITICS

‘จตุพร’ มั่นใจ ‘ทักษิณ’ ไม่กล้ากลับมารับโทษ ชี้!! เป็นเพียงเกมการเมือง เพื่อเรียกร้องเสียงแลนด์สไลด์

(27 มี.ค.66) เมื่อวานนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน กล้าหรือกลัว เดี๋ยวก็รู้? มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า ตนมั่นใจว่าหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 นายทักษิณ ชินวัตร ไม่กล้ากลับมารับโทษ

“การบอกว่าจะกลับบ้านในปีนี้นั้นเป็นเพียงเกมการเมือง เพื่อเรียกร้องเสียงแลนด์สไสด์ ดังนั้น เมื่อต้องการให้เพื่อไทยชนะด้วยเสียงแลนด์สไลด์แล้ว ควรกล้าเอาชีวิตตัวเองมาเดิมพัน ด้วยการกลับบ้านก่อนการเลือกตั้งแล้วไปติดคุก ซึ่งจะได้ทั้งแลนด์สไลด์ถล่มทลายทางการเมืองทันที” นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า ทักษิณประกาศกลับบ้านภายในปี 2566 ทั้งที่ในปี 2565 ก็เคยประกาศเช่นเดียวกันมาแล้วจะกลับในปี 2565 ก็ไม่ได้กลับ โดยอ้างป่วย อย่างไรก็ตาม การประกาศกลับบ้านในห้วงเวลานี้จึงแสดงว่าโพลของพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นไปตามเป้าแลนด์สไลด์ 310 เสียง

‘ทักษิณ’ มั่นใจ!! ‘พท.’ ครองเสียงข้างมาก ชนะเลือกตั้ง แต่อาจต้องตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ ยัน!! ไม่ต้องการนิรโทษกรรม

เมื่อวันที่ (25 มี.ค. 66)  นิกเคอิเอเชีย สื่อญี่ปุ่นรายงานบทสัมภาษณ์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า นายทักษิณคาดการณ์ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาบริหารประเทศไทยต่อไปจะเป็นรัฐบาลผสม ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งและสามารถคว้าเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ก็ตาม

“ผมเชื่อว่าจะเป็นรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน” นายทักษิณกล่าว พร้อมเสริมว่า เขามีความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะได้ที่นั่งในสภาฯ อย่างน้อย 250 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง และเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับเขา โดยเขาจะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง แม้ว่านั่นจะหมายถึงการต้องติดคุกก็ตาม

นอกจากนี้ นายทักษิณปฏิเสธที่จะกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังตกลงกับพรรคอื่น ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ “ผมเป็นแค่ผู้ก่อตั้งพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ดังนั้น สิ่งที่ผมสามารถทำได้ คือ การสังเกตการณ์การเลือกตั้งอยู่ห่าง ๆ” นายทักษิณกล่าว

'ชลน่าน-เศรษฐา' ตอบปมทักษิณประกาศจะกลับมาติดคุก  ชี้!! เป็นความเห็นส่วนบุคคล เชื่อไม่กระทบแลนด์สไลด์

(25 มี.ค.66) - ที่สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พร้อมที่จะกลับไปรับโทษจำคุกในประเทศไทย หากได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค.นี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ว่าเท่าที่ตนได้ฟังเป็นการแสดงความคิดเห็นของนายทักษิณ ฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่มีความประสงค์จะกลับบ้านเกิด และนายทักษิณใช้คำว่าติดคุกมา 16 ปี และยินดีที่จะมาติดคุกกลับเมืองไทย เพราะต้องการจะมาอยู่ใกล้ลูก ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นของตัวท่านเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค

เมื่อถามว่า มองการโจมตีของพรรคการเมืองอื่นๆ ในกรณีที่นายทักษิณออกมาพูดในลักษณะนี้อย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่ละพรรคก็พยายามหาจุดเด่นจุดด้อยของตัวเองและคู่แข่ง ฉะนั้นประเด็นอะไรที่เขาคิดว่าเป็นประโยชน์กับเขา เขาก็ย่อมหยิบยกขึ้นมา แต่โดยรวมนายทักษิณเอง เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนที่รักพรรค พท. ย้ำว่านายทักษิณไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค พท. เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่เป็นผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพรรค พท. ดังนั้นความเชื่อความศรัทธา ของแต่ละคนก็เป็นสิทธิ์ของประชาชน และขณะเดียวกันคนที่ไม่ชอบนายทักษิณ ก็มีเป็นธรรมดา และประเด็นเหล่านี้เราต้องเฝ้ามองว่าจะกระทบต่อพรรคเรา มากน้อยขนาดไหนเท่านั้นเอง

“ในมุมที่เขามาใส่ร้ายที่เกินขอบเขต ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราก็จะดูในมุมนั้น แต่ทั้งนี้มันคือมิติในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อย่าให้กระทบสิทธิ์ และข้อกฎหมายแต่ละพรรค” นพ.ชลน่าน กล่าว

ส่วนกรณีที่นายทักษิณ ระบุว่า จะไม่ขอนิรโทษกรรมจากรัฐสภา แม้ว่าพรรค พท. จะชนะเลือกตั้งได้ครองเสียงข้างมากในสภาฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นความคิดของตัวนายทักษิณเอง ท่านบอกว่าถ้าท่านจะกลับมา ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งนายทักษิณ ยินดีกลับเข้าสู่กระบวนการ ถ้านายทักษิณพูดแบบนั้น คงมั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามหลักนิติธรรม และมีความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งไม่เกี่ยวกับพรรค พท. ว่าจะต้องทำอะไร

‘ลิณธิภรณ์’ ดัก!! หยุดใช้ปม ‘โทนี่กลับไทย’ สร้างประเด็นโจมตี พท. ชี้!! พรรคไม่หวั่นกระแสแซะ เหตุนโยบาย พท.อยู่ในใจ ปชช.

(25 มี.ค.66) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) และรักษาการโฆษกพรรคพท. กล่าวกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อต่างประเทศ ว่าพร้อมที่จะกลับมารับโทษจำคุกในประเทศไทย หากได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้จะออกมาเป็นอย่างไร ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้าง และถูกหยิบมาเป็นประเด็นทางการเมือง และเชื่อมโยงพรรคพท.ว่า นายทักษิณแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่อยากกลับบ้าน และกลับมาอยู่กลับลูกหลานในช่วงบั้นปลายชีวิต และเพื่อเข้าสู่กระบวนการกฎหมายของไทยอย่างถูกต้อง

ที่ผ่านมาคดีต่างๆที่นายทักษิณถูกดำเนินคดี ล้วนเกิดจากฝั่งตรงข้ามทางการเมือง จนทำให้เกิดคำถามว่า ความยุติธรรมที่มีไว้เพื่อกำจัดฝั่งตรงข้ามจะยังใช่ความยุติธรรมไหม วันนี้หากนายทักษิณจะเดินทางกลับไทยและเข้าสู่การพิจารณาคดี ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเป็นเรื่องดีที่จะมาพิสูจน์ตนเอง ดังนั้นจึงไม่ควรใช้เป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง โดยการเชื่อมโยงบุคคลอื่นในคดีอื่นๆ

‘อัษฎางค์’ เผย ‘ลุงป้อม’ ก้าวข้ามความขัดแย้งสำเร็จ หลัง ‘มายด์ คณะราษฎร’ เข้าพบ-ได้พูดคุย

(25 มี.ค. 66) สืบเนื่องจากกรณี น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ ‘มายด์’ แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 หรือ ‘ชาวสามนิ้ว’ เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เพื่อสอบถามถึงจุดยืนทางการเมือง

ล่าสุด นายอัษฎางค์ ยมนาค นักเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียล ได้ทำการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ “เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค” ระบุว่า…

I don't mind.
ลุงป้อมทำสำเร็จ
ประสานทุกฝ่าย ละลายความบาดหมาง
เด็กสามนิ้วเปลี่ยนมานิยมการหมอบคลานและกราบไหว้


โดยหลังจากนั้น ได้มีการเผยแพร่ส่งต่อ และได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก


ที่มา : https://www.thaipost.net/x-cite-news/348347/

ปิยบุตร’ ชง เสนอรื้อคดี ‘ทักษิณ’ ใหม่ทั้งหมด ชี้ โทษไม่เป็นธรรม หากต้องติดคุกด้วยผลพวงรัฐประหาร

(25 มี.ค. 66) จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวเกียวโด สื่อดังจากญี่ปุ่น ว่าเขาพร้อมที่จะรับโทษจำคุกในไทยแลกกับการที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว โดยกำลังพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมกลับประเทศไทย ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะออกมาอย่างไรก็ตาม

ล่าสุด นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เผยแพร่ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า…

เรื่อง [กรณีคุณทักษิณ : ไม่ติดคุก ไม่นิรโทษ ต้องลบล้างผลพวงรัฐประหาร ดำเนินคดีใหม่อย่างเป็นธรรม]

สำนักข่าวจากประเทศญี่ปุ่น รายงานข่าว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ความว่า คุณทักษิณ ชินวัตร พร้อมกลับมาติดคุก และไม่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง

ประเด็นปัญหา ‘กลับบ้าน’ ของคุณทักษิณอยู่ในสังคมไทยมาเกือบสองทศวรรษ เมื่อไรที่มีการเลือกตั้ง เมื่อไรได้รัฐบาลใหม่จากขั้วเพื่อไทย ก็จะมีผู้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเสมอ

หากใครได้ติดตามการแสดงความเห็นของผมตั้งแต่ปี 2548/49 คงจำได้ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้อง งนายกพระราชทาน มาตรา 7’ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ผมและเพื่อนอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. รวม 5 คน ในเวลานั้นได้ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ในเวลาต่อมา พวกเรายังได้แถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยและวิจารณ์การดำเนินคดีคุณทักษิณในหลายกรณี รวมทั้งคำพิพากษากรณียึดทรัพย์ด้วย

หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 53 พวกเราได้รวมตัวก่อตั้ง ‘คณะนิติราษฎร์’

18 กันยายน 2554 คณะนิติราษฎร์ เสนอข้อเสนอ ‘ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549’ ดังนี้

หนึ่ง ให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำของ คปค. ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึง 30 กันยายน 2549 เป็นโมฆะ

สอง ให้รัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 36 (ซึ่งรับรองให้การกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย) ตกเป็นโมฆะ ทำให้การกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหารถูกโต้แย้งได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

สาม ให้รัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 37 (ซึ่งนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร) ตกเป็นโมฆะ ทำให้ การนิรโทษกรรมรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นโมฆะ สิ้นผลไป เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อไม่มีการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร ทำให้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ยังคงมีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมย่อมสามารถดำเนินคดีเอาคณะรัฐประหารมาลงโทษได้

สี่ ให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตกเป็นโมฆะ

ห้า ให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณา ที่เกิดจากการริเริ่มของ คตส. ยุติลง

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ต้องทำโดยผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากข้อเสนอเหล่านี้สำเร็จ ผลที่ตามมา คือ ดำเนินคณะรัฐประหารได้ทันที

ส่วนคดีความของคุณทักษิณและนักการเมืองอีกหลายคน ที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร 49 ก็ไม่ได้นิรโทษหรืออภัยโทษแต่อย่างใด เพียงแต่ลบล้างคำพิพากษาเหล่านั้นทิ้ง และสามารถดำเนินคดีต่อไปตามกระบวนการปกติ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย

‘ทักษิณ’ เปิดใจสื่อญี่ปุ่น พร้อมรับโทษจำคุก เผย อยากใช้เวลาที่เหลือในชีวิตกับลูกหลาน

ทักษิณ เปิดใจสื่อนอก พร้อมรับโทษ บอกลูก อย่ายอมให้พท. ออกกม.นิรโทษกรรมอีก

(24 มี.ค. 66) สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า เขาพร้อมที่จะรับโทษจำคุกในไทยแลกกับการที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปในไทย ที่กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะออกมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม

นายทักษิณ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกรุงโตเกียวกล่าวว่า เขากำลังพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นภายในปีนี้หลังการเลือกตั้ง และพร้อมที่จะรับโทษจำคุก โดยเขาหวังว่าจะยื่นอุทธรณ์ในบางคดี

“ตอนนี้ผมติกคุกใหญ่มา 16 ปีแล้ว เพราะพวกเขากีดกันไม่ให้ผมอยู่กับครอบครัว ผมทรมานมามากพอแล้ว ถ้าผมต้องไปทนทุกข์ในคุกเล็กอีกก็ไม่เป็นไร แม้มันไม่ใช่ราคาที่ผมจำเป็นจะต้องจ่าย แต่ผมยอมจ่าย เพราะผมอยากอยู่กับหลาน ๆ ผมควรใช้เวลาที่เหลือในชีวิตกับลูก ๆ หลาน ๆ” นายทักษิณ กล่าว

ทักษิณ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเขาก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณา เพราะเขาเผชิญกับความพยายามในการลอบสังหารมาแล้วถึง 4 ครั้ง เมื่อครั้งบยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยืนยันว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ใช่ทางเลือกเพื่อพาเขากลับบ้าน

“ผมบอกกับลูกสาวว่า อย่ายอมให้พรรคเพื่อไทยผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผม เพราะมันไม่จำเป็น คนที่ต่อต้านผมจะไม่พอใจ และกฎหมายต้องมีไว้สำหรับคนทุกคน ไม่ใช่เพื่อคนคนเดียว ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเพื่อให้ทหารสามารถครองอำนาจอยู่ต่อไป” นายทักษิณ กล่าว

เลื่อนอ่านฎีกาครั้งที่ 8 หลัง ‘ธาริต’ กลับคำรับสารภาพ คดีมาตรา 157 แจ้งข้อหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งฆ่า ปชช.

(24 มี.ค. 66) ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 8 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง” กรณีดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี

คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษพวกจำเลย โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

จำเลยทั้ง 4 คน ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 2 ก.พ. 66 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้อีกครั้ง แต่นายธาริต มอบหมายให้ทนายความ ยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน เนื่องจากต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดนิ่วในไต โดยแพทย์ให้รักษาและรอดูอาการเป็นเวลา 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาฎีกาโดยอ้างว่าป่วยมาแล้วหลายครั้งนานกว่า 1 ปี มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายธาริตเพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกา โดยวันนี้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ทนายโจทก์ จำเลยที่ 1 – 4 ทนายจำเลย นายประกันจำเลยที่ 1 พนักงานอัยการ ในฐานะทนายจำเลย เดินทางมาศาล

ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริต มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคแรก มาตรา 26, 27, 29 วรรคแรก ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มี.ค. 2566

จําเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การฉบับเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกา ในการลงโทษจําเลยที่ 1 สถานเบา หรือรอการลงโทษจำเลยที่ 1

ทนายโจทก์ที่ 1 – 2 แถลงคัดค้านร่วมกันว่า คดีนี้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกามาแล้วหลายครั้งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 เป็นนักกฎหมายประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยใช้วิชากฎหมายมาโดยตลอด ย่อมต้องทราบดีว่าเมื่อ มีการนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องขอส่งสำนวนกลับคืนศาลฎีกาโดยอ้างเหตุที่ไม่เป็นสาระสำคัญแก่คดี การที่จำเลยที่ 1 ขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา จึงเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลใช้บังคับ แต่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200

ดังนั้น มาตรา 157 จึงไม่ใช่กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี อันจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เป็นการถอนคำให้การและให้การใหม่ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงล่วงเลยระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 แล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นการให้การไปโดยจำนนต่อหลักฐานและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงไม่ควรมีเหตุที่จะบรรเทาโทษให้จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้การดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้า และป้องกันการประวิงคดีโดยการยื่นคำร้องต่าง ๆ ที่ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาสั่ง เข้ามาก่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา ทนายโจทก์ที่ 1 – 2 จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เอง

‘เสี่ยหนู’ ชี้ ถือเป็นเรื่องดีหลัง ‘ทนายตั้ม’ ตรวจสอบ ‘ชูวิทย์’ ขออย่าข่มขู่-บ่ายเบี่ยง ต้องมีน้ำใจนักกีฬา ยอมให้ตรวจสอบ

(24 มี.ค. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ‘ทนายตั้ม’ ออกมาแฉว่า นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รับเงินสีเทาภายใต้หัวข้อแฉไปไถมา ว่า ส่วนตัวยังไม่ได้ติดตาม พอดีมีภารกิจส่วนตัวลาราชการมา 2 วัน ได้แต่อ่านข่าวเห็นว่ามีการเปิดเผยกันบางอย่าง ซึ่งก็ดีเป็นสังคมแห่งการเปิดเผย ใครที่ชอบเปิดเผยอะไรของแต่ละคนไว้ เมื่อถูกเปิดเผยบ้างก็ขอให้มีน้ำใจนักกีฬาเพียงพอที่จะให้ตรวจสอบ อย่าไปข่มขู่ อย่าไปขออะไรใคร อย่าไปบิดเบือน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่พี่น้องประชาชนจะได้เห็นว่าที่จริงแล้วเป็นเช่นไร

'ปลอดประสพ' จี้!! รัฐจัดการปมซีเซียม-137 รั่วไหล พร้อมแนะ 6 แนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

(24 มี.ค.66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงแผนปฏิบัติการสร้างความเชื่อมั่นประชาชน ประเด็นซีเซียม-137 รั่วไหล 

นายปลอดประสพ กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่านับตั้งแต่หน่วยงานของรัฐรับทราบข่าวการสูญหายของซีเซียม-137 ได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าได้ให้ใบอนุญาตซีเซียม-137 ในปริมาณมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันสารซีเซียม-137 อยู่ที่ไหน และได้ประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ไปตรวจสอบหรือไม่ 

‘ลุงป้อม’ สั่ง เร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลสวัสดิการรัฐฯ เพื่อความรวดเร็ว-ครอบคลุม-เข้าถึงง่าย ปชช.ได้ประโยชน์

(24 มี.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ด้านสวัสดิการของรัฐฯ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ การดำเนินการออกแบบ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสวัสดิการของรัฐฯ และการดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ผ่านหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงข้อมูลบุคคลด้านอื่น ๆ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น และได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการจัดทำ API เพื่อใช้ค้นหาข้อมูลสวัสดิการที่ได้มีการเชื่อมโยง และรวบรวมข้อมูลแล้ว สามารถค้นหาด้วยหมายเลขบัตรประชาชน และจัดทำ Dashboard เพื่อแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูล และแสดงความซ้ำซ้อนของสวัสดิการ และได้ทำการเชื่อมโยงแล้วจำนวน 13 สวัสดิการ มีประชากรได้รับสิทธิ์ ถึง 19,348,391 ราย (27,923,508 สิทธิ์) อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กองทุนคุ้มครองเด็ก เบี้ยความพิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น

ความจริงประวัติศาสตร์การเมือง ที่ไขทุกปมบิดเบือน สุดยอดหนังสือขายดี ที่ไม่ใช่แฟนคลับลุงตู่ ก็อ่านได้

(24 มี.ค. 66) ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 เฟซบุ๊ก Kamron Pramoj ได้อัปเดตถึงหนังสือ 'มาเหนือเมฆ' ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีการวางขายเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยโพสต์ข้อความระบุว่า...

ขอทำหน้าที่นิดหนึ่งนะครับ

'มาเหนือเมฆ' เรื่องราวบนเส้นทางการเมืองและผลงานของ 'ลุงตู่' พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทหารเสือราชินีผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

สำหรับ 'มาเหนือเมฆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา' คือพ็อกเก็ตบุ๊ก เล่มแรกของอิมเมจ มีเดีย และการกลับมาทำงานด้านสิ่งพิมพ์ ถือว่าอินเทรนด์ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ อีกไม่นานนี้นะครับ

หัวใจของหนังสือเล่มนี้ แน่นอนเกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการพัฒนาประเทศที่เกิดขึ้นภายใต้พลเอกประยุทธ์

และมีบทความที่นักคิด นักวิเคราะห์ นักเขียนรับเชิญหลายท่านมาช่วยกันเติมแต่ง ได้แก่ คุณรุ่งเรือง ปรีชากุล อดีตบรรณาธิการบริหารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, คุณทิวา สาระจูฑะ บรรณาธิการนิตยสารสีสัน, รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คุณนิติพงษ์ ห่อนาค ศิลปินและนักแต่งเพลง และ คุณ พ.สิทธิสถิตย์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์/นิตยสาร

‘เฉลิม’ จัดหนัก 9 ความล้มเหลว ‘บิ๊กตู่’ ชี้ ตลอด 8 ปี ศก.ไทยนิ่งสงบ - ยาเสพติดเกลื่อนเมือง

(23 มี.ค.66) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษของพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า กราบเรียนพี่น้องประชาชน กระผม ร้อยตำรวจเอก ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษของพรรคเพื่อไทย ต่อไปคงจะไม่มีเวลาเขียนข้อความลงในเฟซบุ๊ก เพราะต้องออกไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง วันนี้จึงขอเสนอความเห็นวิจารณ์การทำงานของ พล.อ. ประยุทธ์ รวม 9 ประเด็นด้วยกันที่รัฐบาลมีความบกพร่อง กล่าวคือ

1. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ทันสถานการณ์ ปฏิบัติไม่ได้ และ(แทบจะ) แก้ไขไม่ได้

2. นโยบายการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง(ตั้งแต่ครั้งที่แล้ว) ล้มเหลว

3. ขาดวิสัยทัศน์ สั่งราชการทั้ง ๆ ที่ ขาดความรู้ความเข้าใจ

4. ภาพลักษณ์บนเวทีต่างประเทศไม่ดี

5. การแก้สถานการณ์โควิดประเทศล้มเหลว

6. นโยบายแจกเงินตลอดเวลาส่งผลเสียในระยะยาว

7. การบริหารเศรษฐกิจจากความขัดแย้งระดับโลกผิดพลาด

8. การควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมพรรคการเมือง

9. ขาดภาวะผู้นำ

สื่อและรัฐบาลชอบนำเสนอและกล่าวว่า “ความสงบมาจบที่ลุงตู่” สุดท้ายก็ไม่เป็นความจริง ผมได้พิจารณาแล้ว ควรจะเป็นสโลแกนว่า

1. เศรษฐกิจไทยนิ่งสงบจบที่มึง

2. ยาเสพติด พนันออนไลน์ ฉิบหายสมัยมึง

'มายด์' เห็นด้วยนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง หลัง ‘ลุงป้อม’ ไฟเขียว!! ให้ ‘เข้าพบ-พูดคุย’

(23 มี.ค.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร.ให้สัมภาษณ์หลังเปิดตัวพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา มาอยู่กับพปชร.ว่า ภาคอีสานมีคนดูแลอยู่แล้ว พล.อ.ธรรมรักษ์ จะมาช่วยดูภาพรวมภาคอีสานทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ต้องเข้ามาดูแลภาคอีสาน เพราะคนที่ดูแลภาคอีสาน ระหว่าง พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร กรรมการบริหารพรรค กับนายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค ไม่ลงรอยกันหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นคนละเขต ระหว่างอีสานเหนือกับอีสานใต้ ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน สื่อไปคิดเองทั้งนั้น คนหนึ่งอยู่อีสานเหนือ กับคนอยู่อีสานใต้ ทำกันคนละพื้นที่ จะไปขัดแย้งกันได้อย่างไร 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า ส.ส.ในกลุ่มของนายวิรัช จะไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่าใคร ก่อนตอบว่าก็ไปสิ ไม่ได้ว่าเลย ใครอยากไปก็ไป เราเคยบอกแล้ว ว่ามีคนเข้ามาอยู่ด้วย 400-500 คน จนพื้นที่ทับกันไปมาอยู่แล้ว บางเขตมีสามคน และตัวเด่นๆ ก็มีอยู่แล้ว  

เมื่อถามถึงการรับประทานอาหารร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. เป็นอย่างไรบ้าง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไปกินข้าวบ้านผมก็อร่อย” เมื่อถามว่ามีการประเมินตัวเลข ส.ส.กันบนโต๊ะอาหารว่า พรรคพปชร.จะได้ 70 ที่นั่ง พรรคภท.จะได้ 70 ที่นั่ง เป็นไปตามนั้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่รู้ ก็แล้วแต่ประชาชน เวลาตอบไม่รู้สื่อชอบบอกว่าไม่รู้อีกแล้ว ให้รอเดี๋ยวจะมีเพลงไม่รู้มาให้ฟัง เดี๋ยวจะออกแล้ว” เมื่อถามย้ำว่า หัวหน้าพรรคจะร้อง เพลงไม่รู้ด้วยตัวเองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ 

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้จัดการรัฐบาลใหม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ได้เลือกตั้งเลย สื่อไปคิดเองและพูดเอง ไม่ได้ปฏิเสธ แต่สื่อไปพูดเองเออเอง เมื่อถามว่า ในวงรับประทานอาหาร มีคำพูดที่ว่าใครได้คะแนนมากกว่าให้เป็นนายกฯไป พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีๆ พร้อมกับส่ายหัวและระบุว่า ไม่ให้ถามแล้ว ตนหยุดพูดตั้งแต่ตอนนี้

‘บิ๊กป้อม’ หนุนสังคมพหุวัฒนธรรม มุ่งสร้างสันติสุข รองรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้

พล.อ.ประวิตร เร่ง สร้างสันติสุข / สังคมพหุวัฒนธรรม ฟื้น ศก.ชายแดนใต้ คงเข้ม งานข่าวต่อเนื่อง เน้นการปฏิบัติงานรอบคอบ / ไม่ประมาท มุ่งยกระดับการศึกษา สร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดร่วมกัน

(23 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมี รมช.กห. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สมช. ทำเนียบรัฐบาล ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ สถานการณ์ด้านการข่าวในพื้นที่ จชต. ซึ่งมีความคืบหน้าตามแนวทางสร้างสันติสุข โดย พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ หน่วยงานด้านการข่าวให้ติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเน้นย้ำให้หน่วยงานด้านความมั่นคง เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ตลอดเวลา ด้วยความรอบคอบ และไม่ประมาท และรับทราบความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านต่าง ๆ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้มีนโยบายให้ คณะอนุฯ ทุกด้าน เร่งยกระดับการขับเคลื่อน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด และจัดทำแนวทางการพัฒนาโรงเรียนนำร่อง ที่เป็นต้นแบบความเป็นเลิศทางวิชาการ ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์จากสภาสันติสุขตำบลในการขยายผลสร้างความเข้าใจร่วมกัน พร้อมทั้งได้กำชับให้คณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ช่วยประสาน เร่งรัดการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเรือประมง ออกนอกระบบ ตามที่ ครม.ได้เห็นชอบไปแล้ว จำนวน 96 ลำ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top