Saturday, 10 May 2025
POLITICS NEWS

“วิษณุ” รับ ม.144-185 มีปัญหา ส่อทำรธน.ปราบโกงอ่อนลง ปัดตอบ แก้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำการเมืองย้อนยุคปี 40 บอก “ก้าวไกล” ก่อนยื่นทำประชามติรื้อรธน.ทั้งฉบับ รอให้กฎหมายบังคับใช้ก่อน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มี เสียงวิจารณ์หลายพรรคการเมืองดำเนินการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเอง แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ว่า แล้วจะให้แก้อย่างประชาชนจึงจะได้ประโยชน์ ขอให้ไปถามผู้ที่เสนอ หรือเจ้าของร่างฯจะดีกว่า 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วน ออกมาท้วงติงถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ 185 ซึ่งเป็นการห้ามไม่ให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือ แทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ลักษณะเช่นนี้จะทำให้คุณสมบัติของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงอ่อนแอลงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า 2 มาตรานี้ ถือเป็นปัญหาเช่นกัน หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 มาตราผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในการพิจารณาวาระที่ 1 เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนสามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขให้เข้มข้นมากขึ้น หรือแก้ไขให้มีเนื้อหาชัดเจนมากขึ้น ผู้ยื่นแก้ไขอาจมีความรู้สึกว่าที่ผ่านมาบทบัญญัติ 2 มาตรานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง จนทำให้เกิดปัญหาในการตีความ อย่างไรก็ตามตนยังไม่รู้ว่าเขาจะแก้ไปในทิศทางใด

เมื่อถามว่า หากมีการแก้ไขมาตราเหล่านี้จริงจะทำให้กระบวนการตรวจสอบการทุจริตอ่อนแอลงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีส่วนที่จะเป็นเช่นนั้นได้ แต่อาจจะไม่ใช่เจตนารมย์ของร่างฯก็ได้ แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพราะสภาก็อยากจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับอยู่แล้ว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบัตรเลือกตั้งใบเดียวเป็นสองใบเหมือนในอดีต คิดว่าจะทำให้ประเทศกลับไปสู่สภาพเหมือนกับตอนที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามว่า แนวโน้มการแก้ไขเพื่อจะตัดอำนาจ ส.ว. หรือ ปิดสวิตช์ ส.ว. นั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในวาระการพิจารณาของรัฐสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ตนตอบไม่ถูก เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา นายชวนพูดแล้วว่าไม่ได้ตีตก ตนเข้าใจว่าจะมีการนำเรื่องนี้เข้าไปหารือในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่พรรคก้าวไกลระบุว่าหลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้แล้วจะเสนอญัตติด่วนต่อรัฐสภาให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติถามความเห็นของประชาชนต่อการตั้ง ส.ส.ร. เรื่องนี้ทำได้เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ประชามติยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ตามขั้นตอนแล้วหลังจากที่ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว ทางรัฐสภาจะส่งให้รัฐบาลเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพิจารณา ลงพระปรมาภิไธยก่อนจะนำไปสู่การประกาศใช้ ดังนั้นถ้าอยู่ๆ จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้มาใช้ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นกฎหมายเลยก็อาจจะทำให้เกิดการถกเถียงกันไปเปล่าๆ ทั้งนี้สามารถเตรียมการเอาไว้ได้ แต่ถ้าจะทำถึงขั้นนำกฎหมายนั้นมาใช้เลยคงจะไม่ได้ 

กยศ. เตรียม 3.8 หมื่นล้านบาท รองรับผู้กู้ปีการศึกษา 2564 ไม่ต้องมีคนค้ำฯ ด้าน ธนาคารออมสิน จัด “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” ถึง 30 มิ.ย. นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อการศึกษา ว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เตรียมเงินไว้ 3.8 หมื่นล้านบาทรองรับผู้กู้ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 6.24 แสนคน โดยยกเลิกเงื่อนไขไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืน ในสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564

ขณะนี้ ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีกส่วนหนึ่ง โดยกยศ. มีวงเงินเหลือพร้อมให้การสนับสนุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ขณะนี้มีลูกหนี้ 3.6 ล้านคนและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน โดย กยศ. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี คือ

1.) ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัด

2.) ลดเบี้ยปรับ 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชี

3.) ลดเบี้ยปรับ 80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมด

4.) ลดเงินต้น 5เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัดและชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว

5.) ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5เปอร์เซ็นต์กรณีไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด มีผลถึง 31 ธ.ค.นี้  

สำหรับกรณีผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ประจำปี 2563 และ 2564 กยศ. จะชะลอการฟ้องคดีไปจนถึง 31 มี.ค.ปีหน้ายกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปีนี้ พร้อมงดการขายทอดตลาด กรณีที่ถูกบังคับคดีจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปีทั้งนี้ ลูกหนี้ กยศ. จะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างศึกษามาตรการอย่างรอบคอบก่อนประกาศใช้ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวด ยืดเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ได้จัด “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” เพื่อยับยั้งไม่ให้ครูและบุคลากรทางเป็นหนี้เสีย ส่งผลเสียทางเครดิต และกระทบต่อหน้าที่ราชการ โดยให้เลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 66 โดยเปิดให้แจ้งความประสงค์จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64 

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยหนี้ครู บุคลากรทางการศึกษา และหนี้นักเรียน ที่หยั่งลึกมานาน เน้นให้มีมาตรการแก้หนี้ที่เป็นระบบ เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรเทาวิกฤตหนี้สินภาคประชาชนให้มากที่สุด พร้อมเร่งสร้างวินัยและความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน” น.ส.รัชดา กล่าว  

“แรมโบ้” แจงยิบ ขั้นตอน “บิ๊กตู่” สางปมหนี้ครัวเรือน หลัง อดีตรมว.คลังวิจารณ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิจารณ์การแก้หนี้ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุรัฐบาลจะแก้ปัญหาหนี้ของประชาชนทั้งประเทศให้เสร็จภายใน 6 เดือน แล้วเก็บไปขำว่า อยากแนะนำให้กลับไปฟังนายกฯ แถลง ไม่ใช่เชื่อตามรายงานข่าวโดยสนิทใจ แล้วมาวิจารณ์ผู้อื่นจนเกิดความเสียหาย

นายเสกสกล กล่าวว่า สิ่งที่นายกฯ แถลงนั้น เป็นการย้ำว่านายกฯ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนในทุกกลุ่ม เพราะเป็นหนี้กันจำนวนมาก เป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยแล้วส่งผลกระทบไปตลอดชีวิตที่เหลือ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนจึงถือว่าเป็นนโยบายสำคัญที่นายกฯ พยายามทำมาโดยตลอด ในภาพรวมแล้วผลจากความตั้งใจทำงานของนายกฯ และรัฐบาล จะเห็นว่า “หนี้ครัวเรือน” ก่อนปี 2557 มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 88,000 ล้านบาท แต่หลังจากปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มขึ้นเดือนละ 50,000 ล้านบาท 

นายเสกสกล กล่าวว่า ถ้าได้ฟังเองจนครบก็จะเข้าใจว่า นายกฯ เห็นปัญหาหนี้ในภาพรวม แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เช่น หนี้ กยศ. 3.6 ล้านคน และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และหนี้สินอื่นๆ อีก 51.2 ล้านบัญชี  

นายเสกสกล กล่าวว่า จากนั้นก็ได้อธิบายมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ทั้งระยะสั้นและระยะต่อไป โดยมาตรการระยะสั้น ให้เร่งทำทันทีภายใน 6 เดือน ไม่ใช่แก้ให้เสร็จ ซึ่งต้องสร้างกลไกการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว แล้วค่อยๆ แก้กันไป ช้าเร็วขึ้นอยู่กับความร่วมมือของแต่ละคน โดยมีมาตรการสำคัญๆ เช่น การลดภาระดอกเบี้ย ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO สำหรับประชาชน การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครู ข้าราชการ และสหกรณ์ การปรับรูปแบบการชำระหนี้ การคุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ รวมทั้งให้ ธปท.ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน

นายเสกสกล กล่าวว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์ มีการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs เช่น จัดให้มีซอฟโลน สำหรับ SME ที่เป็น NPL เพื่อต่อลมหายใจ พลิกกลับมาทำธุรกิจต่อไปได้ 

นายเสกสกล กล่าวว่า ส่วนการเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำ โรงรับจำนอง นายสมหมาย เป็นถึงอดีต รมว.คลัง ต้องเข้าใจกว่าใครๆ ว่า โรงจำนำ จำนองเป็นที่พึ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือปานกลาง ที่มีโอกาส “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ได้เสมอ เขาเพียงต้องการกู้เงินระยะสั้น เงื่อนไขน้อย วงเงินหลักพัน-หลักหมื่น ไม่ใช่หลักแสน-หลักล้าน ซึ่งคิดดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.25% ถึง 1.25% ต่อเดือน เพื่อแก้ขัดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ช่วงเปิดเทอม ยามป่วยไข้ ขายของขาดทุน หรือลงทุนเพิ่ม ซึ่งถ้าไม่มีแหล่งทุนคนจนของรัฐนี้แล้ว ก็เหมือนกับผลักให้คนยากคนจนไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ หรือให้นายทุนปล่อยเงินกู้ขูดรีด 

นายเสกสกล กล่าวว่า นายกฯ ยังนำเสนอมาตรการระยะต่อไป เช่น เร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่หรือคนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะออกมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยและค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ และการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เพื่อชะลอการฟ้องและอำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น 

นายเสกสกล กล่าวว่า ในความเป็นจริงหนี้สินของแต่ละกลุ่ม ก็จะมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพอยู่แล้ว เพียงแต่นายกฯ จะดูแลในระดับนโยบาย ภาพกว้าง ที่ต้องมีผลบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ เช่น กฎหมายขายฝากที่ช่วยคุ้มครอง ให้ความเป็นธรรม ไม่ให้ผู้จำนองถูกยึดที่ดินเหมือนในอดีต กฎหมายทวงหนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ลูกหนี้ และขจัดวงจรผู้มีอิทธิพล และกฎหมายปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและวิธีคิดดอกเบี้ยที่ใช้มาแล้ว 95 ปี (พ.ศ. 2468 จนถึงปัจจุบัน) เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบและสอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น กรณีที่สัญญาเงินกู้ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ เดิมสามารถคิดดอกเบี้ยอัตราคงที่ 7.5% ต่อปี ให้แก้เป็น 3% ต่อปี ส่วนกรณีผิดนัดชำระหนี้ เดิมคิดดอกเบี้ยอัตราคงที่ 7.5% ต่อปี แก้เป็น 5% ต่อปี โดยให้คำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้น เฉพาะงวดที่ผิดนัดเท่านั้น ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด 

นายเสกสกล กล่าวว่า ดังนั้น น่าจะหมดคำถามในเรื่องความรู้ความเข้าใจ เรื่องเศรษฐกิจการเงินการคลังของนายกฯ คนที่นายสมหมาย กำลังกล่าวหา ยิ่งกว่านั้น ตนอยากจะบอกว่า นายกฯ คนนี้ที่สนับสนุนการทำบัญชีครัวเรือน ผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพราะอยากให้ทุกคนมีบำนาญใช้ตลอดชีวิต รวมทั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยมีกองทุนเงินให้กู้ยิมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบเงินสนับสนุน ไม่ใช่เงินกู้ สำหรับคนยากจนจริงๆ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาของประเทศ

นายเสกสกล กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์นายกฯ คนนี้ใช่หรือไม่ ที่ผลักดันการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ "ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ" หรือ National e-Payment ของรัฐบาล ร่วมกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทำให้คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับบริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ หรือ พร้อมเพย์ (Prompt pay) ตั้งแต่ปี 2560 นอกจากจะค่าธรรมเนียมถูกมากๆ แล้ว รัฐบาลยังประหยัดค่าใช้จ่ายปีละหลักหมื่นล้านบาท ในการขนส่งเงิน การรักษาความปลอดภัย การผลิตเงิน เป็นต้น ที่สำคัญในยามวิกฤตโควิดนี้ โครงการต่างๆ เช่น เราชนะ คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมทั้งการค้าขายออนไลน์ ก็ขยายผลมาจากการใช้เงินดิจิทัลทั้งสิ้น ซึ่งโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขจัดการทุจริต และคนไทยก็เริ่มปรับตัวใช้จ่ายเงินดิจิทัลมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นายเสกสกล กล่าวว่า อยากให้นายสมหมายทบทวนดูใหม่ว่าการออกมาวิพากย์วิจารณ์ครั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจไร้อคติหรือ ลองทบทวนดูว่าได้คิดให้รอบคอบและไม่บุ่มบ่าม ตามที่นายสมหมายเคยมีบทเรียนมาในอดีตหรือไม่ อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ที่ตัดสินใจผิดพลาดจนเกือบติดคุก แต่อยากให้ช่วยติดตามผลงานรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ เชื่อว่านายกฯ พร้อมรับฟังทุกความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

"อย่าเอาอคติ ความน้อยใจ ความโกรธ ที่นายกฯ ปรับออกจาก ครม. การได้เป็น รมว.คลัง จากการสนับสนุนของนายกฯ ก็ถือว่านายกฯ ให้เกียรติว่าเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีความรู้ความสามารถ คนเราต้องรู้จักน้ำใจที่มีให้กันบ้าง อย่าทำตัวเป็นคนที่ใช้อัตตาเพราะความโลภ โกรธ หลง ใช้ความโมโห จนกลายเป็นคนพาล ทำตัวเป็นฝ่ายค้านไป อย่าลืมว่าคนเป็นหนี้ คนยากจนทุกข์แสนสาหัสอย่างไร นายสมหมายไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้เดือดร้อนด้วย จึงขอย้ำอีกครั้งว่า อย่าเอาความผิดหวังของตัวเองมาเหยียบย่ำหัวเราะเยาะเย้ยคนจนคนที่เป็นหนี้เป็นสินเลย การที่นายกฯกำลังจะแก้ไขปัญหาให้คนเป็นหนี้ทั้งหลาย โปรดอย่าทำลายความตั้งใจของนายกฯที่มีความหวังตั้งใจจริง ต้องการให้คนไทยหมดหนี้หมดสินโดยเร็วจะสำเร็จมากน้อยดีกว่ายืนดูบนหอคอยงาช้าง และยืนหัวเราะเยาะเย้ยแบบไม่ใยดีของนายสมหมาย พี่น้องประชาชนคนยากจนคนเป็นหนี้เป็นสิน จะสาปแช่งนายสมหมายให้ไปตกนรกตอนแก่ได้ ให้พึงระวังคำพูดคำจาไว้ด้วย" นายเสกสกล กล่าว

โฆษกกลาโหมฯ แจง ทบ. จัดซื้อเครืองบินช่วงโควิด ย้ำจำเป็นทดแทนเครื่องเก่าก่อนปลดระหว่างปี 66 ชี้ ใช้ภาระกิจช่วยปชช. วอน อย่ามองใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ยัน จัดหาโปร่งใส

ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวานิชย์โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส ซี 295 ของกองทัพบก ว่า กระทรวงกลาโหมได้อนุมัติ ให้กองทัพบกจัดซื้อ ภายใต้การเสนอความต้องการของหน่วย และเป็นเครื่องบินลำเลียงขนาดกลาง ใช้ในภารกิจบรรทุกกำลังพล โดยเฉพาะการฝึกกระโดดร่ม การเคลื่อนย้ายทางยุทธวิธี ของหน่วยรบพิเศษ และการส่งกำลังผัดเปลี่ยนชายแดน การกู้ภัย การอพยพประชาชนในพื้นที่เกิดภัยพิบัติ และการเคลื่อนย้ายเครื่องมือแพทย์และผู้ป่วย รวมถึงการชุดส่งชุดพลาดไปช่วยเหลือ ในโรงพยาบาลสนามและเรือนจำ ที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า อัตราที่ควรจะมี กำหนดไว้ 8 ลำ แต่ปัจจุบัน มีเพียง 4 ลำ ปัจจุบันใช้การได้เพียงลำเดียวเท่านั้น และใช้ในภารกิจฝนหลวง และเป็นรุ่นเก่าคาซ่า 212 ใช้มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงขณะนี้ 27 ปี โดยจะปลดระหว่างในปี 2566 หลังครบการใช้งาน 30 ปี 

“การทยอยจัดซื้อเครื่องติดแอร์บัสซี 295 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นการจะซื้อมาแล้วหนึ่งลำและในปี 2561 อีกหนึ่งลำ และปี 2564 อีกหนึ่งลำ ซึ่งจะใช้เวลาในการจัดส่งได้อีกสองปีครึ่ง ซึ่งใช้งบประมาณของหน่วยกองทัพบก งบปี 2564” พล.ท.คงชีพ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตในการจัดซื้อท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 นั้น พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า อยากจะให้เข้าใจว่า เครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินสีพรางทางทหาร และเครื่องบินมีความจำเป็น โดยเฉพาะการบรรทุกกำลังพล 70 นาย เราไม่สามารถนำชีวิตทหารไปเสี่ยงได้ กับอุปกรณ์ที่เก่า ซึ่งจะต้องให้กำลังพลนั้นเชื่อมั่นในยุทโธปกรณ์ที่จะใช้ด้วย และปัจจุบันเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินที่ใช้อยู่ตามแนวใช้แดน ค่อนข้างที่จะเก่ามาก ซึ่งจะเห็นจากข่าวที่ตกกันอยู่ต่อเนื่อง มีชีวิตที่ต้องสูญเสียอยู่ตลอด

"อะไรที่เป็นเรื่องของความจำเป็นก็อยากจะให้เข้าใจ ด้วยว่าเครื่องบินจะจัดซื้อในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เราก็จะนำมาใช้ในการลำเลียง คนเข้าไปช่วย ในเรื่องโควิด ในแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน เมื่อมีความเร่งด่วน ต้องการใช้แพทย์ทหาร เครื่องมือแพทย์ ทหารก็พร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุน ฉะนั้นอยากให้เห็นใจ จะเป็นยุคโควิด หรือยุคใดก็แล้วแต่ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้  จึงอยากจะให้ทุกคนเข้าใจว่า อาจจะไม่ใช่ว่าจะซื้อในยุคโควิด แล้วจะซื้อไม่ได้ ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องใช้ ขออย่ามองว่าทุกอย่างเป็นการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า" โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว 

ทั้งนี้ พล.ท.คงชีพ กล่าวย้ำว่า กองทัพบก ได้จัดซื้อเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นไปด้วยความโปร่งใส

“บิ๊กตู่” สั่งเร่งมาตรการแก้หนี้ภาคประชาชนด่วน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ห่วงใยหนี้ครู บุคลากรทางการศึกษา และหนี้นักเรียนที่หยั่งลึกมานาน เน้นให้มีมาตรการแก้หนี้ที่เป็นระบบและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรเทาวิกฤตหนี้สินภาคประชาชนให้มากที่สุด พร้อมเร่งสร้างวินัยและความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

ล่าสุดมีแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อการศึกษา โดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เตรียมเงินไว้ 3.8 หมื่นล้านบาท รองรับผู้กู้ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 6.24 แสนคน ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้กู้มีความยากลำบากในการหาผู้ค้ำประกัน กยศ. จึงได้ยกเลิกกำหนดที่ให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน ในสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 โดยได้ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีกส่วนหนึ่ง รัฐบาลโดย กยศ. ยืนยันมีวงเงินเหลือพร้อมให้การสนับสนุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข

สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ขณะนี้มีลูกหนี้ 3.6 ล้านคนและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน โดย กยศ. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี คือ

1.) ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัด

2.) ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชี

3.) ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมด

4.) ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัดและชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว

5.) ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% กรณีไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะมีผลถึง 31 ธ.ค. ปีนี้  

สำหรับกรณีผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ประจำปี 2563 และ 2564 กยศ. จะชะลอการฟ้องคดีไปจนถึง 31 มี.ค. ปีหน้ายกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปีนี้พร้อมงดการขายทอดตลาด กรณีที่ถูกบังคับคดีจนถึงสิ้นปีนี้ กยศ. จะงดการขายทอดตลาด ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ ลูกหนี้ กยศ. ยังจะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการอย่างรอบคอบก่อนประกาศใช้ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวด ยืดเวลาผ่อนชำระ 

ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสินยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาจัด “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” ยับยั้งสถานะไม่ให้เป็น NPL ส่งผลเสียทางเครดิต และกระทบต่อหน้าที่ราชการได้ในอนาคต โดยเลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 66 เปิดให้แจ้งความประสงค์ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64  

โฆษกพรรคกล้า อัด ‘"ปชป.ตกต่ำ’ เย้ยจะไม่เป็นแบบนี้ ถ้า ‘มาร์ค’ อยู่

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564 นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า ออกมาแถลงข่าว พาดพิงถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่กล้าแสดงจุดยืน และเอาแต่หลบอยู่หลังโฆษกพรรค

"ถ้าเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนก่อน คงมีท่าทีชัดเจนไปแล้ว ไม่แอบอยู่หลังโฆษกพรรคแบบนี้"

"แม้จะเสนอแก้ไขยกเลิกอำนาจ ส.ว. แต่ถ้าไม่กล้าตั้งเงื่อนไขทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ สุดท้ายก็แค่ละครตบตาฉากหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอะไรคืบหน้า เสียดายเวลาผ่านมาเกือบ 2 ปี แต่ไม่ได้อะไรเลย" โฆษกพรรคกล้า กล่าว

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ออกมากดดันให้พรรคประชาธิปัตย์คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ หากพรรคพลังประชารัฐไม่ลงมติยกเลิกอำนาจ ส.ว.ตาม ม.272

ซึ่งการออกมาให้ข่าวครั้งนี้ของพรรคกล้า เท่ากับเป็นการเปิดศึกกับทางพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรคอย่างชัดเจน เนื่องจากมีการเหน็บแถมถึงนายจุรินทร์ พร้อมเปรียบเทียบกับหัวหน้าพรรคคนก่อนอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อนรักของนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า

 

ที่มา : https://www.facebook.com/sanyakorn.singhaweratham/posts/4089106017844007


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

"สุทิน" ไม่ติดใจ ปม "ประธานรัฐสภา" ไม่บรรจุญัตติ ม.256 เผย เตรียมวัดใจ ครม. ทำประชามติ ยัน รับหลักการเพื่อไทยทุกร่าง ส่วนร่างอื่นขอรอฟังอภิปรายก่อน

ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการประชุม ร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า สำหรับการประชุมพ.ร.บ.ประชามติ คาดว่าจะจบภายในวันนี้ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านมีทิศทางชัดเจนว่า เห็นชอบให้ผ่าน เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายประชามติ ส่วนในวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) จะเป็นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเวลาเพียง 2 วัน พรรคร่วมฝ่ายค้านคงจะใช้ผู้อภิปรายไม่เกิน 30 คน พรรคเพื่อไทยประมาณ 13 คน ซึ่งหากไม่จบภายใน 2 วัน ก็จะขอหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขยายเวลาเพิ่มไปถึงวันที่ 25 มิ.ย.  

นายสุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนทิศทางการลงมติของพรรคเพื่อไทย ในส่วนร่างของพรรคจะเห็นชอบทั้ง 4 ร่างไม่นับรวมร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่ไม่ถูกบรรจุในวาระการประชุม ส่วนร่างอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกพรรคเพื่อไทยมีมติว่าจะรอฟังการอภิปรายแต่ละร่างก่อน ถึงจะมีมติไปทางใดทางหนึ่งในวันสุดท้าย เนื่องจากร่างของทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลมีส่วนที่ตรงกันกับร่างของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นส่วนที่ตรงกัน ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนที่ไม่ตรงจะดูและฟังว่าสามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการ วาระที่ 2 ได้หรือไม่ หากมีโอกาสที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ก็คงจะพิจารณารับหลักการไป แต่หากเรื่องใดที่ไม่สามารถปรับปรุงได้และขัดกับเราชัดเจน แน่นอนว่าก็คงจะเห็นชอบไม่ได้ 

เมื่อถามว่าญัตติ มาตรา 256 ที่ไม่สามารถบรรจุเข้าวาระประชุมได้ หากพ.ร.บ.ประชามติผ่านความเห็นชอบจากสภา พรรคร่วมฝ่ายค้านมีการพูดคุยกันหรือไม่ ว่าจะขอมติจากสภาเพื่อทำประชามติมาตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นายสุทิน กล่าวว่า แน่นอน สำหรับกรณี ม.256 ที่ไม่ถูกบรรจุและยังไม่ตก เรามองในแง่ดีว่าเป็นเพราะยังไม่มีพ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ก่อนพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะหารือกับประธานรัฐสภาในที่ประชุมว่าหากพ.ร.บ.ประชามติผ่านแล้วจะใช้วิธีใดในการดันเรื่องนี้เข้าเพื่อให้สภามีมติส่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำประชามติ

เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อน แต่พรรคเพื่อไทยยังมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ นายสุทิน กล่าวว่า เราเสนอเข้ามา เจตนาเพื่อเป็นต้นเรื่อง ต้นทางที่จะนำไปสู่การทำประชามติ หากเราไม่เสนอเข้ามาเลย ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรถึงจะมีการทำประชามติ 

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลมีการระบุว่าจะให้สภายื่นเรื่องให้ครม.จัดทำประชามติ ได้พูดคุยกันถึงประเด็นนี้แล้วหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า แบบนี้ก็ได้ เพราะเป็นแนวทางตรงกันอยู่แล้ว ว่าเราคงจะต้องให้สภายื่นเรื่องให้ครม. แต่จะต้องรอ พ.ร.บ.ประชามติ หากไม่ผ่านแนวปฏิบัติก็ไม่ได้ 

จับตา ครม. เคาะแผนเปิดประเทศรับต่างชาติ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมเตรียมรับข้อเสนอกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว เริ่มนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ผ่านการทำ “ภูเก็ตแซนด์บ๊อก” และการเปิดพื้นที่บาส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มวันที่ 15 ก.ค. 64 

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในด้านการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ ล่าสุดทางจังหวัดก็ได้เตรียมความพร้อมแล้ว ถือเป็นไปตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีประกาศเอาไว้ว่าจะเปิดประเทศใน 120 วัน โดยหลังจาก ครม. เห็นชอบแล้ว ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบความพร้อมขั้นสุดท้าย ก่อนนายกรัฐมนตรี และคณะ จะเดินทางไปลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 1 ก.ค.นี้ 

ส่วนในจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อม คือมีการฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ครบ 70% แล้ว ก็ได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปหารือกับทาง ศบค.ชุดเล็ก และผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อทำการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่อจากภูเก็ตต่อไป 

ขณะที่วาระอื่นๆ กระทรวงการคลัง เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... (การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน) และเสนอการกำหนดเบี้ยประชุมให้แก่ประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

“เลขาฯ สมช.” ระบุ ไม่รื้อภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ หลังพบคลัสเตอร์กระจายไป 11 จังหวัด เผย รอประเมินหลัง ”สุพัฒนพงษ์” ลงพื้นตรวจ 25 มิ.ย. นี้ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่าในการประชุมศบค. วันนี้ยังไม่มีการทบทวนมาตรการแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่อง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แม้จะพบคลัสเตอร์ระบาดใหญ่ที่จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อ 402 ราย และกระจายไป 11 จ.ภาคใต้ โดยมาตรการทั้งหมด จะต้องรอประเมินสถานการณ์ หลังจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ลงพื้นที่ไปติดตามความพร้อมในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ก่อน 

“ชวน” ย้ำ ถกกฎหมายยาเสพติด-ประชามติ ต้องเสร็จวันนี้ พร้อมกำชับสมาชิกปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดเคร่งครัด 

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และร่างพ.ร.บ.ยาเสพติด ว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) จะต้องชี้แจงต่อรัฐสภา ซึ่งกลับมาพิจารณาร่วมกันหลังจากผ่านมาเป็นเดือนแล้ว และเข้าใจว่าวันนี้จะจบ แต่ปัญหามีอยู่เพียงว่าสมาชิกในห้องประชุมมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ดังนั้นเวลาที่มีการลงมติทําให้เกิดความแออัดมากขึ้น จึงต้องพยายามลดความหนาแน่นของห้องประชุม แต่เมื่อต้องลงมติก็จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในห้องประชุมพร้อมกัน จึงขอความร่วมมือสมาชิกให้สวมหน้ากากอนามัย เพราะการเว้นระยะห่างอาจจะทำยาก โดยหวังว่าการประชุมพิจารณาทั้งเรื่องวาระกฎหมายยาเสพติดและพ.ร.บ. ประชามติจะเสร็จสิ้นภายในวันนี้ เพราะพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) จะเป็นเรื่องของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ยอมรับว่าการพิจารณาวาระกฎหมายยาเสพติดอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องพิจารณาและลงมติในรายมาตรา

นายชวน กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่รัฐสภานั้น เรื่องนี้มีการพูดคุยกับฝ่ายเลขาธิการสภาฯ ทุกวัน เพราะพบข้อมูลผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านหรือผู้ขายอาหารภายในอาคารรัฐสภา แต่ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบถึงคนอื่น อย่างไรก็ตามขอร้องทุกฝ่ายให้เพิ่มมาตรการเข้มงวด อย่างน้อยให้มีการสวมหน้ากากอนามัย 100% เพราะเรื่องอื่นอาจจะคงไม่ได้ทั้งหมด เช่น เรื่องของการเว้นระยะห่าง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top