Friday, 17 May 2024
POLITICS NEWS

ก.แรงงาน จับมือ 12 องค์กร สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ลงนาม MOU มุ่งมั่นแก้ปัญหาแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ

กระทรวงแรงงาน จัดพิธีประกาศเจตนารมณ์   และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ในกิจการสินค้าประเภท กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ระหว่างสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย จำนวน 12 องค์กร เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดพิธีประกาศเจตนารมณ์และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับในกิจการสินค้าประเภท กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ ในสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทย 

โดยสินค้าเหล่านี้ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีเหตุเชื่อได้ว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา จึงมีพิธีประกาศเจตนารมณ์และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ประกอบด้วย 12 องค์กร ได้แก่ สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย  สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย

สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย  สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และคลัสเตอร์สหกรณ์กุ้งคุณภาพภาคใต้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐและเอกชนไทยที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและยังเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือกันดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยจะมีการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติการร่วมกัน เช่น การสำรวจข้อมูลของแรงงาน การให้ความรู้แก่แรงงาน การสนับสนุนให้มีการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ไปจนถึงการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป

ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันสินค้าของประเทศไทยถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีเหตุเชื่อได้ว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ 

ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เกิดผลทางจิตวิทยาต่อผู้ซื้อ ผู้บริโภคในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป โดยถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้า ส่งผลต่อการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาแก่สินค้าของประเทศไทย ทำให้กระทบต่อธุรกิจการส่งออกอันถือเป็นแหล่งรายได้หลักทางหนึ่งของประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ศาลปกครองพิพากษาให้ ‘บุญทรงกับพวก’ ต้องชดใช้ค่าเสียหายคดีทุจริตระบายข้าว G to G มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ตามจำนวนเดิมรวมกันกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ชี้ชัดแบ่งหน้าที่กันทำ จงใจทุจริต ทำกระทรวงพาณิชย์เสียหาย

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ผู้ฟ้องคดีที่

1 นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 นายอัฐฐิติพงศ์ หรืออัครพงศ์ ทีปวัชระ หรือช่วยเกลี้ยง อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ผู้ฟ้องคดีที่ 3 นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีที่ 4 และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีที่ 5 กับ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รมว.พาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กรณีมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)

โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ที่มีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ลับ ที่ 453/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2559 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ารับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กระทรวงพาณิชย์ กรณีการระบายข้าวโดยเจรจาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดเป็นเงินคนละ 4,011,544,752.33 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 4 รับผิดเป็นเงิน 2,242,571,739.67 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 5 รับผิดเป็นเงิน 1,768,973,012.66 บาท

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ในการระบายข้าวโดยการแบ่งหน้าที่กันทำในลักษณะจงใจกระทำต่อกระทรวงพาณิชย์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้กระทรวงพาณิชย์ได้รับความเสียหายตามสัญญาระบายข้าวรวม 4 ฉบับ คิดเป็นเงินจำนวน 20,057,723,761.66 บาท อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีแล้ว มีเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ไม่ต้องใช้เต็มจำนวนความเสียหาย ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 การมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รับผิดในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายในแต่ละสัญญาที่แต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงเป็นธรรมในแต่ละกรณีแล้ว

แต่ในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 3 เพิ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว การมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 3 รับผิดในอัตราร้อยละ 20 เท่ากับผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในสัญญาฉบับที่ 1 และที่ 2 ซึ่งบางส่วนเกิดขึ้นก่อนผู้ฟ้องคดีที่ 3 จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว จึงไม่เป็นธรรม

พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ลับ ที่ 456/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2559 เฉพาะในส่วนที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 2,694,464,066.21 บาท ยกฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

‘บิ๊กตู่’ จัดให้ ! ฉีดวัคซีนนศ.ไทย ได้กลับไปเรียนต่อจีนและประเทศอื่น

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยนักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ในต่างประเทศ แต่ยังไม่สามารถกลับไปเรียนต่อได้ เช่น นักศึกษาไทยในประเทศจีน ที่คาดว่าจะมีประมาณ 1,000 คน จึงได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข ทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลในเรื่องการจัดการฉีดวัคซีนแก่นักศึกษาทุกคน

ซึ่งขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าได้จัดเตรียมวัคซีนและสถานที่ ๆ สถาบันบำราศนราดูร เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนไว้แล้ว เหลือเพียงการรวบรวมและจัดระบบข้อมูล และกระบวนการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอยู่ ขอให้นักศึกษาสบายใจ และรัฐบาลจะแจ้งให้ทราบถึงวันที่ให้เริ่มไปรับการฉีดวัคซีน ที่จะมีให้เร็ว ๆ นี้

รฟท. เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีนต่อ พร้อมลงนามก่อสร้างงานโยธาอีก 3 สัญญา คาดให้บริการได้ในปี 2569

วันที่ 29 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมอาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) จำนวน 3 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย 

โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทคู่สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ผู้แทนจากบริษัท เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผู้แทนจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ผู้แทนจาก บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) จำนวน 3 สัญญา ในวันนี้ เป็นโครงการที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยสู่โลก และเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจและเร่งรัด ติดตามความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด และในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ก็จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน 

โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ โดยกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าโดยเร็ว ล่าสุด ก็ได้มีการลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา 

ส่วนวันนี้เป็นการลงนามในสัญญาก่อสร้างเพิ่มเติม 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ วงเงินก่อสร้าง 11,525,350,500 บาท สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงินก่อสร้าง 6,573,000,000 บาท และสัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี วงเงินก่อสร้าง 9,428,999,969.37 บาท มีระยะเวลาก่อสร้างแต่ละสัญญา 1,080 วัน รวมวงเงินก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา 27,527,350,469.37 ล้านบาท

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับสัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับ 23 กม. งานก่อสร้างทางวิ่งเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายรางและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรวมถนนต่อเชื่อม ได้แก่ อาคารระบบซ่อมบำรุงขบวนรถไฟ 19 อาคาร อาคารควบคุมระบบการจัดการเดินรถและฝึกอบรม 4 อาคาร  อาคารสำหรับระบบซ่อมบำรุงทาง 8 อาคาร งานก่อสร้างถนนงานระบบระบายน้ำและงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ

สัญญาที่ 4 - 6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 31.60 กม. แบ่งเป็น คันทางระดับดิน 7.02 กม. และทางยกระดับ 24.58 กม. งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า 7 แห่ง รวมทั้งงานรื้อย้ายสถานีเดิม งานปรับปรุงย้ายถนนเดิม งานก่อสร้าง สะพานข้ามทางรถไฟ งานระบบระบายน้ำ และงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ 

ภายหลังเปิดงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ถือเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) ที่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางของไทย อาเซียนและจีนให้เป็นหนึ่งเดียว 

โดยเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ

คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ทุ่มงบฯ 54.83 ล้าน ตั้ง สคทช. - หนุน กรมป่าไม้ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม จัดการที่ดิน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. จำนวน 9 คณะ และได้รับทราบผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ผลการดำเนินงานที่สำคัญของฝ่ายเลขานุการฯ คทช. และคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. 

เห็นชอบแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ (บิ๊ก ร็อค) กิจกรรมปฏิรูปด้านสังคม การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน และ ขอรับการสนับสนุนเพื่อดำเนินการโครงการนำร่องระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งประธานสภาเกษตรกรจังหวัด และท้องถิ่นจังหวัด เป็นอนุกรรมการใน คทช. จังหวัด
และเห็นชอบแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการนโยบายแนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินและเห็นชอบเพิ่มหน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการจัดที่ดินในการสำรวจ ตรวจสอบ และจัดทำข้อมูลผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย 

คทช. เห็นชอบ ร่างประกาศ คทช. เรื่องหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ พ.ศ. .... เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 13 โดยคทช. เห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานและ การประเมินผลการปฎิบัติงานของ คทช. ตั้งแต่ปีงบประมาณพ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน และให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา และเผยแพร่ต่อสาธารณะชน

คทช. เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. เพิ่มเติม เพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐจำนวน 2 คณะได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร. จังหวัด) 2. คณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ และการของบฯกลาง จำนวน 8,448,400 บาท เพื่อเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิที่ยังค้างอยู่ โดย คทช. เห็นชอบกรอบอัตรากำลังของ สคทช. จำนวน 100 อัตรา และการของบฯกลาง จำนวน 54,834,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตั้งสำนักงาน รวมทั้งเห็นชอบแบบตราสัญลักษณ์ของสำนักงาน

ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการเสนอความเห็นของ คทช. ประกอบการพิจารณาของ ครม. โดยมอบหมายให้ สคทช. เสนอความเห็นได้ในกรณีเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศ กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือเป็นไปตามแนวนโยบายของ คทช. กรณีที่มีแนวทางปฏิบัติชัดเจน และเห็นชอบให้สำนักงบประมาณ สนับสนุนงบประมาณให้กรมป่าไม้ ในการจัดหาข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงปี 2557 เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินตามนโยบาย คทช.

ปชป. ขอแสดงความยินดีผู้ชนะและเป็นกำลังใจให้ทุกคน ต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกเขตเทศบาลทั่วประเทศ พร้อมทำงานร่วมกัน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นในส่วนของเทศบาลว่า “ขอแสดงความยินดีต่อผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในทุกเขตของเทศบาลทั่วประเทศ

ทั้งผู้บริหาร คือนายกเทศมนตรี และ สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ประชาชนในทุกเขตเทศบาลจะได้มีตัวแทนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาท้องถิ่น และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่พลาดหวังจากการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าทุกคนจะร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญก้าวหน้าภายใต้การปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตในการทำหน้าที่  พี่น้องประชาชนจะต้องใช้งานคนที่เป็นตัวแทนให้คุ้มค่าจากการใช้สิทธิในการเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำงาน”

พรรคประชาธิปัตย์พร้อมทำงานร่วมกันกับทุกเขตเทศบาลทั่วทั้งประเทศเพื่อร่วมกันทำงานโดยมีจุดมุ่งหมายคือประโยชน์ของประชาชนและประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในอุดมการณ์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นโดยมุ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีธรรมาภิบาล เพื่อให้สามารถเข้าถึงปัญหาและแก้ไขได้ตรงกับความต้องการของคนในท้องถิ่นนั้น จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาบ้านเมือง ท้องถิ่นถือเป็นกลไกที่สำคัญที่สุด

ไทย พบติดเชื้อรายใหม่ 39 ราย กาฬสินธุ์ไข่แตก เจอ 1 ราย เชื่อมโยงคลัสเตอร์ กทม. จับตา ศบค. ชุดเล็ก ถก มาตรการผ่อนคลาย ภาคธุรกิจ - เอกชน หวัง เปิดประเทศ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 39 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 28 ราย ในจำนวนนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 12 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 28,773 ราย หายป่วยสะสม 27,313 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,366 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 94 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 127,764,765 ราย เสียชีวิตสะสม 2,796,087 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ พบ 1 ราย ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อมาก่อน โดยผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวเป็นชายไทย อายุ 35 ปี อาชีพพนักงานขายของในห้างสรรพสินค้า เดินทางมา กทม. เพื่อมาหาเพื่อนเมื่อวันที่ 22 มีนาคม โดยเพื่อนมีอาชีพค้าขายในตลาดบางแค และเดินทางกลับ จ.กาฬสินธุ์ในวันที่ 24 มีนาคม จากนั้นวันที่ 25 มีนาคม มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมาวัน 26 มีนาคม ทราบว่าเพื่อนที่ กทม.เข้ารับการตรวจและพบว่าติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 27 มีนาคม จึงรีบไปตรวจที่โรงพยาบาล ผลยืนยันติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังได้หยิบยกกรณีการติดเชื้อที่ตลาดสะพานสูงขึ้นมาพูดคุย โดยผู้ติดเชื้อมีทั้งเจ้าของแผงเนื้อ และแม่ค้าล็อตเตอรี่ จึงอยากทุกคนเฝ้าระวังตัว วันนี้ทุกคนยังใช้ชีวิตในตลาดได้อยู่ เพียงแต่ต้องตื่นตัว การ์ดต้องไม่ตก ขณะที่ปัจจุบันพื้นที่ กทม. มีการค้นหาเชิงรุกไปแล้วทั้งสิ้น 106,741 ราย พบผู้ติดเชื้อ 579 ราย หรือ 0.95% ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ในแนวตะวันตกของ กทม. มากที่สุดคือ เขตบางแค 318 ราย

พญ.อภิสมัย ตอบข้อซักสามถึงกรณี โรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนได้หรือไม่ ว่า นอกจากจะถามว่าสมควรฉีดวัคซีนหรือไม่ ก็มักจะมีคำถามเกิดขึ้นว่าจะจัดหาเองได้หรือไม่ ทั้งนี้ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ห้าม แต่เน้นย้ำเสมอในเรื่องของความปลอดภัย เพราะวัคซีนเป็นการอนุญาตใช้ในภาวะฉุกเฉิน ผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลก(WHO) และสิ่งที่รัฐบาลย้ำคือจะต้องได้รับการรับรองจาก อย. กระทรวงสาธารณสุข และที่ผ่านมาวัคซีนทั่วโลกถือว่ามีการผลิตอย่างจำกัด และมีการเฝ้าระวัง รายงานเคส ดูเรื่องความปลอดภัย จะต้องมีการเก็บข้อมูลการวิจัยและส่วนหนึ่งวัคซีนที่ผลิตได้อาจจะได้รับการจัดสรรไปทางประเทศแทบอเมริกาและยุโรป เป็นหลักจึงทำให้ภาคเอกชนอาจจะไปหาซื้อวัคซีนเองซึ่งเป็นไปได้ยาก แต่จากนี้ต่อไปเนื่องจากการผลิตมีมากขึ้นจะได้เริ่มเห็นวัคซีนหลายบริษัท ที่มีรายงานว่าผ่าน อย. ซึ่งเมื่อมีวัคซีนมากขึ้นการกระจายโดยถ้าเอกชนก็อาจจะเป็นไปได้ 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ทาง ศบค. ชุดเล็กได้หารือกันในวันนี้ร่วมกับทางสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม ได้นำเรื่องการกระจายวัคซีนในภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมนำเสนอศบค. ชุดเล็กในวันเดียวกันนี้ด้วย ตลอดสัปดาห์นี้จะมีการหารือทั้งกลับสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรม ด้วยว่าในกรณีของประชาชนผู้เสียงสัมผัสและอยู่ในภาคเอกชน หรือภาคธุรกิจ หรือผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าออกต่างประเทศ จะต้องมีการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงอย่างไร ร่วมกับในส่วนที่ ศบค. หารือในสัปดาห์นี้

ซึ่งเราคงต้องติดตามกันรวมไปถึงมาตรการการผ่อนคลายที่ในสัปดาห์นี้จะมีการหารือกับทุกภาคส่วน ทุกกระทรวง เช่น กระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันโรค โควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน , กระทรวงคมนาคม ที่จะต้องนำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ไปหารือกับทางสถานีขนส่ง ระบบตรวจส่งสาธารณะ และท่าอากาศยาน , กระทรวงแรงงาน ที่จะต้องมีมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าว แรงงานตามฤดูกาล , กระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องดูแลเรื่องการค้าแนวชายแดน , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ , กระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนา 

ซึ่งจะมีการหารือ ศบค. ชุดเล็กในสัปดาห์นี้ เพื่อหามาตรการการจัดกิจกรรมทางศาสนา การเดินทางข้ามอีกที การสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ จะมีมาตรการออกมารองรับอย่างไรเพื่อให้เราสามารถเตรียมเปิดประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบตามที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำไว้ว่า ทุกกระทรวง ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องนำเสนอมาตรการที่เป็นไปตามการผ่อนคลาย 3 เฟส ที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงอยากให้ติดตามกันภายในสัปดาห์นี้

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขอฝากเน้นย้ำว่าเมื่อมีการติดเชื้อในคลัสเตอร์ใหม่ในตลาดหรือชุมชน สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเสมอคือเรื่อง "อคติ" เนื่องจากหลายคนมีความรู้สึกว่าหากมีคนมาจากพื้นที่เสี่ยงมาอยู่แถวบ้านเรา เราก็กลัวว่าไข่จะแตก จนอาจเกินเลยเป็นความรู้สึกตั้งข้อรังเกียจ มีอคติ ตอนนี้ซึ่งเราไม่อยากเห็นคนที่เกิดความกังวลกันจน ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ การเดินทางข้ามพื้นที่ทุกคนยังทำได้เพียงแต่ขอร้องว่าให้ติดตามมาตรการและพยายามให้ความร่วมมืออย่างเข้มงวด 

เพราะไม่ต้องการเห็นคนจากพื้นที่เสี่ยง เข้าไปในพื้นที่แล้วต้องมี อสม. ที่จะต้องไปเฝ้าหน้าบ้าน ทำให้เพื่อนบ้านเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงอยากให้ทุกคนเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ และร่วมมือกับมาตรการ เช่น พบรายงานผู้ติดเชื้อและมีการเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อและไม่ปิดบังไทม์ไลน์ก็จะสามารถดำเนินการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนยังดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จึงขอเน้นย้ำอย่างยิ่งว่าในกรณีที่เดินทาง มีผู้สูงอายุ มีเด็กเล็กอยู่ในบ้าน ขอให้ดูแลบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษ

ทัพเรือฯ จัดพิธีรับมอบเรือ ต.114 และ เรือ ต.115 จำนวน 2 ลำ

พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือ ต.114 และเรือ ต.115 จำนวน 2 ลำ ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  ในวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564 โดยมี พล.ร.อ.วศินสรรพ์  จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะ ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง  

พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ  พล.ร.ต.สุเทพ ลิมปนันท์วดี  ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ  ตลอดจนข้าราชการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ  ให้การต้อนรับ โดยในช่วงเช้า พลเรือเอกวศินสรรพ์  จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะ ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง  ร่วมด้วย คณะกรรมการร่วม กองทัพเรือ  และ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีพิธีบวงสรวง เพื่อความเป็นสิริมงคล  ณ ศาลพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แหลมปู่เจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  

กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจถวายความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ การลาดตระเวนตรวจการณ์ คุ้มครองเรือประมงและเรือสินค้า ป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล การรักษากฎหมายในทะเล ตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และการบรรเทาสาธารณภัยให้แก่พี่น้องประชาชนทั้งในทะเลและชายฝั่ง 

โดยได้ว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็น ผู้ดำเนินการ นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ โดยแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งสองลำนี้ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงมาจากแบบเรือชุดเรือ ต.111 โดยภายหลังจากพิธีรับมอบเรือแล้ว จะเข้าประจำการที่กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการต่อไป

สำหรับเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.114 และ เรือ ต.115 นี้ สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน สามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำได้ด้วยระบบตรวจการณ์ของเรือ มีความคงทนต่อทะเลที่ดีในสภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5) และปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน

ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) ของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และเรือ ต.115 สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ระบบตรวจการณ์ของเรือสามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ หยุดยั้ง ขัดขวาง เรือผิวน้ำ และป้องกันตนเองจากข้าศึกได้ ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ ปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน และปฏิบัติงานได้สภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5) เรือมีการทรงตัวและความคงทนทะเลที่ดี และ
ยังสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ได้ 

คุณลักษณะทั่วไป มีความยาวตลอดลำ 36.00 เมตร ความกว้างของเรือ 7.60 เมตร ความลึกของเรือ 3.60 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ ไม่เกิน 1.75 เมตร ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า 27.0 นอต ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 1,200 ไมล์ทะเล กำลังพล ประจำเรือตามอัตรา 30+1+13 (ชปพ.นสร.) 44 นาย เครื่องจักร ที่สำคัญประกอบด้วย เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร CUMMINS 1,342KW (1,800bhp) 1,900rpm จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องกำหนดไฟฟ้า ขนาด 112KWe 380VAC, 3PH, 50HZ จำนวน 2 เครื่อง

อาวุธประจำเรือ อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 30 มม. ติดตั้งบริเวณหัวเรือ จำนวน 1 แท่น และอาวุธรอง ปืนกลขนาด 50 นิ้ว ติดตั้งบริเวณกราบเรือซ้ายขวา จำนวน 2 แท่น สำหรับพิธีรับมอบเรือ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล ได้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่พบหลักฐานที่แน่นอน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2451 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพิธีมอบเรือเสือทยานชล เรือตอร์ปิโดที่ 1 เรือตอร์ปิโดที่ 2 และเรือตอร์ปิโดที่ 3 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2451 จากนายทหารเรือญี่ปุ่น โดยนำเรือทั้ง 4 ลำ ซึ่งต่อจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามายังกรุงเทพฯ ในปัจจุบันเมื่อถึงเวลารับมอบเรือจะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน โดยบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

นฤมล นั่งหัวโต๊ะ กำหนดแผนพัฒนาแรงงานรับ S - curve

นฤมล เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงาน รับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย นำทีมกำหนดแผนขับเคลื่อนพัฒนาแรงงาน ดึงพันธมิตรร่วมทำงานกว่า 30 หน่วย

วันที่ 29 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ครั้งที่ 1/2564 โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม และอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่เลขานุการ ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ต้องการรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานป้อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่กำลังแรงงาน กำหนดแผนปฏิบัติการ รวมถึงเชิญชวนบุคคลหรือคณะบุคคล ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน เข้าร่วมจัดทำแผนพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย  การประชุมในวันนี้นับเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการในระยะต่อไป มีความชัดเจนและมีประสิทธิผล

คณะอนุกรรมการที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ มีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน เช่น ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ซึ่งการพัฒนาบุคลากรและกำลังแรงงาน เพื่อป้อนอุตสาหกรรม S - curve นั้น มีหลายหน่วยงานที่มีการจัดทำแผนและดำเนินการอยู่แล้ว การดำเนินงานดังกล่าว จึงควรบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนามีประสิทธิภาพ และตอบโจทก์ภาคอุตสาหกรรมได้ 

ที่ประชุมได้กำหนดให้แต่ละหน่วยงานที่มีข้อมูลและแผนพัฒนากำลังแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดส่งข้อมูลเพื่อให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรวบรวมและจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังแรงงานรองรับอุตสาหกรรม S - curve ภายในต้นสัปดาห์หน้า พร้อมนัดประชุมคณะอนุกรรมการอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564   ซึ่งจะได้เห็นแผนพัฒนาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

“การเตรียมแรงงานให้มีความพร้อมในอุตสาหกรรม S - curve จะช่วยให้แรงงานมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้ ช่วยสร้างอาชีพการส่งเสริมการจ้างงาน และมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม จะได้นำไปกำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนากำลังแรงงานต่อไป” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top