Tuesday, 22 April 2025
POLITICS NEWS

'อดีตรองอธิการมธ.' ชำแหละก๊วน 3 นิ้ว ฝั่งตรงข้ามทำดีไม่เคยชม ฝั่งตนทำชั่วไม่เคยเห็น

13 ก.ย. 64 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า แปลกแต่จริง ตอน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลก็ไปขุดคุ้ยประวัติหาความด่างพร้อยกันยกใหญ่ ว่าติดคุกที่ออสเตรเลีย เพราะค้ายาเสพติดบ้าง เคยต้องคดีฆ่าคนตายบ้าง เป็นพวกรักร่วมเพศบ้าง จากนั้นก็แขวะเขาตลอดว่าค้าแป้ง ไม่เคยว่างเว้น พูดตามจริง ร.อ.ธรรมนัส ก็พยายามอธิบายชี้แจง แต่จะชี้แจงอย่างไร ก็ไม่เคยทำให้สังคมโดยรวมหมดความคลางแคลงใจไปได้เลย 

ทันทีที่รู้ว่า ร.อ.ธรรมนัส พยายามล้มลุงตู่ จากนั้นถูกปลด และลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีทันทีทันใด ฝ่ายที่เคยขุดคุ้ยก็กลับลำ ข้อกล่าวหาทั้งหลายก็มลายหายไปสิ้น ร.อ.ธรรมนัส ก็กลับกลายเป็นคนดีขึ้นมาอย่างฉับพลัน สิ่งที่แล้วมาล้วนผ่านไปแล้ว ขณะนี้เป็นคนดีแล้ว จบ

นี่คือลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม 3 นิ้ว คือ มีความภูมิใจเหลือเกินว่าตัวเองเป็น 3 นิ้ว ไปไหนก็ยกมือชู 3 นิ้ว ใครชู 3 นิ้ว ทำอะไรล้วนไม่ผิด ละเมิดผู้อื่นก็ไม่ผิด ฝ่าฝืนกฎหมายก็ไม่ผิด ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ผิด กฎหมายต่างหากที่ผิด คนไม่ผิด เผาป้อม เผารถ ก็ไม่ผิด ถือเป็นการแสดงออกแบบสันติอย่างหนึ่ง เพราะไม่ได้ทำร้ายคน แต่พอมีตำรวจบาดเจ็บ ต่างพากันเงียบ ถ้าม็อบบาดเจ็บ ตำรวจผิดทันที ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด ล่าสุดม็อบตกลงมาจากที่สูง ก็ถล่มกันว่า ตำรวจถีบลงมา สุดท้ายคือหนีตำรวจแล้วตกลงมาเอง

ส่วนพวกที่ไม่ใช่ 3 นิ้ว ทำอะไรก็ผิดทั้งสิ้น ไม่โจมตี sinovac ก็ผิด ไม่อวย pfizer ก็ผิด ยกย่อง เชิดชูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ยังผิด ผู้ออกแบบชุดของ Lalisa แม้สวยทำได้สวยก็ไม่ชม เพราะว่าเขาเป็นสลิ่ม ใช้พื้นที่ใน social media เพื่อถล่มฝ่ายตรงข้ามกันแบบไม่ต้องยั้ง ไม่ต้องใช้ตรรกะ เหตุผล รู้จริงหรือไม่รู้จริงก็ด่าไว้ก่อน ที่น่าหดหู่คือ ไม่ยับยั้งชั่งใจแม้กระทั่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่พวกเขาเรียกว่า "สลิ่ม" เคารพนับถือ และจงรักภักดี

แถลงการณ์ล่าสุดของสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกมาประณามตำรวจที่ปราบม็อบทะลุแก๊ส เป็นเครื่องยืนยัน เพราะในแถลงการณ์ นอกจากใช้คำหยาบแล้ว ในเนื้อความ มีแต่ตำรวจเท่านั้นที่ใช้ความรุนแรง ม็อบทำอะไรมองไม่เห็นทั้งสิ้น ไม่มีทั้งสิ้น ตำรวจบาดเจ็บสาหัสก็ไม่เห็น ทั้งที่คนที่มีใจเป็นธรรมทั้งประเทศเขามองเห็น เอกสารชิ้นนี้จึงไม่สมควรที่จะมีตราธรรมจักรอยู่บนหัวกระดาษเลย เพราะไม่ให้ความจริงทั้ง 2 ด้าน ทั้งยังให้ข้อมูลเท็จ และใช้คำหยาบคายอย่างไม่น่าให้อภัย ผิดวิสัยของคนธรรมศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักกันในสังคมไทยมาช้านาน 

ความจริงปรากฏการณ์เช่นนี้ ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ อย่างที่เรียกเป็นศัพท์ทางวิชาการว่า "tribalism" เพียงแต่ขณะนี้ประเทศเรากำลังเผชิญกับปรากฏการณ์นี้ทุกวัน ตลอดเวลา และไม่มีทีท่าจะลดน้อยถอยลงได้เลย 

ยิ่งการเข้าถึง social media ทำได้สะดวกง่ายดาย ปรากฏการณ์เช่นนี้ ยิ่งนานวัน จะยิ่งกัดกร่อนความรักความผูกพันที่เคยมีต่อกันระหว่างเพื่อน ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน คนในสถาบันเดียวกัน กระทั่งคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อสังคมไทยของเราอย่างเหลือคณา

ดังที่ Umberto Eco นักคิด นักเขียน นักปรัชญา ชาวอิตาเลียน ผู้ล่วงลับได้เคยกล่าวเกี่ยวกับ social media ไว้ว่า "Social media gives legions of idiots the right to speak when they once only spoke at a bar after a glass of wine, without harming the community...but now they have the same right to speak as a Nobel Prize winner. It's the invasion of the idiots."

ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า " โซเชียล มีเดีย ให้สิทธิแก่กองทัพคนโง่เขลาได้พูด ในขณะที่เมื่อก่อนพวกเขาเพียงพูดกันในบาร์ หลังการดื่มไวน์สักแก้ว โดยไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคมแต่อย่างใด...แต่เดี๋ยวนี้พวกเขากลับได้สิทธิที่จะพูดเท่า ๆ กับผู้ที่ชนะได้รางวัลโนเบล มันเป็นการรุกรานของเหล่าคนโง่เขลาโดยแท้"

“จุรินทร์”ไม่ตำหนิ พรรคเล็กยื่นศาลตีความแก้รธน.ถ้ามีเสียงพอ พร้อมยัน “นายกฯ” ไปดูน้ำท่วม ไม่ใช่สัญญาณยุบสภา 

ที่จ.พังงา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเล็กเตรียมจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความร่างรัฐธรรมนูยที่ผ่านวาระที่3 ว่า สามารถทำได้หากเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์ไม่ขัดข้อง แต่คงไม่ไปร่วมยื่นด้วย เพราะเป็นร่างของพรรค และเราก็ยืนยันแล้วว่ากระบวนการทั้งหมดชอบโดยรัฐธรรมนูญทุกประการ แต่ถ้ามีผู้ใดสงสัยก็เข้าชื่อกันได้ 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 1 ใน 10 ของสมาชิกวุฒิสภา หรือ 1 ใน 10 ของ 2 สภารวมกันก็ทำได้ จะได้ไม่ต้องคาใจว่าเป็นไปโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เข้าใจว่ากระบวนการก็คงใช้เวลาอย่างดีก็เดือนกว่าๆ เพราะเมื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 30 วัน ซึ่มีเงื่อนเวลาล็อคอยู่ ถ้าจะช้าก็ช้าไปเดือนกว่า 

เมื่อถามว่า แสดงว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะให้ศาลรัฐธรมนูญวินิจฉัย นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่ดีหรอก ถ้าดีก็ควรจะผ่านไปได้ด้วยความราบรื่น แต่ถ้ามีใครสงสัยก็เป็นสิทธิ์ เราก็ไม่ไปขวาง และไม่ไปตำหนิอะไร ซึ่งทำได้ถ้ามีเสียงพอ

นอกจากนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเริ่มลงพื้นที่ของนายกฯ และปัญหาไม่ลงรอยกันในพรรคพลังประชารัฐ สิ่งนี้เป็นสัญญาณหรือไม่ว่าจะมีการยุบสภาในเร็วๆ นี้หรือไม่ ว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่นายกฯจะลงพื้นที่ ตนเป็นรองนายกฯ ก็ลงพื้นที่มาต่อเนื่องโดยตลอดยังไม่หยุดเลย ไม่มีวันเสาร์อาทิตย์  เพราะฉะนั้นนายกฯ จะลงพื้นที่ก็เป็นเรื่องธรรมดา และท่านก็ได้ลงไปดูเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาพรวม 

“ไม่ได้แปลว่าเมื่อนายกฯ ลงพื้นที่แล้วจะมีการยุบสภา ผมว่ามันคนละเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ยังไม่คิดว่าจะใช่ ถ้าใช่มันก็เป็นเงื่อนไขอื่น ไม่ใช่เงื่อนไขแค่ลงพื้นที่วันสองวันนี้”นายจุรินทร์ กล่าว

เมื่อถามว่า ประเมิณแล้วว่าภายในปีนี้จะไม่มีการยุบสภาใช่หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตอบไม่ได้ ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะไปการันตีอะไรได้ เพราะตนไม่ใช่นายกฯ ที่มีอำนาจยุบสภา แค่ไปดูน้ำท่วม หรือแก้ปัญหาน้ำ มันคงไม่ถึงกับเป็นสัญญาณอะไรที่จะไปบ่งชี้ว่าจะยุบแล้ว

“สงคราม”ชี้ประชาชนเชื่อรัฐสั่งซื้อวัคซีนส่อทุจริต ชี้เลือกตั้งใช้เป็นบัตร 2 ใบสะท้อนความต้องการของประชาชน 

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีที่ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรการเกี่ยวกับการเลือกตั้งจากการเลือกตั้งในรูปแบบสัดส่วนผสม โดยบัตรใบเดียวที่ใช้การเลือกตั้งล่าสุด มาเป็นแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยเลือกคนและเลือกพรรค ตามสโลแกนเลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ใช่ ถือเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของที่เอาประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง

ทั้งนี้กรณีมีผู้วิจารณ์ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไปใช้บัตร 2 ใบ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ นั้น เป็นการวิพากษฺวิจารณ์ที่เกินกว่าเหตุ  ทั้งนี้การใช้รูปแบบบัตร 2 ใบทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือก คนและพรรคแยกกัน ส่วงผลให้ระบบพรรคเข้มแข็งลดการต่อรองทางการเมือง เปิดทางคนเก่งเข้าสู่การเมืองเป็นส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแยกคำนวณจากส.ส.เขตชัดเจน และสูตรคำนวณส.ส. ชัดเจนสามารถประกาศผลเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลแก้ปัญหาประชาชนได้เร็วขึ้น 

นายสงคราม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรที่จะยกเลิก การบริหารราชการในสถานการณณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้แล้ว เพราะพลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉบับนี้มานานกว่า  1 ปี 5 เดือน พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้แก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดได้แต่อย่างใด ยังพบว่า การระบาดกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น และมีจำนวนผู้เสียชีวิตหลัก 100-200 คน ทุกวันถือเป็นความล้มเหลวในการจัดการโควิดและการจัดการวัคซีน 

“การรวบอำนาจไว้ที่ตัวพลเอกประยุทธ์ไม่เกิดประโยชน์เพราะทำงานไม่เป็นที่ผ่านมารังแต่จะสร้างปัญหามากกว่า รวมทั้งดียังมีข้อครหาเกี่ยวกับความโปร่งใส ส่วนต่างของราคาวัคซีนซีนชิโนแวค และรัฐบาลไม่มีหลักฐานที่จะมาแสดงให้ประชาชนเห็น ส่งผลให้ประชาชนหมดความเชื่อถือแล้ว และเชื่อว่าน่าจะต้องมีการทุจริตในการจัดซื้อวัคซีนแน่ ล่าสุดประเทศจีนซึ่งเป็นต้นทางของชิโนแวค เริ่มหันมาผลิตวัคซีน mRNA เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนวัคซีนเดิมแล้ว เพราะเชื่อว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งรัฐบาลต้องตอบคำถามนี้”นายสงคราม กล่าว

'เทพไท' หนุน รัฐลงทะเบียนบัตรคนจนรอบใหม่วอน ต้องเป็นคนยากจน ไม่ใช่ คนอยากจน

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีรัฐบาลเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง ทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม ที่ได้รับความเดือดร้อนให้ทั่วถึง และมีการตอบรับจากกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างวางหลักเกณฑ์ เปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ เพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมพิจารณาก่อน โดยการลงทะเบียนรอบใหม่ จะเปิดให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิ์เข้ามาลงทะเบียนนั้น

ส่วนตัวเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้เคยเสนอเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้ว ขอให้รัฐบาลได้ปรับปรุงข้อมูล และดูแลประชาชนที่มีฐานะยากจนจริงๆ แต่พลาดโอกาสในการลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากการบกพร่องของระบบราชการ และประชาชนผู้ด้อยโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงวิธีการลงทะเบียนได้ เช่น ตกการสำรวจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกรณีไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งมีอยู่อีกกว่า 2 ล้านราย  จากผู้ที่ได้รับสิทธิ์เดิม มีจำนวน 13.65 ล้านคน 

ขอเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ ให้มีการลงทะเบียนใหม่และตรวจสอบข้อมูล ใน3กลุ่มคือ 
1.กลุ่มประชาชนที่ยากจนจริงๆ แต่พลาดโอกาสลงทะเบียนในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในรอบแรก ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร
2.กลุ่มคนจนใหม่ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ธุรกิจเจ๊ง ต้องตกงาน ไม่มีรายได้ประจำ ได้เปลี่ยนสภาพเป็นคนฐานะยากจนในปัจจุบัน
3.กลุ่มคนอยากจะจน รัฐบาลต้องทบทวน ตรวจสอบผู้ที่ได้สิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในรอบแรกจำนวนหนึ่ง ที่มีฐานะพอมีอันจะกิน แต่มาใช้สิทธิ์รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย

จึงอยากให้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนอย่างแท้จริง ไม่ใช่พวกอยากจนบางกลุ่ม ที่แฝงตัวรับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย

อดีตบิ๊กข่าวกรอง 'เชื่อ' บิ๊กตู่' ใช้กำปั้นเหล็กทุบโต๊ะปลด 2 รมต. คราวนี้ มีแต่เสียงฮือฮาด้วยความชื่นชม ชี้!! ยุ่งยากนัก อย่างมากยุบสภา เลือกตั้งใหม่

10 ก.ย. 64 นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

ทุบโต๊ะ

วันก่อนลุงตู่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า หัวใจเท่ากำปั้น แต่วันนี้ ลุงตู่ใช้กำปั้นเหล็กทุบโต๊ะเสียแล้ว

ปลดรัฐมนตรีช่วยถึงสองคน คนหนึ่งเป็นถึงเลขาพรรคแกนนำรัฐบาล ลุงตู่ใจเด็ด ปลดก่อนค่อยบอกลุงป้อมทีหลัง อำนาจเป็นของนายก เอาไงเอากัน

เชื่อมั้ย ปลดรัฐมนตรีคราวนี้ มีแต่เสียงฮือฮาด้วยความชื่นชม

วัดกันอีกที แก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน  พรรคร่วมรัฐบาลจะว่ายังไง

ยุ่งยากนัก อย่างมากยุบสภาไปเลือกตั้งกันใหม่


ที่มา : https://www.facebook.com/photo/?fbid=871823160365397&set=a.509958396551877

‘รัฐสภา’ โหวตผ่านฉุยแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีระเบียบวาระการประชุมสำคัญ คือ การลงคะแนนเสียงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ในวาระสาม โดยที่ประชุมใช้เวลาขานชื่อ 2 ชั่วโมง และใช้เวลานับคะแนน 20 นาที

จากนั้นเวลา 11.50 น. นายชวน ได้ประกาศผลการนับคะแนน ว่าที่ประชุมเห็นชอบ 472 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากส.ส. 323 คะแนน และจากส.ว. 149 คะแนน ไม่เห็นชอบ 33 คะแนน แบ่งเป็นของ ส.ส. 23 เสียง และส.ว. 10 เสียง งดออกเสียง 187 คะแนน แบ่งเป็นของ ส.ส. 121 เสียง และส.ว. 66 คะแนน  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดเกณฑ์ผ่านร่างแก้ไขไว้ 3 เงื่อนไข 

ดังนั้นผลการลงมติที่ประชุมมีคะแนนเสียงเห็นชอบ 472 คะแนน มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา กึ่งหนึ่งคือ 365 คะแนนดังนั้นคะแนน 472 คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งจึงผ่านเงื่อนไขที่ 1 ส่วนเงื่อนไขที่ 2 ในจำนวนนี้มีสมาชิกสภาฯ จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ เห็นชอบด้วย 142 คะแนน มากกว่าร้อยละ 20 คือ 49 คะแนน 

ดังนั้นคะแนนที่ได้เกินกว่าที่กำหนดเอาไว้ ถือว่าผ่านเงื่อนไขที่ 2 และเงื่อนไขที่ 3 คะแนนดังกล่าวมีส.ว.เห็นชอบ 149 คะแนน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของส.ว. คือไม่น้อยกว่า 84 คน 

ดังนั้น ถือว่าที่ประชุมได้ลงมติผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขเป็นการเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป โดยกระบวนการต่อไปจะเป็นไปตามมาตรา 256 (7) คือรอไว้ 15 วัน แล้วจึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ทูลเกล้าฯ โดยนายกรัฐมนตรี และมีผลบังคับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 81 เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

“จุรินทร์” ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำให้ ร่างแก้ไข รธน. ผ่านความเห็นชอบวาระสาม สะท้อนว่า รธน.ฉบับนี้แม้แก้ยาก แต่สามารถแก้ได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภายหลังประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่บริเวณชั้น 1 อาคารรัฐสภา (วาระลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3) 

ซึ่งได้กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านที่ประชุมรัฐสภาไปเมื่อสักครู่ ซึ่งต้องขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกฝ่ายทั้งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ที่ได้ให้ความร่วมมือในการทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบไปได้ด้วยดี ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะแก้ยาก แต่ก็สามารถแก้ได้ ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมมั่นใจว่าจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตยในอนาคตมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนอยากเห็น

โดยเนื้อหาสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ประเด็นที่ 1 ก็คือเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ 2. ปรับจำนวนผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง 400 เขต หรือ 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน และประเด็นที่ 3 ก็คือในเรื่องการคำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อซึ่งมีอยู่ 100 คนนั้น ก็ให้นับคะแนนบัตรใบที่สองที่ลงคะแนนเลือกพรรค แล้วนำมาเทียบสัดส่วนกับผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน 100 คน ถ้าพรรคการเมืองไหนได้คะแนนพรรค 100% ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คนไปเลย แต่ถ้าพรรคไหนได้คะแนนพรรค 60% ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 60 คน เป็นต้น ซึ่งเป็นหลัก 3 ข้อ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

ขั้นตอนต่อไปนับจากนี้ก็คือจะต้องรอไว้ 15 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งระหว่าง 15 วันนี้ถ้ามีสมาชิกรัฐสภาสงสัยในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเที่ยวนี้ ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่รับเรื่อง ถ้าทุกอย่างผ่านตามขั้นตอนกระบวนการจนกระทั่งทรงลงพระปรมาภิไธย และถือว่าผ่านกระบวนการเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญทุกประการแล้ว ขั้นต่อไปก็คือจะต้องมีการยกร่างกฎหมายลูก หรือพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขต่อไป

ซึ่งเนื้อหาในนั้นคงประกอบด้วยวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การนับคะแนน การประกาศผล รวมไปจนกระทั่งถึงการที่จะต้องกำหนดมาตรการที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมต่อไปด้วย ซึ่งจะเป็นเนื้อหาหลักๆ สำหรับกฎหมายลูกที่จะต้องดำเนินการต่อไป 

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องของกฎหมายลูกต่อไป และขณะเดียวกันก็จะมอบให้วิปของพรรค หารือร่วมกับวิปสามฝ่าย ทั้งในส่วนของวิปพรรคร่วมรัฐบาล วิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เพื่อที่จะร่วมมือร่วมใจกันในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือกฎหมายลูกให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป 

ซึ่งในการแถลงข่าวดังกล่าวมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมอยู่ด้วย

‘สุชาติ’ ชี้!! ไม่มีกลุ่มใดออกตาม ‘ธรรมนัส’ ยัน ทุกคนเข้าร่วม พปชร. เพราะเชื่อใน ‘ประยุทธ์-ประวิตร’

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาภายในพรรคพปชร. จนมีกระแสข่าวว่าจะปรับโครงสร้างพรรคว่า ในเรื่องของการเมืองไม่ว่า จะการประชุมพรรคหรือตำแหน่งต่าง ๆ ในพรรคต้องให้เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในพรรคตัดสินใจ ตนเป็นเพียงแค่สมาชิก ทั้งนี้เราในฐานะนักการเมืองก็ทำหน้าที่เพื่อประเทศไทย จุดยืนอยู่ตรงไหนก็ทำงานตรงนั้นให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เมื่อถามว่า มองผลต่อเนื่องทางการเมืองหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ลาออก จะมีการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพปชร. รวมทั้งตำแหน่งอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า เราคิดแทนคนอื่นไม่ได้ ในทางการเมือง ส.ส. ทุกคน มีพื้นที่มาจากเสียงของประชาชน ทุกคนรู้ว่า เข้ามาเพื่อทำงาน และทุกคนที่มากับพรรคพลังประชารัฐ ก็ถือว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีหัวหน้าพรรค ณ วันนี้คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนอยู่แล้ว

“ผมคิดว่า ทุกคนไม่ได้มีประเด็นปัญหาอะไร เพราะเรามีศูนย์รวมจิตใจอยู่แล้ว คือพล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค ส่วนการทำงานในภาพรวมของพรรค ก็ต้องมีการหารือกัน ซึ่งหัวหน้าพรรคก็คงจะได้พิจารณา ซึ่งวันนี้ถือว่า ไม่มีประเด็นอะไร” นายสุชาติ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการมองกันว่า อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างพรรค นายสุชาติ กล่าวว่า ตนไปพูดเกินเลยตรงนั้นไม่ได้ เพราะตนเป็นแค่หนึ่งในคณะกรรมการบริหาร หนึ่งเสียงเท่านั้น ทั้งหมดอยู่ที่หัวหน้าพรรค และสมาชิก ส.ส. แต่อย่าลืมว่า ทุกคนมาด้วยเสียงของประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา และการพูดคุยทุกคนต่างก็รู้ว่ามีหน้าที่ของตัวเอง อย่างวันนี้ก็ต้องทำหน้าที่ในสภา

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งให้พรรคพลังประชารัฐกลับมาสามัคคีกันหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่พรรคมีความเหนียวแน่น เพราะเรามีหัวหน้าพรรคที่ทุกคนให้ความเคารพ ในส่วนของเลขาธิการพรรค ก่อนหน้านี้เรามีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขาธิการพรรค ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร พอเปลี่ยนมาเป็นร.อ.ธรรมนัส ก็เหมือนเดิม เพราะหัวหน้าพรรคเราคือ พล.อ.ประวิตร เราอาจจะไม่เหมือนกับพรรคอื่น แม้จะเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ระยะเวลา 2-3 ปี แต่ความแข็งแรงความสามัคคี ความเข้มแข็งของส.ส.ทุกคน ก็มีมากขึ้น และทุกคนต่างรู้บทบาทหน้าที่ ส.ส. ในพรรคก็มีทั้ง ส.ส.ใหม่และส.ส.เก่า ซึ่งตนเชื่อว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย

“เพราะทุกคนที่มาอยู่กับพรรคนี้ เพราะพรรคเสนอชื่อคนเดียว คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผมจึงเชื่อว่า ไม่มีอะไร การเมืองก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เหมือนเราเปลี่ยนผู้บริหารบริษัท ลักษณะคล้ายกัน ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคหรือไม่นั้น ผมยังไม่ทราบและยังไม่ถึงเวลา” นายสุชาติ กล่าว

เมื่อถามว่า แสดงว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคใช่หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรค โดยหัวหน้าพรรคต้องใช้องคาพยพทั้งหมด ทั้งพวกตน สมาชิก และกรรมการบริหารพรรค ทุกคนก็รักกันดีอยู่แล้ว พรรคมีความสามัคคี และเชื่อว่า จะไม่มีเอฟเฟกต์ตามมา ไม่ว่า จะเป็น 2 ช. 3 ช. โดยภาพรวมนักการเมืองทุกคนมีความสนิทสนมกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก๊วน เพียงแต่มีความสนิทสนมกันบ้าง อย่างตนอยู่ภาคกลางก็มีเพื่อนอยู่ภาคกลาง แต่ทุกคนฟังหัวหน้าพรรคและนโยบายของพรรค ถ้าเราอยู่ในพรรคแล้วไม่เคารพหัวหน้าพรรคหรือมติพรรค ก็คงอยู่ด้วยกันไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่หรือไม่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า จะไปพูดตรงนั้นไม่ได้เพราะตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่อย่างตนที่มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ เพราะรู้ว่าพรรคเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตนถึงเข้ามา เพราะเราต้องดูก่อนว่า เราจะมาอยู่พรรคนี้เพราะอะไร เพราะยังไม่รู้เลยว่า มาอยู่พรรคนี้แล้วจะได้เป็นรัฐบาลหรือเปล่า แต่ถ้าได้เป็นรัฐบาลเราก็รู้ว่า นายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.ประยุทธ์ เราถึงมา อย่างเพื่อนของตนที่มาจากหลายจังหวัดและชักชวนกันมาก็เพราะเรื่องนี้

เมื่อถามว่า คิดว่า นายกรัฐมนตรีมีระยะห่างระหว่างส.ส.มากไปหรือเปล่า นายสุชาติ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ วันนี้นายกฯ ทำงานหนักมาก ขณะที่พล.อ.ประวิตร ก็ดูแลลูกพรรคเป็นอย่างดี พล.อ.ประยุทธ์ มีอะไรก็คุยผ่านหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด ต้องยอมรับว่า ขนาดเป็นรัฐมนตรีอย่างเดียวงานก็หนักและเหนื่อยมาก มีเวลาน้อยที่จะได้พบกับเพื่อน แต่ทุกคนเข้าใจว่า อยู่บนพื้นฐานการทำงานเพื่อประเทศ

เมื่อถามว่า การที่ร.อ.ธรรมนัสลาออกไป คิดว่าจะมีกลุ่มก๊วนใดตามออกไปบ้างหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า นักการเมืองไม่มีอย่างนั้นแน่นอน

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าในพรรคจะไม่มีใครตามร.อ.ธรรมนัสไป นายสุชาติ กล่าวว่า “วันนี้ท่านก็ยังอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ และผมคิดว่า ผู้แทนทุกคนที่มาอยู่กับพรรค มาอยู่เพราะเลือกนายกฯ และหัวหน้าพรรคลุงป้อม ไม่ได้มาเพราะร.อ.ธรรมนัส เป็นหัวหน้าพรรค จึงอย่าไปกังวลเพราะเรื่องนี้ ยืนยันว่า ไม่มีความกังวล และคิดว่า ไม่มีประเด็นในเรื่องนี้ เพียงแต่เดี๋ยวรอเวลาหน่อย” 


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/601144

'พิธา' ยืนยัน พรรคก้าวไกลงดออกเสียง แก้รัฐธรรมนูญ วาระที่ 3

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม ส.ส.พรรคก้าวไกล เเถลงข่าวต่อสื่อมวลถึงจุดยืนของพรรคก้าวไกลของการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ที่จะเกิดภายในวันนี้ 

พิธา กล่าวว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลในการที่จะโหวตในวาระ 3 ครั้งนี้ คือ งดออกเสียง ด้วยเหตุผลในหลายประเด็น 

ประเด็นแรก พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าวตั้งแต่วาระแรก และยืนยันว่าปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นถูกผูกด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องแก้ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถแก้ไขได้ทุกหมวดและทุกมาตรา ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาถูกผูกด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหากประชาชนยังจำได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ผ่านเพียงร่างของพรรคประชาธิปัตย์ร่างเดียว และให้สามารถแก้ได้เพียง 2 มาตรา 

ประเด็นที่สอง หลังจากที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถูกลดทอน เหลือเพียงการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลมีความเห็นว่า ควรที่จะแก้ไขระบบเลือกตั้งเพื่อที่จะให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า และถอดบทเรียนจากระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตทางการเมืองในอดีต เราเห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เพื่อที่จะขจัดการเหมารวมเจตจำนงของประชาชน ดังนั้นการเลือก ส.ส. 1 ใบ และพรรค 1 ใบ จึงมีความชัดเจน 

ในขณะเดียวกัน เรื่องการคำนวณ​ เราสนับสนุนให้มีการคำนวณจำนวน ส.ส.ในระบบที่โปร่งใสเป็นธรรม และทำให้การเมืองเข้มแข็ง เป็นการเมืองที่โอบรับความหลากหลายจากทุกภาคส่วนของประเทศไทย ซึ่งผลลัพธ์ออกมาอย่างที่ประชาชนได้เห็นชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของพรรคก้าวไกล จนกระทั่งวันนี้ (10 ก.ย. 64) ที่จะมีการลงมติโหวตในวาระ 3  

“พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับ รัฐธรรมนูญปี 60 ในการสืบทอดอำนาจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มิอาจเห็นชอบกับผลลัพธ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งในวาระ 1 และวาระ 2 พรรคก้าวไกลจึงของดออกเสียง เพื่อเป็นการชี้ชะตาของผู้ที่ต้องการที่จะเสนอเงื่อนไขให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าจะมีเสียงสนับสนุนมากน้อยเพียงใด"

พิธา กล่าวต่อไปว่า สุดท้ายที่สุด ตนในฐานะหัวหน้าพรรคและ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล พร้อมที่จะสู้ในทุกกติกา ในทุกสนาม ในทุกเมื่อ พร้อมที่จะเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง ทั้งปัญหาวิกฤตบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองต่อไปในอนาคต 

เมื่อถามถึงกรณี พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐที่มีกระแสขัดแย้งกันภายในพรรค ภายหลังการลาออกของ 2 รัฐมนตรีช่วยนั้น หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า เสถียรภาพภายในพรรคและของรัฐบาล และที่เป็นผลตามมาต่อความไร้เสถียรภาพของพรรคและรัฐบาล คือคุณภาพในการแก้ไขบ้านเมืองในปัจจุบัน พรรคก้าวไกลขอส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลว่าช่วยให้ความสำคัญอย่างตรงจุดคือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มากกว่าปัญหาของศึกภายในพรรคของตัวเอง

'นายกตู่' ลั่น ตัดสินใจเอง ปมให้ 'ธรรมนัส-นฤมล' พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี

9 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.20 น. ที่โรงพยาบาลปิยะเวท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี

โดย พล.อ.ประยุทธ์ถอนหายใจ พร้อมกล่าวว่า ได้ข่าวเมื่อกี้นี้รัฐมนตรีลาออก เขาก็เคยพูดไว้อยู่แล้วไม่ใช่หรอ ร.อ.ธรรมนัส ว่าไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็ออกไปเป็นส.ส ก็สามารถช่วยประชาชนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ช่วยงานกันมาโดยตลอด เดี๋ยวคงเป็นเรื่องของพรรคที่จะไปหารือกันว่าจะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่างานทุกงานไม่มีหยุดยั้ง มีคนทำงานให้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าจะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจะมีการปรับครม.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวคอยดู คอยฟังข่าว 

เมื่อถามย้ำว่าถ้าปรับจะปรับกี่ตำแหน่ง นายกฯ กล่าวว่า ตนยังไม่ปรับใครในตอนนี้ เมื่อมีรัฐมนตรีลาออกก็ทำให้มีตำแหน่งว่าง ซึ่งตนก็ยังไม่ปรับคนเข้า 

ถามว่าถือว่าเป็นการลาออกหรือว่าปลดออก นายกฯ กล่าวว่า ก็เขาลาออก 

ซักว่าแต่ตอนนี้มีราชกิจจานุเบกษาให้พ้นตำแหน่งประกาศแล้ว นายกฯ กล่าวว่า "เอาแหละ ยังไงเขาก็ไม่อยู่แล้ว จะมายังไง จะไปยังไง ผมไม่ตอบ"

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าแต่เนื้อหาในราชกิจจานุเบกษาระบุว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กราบบังคมทูลให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ เท่ากับเป็นการปลดออกใช่หรือไม่ นายกฯ ชี้แจงว่า "ของผม ทำของผม"

พอถามว่า ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล มาลาออกกับนายกฯ ก่อนแล้วใช่หรือไม่ นายกฯ บอก "ผมไม่ได้แจ้งใครทั้งสิ้น มันอยู่ที่ผม ผมทำของผมเอง" 

เมื่อถามอีกว่ามีเหตุผลอะไร นายกฯ กล่าวว่า "เหตุผลของผม ก็คือเหตุผลของผมสิ เอ้อ"

ถามว่าเป็นการทำงานไม่ได้เป้าหรือเปล่า นายกฯ กล่าวว่า เอาละเป็นเรื่องของตน 

ถามย้ำว่าการทำงานในฐานะรัฐมนตรีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ประชาชนก็ดูเอาแล้วกัน 

ต่อข้อถามที่ว่า เป็นผลพวงจากการอภิปรายหรือไม่ที่จะโค่นล้มนายกฯ นายกฯ กล่าวว่า ทั้งหมดข่าวก็มาจากสื่อทั้งนั้น โอเคนะ ขอบพระคุณนะจ๊ะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างนี้นายกฯ ได้เดินออกจากโพเดียม ท่ามกลางสื่อมวลชนที่พยายามสอบถามคำถาม จนทำให้นายกฯ ย้อนกลับมาที่โพเดียมอีกครั้ง ซึ่งผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อปรับออก 2 คนแล้วจะมีใครมาแทน นายกฯ กล่าวว่า ปรับออกแล้วเป็นยังไงล่ะ แหมจะให้เอาออกหมดเลยไหม 

เมื่อถามว่าร.อ.ธรรมนัสถือเป็นทายาท 3 ป.ทางการเมือง ตอนนี้เหตุการณ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 ป.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันมีเกณฑ์อะไรนักหนาล่ะ

จากนั้นนายกฯ ได้เดินหนีออกจากโพเดียมอีกครั้ง ขณะที่สื่อมวลชนยังพยายามถามอีกหลายคำถาม และถามย้ำว่าสรุปว่าการลาออกของ 2 รัฐมนตรีเป็นผลจากการอภิปรายหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าไม่เกี่ยวกับการอภิปราย พร้อมเอามือตบที่หน้าอก และกล่าวว่า ทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อการบริหารงาน ไม่ต้องยืนยันนอนยันอะไรทั้งนั้นแหละ เป็นเรื่องของนายกฯ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top