Sunday, 28 April 2024
POLITICS NEWS

‘บิ๊กโจ๊ก’ ฮึดสู้ครั้งใหญ่!! หลังถูกเด้งแพ็กคู่เข้ากรุ ‘บิ๊กต่อ’ เละเทะ ส่วน ‘บิ๊กต่าย’ ย่องจันทร์ส่องหล้า

ต้องเรียกว่า เปิดสัปดาห์ใหม่สัปดาห์นี้ ‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ที่ถูกเด้งคู่ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ฮึดสู้ จัดชุดใหญ่ไฟกะพริบ

1) ยกเลิกการเดินทางไปอังกฤษระหว่างวันที่ 27 มี.ค.-1 เม.ย. 67 พร้อมอ้างว่านายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ (ภูมิธรรม เวชยชัย) มอบหมายภารกิจพิเศษให้ทำด่วน

2) ให้ทนายความไปยื่นฟ้องผู้มีคำสั่งแต่งตั้งและพนักงานสอบสวน สน.เตาปูนในคดีเว็บพนัน BNK Master รวม 30 นาย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

3) ให้ทนายยื่นหนังสือต่อรักษาการ ผบ.ตร.พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ขอให้ดำเนินการตามคำสั่งของ ผบ.ตร. (พล.ต.อ.ต่อศักดิ์) ที่เคยแถลงร่วมกับบิ๊กโจ๊กเมื่อ 20 มี.ค. โดยสั่งการให้พนักงานสอบสวนรวบรวมสำนวนทั้งหมดส่งให้ ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณา  

4) นายษิธา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ทนายคนดังและเป็นที่รู้กันว่าสนิทสนมกับบิ๊กโจ๊กได้ออกมาแถลงถึงเส้นเงินจากเว็บพนัน ซึ่งเป็นการขยายผลเพิ่มเติมจากที่ทีมทนายเคยแถลงมาครั้งหนึ่งแล้ว

ต้องยอมรับการว่าการแถลงของทนายตั้ม แม้จะเป็นบริบทเดียวกับที่ ‘ผู้การนำเกียรติ’ ลูกน้องบิ๊กโจ๊ก 1 ใน 8 ผู้ต้องหาคดีเว็บพนันมินนี่ แต่ทนายตั้มก็มีตัวละครใหม่ ๆ อย่าง ‘ดาบยาว’ ,'รองฟาง' นายตำรวจคนของบิ๊กต่อ มาขับเน้นสีสัน และกล่าวหาว่าเส้นเงิน ‘พิมพ์วิไล’ แห่งเว็บ BNK Master นั้น มุ่งตรงไปที่ภรรยา พี่ชายของบิ๊กต่อ แบบเต็ม ๆ

ในมุมวิเคราะห์ก็ต้องบอกว่างานนี้…จริง ๆ ทั้งต่อ ทั้งโจ๊ก ก็เสียหายหลายแสน เสียชื่อเสียงอยู่แล้ว จากกรณีถูกเด้งเข้ากรุ แต่ปฏิบัติการของบิ๊กโจ๊กล่าสุดนี้ ยิ่งทำให้ทั้งคู่กอดคอกันจมน้ำนานขึ้น บิ๊กโจ๊กหวานเจี๊ยบนั้นไม่เท่าไหร่ เพราะเป็นแมวสิบชีวิต ต้นทุนไม่สูงมาก แต่บิ๊กต่อหวานแหวว คำก็น้อง สองคำก็พี่นี่สิ…งานนี้ขาดทุนย่อยยับ…

เชื่อกันว่าด้วยชื่อชั้น 2-3 เดือนบิ๊กต่อก็คงได้กลับ สตช. เกษียณที่ตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่ก็จะเป็นการเกษียณภายใต้สภาพของ ผบ.ตร. ที่บาดเจ็บ บาดแผลพุพอง

ส่วนตำแหน่ง ผบ.ตร. หากวันนี้ (26 มี.ค.) การประชุม ก.ตร. ไม่มีการพิจารณาอนุมัติให้ใช้ข้อกำหนดการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2566 โดยอนุโลม ก็แปลว่า...จะไม่มีการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง รองผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ที่ไปเป็นเลขาธิการสมช. โอกาสที่ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผช.ผบ.ตร.คนเมืองแพร่ จะขยับเป็น รองผบ.ตร. ในเดือนเม.ย. แล้วผงาดขึ้น ผบ.ตร. เดือนต.ค.2567 ก็ปิดฉาก…

ผบ.ตร.ที่ 15 ‘บิ๊กต่าย’ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ก็แบเบอร์ ข่าวว่าก่อน 20 มี.ค. บิ๊กต่ายได้ไปจันทร์ (ส่องหล้า) มาแล้ว..!!

แต่ตรงข้าม…ถ้าหากมีการอนุโลมข้อกำหนดฯ ก็แปลว่าบิ๊กจวบจะบินเร็วเหนือเสียงเข้าป้าย…

ป่านนี้ก็รู้กันแล้ว หวยออกทางไหน!! ‘เล็ก เลียบด่วน’ นำเสนอเป็นข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้แต่เพียงเท่านี้

2 รองนายกฯ ลั่น!! ไม่มีวันเอาเขตแดนไปแลกผลประโยชน์ อาณาเขตของประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาการอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 นั้น

ต่อมา เวลา 20.10 น. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกิดขึ้นมาช้านานแล้ว มีการแบ่งเขตไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2513 จนกระทั่งทั้งสองประเทศไม่สามารถตกลงเรื่องไล่ทวีปได้ เพราะต่างคนต่างไปกำหนดเขตไหล่ทวีปกันเอง โดยกัมพูชาเริ่มก่อน โดยกำหนดเมื่อ พ.ศ. 2515 ส่วนประเทศไทยได้กำหนดในปี 2516 ต่อมาในปี 2544 ได้มีการลงนามบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทย และกัมพูชา และได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทยกัมพูชาด้านเทคนิคหรือเจทีซี ในปี 2557 รัฐบาลได้อนุมัติการเจรจาบนพื้นฐานเอ็มโอยู 2544 ซึ่งเอ็มโอยูยังคงดำรงต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และทำไมการเจรจาไม่เสร็จสิ้นใช้เวลายาวนานมาก ซึ่งนายคำนูณพูดว่าตรงนี้เป็นขุมทรัพย์ทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล อาจจะเป็นเพราะเนื้อหาในการเจรจามีประเด็นที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน และอ่อนไหวทั้งทางการเมืองภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องดินแดนและผลประโยชน์ของชาติ

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า ตนทราบมาว่า ภายหลังปี 2544 มีการเจรจาที่เป็นทางการเพียง 4 ครั้ง และไม่เป็นทางการอีก 8 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นโอกาสที่นายกฯ กัมพูชา มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้มีการหารือเจรจาในเรื่องของทวิภาคีหลายเรื่องระหว่างประเทศ ในเรื่องโอซีเอ ก็ได้มีการพูดคุยกันและสองฝ่ายก็มีการตกลงกันว่าเห็นพ้องที่จะประสานการหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรใต้ทะเล ในพื้นที่ทับซ้อน โดยหารือควบคู่กับการแบ่งเขตทะเล ซึ่งคิดว่า มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคที่จะต้องพิจารณาว่าการเดินต่อตามเอ็มโอยูจะเดินต่อหรือไม่ ส่วนเรื่องแบ่งเขตแดน จะต้องเจรจาควบคู่กับการแบ่งผลประโยชน์หรือไม่ ตนคิดว่าควรจะเจรจาควบคู่กันไป ซึ่งเวลานี้กระทรวงการต่างประเทศไม่มีอำนาจในการที่จะเข้าไปตัดสินใจหรือจะให้ความเห็นใด ๆ เนื่องจากคณะกรรมการเจรจายังไม่ได้รับการแต่งตั้งเพราะต้องผ่าน ครม.

รมว.ต่างประเทศ กล่าวต่อว่า ส่วนเขตหลักทะเลเส้นลาดผ่านทับเกาะกูดนั้น ไม่มีข้อสงสัยอยู่แล้ว เนื่องจากหนังสือยืนยันระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ.​1907 ข้อ 2 ระบุชัดเจนว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนด้านซ้ายและเมืองตราด เกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดนั้น ตนคิดว่าจึงไม่มีประเด็นโต้แย้งใด ๆ เหนือเกาะกูดของไทย ดังนั้นเกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน และคงต้องแบ่งเขตไล่ทวีปให้ชัดแน่นอน เพราะถ้าแบ่งไม่ชัดก็จะไม่มีใครทราบว่า พื้นที่ของของกัมพูชาหรือของไทย ส่วนที่เป็นห่วงว่า จะมีขายชาติ เสียดินแดน ละเมิดอธิปไตย สิ่งเหล่านี้ตนเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน รักชาติเท่ากันหมด ไม่มีใครคิดที่จะเอาชาติไทย หรือดินแดนของไทยไปยกให้ใครทั้งสิ้น และการที่เราจะใช้พลังงานที่อยู่ใต้ทะเลนำขึ้นมาใช้คงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปี ในเวลานี้เรื่องพลังงานเราก็กำลังมีปัญหาอยู่ เพราะฉะนั้นการเจรจาจะต้องเร่งดำเนินการภายใต้ความรอบคอบ ไม่ให้เราเสียผลประโยชน์ของชาติต่อไป

ด้าน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ขอยืนยันไม่ว่าจะเป็นตนหรือนายกฯ รองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เราทุกคนรักประเทศไทยและเราก็หวงดินแดนไทย โดยเฉพาะตน วันนี้ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่ต้องห่วงตน จะไม่มีวันเอาทรัพยากรของชาติมาแลกกับเส้นเขตแดน ผลประโยชน์ของชาติ ความเป็นไทย เขตแดน อาณาเขตของประเทศไทยเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ตนทราบว่า ปัญหาเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับประเทศ การต้องเตรียมพร้อมเรื่องความพร้อมของพลังงาน แก๊ส เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ว่าจะสำคัญอย่างไร ขอให้ท่านมั่นใจว่า ไม่มีอะไรสำคัญกว่าความเป็นไทย เอกราชและอาณาเขตของประเทศไทย 

หลอกใช้ ‘เด็ก-เยาวชน’ ทำลายสังคม-ทำผิดกฎหมาย ความโหดร้าย และชั่วช้าของพวก ‘สามานย์’

ทุก ๆ ประเทศในโลก มักจะมีบรรดาพวกชั่วช้าสามานย์ นำเด็กและเยาวชนมากระทำความผิด ซึ่งทำกันมานานมากแล้ว ตั้งแต่การบังคับเด็กให้เป็นขอทาน หลอกล่อเด็กให้กระทำความผิดต่าง ๆ ปล้น ชิง วิ่งราว ล้วงกระเป๋า ขายของ กระทั่งขนและขายยาเสพติด ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ ฯลฯ โดยไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ไม่ว่า พฤติกรรม ลักษณะนิสัย ที่เปลี่ยนไป เกิดผลกระทบด้านจิตใจอย่างมากมาย 

ผลลัพธ์สุดท้าย คือ เด็ก ๆ ต้องถูกจับกุมและดำเนินคดี ภายใต้ตัวเองและครอบครัวที่ต้องเผชิญต่อชะตากรรมจากการถูกล่อลวงให้กระทำความผิดนั้นตามลำพัง และโดดเดี่ยว จึงไม่ผิดนักที่จะประณามเหล่าผู้ที่หลอกลวงและอยู่เบื้องหลังนี้ว่า เป็นพวกที่เลว ชั่ว เป็นพวกสามานย์อย่างแท้จริง

ในประเทศไทยก็เช่นกัน เรา ๆ ท่าน ๆ ต่างรู้กันดีว่าหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยต้องพบกับความแตกแยกทางสังคมมากมาย ตั้งแต่เหตุการณ์สร้างความเชื่อทางการเมืองที่นำไปสู่การแบ่งแยกฝักฝ่ายด้วยสี ต่อมาก็ยังมีกลุ่มคนที่ปรารถนาร้ายต่อชาติบ้านเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามความแตกแยกด้วยการหยิบยกเรื่องเท็จและไร้ความจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้องของ 3 สถาบันหลักของชาติมาปั่นหัวเยาวชน 

บรรดาผู้ซึ่งมีเจตนาไม่ดีเหล่านี้ มักจะนำวาทกรรมที่เอ่ยอ้างถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจ แยแส ระลึกนึกถึงตัวตนที่เกิดมาจนเป็นผู้เป็นคนได้ ด้วยเพราะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่สถาบันหลักทั้ง 3 ของประเทศอันได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ได้พัฒนา ได้สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง ความสะดวกสบายของสาธารณูปโภคในการอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบสื่อสาร กระทั่งถนนหนทาง แม้แต่การบริการทางแพทย์ที่เพียบพร้อมและทันสมัย 

กว่า 50 ปีมาแล้วที่สังคมไทยเสพสื่อและความเชื่อผิด ๆ ของสังคมตะวันตกผ่านภาพยนตร์ Hollywood โดยไม่ได้ใช้วิจารณญาณในการแยกแยะ ผิด ถูก ชอบ ชั่ว ดี ว่าเป็นอย่างไร จนทำให้เด็กและเยาวชนค่อย ๆ ซึมซับรับเอาด้านมืดของโลกตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งความไม่ถูกต้องชอบธรรมเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องปกติวิสัยธรรมดาที่ค่อย ๆ กล่อมให้สังคมส่วนหนึ่งเริ่มยอมรับได้ไปซะงั้น 

เมื่อเด็กและเยาวชนซึ่งเกิดมาพร้อมกับความเจริญที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่กลับขาดความรู้ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จึงทำให้เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งซึ่งไม่เคยสัมผัสและไม่รู้จักความทุกข์ยากลำบากของคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย แต่เก่าก่อน พฤติการณ์และพฤติกรรม ตลอดจนระบบความคิด จึงมีแต่เรื่องราวและคาดหวังในการมีและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยความสะดวกสบาย

พวกชั่วช้าสามานย์ที่มุ่งมาดปรารถนาร้ายต่อประเทศชาติ ซึ่งรับงานมาจากประเทศตะวันตก ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งเงินทองและเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงสร้างเรื่องราวอันเป็นเท็จเพื่อแสวงหาประโยชน์จากความขัดแย้งแตกแยกในชาติ โดยเฉพาะในทางการเมือง มีการกล่าวร้ายให้โทษสังคมไทยด้วยการนำโยงเอาสถาบันหลักของชาติทั้งสามให้มายุ่งเกี่ยวพัวพันอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังนำไปเรื่องราวอันเป็นบริบทของชาติบ้านเมืองที่มีมาอย่างยาวนานไปเปรียบเทียบกับสังคมตะวันตก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกก็ไม่ได้มีน้อยไปกว่าที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเราเลย หลายอย่างบางเรื่องกลับจะรุนแรงมากกว่าในบ้านเมืองเราเสียด้วยซ้ำ 

แน่นอนว่า ระบบการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนที่ผู้คนรับข้อมูลข่าวสารจากการอ่าน การฟัง และการรับชม ผ่านสื่อที่สามารถตรวจสอบจับต้องได้ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ วิทยุ และโทรทัศน์ มาเป็นการเสพสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้คนยุคนี้เชื่อข้อมูลข่าวสารโดยไม่สนใจถึงความถูกต้องชอบธรรม ภายใต้กระบวนการจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองที่หยิบยกเอาเรื่องราวประเด็นต่าง ๆ มาสร้างกระแสความนิยมและครอบงำผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยที่ไม่เคยและไม่ได้ใช้วิจารณญาณในการพินิจ วิเคราะห์ พิจารณา ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยหลักตรรกะ เหตุผล และสติสัมปชัญญะ ฯลฯ ต่างก็พากันหลงเชื่อ เห็นผิดเป็นถูก เรื่องที่ชั่วร้ายกลายเป็นความดีงาม เป็นจำนวนมาก

การขาดซึ่งวิจารณญาณในการพินิจ วิเคราะห์ พิจารณา ปัญหาต่าง ๆ ที่ควรเกิดขึ้นด้วยหลักตรรกะ เหตุผล และสติสัมปชัญญะ ฯลฯ ของคนรุ่นใหม่ จึงมีส่วนที่ทำให้สังคมเกิดความเสื่อมถอยอย่างร้ายแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งความเป็นจริงของทุก ๆ อารยประเทศนั้น เรื่องของประชาธิปไตยจะต้องเริ่มต้นจากการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ ภายใต้ ‘กฎหมาย’ หรือ กติกาสังคมที่กำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติที่ทำให้ทุก ๆ คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข  

ทว่า เมื่อคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งได้เสพเรื่องราวผิด ๆ จนติด และเสพเรื่องราวเหล่านั้นจนกลายเป็นความเชื่อ กระทั่งกลายเป็นความบ้าคลั่ง จึงกล้าที่ทำความผิดต่าง ๆ เยอะแยะมากมายเกินกว่าที่บรรดากลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองที่ทำตัวเป็นศาสดาและยุยงจะกล้าทำเสียเองด้วยซ้ำไป คนรุ่นใหม่เหล่านี้กลายเป็นผู้ต้องหาในความผิดอันเกิดจากความเชื่อที่ผิดกฎหมาย ซ้ำร้ายยังไม่ยอมรับในความผิดตามกฎหมายที่พวกตนกระทำทั้ง ๆ ที่กฎหมายเหล่านั้นทำให้ประเทศชาติสงบร่มเย็นมายาวนานจนถึงทุกวันนี้ 

พฤติการณ์และพฤติกรรมของพวกชั่วช้าสามานย์ที่มุ่งมาดปรารถนาร้ายต่อประเทศชาติที่ได้หลอกให้เด็กและเยาวชนทำผิดกฎหมาย จนเด็กและเยาวชนเหล่านั้นถูกจับกุมและดำเนินคดีส่งผลต่อชีวิตในอนาคต ไม่ได้แตกต่างไปจากพวกชั่วช้าสามานย์ที่บังคับเอาเด็กมาปล้นจี้ผู้อื่นเลย เพราะการบังคับหรือล่อลวงเด็กให้กระทำผิดภายใต้คำเป่าหูที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ นั้น ดูจะเป็นเรื่องที่เหี้ยมโหดและชั่วช้าสามานย์ยิ่ง 

...มีแต่คนที่อุบาทว์ชาติชั่วเลวทรามจริง ๆ เท่านั้นถึงทำได้!! 

เด็ก ๆ ยังไร้เดียงสา ขาดความเข้าใจ ไม่มีวุฒิภาวะพอ เมื่อถูกหลอกลวงด้วยคำพูด ถ้อยคำ โฆษณาชวนเชื่อ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงหลงเชื่อ แต่เมื่อได้กระทำการจนกลายเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว จึงต้องรับโทษตามกฎหมายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งสังคมไทยต้องร่วมกันประณามหยามเหยียดคนเหล่านี้อย่างเต็มที่จนถึงที่สุด 

นี่คืออีกเรื่องใหญ่ที่น่าห่วงที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบัน ครอบครัวอันเป็นสถาบันสำคัญพื้นฐานเบื้องต้น จึงต้องทุ่มเทใส่ใจ โดยไม่คิดที่จะฝากเรื่องการเรียนรู้ทั้งวิชาการและการใช้ชีวิตไว้กับโรงเรียนหรือบุคคลอื่น เพราะหากเด็กและเยาวชนหลงเชื่อทำตามคำยุยงปลุกปั่นพวกชั่วช้าสามานย์เหล่านี้แล้ว เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของเราจะต้องเสียอนาคตไปจนตลอดชีวิต โดยที่พวกชั่วช้าสามานย์เหล่านั้นไม่ได้มาร่วมรับผิดชอบลูกหลานของเราแต่อย่างใดเลย

‘ธรรมนัส’ บอกไม่รู้ สส.ก้าวไกล ดอดพบ ‘บิ๊กป้อม’ เคลียร์ปมหากจะขอเข้าพรรค ต้องให้ กก.บห.ตัดสินใจ

(25 มี.ค. 67) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกระแสข่าว สส.พรรคก้าวไกล เข้าพบพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่บ้านมีนบุรีว่า ถ้าพูดตามตรง ตนเองไม่ทราบในเรื่องนี้

ถามว่าหากมีเหตุในอนาคตที่ทำให้ สส. ของพรรคก้าวไกลต้องไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นเรื่องใหญ่ เราจะรับใครเข้าพรรคเป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรค จะต้องมีการประชุมร่วมกัน เราจะไม่ทำอะไรที่เคยเป็นบทเรียนในอดีตที่ทำให้เกิดความหมางใจกัน เราเคยเป็นผู้ถูกกระทำ เราอย่าเอาสิ่งที่เคยถูกกระทำนั้นมาทำเอง ฉะนั้น จะต้องมีการคุยกัน

เมื่อถามว่า มีการติดต่อจากกลุ่ม สส.ของพรรคก้าวไกล มาที่เครือข่ายของ ร.อ.ธรรมนัสหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเองไม่มีเครือข่าย มีแต่เครือข่ายภาคเกษตรฯ

ซักว่าที่ สส.ของพรรคก้าวไกลมีคนใดพอที่จะมีคุณสมบัติมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเห็นการทำงานของฝ่ายค้านก็เข้มข้น เพราะเราเป็น สส. เป็นถึงรัฐมนตรี เราก็เห็นการทำงานของเขาในการตรวจสอบการทำงานของเราอย่างเข้มข้น

เมื่อถามถึงในส่วนของ สส.พรรคก้าวไกลบางคน ที่มีทัศนคติที่ดีต่อพรรคพลังประชารัฐ จะมีการปิดประตูรับหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า จะต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการของพรรคก่อน จะตัดสินใจเองไม่ได้

‘ก้าวไกล’ เตรียมผุดทายาท ‘ก้าวใหม่’ หากโดนยุบพรรค ขณะที่บรรยากาศภายในลุยวางแนวทางของการทำงานแล้ว

(24 มี.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ถึงการเตรียมการตั้งชื่อพรรคใหม่ หากกรณีถูกยุบพรรคเกิดขึ้นจริงว่า ก่อนหน้านี้แกนนำพรรคมองไว้หลายชื่อ แต่ชื่อที่โดดเด่นขึ้นมามีอยู่ 2 ชื่อ ได้แก่ ‘อนาคตไกล’ และ ‘ก้าวใหม่’ แต่ล่าสุดชื่อ ‘อนาคตไกล’ มีผู้นำไปจดแจ้งตั้งเป็นพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างเป็นทางการไปแล้ว

โดย พรรคอนาคตไกล ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับ พรรคก้าวไกล ดังนั้น ณ ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่สุดที่ ‘ก้าวใหม่’ จะถูกนำไปตั้งเป็นพรรคทายาทของพรรคก้าวไกล

ขณะที่บรรยากาศในพรรคก้าวไกล ระดับแกนนำมีการพูดคุยกันว่าการยุบพรรคก้าวไกลค่อนข้างแน่นอนแล้ว ขอให้ไปทำงานร่วมกับพรรคใหม่ที่รองรับไว้ และให้กำลังใจกรรมการบริหารพรรค ขอให้ช่วยทำงานต่อไปเพื่อน้อง สส.

‘อัครเดช’ ไม่กังวล การอภิปรายของ ‘สว.’ เชื่อเข้าใจขอบเขต เพราะเป็นผู้ใหญ่ ย้ำ รมว.ทุกคนของพรรค ทำงานใกล้ชิด ปชช. มีผลงาน สัมผัสได้

(24 มี.ค.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า การขอเปิดอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภา (สว.) เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ที่ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ว่า ถือเป็นข้อดีที่วุฒิสมาชิกใช้กลไกของรัฐสภาในการตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ถือเป็นกลไกปกติในระบอบประชาธิปไตยที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะทำหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นในส่วนรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติก็มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะชี้แจงและตอบข้อซักถามของสว.

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ทั้งนี้ รัฐมนตรีของพรรค 4 คนที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาบริหารงานใน 4 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม นายกฤษดา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และนายนายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้ได้เตรียมข้อมูลพร้อมที่จะตอบข้อซักถามของสว.แล้ว และถือเป็นโอกาสดีที่รัฐมนตรีของพรรคจะได้ชี้แจงผลงานในการทำงานช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา หลังจากได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำงาน

“รัฐมนตรีของพรรคทำงานในกระทรวงที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างหนักมีผลงานชัดเจนสัมผัสได้ ผลงานของรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติหลายผลงาน ก็ถือเป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลอีกด้วย จึงถือเป็นโอกาสดีที่รัฐมนตรีของพรรคจะได้ชี้แจงผลงานไปในตัว จึงไม่ได้มีความกังวล และมีความยินดีในการเปิดอภิปรายของสว. ผมไม่ห่วงการอภิปรายของสว. เนื่องจากเป็นการอภิปรายทั่วไปไม่ใช่ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมเชื่อมั่นสว.เป็นผู้ใหญ่พอคงจะทราบข้อนี้เป็นอย่างดี ว่าการอภิปรายนอกเหนือประเด็นจากข้อสงสัยที่ยื่นเป็นญัตติมาแล้วจะอภิปรายนอกประเด็นตามที่ข้อบังคับการประชุมกำหนดนั้นทำไม่ได้”  โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว

'อ.อุ๋ย-ปชป.' ชี้ ศึกสองบิ๊กตำรวจ แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง  ยังมีปมอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ แนะ!! ดึง ปชช.ร่วมตรวจสอบกาะทำงาน 

(24 มี.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นกรณีความขัดแย้งระหว่าง ผบ.ตร และรอง ผบ.ตร. จนสุดท้ายทำให้นายกรัฐมนตรีต้องเข้ามาหย่าศึก โดยการสั่งย้ายทั้งสองคนกลับเข้าสำนักนายก ฯ ว่า...

กรณีการสั่งย้ายดังกล่างเป็นแค่การลูบหน้าปะจมูก เพื่อแก้ปัญหาหาเฉพาะหน้าให้จบ ๆ ไปเท่านั้น เพราะความขัดแย้งระหว่างสองบิ๊กตำรวจ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาพ้นน้ำให้เห็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งต้องรอการสะสาง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ปัญหาการรับส่วยสินบน ปัญหาการไม่รับแจ้งความ ปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตการใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งตนขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ดังนี้...

1. ค่าตอบแทนและสวัสดิการของตำรวจ ต้องเพียงพอให้ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหาเศษหาเลย โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายในการทำงานต้องเบิกได้เต็มจำนวน
2. ต้องใช้ระบบคุณธรรมในการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ใครทำดี บำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อประชาชนต้องได้ดี ใครทำชั่วทุจริตกินสินบาทคาดสินบนต้องได้ชั่ว (ถูกลงโทษ)  
3. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญกว่า (Decentralization) เช่น การสอบสวน ควรให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระและตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งการย้ายภาระงานบางส่วนให้ อปท. เช่น งานจราจร หรือคดีที่มีโทษเล็กน้อยหรือปรับเพียงสถานเดียว โดยใช้วิธีกระจายอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มอัตรากำลังและค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนที่มีความรู้กฎหมายระดับเนติบัณฑิต
4. ออกกฎหมายกำหนดขอบเขตการใช้กำลังและหลักการการใช้กำลังขั้นถึงตาย (Use of Deadly Force) แยกต่างหากไปจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน เพื่อคุ้มครองตำรวจจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำให้ตำรวจมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
5. เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจมากขึ้น สร้างระบบให้ประชาชนสามารถรีวิว (Review) การทำงานของตำรวจได้ และมีผลต่อการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง 

ทั้งนี้ย้ำว่าที่ตนเสนอมาเป็นเพียงข้อเสนอแนะในกรอบกว้าง ๆ เท่านั้น เพราะตนเชื่อว่าทุกคนในแวดวงตำรวจรู้ปัญหาและรู้วิธีแก้ไขอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีความกล้าที่จะลงมือทำหรือไม่ สุดท้ายแล้วตำรวจต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่าประชาชนต้องการอะไรจากตำรวจ จากนั้นตำรวจจะต้องปรับปรุงตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ ต้องพิจารณาให้ดีว่าประเทศไทย คนไทยต้องการอะไร และอยากจะปรับปรุงตำรวจไปในทิศทางไหน แล้วเลือกวิถีทางของตัวเอง

‘นิด้าโพล’ ชี้ ปชช. ยังหนุนก้าวไกล ยก ‘พิธา’ เหมาะนั่งนายกฯ เพราะ กล้าหาญ-ตรงไปตรงมา-บุคลิกเป็นผู้นำ รวมทั้ง เป็นคนรุ่นใหม่

(24 มี.ค.67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2567’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 42.75 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ มีความกล้าหาญ ตรงไปตรงมา บุคลิกเป็นผู้นำ และเป็นคนรุ่นใหม่ อันดับ 2 ร้อยละ 20.05 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 17.75 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ อันดับ 4 ร้อยละ 6.00 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ มีทัศนคติที่ดี และมีความเป็นผู้นำ อันดับ 5 ร้อยละ 3.55 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ มีวิสัยทัศน์ดี ซื่อสัตย์ มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงาน อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ ทำงานด้วยความโปร่งใส และมีประสบการณ์ในการทำงาน อันดับ 7 ร้อยละ 1.45 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ซื่อสัตย์ และมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ อันดับ 8 ร้อยละ 1.05 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) เพราะ มีประสบการณ์ในการทำงาน และมีผลงานทางการเมือง ร้อยละ 2.45 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายกรณ์ จาติกวณิช นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) และร้อยละ 2.05 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 48.45 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 22.10 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 12.75 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 5.10 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 5 ร้อยละ 3.50 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 2.30 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 7 ร้อยละ 1.70 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.30 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย และร้อยละ 1.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคท้องถิ่นไทย และไม่ตอบ/ไม่สนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.75 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.70 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.10 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.90 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.80 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.95 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.65 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.70 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.50 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.55 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.95 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ

ตัวอย่าง ร้อยละ 37.35 สถานภาพโสด ร้อยละ 60.35 สมรส และร้อยละ 2.30 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 26.65 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.50 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.00 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่าร้อยละ 25.20 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.65 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 8.30 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.20 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.60 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.95 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.60 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.80 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.55 เป็นนักเรียน/นักศึกษาตัวอย่าง ร้อยละ 23.45 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.80 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.45 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.35 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.45 ไม่ระบุรายได้

‘รัดเกล้า’ เผยรัฐบาลให้ความสำคัญ ผลักดันความสงบให้ชายแดนใต้ ย้ำ ทำตามหลักการ สร้างความปลอดภัย ให้น่าท่องเที่ยว 

(24 มี.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ รัฐบาล ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ทุกศาสนา โดยเมื่อครั้งที่เดินทางมาตรวจราชการในกิจกรรม “เที่ยวใต้ สุดใจ” (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เมื่อวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาสะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลอย่างจริงใจที่สุด ที่จะสร้างภาพจำใหม่ให้คนไทยและชาวต่างชาติเห็นว่า ”พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปลอดภัย น่าท่องเที่ยว”

ทั้งนี้เหตุการณ์การก่อกวนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดสงขลาบางจุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือนรอมฎอนที่เป็นเดือนอันประเสริฐของพี่น้องประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยมุ่งเน้นไปที่การก่อเหตุกับสถานประกอบการภาคธุรกิจที่หวังทำลายระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ของประชาชนในพื้นที่ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือมีความห่วงใยในชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด เพราะเมื่อเกิดเหตุกับสถานประกอบการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบทันทีคือ ผู้ประกอบการที่ธุรกิจได้รับความเสียหาย และลูกจ้างที่ต้องหยุดงานขาดรายได้ทันทีที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบกับสถานประกอบการที่ตนทำงานอยู่ อีกทั้งประชาชนต้องรู้สึกหวาดกลัว หรือหวาดระแวงเมื่อต้องเดินทางออกมาจับจ่ายซื้ออาหารเพื่อละศีลอด รวมทั้งการเดินทางไปประกอบศาสนกิจเพื่อเก็บเกี่ยวผลบุญในช่วงค่ำคืน ดังนั้นการก่อกวนเช่นนี้ จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ 

นางรัดเกล้า ยังเปิดเผยว่า นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการก่อกวน ของบางกลุ่ม ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการแสดงออกบางอย่างเพื่อแสดงตัวตนและให้เห็นถึงความสำคัญ แต่ทั้งนี้การพูดคุยเพื่อสันติสุข ยังเดินหน้า โดยที่มีประเทศมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวก และคณะพูดคุยก็เปิดกว้างในการรับฟังความเห็นต่างๆ แต่ทั้งนี้ถ้าทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศไม่มีความรุนแรง ก็จะเป็นเรื่องที่ดีในการที่จะเปิดช่องรับฟัง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ขั้นตอนการพูดคุยหลักการใหญ่เห็นชอบแผนสันติสุขร่วมกันแล้วรวมถึงเห็นชอบหลักการรายละเอียดของแผน โดยจะมีคณะเทคนิคไปพูดคุยเพื่อทำตามกิจกรรมของแผน โดยช่วงนี้คณะเทคนิคอยู่ระหว่างการประชุมและในครั้งที่ผ่านมา คณะเทคนิคได้มีการประชุมแล้วสองครั้ง โดยรวมอยู่ในขั้นตอนที่คุยกันได้ เพื่อที่จะให้เดินไปข้างหน้า แม้ว่าจะมีข้อจำกัดหลายเรื่องแต่ก็จะใช้ความพยายาม ในฐานะที่ตนเองเป็นหัวหน้าพูดคุย ต้องขอขอบคุณ อย่างน้อยได้มีการพูดคุยก็เป็นเรื่องที่ดีจึงต้องรักษาไว้

สส.ก้าวไกล อภิปราย งบส่วนราชการในพระองค์ เน้นย้ำ ให้เปิดเผย อย่างโปร่งใส เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ

(23 มี.ค.67) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้วยคะแนนเสียง 298 ต่อ 166 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 ภายหลังอภิปรายกันมา 3 วัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวขอบคุณสภาที่ได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความสุข สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกมิติ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้งบอย่างคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ กำกับดูแลให้มีความโปร่งใส และบรรลุผลสัมฤทธิ์

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ขอรับข้อคิดเห็น คำแนะนำ และข้อสังเกตไว้ด้วยความขอบคุณ และจะนำไปปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณต่อไป ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ สภาจะส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ให้วุฒิสภาพิจารณาในวาระ 2-3 ในวันที่ 26 มี.ค. นี้ หากได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาสูง นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ต่อไป

ก่อน สส. จะลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท ในวาระ 2 และ 3 ในวันสุดท้ายของการอภิปราย เหลือเนื้อหาพิจารณาทั้งสิ้น 15 มาตรา จากทั้งหมด 41 มาตรา

หนึ่งในประเด็นที่กรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น และมีสมาชิกผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติคือ การขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ (มาตรา 36) ลงตั้งแต่ 0.5-50% หลังจาก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ไม่มีการปรับปรุงเนื้อหาที่ผ่านความเห็นชอบในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ

อย่างไรก็ตามมี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลุกขึ้นอภิปรายเพียงคนเดียวเท่านั้น ก่อนบอกว่า “ในฐานะกรรมาธิการ ดิฉันไม่ติดใจ” ทำให้ที่ประชุมสภาไม่ต้องลงมติในมาตรานี้ ในปีงบประมาณ 2567 ส่วนราชการในพระองค์ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 8,478.3 ล้านบาท โดยระบุแผนงานไว้รายการเดียวเช่นทุกปีคือ “แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ”

บีบีซีไทยตรวจสอบรายงานผลการพิจารณาของ กมธ. (เอกสารเล่มที่ 1 ปกสีขาวคาดเขียว) พบว่า มาตรา 36 มี กมธ. ขอสงวนความเห็นทั้งสิ้น 11 คน และมี สส. ขอสงวนคำแปรญัตติทั้งสิ้น 70 คน โดย สส. กลุ่มใหญ่ถึง 39 คน เสนอให้ปรับลดงบของส่วนราชการในพระองค์ลง 5% เกือบทั้งหมดเป็น สส.ก้าวไกล รวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วย

ส่วน สส. ที่เสนอให้ตัดงบส่วนราชการในพระองค์ลงกึ่งหนึ่ง หรือ 50% มาจากพรรค ก.ก. เช่นกัน โดยมี 2 คนคือ ว่าที่ ร.ต.สมชาติ เตชถาวรเจริญ สส.ภูเก็ต และนายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สส.นครสวรรค์

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ เสนอให้ปรับลดงบลง 31.4% ส่วน น.ส.รัชนก ศรีนอก หรือ 'ไอซ์' สส.กทม. เสนอให้ปรับลดงบลง 10% แต่ทั้งหมดไม่มีใครใช้สิทธิอภิปรายแต่อย่างใด

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะ กมธ. ที่ขอสงวนความเห็นไว้ โดยให้ปรับลดงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์เหลือ 8,224 ล้านบาทเศษ หรือลดลง 254.3 ล้านบาท บอกว่า “สังเกตเห็นพัฒนาการของหน่วยงานนี้” โดยปีนี้ หน่วยงานได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มาชี้แจงให้ กมธ. รับทราบรายละเอียดที่มาที่ไปของงบประมาณ และที่พิเศษกว่านั้นคือมีการส่งเอกสารชี้แจงในรูปแบบที่ตกลงกับสำนักงบประมาณและค่อนข้างครบถ้วนรวม 21 หน้า และส่งแผนการเบิกจ่ายงบไปพลางก่อนปี 2566 ด้วย ในฐานะที่เป็น กมธ.งบประมาณ มาเป็นปีที่ 5 เธอไล่เลียงพัฒนาแต่ละปีงบประมาณเอาไว้ ดังนี้
• ปี 2563 ไม่มีการส่งเอกสารชี้แจง มีเพียงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นผู้มาชี้แจงแล้วก็จบ ไม่มีการซักถามต่อเนื่อง
• ปี 2564 มีการพูดรายละเอียดเล็กน้อย โดยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นผู้ชี้แจงเหมือนเดิม
• ปี 2566 เป็นปีแรกที่ส่วนราชการในพระองค์มอบหมายให้เลขาธิการ ครม. มาชี้แจงแทน โดยมีการฉายคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจ/ภารกิจ และส่งเอกสารชี้แจงจำนวน 8 หน้า
• ปี 2567 เลขาธิการ ครม. เป็นผู้ชี้แจงและตอบข้อสงสัยต่าง ๆ และส่งเอกสารชี้แจงในรูปแบบที่ตกลงกับสำนักงบประมาณจำนวน 21 หน้า อีกทั้งยังส่งแผนการเบิกจ่ายงบไปพลางก่อนปี 2566 ด้วย

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า งบที่ลดลง 133 ล้านบาทเศษจากปีงบประมาณก่อน มาจากการที่บุคลาการของหน่วยรับงบประมาณลดลง โดยมีบุคลาการรวมทั้งสิ้น 14,704 ราย อยู่ในสำนักองคมนตรี เป็นข้าราชการ 83 ราย, ข้าราชการในสำนักพระราชวัง 6,658 ราย, หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ 7,943 ราย และลูกจ้างประจำในสำนักพระราชวังราว 20 ราย
กมธ.จากก้าวไกลกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องความซ้ำซ้อนโครงสร้างหน่วยงานที่อาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ แต่เชื่อมั่นว่าในอนาคตเราจะมีวิธีพูดคุย หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้

“ดิฉันคิดว่าการยิ่งเปิดเผย ยิ่งโปร่งใส จะยิ่งนำไปสู่ความสง่างาม และเป็นการเทิดพระเกียรติของพระองค์ท่าน” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ในตอนท้าย ก็ยังได้กล่าวด้วยว่า “ในมาตรานี้ ดิฉันในฐานะกรรมาธิการ ไม่ติดใจ” ทำให้ที่ประชุมสภาไม่ต้องลงมติในมาตรา 36 และยึดเนื้อหาและวงเงินตามที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ดังเดิม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top