Saturday, 11 May 2024
NEWS

ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ปฏิบัติภารกิจตรวจเยี่ยมหน่วยกำลังป้องกันชายแดนในพื้นที่ อ.น้ำยืน

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 เวลา 0830 พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของกองกำลังป้องกันชายแดน ในพื้นที่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พลโท สวราชย์ แสงผล ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 พลตรี วีระยุทธ รักศิลป์ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี พันเอก ณัฏฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี และผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก พร้อมคณะ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว สนามกีฬานานาชาติ อบต.โดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชราชธานี 

หลังจากนั้นเดินทางโดยรถยนต์ไปยังฐานปฏิบัติการอนุพงศ์ สักการะอนุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช มอบสิ่งของบำรุงขวัญให้กับผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ วางพวงมาลาอนุสรณ์เกียรติภูมิ พันตรี อนุพงศ์ บุญญประทีป หลังจากนั้นเดินทางไปยัง ฐานจุดตรวจเนิน 500 วางพวงมาลาสักการะ อนุสรณ์เกียรติภูมิ จ่าสิบเอก สมชาย แก้วประดิษฐ์  พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ 

หลังจากนั้นคณะเดินทางไปยัง สนามกีฬานานาชาติ องค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ ได้มอบจักรยาน ตามโครงการ “Army Bike จักรยาน สานฝัน ปันสุข” มอบกรอบรูปพระบรมฉายาลักษณ์ คุกกี้ และ ถุงยังชีพ เพื่อการศึกษา ให้กับ เด็กนักเรียน จำนวน  2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนตำรวจตะเวนชายเเดนบ้านค้อ เเละ ศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตะเวนชายเเดนบ้านหนองบัวพัฒนา พร้อมทั้งได้มอบเงินสนับสนุน โครงการอาหารกลางวันให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเเปดอุ้ม จากนั้นคณะฯ เดินทางโดย เฮลิคอปเตอร์ เพื่อตรวจภูมิประเทศ ทางอากาศ บริเวณพื้นที่รวงผึ้ง ต่อไป  #หน่วยเฉพาะกิจที่1 #กองกำลังสุรนารี

ปุรุศักดิ์ แสนกล้า ข่าว/ภาพ 

ชาวเน็ตจวกยับ!! ‘สาว’ สาธิตวิธีทำไอศกรีมไข่แข็งในร้านชาบู เพื่อนเตือนไม่ฟัง เพราะเป็นถังส่วนรวม แถมถ่ายคลิปอวด

เมื่อวานนี้ (11 ก.ค. 66) ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์คลิปวิดีโอทำไอศกรีมไข่แข็งในร้านชาบูแห่งหนึ่งใน จ.ตรัง หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ไปโลกออนไลน์รุมจวกกันยกใหญ่ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง

โดยในคลิป เป็นคลิปแม่ลูกได้นำไข่สดตอกลงไปในกล่องไอศกรีมที่เป็นหลุมหลังจากมีคนก่อนนี้ตักไปรับประทาน เมื่อตอกไข่ลงไปแล้วก็สาธิตวิธีการทำ โดยละเลงไข่จนเต็มหน้าถังไอศกรีม เพื่อให้ไข่เซตตัว ก่อนที่จะตักออกมากิน

แม้คนที่ไปด้วยกันจะเตือนแล้วเพราะกลัวทางร้านจะต่อว่า แต่กลับไม่สนใจบอกว่าเขาไม่ด่าหรอก แล้วทำต่อไปจนเสร็จ

หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ไป ก็มีคนวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม เนื่องจากถังไอศกรีมนั้นเป็นถังรวมที่ทุกคนสามารถตักไปรับประทานได้ นอกจากนี้ยังมีคนที่ไม่ชอบรับประทานแบบนี้เช่นกัน ถ้าเป็นถ้วยส่วนตัวจะทำก็ไม่มีใครว่า

ล่าสุดร้านออกมาโพสต์ถึงประเด็นดรามาเช่นกัน โดยระบุว่า “ขออนุญาตชี้แจงถึงคลิปวิดีโอนี้นะคะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากทางร้านของเราเองค่ะ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทางร้านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น และในวันเกิดเหตุน่าจะเป็นช่วงลูกค้าเยอะ พนักงานอาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ทั้งนั้นทางร้านเล็งเห็นความสำคัญเรื่องความสะอาดและการบริการกับลูกค้าทุก ๆ ท่านเสมอ เมื่อพนักงานเช็กตู้ไอศกรีม แล้วเจอคราบสกปรกทางร้านก็รีบเปลี่ยนถังใหม่ทันทีค่ะ ฝากเป็นกำลังใจให้เราด้วยนะคะ ปล. ทางร้านเป็นร้านชาบูฮาลาลนะคะ ไม่ใช่ร้านหมูกระทะ”

นอกจากนี้ยังมีคนถามทางร้านว่า จะฟ้องร้องลูกค้าคนดังกล่าวหรือไม่ ทางร้านตอบกลับมาว่า “ทางร้านอยากให้เจ้าของคลิปออกมาโพสต์ชี้แจงข้อเท็จจริงมากกว่าค่ะ” 

‘ท่าน ว.วชิรเมธี’ อาลัยโยมพ่อ ‘อุ้ยติ๊บ บุญถึง’ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ในวัย 92 ปี

(12 ก.ค. 66) หลังป่วยมาหลายปี ล่าสุดมีรายงานว่าพ่ออุ้ยติ๊บ บุญถึง ซึ่งเป็นโยมพ่อของพระนักพูด-นักเขียนชื่อดัง ‘ว.วชิรเมธี’ หรือ ‘พระเมธีวชิโรดม’ ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบในวัย 92 ปี

สำหรับพิธีศพของพ่ออุ้ยติ๊บ บุญถึง จะจัดขึ้นที่สุญญาตาคาร ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย เชียงราย ก่อนจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้

สภาสังคมสงเคราะห์ฯ จัดแถลงข่าว “การจัดงานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566”

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  จัดงานแถลงข่าว “การจัดงานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี  2566” โดยมี พลตรีหญิง คุณหญิงอัสนีย์ เสาวภาพ ประธานสภาสังคมสงเคราะห์ฯ เป็นประธานการแถลงข่าว ในวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566  เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น  3  ตึกนวมหาราช  สภาสังคมสงเคราะห์ฯ แยกตึกชัย ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

ในการแถลงข่าว จะชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดของงานวันแม่แห่งชาติ ปี 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม  2566 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดย พลตรีหญิง คุณหญิงอัสนีย์ เสาวภาพ ประธานสภาสังคมสงเคราะห์ฯ  และประธานคณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกแม่ดีเด่นแห่งชาติ กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566 และผลการคัดเลือกแม่ดีเด่นแห่งชาติ  

ร้อยตำรวจโท ดร. มนัส โนนุช รองประธานสภาสังคมสงเคราะห์ฯ และประธานฝ่ายคัดเลือกลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่  กล่าวถึง ผลการคัดเลือกลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่  คุณเพ็ญพักตร์ ศรีทอง  ประธานคณะกรรมการฝ่ายผลิตและจำหน่ายดอกมะลิ งานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566 กล่าวถึง การจัดทำผลิตภัณฑ์ดอกมะลิ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดอกมะลิวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566 คุณธิดารักษ์  สัจจพงษ์  ประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานวันแม่แห่งชาติ  ประจำปี 2566 กล่าวถึง การประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับงานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี  2566 และกิจกรรมในโอกาสสัปดาห์วันแม่แห่งชาติ

โดยสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ได้เชิญแม่ดีเด่นแห่งชาติ และลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ ที่ได้รับการคัดเลือก ประจำปี 2566 และปีที่ผ่านมา รวมทั้งพรีเซ็นเตอร์ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์จากดอกมะลิ ประจำปี 2566 มาร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย

เจนกิจ นัดไธสง สวทท.68 รายงาน 

ประธานวุฒิสภา ย้ำการสร้างสังคมสันติสุขที่ยั่งยืน ต้องให้เกียรติ เคารพ ความคิด ความเชื่อของกันและกัน ด้านศิษย์พี่ 4ส. สถาบันพระปกเกล้า เตรียมบายศรีสู่ขวัญรับน้อง 4ส.14

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่สถาบันพระปกเกล้า สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานเปิดการศึกษาอบรม หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข(สสสส.) รุ่นที่ 14  โดยมี นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายณัฐพงศ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และคณาจารย์ประจำหลักสูตรเข้าร่วมพิธี

ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร กล่าวว่า หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยและการสร้างสังคมสันติสุขที่ยั่งยืนในสังคมไทย หลักสูตรนี้ยังเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการให้เกียรติและเคารพความหลากหลายของความคิด ความเชื่อ ของกันและกัน ที่สำคัญ ผมหวังว่าผู้เข้ารับการศึกษาจะนำความรู้ที่ได้รับนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ” 

ด้าน นายวิทวัส กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของหลักสูตรดังกล่าวว่า เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมศึกษาแนวคิด หลักการและกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี รวมถึงการวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้แนวคิด และเครื่องมือในการป้องกัน และแก้ไขความขัดแย้ง ตลอดจนการฟื้นฟูและสร้างความสมานฉันท์ในสังคมได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยสันติวิธีให้แก่ผู้นำความคิดในสังคมไทย

ทางด้านนายศุภณัฐ กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าวมีผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา และสื่อมวลชน จำนวน 70 คน จัดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม 2566  –  เดือนพฤษภาคม 2567 และ ในวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2566 นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.) รุ่นที่ 14 พร้อมคณะ เดินทางไปยัง โรงแรม เดอะเฮอริเทจ พัทยา บีท รีสอร์ท เพื่อร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศโดยมีรุ่นพี่ศิษย์เก่าแต่ละรุ่น มาร่วมต้อนรับ ร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ น้อง สสสส.14 พร้อมมอบของที่ระลึก เพื่อแสดงความรัก 

‘ภรรยา’ สุดเศร้า พาลูก 2 คน รับศพ ‘วิศวกร’ สะพานถล่ม เผย สามีเป็นคนรักงานมาก รับจากกันเร็วเกินกว่าจะทำใจได้

(11 ก.ค. 66) ที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ นางวินุด แสนสีมล อายุ 38 ปี ภรรยา พร้อมลูกชาย 2 คน วัย 6 ปี และ 13 ปี รวมถึงญาติพี่น้องของนายฉัตรชัย ประเสริฐ วิศวกรโครงการก่อสร้างสะพานทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่เสียชีวิตจากเหตุสะพานถล่ม เดินทางมายื่นเอกสาร เพื่อขอรับศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพังกิ่ง ตำบลสมหวัง อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง

นางวินุด เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจมาก การจากไปของสามีเกิดขึ้นรวดเร็วเกินกว่าจะทำใจได้ สามีเป็นคนรักงานในอาชีพวิศวกรเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ที่ จ.สตูล โดยจะเดินทางกลับบ้านที่ กทม. 1-2 เดือนครั้ง กระทั่งย้ายมาทำงานที่โครงการดังกล่าวได้ประมาณ 4 เดือน ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาอยู่ใกล้บ้านและครอบครัว

นางวินุด กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเขารักและทุ่มเทกับการทำงานเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ไม่มีลางสังหรณ์อะไร สามีออกไปทำงานตามปกติ ส่วนสาเหตุตนยังไม่ทราบและไม่กล้าจะฟันธง ที่ผ่านมาทางบริษัทได้เข้ามาติดต่อพูดคุยแสดงความเสียใจแล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ขอให้จัดการงานศพให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อน

สำหรับผลการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นเกิดจากของแข็งกระแทกบริเวณศีรษะ ทางครอบครัวจะเคลื่อนร่างกลับไปบำเพ็ญกุศลยังภูมิลำเนา ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) เนื่องจากรอบิดาและมารดาของผู้เสียชีวิตที่กำลังเดินทางมาจาก จ.พัทลุง เพื่อมารับศพกลับไปบำเพ็ญกุศล

ชื่นชม!! 4 นักเรียนไทยสุดเก่ง คว้ารางวัลเหรียญเงิน จากการแข่งขัน ‘ชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 34’

(11 ก.ค. 66) เพจ ‘Olympic ipst’ ได้โพสต์ข้อความแสดงความยินดีกับเด็กไทยสุดเก่งทั้ง 4 คนที่คว้ารางวัลเหรียญเงิน จากการแข่งขัน ‘ชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 34’ โดยระบุว่า…

ผลการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 34 ประจำปี พ.ศ. 2566 (34th IBO 2023) ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม 2566 ณ เมืองอัล อาอิน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้เข้าแข่งขันจากประเทศไทย จำนวน 4 คน มีผลการแข่งขัน ดังนี้

1. นายวิภู เศรษฐวงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้รับรางวัลเหรียญเงิน🥈 
2. นายธนกฤต ธนสารสาคร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับรางวัลเหรียญเงิน🥈
3. นางสาวณภัทร ตันติประภาส โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับรางวัลเหรียญเงิน🥈
4. นายสิรวิชญ์ ศรีบุญเจริญชัย โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน🥈

และคณะอาจารย์ผู้ควบคุมทีม ประกอบด้วย
1. รศ.ดร.ชัชวาล ใจซื่อกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีม
2. ผศ.ดร.กิตติคุณ วังกานนท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองหัวหน้าทีม
3. รศ.ดร.ชัชวาล จันทราสุริยารัตน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยหัวหน้าทีม
4. ดร.ชนติ จันทรโชติชัชวาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยหัวหน้าทีม
5. ผศ.ดร.มนฤดี ชัยโพธิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยหัวหน้าทีม
6. นางสาวปุณยาพร บริเวธานันท์ สสวท. ผู้จัดการทีม

‘iRAP Robot’ มจพ. คว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก สมัยที่ 9 จากการแข่งขัน ‘World RoboCup Rescue 2023’ ที่ฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 66) ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า นักศึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. ได้เข้าร่วมการแข่งขัน World RoboCup Rescue 2023 ระหว่างวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2566 ณ เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส ที่ผ่านมา คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย ประจำปี 2566 World RoboCup Rescue 2023 เป็นสมัยที่ 9 ให้กับ มจพ. และเป็นสมัยที่ 10 ให้กับประเทศไทย ได้สำเร็จ พ่วงอีก 2 รางวัล ได้แก่ BEST IN CLASS MOBILITY (รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลก) และ BEST IN CLASS MAPPING (รางวัลการทำแผนที่ยอดเยี่ยมระดับโลก) อย่างสมศักดิ์ศรี โดยมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 17 ทีม จาก 11 ประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน ออสเตรีย ตุรกี เม็กซิโก บังกลาเทศ เกาหลีใต้ และไทย

การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot คว้ารางวัลชนะเลิศ อันดับ 2 ทีม Hector Darmstadt ประเทศเยอรมัน ส่วนอับดับ 3 ทีม Quix ประเทศญี่ปุ่น 

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot จะเดินทางกลับถึงประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2566 เที่ยวบิน EK372 DXB/BKK เวลา 19.15 น. ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกำหนดจัดแถลงข่าวในวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ.

สมาชิกในทีม iRAP ROBOT ประกอบด้วย

1. นายฐิติยศ ประกายธรรม
2. นายภูมิทรรศน์ สังขพันธ์
3. นายศักดิธัช วินิจสรณ์
4. นายจิรกานต์ สุขเจริญ
5. นายชัยพฤกษ์ เลาหะพานิช
6. นายอาทิตย์ นาราเศรษฐกุล
7. นายปียภูมิ ธนวุฒิอนันต์
8. นายกลย์ภัทร์ บุญเหลือ
9. นายธรณินทร์ อุ่นอารีย์
10. นายธนกร กุลศรี
11. นายนภดล จำรัสศรี
12. นายเจษฎากร ชัยนราพิพัฒน์
13. นายภูบดี บุญจริง

อาจารย์ที่ปรึกษาและควบคุมทีม ประกอบด้วย 
1. ผศ.สมชาย เวชกรรม 
2. รศ.ดร.ธีรวัช บุณยโสภณ 
3. อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม 
4. อาจารย์ ดร.อรัญ แบล็ทเลอร์ 
5. ผศ.นพดล พัดชื่น

'อ.ต่อตระกูล' แนะ!! เริ่มสอบจาก 'วิศวกร' ก่อน เชื่อ!! ไม่น่าใช่อุบัติเหตุ และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

(11 ก.ค.66) รองศาสตราจารย์ ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีทางยกระดับถล่มย่านลาดกระบัง ว่า..

โครงการทางยกระดับ เขตลาดกระบัง ของกทม. มูลค่าเกือบ 2 พันล้าน ยาวถึง 3 กิโลเมตร ได้ถล่มลงมาในระหว่างการก่อสร้าง เหลือเป็นเศษคอนกรีต 

ขอเสนอในฐานะที่เป็นวิศวกรด้วยกัน ว่าต้องเริ่มสอบสวนที่ วิศวกร ก่อน 

สอบจากวิศวกรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน วิศวกรโครงการของผู้รับเหมา   

และสอบผู้จัดการประมูล ที่ได้มาซึ่งผู้รับเหมารายนี้ด้วย    

โครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร มูลค่าโครงการ 1,938.3 ล้านบาท เป็นของสำนักงานกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน กทม.) 1,664.5 ล้านบาท และงานของการไฟฟ้านครหลวง 273.75 ล้านบาท สัญญาสิ้นสุดต้องเสร็จภายใน สิงหาคม 2566 นี้

ฝาก วสท. (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ช่วยส่งทีมวิศวกรจากหลาย ๆ ฝ่าย ให้ความยุติธรรม และให้เหตุผลทางหลักวิชาการวิศวกรรม เพื่อเป็นบทเรียน ไว้ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากอีกต่อไป

ไม่ใช่อุบัติเหตุ แน่นอน ครับ ! และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

จับกัง 1 สั่ง กสร.และ สปส. สอบเหตุสะพานข้ามแยกถล่ม พร้อมเร่งดูแลสิทธิลูกจ้างเสียชีวิตและบาดเจ็บ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งหัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงแรงงาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบหลังเกิดเหตุคานสะพานข้ามแยกถล่มขณะกำลังก่อสร้างพร้อมดูแลสิทธิประโยชน์ลูกจ้างเต็มที่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังทราบเหตุคานสะพานข้ามแยกถล่มในพื้นที่ลาดกระบังจนทำให้มีลูกจ้างเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ว่า ผมขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใย และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้มอบหมายให้ นางโสภา เกียรตินิรชา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดี กสร. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 (สรพ.10) และ ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 12 (ศปข.12) พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 13 ราย และเสียชีวิตจำนวน 2 ราย เบื้องต้นผมได้สั่งการให้เร่งดำเนินการให้ลูกจ้างผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติของผู้เสียชีวิต ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และตรวจสอบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

นางโสภา เกียรตินิรชา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ทราบว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลาดกระบัง จำนวน 8 ราย โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำนวน 5 ราย และผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย เป็นลูกจ้างผู้รับเหมาช่วง โดย สรพ.10 และศปข.12 จะเชิญนายจ้างและผู้เกี่ยวข้องมาพบในวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เพื่อตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น หม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่ หากพบว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป จากนั้นยังได้เดินทางไปเยี่ยมลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ ณ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้บาดเจ็บ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการให้ลูกจ้างที่บาดเจ็บได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องการรักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวลูกจ้างที่เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์พึงได้ตามกฎหมายต่อไป

เปิดข้อเท็จจริงอีกด้าน ทางยกระดับลาดกระบังถล่ม เชื่อเป็นความประมาทและละเลยมาตรฐานทางวิศวกรรม

(11 ก.ค.66) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘ดำรงค์ นาวิกไพบูลย์’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีสะพานข้ามแยก ย่านลาดกระบัง ถล่ม โดยระบุว่า…

ส่วนที่มีการโจมตีว่า เพราะทีมชัชชาติไปสั่งแก้แบบ เลยทำให้สะพานถล่ม
อันนี้ ผมเองก็เป็นวิศวกร และผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับแก
ชัชชาติเคยลงพื้นที่ตรงนั้นเมื่อหลายเดือนก่อนจริง
แต่ที่แกสั่งคือ เร่งรัดการก่อสร้าง เพราะผู้รับเหมา (ผรม.) ทำงานช้ากว่ากำหนด แถมทำพื้นที่ส่วนรวมเลอะเทอะ ชาวบ้านเดือดร้อน

ส่วนแบบที่ กทม. เสนอแก้อ่ะ คือจากแบบเดิมที่ ‘หล่อหน้างาน’ (girder box segment) มาเป็นแบบ ‘หล่อจากโรงงาน’ (precast box segment) แล้วยกมาประกอบหน้างาน

โครงการสะพานใหญ่ ๆ ในบ้านเรา ใช้เทคนิค precast กันก็เยอะ โครงการรถไฟฟ้าก็ใช้

Precast มันดีตรงที่หล่อในโรงงาน จึงควบคุมคุณภาพได้แม่นยำกว่าแบบหล่อหน้างาน แต่ข้อเสียคือขนส่งลำบาก มึงต้องมีรถนำขบวน แถมต้องขนตอนดึก เวลาที่คนนอนกันหมดแล้ว

แต่จะเปลี่ยนเทคนิคกันยังไงก็ช่าง
แบบก่อสร้าง ต้องมีวิศวกรระดับสามัญ - วุฒิวิศวกรเซ็นรับรอง ซึ่งกว่ามึงจะได้ใบอนุญาตมานะ เลือดตาแทบกระเด็น 

ระดับสามัญ อย่างเร็วคือ 7 ปี แต่บางคนทำมาเป็น 10 ปียังสอบไม่ได้เลย
แถมพลาดมา ติดคุก คำเดียว
ทำงานช้าแค่โดนด่า แต่ทำงานพลาดมึงติดคุก
อาชีพวิศวกรที่มีใบอนุญาตฯ มันเป็นแบบนี้

ที่สำคัญนะ
งานก่อสร้างอ่ะ ที่แบบไม่ค่อยพลาดกันหรอก
มันมีคู่มือให้เดินตาม มีมาตรฐานประกบหมด โอกาสพลาดต่ำมาก

ส่วนใหญ่จะพลาดกันที่การก่อสร้าง ทำงานไม่ได้มาตรฐาน
อันนี้ มึงไปดูโพสต์พี่เอ้ สุชัชวีร์ อดีตศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรม
แกเคยเตือนเอาไว้เมื่อปีที่แล้วว่าไซต์นี้เสี่ยง เนื่องจากทำงานไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม
ซึ่งมาตรฐานทางวิศวกรรมที่ว่า แกหมายถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติงานวิศวกรรมนั่นแหละ

เรื่องนี้ ทีมชัชชาติไม่เกี่ยว
ส่วนตัวผมคิดว่า เป็นความประมาท และละเลยมาตรฐานทางวิศวกรรมเสียมากกว่า

'กาชาด' โต้ กสม. ยันไม่เคยเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ กรณีการจำกัดสิทธิบริจาคโลหิตในผู้ที่มีความหลากหลาย

(11 ก.ค.66) 'กาชาด' แจงข้อเท็จจริง เหตุ ‘กสม.’ แถลงคลาดเคลื่อน หวั่นเกิดความเข้าใจผิด ยันไม่มีการเลือกปฏิบัติ ตระหนักถึงหลักการ #ความเท่าเทียม

จากกรณี ‘สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)’ แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชน (6 ก.ค. 2566) ถึงประเด็นเรื่อง 'การจำกัดสิทธิการบริจาคโลหิตในผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ' อันเป็นข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งทำให้ผู้บริจาคโลหิตและประชาชนเกิดความเข้าใจผิด

‘ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย’ ยังคงตระหนักถึงหลักการความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และมาตรฐานสากลในการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริจาคและผู้ป่วยผู้รับโลหิตเป็นสำคัญ รวมถึงมีการทบทวนเกณฑ์การรับบริจาคโลหิตมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับคำถามในการคัดกรองและประชาสัมพันธ์มาอย่างสม่ำเสมอ โดยขณะนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเกณฑ์การรับบริจาคโลหิตของประเทศ ร่วมกับ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

โอกาสนี้ ‘ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย’ ขอยืนยันข้อเท็จจริงว่า มิได้มีการเลือกปฏิบัติหรือตีตราผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่อย่างใด หากแต่มุ่งมั่นในการให้บริการโลหิตที่ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ และขอให้ ‘สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ’ ทบทวนประเด็นดังกล่าวและแถลงข้อเท็จจริงต่อไป

'เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่' นำจิตอาสากว่า 200 คน จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 'เราทำความดี ด้วยหัวใจ' ทำความสะอาดวัดในเขตพื้นที่

นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานเปิดโครงการจิตอาสาพัฒนา เราทำความดี ด้วยหัวใจ เนื่องในวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายในวัดน้อยสุวรรณาราม (วัดคลองเก้า) ต.แพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอเมืองสมุทรปราการ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมในพิธี

โดยมี นายอำนวย บุญริ้ว นายกเทศมนตรีเมืองแพรกษาใหม่ นางสาวมณิฐกานต์ บุญริ้ว สมาชิก อบจ. สมุทรปราการ คณะผู้บริหาร คณะสมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนจิตอาสา ตลอดจนคณะครู และนักเรียนโรงเรียนวัดคลองเก้า จำนวนกว่า 200 คน ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ ภายในวัดน้อยสุวรรณาราม ต.แพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

โดยภายในพิธี นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้กล่าวคำน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ด้วยทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่ามีความสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจประกอบกิจกรรมสาธารณะ เพื่อประโยชน์สุขของชุมชนส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อให้มีความรักความผูกพันใน 4 สถาบันหลักของชาติ คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน

จากนั้น ได้นำประชาชนจิตอาสา จำนวนกว่า 200 คน ร่วมทำกิจกรรม เราทำความดี ด้วยหัวใจ เนื่องในวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยการฉีดน้ำกวาดทำความสะอาดพื้นภายในบริเวณวัด และการทำความสะอาดห้องสุขาสาธารณะ ภายในวัดน้อยสุวรรณาราม การขุดลอกท่อและกำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณโรงเรียน เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ 

อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการรักษาดูแลทำความสะอาดภายในศาสนสถาน จุดบริการห้องน้ำสาธารณะที่ประชาชนมาใช้บริการ รวมถึงบริเวณพื้นที่ต่างๆ ภายในวัด ซึ่งถือเป็นการทำนุบำรุงศาสนสถานให้พระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติศาสนกิจด้วยความสะดวก และพุทธศาสนิกชนที่เข้ามาทำบุญปฏิบัติธรรมหรือร่วมกิจกรรมประเพณีทางศาสนาในวัดได้อย่างสบายใจและมีสุขภาพอนามัยที่ดี 

‘ชัชชาติ’ เชื่อ คานก่อสร้างทางยกระดับถล่ม ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จี้!! ผอ.เขตลาดกระบังเร่งสอบสวนสาเหตุ เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างลงพื้นที่เกิดเหตุคานโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม ว่า ช่วงระหว่างก่อสร้างคือจุดอ่อนที่อันตรายที่สุด เนื่องจากคอนกรีตยังไม่แข็งตัว องค์ประกอบแต่ละส่วนของโครงสร้างยังไม่เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะต้องร้อยชิ้นส่วนซึ่งเป็นคอนกรีตมาประกอบกัน เชื่อว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ตามหลักการ เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้น อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง เพราะฐานรากมีการลงเสาเข็มลึกถึงชั้นทราย

สำหรับ Launcher คือคาน 1 คาน เคลื่อนไหวได้ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนคอนกรีต 20 ชิ้น ต้องใช้ลวดสลิงดึงส่วนประกอบแต่ละชิ้นมาต่อกัน เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดจากความไม่เสถียรระหว่างก่อสร้าง ส่วนจุดที่เสาขาด คาดว่ารับน้ำหนักมากเกินไป

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะมีการก่อสร้างลักษณะนี้มากมายในกรุงเทพมหานครโดยไม่ต้องปิดพื้นที่ และไม่เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้ ต่อไปต้องคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เบื้องต้นอาจต้องปิดพื้นที่บริเวณเกิดเหตุ 3-4 วัน และคาดว่าจะรู้สาเหตุภายในคืนนี้ สำหรับผู้บาดเจ็บ ณ เวลานี้ ได้รับแจ้ง 8 คน เสียชีวิต 1 คน ยังไม่มีรายงานผู้สูญหาย ปัจจุบัน ได้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง เป็นผู้บัญชาการเหตุ

'ดร.เอ้' ย้อนข้อความปี 65 กรณีสะพานข้ามแยกลาดกระบังถล่ม  'พบข้อบกพร่อง-เคยเตือนแล้ว' เสียใจที่สุด ที่ต้องมีผู้สูญเสีย

(11 ก.ค. 66) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รีโพสต์เนื้อหาที่ได้เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 และ 9 ส.ค. 65 หลังจากเกิดเหตุสะพานข้ามแยกทรุดตัว บริเวณหน้าโลตัสลาดกระบัง ถ.หลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง เมื่อเวลา 18.08 น. และในเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย โดยระบุว่า...

“เสียใจที่สุด เพราะผมเคยเตือนไปแล้ว ไม่น่าเลย สุดท้ายต้องมีคนสูญเสียชีวิต จนได้”

ส่วนเนื้อหาที่ ดร.สุชัชวีร์ เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 ระบุถึงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ที่อยู่ในโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังเอาไว้ ว่า...

"กลับบ้านวันศุกร์ ไม่สุข ไม่ปลอดภัย" 

ผมขอแสดงความเป็นห่วงจากใจ โครงการก่อสร้างสะพานข้าม ถนนอ่อนนุช-หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง เห็นปัญหาชัดเจน

1. เครื่องจักรใหญ่ทำงาน ไม่มีแนวป้องกัน เสี่ยงอุบัติเหตุของหล่น ประชาชนเดือดร้อนทเสี่ยงชีวิต
2. ถนนยุบจากการก่อสร้าง เสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ของเด็กนักศึกษา ห่วงจริงๆ
3. รถติดสาหัส เพราะก่อสร้างกินพื้นที่ บางช่วงก่อสร้างเสร็จแล้ว ต้อง คืนพื้นที่ให้ประชาชนผู้สัญจรได้

เพราะอุบัติเหตุจากการก่อสร้างสะพาน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครั้งมีผู้เสียชีวิต มีทรัพย์สินเสียหาย

ขออย่าให้เกิดที่ใด กับใคร อีกเลยครับ เป็นห่วงจริงๆ ครับ

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 65 อีกด้วย ระบุว่า... 

ด้วยความห่วงใย การก่อสร้างสะพาน ต้องมีมาตรฐาน

นั่งรถผ่านโครงการก่อสร้างสะพานถนนลาดกระบัง-อ่อนนุช ทุกวัน เห็นแล้วอดเป็นห่วงไม่ไดั ยิ่งวันนี้เห็นตั้งนั่งร้านทำงาน มีงานเทปูน หล่อเสาตอม้อ ชิดริมถนน แล้วกังวลแทน กลัวพังลงมา 

จากประสบการณ์หลายปี ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการวิบัติ การก่อสร้างโครงสร้างสะพาน มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขณะทำงาน กรณีดังนี้...

1. "นั่งร้านคนงานพัง" เนื่องจากทั้งดินอ่อนรับน้ำหนักนั่งร้านไม่ได้ หรือ ไม่ได้ค้ำยันกับโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทำให้คนงานบาดเจ็บและเสียชีวิตบ่อยครั้ง 

2. "ไม้แบบรองรับการเทคอนกรึตเสาและคานพัง" เพราะรับน้ำหนักขณะเทคอนกรีตไม่ได้ หรือ เทผิดจังหวะทำให้ไม้แบบเอียงพัง หรือ เสาค้ำยันไม้แบบวางบนดินอ่อนเกิน ก็พังพาบลงมา 

3. "คานหล่น" ขณะติดตั้ง เนื่องจากหลุนจากเครนยก หรือ หล่นขณะวางพาดบนเสา หลายครั้งลงมาใส่รถที่สัญจร อยู่ข้างล่าง 

4. "เครนล้ม" บางกรณีใช้เครนไม่ถูกขนาด เล็กเกินไปที่จะยกโครงสร้างน้ำหนักมาก บ่อยครั้งพลิกคว่ำ เป็นอันตรายทั้งคนขับเครน และคนงานในพื้นที่ 

ดังนั้นการทำงานก่อสร้างสะพาน ต้องทำงานตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เคร่งครัด และต้องระมัดระวังตลอดเวลา 

ไม่ใช่เรื่องยากครับ และไม่ได้ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมอะไรมาก ดีกว่ามาแก้ไขที่หลัง หลายอย่างทดแทนคืนไม่ได้ 

ผมแนะนำด้วยความห่วงใยจริงๆ ครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top