Tuesday, 13 May 2025
NEWS FEED

‘มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์’ บริจาคเครื่องผลิตออกซิเจน 10 เครื่อง ใช้ดูแลผู้ป่วย ใน รพ.สมเด็จพระยุพราช จอมบึง ราชบุรี

(21 มิ.ย. 67) นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ มอบเครื่องผลิตออกซิเจน ขนาด 5 ลิตร จำนวน 10 เครื่อง มูลค่าเครื่องละ 27,600 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 276,000 บาทให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมี แพทย์หญิง ผกาพันธ์ เปี่ยมเคล้า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง และคณะ เป็นผู้รับมอบ ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า สำหรับเครื่องผลิตออกซิเจนที่นำมามอบให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึงในวันนี้ เป็นเครื่องมือบริการทางการแพทย์ ที่ทางมูลนิธิได้รับบริจาคจากนางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ โดยเครื่องผลิตออกซิเจนจำนวน 10 เครื่องที่นำมามอบในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องที่ได้ร่วมกับคณะกรรมการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา นำไปมอบให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ 

โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อไว้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ ตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิที่สนับสนุนด้านสาธารณสุขของประเทศ

ด้าน แพทย์หญิง ผกาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง กล่าวว่า ในนามโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึงต้องขอขอบคุณ คุณเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์เป็นอย่างสูงที่ได้มอบเครื่องผลิตออกซิเจนให้กับโรงพยาบาลในวันนี้ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ที่ดูแลประชากร 65,000 คน และมีโครงการถวายการดูแลสุขภาพให้กับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้นำทางศาสนา 72,000 รูป เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยหวังว่าเครื่องผลิตออกซิเจนที่ได้รับจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิต่อไป

‘บ.ผลิตรถชื่อดัง นิคมแหลมฉบัง’ ปลดพนง.ซับยกล็อต ทำงานวันสุดท้าย 22 มิ.ย.นี้ ทั้งที่ช่วงปีใหม่เพิ่งรับคน

(21 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของไทย นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง สั่งปลดพนักงานซับทั้งหมดอย่างกะทันหัน หลังจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์บอกเล่าเรื่องราวลงในกลุ่ม ‘A1หางาน อีสเทิร์นฯ เหมราช ปลวกแดง บ่อวิน อมตะซิตี้ V.2’ โดยในเนื้อความระบุว่า... 

“ วันที่ 22 มิถุนายน 2567 นี้ ทำงานวันสุดท้าย ที่บริษัท… มอเตอร์ส นิคมแหลมฉบัง ประกาศเตรียมปลดพนักงานซับทั้งหมด เลิกจ้างกะทันหัน ขอเป็นกำลังใจให้พนักงานซับทุกคน สู้ ๆ กันต่อไปนะครับ ”

หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก และบางรายก็คอมเมนต์ด้วยว่า “ได้ยินว่าไม่ใช่แค่แหลมฉบังหรอกครับที่จะปลด ในสยามก็จะปลดครับ, เห็นรับคนช่วงหลังปีใหม่มาไม่นานนี้เองปลดซะแล้ว, ฯลฯ ”

พิษณุโลก มทบ.39 ตรวจความพร้อมการบรรเทาสาธารณภัย เตรียมรับมือเหตุอุทกภัยในปี 2567

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 1000 พลตรี กฤษณะ ภู่ทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 / ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 39 พร้อมคณะผู้บังคับบัญชา ให้การตรวจเยี่ยมการตรวจสภาพความพร้อมของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 โดย กองร้อยบรรเทาสาธารณภัยและส่วนสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ณ ลานด้านหน้ากองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เพื่อตรวจสอบโครงสร้างและประเมินขีดความสามารถของกำลังพลในการรองรับสถานการณ์อุทกภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว ในด้านต่างๆ อาทิ การใช้ยุทโธปกรณ์, การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ, การทำลายสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดเส้นทาง, การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR) และการสนับสนุนรถครัวสนาม - รถน้ำ เป็นต้น โดยได้จำลองสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก – ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก สาธิตการปฏิบัติแบบเสมือนจริง และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 ได้มอบแนวทางและข้อห่วงใยแก่กำลังพลทุกนาย โดยเน้นย้ำเรื่องของความปลอดภัย ความถูกต้องเป็นสำคัญ

ซึ่ง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 มีขีดความสามารถทั้งด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ในการร่วมสนับสนุนศูนย์บัญชาการประจำพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ ในพื้นที่รับผิดชอบทั้งจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย หน่วยงานต่างๆ สามารถขอรับการสนับสนุนผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดพิษณุโลก (ฝ่ายทหาร)

หรือสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 โทรศัพท์ 055 – 906450, 055 – 244529

ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 
ศูนย์ประชาสัมพันธ์มณฑลทหารบกที่39 

‘เอ็มเคสุกี้’ ออกแถลงการณ์ ปมลูกค้าแพ้อาหารจนต้องแอดมิต เข้าเยี่ยม-ติดตามอาการใกล้ชิด พร้อมรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมด

(21 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ลงในกลุ่ม 'พวกเราคือผู้บริโภค' เผยว่าได้พาครอบครัวไปรับประทานสุกี้เจ้าดังแห่งหนึ่ง ซึ่งทางครอบครัวรับประทานกันเป็นประจำ โดยเมนูสั่งมาคือ ‘ลูกชิ้นปู’ กับ ‘หมูทรงเครื่อง’ เมื่อรับประทานไปได้สักระยะลูกชายเริ่มมีอาการไอและอาเจียน พูดไม่มีเสียง ตนจึงรีบเช็กบิลและพาลูกส่งรพ.เอกชนที่ใกล้เคียงที่สุด เมื่อมาถึงหมอแจ้งว่าดีนะที่มาไว หากช้ากว่านี้สัก 2-3 นาทีลูกชายอาจจะหายใจเองไม่ได้แน่ เพราะว่าตอนที่มาถึงหลอดลมตีบมาก แต่หมอและพยาบาลได้ช่วยจนได้พ้นขีดอันตราย

ล่าสุด MK Restaurants บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ออกหนังสือชี้แจงระบุว่า…

“เรื่อง ชี้แจงความคืบหน้ากรณีลูกค้าแพ้อาหารในร้านอาหาร MK Restaurants”

“จากกรณีลูกค้าแพ้อาหารที่เกิดขึ้น ทางบริษัทรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ครั้งนี้ หากทราบข้อมูลการแพ้อาหารก่อนรับประทาน ทางบริษัทสามารถตรวจสอบส่วนผสมในอาหารทุกรายการอย่างละเอียด และให้ข้อมูลกับลูกค้าก่อนสั่งอาหารได้”

“ทั้งนี้ ทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ดำเนินการติดตามอาการของลูกค้าตั้งแต่ขณะรับประทานที่ร้าน จนถึงโรงพยาบาล เข้าเยี่ยมติดตามอาการด้วยกระเช้าดอกไม้และมื้ออาหารสำหรับผู้ปกครองเฝ้าไข้ และดูแลลูกค้าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์อย่างเต็มที่ โดยทางร้านได้ติดต่อกับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว” 

“ในส่วนของมาตรการของบริษัทในการป้องกันการแพ้อาหารของลูกค้า ทางบริษัทได้มีการจัดกลุ่มการแพ้อาหารกลุ่มหลัก โดยระบุข้อมูลในรายการอาหารทั้งหมด พร้อมคำแนะนำในเมนู หากลูกค้าแพ้อาหารชนิดใดสามารถแจ้งพนักงานเพื่อตรวจสอบส่วนผสมในรายการอาหารที่ลูกค้าต้องการสั่งได้ อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทตั้งใจที่จะปรับปรุงมาตรการให้ดีขึ้นเพื่อดูแลลูกค้าอย่างดีต่อไป”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ตทัพฟ้าคู่ไทยเพื่อ “ชัยพัฒนา” ครั้งที่ 15

กองทัพอากาศได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เสด็จฯ เป็นองค์ประธานทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ตทัพฟ้าคู่ไทยเพื่อ “ชัยพัฒนา” ครั้งที่ 15 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

โดยมี พลอากาศเอก พันธ์ภักดี  พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วย คุณมนทิรา  พัฒนกุล นายกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนมูลนิธิชัยพัฒนา และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ เฝ้ารับเสด็จฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2567 โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี  พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตทัพฟ้าคู่ไทยเพื่อ “ชัยพัฒนา” เพื่อสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา จากนั้นทรงพระราชทานเงินรายได้และของที่ระลึกแก่ นายสุเมธ  ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กองทัพอากาศได้จัดการแสดงคอนเสิร์ตทัพฟ้าคู่ไทยเพื่อ “ชัยพัฒนา” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รวม 14 ครั้ง เพื่อนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนโครงการพัฒนาอื่น ๆ โดยมีพระราชปณิธานเพื่อให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่อาณาประชาราษฎร์ คอนเสิร์ตทัพฟ้าคู่ไทยเพื่อ “ชัยพัฒนา” ครั้งที่ 15 มี พลอากาศเอก ชัยนาท  ผลกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ เป็นประธานกรรมการอำนวยการจัดคอนเสิร์ตฯ และ นาวาอากาศเอก ชยกร  โชติพิทยานนท์ ผู้บังคับการกองดุริยางค์ทหารอากาศ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เป็นผู้อำนวยการฝึกซ้อม ทั้งนี้ ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “THE WIND BENEATH MY WINGS” ซึ่งสื่อความหมายถึงความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศเกิดจากข้าราชการ นักเรียนทหาร ทหารกองประจำการ และครอบครัวที่เป็นส่วนสำคัญสนับสนุนให้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จ โดยเป็นการแสดงศักยภาพทางดนตรีของวงซิมโฟนีออร์เคสตรากองทัพอากาศ (The Royal Thai Air Force Symphony Orchestra) ซึ่งประกอบด้วยนักดนตรี และคณะนักร้องหมู่ประสานเสียงกว่า 180 คน คอนเสิร์ตครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศิลปินรับเชิญที่มีชื่อเสียง ได้แก่ คุณนันทิดา  แก้วบัวสาย คุณศรราม  เอนกลาภ คุณอิสรพงศ์  ดอกยอ และคุณณัฐวดี  พวงสุวรรณ ร่วมขับร้องบทเพลงต่าง ๆ ได้อย่างน่าประทับใจ สำหรับการแสดงในครั้งนี้บรรเลงและขับร้องบทเพลง โดยแบ่งการแสดงออกเป็น 2 ภาค ภาคแรก เป็นการบรรเลงเพลง GUARDIAN OF THE SKY  บทเพลงจะแบ่งออกเป็น ๔ ท่อน ที่บรรเลงต่อเนื่องกัน

โดยมีอารมณ์เพลงและท่วงทำนองที่แตกต่างกันออกไป ต่อเนื่องด้วยเพลงเหาะ (ดำเนินเวหา) บรรเลงโดยวงซิมโฟนีออร์เคสตรากองทัพอากาศ ประกอบการร้องประสานเสียงและฆ้องไทย 5 วง เพลงสองฝั่งโขง เพลงยอยศพระลอ เป็นการบรรเลงประกอบดนตรีไทย และปิดท้ายด้วยเมดเลย์ลูกทุ่ง ภาคที่สองเริ่มด้วยบทเพลงทรายกับทะเล และเพลง WIND BENEATH MY WINGS ต่อเนื่องด้วย เพลง I DREAMED A DREAM เพลงศรพระราม เพลง CIRCLE OF LIFE & HE LIVES IN YOU จากนั้นเป็นการขับร้องเพลงดุจบิดามารดร ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับสองเพลงสุดท้ายเป็นการขับร้องหมู่ร่วมกับวงซิมโฟนีออร์เคสตรากองทัพอากาศ ประกอบด้วย เพลงในหลวงของแผ่นดิน และเพลงแด่เธอ ซึ่งเป็นการนำเสนอสื่อความหมายถึงการขอบคุณผู้ที่เสียสละในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ เพื่อกองทัพอากาศและประเทศชาติ

#กองทัพอากาศ

เชียงใหม่-สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ จัดงานวัน”มัคคุเทศก์ไทย ประจำปี 2567”

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 9.00 น. ณ วิหารหลวง วัดสวนดอกพระอารามหลวง   สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ จัดงานวันมัคคุเทศก์ไทย ประจำปี 2567  โดยมี นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี นางพิกุล เรืองไชย นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ กล่าวรายงาน ถึงความสำคัญของวันมัคคุเทศก์ พร้อมด้วย รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ นายกสมาคมในภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ทุกสมาคม  มัคคุเทศก์ทุกๆภาษา และแขกผู้มีเกียรติร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า "วันมัคคุเทศก์ไทย" ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันประสูติของ พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยตลอดพระชนม์ชีพ ท่านทรงรับราชการ ประกอบพระกรณียกิจด้วยพระปรีชาสามารถ และด้วยความอุตสาหะ ได้ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเชษฐา ได้ตรัสชมว่าทรงเป็นเสมือน "เพชรประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ"พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นอัจฉริยะบุรุษ ทรงประกอบพระเกียรติคุณเป็นอันมาก 

ในด้านการศึกษา ทรงเป็นองค์ปฐมอธิบดีกรมศึกษาธิการ ในด้านการปกครอง ทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นองคมนตรี อีกทั้งทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นใน ด้านการต่างประเทศ ด้านการสาธารณสุข ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ทรงได้รับพระสมัญญานามเป็น "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย" และ "พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย" และที่น่าภาคภูมิใจอย่างที่สุดในนามปวงชนชาวไทย คือ พระองค์ได้รับการสดุดีจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่องพระเกียรติระดับโลกนี้

การจัดงานในวันมัคคุเทศก์ไทยนี้ นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ทางสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสมาคม มัคคุเทศก์ในประเทศไทย ที่มีความโดดเด่นในการจัดงานเพื่อรำลึกถึงท่านตลอดมา และจัดต่อเนื่องอย่างสมพระเกียรติตลอดทุกปี การจัดงานในวันนี้จึงเป็นการแสดงออกของสมาชิกมัคคุเทศก์จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความกตัญญูรู้คุณ แสดงความรำลึกถึงองค์พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย ผู้มีคุณูปการต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ได้สร้างรายได้สำคัญให้กับประเทศ และประชาชนคนไทยหลายภาคส่วน

นางพิกุล เรืองไชย นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ กล่าวว่า ด้วยในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2505 ครบรอบ 100 ปีชาตกาล องค์การยูเนสโก ได้ถวายสดุดีพระองค์เป็น บุคคลสำคัญของโลก และเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับตำแหน่งนี้ ได้รับการขนานนามว่า "บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย" นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้กำหนด วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันดำรงราชานุภาพ" และในปี พ.ศ.2549 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ยกย่องพระองค์เป็น "พระบิดามัคคุเทศก์ไทย"

สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ ได้เห็นความสำคัญในบทบาทของ มัคคุเทศก์ไทยซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่ทำรายได้หลักเข้าสู่ประเทศ จึงได้ดำเนินการจัดงานวันมัคคุเทศก์ไทย ต่อเนื่องทุกปี เป็นวาระและภารกิจสำคัญที่สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ได้ตั้งปณิธานยึดมั่นในการดำเนินงาน และสานต่อสืบไป เพื่อตระหนักถึงความสำคัญแห่งพระบิดามัคคุเทศก์ไทย ผู้มีคุณปการต่อการท่องเที่ยวไทย และเป็นผู้มีอัจฉริยภาพมองการณ์ไกลในการค้นคว้าข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ซึ่งมัคคุเทศก์ไทยได้ใช้ตำราของพระองค์ท่านเป็นข้อมูลบรรยายการนำเที่ยวมาถึงทุกวันนี้ 

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงในพระกรุณาธิคุณแห่งองค์พระบิดามัคคุเทศก์ไทย พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้มีคุณูปการต่อการประสิทธิ์ประสาทตำราวิชาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และองค์ความรู้หลากหลายให้กับมัคคุเทศก์ไทย ซึ่งมัคุเทศก์ได้ศึกษาค้นคว้าเจริญรอยตามพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน

การจัดกิจกรรมวันมัคคุเทศก์ เป็นการน้อมถวายความกตัญญต่อองค์บิดามัคคุเทศก์ไทยอย่างหาที่สุดมิได้ โดยในภาคเช้าเป็นส่วนของพิธีการ การวางพานพุ่ม พิธีสงฆ์และในภาคบ่ายเป็นการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในบริเวณวัดสวนดอก พระอารามหลวง กวาดลานวัด ทำความสะอาด บริเวณวัด ห้องน้ำ และจุดสำคัญอื่นๆอีกด้วย

พัฒนชัย/เชียงใหม่

“นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต Medical Sciences Innovations: From Lab to Life”

สิ้นสุดลงไปแล้วสำหรับงานงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 โดยนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดขี้นโดยมีแนวคิดหลักคือ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต Medical Sciences Innovations: From Lab to Life” ในระหว่างวันที่ 5 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี 

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นประธานเปิดการประชุม วิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 และทรงพระราชทานพระดำรัสเปิดการประชุม พระราชทานโล่ที่ระลึก แก่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์รุ่นใหม่ DMSc Award อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ระดับชาติ โดยมีคณะผู้บริหาร กระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารและบุคลากรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บุคลากรจากหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณุสข รวมถึงคณะบุคคลจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ และร่วมพิธีเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์  ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่มเมืองทองธานี วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายสุขภาพด้านต่างประเทศและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานวิชาการให้มีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย

สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วยการสัมมนาทางวิชาการ การเสวนาโดยวิทยากรจากชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ เรื่องการเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดการควบคุมการติดเชื้อ โดย ดร.โยชิฮารุ มัตสึอุระ ศูนย์การศึกษาและการวิจัยโรคติดเชื้อ (CiDER) สถาบันวิจัยโรคจุลินทรีย์ (RIMD)มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ความหลากหลายของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในเอเชีย โดย ดร.ยูกิฮิโระ อาเคดะ ผู้อำนวยการภาควิชาแบคทีเรียวิทยา สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น

การใช้ CAR-T Cell ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด โดย ศ.นพ.เจียนเซียง หวาง รองผู้อำนวยการสถาบันโลหิตวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน, ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรงพยาบาลโรคเลือด,ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติโลหิตวิทยา ประเทศจีน

การควบคุมกำกับการใช้ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงโมโนโคลนอลแอนติบอดีในการรักษาโรคไข้เลือดออก โดย ดร.เพ็ดดี เรดดี้ และ ดร.อนิรุธา โปเตย์ จากสถาบันเซรุ่มอินเดีย

นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์จากโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช,โรงพยาบาลราชวิถี,โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่จะมาบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านการรักษา การศึกษาวิจัย 

รวมทั้งยังมีภาคเอกชนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ เช่น เรื่อง เถ้าแก้น้อย "วัยรุ่นพันธุ์แลปสู่นวัตกรรมพันล้าน" โดย ดร.วิสุทธิ์ วีระกุลพิริยะ จาก บริษัท เถ้าแก่น้อยฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) และยังมีหน่วยงานอื่นๆที่น่าสนใจอีกหลายหน่วยงาน
การนำเสนอและประกวดผลงานทางวิชาการ

ในงานมีการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักวิชาการได้มีเวทีนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์โดยเฉพาะในปีนี้นอกจากงานวิชาการในเชิงลึกแล้ว มีการเปิดเวทีให้งานประเภท Routine to Research ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในงานประจำ มาร่วมนำเสนอผลงานด้วย

การจัดงานครั้งนี้มีผลงานที่ส่งเข้าร่วม 426 เรื่องแบ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิชาการ การนำเสนอด้วยวาจา 47 เรื่อง โปสเตอร์ 211 เรื่อง R2R 168 เรื่องและการนำเสนอผลงานทางวิชาการของผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น และผู้ได้รับรางวัล DMSc award ตลอดจน อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนระดับชาติ

การแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อให้ที่ผู้สนใจเข้าร่วมงานได้เยี่ยมชมความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน อาทิ
- บูทนิทรรศการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แสดง  
  ผลงานดังนี้
* ด้านชันสูตรโรค แสดงการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้านโรคติดเชื้อโรคไม่ติดเชื้อและโรคทางพันธุกรรมในทุกช่วงวัยของคนไทย (เกิดจนตาย) ตลอดจนการวิจัยพัฒนาและการให้บริการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง: Advanced therapeutic medicinal products
* ด้านคุ้มครองผู้บริโภค จัดแสดงการคุ้มครองผู้บริโภคใส่ใจทุกช่วงวัยของชีวิต
* ด้านสมุนไพร แสดงกระบวนการวิจัยพัฒนาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร
* ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน แสดงงานวิทยาศาสาตร์การแพทย์ชุมชนจากแล็บสู่คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชน โดยการดำเนินการของ อสม.นักวิทย์และศูนย์แจ้งเตือนภัย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP/SME ด้านอาหารและเครื่องสำอางจากสมุนไพร

- นอกจากนี้ยังมีบูทจากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนอื่นๆอีกกว่า 100 บูท อาทิองค์การเภสัชกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หน่วยชีวสนเทศทางการแพทย์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท Engine Life คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เอส เอ็มอี ฯลฯ ที่จะมาจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ร่วมงาน

และในงานนี้ได้รับความสนใจจาก เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้าร่วมงานและเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และสำหรับในส่วยของเภสัชและนักเทคนิคการแพทย์สามารถเก็บสะสมคะแนนการศึกษาต่อเนื่องได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่….
โทรศัพท์ : 0 29510000
เว็บไซต์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ : www.dmsc.moph.go.th
FB : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

โฆษก สธ. เผย อีก 42 จังหวัดลงประกาศราชกิจจา อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ให้บริการตามนโยบาย '30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว' หลังนำร่องไปแล้ว 4 จังหวัด

นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังจากนำร่องไปแล้วเฟสแรก 4 จังหวัดและคิกออฟไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 และเฟสสอง เฟสสามตามลำดับ ยังต้องใช้เวลาในการเตรียมการอยู่อีกหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่ได้แบ่งจังหวัดในการเริ่มนโนบายเป็น 4 ระยะ โดยขณะนี้เป็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการระยะที่ 4 ใน ซึ่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ จะครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ 

“การขับเคลื่อนที่ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาฯ นั้น การเริ่มให้บริการขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอีกครั้ง แต่ทั้งนี้จะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ คือจะครอบคลุมทั้งประเทศภายในปีนี้ สำหรับในส่วนของพื้นที่ กทม. นั้น ด้วยเป็นพื้นที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่ รวมถึงจำนวนหน่วยบริการที่มีจำกัด ไม่มีเพียงพอ ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม. จึงกำหนดเป็นนโยบาย“บัตรประชาชนใบเดียว ไปปฐมภูมิได้ทุกแห่ง” ที่ประชาชนเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยให้เริ่มต้นไปรับบริการที่หน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขที่สะดวกก่อน แต่หากไม่ดีขึ้นก็ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำของท่าน แต่หากเกิดขีดความสามารถในการดูแลโดยหน่วยบริการประจำ ก็จะมีระบบส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพต่อไป โดยประชาชนสามาถสังเกตป้ายคลินิกปฐมภูมิ 7 วิชาชีพได้แก่ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่นและร้านยา

ขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. ได้ร่วมมือกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ในการเชิญชวนสถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบเพื่อให้บริการประชาชนตามนโยบาย โดยจากข้อมูล ล่าสุดมีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขใน กทม. จำนวน 1,135 แห่งแล้ว ประกอบด้วย คลินิกชุมชนอบอุ่น 134 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น 38 แห่ง คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 89 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น 20 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น 12 แห่ง ร้านยาชุมชนอบอุ่น 830 แห่ง และคลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น 13 แห่ง โดยประชาชนในต่างจังหวัดสามารถเข้าไปดูรายละเอียดหน่วยบริการเอกชนได้ที่ลิ้งค์ของสปสช. https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-pilot-provinces 

“สปสช.เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้สถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา ที่กระจายอยู่ในเขตต่างๆ มาร่วมสมัครเพื่อให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ กับ สปสช. ซึ่งทันทีที่ได้จำนวนตามเป้าหมายแล้ว จะมีการเปิดตัวการให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ให้ประชาชนรับทราบต่อไป” โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

‘รร.ราชินีวิพัฒน์ ฉะเชิงเทรา’ ประกาศเลิกกิจการถาวร หลังประสบวิกฤตนักเรียนใหม่น้อย-ไม่ได้ยอดตามเป้า

เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย. 67) ผู้สื่อรายรายงานว่า โรงเรียนราชินีวิพัฒน์ ออกประกาศ ‘เลิกกิจการ’ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของทางโรงเรียน หลังเผชิญวิกฤต ‘จำนวนเด็กนักเรียนน้อย’ โดยเนื้อความในประกาศชี้แจงรายละเอียดดังนี้

‘ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโรงเรียนราชินีวิพัฒน์ ครั้งที่ 4/2566 วันที่ 27 เมษายน
2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้เลิกกิจการโรงเรียนราชินีวิพัฒน์ เมื่อสิ้นปีการศึกษา 2566 เนื่องจากโรงเรียน ประสบปัญหาจำนวนนักเรียนไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ ประกอบกับไม่มีนักเรียนประสงค์ศึกษาต่อในปีการศึกษา 2567’

‘โรงเรียนราชินีวิพัฒน์จึงได้ดำเนินการแจ้งขอเลิกกิจการโรงเรียนต่อสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
ฉะเชิงเทรา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขอประกาศเลิกกิจการโรงเรียนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป’

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ พระราชทานพระราชวโรกาส ‘ครู-นักเรียน’ เข้าเฝ้า ก่อนเดินทางร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ประจำปี 2567

เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

“วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นำนักเรียนที่จะเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ประจำปี ๒๕๖๗ พร้อมด้วยคณาจารย์และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา”

“ต่อจากนั้น ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๖๗ ของคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top