Saturday, 27 April 2024
ECONBIZ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ฝากบัญญัติ 10 ประการ รัฐบาลใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจไทย โตก้าวกระโดดครึ่งปีหลัง

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 24 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า... 

ประเทศไทยปีนี้น่าจะไปได้สวย เมื่อต้นปีเราเชื่อมั่นว่าในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวและเอื้ออำนวยต่อการเติบโตต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกก็เปลี่ยนไปเมื่อเศรษฐกิจจีนใน Q2 เริ่มมีอัตราเติบโตลดน้อยลง ทำให้หลายคนที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวผิดหวังไปตามๆ กัน  แต่ผมยังเชื่อว่าในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจไทยยังคงดีอยู่ จากเงินเฟ้อที่แม้จะมีอัตราสูงขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ในปีนี้มีแนวโน้มชะลอลงอย่างชัดเจน รวมถึงแรงกดดันที่ส่งผลให้ธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นมีลดน้อยลง 

ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ก็จะมีทั้งดีและไม่ดี อย่างในช่วง Q1 ไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่พอมาใน Q2 นักท่องเที่ยวเริ่มซาลง แต่เมื่อสรุปโดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในครึ่งปีแรก 12 ล้านคน นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็กลับมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งตัวเลขการส่งออกของไทยติดลบทุกเดือน จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง เราเคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี น่าจะโตได้ 3%  โดยครึ่งแรกปีคาดเติบโตประมาณ 2.2 % เมื่อเทียบเคียงกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งหมายความว่าช่วงครึ่งหลัง เศรษฐกิจไทยควรเติบโตมากกว่า 4% ซึ่งผมเชื่อมั่นว่ายังเป็นไปได้ 

สำหรับรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ อ.พงษ์ภาณุ ได้ฝากบัญญัติ 10 ประการ ที่อยากให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนไว้ดังนี้…

1.การใช้นโยบายการคลังที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (Fiscal Stimulus) 
2.ธนาคารแห่งประเทศควรชะลอการขึ้นดอกเบี้ย 
3.เตรียมแผนรับมือเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ 
4.ให้ความสำคัญกับความถดถอยของภาคอุตสาหกรรม ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และภาคส่วนอื่นๆ 
5.ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน 
6.การปฏิรูปการคลังและภาษี 
7.ให้ความสำคัญกับมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อน 
8.ยกระดับการลงทุนของประเทศ 
9.การใช้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 
และ 10.ผลักดันการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

‘รมว.กต.ไทย-ซาอุฯ’ เร่งสานต่อพลวัตรความร่วมมือทวิภาคี ส่งเสริมด้านการศึกษา-ท่องเที่ยว หนุนความสัมพันธ์ภาค ปชช.

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 66 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อาล ซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA 78)

ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะสานต่อพลวัตความร่วมมือทวิภาคีไทย-ซาอุดีอาระเบีย ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์เมื่อปี 2565 โดยยินดีที่จะได้มีโอกาสพบหารือกันอีกในห้วงการประชุม ASEAN – GCC Summit ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ที่กรุงริยาด และการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดีฯ – ไทย (STCC) ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางการ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน อาทิ การใช้ระบบ e-Visa ของซาอุดีอาระเบีย การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทย และการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างซาอุดีอาระเบียกับภูเก็ต

'กรมทางหลวง' อัปเดต!! เอกชนประมูลชิงที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์สาย 7 เตรียมยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ปลายเดือน พ.ย.นี้ รู้ผลต้นปี 67

สรุปผลการจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ สาย 7 ของกรมทางหลวง เอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

กรมทางหลวงปิดการจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ สาย 7 เป็นที่เรียบร้อย โดยมีภาคธุรกิจเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วมซื้อเอกสารฯ ดังกล่าว กำหนดยื่นข้อเสนอ 22 พฤศจิกายน 2566 และคาดว่าจะสรุปผลการคัดเลือกเอกชนต้นปี 67

​นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้ออกประกาศเชิญชวนโครงการร่วมลงทุนสำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร - บ้านฉาง จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วยโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง และได้จำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) ของทั้ง 2 โครงการพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน 2566 ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฏว่ามีเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจซื้อเอกสารฯ ดังกล่าว เพื่อนำไปศึกษารายละเอียดสำหรับการเตรียมจัดทำข้อเสนอ การร่วมลงทุน สรุปได้ดังนี้ 

​โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา มีผู้สนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย  

1. บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด  
2. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มหาชน  
3. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  
4. บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด  
5. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  
6. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด  
7. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)​

โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง มีผู้สนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย

1. บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด  
2. บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด  
3. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  
4. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด
5. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)  

ขั้นตอนต่อไป กรมทางหลวงได้กำหนดให้มีการจัดประชุมชี้แจงโครงการ (Pre-Bidding Meeting) ในวันที่ 27 กันยายน 2566 เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ ที่เอกชนควรทราบ พร้อมจัดกิจกรรมเยี่ยมชมโครงการ (Site Visit) ในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จในต้นปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาและเริ่มต้นก่อสร้างช่วงกลางปี 2567 เพื่อเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 ต่อไป

สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยกรมทางหลวงจะส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงมีหน้าที่บริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษาโครงการฯ ตลอดจนเป็นผู้มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการฯ โดยต้องชำระค่าตอบแทนให้กรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 32 ปี แบ่งเป็นงาน 2 ระยะ ดังนี้ 

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง เอกชนมีหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างองค์ประกอบและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมถึงจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงการบริหารจัดการโครงการฯ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่
👍Website : www.doh.go.th
👍Facebook : @departmentofhighway
👍Twitter : @prdoh1
👍TiKTOK  : https://www.tiktok.com/@doh.thailand 

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ชี้!! Delivery รายเล็กน่าห่วง หาก Food Panda ขายกิจการในไทยให้ Grab

(23 ก.ย.66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' เกี่ยวกับกรณี Food Panda เตรียมขายกิจการในไทยและอาเซียนให้ Grab โดยระบุว่า...

"Grab ซื้อกิจการ Food Panda ในไทย ฝาก ท่านคณะกรรมการ กขค พิจารณาด้วยครับ"

ทั้งนี้ เมื่อมีคำถามว่าซื้อไม่ได้หรืออย่างไร? เพราะอะไร? นายพลัฏฐ์ กล่าวว่า "ก็ต้องดูสัดส่วน ส่วนแบ่งตลาด ว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่" พร้อมทั้งชี้ให้เห็นด้วยว่า "หากขายให้รายอื่น เช่น Robinhood, Line Man จะไม่น่ากังวล เช่นนี้ แต่ถ้าหากขายให้คนตัวใหญ่สุด จะกลายเป็น Grab มีอำนาจเหนือตลาดไปในทันที"

‘พาณิชย์’ เตรียมหาวิธีสร้างตลาดรัศมี 4 กม. รับมาตรการเงินดิจิทัล 10,000 บ. หวังงัด ‘ร้านธงฟ้า-รถพุ่มพวง’ อุดช่องว่าง สร้างจุดกระจายสินค้าให้ปชช.เข้าถึง

(23 ก.ย.66) การเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital wallet เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจของประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง กลายเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลตอนนี้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าที่จะ ‘ใส่เงิน’ เข้าไปในระบบเศรษฐกิจทั่วประเทศให้ถึงรากหญ้าในรัศมี 4 กม. ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐบาลทุกหน่วยงานจะต้องสนับสนุนและร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริงภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

>> เร่งด่วน Digital Wallet

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ว่า ได้ให้นโยบาย ‘เติมเงิน 10,000 บาท’ กับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายใหญ่ของรัฐบาลที่จะใช้กระตุ้น และเป็นเครื่องมือช่วยกระตุกเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ช่วยเรื่องของกำลังซื้อให้มีความแข็งแรงขึ้น เมื่อมีกำลังซื้อที่แข็งแรงก็จะนำไปสู่เรื่องของการผลิต และให้ผู้ประกอบการได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ในเรื่องของการนำวัตถุดิบเข้ามาเสริม เพื่อรองรับความต้องการของตลาด

“เมื่อนโยบายนี้เกิดขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนได้หลายรอบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของการตัดสินใจ โดยใช้งบประมาณก้อนใหญ่ถึง 570,000 ล้านบาท ให้เกิดการหมุนเวียนภายในระยะเวลา 6 เดือน ถ้าเกิดการกระตุ้นจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพอสมควร หากเงินที่ให้ไปใช้ไม่หมดก็นำกลับคืน หากใช้หมดก็หมดไป

เพราะเท่ากับว่าเป็นการจับจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะหากงบประมาณนี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะเกิดการหมุนเวียนและก่อให้เกิดรายได้หลายทาง และรายได้นี้ก็จะนำไปสู่การดูแลในนโยบายอื่น เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจก็จะเกิดการขยายตัว เพราะภายใน 4 ปีสามารถดำเนินการได้ก็จะก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชน” นายภูมิธรรมกล่าว

>> ฟื้นธงฟ้า-รถพุ่มพวง

เรื่องนี้กรมการค้าภายในจะต้องเตรียมการ ซึ่งได้มอบนโยบายไปว่า รัฐบาลจะมีงบประมาณออกมา และเกิดการกระจายรายได้ โดยมีข้อผูกพันว่า ต้องใช้ภายในพื้นที่ 4 กิโลเมตร แต่หากผู้ได้รับอยู่ในพื้นที่นอกเขต หรือชาวเขา รัฐบาลก็สามารถยืดหยุ่นขยายพื้นที่ออกไปได้ “ไม่เป็นไร เราไม่ได้กำหนดว่า 4 กิโลเมตรแล้วทำให้ประชาชนไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้”

โดยได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปเตรียมข้อมูลมาว่า หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึง “สินค้า” กรมการค้าภายในจะมีเครือข่ายอะไร เช่น ‘ร้านธงฟ้า’ สามารถที่จะกระจายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้หรือไม่ ปัจจุบันมีข้อมูลพื้นฐานร้านธงฟ้ามีจำนวนเท่าไหร่ ในกี่จังหวัด จะสามารถรองรับนโยบาย Digital wallet ได้อย่างไร ซึ่งร้านจะขายสินค้าแบบเดิมก็สามารถดำเนินการได้ Digital wallet กำลังจะเกิดขึ้น

คุณต้องคิดว่าตลาดใหม่กำลังมา คุณจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการและสินค้าได้อย่างไร ซึ่งโครงการนี้สามารถเข้าไปดำเนินการส่งเสริมธุรกิจร้านธงฟ้าได้ด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ได้แสวงผลกำไร แต่ทำอย่างไรให้เกิดการเติบโตและกระตุ้นการจับจ่าย ผมก็ได้มอบนโยบายให้กรมการค้าภายในไปพิจารณาเรื่องนี้แล้ว” นายภูมิธรรมกล่าว

นอกจาก ‘ร้านธงฟ้า’ แล้ว digital wallet อาจจะขยายไปในส่วนของ ‘รถพุ่มพวง’ นำสินค้าไปขาย จะสามารถที่จะสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่รับสินค้าต่าง ๆ และไปกระจายสินค้าได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการสร้างจุดกระจายสินค้าให้ประชาชนสามารถเข้าถึง โดยกรมการค้าภายในอาจจะต้องคิดอะไรใหม่ ๆ ไม่ใช่เพียงว่าปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นล้นตลาดและก็เทกระจาด แล้วคุณเข้าไปรับซื้อ

แต่มันยังมีวิธีการหรือช่องทางอื่น ๆ เพิ่มการกระจายสินค้า การเจรจากับสถานีบริการน้ำมันนำสินค้าไปกระจาย หน่วยงานที่ดูแลก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว หากสามารถเจรจาและกระจายสินค้าได้มันก็ก่อให้เกิด ‘ตลาดใหม่’ ขึ้นได้

“ผมอยากให้คิดนอกกรอบ ผมรู้ว่าการคิดนอกกรอบมันเสี่ยงที่จะผิดขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เราก็จะต้องมีการพิจารณาและคิดให้รอบคอบ แต่ก็มองว่าเป็นการลงทุนในเรื่องของการทำงานเพื่อประเทศชาติ แต่ก็ต้องดูให้รอบคอบ หากเราจะดำเนินการทำได้ ก็อยากให้คิดพิจารณา”

>> สร้างตลาดในรัศมี 4 กม.

สำหรับพื้นที่ 4 กิโลเมตรนั้น ความหมายก็คือ ต้องการให้เศรษฐกิจพื้นฐานรากเกิดการเติบโตได้ทั้งหมด ถ้าหากไม่มีก็จะต้องคิดว่ามีเงินจำนวนมากขนาดนี้แล้วจะจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น ‘การสร้างตลาด’ จึงเป็นจุดสำคัญที่จะเกิดการกระจายและกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วน ‘โครงการร้านค้าประชารัฐ’ ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา “ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง”

แต่ผมขอดูในรายละเอียด มองว่าหากประชาชนสบายใจที่จะเข้ามาซื้อสินค้าในร้านก็จบ ก็เดินหน้าโครงการต่อไป ผมไม่ได้คิดที่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อกลบ หากสิ่งที่ดีมีอยู่แล้วก็เดินหน้าต่อไปไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม Digital wallet 10,000 บาท ร้านค้าทุกแห่งสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ‘ไม่น่าจะมีปัญหา’ สามารถที่จะเข้าสู่ระบบได้ ปัญหาอยู่ที่การสร้าง ‘บล็อกเชน’ หากประเทศไทยสามารถสร้างบล็อกเชนขึ้นมาก็สามารถกำหนดเงื่อนไขว่า จะดำเนินการอย่างไร จ่ายที่ไหน จ่ายเมื่อไหร่ มันทำได้หมด

โดยเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องดูในรายละเอียด ซึ่งอาจจะมีปัญหาและได้ประโยชน์ แต่หากจะก่อให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องดี และเท่ากับเกิดการสร้างงาน สามารถกระจายรายได้ไปด้วย แต่ก็ต้องดูว่าทุกอย่างจะต้องโตอย่างสมดุล

“ทุกร้านเข้าได้หมด ทุกระดับ ร้านหมูปิ้ง ร้านขายของ แต่ว่าเอาให้ชัด ตอนนี้อยู่ระหว่างของการสร้างบล็อกเชน เพื่อกำหนดกฎกติกาให้สามารถเข้ามาได้ ถ้าเราสามารถนำร้านธงฟ้าเข้ามาอุดช่องว่าง ซึ่งอาจจะไม่มีความจำเป็นในการขยายพื้นที่จาก 4 กม. เป็น 6 กม. แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริง ว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน

แต่ได้ชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถเข้าไปสร้างกลไกของตลาดเพื่อรองรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เป้าหมายไม่ใช่ในเรื่องของกำไร แต่คือเรื่องของการกระจายธุรกิจ การพยุงราคา ให้ประชาชนได้รับบริการและเข้าถึงได้มากที่สุด” นายภูมิธรรม กล่าว

>> ลดทันที ข้าว-หมู-ไข่-มาม่า

นายภูมิธรรมกล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะดำเนินการให้ได้อย่างนั้น แต่ก็ต้องรับฟังฝ่ายปฏิบัติด้วย แต่หัวใจหลักของเรื่องนี้คือ “ต้นทุนราคาสินค้า” โดยสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้ประกอบการเข้ามาพูดคุยและหารือ ต้องรับฟังถึงปัญหาของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก (SMEs) ก่อนที่จะนำไปหารือและพิจารณาตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่ผ่านมาก็ได้มีการรับฟังหารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ไปบ้างแล้ว เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย และยืนยันว่าจุดยืนในเรื่องของราคาสินค้าก็คือการสร้างจุดสมดุลของทุกส่วน

สินค้าเป้าหมายที่จะลดราคาที่มองเห็นและจะลดได้ทันทีก็คงเป็นกลุ่มสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันทั้งหมด เช่น ข้าวถุง, ไข่ไก่, หมู, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้จำเป็นจะต้องมาดูในรายละเอียด ส่วนสินค้าอื่น ๆ ก็อาจจะต้องมีการติดตามต่อไป โดยการดำเนินการเฉพาะหน้า เราต้องการจัดการให้สามารถลดราคาสินค้าได้

“แต่จะลดมากหรือลดน้อย ก็ไม่เป็นไร ขอเพียงแค่มีการลดราคา” เพราะรัฐบาลเองได้ดำเนินการให้มีการลดราคาพลังงานลงไปแล้ว ซึ่งเรารู้ว่าราคาพลังงานมีผลกระทบต่อการขนส่ง กระทบต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยขบวนการต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องมาดูในรายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนจะกระทบต่อ “เงินเฟ้อ” หรือไม่นั้น เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีความระมัดระวัง ทางกระทรวงการคลังเองและหน่วยงานหลายส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการพิจารณาและประสานดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ โดยรัฐบาลชุดนี้ทำงานแบบบูรณาการและวางแผนร่วมกัน และชี้ให้เห็นว่าปัญหาจะเกิดขึ้นตรงไหน ใครที่เกี่ยวข้อง และจะวางแผนให้สอดรับกันอย่างไร

>> สินค้าขึ้นได้แต่ต้องพยุงราคาก่อน

นโยบายของผมก็คือ ‘อะไรที่จำเป็นที่ต้องขึ้นก็ต้องยอมรับความเป็นจริง’ แต่ว่าอาจจะต้องมีช่วงเวลาที่จะ ‘พยุงราคา’ เพื่อให้มีการปรับตัวได้ทันเพราะถือว่าเป็นปัจจัยและต้องสมเหตุสมผล หรือบางอย่างถ้าต้นทุนสินค้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก หรือการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นก็ถือว่าเข้าใจได้

แต่หากต้นทุนบางอย่างที่ลดลงเยอะ แล้วสินค้าไม่ลดเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเวลาผู้ประกอบการมีการปรับขึ้นราคาก็มีการปรับขึ้นทันที แต่หากมีการปรับลดราคาลง ท่านไม่สามารถดำเนินการได้ หากเราสามารถช่วยลดต้นทุนในส่วนของต้นทุนการผลิต ท่านก็อาจจะสามารถดำเนินปรับลดราคาลงได้

“แต่ก็ยังมีปัจจัยในเรื่องของต้นทุนการผลิต หรือเครื่องมืออื่น ๆ เช่น อาจจะต้องรับฟังผู้ประกอบการ แต่ก็พร้อมที่จะรับฟังจากทุกฝ่ายและจะทำให้เต็มที่ แต่วันนี้หากเราเข้าใจถึงนโยบายคนตัวใหญ่จับมือคนกลาง เพื่อจะพยุงคนตัวเล็ก มีความหมายว่า อาจจะได้รับกำไรลดลง แต่ปริมาณการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบที่ท่านจะได้รับ”

ส่วนในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นไตรมาสนี้ เชื่อว่าน่าจะดี โดยเฉพาะในตัวเลขหลาย ๆ ตัว แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่ว่าเราก็ปลดล็อกหลายอย่าง เพื่อก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง แม้ digital wallet ยังไม่เกิด แต่การเปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน-คาซัคสถานเข้ามาประเทศไทย เชื่อว่าเป็นการก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อภายในประเทศได้ดีและมีการเติบโต

'เศรษฐา' ใช้เวทีสมัชชาสหประชาชาติ ประกาศก้อง 'ไทยเปิดแล้ว' ลั่น!! พร้อมลงทุนข้ามชาติ ไม่รอการลงทุนมาไทยฝ่ายเดียว

(23 ก.ย.66) เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สรุปภารกิจในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติเป็นครั้งแรก ว่า มีภารกิจที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะตนเองอย่างเดียว แต่ทั้ง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ และนายจักพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ ซึ่งต่างมีภารกิจมาก ซึ่งตนเองมีโอกาสได้พูดในหลายเวที เรื่องของโลกร้อน เรื่องสันติภาพ อากาศบริสุทธิ์ ความมั่นคงทางอาหาร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอารยะเกษตร รวมถึงมีโอกาสได้พบปะกับผู้นำประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านสำคัญๆ เช่น ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้พูดคุยเรื่องความมั่นคงทางชายแดน และส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนวันนี้ถือเป็นไฮไลต์ของงานที่ได้กล่าวถ้อยแถลง ประมาณ 10 กว่านาที ได้มีการพูดถึงปัญหาของโลกที่เกิดจากอากาศร้อน ที่ไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่เป็นโลกเดือด หลายประเทศก็ยังมองไปข้างหลังเรื่องของตัวเลขดัชนีชี้วัดต่างๆ เราก็ต้องรวมพลัง และทำให้มันเกิดขึ้นได้ ตนเคยบอกไปหลายเวทีแล้วว่าการประชุมของสหประชาชาติครั้งนี้มีเรื่องของปัญหาที่ต่างกันหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่เห็นตรงกัน เรื่องความมั่นคงทางอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ โลกร้อน โลกเดือดก็ทำให้ไม่แน่นอนทางด้านภูมิอากาศที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม ประเทศเราเองเหมาะกับเกษตรกรรม มีความมั่นคงทางอาหารสูง แต่ลดลงเพราะเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศผันผวนอย่างมาก ทำให้เราต้องกลับมาดูเรื่องนี้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องอารยเกษตร ซึ่งต้องใช้พื้นที่ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเพาะปลูก รวมถึงการใช้หนองน้ำเป็นที่เลี้ยงปลา หลายอย่างตนเชื่อว่า สามารถปรับมาใช้ได้

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องปัญหาสุขภาพที่มีโรคเพิ่มมากขึ้น เป็นเหมือน wakeup call หลังมีโรคระบาดทำให้เรารู้ว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษยชนถูกจำกัด หรือได้รับการดูแลเยียวยาอย่างไม่ทั่วถึง แต่ประเทศไทยโชคดีที่มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่ว่ามีสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่มีการเคลื่อนไหวของประชากรเยอะ ดูแลดีอย่างไรก็ตามยังไม่เพียงพอ ถ้าประเทศอื่นไม่ดูแลเพียงพอ ฉะนั้นสหประชาชาติเองก็ควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นแน่ใจว่าทุกๆประเทศ มีระบบ health care ที่ดีเหมือนประเทศไทย ขณะที่ไทยเองยังไม่หยุดยั้ง ยังยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อทำให้คนไทยสบายมากขึ้นในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่จะเข้าที่ตัวเองอยากจะเข้า

เมื่อถามว่าหลายประเทศต้องการสันติภาพที่ยั่งยืน ในความหมายของนายกรัฐมนตรีที่นำเสนอเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า สันติภาพที่ยั่งยืนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ประเทศไทยเรามีความเชื่อเรื่องความสงบ มีความเชื่อเรื่องการเจริญที่ยั่งยืน โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของแต่ละประเทศ

"แต่เป็นที่ทราบดีว่า เรื่องความระหองระแหง ระหว่างประเทศมีหลายคู่ ส่วนประเทศเราแม้จะเป็นประเทศเล็ก ไม่ได้ใหญ่มาก แต่เราภูมิใจในเอกราชที่เรามีมาตลอด เราเองมีความภูมิใจ และมีความสบายใจในการที่เราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศและรัฐบาลนี้ที่จะต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราชและไม่เข้าข้างใคร เรามีความเชื่อในเรื่องสันติสุขและความเจริญที่ยั่งยืน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ถามว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน ในปีนี้ที่เราสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ด้วย นายกฯ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ใช่แค่ดูแลสิทธิมนุษยชนเพียงในประเทศอย่างเดียว เรามีประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ไม่ว่ามาเลเซีย ลาว กัมพูชา และที่ละเอียดอ่อนที่สุดคือ เมียนมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องดูแลหากมีผู้อพยพเข้ามา หรือมีผู้ที่เดือดร้อนบริเวณชายแดน เพราะเรามีชายแดนกับเมียนมากว่า 1,000 กิโล จะต้องดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองความสำเร็จในการร่วมเวทีโลกครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ครั้งแรกก็ต้องขอบคุณ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ช่วยดูแลและเป็นเจ้าภาพในการนำนักธุรกิจเก่งๆ และสนใจมาร่วมทุนในประเทศไทยมาพบปะตนและทีมงาน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีและจุดเริ่มต้นที่ดี 4 วันที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ ถือเป็นก้าวแรกในการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว เราพร้อมที่จะมีการลงทุนข้ามชาติ ทั้ง 2 ทาง ไม่ใช่แค่ให้เขามาลงทุนเราอย่างเดียว เอกชนไทย ที่แข็งแกร่งหลายราย พร้อมลงทุนในต่างประเทศด้วย

เมื่อถามว่า การได้พบผู้นำหลายชาติ ตอบรับกับรัฐบาลใหม่และนายกรัฐมนตรีใหม่อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ดีครับ ทุกคนก็ยินดีด้วย และเข้าใจว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีผู้นำและออกมาค้าขายกันอีก 

‘แม่มณี’ วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทย ‘ครู-เด็กไทย’ ได้เวลาต้องปรับเปลี่ยน

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 23 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณมณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์ หรือ ‘แม่มณี’ อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ดีกรีนักกฎหมายจาก King’s College London, นักธุรกิจมากความสามารถ, นักขับเคลื่อนงานด้านประชาสังคม พ่วงบทบาทในแวดวงการเมืองร่วม 10 ปี และอดีตผู้สมัครผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ได้พูดคุยในมุมมองปัญหาการศึกษาไทย กับ การนำสื่อดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า... 

“ปัญหาการศึกษาไทยควรลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาไทย” คุณมณีรัตน์ เริ่มบทสนทนา พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็กประถม หรือมัธยม ที่อยู่ในต่างจังหวัดห่างไกล ค่อนข้างเข้าถึงคุณครู หรือแม้แต่เนื้อหาต่างๆ ได้ยากกว่าเด็กที่อยู่กรุงเทพมหานคร หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ ขณะเดียวกันความน่าสนใจในการสอนก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้การซึมซับและเรียนรู้ลดลง ซึ่งถ้าเด็กเหล่านี้ได้เรียนกับครูที่มีสไตล์การสอนที่ดึงดูดอย่างน่าสนใจ เนื้อหาเข้มข้นหลากหลาย จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กเหล่านี้อย่างเท่าเทียม 

คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “ทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยให้ครูหรือติวเตอร์ชื่อดัง สอนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้เด็กต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนกับครูเก่งๆ แทนที่จะหวังแต่ผลิตครูเก่งๆ ซึ่งเอาจริงๆ ก็สามารถทำควบคู่กันได้ แต่อาจใช้ระยะเวลานานกว่า นี่คือทางแก้ในส่วนของเด็ก

“ขณะเดียวกัน ในส่วนของปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูทั้งจำนวนและคุณภาพ ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง โดย คุณมณีรัตน์ มองว่า การสอนของครูในปัจจุบันอาจต้องปรับแนวคิดการสอนให้มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยของนักเรียน ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลทั้งคุณภาพของนักเรียนและคุณภาพของครูไปพร้อมๆ กัน”

เมื่อถามถึงอีกปัญหาสำคัญของเด็กไทยที่ยังอ่อนภาษาอังกฤษ? คุณมณีรัตน์ ชี้ว่า “เนื่องจากปัจจุบันเราอาจยึดติดกับการสอนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ (เรียนไปไม่ได้ใช้จริง) ซึ่งหากเรามองตัวอย่างหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างชาติ เขาจะมีหลักสูตรการสอนไม่เหมือนเรา เราอาจะต้องปรับรูปแบบการสอนและหลักสูตรให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น หรือสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาผ่านออนไลน์ โดยใช้ Big Data ที่รวบรวมทุกหลักสูตร แบ่งเป็นวิชา เนื้อหา แล้วให้นักเรียนมีโอกาสได้นำมาศึกษาด้วยตัวเองควบคู่ไปด้วย”

คุณมณีรัตน์ เสริมอีกด้วยว่า “รูปแบบของหลักสูตรต่อจากนี้ ก็อย่ายึดหลักแบบที่เป็นอยู่เท่านั้น แต่ควรมีหลักสูตรอื่นๆ เช่น การฝึกพูดภาษาอังกฤษ, การบริหารธุรกิจ, การเล่นดนตรี, การทำอาหาร ฯลฯ จากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต” 

เมื่อถามถึงการศึกษากับความสอดคล้องต่อตลาดแรงงาน? คุณมณีรัตน์ มองว่า “ควรถึงเวลาส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เรียนจบมาได้ทำงานที่ตรงสายกับที่เรียนมา และสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ส่งเสริมการฝึกอาชีพระหว่างเรียน ทำให้เกิดทักษะวิชาชีพ ได้พัฒนาในหลายๆ ด้านและมีรายได้จริง”

เมื่อถามถึงในอนาคต AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) จะเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น จนทำให้หลายคนกลัวว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์แค่ไหน? คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “จริงๆ แล้วเราควรมองว่าทำอย่างไรให้แรงงานไทยทำงานร่วมกับ AI ได้ในอนาคต ควรฝึกเด็กทำงานร่วม AI กันตั้งแต่ตอนเรียน เมื่อทำงานจริงก็สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างไม่มีรอยต่อ”

คุณมณีรัตน์ ยังให้มุมคิดต่อผู้เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบต่ออนาคตของชาติไว้อย่างน่าสนใจทิ้งท้ายด้วยว่า ควรส่งเสริมให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ควบคู่กันไป โดยเฉพาะครอบครัวและสถานศึกษาต้องช่วยกันปลูกฝังให้เด็กโตมามีความฉลาดทางอารมณ์ รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ควบคุมอารมณ์ได้อย่างมีทิศทางที่ถูกต้องเป็นพลังบวก 

หากเดินหน้ากระบวนทัศน์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน จนกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศชาติได้ต่อไป

‘กองทุนดีอี’ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ 5G ต้นแบบ หลัง ม.เชียงใหม่ได้รับทุนนำร่องขยายบริการเข้าถึงประชาชน

สดช. ลงพื้นที่เชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District)

เมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. 66 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร’ นายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารจัดการเชิงนโยบาย พร้อมด้วย  นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) ส่วน 5G Smart Health เพื่อพัฒนาแนวทางและประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยี 5G ในการส่งเสริมการให้บริการการแพทย์ 5G Smart Ambulance สำหรับบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ และ Telemedicine สำหรับโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน

โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแหล่งข้อมูล (Big Data) เพื่อนําไปวิเคราะห์และประมวลผลต่อในด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมต่อประชากรในท้องถิ่นระบบเชื่อมโยงและข้อมูลระหว่างกลุ่มข้อมูลแบบเรียลไทม์ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่

‘ธุรกิจท่องเที่ยว’ แห่ตั้งบริษัทใหม่ รวมมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้าน ผุดบริการแลกเปลี่ยนเงินตราพุ่ง 1.89 เท่า รองรับตลาดฟื้นตัว

(22 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนสิงหาคม 2566 ทั่วประเทศรวม 7,424 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 24,905.75 ล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 584 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 482 ราย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 360 ราย โดยช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท สัดส่วนมากสุด 64.51% มีจำนวน 4,789 ราย คิดเป็น 64.51%

ขณะที่ธุรกิจเลิกกิจการเดือนสิงหาคม 2566 รวม 2,007 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 7,038.02 ล้านบาท และ 3 ประเภทธุรกิจเลิกกิจการสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 172 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 85 ราย และ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 49 ราย ซึ่งสัดส่วน 70.55% เป็นธุรกิจมีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ 31 สิงหาคม 2566 มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ 888,090 ราย มูลค่าทุน 21.51 ล้านล้านบาท มากสุดเป็นช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือจำนวน 518,247 ราย คิดเป็น 58.36%

“ธุรกิจตั้งใหม่เดือนสิงหาคมปีนี้ เทียบสิงหาคมปีก่อน เพิ่ม 0.08% และเทียบเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่ม 8.41% ขณะที่เลิกธุรกิจสิงหาคมปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.40% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7.50% จากเดือนกรกฎาคมปีนี้ ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 จัดตั้งธุรกิจใหม่รวม 61,558 ราย เพิ่มขึ้น 14.90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งยอดตั้งธุรกิจใหม่สิงหาคม 2566 เป็นจำนวนสูงสุดรอบ 10 ปีเทียบเฉพาะเดือนสิงหาคมด้วยกัน และสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ 8 เดือนแรก2566 มีจำนวนจัดตั้งสูงสุดรอบ 10 ปีด้วย หรือตั้งแต่ปี 2557 – 2566” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนการจดทะเบียนธุรกิจให้เติบโตสูงขึ้นยังคงมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 8 เดือนแรก 2566 มีจำนวนตั้งเพิ่มถึง 60.66% โดยเฉพาะธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเติบโต 1.89 เท่า ตัวแทนธุรกิจการเดินทางเติบโต 1.41 เท่า ธุรกิจจัดนำเที่ยวเติบโต 1.03 เท่า ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเติบโต 45.46% และ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุดเติบโต 42.86%) มีสัดส่วนคิดเป็น 7.94% ของจำนวนธุรกิจที่จัดตั้งทั้งหมดใน 8 เดือนแรก2566

นายทศพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจน่าจับตามองที่เติบโตกว่า 1 เท่า เทียบ 8 เดือนแรกปีก่อน ได้แก่ ธุรกิจขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืชเติบโต 2.07 เท่า เพิ่มขึ้น 118 ราย จากนโยบายส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก

ธุรกิจบริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้างเติบโต 1.70 เท่า เพิ่มขึ้น 311 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว ทำให้มีธุรกิจที่รับบริหารจัดการเกี่ยวกับที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจให้เช่าและให้เช่าแบบลิสซิ่งยานยนต์เติบโต 1.40 เท่า เพิ่มขึ้น 155 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตและภาคธุรกิจที่นิยมการเช่ารถยนต์มากขึ้น และธุรกิจการปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์เติบโต 1.12 เท่า เพิ่มขึ้น 201 ราย

“จากทิศทางที่ดีขึ้น กรมคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 อยู่ที่ 32,000 – 39,000 ราย ซึ่งทำให้ทั้งปี 2566 อยู่ที่ 79,000-86,000 ราย” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนสิงหาคม 2566 มีการอนุญาต 58 ราย มีเม็ดเงินลงทุน 6,840 ล้านบาท เปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 จำนวนเพิ่มขึ้น 14% เงินลงทุนลดลง 32% นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 15 ราย รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในไทย 435 ราย มีเงินลงทุน 65,790 ล้านบาท

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ คว้ารางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ปี 66 ตอกย้ำ!! ความมุ่งมั่นผลักดันการเคารพสิทธิมนุษยชนในองค์กร

(22 ก.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป คว้ารางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566’ ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับดี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยชูการพัฒนานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านและครอบคลุม เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) และต่อต้านการล่วงละเมิด (Anti-harassment)

โดยนางสาวสลิล ติระวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป เป็นผู้แทนเข้ารับประกาศนียบัตรจากพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในงานประกาศรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้

นางสาวสลิล ติระวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจบนหลักการกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยตระหนักและให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาค

ในรอบปีที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป ได้ประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ พร้อมนำผลการประเมินมาทบทวนและปรับปรุงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน โดยมุ่งเน้นหลักการไม่เลือกปฏิบัติและการต่อต้านการล่วงละเมิด พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกระดับ เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ตลอดจนพัฒนากระบวนการแจ้งเบาะแสและการสอบสวนในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทไม่ได้รับข้อร้องเรียน รวมถึงไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

“การได้รับรางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ระดับดี ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเอ็กโก กรุ๊ป ในการส่งเสริมและผลักดันการเคารพสิทธิมนุษยชนให้อยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจทุกมิติและปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม รวมถึงส่งเสริมเสรีภาพอันชอบธรรมของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกภายในองค์กรและสังคมภายนอกอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจสำคัญของเรา ในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” นางสาวสลิล กล่าว

สำหรับการพิจารณามอบรางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ดำเนินการโดย คณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาชนสังคม ที่ดำเนินงานตามภารกิจโดยเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่น ๆ ในการส่งเสริมสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมีองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลฯ ประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 109 รางวัล

‘กรมทรัพย์สินฯ’ ประสานเกาหลีใต้ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องลิขสิทธิ์เพลง หวังยกระดับอุตฯ เพลงไทยรอบด้าน ดันเป็นหนึ่งใน Soft Power ไทย

(22 ก.ย. 66) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้งานเพลง ให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากงานเพลง ซึ่งเป็นงานลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยให้วัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมโลก”

นายวุฒิไกร ให้ข้อมูลว่า “จากการศึกษาของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศพบว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงของไทยมีมูลค่า 3,689 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอันดับที่ 24 ของโลก และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 20.01 จึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมเพลงของไทยเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดประเภทหนึ่ง”

นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทยให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น สามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากรอบกฎหมาย กฎกติกา เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพลงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ลิขสิทธิ์เพลงในเชิงพาณิชย์ การใช้งานลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ในทางการค้า”

“ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นว่า เกาหลี เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ที่เป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนในประเด็นดังกล่าวอย่างแท้จริง จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนาลิขสิทธิ์ไทย - เกาหลี ประจำปี 2566 ในหัวข้อ ‘เจาะลึกบทบาทลิขสิทธิ์กับธุรกิจเพลง’ เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้ผลงานเพลง ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายการใช้ลิขสิทธิ์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี บทบาทขององค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ตลอดจนแนวทางการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และค่าสิทธิของนักแสดง เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานในบริบทของประเทศไทยต่อไป”

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมั่นว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทย ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงต่อไป” นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย

TrueMoney เปิดชำระเงินในจีนผ่าน Alipay+ เปย์ง่าย สแกนจ่าย ไม่ต้องแลกเงินหยวน

TrueMoney เพิ่มความสะดวกนักท่องเที่ยวไทยไปจีน สามารถใช้ทรู มันนี่ สแกนชำระเงินผ่าน Alipay+ สำหรับร้านค้า และบริการในจีนกว่า 10 ล้านจุดได้ทันที หวังช่วยนักท่องเที่ยวกว่า 7 แสนรายในแต่ละปีเข้าถึงการชำระเงินรูปแบบใหม่นี้

มนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทรู มันนี่ช่วยคนไทยในการใช้จ่ายตั้งแต่ออนไลน์ จนถึงออฟไลน์ ผ่านจุดชำระกว่า 7 ล้านแห่งทั่วประเทศผ่านเครื่องของทรู มันนี่ และพร้อมเพย์ พร้อมกับบริการใหม่ที่สามารถใช้แอป TrueMoney+ ชำระค่าสินค้า และบริการทั่วประเทศจีน ที่มีจุดรับชำระของ Alipay มากกว่า 10 ล้านจุด

“จากบริการใหม่นี้คาดว่าจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวไทยกว่า 7 แสนรายในแต่ละปี โดยผู้ใช้สามารถเลือกใช้เงินที่อยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของทรู มันนี่ ได้ทันที โดยไม่ต้องแลกเงินหยวน”

ทั้งนี้ บริการดังกล่าวได้เข้ามาแก้ปัญหากรณีที่นักท่องเที่ยวไทยที่ไปจีนไม่สามารถใช้จ่ายแบบไร้เงินสดได้ และไม่ใช่ทุกร้านจะรับเงินสด หรือรับบัตรเครดิตที่เข้าร่วม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะรองรับการชำระผ่าน Alipay

นอกเหนือจากทรูมันนี่ เมื่อเร็วๆ นี้ แอนท์ กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับอีก 6 อีวอลเล็ตและแอปชำระเงินชั้นนำในเอเชีย ภายใต้ โครงการ “Alipay+-in-China (A+China program)” เพื่อยกระดับบริการด้านการชำระเงินผ่านแอปในจีนให้มีความเป็นสากลขึ้น โดยการขยายบริการในครั้งนี้ ทำให้มีอีวอลเล็ตและแอปชำระเงินรวม 10 แอปจากต่างประเทศที่สามารถใช้จ่ายที่จีนได้

ดักลาส ฟีกิน รองประธานอาวุโส แอนท์ กรุ๊ป และหัวหน้างานบริการโมบายเพย์เมนต์ระหว่างประเทศ อาลีเพย์พลัส กล่าวว่า ด้วยเครือข่ายของ Alipay+ ผู้ใช้ทรูมันนี่สามารถใช้จ่ายที่ร้านค้าออนไลน์ทั่วโลก

รวมถึงร้านค้าปลีกในประเทศซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปจนถึงสหราชอาณาจักร อิตาลี และฝรั่งเศส และการขยายบริการใช้จ่ายผ่านแอปสู่ประเทศจีนในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งปัจจุบัน มีผู้คนทั่วโลกกว่า 1.4 พันล้านคน ที่สามารถเข้าใช้บริการของ Alipay+ ในการชำระเงินมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

'สุริยะ' เตรียมพร้อมรับ VISA Free 'จีน-คาซัคฯ' ยืนยันทุกสนามบินมีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร

(22 ก.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อรองรับผู้โดยสารชาวจีนและคาซัคสถานตามนโยบาย VISA Free ของรัฐบาล โดยมี นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมคมนาคม กระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้กำหนดนโยบายมาตรการ VISA Free ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวนั้น จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น อันจะนำไปสู่การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566 - 2567 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับเทศกาลวันชาติของจีน คาดการณ์ว่า จะมีเที่ยวบินจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากมาตรการ VISA Free ของรัฐบาล จากเดิม เฉลี่ย 72 เที่ยวบิน/วัน เป็น 96 เที่ยวบิน/วัน และปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย จากเดิม 9,680 คน/วัน เป็น 18,656 คน/วัน โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ล้านคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุดตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย

"ผมได้สั่งการให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต และให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าอากาศยานไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น" รมว.คมนาคม กล่าว

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว บริหารจัดการท่าอากาศยานให้การบริการมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ดังนี้...

(1) ผู้โดยสารขาเข้า

- ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ประสานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เตรียมประจำการเต็มช่องตรวจหนังสือเดินทาง ทั้ง 138 ช่อง ในชั่วโมงหนาแน่น และเตรียมเครื่องตรวจอัตโนมัติ 16 เครื่อง ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ กำกับดูแลและติดตามเวลาการจัดส่งสัมภาระให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกำชับให้ผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน จัดเตรียมอัตรากำลังและอุปกรณ์ให้เต็มขีดความสามารถและสอดคล้องกับเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น

(1.1) ผู้โดยสารขาออก

- ขั้นตอนการเช็กอิน ประสานสายการบินจัดให้มีพนักงานให้บริการเช็กอินเต็มทั้ง 302 เคาน์เตอร์ และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้ผู้โดยสารใช้บริการเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) และใช้บริการเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมการทำ Early Check-in

- ขั้นตอนจุดตรวจค้น จัดเจ้าหน้าที่เกลี่ยแถวผู้โดยสารให้สามารถเข้าสู่จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 3 โซน ในปริมาณใกล้เคียงกัน เพื่อให้การใช้อุปกรณ์ตรวจค้น ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์ 25 เครื่อง ที่ได้ติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) แล้ว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนการตรวจลงตรา ประสานเจ้าหน้าที่ ตม. ให้นั่งเต็ม 69 ช่องตรวจ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเร่งด่วน และเตรียมเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คน ซึ่งในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. จะได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด และการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

'กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ" รมว.คมนาคม ทิ้งท้าย

‘พงศ์กวิน’ เคลียร์ชัด!! ‘สุริยะ’ ไม่เคยเอ่ยคำว่า ‘ยกเลิกแลนด์บริดจ์’ ชี้!! ที่ผ่านมาอยู่ในขั้นศึกษา ‘โมเดลที่เหมาะ-ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิด’

(22 ก.ย.66) นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ท่านสุริยะไม่เคยพูดเรื่องยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์

'แลนด์บริดจ์' หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) จะทำให้ประเทศไทย เป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในการขนส่งสินค้าที่สำคัญของโลก และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยการลดระยะเวลาการขนส่ง จากที่ผ่านช่องแคบมะละกาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อ EEC GMS จีนตอนใต้ อาเซียน และ BIMSTEC

แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินลงทุนสูง ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเฉพาะเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

ในปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในไทม์ไลน์ของการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งจะมีการเสนอให้ครม.เห็นชอบหลักการในเดือนตุลาคม 2566 อนุมัติ EHIA ปลายปี 2567 และเปิดประมูลในช่วงกลางปี 2568

ขอยืนยันว่าทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย พร้อมผลักดันทุกนโยบาย ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนให้เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอนครับ

'ทีเอ็มบีธนชาต' จัดโปรมือถือ iPhone15 ผ่อน 0% นานสุด 48 เดือน ถึง 31 ต.ค.นี้

ไม่นานมานี้ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี มอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ttb จับมือ 24 ร้านจำหน่ายมือถือชั้นนำ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ iPhone อาทิ TRUE / Studio7 / iStudio by SPVI / iStudio by Copperwired / iStudio by Uficon / BaNANA / TG Fone / Jaymart / Power Buy / Power Mall / IT CITY / CSC / Advice เป็นต้น

***พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ttb เมื่อซื้อ iPhone15 และทำรายการแบ่งชำระดอกเบี้ย 0% นานสูงสุด 48 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2566 - 31 ตุลาคม 2566 นี้

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิพิเศษ 1: รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 5% จากร้านค้าชั้นนำที่ร่วมรายการ โดยร้านที่มอบเครดิตเงินคืนสูงสุดในอัตรา 5% คือร้าน TRUE และ Com7 จำกัดรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 4,000 บาท ต่อบัญชีบัตรหลัก ตลอดรายการส่งเสริมการขาย

สิทธิพิเศษ 2: แลกคะแนนรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 12% เมื่อใช้คะแนนสะสมทุก 1,000 คะแนน และทำรายการแบ่งชำระ 0% บัตรเครดิต ttb reserve infinite และบัตรเครดิต ttb reserve signature รับเครดิตเงินคืน 12% (ทุก 1,000 คะแนน รับ 120 บาท) บัตรเครดิต ttb (บัตรเครดิต ทีเอ็มบี และ บัตรเครดิต ธนชาต) และบัตรเครดิต ttb Global House รับเครดิตเงินคืน 10% (ทุก 1,000 คะแนน รับ 100 บาท) โดยต้องมียอดใช้จ่ายขั้นต่ำ 1,000 บาท ต่อเซลล์สลิป จำกัดการแลกคะแนนไม่เกินยอดใช้จ่าย จำกัดการแลกคะแนนสะสมสูงสุด 50,000 คะแนน ต่อบัญชีบัตรหลัก ตลอดรายการส่งเสริมการขาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top