Monday, 29 April 2024
ECONBIZ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ ในพื้นที่อีสานพุ่ง อานิสงส์จากรัฐ-เอกชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง

จากบทความก่อนหน้านี้ ที่กล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเกิดจากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ” 

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเกษตร อยู่ที่ระดับ 76.4 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 75.9 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 83.5 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 74.5
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการลงทุน อยู่ที่ระดับ 74.8

แน่นอนว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจหลักที่จะได้รับอานิสงจากความเชื่อมั่นนี้ คงไม่พ้นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่เริ่มฟื้นตัวหลังสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ซึ่งจากข้อมูลกองสถิติเศรษฐกิจ (สศ.) มีจำนวนของสถานประกอบการที่พักแรม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4,977 แห่ง น่าจะช่วยให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของธุรกิจภาคบริการ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รวมถึงการได้รัฐบาลใหม่ มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ของกระทรวงต่าง ๆ พร้อมประกาศนโยบายสำคัญ ‘พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี’ ย่อมส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ การอุปโภค บริโภค การจับจ่ายใช้สอย ที่จะถูกกระตุ้นมากยิ่งขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พื้นที่ที่ได้รับอานิสงจากโครงการนี้ค่อนข้างมาก ย่อมเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร เป็นจำนวนมาก
แต่ก็ยังมีความกังวล ต่อการเกิดหนี้สาธารณะ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว ประกอบด้วย 

แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท 
แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท
แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่า การดำเนินโครงการ พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ย่อมจะต้องตั้งงบประมาณ เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เจ้าภาพหลักของโครงการ

บทความหน้า กับมุมมองเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่ามีธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ ประเด็นสำคัญจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จะส่งผลอย่างไร กับ พื้นที่นี้ รอติดตามมุมมอง จาก ‘The PALM - คนตัวเล็ก’ กันนะครับ

‘อธิบดี กพร.’ ร่วมประชุมเตรียมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติที่ไอร์แลนด์ หนุนพัฒนาศักยภาพ เสริมทักษะแรงงานไทย สู่ตลาดโลกอย่างมีคุณภาพ

(29 ก.ย. 66) น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเดินทางเข้าร่วมประชุมที่กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ว่า มีการประชุมหารือในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้แทนของแต่ละประเทศ นำไปเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันต่อไป

ซึ่งครั้งนี้ คณะผู้แทนของประเทศไทย ประกอบด้วยตนในฐานะหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย น.ส.พรรวี นาคพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ ผู้แทนเทคนิคและ น.ส.เยาวลักษณ์ กงษี ผู้ช่วยผู้แทนเทคนิค ได้เข้าร่วมประชุมเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 เป็นวันที่ 3 ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ (Strategic Development Committee Meeting) ในหลายประเด็น อาทิ บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แนวทางการประชาสัมพันธ์ให้การแข่งขันฝีมือแรงงานเป็นที่รู้จัก รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะด้านการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งอนาคต (Competitions of the Future) แก่องค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (World Skills International)

น.ส.บุปผา กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้รับฟังและรวบรวมความเห็นจากสมาชิก ผู้จัดการการแข่งขันแต่ละสาขา และภาคีหุ้นส่วน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานในอนาคต ให้สะท้อนความต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลกให้มีคุณภาพและมีความยั่งยืน เช่น การจัดการแข่งขันในแต่ละสาขาควรสะท้อนความต้องการของภาคเศรษฐกิจอย่างน้อยใน 3 ทวีป หรือภูมิภาคขึ้นไป และสาขาควรจะมีความแตกต่างกันในด้านมาตรฐานและสมรรถนะหลัก และการจัดสภาพแวดล้อมของการแข่งขันควรสะท้อนสภาพการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม

การประชุมอีกคณะ คือ คณะกรรมการการแข่งขัน (Competitions Committee Meeting) เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 (WorldSkills Lyon 2024) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 10-15 กันยายน 2567 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการเสนอแก้ไขกฎการแข่งขัน และเห็นชอบโครงการนำร่องในการแปลเอกสารเป็นภาษาแม่ของผู้แข่งขันล่วงหน้า รวมถึงการหารือแนวทางการอบรมและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

ผู้แทนประเทศไทยได้เสนอความเห็นต่อแนวทางการจัดการแข่งขันแห่งอนาคต โดยเน้นย้ำถึงการพัฒนาการจัดการแข่งขันให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันของไทยอีกด้วย” น.ส.บุปผา กล่าวและว่า การจัดส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานในแต่ละระดับ จนก้าวสู่เวทีระดับโลก เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนและแรงงานไทยเห็นความสำคัญ ของการพัฒนาศักยภาพด้านทักษะฝีมือ ที่ส่งผลต่ออัตราค่าจ้าง การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการขับเคลื่อนให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

‘LINE’ ควบรวม ‘Yahoo’ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘LY Corp.’ เริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป

LINE Corporation รวมกับ Yahoo Japan Holding เปลี่ยนชื่อเป็น ‘LY Corporation’ พร้อมเปลี่ยนชื่อบัญชีทางการ เริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 ตุลาคม 2566

สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า บริษัท Z Holding Corp. ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตและการเงิน ผู้เป็นเจ้าของบริษัท ‘LINE Corp.’ และ ‘Yahoo Japan Holding’ ประกาศจะควบรวมทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวเข้าด้วยกันให้ได้ ภายในเดือนมีนาคมปี 2024

ล่าสุด LINE ประกาศว่า ทาง LINE Corp. และ Yahoo Japan Holding จะควบรวมเป็นบริษัทเดียวกัน ภายใต้ชื่อใหม่ ‘LY Corporation’ เป็นที่เรียบร้อย โดยเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป

โดยหลักทั่วไป จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือการประกาศของแต่ละบัญชีทางการที่จะมีการเปลี่ยนชื่อผู้ให้บริการ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้น บัญชีทางการที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้แจ้งรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงเป็นรายบุคคล ซึ่งส่งผลให้บัญชี LINE Official จะเปลี่ยนชื่อผู้ให้บริการ LINE เป็น LY Corporation ดังนี้

-TH-EN translator (@linethen)

-บันเทิง TODAY (@enttoday)

-GIFTSHOP Notice (@linegiftshopnoti)

-LINE STORE (@linestoreth)

-LINE TODAY (@linetodayth)

-LINE TH Help Center (@linehelpth)

-LINE สภาพอากาศ (@lineweather-th)

-LINE MELODY (@linemelodyth)

-MyShop (@linemyshop)

-LINE POD Thailand (@linepodth)

-MyShop Notice (@myshopnotice)

-LINE MELODY Notice (@linemelodynotice)

-Verified Resellers (@verifiedresellers)

-LINE Wallet TH (@linewalletthailand)

หากท่านกำลังใช้บริการบัญชีทางการอื่นที่ให้บริการโดย LINE ในประเทศหรือภูมิภาคที่นอกเหนือไปจากประเทศไทย ชื่อผู้ให้บริการก็จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

‘พิพัฒน์’ จ่อหารือขึ้นค่าแรง เป็น ‘ของขวัญปีใหม่’ ให้คนไทย ยัน!! ขั้นต่ำไม่กระทบ ‘เอสเอ็มอี’ คาด ได้ข้อสรุปสิ้นเดือน พ.ย.นี้

(29 ก.ย. 66) ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ร้อนแรงนับตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะขยับให้ได้ตามอัตราดังกล่าวโดยเร็วที่สุด คาดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่งผลให้กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ จากพรรคภูมิใจไทย นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ถูกจับตามองว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวได้หรือไม่ ภายใต้โจทย์เศรษฐกิจไทยสุดท้าทาย โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่ง กดดันทั้งตลาดแรงงานและผู้ประกอบการ

นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่มอบแก่ภาคแรงงานแน่นอน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะปรับขึ้นเป็นอัตราขั้นต่ำ 400 บาท/วันหรือไม่ เพราะต้องขอหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และตัวแทนภาครัฐ เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะปรับขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ตามความเหมาะสม บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ค่าแรงในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งไม่เท่ากัน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมาเป็นฐานตั้งต้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นเดือน พ.ย. 2566

“การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 ฝ่ายนายจ้างจะต้องไม่เดือดร้อนด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ต้องไม่หายตายจากไป เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ถือครองแรงงานก้อนใหญ่ที่สุดของทั้งแรงงานชาวไทยและต่างด้าว” นายพิพัฒน์ กล่าว

อานิสงส์ ‘ขึ้นค่าแรง’ ดูดแรงงานต่างด้าวทะลัก
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถแยกใช้เฉพาะแรงงานชาวไทยได้ ต้องประกาศใช้กับแรงงานต่างด้าวด้วย เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกัน โดยเชื่อว่าเมื่อมีประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 5 ล้านคน และคาดการณ์ด้วยว่าในระยะยาว 20-30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะอุดมไปด้วยแรงงานต่างด้าวเกิน 50% ของแรงงานทั้งหมด เนื่องจากปัจจัยทางประชากรศาสตร์ ประเทศไทยมีอัตราการเกิดใหม่ต่ำ ทำให้มีแรงงานชาวไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการจ้างงาน

“กระทรวงแรงงานจะเร่งหาวิธีเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน (Upskill) ของแรงงานชาวไทย เพื่อให้ได้รับค่าแรงอย่างน้อย 400 บาทต่อวันให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอาชีพสงวนของคนไทย” นายพิพัฒน์ กล่าว

เร่งจัดหา ‘แรงงานท่องเที่ยว’ ชดเชย 25% ที่หายไป
นายพิพัฒน์ กล่าวบนเวทีประชุมสมาชิกของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประจำเดือน ก.ย. 2566 ในหัวข้อ ‘นโยบายการยกระดับแรงงานภาคท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว’ วานนี้ (28 ก.ย.) ว่า ย้อนไปเมื่อครั้งตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในรัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อปี 2562 ภาคท่องเที่ยวไทยที่กำลังบูมขั้นสุด มีแรงงานมากกว่า 4 ล้านคน แต่เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานท่องเที่ยวหายไปมากถึง 40% โดยปัจจุบันกลับมาบ้างแล้วตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ยังหายไป 25% หรือคิดเป็นประมาณ 1 ล้านคน จากแรงงานท่องเที่ยวเดิม จึงมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาแรงงานมาชดเชย เพื่อรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังฟื้นตัว

หลังจากล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศดำเนินมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ วีซ่า-ฟรี เพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน อนุญาตให้พำนักในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นดีมานด์การเดินทางและเศรษฐกิจในช่วงไฮซีซันนี้

ย้ำนโยบาย ‘ลดการเสียสมดุลแรงงาน’
“แต่จากที่สมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ได้เสนอให้ปลดล็อกการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศอื่นๆ เพิ่มได้ เช่น จากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อตนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกได้เลยว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ เพราะเราสามารถผลักดันแรงงานชาวไทยที่ยังไม่มีงานทำ โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่กำลังหางาน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่ง ให้เข้ามาฝึกฝนความเชี่ยวชาญด้านงานบริการท่องเที่ยวและบริการได้ ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลายกว่า 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว” นายพิพัฒน์ กล่าว

โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับ 4 กระทรวงด้านสังคม ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ซึ่งทำงานกันอย่างใกล้ชิดภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย ด้วยการจัดทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เกี่ยวกับการผลิตแรงงาน และเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อสามารถผลิตแรงงานได้ทันความต้องการของผู้ประกอบการ

“อย่างแรงงานภาคท่องเที่ยวถือเป็นตลาดที่มีความต้องการสูง ทุกประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว เห็นได้จากแรงงานไทยบางส่วนตัดสินใจไปทำงานด้านท่องเที่ยวที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง เช่น นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ที่ให้เงินเดือนสูงกว่าในประเทศไทย โดยกระทรวงแรงงานจะเร่งผลิตคนป้อนตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศไทยให้ได้ก่อน ผมต้องหาวิธีการ ทำทุกวิถีทาง เพื่อลดการเสียสมดุลแรงงาน” นายพิพัฒน์ กล่าว

ทัวริสต์ต่างชาติสะสม 19.5 ล้านคน
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า จากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมร่วม 9 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 24 ก.ย. 2566 พบว่ามีจำนวน 19,499,116 คน เพิ่มขึ้น 259% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย จำนวน 3,184,562 คน อันดับ 2 จีน จำนวน 2,403,226 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ จำนวน 1,155,782 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,128,868 คน และอันดับ 5 รัสเซีย จำนวน 976,969 คน

'นายกฯ เศรษฐา' ชมเปาะ 'ทักษิณ' วิสัยทัศน์กว้างไกล วางโครงสร้าง 'สุวรรณภูมิ' ไว้ดี 'ต่อเติมง่าย-เซฟงบเยอะ'

(29 ก.ย.66) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) แบบ Soft Opening ณ อาคาร SAT-1 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

นายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างเดินก่อนเป็นประธานพิธีเปิดอาคาร SAT-1 ว่า สนามบินสุวรรณภูมิหลาย 10 ปีที่แล้ว ในการก่อสร้างสนามบิน โชคดีที่เราสร้างอุโมงค์และสิ่งต่างๆ ไว้ก่อน ทำให้การต่อเติมเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งงบประมาณสมัยก่อนในการดำเนินการสร้างอุโมงค์ก็มีราคาถูก ตอนนี้สามารถเชื่อมต่อกับ SAT-1 ได้ดี ทำได้เร็วและเป็นประโยชน์มาก ซึ่ง สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำไว้ก่อน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทำให้ตอนนี้ประหยัดงบประมาณได้มาก

นายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันถือว่าดีมาก และบังเอิญที่ประจวบเหมาะกับเวลาที่เราเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านการท่องเที่ยว ถือว่าการท่าฯ ทำไว้ดีมาก ส่วนรถไฟฟ้า (APM) เชื่อมต่อจากสนามบินแห่งที่ 1 มา SAT-1 ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1.5 นาที ซึ่งเมื่อวันที่ 28 กันยายน ได้เปิดวันแรกทดสอบนักท่องเที่ยวแล้ว

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่เริ่มต้น

‘บอร์ด รฟม.’ เคาะ!! ‘รถไฟฟ้าสายสีม่วง’ 20 บาทตลอดสาย เริ่มวันแรก 1 ธ.ค.นี้ เบื้องต้นรองรับเฉพาะผู้ถือบัตร EMV

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.66 ที่สำนักงานใหญ่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 กระทรวงคมนาคมยังมีแผนผลักดันรถไฟฟ้า 2 สาย ที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทั้งนี้ รฟม.เตรียมนำมติบอร์ดฯ ที่เห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสารเหลือ 14-20 บาท เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม วันที่ 29 กันยายน เพื่อนำข้อมูลไปรวมกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จทันใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่แน่นอน ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีแดงนั้น จะคิดอัตราค่าโดยสารที่ 20 บาทเช่นกัน

“นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงประมาณ 60% ของรายได้ผู้โดยสารฯ ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเริ่มใช้นโยบายดังกล่าว จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจากเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 5.6 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน โดยมีการเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดง ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่ประมาณ 100-200 คนต่อวัน” นายภคพงศ์กล่าว

นายภคพงศ์กล่าวว่า การแบ่งรายได้จะใช้วิธีการเก็บจากสถานีต้นทาง ผู้โดยสารขึ้นที่สถานีสายสีม่วง รฟม.จะรับรายได้ในส่วนนั้นไป หากผู้โดยสารขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีแดง รฟท.จะได้รายได้ในส่วนนั้นไปเช่นกัน ทั้งหมดนี้จะให้บริการผ่านระบบ EMV หรือ การใช้บริการผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เท่านั้น ไม่รับเงินสด หรือใช้ระบบเหรียญแบบในปัจจุบัน

ส่วนในกรณีจะใช้เงินชดเชยไปอีกกี่ปีนั้น รฟม.ขอพิจารณาก่อน หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นที่ 17% ต่อปี คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี รฟม.จึงจะคืนทุน ที่ผ่านมา รฟม.นำรายได้ส่งกระทรวงการคลัง ประมาณ 20-25% ต่อปี ของกำไรสุทธิ ดังนี้ ปี 2563 มีรายได้ส่งคลัง 300 ล้านบาท ปี 2564 ส่งคลัง 467 ล้านบาท ปี 2565 ส่งคลัง 311 ล้านบาท ส่วนช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ส่งคลัง 223 ล้านบาท

“นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยเบื้องต้น รฟม.ได้หารือร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ทางเอกชนอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาร่วมกับภาคเอกชน” นายภคพงศ์กล่าว

‘ฉางอัน’ พร้อม!! ทุ่ม 9,800 ล้าน ตั้งโรงงานผลิต ‘EV-แบตเตอรี’ ในไทย เป้ากำลังผลิต 1 แสนคันต่อปี เซ็นสัญญาแต่งตั้งดีลเลอร์แล้ว

เมื่อไม่นานนี้ ‘ฉางอัน ออโตโมบิล’ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับพันธมิตรทางธุรกิจตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย (ดีลเลอร์) โดยพิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ภายใต้แนวคิด ความร่วมมือแบบเปิด ผลประโยชน์ร่วมกัน และความร่วมมือแบบ ‘win-win’ เพื่อสร้างตัวแทนจำหน่ายระดับสากลสำหรับประเทศไทย

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ได้ประกาศการตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

ซึ่งเป็นการลงทุนตั้งโรงงานแห่งแรกนอกประเทศจีนโดยมีมูลค่าการลงทุนราว 9,800 ล้านบาท เพื่อให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) และแบตเตอรี่ กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี

กระทั่งในช่วงเดือน สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ฉางอัน ออโตโมบิล (Changan Automobile) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยครอบคลุมถึงบริษัทจัดจำหน่าย โรงงานประกอบรถยนต์ รวมถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ เพื่อเป็นการรองรับและตอบสนองแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยได้รับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจอย่างเป็นทางการจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้จัดตั้งบริษัทนิติบุคคลเพื่อประกอบการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ธอส. ประกาศตรึงดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน ถึงสิ้นปี 2566 ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนตามนโยบายรัฐ

(29 ก.ย. 66) นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี หรือจาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.50% ต่อปี

ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีพันธกิจ ‘ทำให้คนไทยมีบ้าน’ พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับปัจจุบันต่อไปจนถึงสิ้นปี 2566

ทั้งนี้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการชำระเงินงวดตามนโยบายรัฐบาลให้กับลูกค้าเงินกู้ในปัจจุบันของธนาคารที่มีอยู่จำนวน 1.79 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อคงค้างมากกว่า 1.66 ล้านล้านบาท และได้มีเวลาในการปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

‘ธนาคารไทยเครดิต’ เดินหน้าแผน IPO หลัง ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งไฟลิ่งเรียบร้อยแล้ว

ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง ‘ธนาคารไทยเครดิต’ พร้อมเดินหน้าแผน IPO สร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุน รุกธุรกิจการเงิน - ขยายพอร์ตสินเชื่อ

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) (“ธนาคารฯ”) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่ง เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจำนวนหุ้นที่คาดว่าจะเสนอขายทั้งหมด (รวมหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม) ไม่เกิน 347,029,122 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.2 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ ภายหลังการทำ IPO  ซึ่งนับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เสนอขายหุ้น IPO ในรอบ 10 ปี โดยมี ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในครั้งนี้ 

อย่างไรก็ดี ธนาคารฯ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) แก่กลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  

สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ รวมทั้ง นำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) ด้วยเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคล รวมไปถึงความมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ และสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินธุรกิจของธนาคาร “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ” 

ด้านนายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งไฟลิ่งธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าธนาคารฯ จะเสนอขายและเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดกลุ่มธุรกิจการเงิน / ธนาคาร ตามแผน IPO 

สำหรับ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำเพื่อลูกค้ารายย่อย ด้วยประสบการณ์การให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่หลากหลายมากว่า 10 ปี ทำให้ธนาคารฯ มีความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง ประกอบกับการมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลากหลายขนาดและประเภทธุรกิจ รวมถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม ทำให้เชื่อว่าธนาคารฯ อยู่ในจุดที่สามารถขยายพอร์ตสินเชื่อในการสนับสนุนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นได้จากการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งของเงินให้สินเชื่อของธนาคารฯ ในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565 ที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 33.0 ต่อปี และยังมีศักยภาพในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินนี้ ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ 

นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมีโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จากเครือข่ายสาขาที่มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ธนาคารฯ มีสาขาทั้งสิ้น 527 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบไปด้วยสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อย สำนักงานนาโนเครดิต และสาขาที่ให้บริการเงินฝาก ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ในพื้นที่หรือใกล้เคียงกับกลุ่มลูกค้า รวมทั้งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล โดยบริษัทไทยไมโคร ดิจิทัล โซลูชันส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารฯ ได้นำแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ของลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน “ไมโครเพย์” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานที่ผ่านกระบวนการ KYC ถึง 384,460 ราย เป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารฯ สามารถรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio) ไว้ได้ในระดับต่ำ หรือเท่ากับร้อยละ 36.0 ในงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานงวด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 - 2565)  และ ณ งวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566  เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ มีจำนวนเท่ากับ 68,562.4 ล้านบาท 97,728.7 ล้านบาท 121,298.0 ล้านบาท และ 132,758.1 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปีระหว่าง 2563-2565 (Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 33.0 ต่อปี 

เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย (1) สินเชื่อสำหรับสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (2) สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (3) สินเชื่อบ้าน (4) สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล (5) สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ

นอกจากนี้ สำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566  ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,830.7 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565 ร้อยละ 30.9 ต่อปี

‘เน็กซ์’ เดินหน้าส่งมอบยานยนต์หัวลากอีวี-รถบรรทุกอีวี หนุนผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตน้ำมันแพง-ลดต้นทุนการขนส่ง

(28 ก.ย. 66) นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เน็กซ์’ ผู้นำนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของเมืองไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ทำการส่งมอบยานยนต์หัวลากพลังงานไฟฟ้า 423.93 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ให้กับ บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งผู้นำด้านบริการขนส่งทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำไปใช้ในการขนส่งสินค้า ทดแทนรถบรรทุกเดิมที่ใช้พลังงานน้ำมัน ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนพลังงานน้ำมันในตลาดโลกที่ราคาพุ่งแรงอย่างมาก จึงเห็นว่ายานยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถช่วยลดต้นทุนพลังงานลงได้ และยังมีค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษาระยะยาวที่ถูกกว่ายานยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันอีกด้วย

“เรามั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างเน็กซ์ และมนต์ทรานสปอร์ต จะเป็นตัวจุดประกายให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานน้ำมันแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และที่สำคัญยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายคณิสสร์กล่าว

นายคณิสสร์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บริษัทยังได้ส่งมอบรถบรรทุกไฟฟ้า 6 ล้อ 15 ตัน ให้กับ บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ระดับแนวหน้าในเครือ CMA CGM Group เพื่อนำไปใช้ในการให้บริการด้านการขนส่งและจัดเก็บสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งความร่วมมือระหว่าง NEX กับ CEVA Logistics ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ Green Logistics Sustainability ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน ยังช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เน็กซ์มีความพร้อมเดินหน้าให้บริการอย่างเต็มกำลัง โดยโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 9,000 คันต่อปี และอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้รถอีวี โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถส่งมอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทุกประเภท ทั้งรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้า รวมไปถึงรถหัวลากไฟฟ้า ให้กับผู้ประกอบการได้ตามความต้องการ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ เน็กซ์มีรายได้รวมเติบโตแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้

ด้าน น.ส.ธีรินทร์ อู่ทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลลูกค้า บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า มั่นใจว่าการจับมือกับเน็กซ์ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถบรรทุกให้กับบริษัทตอบโจทย์ Green Logistics เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี ทั้งนี้ บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด ผู้นำด้านบริการขนส่งทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ด้วยทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท ผ่านการดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถบรรทุกจำนวนมากกว่า 1,000 คัน ตลอดจนการริเริ่มขยายการให้บริการในด้านบริหารจัดการคลังสินค้า

ขณะที่ นายสุตนัย เหมศรีชาติ ผู้อำนวยการขนส่งทางบก บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชั่นโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน ระดับแนวหน้าในเครือ CMA CGM Group กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของบริษัทที่มีความมุ่งสู่ Green Logistics Sustainability เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยวางเป้าให้บริการรถบรรทุกไฟฟ้าขนส่งสินค้า ทั้งหมด 1,450 คัน ในปี 2568 ทั่วโลก

‘EA’ คว้ารางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น ปี 66 สะท้อนองค์กรส่งเสริม-มุ่งเน้นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เข้ารับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น (รางวัลระดับสูงสุด) ประจำปี 2566 (Human Rights Awards 2023) ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ตอกย้ำความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กร ด้วยนโยบายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยได้รับเกียรติจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบรางวัล โดยมี นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้เข้ารับมอบรางวัล จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืน ภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) โดยนำนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงาน ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้ ผู้ถือหุ้น ผู้ร่วมค้า ตลอดจนชุมชนและสังคม ซึ่งถือเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการเติบโตของ EA อย่างต่อเนื่อง

รางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น นับเป็นรางวัลสูงสุดระดับประเทศ สะท้อนความสำเร็จในเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของ EA ในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักปรัชญาองค์กร ‘พลังงานบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ที่มีพลัง’ โดยมีเป้าหมายมุ่งมั่นที่จะตอบแทนสังคม ให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว 

EA ดำเนินธุรกิจ ‘Green Product’ ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere ซึ่งขับเคลื่อนธุรกิจโดยสร้างคุณค่าร่วมใน 3 แนวทางหลัก ดังนี้

แนวทางที่ 1 สนับสนุนประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions โดย EA มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2565 พร้อมพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารประจำทาง EV เป็นโครงการแรกของทวีปเอเชียที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต

แนวทางที่ 2 สร้างโอกาส-ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยกิจการเพื่อสังคม อาทิ การออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าที่เอื้อเฟื้อต่อกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้พิการที่ใช้วีลแชร์, ที่นั่งสำหรับสตรีมีครรภ์ เด็ก และคนชรา นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชน เช่น โครงการโรงเรียนวัว และโครงการ EASE Organic ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

แนวทางที่ 3  เคารพความหลากหลายอย่างเสมอภาค มีการพัฒนาพนักงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ Work from Anywhere พร้อมสร้างคุณค่าร่วมผ่านโครงการ Re-employment Program การรับผู้สูงอายุเข้าร่วมทำงานเพื่อแบ่งปันและแชร์ประสบการณ์

“รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลดีเด่น ที่สำคัญต้องขอบคุณพนักงานทุกคนที่ร่วมมือกันผลักดันนโยบายขององค์กร ซึ่งถือเป็นความท้าทายและสร้างโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าร่วมกันด้านสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน” นายอมร กล่าวทิ้งท้าย

'อ.ธนวรรธน์' เชื่อ 3 มาตรการเร่งด่วนรัฐบาล ช่วยเซฟเงิน ปชช.ได้เกือบ 5 หมื่นล้านบาท

(28 ก.ย. 66) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 4/2566 เศรษฐกิจจะได้แรงสนับสนุนจากมาตรการเร่งด่วนของ ‘รัฐบาลเศรษฐา 1’ เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้า มาตรการลดราคาน้ำมันดีเซล และการพักชำระหนี้เกษตรกร รวม 3 มาตรการประหยัดเงินได้ถึง 49,834 ล้านบาท และหากนำเงินราว 5 หมื่นล้านบาท จากกำลังซื้อประชาชนได้อัดฉีดในระบบเศรษฐกิจ มีผลต่อจีดีพีช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2566 ประมาณ 72,939 ล้านบาท โดยจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.43% ของจีดีพีที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4/2566

‘Swap & Go - OR’ รุกขยายสถานีสลับแบตฯ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เชื่อมต่อการเดินทางทุกรูปแบบ ตั้งเป้า 100 แห่ง ภายในปี 67

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ นายพิมาน พูลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) และนางสาวอาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด ตอกย้ำโปรเจกต์ความร่วมมือ ‘Swap & Go - Universal Battery Swapping Network Expansion Empowered by OR’ การขยายเครือข่ายแพลตฟอร์มสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของสวอพ แอนด์ โก ที่ใช้ได้กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ (Universal Swapping) ภายในสถานีบริการ PTT Station ของโออาร์ ตอบโจทย์การเดินทางที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว 

เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) ตั้งเป้าขยายจุดให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่ครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑลกว่า 100 แห่งในปี 2567 และบริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ผ่านเครือข่ายสถานีบริการ PTT Station เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาดและเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงาน โดยสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทุกมิติ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเติบโตไปพร้อมกัน

‘ดร.ดนุวัศ’ สรุป ‘10 เทคโนโลยีเกิดใหม่มาแรงปี 2023’ ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ใน 3-5 ปีข้างหน้า

เมื่อไม่นานมานี้ รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Danuvas Sagarik’ ถึง 10 เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มาแรงสุดในปี 2023 โดยระบุว่า…

😀10 อันดับ เทคโนโลยีเกิดใหม่สุดปัง ที่มาแรงสุดในปี 2023🌈

🎉 World Economic Forum ได้เผย 10 เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่น่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ได้แก่

📌 1. แบตเตอรี่แบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Batteries)

ในอนาคต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะเห็นได้จากพัฒนาการของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์พับได้ สมาร์ทโฟนพับได้

ทำให้แบตเตอรี่แบบแข็งอาจถูกแทนที่ด้วยแบตเตอรี่ที่ทำจากวัสดุน้ำหนักเบา บาง สามารถบิด งอ หรือยืดหยุ่นได้ง่าย 

📌 2. ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI)

เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการ ‘สร้างใหม่’ จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ด้วยอัลกอริทึม 

Generative AI กำลังได้รับความนิยม จากการปรากฏตัวของ ChatGPT และถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรม

📌 3. เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel)

เป็นอีกเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ท่ามกลางกระแสการคมนาคมสีเขียว (Green Transportation) ซึ่งรวมไปถึงความนิยมการใช้รถ EV 

แม้ปัจจุบัน Sustainable Aviation Fuel ถูกใช้ในสัดส่วนไม่ถึง 1% ของความต้องการเชื้อเพลิงเครื่องบินทั่วโลก 

แต่สัดส่วนดังกล่าวจำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 13-15% ภายในปี 2040 เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

📌 4. ไวรัสที่ถูกออกแบบ และปรับแต่งเพื่อใช้ทางการแพทย์ (Designer Phages)

เช่น สามารถใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับไมโครไบโอม เช่น กลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่ร้ายแรง ซึ่งส่งผลต่อไตและการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเกิดจากเชื้ออีโคไลบางชนิด

📌 5. Metaverse เพื่อสุขภาพจิต (Metaverse for Mental Health)

Metaverse หรือโลกเสมือนที่เปิดให้ผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน ผ่านการใช้เทคโนโลยี AR และ VR

ปัจจุบัน Metaverse ถูกนำไปใช้ในการรักษาสุขภาพจิตในหลายวิธี ซึ่ง Metaverse ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยผ่านการรักษาทางไกล

เช่น บริษัท DeepWell Therapeutics ที่สร้างวิดีโอเกมเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล

และบริษัท TRIPP ซึ่งสร้าง ‘Mindful Metaverse’ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนผ่านการเจริญสติ และการทำสมาธิ 

📌 6. เซ็นเซอร์ติดที่พืช (Wearable Plant Sensors)

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า การผลิตอาหารของโลกจะต้องเพิ่มขึ้น 70% เพื่อเลี้ยงประชากรทั้งโลกให้เพียงพอ ภายในปี 2050 

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านการเกษตรจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเสริมความแกร่งด้านความมั่นคงด้านอาหารของโลก

เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ติดที่พืชกำลังกลายเป็นวิธีตรวจสอบสุขภาพและคุณภาพของพืชที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สุขภาพของพืชผลต่าง ๆ ดีขึ้น และมีผลผลิตมากขึ้น

อุปกรณ์มีขนาดเล็ก และไม่รบกวนพืช ใช้ติดเข้ากับพืชต่าง ๆ เพื่อการตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้น และระดับสารอาหารได้อย่างต่อเนื่อง 

ทำให้เกษตรกรควบคุมการใช้น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคได้ดีขึ้น

📌 7. เทคโนโลยีที่ใช้วิเคราะห์โมเลกุลในพื้นที่ที่เซลล์หรือโครงสร้างชีวภาพต่าง ๆ อยู่ (Spatial Omics)

Spatial Omics จึงอาจให้คำตอบแก่นักวิจัยได้เพิ่มขึ้น ด้วยการรวมเทคนิค ‘การถ่ายภาพขั้นสูง’ เข้ากับความเฉพาะเจาะจงและความละเอียดของการจัดลำดับ DNA 

วิธีการที่เกิดขึ้นใหม่นี้ช่วยทำให้นักวิจัยค้นพบความลึกลับของสิ่งมีชีวิตได้มากขึ้น และดูรายละเอียดเซลล์ และเหตุการณ์ทางชีววิทยาที่ไม่สามารถสังเกตได้ก่อนหน้านี้

📌 8. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อระบบประสาทแบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Neural Electronics)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างคลื่นสมองและคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ภายนอก อื่น ๆ หรือ Brain-Machine Interfaces (BMI) เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ 

และถูกนำมาใช้ในหลายกรณี เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู และแขนขาเทียมที่เชื่อมต่อกับระบบประสาท ทำให้เกิดการจินตนาการเกี่ยวกับศักยภาพในการควบคุมเครื่องจักรด้วยความคิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

📌 9. คลาวด์คอมพิวติงแบบยั่งยืน (Sustainable Computing)

ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลง มนุษย์จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็กำลังพึ่งพาข้อมูลมากขึ้น 

ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าและการปล่อยความร้อนของศูนย์ข้อมูล (Data Center) สำหรับเทคโนโลยี Cloud Computing มากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการขยายตัวของ Metaverse AI และเทคโนโลยีอื่นๆ 

แต่คาดว่าในทศวรรษหน้า ศูนย์ข้อมูลที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และ Sustainable Computing จะมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างมาก 

📌 10. การดูแลสุขภาพที่ใช้ AI (AI-Facilitated Healthcare)

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างระบบสาธารณสุขที่น่าเชื่อถือมากขึ้น 

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นหนึ่งแนวทางสำคัญในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ลดความล่าช้าที่ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเจอเมื่อพยายามเข้ารับการรักษาพยาบาลผ่านระบบ 

เช่น บริษัท Medical Confidence ที่ใช้ AI เพื่อจัดการความต้องการในการรักษาของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้ช่วยลดเวลารอการรักษาได้อย่างมาก บางกรณีช่วยลดเวลารอจากหลายเดือนเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

นอกจากนี้ AI ยังสามารถอำนวยความสะดวกในการระบุรายละเอียดที่สำคัญทางรังสี หรือภาพ CT ที่แพทย์อาจมองข้ามได้ และการรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างข้อมูลเชิงลึกต่อไปได้อีกด้วย

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18 - 22 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้แนวโน้ม 25 - 29 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบทุกชนิดเฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปตึงตัว หลังกระทรวงพลังงานรัสเซียประกาศห้ามส่งออก Gasoline และ ดีเซลไปยังทุกประเทศ ยกเว้นอดีตรัฐโซเวียต 4 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนียและคีร์กีซสถาน เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 66 เพื่อสร้างเสถียรภาพตลาดภายในประเทศ 

วันที่ 22 ก.ย. 66 บริษัทผู้ดำเนินการท่อขนส่งน้ำมัน Transneft ของรัสเซียหยุดลำเลียงดีเซลทางท่อสู่ท่าส่งออก Primorsk ชายฝั่งทะเล Baltic ปริมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และท่าส่งออก Novorossiysk ชายฝั่งทะเลดำ ปริมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวัน (รวมคิดเป็น 60% ของปริมาณส่งออกดีเซลของรัสเซีย) ซึ่งในช่วงปี 2566 รัสเซียส่งออกดีเซลเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ส่งออก Gasoline ประมาณ 160,000 บาร์เรลต่อวัน และอุปทานน้ำมันโลกตึงตัวจากมาตรการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC+

วันที่ 20 ก.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25 - 5.50% อย่างไรก็ตาม ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 5.50 - 5.75% ภายในสิ้นปี 2566 (การประชุม FOMC ครั้งถัดไปวันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66) และจะเริ่มปรับลดในปี 2567 และ 21 ก.ย. 66 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) ของธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) มีมติ 5-4 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25%  

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 90-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top