เมืองไทยวันนี้ 'ยอดผลิตรถยนต์วูบ โรงงานทยอยปิด' สะท้อนกำลังซื้อ 'ทรุด' เศรษฐกิจฐานราก 'อ่อนแอ'
การทยอยประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย ทั้งจากซูบารุ ซูซูกิ 2 ค่ายใหญ่ ตามด้วย มิตซูบิชิ ที่เลิกจ้างพนักงานซับคอนแทรค กว่า 400 คน ก็คงพอรับรู้กันได้
.
ย้อนไปดูข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลการผลิตรถยนต์ ในเดือนเมษายน 2567 มีจำนวน 104,667 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.02 ส่งผลให้ 4 เดือนแรก ของปีนี้ มียอดผลิตรถยนต์ 518,790 คัน ลดลง ร้อยละ 17.05 โดยเฉพาะรถกระบะ ที่มีการผลิตลดลง ถึงร้อยละ 45.94
.
ส่วนการผลิตรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 161,912 คัน ลดลงร้อยละ 4.36 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี 2566 ยอดการผลิตใน 4 เดือนแรก มีจำนวน 821,695 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.94
ทั้งรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ และรถจักรยานยนต์ มียอดการผลิตที่ลดลง สอดคล้องกับยอดจำหน่ายที่ลดลง ซึ่งสามารถสะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชนได้เป็นอย่างดี
แน่นอนว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ไฟแนนซ์ มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ภาพรวมของหนี้ NPL สูงขึ้น ทั้งในกลุ่มบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์
สอดคล้อง กับที่ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า… ‘วิกฤตฐานราก’, Balance Sheet Recession, The Lost Decades ฯลฯ... ตอนนี้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ไทยกำลังพูดถึงเรื่องเดียวกัน
ถ้ามองภาพการเงินของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ในรูปของ ‘งบดุล’ โดยที่ฝั่งซ้ายเป็นสินทรัพย์ ส่วนฝั่งขวาเป็นหนี้สิน Balance Sheet Recession คือสภาพที่ฝั่งหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝั่งสินทรัพย์มีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ... สภาพเช่นนี้เป็น ‘กับดักหนี้’ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยากมาก
ตอกย้ำด้วยข้อมูลจาก ธปท. อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากผลของฐานค่าไฟฟ้าในปีก่อนที่ต่ำจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นตามการทยอยลดมาตรการของภาครัฐ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์และผักที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง
หนี้สินภาคครัวเรือน ต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 91.3 หนี้สินภาคธุรกิจ ต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 87.3 ซึ่ง เมื่อภาระหนี้สูง กำลังซื้อ การบริโภคภาคครัวเรือน ย่อมลดลง เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยหวังการจับจ่ายของประชาชน แทบจะลืมไปได้เลย
รัฐบาล หาช่องทางแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติ ขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี และถือครองคอนโด ได้ถึง 75% โดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน ..!!
หากย้อนกลับไปในปี 2564 ความพยายามในการแก้ไขกฎหมายให้ต่างชาติที่ถือครองที่ดิน เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดย ครม. มีมติจะแก้กฎหมายให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม จากร้อยละ 49 เพิ่มเป็นร้อยละ 70 ชาวต่างชาติที่มาลงทุนในไทยเกิน 40 ล้านบาท สามารถซื้อบ้านเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ มีข้อกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวด แต่ก็ถูกคัดค้าน ถูกกระแสสังคมต่อต้าน จนต้องกลับไปศึกษาใหม่
ชาวทวิตเตอร์ที่ติดแฮชแท็ก ‘ขายชาติ’ ในช่วงนั้น ช่วยกลับมาติดตามข่าวการเมืองหน่อย ติดตามว่าใครจะได้ประโยชน์ จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายนี้ ช่วยมาติดตามข่าวเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้ ‘ประชาชนจะอดตาย’ กันแล้ว