ไทยเล็งเก็บ ‘Carbon Tax’ เป็นชาติที่ 2 ในอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์ กำหนดราคากลางที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนฯ คาด!! ดีเดย์ปลายปี 68

(28 มิ.ย. 67) Business Tomorrow รายงานว่า กรมสรรพสามิตไทย ได้เปิดเผยถึงการเตรียมใช้ภาษีคาร์บอนเป็นกลไกภาคบังคับเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หวังให้ผู้ส่งออกใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม CBAM

ทั้งนี้ การกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนในรูปแบบภาคบังคับจะสามารถนำไปนำไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่อียูจะเรียกเก็บจากผู้นำเข้าสินค้าไปยังอียูในปี 2569 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกในระยะแรก

คาดว่าภาษีคาร์บอนของไทยสามารถบังคับใช้อย่างเร็วสุดภายในปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567) เพื่อให้ทันการเก็บค่าธรรมเนียม CBAM ในปี 2569 ขณะที่ พ.ร.บ. Climate Change ที่จะเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับในรูปแบบ ระบบ Emission Trading Scheme (ETS) น่าจะบังคับใช้ได้ในปี 2572

>> ค่าธรรมเนียม Carbon Tax ของไทยจะอยู่ที่เท่าไหร่ ?

ดังนั้น ในระยะแรกจึงเป็นเรื่องที่ดี หากมีการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการผูกกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แล้ว เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน เพื่อไม่สร้างภาระทางภาษีเพิ่มแก่ประชาชน และสามารถให้ผู้ส่งออกใช้ประโยชน์ในระหว่างรอกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับจาก พ.ร.บ. Climate Change ในภายหลัง 

ทั้งนี้ประเทศไทยอาจกำหนดราคากลางที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งน้อยกว่าราคาคาร์บอนของอียู (EU ETS) หรือ Carbon Tax ของสิงคโปร์ที่อยู่ที่ประมาณ 2,700 และ 700 ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การมีกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ในรูปแบบภาคบังคับจะช่วยผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปยัง EU หรือประเทศที่มีการใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายให้แก่ประเทศที่บังคับใช้ได้

ทั้งนี้ ผลกระทบอาจแบ่งเป็น 2 ระยะ

- ระยะแรก ผู้ส่งออกใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม CBAM โดยไม่มีภาระภาษีภายในประเทศเพิ่ม เนื่องจากใช้ภาษีสรรพสามิตแปลงมาเป็นภาษีคาร์บอน ในช่วงก่อนมี พ.ร.บ. Climate Change ทั้งนี้ภาครัฐควรจัดหากลไกกองทุนเพื่อนำรายได้ดังกล่าวสนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดด้วย

- ระยะหลังจากที่ พ.ร.บ. Climate Change บังคับใช้ จะมีกลไก Emission Trading Scheme และการกำหนดพิกัดอัตราภาษีคาร์บอนที่ยังไม่เก็บอยู่เดิม จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมภายในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นไปตามบริบทของการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโลก