Friday, 9 May 2025
ECONBIZ

จับตา คลังเตรียมเสนอ ครม. ยืดเก็บ VAT 7% ต่ออีก 2 ปี          

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ขยายเวลามาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 7% ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2564 ออกไปอีก 1-2 ปี เพื่อเบาเทาความเดือดร้อนประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19"สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดโควิด-19 ตอนนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการขึ้นภาษี VAT ดังนั้นกรมสรรพากรจึงเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาการเก็บภาษี VAT 7% ออกไป 1 หรือ 2 ปี โดยการที่เสนอทางเลือกให้ขยายนานถึง 2 ปีด้วยนั้น เพราะเห็นว่าโควิด-19 ยังกระทบกับเศรษฐกิจอีก 1-2 ปี ถึงจะเริ่มฟื้นตัวได้ และที่ผ่านมาการเสนอคง VAT ก็จะมีทั้ง 1 ปี และขอขยายทีเดียว 2 ปีเลย หากเห็นว่าเศรษฐกิจมีปัญหามาก เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีความมั่นใจและวางแผนธุรกิจในระยาวได้" แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การคงเก็บภาษี VAT ที่ 7% จะไม่กระทบกับการเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 เนื่องจากการทำงบประมาณในส่วนของการประมาณการเก็บรายได้มีการประเมินไว้แล้วว่าจะไม่มีการเพิ่มภาษี VATอยู่แล้ว โดยการขึ้นภาษี VATทุก 1% จะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่านายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง จะนำข้อเสนอเรื่องการขยายเวลามาตรการลดการจัดเก็บภาษี VAT จาก 10% เหลือ 7% ออกไปอีก 1 ปี หรือ 2 ปี ให้ ครม. พิจารณาภายในเดือนนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้วางแผนในการลงทุนและเกิดความมั่นใจเศรษฐกิจมากขึ้น

"การคงภาษี VAT 7% ไม่ได้ขึ้นเป็น 10% ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง แต่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า เพราะในวิกฤตโควิด-19ที่เศรษฐกิจขยายตัวลดลงมาก ประชาชนและผู้ประกอบการมีรายได้ลดลง แต่รายจ่ายยังเท่าเดิม การขึ้น VATตอนนี้จะเป็นการซ้ำเติมให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีภาระมากขึ้น จนทำให้มีปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวลดลงเพิ่มมากขึ้นไปอีก" แหล่งข่าว ระบุ

กระทรวงแรงงาน ออกระเบียบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฉบับใหม่ อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างใช้สิทธิรับเงินสงเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้น

กระทรวงแรงงานเผยราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.2564 เป็นต้นไป อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างใช้สิทธิรับเงินสงเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งส่งผลกระทบต่อลูกจ้างที่ได้รับ ความเดือดร้อนจากการเลิกจ้าง และอาจไม่ได้รับการชดเชยตามกฎหมาย กรณีที่ลูกจ้างได้ยื่นเรื่องขอใช้สิทธิรับเงินช่วยเหลือจากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งติดระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว กระทรวงแรงงานจึงได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศระเบียบดังกล่าวแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป การแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างครั้งนี้ประเด็นสำคัญคือให้ลูกจ้างได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าถึงสิทธิการขอรับเงินสงเคราะห์อย่างทั่วถึง

นางโสภา เกียรตินิรชา โฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฉบับใหม่นี้ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ กรณีนายจ้างนำคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานจะต้องรอคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดลูกจ้างจึงมีสิทธิขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งได้แก้ไขระเบียบดังกล่าวเป็นลูกจ้างสามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ โดยไม่ต้องรอคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด หรือนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปโดยพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว แม้คำสั่งนั้นไม่เป็นที่สุด และขยายระยะเวลาการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ เดิมลูกจ้างต้องยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด แก้ไขระเบียบเป็น ลูกจ้างสามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด นอกจากนี้การรักษาสิทธิในการยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ เดิมลูกจ้างจะต้องมารับเงินสงเคราะห์ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ทราบผลการพิจารณาจ่ายเงินสงเคราะห์ หากไม่มารับเงินภายใน 60 วัน สิทธิการรับเงินสงเคราะห์นั้นเป็นอันระงับ แก้ไขระเบียบดังกล่าวเป็นกรณีลูกจ้างไม่สามารถมารับเงินภายใน 60 วัน ลูกจ้างสามารถยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ใหม่ได้ภายใน 1 ปี หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 

เศรษฐกิจไทยน่าห่วง แบงก์ชาติจับตาผู้ว่างงานพุ่ง

ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ปี 2563-2565 รายได้จากการจ้างงานจะหายไปรวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

ขณะที่การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน (ผู้ที่มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดถึง 3 เท่าตัว

ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยอัตราการว่างงานของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 64 ว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยการว่างงานยังอยู่ที่ระดับ 1.9% ใกล้เคียงกับ 2% ในไตรมาสก่อน แต่ยังคงอยู่สูงกว่า 1% ในปี 62 ช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อพิจารณาในรายสาขาการผลิตพบว่าสาขาท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งสาขาด้านการผลิตสื่อและกิจกรรมบันเทิงอื่น ๆ ยังได้รับผลกระทบรุนแรง และมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในช่วงนี้ที่กำลังเกิดวิกฤตจากการบาดของไวรัสโควิดอย่างหนัก  


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

บอร์ดพืชน้ำมัน เคาะแผนบริหารการนำเข้ามะพร้าวปีนี้

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการบริหารการนำเข้ามะพร้าวผล ตามกรอบความตกลง AFTA ปี 2564 ช่วงที่ 2 (เดือนก.ย. – ธ.ค. 2564) โดยใช้ผลการรับซื้อผลผลิตมะพร้าวในประเทศของผู้ประกอบการฯ ตั้งแต่วันที่  1 ม.ค. - 6 ส.ค. 2564 มาพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้าในอัตรา 1 : 2.5 (นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2.5 ส่วน) จำนวน 15 ราย รวมปริมาณจัดสรรนำเข้า 78,477 ตัน  

นอกจากนี้ เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ได้มีมติเห็นชอบการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ  ภายใต้ความตกลง WTO ปี 2564 โดยใช้หลักการคำนวณที่ปริมาณสินค้ามะพร้าว 311,235 ตัน ซึ่งคำนวณจากข้อมูลปริมาณการนำเข้ามะพร้าว ย้อนหลังเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2561 – 2563) โดยหากมะพร้าวที่นำเข้ามาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ 311,235 ตัน ทางกรมศุลกากรจะจัดเก็บอากรในอัตราที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ สศก. คาดการณ์ ว่า ปี 2564 จะมีผลผลิตมะพร้าว 0.876 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 1.269 ล้านตัน และคาดว่าในปีนี้ จะมีการนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์รวม 0.418 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ในเดือนสิงหาคม 2564 เฉลี่ยผลละ 8.19 บาท ลดลงจาก 11.91 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือลดลง 31.23%

การบินไทย เปิดตารางบิน ส.ค. – ต.ค.นี้ ทั้งในและต่างประเทศ

นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศ ระหว่างเดือนส.ค. – ต.ค. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการการเดินทาง รวมทั้งปรับตารางบินให้เป็นไปตามกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในเส้นทางในประเทศ ประกอบด้วย เส้นทาง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ได้แก่ เที่ยวบินที่ ทีจี 922 ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี และเที่ยวบินที่ ทีจี 916 ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์ โดยเริ่มทำการบิน ตั้งแต่ เดือนก.ย.-ต.ค.2564 

ส่วนเส้นทางสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ คือ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-แฟรงก์เฟิร์ต ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-ลอนดอน ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์, เส้นทาง กรุงเทพฯ-ปารีส-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออก จากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี และเส้นทาง กรุงเทพฯ-ซูริก-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์

ขณะที่ เส้นทางยุโรปและออสเตรเลีย คือ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ลอนดอน ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ และอาทิตย์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน  โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันเสาร์ และอาทิตย์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โคเปนเฮเกน ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร และเสาร์ (หมายเหตุ : เดือนกันยายนทำการบินเฉพาะวันเสาร์), เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ซิดนีย์ ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ และอาทิตย์

รวมถึงเส้นทางเอเชีย คือ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ โดยให้บริการในเดือนต.ค. 2564, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โอซากา ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกพฤหัสบดี และเสาร์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) ทำการบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร พฤหัสบดีและเสาร์

เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ) ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร และเสาร์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นาโกยา ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี และอาทิตย์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โซล ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี และอาทิตย์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ไทเป ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ และศุกร์ และเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-จาการ์ตา ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ

ว่างงานยังน่าห่วงไตรมาสที่ 2 พุ่งเกือบ 2%

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยอัตราการว่างงานของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 64 ว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยการว่างงานยังอยู่ที่ระดับ 1.9% ใกล้เคียงกับ 2% ในไตรมาสก่อน แต่ยังคงอยู่สูงกว่า 1% ในปี 62 ช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อพิจารณาในรายสาขาการผลิตพบว่าสาขาท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งสาขาด้านการผลิตสื่อและกิจกรรมบันเทิงอื่น ๆ ยังได้รับผลกระทบรุนแรง และมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในช่วงนี้ที่กำลังเกิดวิกฤตจากการบาดของไวรัสโควิดอย่างหนัก  

สำหรับสาขาที่มีการว่างงานสูงสุด พบว่า สาขาตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยว มีอัตราการว่างงาน 23.8% สาขาการขนส่งทางอากาศ 21.2% สาขาที่พักแรม 10.6% สาขาการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ การบันทึกเสียงลงบนสื่อและการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ดนตรี 5.3% สาขาการจัดผังรายการและการแพร่ภาพกระจายเสียง 4.8% สาขากิจกรรมด้านการกีฬา ความบันเทิง และการนันทนาการ 3.6% สาขากิจกรรมไปรษณีย์และการรับส่งพัสดุภัณฑ์ 3.1% และสาขากิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะและความบันเทิง 2.8%  

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกตามสาขาอาชีพ จากข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 63 ทุกอาชีพมีอัตราการว่างงานสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดีในปี 64 ยังมีอัตราการว่างงานในบางสาขาอาชีพลดลงจากปีก่อน ทั้ง พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด ผู้ปฏิบัติการเครื่องจักรโรงงานและเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้าน การประกอบ ขณะที่ในบางสาขาอาชีพอัตราการว่างงานยังคงเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ช่างเทคนิคสาขาต่าง ๆ และผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเสมียน  

ไชโย! “จุรินทร์” เคาะจ่ายชดเชยฝายหัวนา 350 ราย 34.66 ล้านบาท หลังรอมา 20 ปี

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้เวลา 14.30  น. มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ Zoom ณ ห้อง 201 สภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาครั้งที่ 2 / 2564 ซึ่งฝ่ายเลขาคือสำนักกฎหมายและที่ดินกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าขนย้าย กรณีที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770-1-59 ไร่ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน


 โดยมติที่ประชุม เห็นชอบรายชื่อราษฎรผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเขตการก่อสร้างที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนค่าขนย้าย (ที่ดิน) ตามหลักเกณฑ์แห่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองคณะ จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770-1-59 ไร่ เป็นเงิน 34.66 ล้านบาท โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

"และรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ยังได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ทั้งนี้ไม่ให้เป็นปัญหายืดเยื้อและให้อำนวยความสะดวกให้กับราษฎรอย่างเต็มที่เนื่องจากที่ผ่านมาใช้เวลาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้นานมากแต่สำเร็จในยุคนี้ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่ราษฎร " รองโฆษกรัฐบาล  กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ใช้เวลาพอสมควรเนื่องจากนายจุรินทร์ต้องการเร่งรัดแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งยืดเยื้อมานานสำหรับการประชุมครั้งนี้นอกจากตัวแทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้วยังมีผู้แทนกลุ่มราษฎรในพื้นที่ทุกฝ่ายเข้าร่วมด้วย เช่น ตัวแทนสมัชชาคนจนตัวแทนราษฎรตำบลโนนสัง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยืดเยื้อมา 20 ปีเพราะการพิสูจน์สิทธิและการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่มีผู้แทนหลายกลุ่ม แต่ยุติได้ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาชุดนี้เพราะมีนายจุรินทร์ เป็นประธาน เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ใช้ข้อมูลประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเกษตรกรควบคุมการประชุมให้ความขัดแย้งในตัวแทนชาวบ้านยุติและเกิดความยุติธรรม ซึ่งหลังจากนี้ไปจะมีการนำเข้าอนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและจ่ายเงินให้เกษตรกรตามสิทธิเป็นลำดับถัดไป

เดินหน้า "5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย" ฝ่าวิกฤติโควิด กระทรวงเกษตรฯ ผนึกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์คิกออฟสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส.ครั้งแรกในไทย “อลงกรณ์”เล็งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับอาเซียน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางและแผนดำเนินการขับเคลื่อน”สภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส.แห่งประเทศไทย”วันนี้ว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมากโดยมีมูลค่ากว่า1แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า3ล้านล้านบาท มีอัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่วนตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทยมีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท ยังขยายตัวได้อีกมากด้วยนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ๆ

คาดว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องสุขภาพจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ทวีมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งเป็นสินค้าเกษตรแห่งอนาคต(Future Food)ที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกได้อย่างมากจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การแปรรูป การบริโภค การค้าสินค้า และ การบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและได้จัดให้มี "ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564" โดยมีคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติและคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกระดับนโยบายและมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภายใต้3คณะทำงานได้แก่คณะกรรมการด้านเกษตรอินทรีย์ คณะทำงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสานและคณะทำงานด้านวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ


ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดงบประมาณปี 2564จำนวน 1.9 พันล้านบาทสนับสนุนโครงการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆรวมทั้งสิ้น 209 โครงการเช่นโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ 

สำหรับปี2563ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานได้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการปี 2564-2565เดินหน้าจัดทำร่าง พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืนพร้อมกับอนุมัติให้มีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติรวมทั้งการจัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Urban Farming)และโครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank) เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติโควิด19ได้มอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)จัดทำหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม(PGS)พร้อมกับจัดตั้ง”สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.(PGS)แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก

วันนี้จึงถือเป็นวันดีเดย์ก้าวแรกของสภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส. ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรเกษตรอินทรีย์หลักๆเช่น มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิ เกษตรกรรมยั่งยืน สมําพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่ง ประเทศไทย  ยังมีกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส ในเครือข่ายอื่นๆ อีกเป็นจํานวนมากที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส และแผนดําเนินงานขับเคลื่อนระบบ พี จี เอสของประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
(1) เพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์
(2) เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์
(3) เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
(4) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาค

การจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องบริหารเชิงกลยุทธ์แบบSand Box Modelให้เกิดความคล่องตัวเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นทั้งนี้จะต้องพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์โดยเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC)อย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบออนไลน์และออฟไลน์เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเชื่อมโยงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผลผลิตทั้งพืชและสัตว์กับโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมเกษตรอุตสาหกรรม ประการสำคัญคือจะต้องมีรวมศูนย์ข้อมูลกลางของเกษตรอินทรีย์ซึ่งสามารถใช้ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center:NABC)ได้ทันทีและควรยึดหลัก”Zero Kilometer”คือ”ผลิตที่ไหนขายที่นั่น”จะได้ผลิตตามความต้องการของตลาดที่ใกล้ตัวที่สุดจากในชุมชนสู่ภายในจังหวัดในระดับภาคระดับประเทศและต่างประเทศตาม5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แก่ตลาดนำการผลิต,เทคโนโลยีเกษตร4.0,3S(safety-security-sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน,ศาสตร์พระราชาและบูรณาการเชิงรุกทุกภาคส่วน
เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4ประการ
(1) เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ ภายในปี 2564
(2) เพิ่มจำนวนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี 2564
(3) เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออกโดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60
(4) ยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น

“สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.ต้องบูรณาการ360องศา เปิดกว้างสร้างพันธมิตรทำงานเชิงโครงสร้างและระบบ วันนี้เป็นวันแรกเป็นช่วงของการจัดตั้งและเดินหน้า(Setup Startup)ต่อด้วยการเชื่อมโยงต่อยอดให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ สภาเกษตรอินทรีย์เปรียบเสมือนคานงัดที่จะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่ออนาคตของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยของเรา”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

การประชุมสัมนาเชิงปฏิบัติครั้งนี้มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษมอบนโยบายโดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวรายงาน  ผ่านระบบ zoom cloud meeting โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมกว่า300คนรวมทั้งนายสำราญ สารบรรณ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรและอดีตอธิบดีกรมการข้าว นางจินตนา อินทรมงคล ผู้แทนมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย นายอนันตโชค ศักดิ์สวัสดิ์ ผู้แทนสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส นายอนุรักษ์ เรืองรอบ ตัวแทนสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย นายชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้แทนสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย  นายสมนึก ยอดดำเนิน จากบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และผู้แทนเกษตรกร และผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านเกษตรอินทรีย์ 

กระทรวงอุตสาหกรรม วอนโรงงานตรวจเข้มมาตรการป้องกันโควิด ด้วย “Bubble and Seal” และเข้าประเมินตนเองออนไลน์ TSC ด้านผลวิเคราะห์ชี้!! ประเมินแล้ว​ ช่วยลดการระบาดโควิด ได้ 4.5 เท่า

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมหารือร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานที่ยังคงพบ ผู้ติดเชื้อโควิดต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งต่อการพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ  จากการส่งออก การบริโภค การจ้างงานและธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ โดยจะดำเนินการร่วมกันดังนี้

1.) ปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ภายในสถานประกอบการ ให้เหมาะสมกับโรงงานทุกขนาด พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ

2.) สร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำการทำ Bubble and Seal ในรูปแบบ Coaching คือคอยให้คำแนะนำแนวทางและให้ความช่วยเหลือ ทั้งรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้ พร้อมกันทั่วประเทศ

3.) ปรับเกณฑ์ Good Factory Practice : GFP เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก การรถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน

4.) เร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่าง ๆ ในเชิงรุก อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากฐานข้อมูลที่ได้รับจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรงงานที่เข้าประเมิน TSC แล้ว  มีแนวโน้มการติดเชื้อโควิดน้อยกว่าโรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่า ดังนั้นจึงขอเชิญชวนโรงงานทุกขนาด ได้เข้าประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงาน

ด้านนายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ CMC : Crisis Management Center กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 17 สิงหาคม 2564 พบการระบาดของโรงงานทั้งสิ้น 749 แห่ง มีผู้ติดเชื้อจำนวน 53,135 คน ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด สำหรับ 5 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี 4,597 คน ฉะเชิงเทรา 3,648 คน สระบุรี 3,647 คน  สมุทรสาคร 3,571 คน และเพชรบูรณ์ 3,487 คน

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 136 โรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 103 โรงงาน อุตสาหกรรมโลหะ 65 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 64 โรงงาน และอุตสาหกรรมพลาสติก 57 โรงงาน

“แม้ว่าภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อใหม่ในโรงงานเพิ่มวันละประมาณ 13 แห่ง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละกว่า 800 คน หรือประมาณ 4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศ โดยแนวโน้มการระบาดในช่วงนี้จะไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ แต่จะกระจายตัวไปในหลายโรงงาน หลายจังหวัดและพบผู้ติดเชื้อเป็นหลักสิบ

ขณะที่ผู้ติดเชื้อในช่วงเมษายน - 17 สิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้หายป่วยและกลับมาทำงานได้แล้วจำนวนมาก เช่น ใน 10 ลำดับโรงงานที่พบการระบาดของเชื้อโควิดมากที่สุด มีผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 16,798 คน พบแรงงานหายป่วยแล้ว 12,954 คน หรือคิดเป็น 77% ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ติดเชื้อในโรงงานจะใช้เวลารักษาตัว 14-28 วัน ก็จะกลับมาทำงานได้ เนื่องจากอยู่ในวัยหนุ่มสาว สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีบางส่วนได้รับการฉีดวัคซีนด้วยแล้ว

สำหรับข้อมูลโดยละเอียดกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการรายงานฯ ให้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ครอบคลุมทุกมิติ และพร้อมเชื่อมต่อข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ในข้อมูลร่วมกัน”

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีโรงงานเข้าประเมินออนไลน์ใน TSC แล้วจำนวน 20,032 แห่ง คิดเป็น 31% จากโรงงานทุกขนาด 64,038 แห่ง โดยรวมพบโรงงานผ่านเกณฑ์ จำนวน 13,235 แห่ง หรือคิดเป็น 66% และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,797 แห่ง หรือคิดเป็น 34% ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับเมื่อเข้าประเมินตนเองในแฟลตฟอร์ม TSC คือ เราจะทราบทันทีว่า สิ่งที่โรงงานดำเนินการอยู่ ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ กรณีไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนใด ซึ่งการดำเนินการยกระดับให้ผ่านเกณฑ์ TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal จะเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายเดชาฯ กล่าว


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

พาณิชย์ยันยอดส่งออกผลไม้ไทยยังโตสูง 

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้การส่งออกผลไม้สดของไทยไปยังประเทศจีนในครึ่งปีแรก (ม.ค. -มิ.ย. 2564) มีมูลค่าสูงถึง 74,539.44 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 64.89%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยผลไม้สดที่มีอัตราขยายตัวสูงได้แก่ สับปะรด 90.94% ทุเรียน 83.56% และ ลำไย 70.71% ซึ่งประเทศจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงของไทย

ทั้งนี้แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้จีนได้มีมาตรการที่เข้มข้นในเรื่องความปลอดภัยด้านโควิดที่อาจปนเปื้อนมากับสินค้ามากขึ้น แต่ล่าสุดกรมฯ ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ในจีนได้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นได้ภาพลักษณ์สินค้าอาหารของไทยว่าปลอดการปนเปื้อนจากเชื่อโวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเข้าใจด้านอาหารปลอดภัยของไทย โดยผลไม้ที่ส่งออกจะมีการควบคุมมาตรฐานทุกขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติการส่งออกที่กำหนดไว้

พร้อมกันนี้ ทูตพาณิชย์ของไทยในจีนยังได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายและยกระดับการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดจีนในเมืองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อเช่น การจัดงาน Thai Fruits Golden Months ร่วมกับห้างสรรพสินค้า ในเมืองชิงต่าว คุนหมิง และเมืองเซี่ยเหมิน โดยผลไม้ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว ส้มโอ เป็นต้น และกรมฯมีแผนจะจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีต่อไป เพื่อกระตุ้นยอดขายและสร้างการรับรู้ผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จัดของผู้ซื้อมากขึ้นด้วย

"ประวิตร" ลั่น ไม่ทอดทิ้งแรงงานได้รับผลกระทบโควิด กำชับ ก.แรงงาน เร่งเยียวยาผู้ประกันตนทุกกลุ่ม-จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว-ป้องกันค้ามนุษย์

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ของกระทรวงแรงงาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับแรงงาน 76จังหวัด สำนักงานแรงงานใน ต่างประเทศ โดยก่อนประชุม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นำ นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าแท็กซี่ไทย นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย และนางญาดา พรเพชรรัมภา นายกชมรมหาบเร่แผงลอย กทม. เข้าพบเพื่อขอบคุณและมอบของที่ระลึกแก่พล.อ.ประวิตร ที่ช่วยเหลือ เยียวยาแรงงานทั้ง 3 กลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

จากนั้นพล.อ.ประวิตร รับฟังรับฟังการรายงานผลงานของ ก.แรงงานในรอบ 1 ปี มีผลงานสำคัญ อาทิ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ ผ่านการอบรมแล้ว 110,110 คน มีงานทำแล้วคิดเป็น ร้อยละ 69.79 มีรายได้เฉลี่ย 14,152 บาทต่อเดือน การส่งเสริมการมีงานทำสามารถบรรจุงานได้ 1,313,591 คน ก่อให้เกิดรายได้ 75,728 ล้านบาทเศษ การคุ้มครองและแก้ไขปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้ลูกจ้าง 16,000 คน วงเงิน 850 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพ การบังคับใช้กม.โดยมีการตรวจสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ 1,211 แห่ง  และเยียวยาแรงงาน ผู้ประกันตน ลดเงินสมทบกว่า 12 ล้านคน นายจ้างกว่า 480,000คน เยียวยาเหตุสุดวิสัย 50% ให้ผู้ประกันตน 198,432 คน โครงการ ม.33 เรารักกัน 8,140,000 คน รวมทั้งการเยียวยาในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ในการตรวจเชิงรุก และการรักษาโควิด-19 อย่างทั่วถึง เป็นต้น

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอชื่ชมการทำการของรัฐมนตรี ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของ ก.แรงงานทุกคน ที่ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม มีผลงานเชิงประจักษ์ และขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือทั้งนายจ้าง และผู้ประกันตน ม.33 ,39 และ 40 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่รอการช่วยเหลือให้ครบถ้วนและทั่วถึง รวมทั้งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และเน้นย้ำป้องกันการค้ามนุษย์โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด

สสว. จับมือ SME D Bank เตรียมปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย 1% ต่อปี เปิดยื่นกู้มาก่อน มิสิทธิ์ก่อน มุ่งช่วยเอสเอ็มอีท่องเที่ยว ร้านอาหาร พื้นที่ จว.เปิดการท่องเที่ยว กับควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

สสว. จับมือ SME D Bank เตรียมปล่อยกู้ “โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย” วงเงิน 1,200 ล้านบาท  ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน กลุ่มท่องเที่ยว, ธุรกิจโรงแรม, ห้องพัก, เกสต์เฮ้าส์ และสปา ใน 10 จังหวัดนำร่องเปิดการท่องเที่ยว 

รวมถึง ธุรกิจภัตตาคาร และร้านอาหาร ใน 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ชูพิจารณาสอดคล้องตามสถานการณ์จริง จากฐานการเสียภาษีปี 62 หรือ 63 ที่ผ่านมา วงเงินกู้ บุคคลธรรมดาสูงสุด 3 แสนบาท นิติบุคคลสูงสุด 5 แสนบาท กำหนดเปิดแจ้งความประสงค์ผ่านออนไลน์ ในรูปแบบมาก่อนมีสิทธิ์ก่อน

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของทางการ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮ้าส์ สปา ภัตตาคาร และร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงและต่อเนื่อง    สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงมอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เป็นหน่วยร่วมดำเนินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย อนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยายกิจกรรม ปรับปรุง ซ่อมแซม  ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หลักประกัน กรณีบุคคลธรรมดา ใช้บุคคลที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน ส่วนกรณีนิติบุคคล ใช้กรรมการผู้มีอำนาจแทนนิติบุคคลค้ำประกัน 

โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เอสเอ็มอี โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษได้สะดวก เหมาะสมกับสถานการณ์เร่งด่วน ดังนั้น ได้ปรับปรุงกระบวนการ โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากหลักฐานการเสียภาษีในปี 2563 หรือ 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น 

สำหรับคุณสมบัติของผู้ยื่นกู้ในโครงการนี้ ต้องเป็นสมาชิก สสว. กรณียังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สสว. สามารถขอขึ้นทะเบียนก่อนได้ (http://members.sme.go.th/newportal/) โดยต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มรายย่อย (Micro) และขนาดย่อม (Small) ตามนิยามของ สสว. อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮ้าส์ และธุรกิจสปาที่ตั้งอยู่ในโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮาส์ ใน 10 จังหวัด พื้นที่นำร่องเปิดการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1.) ภูเก็ต 2.) กระบี่  3.) พังงา 4.) สุราษฎร์ธานี 5.) เชียงใหม่ 6.) ชลบุรี 7.) เพชรบุรี 8.) ประจวบคีรีขันธ์ 9.) บุรีรัมย์ และ 10.) กรุงเทพมหานคร 

หรือที่จะมีประกาศเพิ่มเติม รวมถึง กลุ่มธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ใน 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด  ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับล่าสุด ประกอบด้วย  1.) กรุงเทพมหานคร 2.) กาญจนบุรี 3.) ชลบุรี  4.) ฉะเชิงเทรา 5.) ตาก 6.) นครปฐม 7.) นครนายก 8.) นครราชสีมา 9.) นราธิวาส 10.) นนทบุรี 11.) ปทุมธานี 12.) ประจวบคีรีขันธ์ 13.) ปราจีนบุรี  14.) พระนครศรีอยุธยา 15.) เพชรบุรี 16.) ปัตตานี 17.) เพชรบูรณ์ 18.) ยะลา 19.) ระยอง 20.) ราชบุรี  21.) ลพบุรี 22.) สงขลา 23.)สิงห์บุรี 24.)สมุทรปราการ 25.) สมุทรสงคราม 26.) สมุทรสาคร 27.) สระบุรี 28.) สุพรรณบุรี และ 29.) อ่างทอง หรือที่จะมีประกาศเพิ่มเติม     

อีกทั้ง ต้องไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเงินทุนในโครงการพลิกฟื้นฯ โครงการฟื้นฟูฯ หรือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ รวมถึง ต้องไม่เป็นหนี้ NPLs ไม่ถูกดำเนินคดี และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย    

สำหรับ วงเงินกู้ สำหรับบุคคลธรรมดา พิจารณาจากการชำระภาษี ภ.ง.ด.90 ในปี 2562 หรือ 2563 ที่สูงกว่า และความเป็นเจ้าของสถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท หากจำนวนเงินที่ชำระภาษี 0-10,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด 100,000 บาท, จำนวนเงินที่ชำระภาษี 10,001-20,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด 200,000 บาท และจำนวนเงินที่ชำระภาษีมากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป วงเงินกู้สูงสุด 300,000 บาท กรณีมีสถานประกอบการเป็นของตัวเองหรือบุคคลในครอบครัว ให้วงเงินเพิ่มอีกลำดับละ 50,000 บาท แต่รวมแล้วสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับนิติบุคคล ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายในงบการเงินปี 2562 หรือ 2563 ที่สูงกว่า สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท  

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ยื่นกู้ได้แล้ว ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของ SME D Bank ได้แก่ สแกน QR Code ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือคลิก https://qrgo.page.link/VF6Ka รวมถึง เว็บไซต์ของ SME D Bank (https://www.smebank.co.th/), Line OA : SME Development Bank และแอปพลิเคชัน : SME D Bank โดยใช้เกณฑ์มาก่อนได้ก่อน (first come first serve) และจะปิดแจ้งความประสงค์ยื่นกู้เมื่อเต็มวงเงิน  

ดังนั้นเชิญชวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ  รีบแจ้งความประสงค์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“กระทรวงยุติธรรม” ผุดโครงการ “ฟ้าทะลายโจร ปลูกเดือนแม่ เก็บเกี่ยวเดือนพ่อ”  สั่ง ป.ป.ส. นำร่องหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน 1,000 แห่ง ปลูกฟ้าทะลายโจร สู้โควิด 19 เป้าหมาย 12 ล้านต้น เฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม และเพื่อช่วยประชาชนที่ต้อ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมหารือนำหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน จัดโครงการส่งเสริมปลูกฟ้าทะลายโจร สู้โควิด-19 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ประจำปี 2564 ผ่านระบบ webex meeting โดยมี นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ผู้อำนวยการ กอง/สำนัก ปปส.ภาค 1-9 และปปส.กทม. เข้าร่วม

โดย นายสมศักดิ์ กล่าวถึงที่มาของโครงการปลูกฟ้าทะลายโจรนี้ว่า  เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงก่อตั้งหมู่บ้านกองทุนของแผ่นดิน ประกอบกับ เดือนสิงหาคม ซึ่งตรงกับวันแม่แห่งชาติ (12 สิงหาคม) และการจัดกิจกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดินที่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ในปี 2564 นี้ ไม่สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด -19 จึงเห็นว่ากิจกรรมการปลูกฟ้าทะลายโจร น่าจะเป็นประโยชน์แก่หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน และประชาชนคนไทย ที่จะมีพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เอาไว้ใช้รักษา ภายใต้แนวคิด “ฟ้าทะลายโจร ปลูกเดือนแม่ เก็บเกี่ยวเดือนพ่อ” 

ขณะที่ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า แนวทางของการจัดโครงการนั้น สำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนดเป้าหมายของการปลูกฟ้าทะลายโจรให้ได้ 12 ล้านต้น โดยหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีศักยภาพ ซึ่งปัจจุบัน มีหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน 24,455 หมู่บ้าน ในการปลูกนำร่องนี้ จะเริ่มจากหมู่บ้านที่มีความพร้อมก่อน จำนวน 1,000 แห่ง โดยจะเริ่มปลูกภายในเดือนสิงหาคมนี้ และคาดว่า จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือนำมาผลิตแปรรูปเป็นเม็ดยาได้ในเดือนธันวาคม (5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ) 

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ได้มอบหมายให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยนำเอาเครื่องผลิตเม็ดยาบ้า มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการช่วยผลิตฟ้าทะลายโจรอัดเม็ด โดยผลผลิตที่ได้จากหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ชุมชนสามารถบริหารจัดการเองได้ โดยอาจผลิตในรูปแบบเม็ด หรือ ยาลูกกลอนพื้นบ้าน หรือหากต้องการให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการอัดเป็นเม็ดให้ ก็สามารถทำได้ ซึ่งส่วนหนึ่งของผลผลิต สำนักงาน ป.ป.ส. จะขอรับบริจาค เพื่อนำไปช่วยเหลือให้กับพี่น้องประชาชนที่มีความจำเป็นต้องการใช้เพื่อรักษาโควิด-19 ต่อไป

ธปท.แนะนำรัฐกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ย้ำ ต้องมีแบบแผนให้เหมาะกับอาการเศรษฐกิจ-การคลังของไทย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง และมีผลชัดเจน 4 อาการ ได้แก่...

1.) หลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ โดยพบว่า ในช่วงปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ปี 2563-2565 รายได้จากการจ้างงานจะหายไปรวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

2.) การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน (ผู้ที่มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดถึง 3 เท่าตัว

3.) การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนเปราะบาง

4.) เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการสูงสุดในเอเชีย คิดเป็น 11.5% ของจีดีพี และจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาส 1/2564 จีดีพีของไทยอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดหมดแล้ว

โดย ธปท. ยังคงคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีในปีนี้ไว้ที่ 0.7% ส่วนปัจจัยที่จะทำให้มีการปรับคาดการณ์ในจีดีพีใหม่ คือ หากมีการล็อกดาวน์ยาวถึงไตรมาส 4/2564 เพราะการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละเดือน มีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.3-0.4% และมองว่ามีโอกาสน้อยที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตติดลบ แม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกปัจจุบันจะหนัก และมากกว่าที่คาดการณ์ แต่ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตเป็นบวกได้ไม่ที่ระดับ 0.7% ตามที่คาดการณ์ก็บวกได้ในระดับใดระดับหนึ่ง เพราะยังมีตัวช่วยอย่างภาคการส่งออก

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงต้องเหมาะสม และสมเหตุสมผลกับอาการ จากอาการของไทยที่หนัก ก็ต้องใช้ยาแรง ต้องแก้ให้ตรงจุด ตรงต้นเหตุ นั่นคือ “วัคซีน” โดยยังยืนยันเหมือนเดิมว่า หากไม่เร่งดำเนินการเรื่องวัคซีน มาตรการอื่น ๆ ที่เร่งผลักดันออกมาให้ตายก็ไม่พอ ไม่จบ เป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น เรื่องวัคซีนยังเป็นตัวหลัก และหากไปดูข้อมูลการฉีดวัคซีนในปัจจุบันของประเทศไทย พบว่า สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็มมีแค่ 7% ของประชากรทั้งหมด ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศด้วย ตัวนี้เป็นเครื่องสะท้อนว่าไทยในฐานะที่เป็นประเทศต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยว และบริการเยอะ ยิ่งจำเป็นต้องกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น

ในระหว่างที่สังคมไทยยังไม่ได้รับวัคซีนมากพอ เราจะเป็นต้องใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ คุมการระบาด เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามรุนแรงขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีต้นทุนด้านเศรษฐกิจสูง เพราะเป็นการจำกัดการเคลื่อนที่ของคน ซึ่งกระทบการดำเนินธุรกิจรุนแรง จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบด้านสาธารณสุขกับเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับบริบทประเทศ ที่สำคัญต้องเร่งรัดมาตรการตรวจ และคัดแยกผู้ติดเชื้อในครัวเรือนให้ครอบคลุม และทันการณ์ หากพบการติดเชื้อ อาจต้องใช้มาตราการควบคุม หรือล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่อย่างเข้มข้นในระยะเวลาจำกัดให้ได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ และครัวเรือน ผ่านมาตรการทางการคลังซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ขาดไม่ได้ เพราะรายได้ครัวเรือนที่หายไปในช่วง 2 ปี จำนวน 1.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกิน 10% ของจีดีพี ยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้ แม้ปีนี้จะประเมินว่าภาคส่งออกจะเติบโตได้ถึง 17.7% ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะการจ้างงานในภาคการส่งออกไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับการจ้างงานในระบบ และเมื่อเทียบกับตัวเลขคนว่างานและเสมือนว่างงาน จึงเป็นเหตุผลว่าการส่งออกสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่นัก ขณะที่บริษัทเอกชนแม้จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ ดังนั้นการใช้จ่ายของภาครัฐจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาหลุมรายได้ที่ทั้งใหญ่ และลึก และคาดว่าจะยาวนาน

โดยการใช้จ่ายของภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก และต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุดเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงาน และเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทที่อาจนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุด และทันการณ์ และออกมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงาน และสร้างรายได้โดยเร็ว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐก็จะช่วยให้จีดีพีกลับมาเติบโตได้ใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น โดยกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก ดังนั้นหากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง และปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว

การกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7% ของจีดีพี สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเจออยู่ อีกประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ คือ การกู้ตอนนี้แล้วใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจกลายเป็นจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเราไม่กู้ เพราะการกู้ และการใส่เงินเข้าไปตอนนี้เป็นการขยายเศรษฐกิจ เพิ่มฐานภาษี และทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไปได้ ช่วยให้ภาระหนี้กลายเป็นลดลงในอนาคต

ดังนั้นภาพระยะยาวการกู้เพื่อใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จริง ๆ แล้วทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง และมองว่าหนี้สาธารณะที่ 70% ของจีดีพีเป็นอะไรที่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ลำบาก รองรับได้ สภาพคล่องในระบบรองรับการกู้ยืมจากภาครัฐได้ ขณะที่ดอกเบี้ยก็สะท้อนความสามารถที่ภาคการคลังจะกู้เพิ่มได้ โดยดอกเบี้ยกู้ระยะยาว 10 ปี ไม่ถึง 1.6% เป็นพื้นที่ที่ยังมีศักยภาพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ดอกเบี้ยสูงถึง 4-6% เป็นภาพรวมที่มองว่าเป็นยา หรือเป็นมาตรการที่จำเป็น และเหมาะสมกับอาการของเศรษฐกิจไทยที่เห็น

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินต้องมีแผนชัดเจนในระยะยาวที่จะทำให้ภาคการคลังกลับมาสู่ระดับที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่มช่องทางในการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลัง และความเสี่ยงในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีกลับลงมาในระยะข้างหน้า เช่น การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ พร้อมทั้งการปรับเพิ่มภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำ เพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน

นอกจากนี้ หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษี และความสามารถในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงอีกประมาณ 0.33% ต่อจีดีพี

ธปท.ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเรื่องนี้ แต่ด้วยสภาพอาการที่จำเป็นกับเศรษฐกิจไทยตอนนี้ มองว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง เรื่องหนึ่งที่หนีไม่พ้นคือมาตรการการคลัง โดยผมมองว่าน้อยมากที่ไทยจะเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง เพราะฐานะการคลังไม่ใช่เรื่องที่บริษัทเครดิตเรตติ้งเป็นห่วงที่สุด สิ่งที่เป็นห่วงคือความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ส่วนที่บริษัทเครดิตเรตติ้งมองว่าเป็นจุดแข็ง คือ ฐานะการคลัง และเสถียรภาพทางการคลัง แต่จากสภาพอาการการของไทยตอนนี้จะรักษาโรคได้ก็ต้องรักษาที่องค์รวม จะแยกหมอเฉพาะทางอย่างเดียวไม่ได้ เพื่อให้คนไข้รอด ไม่ใช่ว่า ธปท.ไม่ทำอะไร ธปท.ก็ต้องทำเช่นกัน

โดยมาตรการทางการเงินของ ธปท. จะเป็นมาตรการเสริมในการช่วยดูแลภาระลูกหนี้ และเติมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่รายได้หายไปชั่วคราว ที่ผ่านมามีการดำเนินการหลายมิติ ทั้งการแก้ไขหนี้ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว การพักชำระหนี้ระยะสั้น และการเติมสภาพคล่อง

สำหรับข้อเสนอเรื่องการปรับลดเพดานดอกเบี้ยนั้น มองว่า ต้องพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ รอบด้าน เพราะว่ามีผลข้างเคียงเยอะ ไม่ใช่แค่กับระบบแต่เป็นผลกับลูกหนี้เอง ซึ่งการพิจารณาผลกระทบต่อลูกหนี้ในเรื่องการปรับลดเพดานดอกเบี้ยนั้น แนวทางที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง คือ การขยายเพดานวงเงินให้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้คนที่เสี่ยงสูงยังอยู่ในระดับต่อไป และเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้เดิม

สำหรับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธปท. ไม่ได้มีการกำหนดระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ในใจ แต่ก็ไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่เป็นอุปสรรค หรือมีความผันผวนที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องการเก็งกำไร


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/113487


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เกษตรฯ เร่งจัดการตลาดลำไย รับผลผลิตมากสุดเดือนส.ค.

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์และการบริหารจัดการลำไย ระหว่างเดือนมิ.ย. – ก.ย. 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ส.ค. 2564) พบว่า คาดการณ์ผลผลิตลำไย 683,435 ตัน ซึ่งประเมินว่า จะมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนส.ค.นี้ ประมาณ 394,707 ตัน ส่วนการเก็บเกี่ยวลำไย มีปริมาณเก็บเกี่ยวสะสม 415,797 ตัน คิดเป็น 60.84% และยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 267,638 ตัน คิดเป็น 39.16% 

ส่วนการกระจายผลผลิตลำไย ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ล่าสุดมีมติเห็นชอบให้เน้นทำการตลาดภายในประเทศ โดยกระจายผลผลิตผ่านล้งภายในประเทศ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ห้าง ระบบของไปรษณีย์ไทย การตลาดออนไลน์และตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจัดจำหน่ายตรงผู้บริโภค รณรงค์การบริโภคลำไยในครัวเรือน สนับสนุนจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไยเพื่อกระจายออกนอกแหล่งผลิต ประสานงานกับภาคเอกชนและโลจิสติกส์ในการลดค่าขนส่งให้เกษตรกร 

รวมทั้งการเชื่อมโยงและกระจายผลผลิตลำไยไปยังจังหวัดปลายทาง และการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรข้ามภาค โดยประสานงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า ลำไย – มังคุด จากภาคใต้เพื่อกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคภายในพื้นที่ภาคเหนือ

“ตอนนี้ กรมฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย เน้นการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพื่อให้ได้ลำไยขนาดผลใหญ่คุณภาพระดับพรีเมี่ยม เกรด AA และเกรด A เหมาะสำหรับการบริโภคผลสดภายในประเทศ โดยไม่เน้นส่งเข้าโรงงานอบแห้งแปรรูปส่งออกประเทศจีน และการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้รับการรับรองคุณภาพตามระบบการจัดการกระบวนการผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรได้รับการรับรองทั้งหมด 12,494 ราย 14,400 แปลง พื้นที่รวม 135,595.47 ไร่ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ช่องทางการตลาดแบบออนไลน์มากขึ้น” นายเข้มแข็ง กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top