เวิลด์แบงก์ชี้ ไวรัสโควิดฉุดคนไทยจน 1.7 ล้านคน

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาครัวเรือนทำให้ตกงาน และภาคธุรกิจเอสเอ็มอีขาดรายได้ โดยทำให้ในปี 2564 ประเมินว่าประเทศไทย จะมีผู้ที่มีความยากจนเพิ่ม 1.7 แสนคนเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเวิลด์แบงก์ได้ปรับประมาณในปี 64 คาดจะขยายตัวแค่ 1% จากเดิม 2.2% และปี 65 ประเมินว่าจะขยายตัว 3.6% และหากจะให้สถานการณ์กลับมาสู่ระดับปกติก่อนเกิดโควิด-19 คาดว่าจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานถึงปี 2566
 
ทั้งนี้ได้ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลากว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2566 มีเหตุผลจากการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวทำได้ล่าช้า และการกระจายวัคซีนกว่าจะถึง 70% ของประชากรทั้งหมดในไทยต้องใช้เวลาครึ่งปีแรกของปี 2565 ซึ่งมีผลต่อการเปิดรับต่างชาติเที่ยวไทย คาดว่าในปี 2565 นักท่องเที่ยวจะมี 1.7 ล้านคนเพิ่มจากปี 2564 ที่จะมี 1.6 แสนคน เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัส โมเดล เป็นหลัก

ทางด้านการเงินการคลัง ประเมินว่า ล่าสุดยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอ หลังจากรัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี และได้มีวงเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถกู้เพิ่มได้อีกเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในปี 2565 โดยมองว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นสิ่งที่ดี เพราะเพิ่มโอกาสรัฐจะประคับประคองระยะสั้น และช่วยการลงทุน ช่วยเศรษฐกิจระยะกลาง ขณะที่ความเสี่ยงหนี้สาธารณะในด้านต่างประเทศมีต่ำ เพราะส่วนใหญ่จะกู้เงินจากในประเทศเป็นหลัก ทำให้ความเสี่ยงหนี้ต่างประเทศต่ำมาก