Saturday, 10 May 2025
ECONBIZ

กอช. เผย สร้างผลตอบแทนการลงทุนใน 7 เดือนให้สมาชิกได้มากกว่าฝากแบงก์

6 ก.ย. 64 นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานล่าสุดในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ถึง 31 กรกฎาคม 2564) โดย กอช. สร้างผลตอบแทนการลงทุนให้สมาชิกได้ร้อยละ 1.14 ต่อปี ซึ่งยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 0.59 ต่อปี

การบริหารเงินลงทุนของ กอช. ยังคงมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของเงินลงทุน โดยที่ผ่านมา กอช. สร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ตั้งกองทุนอยู่ที่ร้อยละ 2.90 ต่อปีโดยประมาณ ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับธนาคารซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.30 ต่อปีโดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 การลงทุนของ กอช. ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเน้นการลงทุนไปที่สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก และหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือด้านเครดิตที่ดี ถึงแม้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่ทาง กอช. เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นหลายประการ อันบ่งบอกถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายทางการคลังของรัฐบาลที่พยายามจะกระตุ้นและประคับประคองเศรษฐกิจ 

ดังนั้น สินทรัพย์ที่มีการเติบโตสูงและให้รายได้ที่สม่ำเสมอ อาทิ ตราสารทุน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จึงมีความน่าสนใจ และเป็นโอกาสที่ กอช. น่าจะเข้าสะสมลงทุนต่อไป

ทั้งนี้ สมาชิกมั่นใจได้ว่า จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนจาก กอช. เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะได้รับเงินคืนทั้งส่วนที่เป็นเงินออมสะสมของสมาชิก และเงินสมทบเพิ่มจากรัฐบาล พร้อมผลตอบแทนการลงทุนของเงินทั้งหมดได้รับการค้ำประกัน ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคาร วันที่สมาชิกครบอายุ 60 ปี


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/115757

รมว.เฮ้ง ย้ำ ผู้ประกันตน ม.39,40 กลุ่มตกหล่น 29 จังหวัด เร่งเช็คสิทธิรับเงินเยียวยา ตั้งแต่ 1-31 ต.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานประกันคม (สปส.) ได้ทยอยโอนเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 29 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ตามกำหนดไทมไลน์ของแต่ละกลุ่มจังหวัด

พบว่า ผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามเงื่อนไข ส่วนใหญ่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีผู้ประกันตนบางส่วนที่พบว่าตนเองมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ครบถ้วน คือ สัญชาติไทย ประกอบอาชีพ หรือพักอาศัยอยู่ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ใน 29 จังหวัด แต่เข้าไปตรวจสอบสถานะตนเองในระบบเว็บไซต์ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม แจ้งว่า “ไม่ได้รับสิทธิ” จึงพลาดการโอนเงินเยียวยาที่ผ่านมา โดยขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้โอกาสให้ “กลุ่มผู้ประกันตนที่ตกหล่น” สามารถยื่นทบทวนสิทธิรับเงินเยียวยาได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยกลุ่มพี่น้องแรงงานที่ได้รับความลำบากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้กำชับให้ตนเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่ผู้ประกันตน ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบข้อมูล เพื่อโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มที่มีสิทธิแต่ยังตกหล่นอยู่ ให้ยื่นแบบทบทวนสิทธิ สำหรับขั้นตอนผู้ทบทวนสิทธิสามารถดาวน์โหลดเอกสารแบบคำขอทบทวนสิทธิเยียวยา ได้ที่ www.sso.go.th พร้อมกรอกแบบ ลงลายมือชื่อ ระบุเลขบัตรประชาชนให้ชัดเจน หรือแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบเสร็จ สลิปชำระเงินสมทบ (ถ้ามี) พร้อมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมติดต่อกลับได้ นำแบบที่กรอกครบถ้วนแล้วส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานประกันสังคมที่สะดวก 29 จังหวัดสีแดงเข้ม (ยึดวันประทับตามไปรษณีย์เป็นสำคัญ) ทั้งนี้ เพื่อลดการเดินทางมาติดต่อยังสำนักงานประกันสังคมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึง 31 ตุลาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

มาตรการรัฐช่วยรายจ่ายประชาชนหนุนเงินเฟ้อเริ่มลดลง

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.ลดลง 0.02 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ โดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด 

ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าอื่น ๆ บางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และเครื่องประกอบอาหาร และบางชนิดราคาทรงตัว ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับลดลง ส่วน เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว ขยายตัว 0.07 %  ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.14 % เฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) ปี 2564 สูงขึ้น 0.73 %

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวลดลง แต่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายตัวยังมีสัญญาณที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้า ยังคงขยายตัว ภาคการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ยังประเมินว่า เงินเฟ้อในเดือนก.ย.นี้ มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ซึ่งสิ้นสุดในเดือนส.ค.นี้ อีกทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตโลก ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเริ่มคลี่คลาย ซึ่ง ราคาอาหารสดและการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐเป็นปัจจัยผันแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในเดือนก.ย. โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7 – 1.7 % 

สคบ.รื้อกฎหมายช่วยลูกหนี้เงินผ่อนไม่เจอรีดเงินเกินจริง

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ได้รายงานที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบแนวทางช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน โดยสคบ. กำลังปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้ในสัญญาเช่าซื้อ โดยเฉพาะสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ และจักรยานยนต์ หลังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 รายได้ลดลงจนหมดกำลังในการผ่อนจ่ายค่าสินค้าต่าง ๆ ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้น่าจะได้ข้อสรุปในเดือนก.ย.นี้ 

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือแบ่งออกเป็นการช่วยเหลือเรื่องของสัญญาเช่าซื้อในด้านต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจเช่าซื้อ ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานใดเข้ามากำกับดูแลในเรื่องดอกเบี้ยของธุรกิจเช่าซื้อเป็นการเฉพาะ ทำให้ไม่มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ จึงเป็นช่องให้มีการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงจนเป็นภาระต่อผู้บริโภค สคบ. จึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมออกกฎหมายภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ประกาศเรื่องของเพดานการคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมออกมา 

ขณะที่การพิจารณาอัตราเบี้ยปรับในกรณีที่ผู้บริโภคผิดสัญญา โดยจะกำหนดอัตราของเบี้ยปรับให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 224/1 และมาตรา 7 ซึ่งกำหนดแนวทางในเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งการปรับปรุงแนวทางในการขายทอดตลาด เช่น การกำหนดให้ผู้เช่าซื้อมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาเริ่มต้นในการขายทอดตลาด หรือในกรณีที่มีการยึดและขายทอดตลาดแล้วหากได้จำนวนเงินน้อยกว่ามูลหนี้ที่ค้างชำระ เดิมกำหนดให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบในส่วนที่ขาด แต่แนวทางใหม่ที่ออกมา เบื้องต้นอาจเปิดทางให้ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ หลังจากถูกยึดรถไปแล้ว เพราะถือว่าสิ้นสุดสัญญา 

นอกจากนี้ยังให้สิทธิกับผู้บริโภคในการคืนรถยนต์ และจักรยานยนต์ กับผู้ให้เช่าซื้อได้เพื่อเป็นการยกเลิกสัญญาในทันที แต่ก็ต้องมาตกลงเรื่องของหนี้ที่ค้างชำระต่าง ๆ เช่น ค่างวด ค่าปรับ และค่าทวงถาม ให้เสร็จสิ้น หรือในกรณีรถเสื่อมค่า มีรอย หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้เสียหาย ผู้ให้เช่าซื้อก็อาจพิสูจน์ความเสียหาย และสามารถเรียกค่าเสียหายจากส่วนนี้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

จับตาธุรกิจเอสเอ็มอีสายป่านไม่พอเสี่ยงถูกฮุบกิจการ

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำลังจับตามองผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี  หลังพบการควบรวมธุรกิจ โดยมีกว้านซื้อธุรกิจรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ ทำให้โอกาสการแข่งขันเอสเอ็มอีรายย่อย และรายกลางลดลง ไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากไม่มีอำนาจทางการค้าที่มากพอ อาจจะตามมาซึ่งการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ จากธุรกิจรายใหญ่อีกด้วย

ทั้งนี้ จากการจับตามองผลกระทบต่อเอสเอ็มอีนั้น นอกจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากต้องล่มสลายแล้ว ยังพบปัญหาโครงสร้างทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการมีแพลทฟอร์มออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น อีเซอร์วิส อีโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซเข้ามาแข่งขันทำให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และถูกแย่งพื้นที่ตลาดไปมากเช่นกัน

ทั้งนี้ สำนักงานฯ ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเรียนรู้ด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจตนเอง พร้อมกับศึกษาความท้าทายจากเทคโนโลยี รวมถึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับแข่งขันทางการการค้าเพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรายอื่น โดยจะเร่งสร้างบรรยากาศทางการค้าให้เป็นธรรม ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ผ่านการเร่งออกแนวปฏิบัติที่จะใช้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เป็นธรรมกับทุกราย

สคบ.เตือนซื้อสินค้ากันโควิดผ่านออนไลน์ ระวังเจอโกง

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งหน้ากากอนามัยชนิดต่าง ๆ ปืนฉีดพ่นแอลกอฮอล์ ยาฟ้าทะลายโจร รวมทั้งชุดตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง หรือ แอนติเจนเทสคิท ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนทำการสั่งซื้อสินค้า โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ เพราะที่ผ่านมามีผู้บริโภคหลายรายเจอการหลอกลวงโอนเงินซื้อสินค้าแล้วไม่ได้สินค้า และในด้านการติดตามตรวจสอบกับทางผู้ขายนั้นก็ทำได้ยากอีกด้วย 

ทั้งนี้ สคบ. ได้มีการตรวจสอบการลักลอบขายผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ผ่านออนไลน์ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีเจ้าของบริษัทหลายแห่งที่ตัดสินใจซื้อแอนติเจนเทสจากช่องทางออนไลน์เพื่อเอาไปใช้ตรวจให้กับพนักงานในบริษัทของตัวเอง ซึ่งการซื้อแต่ละครั้งจะเป็นล็อตใหญ่ เมื่อตกลงซื้อ-ขายกันเสร็จแล้วก็โอนเงินไปยังผู้ขายบางรายเป็นเงินหลายหมื่นบาท ปรากฏว่า ผู้ขายกลับไม่ส่งสินค้าให้ จึงทำให้เกิดปัญหาการหลอกลวง หรือฉ้อโกงเกิดขึ้น ขณะเดียวกันในบางรายตกลงซื้อ-ขายกันเสร็จ ได้รับสินค้าเรียบร้อย แต่สินค้ากลับไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีมาตรฐานตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

นายสุวิทย์ กล่าวว่า หากผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าเกี่ยวกับโควิดหลาย ๆ ชนิด รวมไปถึงชุดตรวจแอนติเจน ผู้บริโภคควรไปเลือกซื้อในสถานที่ที่รัฐกำหนด ทั้งสถานพยาบาล หรือร้านขายยาต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ แทนการไปซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ และสามารถตรวจสอบข้อมูลของสินค้าที่เข้าข่ายเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิดได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ซึ่งนำข้อมูลทั้งหมดมาแสดงไว้ให้ผู้บริโภคตรวจสอบแล้ว โดยเฉพาะรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำสินค้านี้มาขายให้กับผู้บริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง เพราะปัจจุบันมีสินค้าปลอมเกี่ยวกับโควิดเกิดขึ้นจำนวนมาก หากผู้บริโภคไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนก็อาจทำให้เกิดความเสียหายตามมาทั้งสุขภาพและเงินที่ต้องจ่ายไปด้วย 
 

แบงก์ชาติ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน เน้นให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างระยะยาว ตรงจุดและเหมาะสม แทนการพักชำระหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 64

สำหรับมาตรการต่าง ๆที่ออกมา ทั้ง มาตรการแก้ไขหนี้เดิมให้ยั่งยืน เช่น ให้ลูกหนี้จ่ายชำระแบบต่ำก่อน และค่อย ๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้น หากลูกหนี้มีรายได้กลับมา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ลูกหนี้ได้เข้ามาตรการได้มากและรวดเร็วผ่านโมบายแบงก์กิ้ง หรือเครื่องมือออนไลน์ ซึ่ง ธปท. ได้มีแรงจูงใจเอื้อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการคงจัดชั้นสำรองได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.65 และใช้เกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นจนถึงสิ้นปี 66 แต่ถ้าความช่วยเหลือลูกหนี้ยาวกว่าปี 66 ธปท.จะนำมาพิจารณาเรื่องเกณฑ์นี้อีกครั้ง

ส่วนมาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูซึ่งปัจจุบันเหลืออีก 150,000 ล้านบาทให้เอสเอ็มอีได้มีสภาพคล่องเพิ่ม ทั้งขยายวงเงินสินเชื่อลูกค้าใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกค้าเก่าเดิมจะได้รับไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิม เป็นได้รับสินเชื่อไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่ไม่ถึง 50 ล้านบาท หรือรับสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท.ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 64 ขณะที่ความคืบหน้าสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 98,316 ล้านบาท จำนวน 32,025 ราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้เข้ามา 82 ราย วงเงิน 11,696.79 ล้านบาท

นอกจากนี้การเติมเงินให้ลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่า จากเดิม 1.5 เท่า และไม่จำกัดสถาบันการเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งคงผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ไปจนถึงสิ้นปี 65 ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาทจากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมขยายเวลาชำระคืนจาก 6 เดือนเป็น 12 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 64 จนถึงสิ้นปี 65

สภาอุตฯ ผนึกพันธมิตร เร่งผลักดัน BCG Model พร้อมพัฒนาแล้ว 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม

(2 ก.ย. 64) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือดำเนินโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อยกระดับภาคธุรกิจ 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ BCG ในฐานะวาระแห่งชาติ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมผลักดันและดำเนินงานตามนโยบาย BCG ของประเทศ ภายใต้ 3 กลยุทธ์ คือ 1.) การพัฒนาโมเดล BCG และการขยายผล 2.) การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ และ 3.) การพัฒนามาตรฐานและการสนับสนุนด้านนโยบาย โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรบริสุทธิ์น้อยลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ…

>> การส่งเสริม Smart Agriculture Industry 
>> การพัฒนา Platform การบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือที่เรียกว่า “Circular Material Hub” 
>> การจัดทำข้อตกลงร่วมบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
>> การส่งเสริมการจัดขยะพลาสติกภายใต้การสนับสนุน AEPW 
>> การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 

รวมถึงโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมฯ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้ทุนการสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ได้เล็งเห็นถึงบทบาทภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อน BCG ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งโครงการฯ จะเน้นการศึกษาวิจัย BCG Model ในทางวิชาการและสร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ BCG เพื่อนำไปสู่การปรับใช้ในทางธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง หลังจากที่ผลการศึกษาเสร็จสิ้น บพข. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการ ด้วยนโยบายการสนับสนุนทางการเงิน ภาษี การลงุทน กฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนาและการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างประโยชน์จากผลการวิจัยโครงการฯ ให้เกิดขึ้นจริงกับธุรกิจ 

ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับนโยบาย BCG เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 โดยความร่วมมือในโครงการนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะส่งเสริมและสนับสนุนในด้านวิชาการ ทั้งในเชิงองค์ความรู้เกี่ยวกับ Circular Economy และวิธีการวิจัยที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำ Focus Group และจัดทำ Guidelines เพื่อให้ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารนำแนวทางไปปรับใช้และพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ส.อ.ท. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินภารกิจดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน BCG และร่วมผลักดันในการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต้นแบบโมเดลกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผล เพื่อสร้างทางเลือกแผนธุรกิจที่มีศักยภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมและร่วมจัดทำคู่มือบทเรียนความสำเร็จของ CE Champion จาก 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม อาทิ...

1.) ปิโตรเคมี 
2.) วัสดุก่อสร้าง 
3.) อาหาร 
4.) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
5.) และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม

ทั้งหมดถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการทุกขนาดโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขัน ของประเทศ 


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

คปภ. จี้ บริษัทประกันเร่งจ่ายเคลมโควิด หลังมีการร้องเรียนจ่ายล่าช้า

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ คปภ.ได้ออกคำสั่งเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาการเคลมประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ ล่าช้า มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้บริษัทที่มีปัญหาเรียกร้องการจ่ายเคลมตั้งแต่ 100 เรื่องขึ้นไป ต้องจัดตั้งหน่วยงานรับเรื่องเรียกร้องเคลมโควิดขึ้นมา และกำหนดให้ตรวจสอบเอกสารเรียกร้องค่าสินไหมให้เสร็จใน 3 วัน หากเอกสารครบถ้วนต้องจ่ายเคลมภายใน 15 วัน แต่ถ้าไม่ครบต้องรีบแจ้งผู้เอาประกันภัยภายในเดียวกับที่ตรวจ และให้จ่ายหลังจากนั้นภายใน 15 วันหลังยื่นเอกสารแล้ว 

ส่วนในกรณีมีปัญหาการตีความและหาข้อยุติไม่ได้ ให้บริษัทประกันเสนอความเห็นต่อ คปภ. ภายใน 7 วัน รวมถึงรายงานผลทุก 15 วัน ซึ่ง คปภ.ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ 4 ชุด มาช่วยพิจารณาประกันในส่วนเจอจ่ายจบ ค่าชดเชยรายวัน ค่ารักษาพยาบาล และอื่น ๆ เป็นการเฉพาะ รวมถึงหากพบล่าช้าเกิน 15 วัน และเข้าข่ายประวิงเวลาก็จะใช้กฎหมายเล่นงาน

นอกจากนี้ คปภ. ยังตรวจสอบความเสี่ยงของบริษัท และจะมีการผ่อนเกณฑ์กำกับดูแลชั่วคราว เพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถจ่ายเคลมประกันโควิดถึงมือประชาชนได้รวดเร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมายอมรับว่ายอดเคลมเข้ามาค่อนข้างมาก วันหนึ่งนับพันรายทำให้อาจมีปัญหาดำเนินการ ซึ่ง คปภ.พยายามเข้าอุดรอยรั่วต่าง ๆ เพื่อดูแลประชาชนให้ได้ประโยชน์ที่สุด 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดช่วงเช้าวันนี้ (2 ก.ย. 64) ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์อีกจนได้สำหรับเรื่องราวของลูกค้าประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ ที่ไม่จบเสียที เมื่อเกิดกรณีลูกค้าบุกไปปิดล้อมหน้าตึกทำการสนง.ใหญ่ของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัดย่านสีลม หลังจากได้เรื่อง ยื่นเคลมประกันภัยโควิด-19 กับทางบริษัท ซึ่งยังคงเป็นประเด็นค้างคาไว้เดิม สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ยื่นเอกสารแล้ว บริษัททำเรื่องล่าช้าบ้าง ติดต่อทางบริษัทไม่ได้บ้าง ทั้งที่โฆษณาไว้ว่า เคลมจ่ายเงินใช้เวลาแค่ 1 วัน

โดยล่าสุด ได้มีสมาชิกผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า @anuwat2012 ได้โพสต์คลิปลูกค้าจำนวนมาก บุกไปยัง บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด บริเวณสีลม โดยได้รุบะขุ้ความว่า “ลูกค้าประกันภัยโควิด-19 ปิดหน้าบริษัทอาคเนย์ประกันภัยสีลม หลังจากยื่นเคลมแล้วไม่ได้รับเงินสินไหมตามที่ได้ซื้อประกันไว้"


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

คลังปรับ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ใช่สั่งซื้อเดลิเวอรีออนไลน์ได้

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ปรับเงื่อนไขการใช้จ่ายโครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยเปิดโอกาสให้ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้สามารถเข้าร่วมแพลตฟอร์มเดลิเวอรีออนไลน์ได้ ตั้งแต่ช่วงเดือนต.ค.64 ในลักษณะเดียวกับร้านอาหารในโครงการคนละครึ่ง เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สามารถสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มสั่งอาหารเดลิเวอรี่ออนไลน์ได้

สำหรับยอดใช้จ่ายผ่านโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ล่าสุดมีการใช้จ่ายไปแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท โดยโครงการยิ่งได้ใช้ได้ยังมีสิทธิคงเหลือเข้าร่วมโครงการอีก 929,340 สิทธิ ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเสนอปรับเพิ่มวงเงินการใช้จ่ายผ่านโครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ ให้สามารถซื้อสูงสุดถึง 500,000 บาทนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังยังใช้หลักเกณฑ์เดิมอยู่ คือการใช้จ่ายสูงสุด 60,000 บาท จะได้รับบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-voucher) มูลค่าสูงสุด 7,000 บาท โดยใช้จ่ายสูงสุดไม่เกินวันละ 10,000 บาท ซึ่งมีระยะเวลาใช้จ่ายผ่านจี-วอลเล็ตบนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อมาคำนวณสิทธิ e-voucher ถึง 30 พ.ย.นี้

ส่วนความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง ที่ผ่านมาได้เชิญผู้ให้บริการฟูด เดลิเวอรี่ ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับสิทธิ์คนละครึ่ง กว่า 27 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือนต.ค.นี้

นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอให้นำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมากระตุ้นการใช้จ่ายอีกครั้ง ส่วนจะออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เลยหรือไม่นั้น จะพิจารณาตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดอย่างไรก็ดี ช่วงไตรมาสสุดท้ายจะยังมีเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่จะยังออกได้

‘คลัง’ เผย ‘พิโกไฟแนนซ์’ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เข้าช่วยเหลือลูกหนี้แล้วเกือบหมื่นบัญชี

น.ส.สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ ‘พิโกไฟแนนซ์’ (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ ที่อยู่ในความดูแลของสํานักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง) เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งการลดค่างวด, การขยายระยะเวลาการชำระหนี้, การเปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว การพักชำระค่างวด การพักชำระเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และการพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ย เป็นจำนวนทั้งสิ้น 288 ราย คิดเป็นจำนวนบัญชีที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งสิ้น 9,807 บัญชี

สำหรับจังหวัดที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 2,393 บัญชี, ชัยภูมิ 608 บัญชี, สุรินทร์ 554 บัญชี, ขอนแก่น 533 บัญชี และมหาสารคาม 519 บัญชี

ส่วนภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรมว.คลัง ให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 995 ราย ใน 75 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคอีสาน รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง, ภาคเหนือ, ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนไปแล้ว 586,683 บัญชี รวมเป็นเงิน 13,401 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 22,843 บาทต่อบัญชี

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 9,773 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.2564 จำนวน 177 ราย


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

กกร. มองเศรษฐกิจจะดีขึ้น ลุ้น GDP ปีนี้แตะ 1% แนะรัฐตั้งเป้าดันเศรษฐกิจโต 6-8% กู้เพิ่มแก้โควิด

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.วันนี้ได้เห็นชอบในการปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 เป็น -0.5 ถึง 1.0% ดีขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะติดลบราว -1.5 ถึงไม่เติบโต หรือ ขยายตัวเป็น 0% เนื่องจากมองว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้น และรัฐบาลคาดว่าจะจัดหาวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ 

"สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จนนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคบางส่วนในเดือน ก.ย. 64 ทั้งนี้ หากสามารถเร่งจัดสรรและฉีดวัคซีนที่มีมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้" นายผยง กล่าว

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12-14% จากเดิม 10-12% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด แม้บางประเทศกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ กิจกรรมการผลิตฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่อยู่ในเกณฑ์ขยายตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.) ค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ 2.) การขาดแคลนชิปที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหลายสินค้าอุตสาหกรรม และ 3.) เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศ

นายผยง กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.) Supply chain ของภาคการผลิตใน Bubble & Seal ต้องไม่หยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน และ 2.) หากควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้นมาก ภาครัฐจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ทัน High Season ปลายปี ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศให้คึกคักขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาแย่ลง เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession

ทั้งนี้ แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการฉีดที่มีประสิทธิภาพและไม่สับสน สามารถผลักดันให้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 65 ที่ท้าทายขึ้น หน่วยงานภาครัฐประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะสามารถเติบโตได้ในช่วง 3-5% ซึ่งมองว่าเป็นการตั้งเป้าหมายในอัตราต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 62 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้ในภาวะที่คนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยรัฐบาลจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังด้วยการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 7 แสน-1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-payment) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้นและเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น

"ที่ประชุม กกร. ยังเห็นควรแสนอแนะให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในแบบที่ท้าทาย โดยตั้งเป้าผลักดันให้ GDP ปี 65 ขยายตัวให้ได้ถึง 6-8% เพราะการตั้งเป้าหมายการเติบโตได้เพียง 3-5% มองว่าอาจอยู่ในระดับต่ำเกินไป และต่ำกว่าศักยภาพของไทยที่เคยมีมาในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด พร้อมกับสนับสนุนให้รัฐบาลปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน เป็น 70-80% ต่อจีดีพี ซึ่งจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 แสนล้านบาท-1.5 ล้านล้านบาท" นายผยงกล่าว

สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้ฟื้นตัวสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตินั้น ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู โดยนำข้อเสนอแนะของภาคเอกชนมาใช้ปรับเกณฑ์ในรอบนี้ด้วย เพื่อให้เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อระยะถัดวงเงิน 150,000 ล้านบาทมากที่สุด โดยจะขยายวงเงินสินเชื่อลูกหนี้รายใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้เดิมที่มีวงเงินเดิม 30% ไม่ถึง 50 ล้านบาท สามารถขอได้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอมากขึ้นต่อสถานการณ์ โควิด-19 ที่ยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงการปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 1-2 เพื่อลดภาระในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ กกร.ได้มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.) ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดหาและนำเข้ามาวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญคือ ต้องดำเนินการให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสื่อสารให้ชัดเจน ไม่ให้สับสน และโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เห็นด้วยกับการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล และไม่ควรมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไป เพราะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่ควรใช้มาตรการ Bubble & Seal ร่วมกับการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เชิงรุก โดยใช้ศักยภาพของภาค เอกชนอย่างเต็มที่ในทางที่เสริมและไม่แย่งกัน เพื่อให้การป้องกันโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2.) รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง 3,000-6,000 บาท เพราะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ช้อปดีมีคืน (ลดหย่อนภาษี) และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามทางการค้า (Trade war) ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ (New s-Curve) โดยการลงทุนภาครัฐควรทำต่อเนื่องทั้งการลงทุนโดยรัฐเอง และการลงทุนแบบ PPP พร้อมสร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ รัฐควรเพิ่มงบประมาณสำหรับการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งในต่างประเทศมีสัดส่วนการค้ำประกันที่ทางการสนับสนุนสูงถึง 80-100% ของยอดสินเชื่อ ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้ำประกันเพียง 40%

3.) ขอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายชุดตรวจ antigen test kit ในการตรวจหาเชื้อในภาคอุตสาหกรรม โดยให้ความช่วยเหลือในเรื่องของชุดตรวจ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงช่วยเหลือในเรื่องของมาตรการการจ่ายภาษีเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ

4.) กกร.ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในส่วนปัญหาค่าระวางเรือที่มีราคาสูง โดยภาคเอกชนต้องการให้มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการช่วยแก้ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ชิป (Semiconductor chips)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาลในรอบนี้ที่เริ่มต้น 1 ก.ย. ให้กิจการ หรือกิจกรรมบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้นั้น อยากขอให้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจและประชาชนที่มาใช้บริการ ปฏิบัติตัวให้ได้ตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโอกาสในการแพร่กระจายของโรค ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน จะทำให้ภาครัฐจะสามารถผ่อนคลายมาตรการในระดับที่เพิ่มมากขึ้นได้ในระยะต่อไป และส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะขับเคลื่อนไปได้ แรงงานที่ตกงานก็มีโอกาสกลับมาทำงานได้มากขึ้น และมีผลต่อการเปิดเมือง เปิดประเทศในลำดับถัดไป

พร้อมมองว่า รูปแบบการเปิดประเทศให้มีความปลอดภัยและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นนั้น อาจต้องใช้ตัวอย่างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แล้วค่อย ๆ ขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่แล้วไม่ต่ำกว่า 70% นอกจากนี้ การเปิดบางกอก แซนด์บอกซ์ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการค้า ธุรกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งหากสามารถเปิดกิจกรรม กิจการต่าง ๆ ได้มากขึ้นและทำได้อย่างปลอดภัย ก็จะนับว่าประสบความสำเร็จและเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าไทยจะสามารถเปิดประเทศได้อย่างสง่างาม

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังเชื่อว่า รัฐบาลจะสามารถเปิดประเทศได้ตามเป้าหมาย 120 วันที่วางไว้ในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งหลังจากการคลายล็อกมาตรการในเดือนก.ย.รอบนี้ เชื่อว่าประชาชนเองจะเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวเองและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนั้น หากเป็นเช่นนี้ การเปิดประเทศของรัฐบาลก็จะทำได้ตามเป้าหมาย

พร้อมประเมินว่า รัฐบาลคงไม่ประกาศล็อกดาวน์อีกรอบแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ระบาดภายในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลง อีกทั้งในเร็ว ๆ นี้ ก็จะมีการทยอยนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และเป็นไปตามเป้าหมายที่ครอบคลุมอย่างน้อย 70% ภายในปีนี้

"เราคาดว่ารัฐบาลคงไม่ล็อกดาวน์อีกรอบ เพราะวัคซีนก็จะมีเข้ามาอีกเรื่อย ๆ คนฉีดวัคซีนในประเทศก็จะมากขึ้น โอกาสติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง ก็จะน้อยลง ถ้าติดก็เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว...โอกาสที่จะต้องล็อกดาวน์ประเทศ ก็น่าจะน้อยลงแล้ว" นายสุพันธุ์ระบุ


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

ททท.มุมไบ-นิวเดลี ชี้ นักท่องเที่ยวอินเดียยังต้องการเที่ยวไทย หากมาตรการผ่อนคลาย ปลายปี 64 เตรียมดึงกลุ่มศักยภาพ สร้างรายได้ท่องเที่ยวเฉียดแสนล้านบาท

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานมุมไบ และนิวเดลี ประเทศอินเดีย ฉายภาพรวมโควิด-19 ในอินเดียดีขึ้น ผู้ติดเชื้อลดลง กระจายวัคซีนแล้วกว่า 600 ล้านโดส จากสถิติปี 62 ตลาดอินเดียน่าสนใจ มีอัตราเติบโตรวดเร็ว ย้ำจากผลสำรวจพบนักท่องเที่ยวอินเดียยังคงสนใจเดินทางท่องเที่ยวไทย หากเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว ไตรมาส 4 เตรียมเจาะกลุ่มศักยภาพ Golf, Wedding และ Millennials ประสานเที่ยวบินพาณิชย์ หรือจัด Charter Flight จากเมืองหลักเข้าไทยไม่น้อยกว่า 4,200 คน สร้างรายได้กว่าแสนล้านบาท

นางสาวชลดา สิทธิวรรณ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานมุมไบ และนายวชิรชัย สิริสัมพันธ์ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนิวเดลี ร่วมกันเปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในอินเดียมีแนวโน้มดีขึ้น เริ่มผ่อนคลายมาตรการจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและมีอัตราผู้รักษาหายสูงขึ้น โดยเฉพาะเมืองนิวเดลีและมุมไบ เนื่องจากมีความพร้อมกระจายผลิตวัคซีน เวชภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอินเดียใช้วัคซีนหลัก 2 ชนิด ได้แก่ Covishield และ Covaxin เริ่มต้นฉีดตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 ในประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เฉลี่ยฉีดได้วันละ 5 ล้านโดส ปัจจุบันมีอัตรากระจายวัคซีนแล้วกว่า 600 ล้านโดส และประชากรได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ร้อยละ 10.3 ของจำนวนประชากร ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียคาดว่าจะสามารถกระจายวัคซีนครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุในเมืองใหญ่อย่างเมืองนิวเดลลีและมุมไบ ครบ 100% ภายในเดือนตุลาคม 2564

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงจากนักท่องเที่ยวอินเดีย เนื่องจากเป็นจุดหมายระยะใกล้และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival (VOA) จากสถิติปี 2562 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางท่องเที่ยวไทย 1,961,069 คน เติบโตร้อยละ 25.48 ใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 44,688 บาทต่อคน พักค้างเฉลี่ยประมาณ 7 วัน สร้างรายได้ 80,039.88 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 19.96 ส่งผลให้อินเดียขึ้นมาเป็นตลาดอันดับ 3 จากอันดับ 6 ในปี 2561 รวมถึงมีจำนวนเที่ยวบินเข้าประเทศไทยจากอินเดียกว่า 300 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ด้วย สะท้อนว่าอินเดียเป็นตลาดศักยภาพที่น่าจับมอง มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว 

ททท.จึงพยายามผลักดันโดยพิจารณา 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.) นักท่องเที่ยวอินเดียยังคงต้องการเดินทางท่องเที่ยวไทย เนื่องจากมีการสอบถามเกี่ยวกับมาตรการเข้าประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ 2.) มาตรการการเดินทางเข้า-ออกอินเดีย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน สามารถเดินทางออกนอกประเทศและกลับเข้ามาในประเทศได้ตามมาตรการควบคุมโรค ซึ่งกำหนดให้รายงานตัวผ่านระบบออนไลน์ แสดงหลักฐานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมง และขอความร่วมมือสังเกตอาการตนเอง (Self Monitoring) เป็นเวลา 14 วัน 

3.) ช่วงโควิด-19 แม้ว่าต้นทุนการเดินทางจะสูงขึ้น แต่ยังพบการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียโดยเที่ยวบินพาณิชย์ (Commercial Flight) ระหว่าง 28 ประเทศภายใต้ข้อตกลง Air Bubble Agreement อาทิ มัลดีฟ รัสเซีย ศรีลังกา เยอรมัน แคนาดา สะท้อนว่านักท่องเที่ยวอินเดียไม่ค่อยอ่อนไหวกับสถานการณ์ มีกำลังซื้อสูง และจากการสำรวจความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของคนอินเดีย โดย Thomas Cook เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 ราย พบว่า ร้อยละ 46 ต้องการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเมืองหรือประเทศที่ต้องการเดินทางไปมากที่สุดได้แก่ ดูไบ อะบูดาบี มัลดีฟส์ และไทย

สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวอินเดียเข้าประเทศไทย ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศกลับมาเปิดรับคำขอใบรับรองในการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry: COE) ของผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยจากอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2564 เฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้มีเอกสารอนุญาตทำงาน (work permit) และครอบครัว โดยต้องเดินทางด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเข้าสู่มาตรการ State Quarantine ในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 14 วัน หลังจากนี้จึงจะประเมินและพิจารณากลุ่มอื่นๆ ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ ททท. ทั้ง 2 สำนักงาน จะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวอินเดียอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทั้งการให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์สถานการณ์ภายในประเทศ มาตรการด้านสุขอนามัย SHA ตลอดจนสำรวจความเห็นของ Travel Agency (TA) กว่า 300 รายทั่วประเทศอินเดีย ได้รับยืนยันกว่า 94% ว่านักท่องเที่ยวอินเดียมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวไทยอย่างแน่นอน โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยสุขอนามัย กิจกรรมท่องเที่ยว และราคาที่น่าดึงดูดเป็นหลัก ส่วนใหญ่มีระยะเวลาพักค้างต่ำกว่า 7 วัน ซึ่ง TA เตรียมนำร่องทำการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียระดับกลางไปจนถึงกลุ่มระดับบน

ในปี 2565 ททท. ให้ความสำคัญกับกลุ่มตลาดอินเดียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม First Mover ได้แก่ กลุ่มศักยภาพ Golf, Wedding, Millennials ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วจากเมืองหลัก ซึ่งประมาณการว่า หากไตรมาส 4 ในช่วง 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2564 ศบค. มีมติผ่อนคลายเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวและเที่ยวบินพาณิชย์กลับมาบินใน 6 เมืองหลัก ได้แก่ นิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา เชนไน ไฮเดอราบัด และบังกะลอร์ สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 250 ที่นั่ง รวม 14 สัปดาห์ พิจารณาจากจำนวน Seat Capacity จะทำให้มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทย ประมาณ 21,000 ที่นั่ง สร้างรายได้ประมาณ 938,448,000 บาท หากไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ จะจัด Charter flight สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใน 2 เมืองหลัก ได้แก่ นิวเดลีและมุมไบ เที่ยวบินละ 150 ที่นั่ง รวม 14 สัปดาห์ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทย 4,200 คน สร้างรายได้ประมาณ 187,689,600 บาท


ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9640000086454


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

คลังเร่งจ่ายเงินยังชีพผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการ ตกเบิก 

นางแก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง ได้เริ่มจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิ ตามอัตราการจ่ายเดิม (ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับความช่วยเหลือ 100 บาทต่อเดือน และผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับความช่วยเหลือ 50 บาทต่อเดือน) ให้เป็นไปตามมติของ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 เห็นชอบการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจากกองทุนผู้สูงอายุ

 

ทั้งนี้ได้กำหนดจะจ่ายย้อนหลัง คือ ปีงบบประมาณ พ.ศ. 2563 จ่าย 4 เดือน (มิถุนายน - กันยายน 2563) และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จ่าย 6 เดือน แบบเดือนเว้นเดือน (ตุลาคม และธันวาคม 2563 กุมภาพันธ์ เมษายน มิถุนายนและสิงหาคม 2564) 

 

สำหรับเงื่อนไขของผู้มีสิทธิ จะต้องเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ก่อนเดือนที่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์ฯ โดยกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิในวันที่ 3 ก.ย.64 ซึ่งวงเงินนี้ สามารถใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านเครื่อง รับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือแอปพลิเคชั่น ถุงเงินประชารัฐ ที่ร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งสามารถถอนเป็นเงินสดได้ที่ตู้ ATM ของ บมจ. ธนาคารกรุงไทย หรือสาขาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย

รถไฟฟ้าบีทีเอส สิ้นสุดการขายโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วันทุกประเภท 30 ก.ย.นี้ สอดรับพฤติกรรมผู้โดยสารเปลี่ยนแปลง ยันค่าโดยสารคงกรอบ 16 - 44 บาท

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ขอแจ้งให้ทราบว่า บริษัทฯ จะสิ้นสุดการจำหน่ายโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วัน ทุกประเภท ผู้โดยสารสามารถซื้อ/เติมเที่ยวเดินทาง ได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นวันสุดท้าย ทั้งนี้ บัตรโดยสารที่มีเที่ยวเดินทางคงเหลือ สามารถใช้เดินทางได้จนกว่าเที่ยวเดินทางจะหมด หรือเที่ยวเดินทางหมดอายุการใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีรูปแบบการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นานแบบเมื่อก่อน อีกทั้งเรื่องการชำระค่าโดยสารล่วงหน้าก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ บริษัทฯ ได้พิจารณา และเห็นว่าโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วัน สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ทางบริษัทฯ จึงจะยุติการจำหน่ายโปรโมชั่นดังกล่าว โดยจะจำหน่ายในวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นวันสุดท้าย

สำหรับอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในเส้นทางสัมปทาน 23.5 กิโลเมตร จากสถานีหมอชิตไป สถานีอ่อนนุช และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีสะพานตากสิน รวมส่วนต่อขยายจากสถานีสะพานตากสิน ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ยังคงอยู่ในอัตรา 16 - 44 บาท ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดิมเพื่อเติมเงิน และเดินทางได้ตามปกติ ทั้งบัตรสำหรับบุคคลทั่วไป และบัตรสำหรับนักเรียน นักศึกษา ในส่วนของบัตรสำหรับผู้สูงอายุ ยังคงได้รับโปรโมชั่นส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บใน อัตราเดิมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บีทีเอส โทรศัพท์ 02-617-6000 (ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น.) Line Official : @btsskytrain (ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น.) หรือตรวจสอบสถานะการเดินรถได้ที่ App ‘BTS SkyTrain’ แฟนเพจ Facebook : รถไฟฟ้าบีทีเอส

อย่างไรก็ตาม บีทีเอส เตรียมปรับรูปแบบการออกโปรโมชั่นใหม่ให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยจะไม่มีข้อจำกัดของเวลา รวมถึงการสะสมคะแนนเพื่อแลกเที่ยวฟรี หรืออื่น ๆ เพิ่มเติมออกมาแทน


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top