Thursday, 12 December 2024
ECONBIZ

มาสด้าปรับทัพการบริหารองค์กรรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล ดัน ‘ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์’ กำหนดกลยุทธ์การขาย การตลาด ดีลเลอร์และลูกค้า

มาสด้าปรับทัพผู้บริหารรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่กำลังรุกคืบเข้าสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว โดยมอบหมายให้ นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ขยับขึ้นดำรงตำแหน่ง รองประธานบริหารอาวุโส เพื่อเข้ามากำกับดูแลในส่วนของการกำหนดกลยุทธ์การขาย การตลาด และการพัฒนาธุรกิจของมาสด้า เนื่องจากปัจจุบันโลกของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง เกิดโอกาสใหม่ เกิดความท้าทาย และความเป็นไปได้มากมาย มาสด้าต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นการปรับทัพในครั้งนี้จะทำให้องค์กรสามารถปรับตัวเข้ากับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล และขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เร่งสร้างการเติบโตให้ยั่งยืนภายใต้การทำงานเป็นทีม หรือ One Mazda

ปัจจุบัน นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ดำรงตำแหน่ง รองประธานบริหาร กำกับดูแลรับผิดชอบในส่วนงานการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ ถูกแต่งตั้งให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รองประธานบริหารอาวุโส เพื่อกำกับดูแลในส่วนสำคัญขององค์กรระหว่างประเทศ ทั้งสายงานด้านการขาย กลยุทธ์ด้านการตลาด การกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารงานองค์กร การพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ การสื่อสารการตลาด การตลาดดิจิทัล การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาธุรกิจและเครือข่ายผู้จำหน่ายทั่วประเทศ และรัฐกิจสัมพันธ์ ที่สำคัญคือการมุ่งมั่นเพื่อที่จะสร้างความพึงพอใจสูงสุดและสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป 

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด แสดงวิสัยทัศน์ในการเข้ามาบริหารองค์กรระหว่างประเทศท่ามกลางวิกฤตที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ว่า ด้วยสปิริตและความมุ่งมั่นที่เป็นเสมือนดีเอ็นเอมาสด้ามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การปรับทัพเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกการค้าเสรียุคดิจิทัลในครั้งนี้ จะสามารถนำพาให้องค์กรก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกยุคดิจิทัลมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทั้งในการเลือกซื้อรถและความพึงพอใจของลูกค้า ดังนั้นมาสด้าต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยจะนำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาสร้างบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่ออำนวยความสะดวกในทุกรูปแบบและตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วต่อสถานการณ์

“การปรับกลยุทธ์ด้วยการผนวกรวมในส่วนของการขายและการตลาด รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายผู้จำหน่ายแบบครบวงจรในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการภายในองค์กรให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยศักยภาพของคุณธีร์ ซึ่งมีประสบการณ์การบริหารธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ มีความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรภายใต้ Mazda Way และเป็นกำลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนมาสด้ามาตลอด ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับทัพในครั้งนี้จะทำให้มาสด้าสามารถพัฒนารูปแบบและกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ ประการสำคัญคือ มาสด้า เรามุ่งเน้นการสร้างทีมบริหารโดยให้คนไทยเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ฟังก์ชั่น ภารกิจหลักคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ “One Mazda” การจะประสบความสำเร็จได้นั้นอาจต้องใช้ทักษะส่วนบุคคล แต่การจะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยทีมที่แข็งแกร่ง การหลอมรวมทุกหน่วยงานเข้าสู่รูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างมืออาชีพและไร้รอยต่อในทุกภาคส่วน จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทั้งมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น รวมถึงผู้จำหน่าย เพื่อจะได้นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า” นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ เริ่มต้นเข้าบริหารองค์กรกับมาสด้า ตั้งแต่ปี 2550 ในตำแหน่งผู้จัดการ กำกับดูแลด้านผลิตภัณฑ์การตลาด และขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการเมื่อปี 2555 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายตลิตภัณฑ์การตลาดและนโยบายรัฐกิจ ต่อมาในปี 2558 ก้าวขึ้นมากำกับดูแลสายงานด้านการตลาด การวางแผนผลิตภัณฑ์ การสื่อสารการตลาด งานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายการตลาด ล่าสุดเมื่อปี 2561 ได้รับการแต่งตั้งเป็น รองประธาน กำกับดูแลสายงานการตลาด กลยุทธ์การตลาด การวางแผนผลิตภัณฑ์ การสื่อสารการตลาด งานประชาสัมพันธ์ และรัฐกิจสัมพันธ์ ภายใต้ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ มาจนถึงปัจจุบัน

ปตท. ผนึก ฟ็อกซ์คอนน์ พันธมิตรร่วมทุนกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์ ศึกษาการสร้างแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าครบวงจรในประเทศ หนุนรัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย และ กรุงไทเป ไต้หวัน

โดยมี นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการ ปตท. พร้อมด้วย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศ ให้เติบโตและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือนี้เป็นการผสานความเชี่ยวชาญของ Foxconn ที่เป็นผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงความแข็งแกร่งด้านธุรกิจพลังงาน ของ ปตท. ทั้งเครือข่ายพันธมิตร กลุ่มบริษัทในเครือและผู้ร่วมทุนปัจจุบัน ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิต และเสริมศักยภาพระบบนิเวศ ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ตลอดห่วงโซ่คุณค่ายานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้รับผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacturers : OEMs) ในประเทศไทย ที่มีความสนใจสามารถเข้าถึงการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและใช้ต้นทุนต่ำ เพื่อร่วมสร้างอนาคตแห่งการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า รูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต จะมุ่งไปด้าน GO GREEN และ GO ELECTRIC มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเดินทางของประชาชน ซึ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานดังกล่าว เราเชื่อว่าเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมจะยังเป็นพลังงานที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันเราก็จำเป็นต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางพลังงานในอนาคตอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ได้เริ่มรุกเข้าสู่ EV Value Chain โดยจับมือพันธมิตรทางธุรกิจ ในการพัฒนา EV Charging Platform, EV Station รวมถึงการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นความร่วมมือกับ Foxconn ในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ เสริมสร้างทักษะและอาชีพให้กับประชาชน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตและเป็นต้นแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานให้กับประเทศได้ต่อไป

โดยในระยะแรก ปตท. และ Foxconn ตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และส่วนประกอบหลักต่างๆ แบบ end-to-end ด้วยเงินร่วมลงทุนขั้นต้นที่ 1-2 พันล้านดอลลาร์ และจะขยายการลงทุนในอนาคตต่อไป ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจสู่เวทีโลกในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบสนองนโยบายและทิศทาง การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

นาย ยัง ลวือ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Mr. Young Liu, Chairman and CEO of Foxconn) กล่าวว่า เป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้ คือการเปิดโอกาสให้ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจทั่วโลก ได้เชื่อมต่อสังคมแห่งการเดินทางด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ความเชี่ยวชาญของ Foxconn ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก ทำให้เราผนึกความร่วมมือกับภาครัฐ และ ปตท. ในการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ และความชำนาญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่พร้อมสำหรับอนาคต

โดยที่ผ่านมา ปตท. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จพลังงานและแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ Foxconn จะสามารถแบ่งปันความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งขึ้น เรามุ่งหวังที่จะเห็นประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

 

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/941056


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“บิ๊กตู่” ถก ครม.จับตาพิจารณามาตรการลดค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิดวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท มีผู้เข้าข่าย 51 ล้านคน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยังคงเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference จากห้องประชุมชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ส่วนรัฐมนตรีคนอื่น ยังคงใช้ห้องทำงานของกระทรวง บางส่วนใช้ห้องประชุม สลค.และบางส่วน ใช้ห้องประชุมที่อาคารรัฐสภาเนื่องจากจะต้องชี้แจง เกี่ยวกับการใช้งบประมาณของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่มีการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันนี้

ส่วนวาระการประชุมที่สำคัญ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอ ครม.อนุมัติมาตรการลดค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิดของ 4 มาตรการ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท โดยมีผู้เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการกว่า 51 ล้านคน เช่น โครงการเติมเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น และมีรายงานว่า ครม.วันนี้ อาจจะมีการเสนอเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานครออกไปอีก 30 ปี โดยอัตราราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 65 บาทตลอดสาย 

ครม.เตรียมเคาะมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ 1.4 แสนล้าน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference วันที่ 1 มิถุนายน 2564 มีวาระน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา โดยกระทรวงการคลังเสนอมาตรการเพื่อดูแลประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ระยะที่ 2 รวมทั้งหมด 4 มาตรการ ภายใต้กรอบวงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มใช้ในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ยอมรับก่อนหน้านี้ว่า ด้วยมาตรการทั้งหมด จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 1.5-2.5%

สำหรับมาตรการทั้ง 4 ประกอบด้วย

1.) มาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน ให้สิทธิ์ใช้จ่ายไม่เกิน 150 บาท วงเงิน 3,000 บาทต่อคน 

2.) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยโครงการนี้รัฐบาลคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ล้านคน (จากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อประมาณ 6 ล้านคน) โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยผู้เข้าโครงการจะได้รับการสนับสนุน E-Voucher จากภาครัฐในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 เพื่อไปใช้จ่ายในเดือน ส.ค.-ธ.ค.2564 โดยใช้เงินในโครงการนี้ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท 

3.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13.6 ล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน วงเงินประมาณ 1.64 หมื่นล้านบาท 

4.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมทั้งกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย จำนวน 2.5 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท 

กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ฝ่าวิกฤต COVID-19 ระลอกใหม่ ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดยการพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด ไม่เกิน 6 เดือนและไม่เกินสิ้นปี 2564 ผ่าน SME D BANK เริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนา เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ได้เข้ามาซ้ำเติมผลกระทบ จากสถานการณ์ในรอบแรกที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ส่วนใหญ่ของประเทศ ยังไม่สามารถพลิกฟื้นธุรกิจ ให้กลับสู่ภาวะปกติได้ และสร้างความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งและสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไปแล้ว 2 ครั้งด้วยการพักชำระหนี้ และให้บริการความช่วยเหลือผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีในเรื่องการตลาด การเงิน และระบบบัญชี ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 3,300 ราย

แต่เนื่องจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้ให้มีสภาพคล่อง และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงภาววะวิกฤต รวมทั้งยังเป็นการลดแนวโน้มการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จึงมีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (Non NPL) หรือไม่อยู่ในระหว่างที่ถูกกองทุนดำเนินคดี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้สามารถยื่นความประสงค์ขอพักชำระหนี้เงินต้นกับทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) โดยสามารถพักชำระหนี้ได้สูงสุด ไม่เกิน 6 เดือน และไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2564

“จากภาระที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทางกองทุนฯ มองเห็นความพยายามช่วยเหลือตัวเองอย่างสุดกำลังของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาโดยตลอด จึงต้องการเป็นอีกพลังช่วยสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้อีกครั้ง โดยออกมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 นี้ เป็นมาตรการต่อเนื่องจากการให้ความช่วยเหลือก่อนหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายเล็กที่ประสบปัญหาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และคาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานได้ไปจนถึงสิ้นปีนี้” นายกอบชัยฯ กล่าว

ทั้งนี้ ลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการพักชำระเงินต้น พร้อมขอรับการส่งเสริมพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ การตลาด การผลิต การเงินและบัญชี ได้ที่ SME D BANK ทุกสาขาทั่วประเทศในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ได้ตั้งแต่วันที่ วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร 1357


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2564 มีระดับอยู่ที่ 91.88 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2564 มีระดับอยู่ที่ 91.88 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มดีขึ้นจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะคู่ค้าหลักของไทย ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความเชื่อมั่นในภาคการผลิตการบริโภค ส่งผลให้การส่งออกเดือน เม.ย. มีมูลค่าเหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยรวม 4 เดือนแรกปี 2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 4.38 และมีอัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.48

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยในเดือนเมษายน 2564 MPI อยู่ที่ระดับ 91.88 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดผลกระทบจากการระบาดรอบแรกของไวรัสโควิด-19 มากที่สุด

เหตุผลมาจากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้นสะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในระดับสูง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการผลิตในภาพรวมและกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างภาคการผลิตอุตสาหกรรม ยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ และเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวได้ตามเป้าหมาย

"ในช่วงเวลานี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ถือได้ว่าเป็นกลจักรสำคัญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้" นายสุริยะกล่าว

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI ในเดือนเมษายน 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ รถยนต์ที่ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 288.06 จากรถปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล โดยตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.38 อัตราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.48 เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตหลายราย หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด-19

ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 75.61 จากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเนื่องจาก Work From Home เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เริ่มดีขึ้นจึงมีความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนเหล็ก ขยายตัวร้อยละ 29.2 ขยายตัวเกือบทุกรายการสินค้า เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลงโดยจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกมีนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศให้ดีขึ้น จึงสั่งปิดโรงงานเหล็กที่ผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง ประกอบกับในช่วงนี้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกปรับตัวสูงขึ้น จากทั้งสองปัจจัยหลักข้างต้นจึงทำให้การผลิตเหล็กของไทยเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาเหล็กและความต้องการที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

นายทองชัย กล่าวต่อว่า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 16,178.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 45.69 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2563 และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 13.09 เป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 36 เดือน โดยกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.44 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้น 1.46 และสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.43 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เป็นต้น การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 26.82 สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจากตัวเลขทั้งภาคการส่งออกและการนำเข้าสะท้อนให้เห็นถึงภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าตัวเลข MPI ในเดือนถัดไปจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน

***สรุปอุตสาหกรรมหลักที่มีดัชนีผลผลิตขยายตัวในเดือนเมษายน 2564...

>> รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 288.06 จากรถปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก จากในปีก่อนมีการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตหลายราย หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด-19

>> เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 515.18 เนื่องจากสงกรานต์ปีนี้ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ แม้ว่าจะมีการควบคุมในบางพื้นที่

>> เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 57.38 ผู้ผลิตมีการพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการและจัดรายการส่งเสริมการขายกระตุ้นการจำหน่ายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ของประเทศคู่ค้าหลักเริ่มคลี่คลายทำให้การดำเนินการส่งออกกลับมาเป็นปกติหลังจากการปิดช่องทางขนส่ง

>> เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.23 จากเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี และเหล็กเส้นข้ออ้อยเป็นหลัก จากที่ปีก่อนลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อตามความต้องการใช้หดตัว รวมทั้งมีผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราวในปีก่อน

>> ยางรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 69.74 จากยางนอกรถยนต์นั่งยางนอกรถบรรทุกรถโดยสาร และยางนอกรถกระบะ


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลการศึกษาผลิตภาพ การผลิตรวม ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง พบมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.45 ต่อปี สะท้อนภาพความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรมยังไปได้ดี

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลการศึกษาผลิตภาพ การผลิตรวม ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง พบมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.45 ต่อปี สะท้อนภาพความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรมยังไปได้ดี

แนะต้องเพิ่มประสิทธิภาพ หรือคุณภาพอย่างต่อเนื่องผ่าน 5 กลไกสำคัญ ได้แก่ ทักษะแรงงาน เครื่องจักรอัตโนมัติ/กึ่งอัตโนมัติ การบริหารจัดการทั้งด้านต้นทุนและการเงิน การยกระดับการผลิตไปสู่รูปแบบการผลิตแบบ ODM และ OBM รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนและรักษาความสามารถในการผลิตให้สามารถแข่งขันได้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพของประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580 ทั้งนี้ สศอ. ได้ทำการศึกษาผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity : TFP) ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นประจำทุกปี จากแบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการ ร.ง.9 เพื่อวิเคราะห์ความสามารถ ในการผลิตและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยผลการศึกษาพบว่า ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2560-2563) ประสิทธิภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity : TFP) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.45 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอุตสาหกรรมที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า ผลิตภาพการผลิตที่มีการเติบโตที่สูงกว่านั้นมีความแข็งแกร่งและเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะปัจจัยเชิงคุณภาพที่เสมือนเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญของภาคการผลิตให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสภาวะความผันผวนรุนแรงทางเศรษฐกิจและสังคม การแข่งขัน ที่สูงมากขึ้นทั้งในเรื่องการส่งออก และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งข้อจำกัดด้านแรงงาน

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก โรคระบาด หรือสงครามระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งในด้านประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนรักษาความสามารถในการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ โดยมี 5 กลไกสำคัญ คือ

1.) การพัฒนาทักษะแรงงาน

2.) การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ/กึ่งอัตโนมัติ

3.) การบริหารจัดการด้านต้นทุนและการเงิน

4.) การยกระดับการผลิตไปสู่รูปแบบการผลิตแบบรับจ้างออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ (ODM) และการออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใต้ แบรนด์ของผู้ประกอบการ (OBM) ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น และ

5.) การลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนาในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การจัดการ และการสร้างนวัตกรรมในสินค้า มีการจดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตรต่างๆ ที่จะนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้นั้นถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงมากให้กับสินค้าและเศรษฐกิจของประเทศ

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สศอ. ให้ความสำคัญและติดตามผลิตภาพการผลิต (Productivity) อย่างต่อเนื่อง โดยการเผยแพร่สร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอผ่านการดำเนินงานในโครงการสำคัญต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงาน สนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและกระบวนการผลิต การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยปี 2563 ได้ดำเนินงาน อาทิเช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับสถานประกอบการแปรรูปอาหาร ด้าน IoT Solution System โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรมสาขาอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมกระบวนการผลิตอัจฉริยะสาขาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเพื่อรองรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และโครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมสู่ความเป็นโรงงานอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 เป็นต้น

นายทองชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาและยกระดับผลิตภาพต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังมีจุดแข็งในหลายเรื่อง เช่น ความพร้อมด้านการเกษตร และความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งต้องช่วยกันรักษาจุดแข็งเหล่านี้ท่ามกลางความท้าทายในระยะยาวที่กำลังเกิดขึ้น โดยการช่วยกันพัฒนา 5 กลไกสำคัญที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจ แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาส โดยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

BizMAX THE TOPIC จับประเด็น เน้นความรู้ EP.2/2 ตอน เปิดทางรอด SMEs ‘สร้างเศรษฐกิจ เพื่อคนตัวเล็ก’ ในภาวะ ‘ความหวัง’ ที่ไม่ได้เกิดกับ SMEs ไทยทุกราย 

BizMAX THE TOPIC จับประเด็น เน้นความรู้  EP.2/2 ตอน เปิดทางรอด SMEs ‘สร้างเศรษฐกิจ เพื่อคนตัวเล็ก’ ในภาวะ ‘ความหวัง’ ที่ไม่ได้เกิดกับ SMEs ไทยทุกราย 

รู้จัก ‘หมู-วรวุฒิ อุ่นใจ’ รองหัวหน้าพรรคกล้า ขุนพลเศรษฐกิจสาย SMEs 
ผู้กล้าทิ้งธุรกิจพันล้าน (B2S-OfficeMate) ทะยานสู่รั้วการเมือง 
กับความตั้งใจที่จะขอนำประสบการณ์ที่มี ช่วยเหลือ SMEs ไทย ให้ไปรอด!!

ดำเนินรายการโดย หยก THE STATES TIMES 
.

.

ประกันสังคมลดเงินสมทบช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตน กระทบโควิด-19 นายจ้าง ผู้ประกันตนม.33 ร้อยละ 2.5 - ม.39 เหลือเดือนละ 216 เริ่ม มิ.ย.- ส.ค. 64 นี้

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่3) พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 โดยมีผลบังคับใช้ งวดเดือนมิถุนายน – สิงหาคม พ.ศ.2564 ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้าง และผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประกาศกฎกระทรวง ได้กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบ โดยให้จัดเก็บเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 เดิมร้อยละ 5 ลดลงเหลือร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน (ค่าจ้างสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ถูกหักเงินสมทบ 375 บาท) และผู้ประกันตนมาตรา 39 เดิมร้อยละ 9 ลดลงเหลือร้อยละ 4.5 (จากเดิมที่จ่ายเดือนละ 432 บาทเหลือ 216 บาท) สำหรับรัฐบาลยังคงส่งเงินสมทบในอัตราเดิม คือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่าการลดเงินสมทบครั้งนี้จะช่วยลดภาระ แก่นายจ้าง 4.85 แสนราย ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและรักษา การจ้างงานต่อไปได้ ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับประโยชน์จำนวน 11.1 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่าย ลงได้ 9,487 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 1,189 ล้านบาท และเมื่อรวมผู้ประกันตนทั้ง 12.9 ล้านคนแล้ว จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 10,676 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20,163 ล้านบาท จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงาน ของสำนักงานประกันสังคม ที่พร้อมดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แก่นายจ้าง และผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ให้มากที่สุด

สตาร์ทอัพมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทย 'ETRAN' ระดมทุนระดับ Serie A ได้กว่า 100 ล้านบาท

Startup สัญชาติไทย 'อีทราน' (ETRAN) สามารถระดมทุนสู่ระดับ Series A มูลค่าราว 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 100 ล้านบาท จากนักลงทุนอิสระ และ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR ผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติไทย โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้น ทางอีทรานจะนําไปลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น เช่น แบตเตอรี่ และมอเตอร์สมรรถนะสูง รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่คํานึงถึงการเกิดลดมลภาวะในทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ เป้าหมายของ ETRAN ได้แก่...

1.) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้เป็นแสนต้น

2.) ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น มีเงินเหลือ ลดต้นทุนค่าน้ำมัน เพราะพลังงานไฟฟ้าสามารถผลิตได้จาก Renewable Source ได้ จะช่วยให้คนขับวินมีค่าใช้จ่ายลดลง (ค่าน้ำมัน ค่าเช่าซื้อ) ส่งผลให้มีเงินเก็บมากขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

3.) ต้องตอบแทนสังคมได้ ทำให้โลกดีขึ้นได้ เพราะการมีรถแบรนด์ไทยดีต่อระบบเศรษฐกิจ และทำให้มีการเรียนรู้เทคโนโลยีในภาคการศึกษา คนมีคุณภาพดีสังคมก็ดีขึ้น และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เป็นความสมดุลทุกด้านตามที่ ETRAN เป็นสตาร์ทอัพที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

โดยในปีนี้ อีทรานจะเปิดตัว 2 รุ่นแรก ได้แก่ KRAF และ MYRA โดยสําหรับ MYRA นั้น นับเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ออกแบบมาเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะ ทำความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางวิ่งต่อ 1 การอัดประจุ ได้ 180 กิโลเมตร รองรับการเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่าน Battery swapping staion ที่อีทรานจะทยอยติดตั้งในบริเวณกรุงเทพมหานครกว่า 100 สถานี นอกจากนี้ ตัวรถยังติดตั้ง กล่องขนส่ง ตู้เย็น อุปกรณ์ติดตาม และระบบบริหารจัดการเครือข่ายขนส่งขนาดใหญ่ รองรับตลาดกลุ่ม Delivery ที่กําลังเติบโตเป็นอย่างมากใน 1-2 ปีที่ผ่านมา

“ตามแผนการดำเนินธุรกิจ อีทรานในปี 2565 ตั้งเป้ารายได้ประมาณ 400-500 ล้านบาท และปี 2566 คาดว่ารายได้จะเติบโตถึง 1,000 ล้านบาท” นายสรณัญช์ กล่าว

 

ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2129432910532322&id=1233859410089681


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ไทย-เกาหลีใต้พร้อมกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน พร้อมเพิ่มพูนการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ห้องโดม ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทางโทรศัพท์กับ นายมุน แช-อิน (H.E. Mr. Moon Jae-in) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยเป็นการหารือเพื่อรักษาพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเพื่อยืนยันการสนับสนุนเกาหลีใต้ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียวและเป้าหมายโลกปี 2030 (Partnering for Green Growth and Global Goals 2030 : P4G) ครั้งที่ 2

นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า การหารือครั้งนี้จะเป็นการหารือเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-เกาหลีใต้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขอขอบคุณ และเป็นเกียรติที่ไทยจะได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ P4G ครั้งที่ 2 ณ กรุงโซล ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสดร่วมกันกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในวันจันทร์ที่ 31 พ.ค.นี้ เชื่อมั่นว่าการประชุมฯ จะประสบความสำเร็จ

ด้านประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวขอบคุณการสนับสนุนของไทยต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุม P4G ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และพร้อมมีบทบาทในเวทีนานาชาติ เกาหลีใต้ให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบาย มุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy - NSP) และ นโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus - NSPP) และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงนโยบายขอขอบคุณบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่นำพาประเทศไทยได้อย่างเข้มแข็ง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะผ่านความท้าทายนี้ไปได้ด้วยดี ซึ่งด้วยศักยภาพและประสบการณ์ของไทย และเกาหลีใต้สามารถร่วมมือกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความท้าทายในประชาคมโลกได้ 

จากนั้นทั้งสองฝ่ายหารือถึงความร่วมมือทวิภาคี ด้านการค้าการลงทุน โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เชื่อมั่นว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการลงทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการค้าการลงทุนของเกาหลีใต้ และไทยมีความร่วมมือ และพยายามจัดการประชุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ เป็นผลจากการพบกันในการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปี 2562 

ด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เกาหลีใต้ชื่นชมนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางควบคู่กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) หรือโมเดลบีซีจี ซึ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการยกระดับอุตสาหกรรม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลกับธรรมชาติ และเป็นแนวทางที่สอดรับกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy: NSP) และนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus: NSPP) ของเกาหลีใต้ ในด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industries) นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าเป็นสาขาความร่วมมือที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังโควิด-19 จึงได้เสนอเชิญชวนเกาหลีใต้ลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว ในเขต EEC ซึ่งฝ่ายเกาหลีใต้ตอบรับการสนับสนุนการลงทุนในเขต EEC ส่วนด้านสาธารณสุข เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญในขณะนี้ ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ และมีประสบการณ์ จากการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังให้เร่งรัดจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข เพื่อกำหนดขอบเขตความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนด้านสาธารณสุขระหว่างกันต่อไป

ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือแบบพหุภาคี เกาหลีใต้ชื่นชมบทบาทการเป็นแกนกลางในภูมิภาคของไทย ซึ่งไทยชื่นชมและพร้อมสนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ที่มุ่งรักษาความสมดุลระหว่างประเทศ ตามแนวทางสันติวิธีเช่นเดียวกับไทย ในอนุภูมิภาคและภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - เกาหลีใต้ (Mekong – ROK Cooperation) กรอบ ACMECS และกรอบอาเซียน - เกาหลีใต้ (ASEAN - ROK) ทั้งนี้ ไทยมุ่งหวังว่าอาเซียนและเกาหลีใต้จะได้ร่วมกันสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และทั้งสองฝ่ายได้หารือเชิงสร้างสรรค์ต่อสถานการณ์ในเมียนมาในโอกาสนี้ด้วย 

พาณิชย์ลดราคา ! ช่วยประชาชน Lot11 "Food Delivery" จุรินทร์ "นำเคาะ" ลดGPเหลือ 25%  ลดค่าอาหารสูงสุด 60% 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” Lot 11 (Food Delivery)

นายจุรินทร์ กล่าวว่าวันนี้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมกันให้ความช่วยเหลือร้านอาหาร โดยประชุมร่วมกับแพลตฟอร์มทั้งหมด 5 แพลตฟอร์ม ที่ให้บริการ Food Delivery และตัวแทนร้านอาหารทั่วประเทศ เช่น สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด สมาคมร้านอาหารและบันเทิงเชียงใหม่ ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร เป็นต้น และผู้แทนสถาบันการเงิน 6 สถาบัน 1.SME D Bank 2.ธนาคารกรุงไทย 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารอิสลาม 5.ธ.ก.ส. และ6. บสย.

มี 2 ประเด็น เพื่อช่วยสนับสนุนร้านอาหารในภาวะวิกฤตโควิดประเด็นที่ 1 จัดโครงการพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชน Lot 11 เพื่อช่วยเหลือบุคคล 2 กลุ่ม

1.กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์ม 2.กลุ่มผู้บริโภคซึ่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารจะมีการลดค่า GP ที่แพลตฟอร์มคิดกับร้านอาหารจากเฉลี่ย 35% -25% ลงมาเหลือ 25% มีแพลตฟอร์มที่จะเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 แพลตฟอร์ม 1.Robinhood 2. foodpanda 3.Grab 4.Gojek และ 5.Lineman
ลดค่า GP เหลือ 25% ในภาพรวม ยกเว้น Robinhood ไม่คิดค่า GP และ foodpanda ไม่คิดค่า GP สำหรับร้านใหม่

สำหรับผู้บริโภคมี 2 ส่วน 1.ลดราคาอาหารที่ขายผ่านแพลตฟอร์มทั้ง 5 แพลตฟอร์มสูงสุด 60% และจะลดค่าขนส่ง 4 แพลตฟอร์ม ใน 3-5 กิโลเมตรแรก ลดสูงสุดจาก 40 บาทเหลือ 0 บาท ประกอบด้วย 1.Robinhood 2.foodpanda 3.Grab และ 4.Gojek ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2564  ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับค่า GP ส่วนค่าอาหารจะลดทั่วประเทศ

และประเด็นที่ 2 จัดโครงการแมตช์ชิ่งเงินกู้ให้กับร้านอาหารทั่วประเทศโดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นตัวกลางช่วยร้านอาหารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี  ได้รับความร่วมมือจาก 6 สถาบันการเงิน ประกอบด้วย 1.SME D Bank 2.ธนาคารกรุงไทย 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 5.ธ.ก.ส. และ 6.บสย. มีการจัด 2 กิจกรรม 1.ให้สถาบันการเงินให้ข้อมูลกับร้านอาหารที่สนใจเข้าถึงแหล่งเงินกู้วันที่ 1-6 มิถุนายน 2564ในรูปแบบออนไลน์ และต่างจังหวัดจะให้พาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการให้ร้านอาหารที่สนใจสอบถามข้อมูลจากสถาบันการเงิน 2.จะมีการจับแมตช์ชิ่งให้ยื่นเรื่องเพื่อขอกู้เงินตามเงื่อนไขทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ในวันที่ 7-20 มิถุนายน 2564 เพื่อช่วยให้ร้านอาหารในช่วงวิกฤติโควิดได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี

โดยร้านอาหารที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่จดทะเบียนไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นนิติบุคคล 15,967 ร้าน และบุคคลธรรมดา 103,000 ร้าน รวมแล้ว 118,967 ร้าน 
โดยผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจะสูญเสียรายได้ 250-350 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วม 'สมาพันธรัฐสวิส' ดันไทยขยายยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรภายในปี 73

ที่ท่าเรือ CAT Tower เขต บางรัก กรุงเทพ มีพิธีการลงนามแถลงการณ์ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่าง ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ Her Excellency Simonetta Sommaruga, Federal Councilor and Head of the Federal Departments of Environment, Transport, Energy and Communication, of the Swiss Confederation ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยมี นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมในพิธีลงนามในครั้งนี้ด้วย

นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทย (MoNRE) และสำนักงานกลางเพื่อสิ่งแวดล้อมของสมาพันธรัฐสวิส (FOEN) ยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อตกลงปารีสของราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ที่กำลังดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ โดยทั้งสองได้ส่งผลงานที่ได้รับการกำหนดระดับประเทศ (NDCs) ฉบับปรับปรุงในปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาที่มีความความก้าวหน้าได้อีกมาก

MoNRE และ FOEN มีมติที่จะทำงานร่วมกันและกับประเทศอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส MoNRE และ FOEN และยังคงยึดมั่นในการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนการยอมรับกฎพหุภาคีที่แข็งแกร่งภายใต้ข้อตกลงปารีสและผลสำเร็จของการประชุมภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ครั้งต่อไปที่กลาสโกว์ สวิตเซอร์แลนด์ผ่าน NDC มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 ต่ำกว่าระดับ 1990 ภายใต้กฎหมายระดับชาติที่ใช้โดยรัฐสภาสวิสลดให้ได้อย่างน้อย 75% ซึ่งอาจจะดำเนินการที่เหลือในต่างประเทศได้อีก 25% สภาสหพันธรัฐสวิส จึงได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำระยะยาวของสวิตเซอร์แลนด์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ กับประเทศที่ตกลงความร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็น และประโยชน์จากการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดมลพิษในอากาศระยะยาว โดยเฉพาะการปล่อยมลพิษของรถยนต์สันดาปภายใน ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือก และเกิดเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ รวมถึงการออกกฎหมายควบคุมมลพิษจากยานยนต์เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากการกำหนดค่าไอเสียที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยมลพิษของตัวเอง เพื่อควบคุมและแก้ปัญหามลพิษ 

ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการตามแนวทางของ NDC Roadmap ว่า ด้วยการบรรเทาผลกระทบ พ.ศ. 2564-2573 และแผนปรับตัวแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% จากระดับ BAU ที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2573 ซึ่งกำลังดำเนินการตาม พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดข้อกำหนดการรายงานสำหรับภาคเอกชนอย่างเป็นทางการ และปรับปรุงการเงินด้านสภาพอากาศภายในประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการอนุมัติแผนงานยานยนต์ไฟฟ้าฉบับปรับปรุง และเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดต่อปีภายในปี 2573 แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (2563-2565) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน ระยะกลาง (2564-2568) จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดันสมาร์ท ซิตี้ บัส จำนวน 300,000 คัน ระยะยาว (2569-2573) ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 750,000 คัน

เจ้าหนี้ ยื่นค้านแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’ ศาลนัดฟังคำสั่ง 15 มิ.ย.นี้

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันที่ 28 พ.ค. 2564 ศาลล้มละลายกลางได้นัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการและศาลรับไว้ จำนวน 2 ฉบับ ศาลล้มละลายกลางเห็นสมควรให้งดสืบพยานและให้โอกาสผู้ทำแผน และเจ้าหนี้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดนัดฟังคำสั่งศาลเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 15 มิ.ย. 2564

ทั้งนี้บริษัทฯ แจ้งว่า หากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็จะมีผลทำให้การบินไทยสามารถดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไปได้ โดยการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผน การจัดการกระแสเงินสดและทรัพย์สินของบริษัทบางส่วนจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการ

สำหรับผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจ ของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ผู้ว่าการ กนอ. เผย 4 โปรเจกต์ด่วน ดูดลงทุนจากต่างชาติ เดินหน้า Smart Park เร่งบริหารจัดการน้ำ พร้อมลุยตั้งบริษัทลูกต่อยอดธุรกิจ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยในการแถลงข่าว “เปิดใจ ผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ กับภารกิจสุดท้าทายในยุค Digital Transformation” ผ่านการประชุมแบบออนไลน์ด้วยระบบ Zoom โดยระบุถึงภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ว่า หลังเข้ารับตำแหน่งได้เปิดแผนการดำเนินงานไว้ 6 ด้าน และได้มีการคาดการณ์เอาไว้แล้วว่าในระยะ 3-4 เดือนต่อจากนี้ สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา (COVID 2019) สถานการณ์จะคลี่คลาย และสภาพเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว เนื่องจากในหลายๆ ประเทศทั่วโลก และประเทศมหาอำนาจ เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ และจีน ต่างก็เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ และเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แล้ว ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการที่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เริ่มหาแนวทางลงทุนในต่างประเทศแล้ว เช่น สหรัฐฯ จีน รวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่ง กนอ.ก็จะใช้โอกาสในการแสวงหาการลงทุนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยการทำการตลาดออนไลน์และประสานงานกับสถานทูตของประเทศกลุ่มเป้าหมายนำหน้าไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ยังถือเป็นโอกาสที่ดีของ กนอ.ที่นักลงทุนที่ได้จองเช่าและซื้อที่ดินไว้ก่อนหน้าได้เริ่มเข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.63-เม.ย.64) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 153.36 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ต.ค.62-เม.ย.63) ที่มีมูลค่าสูงถึง 113,393.90 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 68,637.75 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 102,176.52 ล้านบาท และนอกพื้นที่อีอีซี 11,217.52 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน รวม 8,783 คน ขณะที่ยอดขาย/เช่าพื้นที่ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 773.20 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขายได้ 1620 ไร่ ประมาณ 847.24 ไร่ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนไม่สามารถเดินทางเข้ามาดูพื้นที่ได้ ดังนั้นในปี 2564 กนอ.จึงได้ปรับเป้าประมาณการณ์ขาย/เช่าที่ดินของปีนี้ลงจากเดิมที่ตั้งไปไว้ที่ 1,500 ไร่ เหลือ 1,200 ไร่ 

“ปี 64 กนอ.จะมีการปรับลดเป้าการซื้อ/ขาย ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลง เหลือประมาณ 1,200 ไร่ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นจากการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมและ GDP ที่เพิ่มขึ้น และการที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ อย่างเช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเริ่มฟื้นตัวแน่นอน” นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ กนอ.มีโปรเจกต์ที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการการก่อสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ที่ล่าสุดนักลงทุนให้ความสนใจที่จะมาลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานทางเลือก ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าในเรื่องของการจัดหาบริษัทที่จะมาดำเนินการก่อสร้างที่คาดว่าไม่เกิน 6 เดือน-1 ปี น่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ โดย กนอ.จะพิจารณาแผนการตลาดเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทีมีศักยภาพ เป็นคู่แข่งสำคัญ และมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า ดังนั้นอาจต้องมีการหารือกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุน เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของไทยเป็นแรงงานฝีมือ ดังนั้นอาจจะปรับเพิ่มในเรื่องการยกระดับเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนสนใจมากขึ้น

ขณะเดียวกันในส่วนของการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องสาธารณูปโภคโดยเฉพาะเรื่องน้ำในพื้นที่อีอีซี ได้มีการหารือกันในเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการหาแหล่งน้ำสำรอง โดยที่ กนอ.อาจไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามต้องศึกษาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในเบื้องต้นก่อน

เช่นเดียวกับการจัดตั้งบริษัทลูกของ กนอ.เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจ อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุน โดยที่ต้องศึกษาในแนวทาง และจัดตั้งทีมดำเนินงาน และอาจตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษเข้ามาดำเนินการได้ โดยจะดูเป็นรายโปรเจกต์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการจัดตั้งทีม ประมาณ 6 เดือน-1 ปี น่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมได้ รวมถึงแนวทางธุรกิจใหม่ๆ ของ กนอ.ในอนาคตด้วย โดยที่ทุกการดำเนินการต้องอยู่ในกรอบที่รับได้ และไม่เกิดข้อผิดพลาดเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เคยได้ดำเนินการมาในอดีต

“จากที่ได้เข้ามาเริ่มงาน จนถึงวันนี้ 1 เดือน กับอีก 8 วัน มีเรื่องที่ตั้งเป้าดำเนินการใหญ่ๆ 4 เรื่อง และเรื่องเร่งด่วนคือ เรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่เบื้องต้น ได้ทำการขอไปแล้วว่านิคมฯ จะใช้ประมาณ 1 ล้านโดส โดยจะเป็นการฉีดให้กับทุกนิคมฯที่ขอเข้ามา โดยแต่ละนิคมฯ ต้องประสานกับทางสาธารณสุขจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด โดย กนอ.อาสาเป็นจุดให้บริการฉีดวัคซีนให้นิคมอุตสาหกรรมที่ได้ประสานไว้เบื้องต้น ซึ่งขณะนี้มี 3 นิคมฯ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว อย่างไรก็ตามคงต้องรอให้ได้รับวัคซีนจากทางกรมควบคุมโรคก่อน” นายวีริศ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top