บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวขยายเวลาหนุนลงทุนเอสเอ็มอี อีก 1 ปี
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอ ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับเอสเอ็มอี อีก 1 ปีจนถึงสิ้นปี 65 โดยมีมาตรการพิเศษสำหรับเอสเอ็มอีคือ กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 5 แสนบาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติ และผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามเกณฑ์ และยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร
โดยได้กำหนดเกณฑ์การยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เช่น ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี สัดส่วน 100% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง แต่ต้องเสนอแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยื่นขอรับการส่งเสริมภายในสิ้นปี 65 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม
น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ที่ประชุมยังรับทราบตัวเลขการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค. - ก.ย.64) มีจำนวน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 63 ทั้งปี ที่มี 432,000 ล้านบาท และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดช่วงปี 2558 – 2562 ที่มี 483,664 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นสัญญาณที่ดีกับการลงทุนที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยบีโอไอ ประเมินตัวเลขคำขอทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 269,730 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 77,210 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือเอฟดีไอมีจำนวน 587 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 372,068 ล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มขึ้น 220% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 67,816 ล้านบาท สหรัฐฯ 26,936 ล้านบาท และสิงคโปร์ 26,882 ล้านบาท ขณะที่สำหรับพื้นที่เป้าหมายอีอีซี มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 348 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 173,780 ล้านบาท