Tuesday, 1 July 2025
ECONBIZ

สาวก Apple เตรียมจอง 1 ต.ค. เริ่มขายจริง 8 ต.ค.นี้ สนนราคา 25,900 ถึง 62,900 บาท

15 ก.ย. 64 ในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา Apple เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ iPhone 13 ซึ่งดีไซน์หลักยังคงเดิม แต่ปรับรูปแบบการเรียงกล้องใหม่ มาในแนวทแยงมุม มาพร้อม 5 สีสันใหม่ คือ ชมพู น้ำเงิน มิดไนต์ สตาร์ไลท์ และแดง 

ทั้งนี้ iPhone 13 และ iPhone 13 Pro มีการเพิ่มฟีเจอร์หลากหลายเข้ามา ทั้งชิป A15 bionic ใหม่, กล้องใหม่พร้อมโหมด Cinematic และโหมดถ่ายรูประยะใกล้ (มาโคร) แต่ที่น่าสนใจคือ iPhone 13 Pro Max มีการเพิ่มความจุเข้าไปมากถึง 1TB ซึ่งถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ขณะที่จอภาพ Super Retina XDR เพิ่มความสว่างถึง 28% ประหยัดแบตเตอรี่ได้มากขึ้น ใช้ชิป A15 Bionic 

ทั้งนี้ Apple ประกาศวันเปิดขายในไทยที่เร็วกว่าเดิม คือขายวันที่ 8 ตุลาคมนี้เลย ใครสนใจรอสั่ง Pre-Order ได้วันที่ 1 ตุลาคมนี้

โดยราคาวางจำหน่ายสำหรับราคาแต่ละรุ่นที่ประกาศใน Apple Store Thailand ดังนี้

iPhone13 mini หน้าจอขนาด 5.4 นิ้ว
128 GB ราคา 25,900 บาท
256 GB ราคา 29,900 บาท
512 GB ราคา 37,900 บาท

iPhone13 หน้าจอขนาด 6.1 นิ้ว
128 GB ราคา 29,900 บาท
256 GB ราคา 33,900 บาท
512 GB ราคา 41,900 บาท

iPhone13 Pro หน้าจอขนาด 6.1 นิ้ว
128 GB ราคา 38,900 บาท
256 GB ราคา 42,900 บาท
512 GB ราคา 50,900 บาท
1 TB ราคา 58,900 บาท

iPhone13 Pro Max หน้าจอขนาด 6.7 นิ้ว
128 GB ราคา 42,900 บาท
256 GB ราคา 46,900 บาท
512 GB ราคา 54,900 บาท
1 TB ราคา 62,900 บาท

นอกจากนี้ ยังสามารถผ่อน 0% ได้ยาว 10 เดือน เมื่อซื้อผ่านบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ เช่น SCB, KTC , กรุงเทพ กสิกรไทย เป็นต้น


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/

ส่องรายได้ไอดอลหญิง ที่รวยที่สุดในเกาหลีใต้ปี 2021

LALISA รวยแค่ไหน? 
ส่องรายได้ไอดอลหญิง ที่รวยที่สุดในเกาหลีใต้ปี 2021

แบงก์รัฐแข่งดุ ออมสิน เปิดรีไฟแนนซ์บ้าน เปิดกู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อบ้านกู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า ด้วยเงื่อนไขพิเศษที่ยังไม่ต้องผ่อนปีนี้ ให้เริ่มผ่อนปีหน้าและผ่อนต่อเดือนที่ต่ำมาก ทำให้มีเงินสดไว้ใช้จ่ายที่จำเป็น หรือนำไปปิดบัญชีเงินกู้เพื่อปลดล็อกหนี้ต่าง ๆ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการผ่อนบ้านและหนี้สินต่าง ๆ ที่อัตราดอกเบี้ยสูง และช่วยเหลือคนไทยให้ก้าวผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน 

สำหรับการกู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า ประกอบด้วย สินเชื่อบ้าน เพื่อไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น หรือ รีไฟแนนซ์ มีให้เลือกทั้งแบบปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% นาน 9 เดือน โดยในเดือนที่ 10-12 ผ่อนล้านละ 2,000 บาท และแบบปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน โดยในเดือนที่ 7-12 ผ่อนล้านละ 1,500 บาท ซึ่งทั้ง 2 แบบ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี เท่ากับ 2.50% ต่อปี โดยลูกค้าที่รีไฟแนนซ์จะได้สิทธิในการกู้เพิ่มเติม เพื่ออุปโภคบริโภคในโอกาสนี้ด้วย ให้กู้สูงสุด 5 ล้านบาท มีทั้งเงินกู้ระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก 

จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.90% ต่อปี และวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.75% สินเชื่อบ้าน เพื่อซื้อ สร้าง หรือต่อเติมซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% 6 เดือนเช่นกัน ซึ่งในเดือนที่ 7-12 ผ่อนล้านละ 1,500 บาท โดยธนาคารไม่คิดค่าจัดทำนิติกรรมสัญญาและค่าบริการสินเชื่อ โดยผู้ที่กู้สินเชื่อบ้านและรีไฟแนนซ์ดังกล่าว จะต้องได้รับอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ยกเว้นโปรแกรมรีไฟแนนซ์ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 9 เดือน ต้องได้รับอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ต.ค.นี้ 

รัฐบาลคลอดแผนดึงนักลงทุนต่างชาติ 5 ปีหวังโกย 1 ล้านล้าน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ แบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว และการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ ตั้งเป้าหมายในช่วง 5 ปี (2565-69) สามารถดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักในไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยช่วยเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจถึง 1 ล้านล้านบาท รวมถึงมีปริมาณเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ 8 แสนล้านบาท และเพิ่มรายได้ทางภาษี 2.7 แสนล้านบาท

สำหรับการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดย มี 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดย ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก คือ 

1. การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa)  กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ให้กับกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงซึ่งจะได้ข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภท ผู้พำนักอาศัยระยะยาวและวีซ่าประเภท Smart visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน 

2. การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน  การบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยู่ในและนอกราชอาณาจักรได้  การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน การยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากรโดยคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ สศช. ดำเนินการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

เปิดวาระครม. เตรียมเคาะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ-การลงทุน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย หลังจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานเพื่อผลักดันเรื่องนี้ โดยมีทั้งเป้าหมายในการชักจูงการลงทุน รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางลดภาษี การอำนวยความสะดวก และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ทั้งนี้ ยังมีวาระอื่น ๆ กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอการพิจารณาเรื่องการลดหย่อนภาษีผู้ประกอบการที่ซื้อชุดตรวจเอทีเค (ATK) และนำมาให้บุคลากรในองค์กรได้ตรวจ สามารถนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม  เสนอ เสนอขอทบทวนการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2530 เรื่องมติคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ บริเวณชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันออก ครั้งที่ กพอ. 2/2530 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ด้านกระทรวงคมนาคมเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อ ชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน พ.ศ...

ด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิด ผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนร่วม พ.ศ... และร่างกฎกระทรวงยกเลิกกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสม ของแอลกฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนในโรงภาพยนตร์และทางป้ายโฆษณา พ.ศ. 2547 พ.ศ... รวม 2 ฉบับ และ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการอำนวยการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ (ฉบับที่ ..)

นอกจากนี้กอ.รมน.ขอขยายเวลาประกาศพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงแรงงานเสนอ การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย (WorldSkills Asia) และการจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย (WorldSkills Asia Competition) กรมชลประทาน ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานใหญ่ จำนวน 3 โครงการ และกระทรวงสาธารณสุข เสนอร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพ ติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ...

“บิ๊กตู่” สั่งรัฐวิสาหกิจทำแผนช่วยจ้างงานช่วงโควิด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาช่วยเหลือประชาชน โดยพิจารณาหาแนวทางจัดทำแผนงานการจ้างงานในด้านต่าง ๆ เช่น งานด้านสิ่งแวดล้อม โยธา และการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สิน ที่อาจเป็นการจ้างงานในรูปแบบพิเศษ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนที่ตกงานได้มีรายได้ประจำวันด้วย  

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้บอกในที่ประชุมว่าการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จะต้องเป็นการพลิกโฉมประเทศไทย โดยพุ่งเป้าความต้องการในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข เพื่อเพิ่มจีดีพีประเทศ และรัฐวิสาหกิจที่มีขีดความสามารถเน้นการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนและธุรกิจจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก  

นายธนกร กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การเสนอกรอบนโยบายการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดส่งร่างหลักเกณฑ์กรอบนโยบายฯ ให้กระทรวงเจ้าสังกัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมกับเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยให้การเคหะแห่งชาติพิจารณาดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการฯ และเห็นชอบให้ พม. นำเสนอครม.พิจารณาต่อไป

“บิ๊กตู่” ชื่นชม นักออกแบบไทยสามารถนำวิจิตรศิลป์ของไทยในแขนงต่าง ๆ สร้างสรรค์ อุตสาหกรรมบันเทิงสมัยใหม่ ยก MV ลิซ่า โชว์งานหัตถศิลป์ไทย ทั่วโลกแห่ชมกว่า 100 ล้านวิว

13 ก.ย. 64 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความชื่นชมและภูมิใจนักออกแบบไทยสามารถนำวิจิตรศิลป์ของไทยในแขนงต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ร่วมกับอุตสาหกรรมบันเทิงสมัยใหม่ ตรงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งคือการผลักดัน "Soft Power" ไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รัฐบาลเร่งเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขา คือ 

1.) งานฝีมือและหัตถกรรม 
2.) ดนตรี 
3.) ศิลปะการแสดง 
4.) ทัศนศิลป์ 
5.) ภาพยนตร์ 
6.) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 
7.) การพิมพ์ 
8.) ซอฟต์แวร์ 
9.) การโฆษณา 
10.) การออกแบบ 
11.) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 
12.) แฟชั่น 
13.) อาหารไทย 
14.) การแพทย์แผนไทย 
15.) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 

นายธนกร กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ 1.) อาหาร (Food) 2.) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4.) มวยไทย (Fighting) และ 5.) การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) เชื่อว่ายังจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมส่งออกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด -19 ที่สำคัญของไทยด้วย

นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้กำหนดโมเดล BCG ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย "ปัญญา สร้างสรรค์" และมีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากไทยมีจุดเด่นและความพร้อมด้านทุนวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งศิลปหัตถกรรม ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว ชุมชนที่มี "อัตลักษณ์" ของตนเอง นำมาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือของคนไทย ก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แล้วล่าสุด จากกระแสความชื่นชมเอ็มวีของศิลปินลิซ่า ที่มีการสอดแทรกงานหัตถศิลป์ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย มียอดผู้ชมกว่า 100 ล้านวิวแล้ว เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงและออกแบบแฟชั่นไทย ในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ ไทยมีตลาดประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาครองรับอยู่แล้ว 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสำเร็จของศิลปินไทย ทุกสาขาศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ ออกแบบดีไซน์ รวมถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น ทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนัก จนประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะช่วยจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยและผู้อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ในการนำศิลปวัฒนธรรมไทยมาสร้างสรรค์เป็น Soft Power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ในระดับโลก  

คลังปิดจ๊อบ พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน เตรียมกู้เงินเติมให้ครบ 7.2 หมื่นล้านคลังปิดจ๊อบ พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน เตรียมกู้เงินเติมให้ครบ 7.2 หมื่นล้าน

กระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในช่วงที่เหลือของเดือนก.ย.64 กระทรวงการคลังมีแผนจะเร่งกู้เงินในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มเติมอีก 72,313 ล้านบาท เพื่อให้มีวงเงินกู้ครบถ้วนตามกรอบโครงการที่ได้รับการเห็นชอบจาก ครม.วงเงิน 980,826 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% ของวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากในเดือนก.ย.นี้ จะเป็นเดือนสุดท้ายที่คลังมีอำนาจกู้เงินได้ตามที่กฎหมายระบุไว้ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะต้องมีหน้าที่กู้ให้ครบตามโครงการที่อนุมัติไว้ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้  โดยวิธีการกู้เงินจะไม่มีการเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ แต่จะใช้เครื่องมือการกู้เป็นพันธบัตรรัฐบาล และตั๋วสัญญาใช้เงิน (พี/เอ็น)

ส่วนการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท คลังได้เริ่มทยอยกู้ไปแล้ว 7.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่การเบิกใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ขณะนี้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 849,466 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณเยียวยา แต่หลังจากนี้โครงการต่าง ๆ ทั้งเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือด้านสาธารณสุข ยังมีเวลาที่จะสามารถเบิกใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นเดือนธ.ค.64  ซึ่งได้ยินว่ามีอีกหลายโครงการที่เตรียมจะเบิกใช้ในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะงบด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้การดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลัง สามารถกู้เงินได้จนถึง 30 ก.ย.นี้ และให้โครงการที่จะขอใช้เงินจะต้องผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ ส่วนโครงการที่ผ่าน ครม.ไปแล้ว ยังมีสิทธิเบิกใช้เงินได้ไปจนถึงสิ้นปีปฏิทิน อย่างไรก็ตามกรณีมีบางโครงการที่ล่าช้าเบิกจ่ายงบไม่ทัน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือทำไม่ได้ตามแผนนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะมีการทบทวนปรับปรุงการใช้จ่าย หรือตัดงบบางโครงการให้เกิดความเหมาะสมได้

เว็ปไซต์ สบน. เผย ตัวเลขหนี้สาธารณะพุ่งเฉียด 9 ล้านล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซด์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เผยแพร่ รายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 พบว่า มียอดหนี้จำนวน 8,909,063.78ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.59% ของจีดีพี ใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะของประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท โดยยอดหนี้สาธารณะเดือน มิ.ย. 2564 อยู่ที่ 8,825,097.81ล้านบาท หรือ 55.20% ของจีดีพี

สำหรับหนี้สาธารณะเดือน ก.ค. 2564 ที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการกู้โดยตรงของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ โดยหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,836,723.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 2564 ที่ 7,760,488.76 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 7,071,423.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเป็นการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. โควิด-19 จำนวน 817,726.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 732,726.05 ล้านบาท และเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกด้วยอย่างไรก็ดี หนี้ของรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 781,052.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งอยู่ที่ 772,090.49 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน อยู่ที่ 399,141.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 398,843.56 ล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน อยู่ที่ 381,911.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 373,246.93 ล้านบาท ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) อยู่ที่ 284,141.61 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 285,356.96 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย อยู่ที่ 7,146.04 ล้านบาท

'ล้ำความคิด ล้ำความอร่อย’ เปิดตำราน้ำปลาร้า ‘แม่บุญล้ำ’ | Game Changer เก่งพลิกเกม EP.5

จากวันที่ภาพลักษณ์ของตลาดน้ำปลาร้าทั้งตลาด ถูกมองในแง่ลบ จากความไม่สะอาดในตัวสินค้า จนมีการแบนน้ำปลาร้ากันหนักในช่วงปี 2558 

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์น้ำปลาร้าไทยในชื่อ ‘แม่บุญล้ำ’ ที่อยู่ในแวดวงนี้มามากกว่า 38 ปี ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติสินค้าน้ำปลาร้าของตนแบบพลิกโฉม

- ตั้งแต่การผลิตด้วยระบบปลอดเชื้อ ด้วยมาตรฐานโรงงานระดับมาตรฐานโลก
- การพัฒนาสินค้าเพื่อให้ตอบโจทย์ต่ออาหารทุกแนว ทุกสัญชาติ จนเริ่มกลายเป็นเครื่องปรุงคู่ครัวไม่ต่างจากเครื่องปรุงรสชนิดอื่นๆ
- การให้โอกาสต่อชุมชน ด้วยการผลิตสินค้าที่ได้จากวัตถุดิบปลาของคนในท้องถิ่น สร้างรายได้ให้เกิดแก่ชุมชน 
- และการสร้างแบรนด์ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในสินค้าไทย คุณภาพ รสชาติ และมาตรฐานโดนใจผู้คนทั่วโลกที่ได้สัมผัส

ในวันนี้ ‘น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ’ ได้ผสมผสานสิ่งต่างๆ ที่ว่า จนกลายเป็นธุรกิจที่กลมกล่อม และถูกยกให้เป็นแบรนด์ผู้นำน้ำปลาร้าของเมืองไทย

Game Changer EP นี้พาไปแซ่บกับ ‘แม่บุญล้ำ’ ผู้นำในตลาดน้ำปลาร้าเมืองไทย ถอดรหัสแนวคิดสุดคูล…

‘ล้ำความคิด ล้ำความอร่อย’
เปิดตำราน้ำปลาร้า ‘แม่บุญล้ำ’ 
ปรุงรสแบบไหน? โดนใจทุกคู่ครัว!!

โดย พิไรรัตน์ บริหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพชรดำฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำปลาร้าแบรนด์ ‘แม่บุญล้ำ’

.

.


 

พาณิชย์ รับธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตดาวเด่น รายพุ่งแสนล้าน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการวิเคราะห์ธุรกิจในช่วงเดือนก.ค. 2564 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในการเข้าสู่การค้าออนไลน์ พบว่า ธุรกิจที่กลายเป็นดาวเด่นประจำเดือนนี้คือ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต (e-Commerce) ปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 3,525 ราย และตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2564 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ภายใน 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) จำนวน 794 ราย ซึ่งมีจำนวนเกือบเท่ากับปี 2563 ตลอดทั้งปี ที่มีจำนวน 798 ราย 

แต่หากเปรียบเทียบในช่วงเดือนก่อนหน้าพบว่า ในเดือนก.ค. 2564 มีจำนวน 112 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. 2564 ที่มีจำนวน 106 ราย คิดเป็น 5.66% และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ค. 2563 ที่มีจำนวน 79 ราย ก็แสดงให้เห็นว่าการจัดตั้งธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ยังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องคิดเป็น 41.77% เป็นที่น่าจับตามองถึงยอดจดทะเบียนในครึ่งปีหลังที่จะสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจนี้กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นของปี 2564 

นายสินิตย์ กล่าวว่าธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตถือเป็นธุรกิจที่มีการรายได้ภายในประเทศสูงถึงระดับแสนล้านบาทต่อปี โดยในปี 2563 ธุรกิจนี้มีรายได้รวมอยู่ที่ 111,670.15 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น สามารถใช้บริการได้แบบใกล้ตัวผ่านโทรศัพท์มือถือ ชำระค่าบริการสินค้าได้ทันทีผ่าน Mobile Banking และระบบการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ยังผลักดันครั้งใหญ่ให้ผู้บริโภคลดการเดินทางออกจากบ้าน จึงจำเป็นต้องซื้อสินค้าผ่านทางโลกออนไลน์เป็นหลัก ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับผลเชิงบวกตามไปด้วย 

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งหนักสุดรอบ 23 ปี 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือน ส.ค.2564 ว่า ดัชนีฯ ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 39.6 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือ ต่ำสุดในรอบเกือบ 23 ปี นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2541 เป็นผลมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่รุนแรงมากขึ้นจนรัฐบาลต้องขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศแย่ลง และมีความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ยังล่าช้าเข้ามากระทบด้วย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 33.8 โอกาสในการหางานทำ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.3 และรายได้ในอนาคต ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.6 โดยผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ได้จัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลดูแล คือ การเร่งจัดทำแผนการเปิดเมืองที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนเตรียมความพร้อม เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง และหาแนวทางป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ให้แพร่ระบาดในประเทศไทย มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาเข้าไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ และต้องสร้างแผนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้นอีกด้วย

ชงศบค.ไฟเขียว สมุย เปิดรับต่างชาติไม่ต้องกักตัว 

นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเกาะสมุยได้เห็นชอบร่วมกัน ที่จะผ่อนปรนและปรับรูปแบบการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของโครงการสมุย พลัส โมเดล ซึ่งประกอบด้วย เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จากเดิมในช่วง 7 วันแรก ต้องกักตัวหรือจำกัดพื้นที่ มาเป็นไม่ถูกกักตัวทันทีที่ผลการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ออกมาว่าไม่ติดเชื้อ เหมือนกับที่ภูเก็ต แซนด์บีอกซ์ ทำอยู่ โดยจะเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ให้พิจารณาเริ่มได้ในเดือนต.ค.นี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเกาะสมุยมากขึ้น 

ทั้งนี้ เพราะตั้งแต่เปิดโครงการมาเมื่อวันที่ 15 ก.ค.7 ก.ย.2564 เพิ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 628 คน เพราะมีข้อเปรียบเทียบกับ ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ที่ไม่ต้องถูกกักตัว จึงเลือกไปภูเก็ตมากกว่า โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-7 ก.ย.2564 มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้าภูเก็ต 29,363 คน จึงเสนอให้ผ่อนปรนเงื่อนไข ซึ่งในด้านระบบสาธารณสุขรองรับตอนนี้มีความพร้อมแล้ว 

ส่วนเป้าหมายหลังการปรับรูปแบบเป็นไม่กักตัว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) 4,500 คน หรือเดือนละ 1,500 คน สร้างรายได้ประมาณ 90 ล้านบาท รวมทั้งยังส่งเสริมให้คนไทยมาเที่ยวเกาะสมุยมากขึ้นด้วย  

กระทรวงอุตฯ เชื่ออุตสาหกรรมอาหารไทย 5 เดือนหลัง โตสวนทางโควิด ชี้ Bubble and Seal ช่วยรันสายพานธุรกิจให้ไม่ขาดช่วง

อุตสาหกรรมอาหารไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิตและการส่งออก แม้เผชิญการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอย่างต่อเนื่อง ภาพรวม 7 เดือนแรกการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 การส่งออกมีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชี้ปัจจัยหลักมาจากภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal คาดอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลังโตแกร่งสวนโควิด-19 ประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีคาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวร้อยละ 4.5 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ว่าได้พลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากหดตัวลงในปีก่อน โดยการผลิตที่วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 

ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการที่ภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน ทำให้โรงงานส่วนใหญ่สามารถเดินสายการผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีเพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ต่าง ๆ จำพวกสับปะรด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหาร

ด้านการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกพบว่า มีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ผ่อนคลายมาตรการ Lockdowns หลังจากสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ธุรกิจบริการร้านอาหารต่าง ๆ มีการฟื้นตัว โดยการส่งออกไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน 

ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็มีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง จำพวกกุ้ง ปลา ปลาหมึก สับปะรดกระป๋อง ที่มีการขยายตัวตามช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหารที่กำลังฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับ Pent up demand หรือความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านอาหารถูกปิดเป็นเวลาหลายเดือน

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยใน 5 เดือนหลังยังจะโตแกร่งสวนทางโควิด-19 โดยคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563 

สำหรับปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลัง มองว่ามาจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มขยายตัวหลังการกลับมาเปิดเมือง (Reopening) ทำให้สินค้าที่มีช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม จัดเลี้ยง (HORECA) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ากุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มะพร้าว และกะทิสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน 

ประกอบกับสต็อกสินค้าอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เริ่มลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่ส่วนใหญ่เน้นใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง อาทิ การแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้าสู่สถานประกอบการ จะกระทบต่อกำลังการผลิตและส่งมอบสินค้า การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้หลายประเทศอาจต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมการระบาด จะส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าชะลอตัวลง 

ค่าระวางเรือยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Commodity เช่น ข้าว น้ำตาล ธัญพืชต่าง ๆ ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำ รวมถึงทางการจีนอาจชะลอการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากการที่เร่งนำเข้ามาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การส่งออกอาหารของไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

แนะผู้ประกอบการปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ให้เหมาะสมกับขนาดกิจการ เพื่อรับมือการแพร่ระบาดในโรงงาน พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ

กระทรวงอุตสาหกรรมรวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำ (Coaching) การทำ Bubble and Seal ทั้งในรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้พร้อมกันทั่วประเทศ อีกทั้งจะมีการปรับเกณฑ์ Good Factory Practice (GFP) เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก รถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน 

นอกจากนี้ จะเร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่าง ๆ ในเชิงรุก ซึ่งการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าฟันวิกฤตและรักษาสถานภาพโรงงานทั้งในด้านการผลิตและส่งออก เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารสามารถทำรายได้จากการส่งออกและเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทย

“ทิพานัน” ชี้นายกฯ ห่วงใยประชาชนผู้มีรายได้น้อย-อาชีพอิสระ ดันโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.99% นาน 4 ปี

คนอยากมีบ้านเฮ “ทิพานัน” ชี้นายกฯ ห่วงใยประชาชนผู้มีรายได้น้อย-อาชีพอิสระ ให้มีที่พักอาศัย ดันโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อัดเม็ดเงินกว่า 2,909 ล้านบาท ใน 10 จังหวัด เชื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็ว เข้มแข็ง ยั่งยืนจากภายใน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ  เพื่อให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จึงผลักดันให้มีการสานต่อโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ หรือโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 

ซึ่งที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ดำเนินการให้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,200,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก 1.99% ต่อปี ทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสอง และทรัพย์ NPA ของ ธอส. และยังผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อช่วยให้ประชาชนมีโอกาสได้รับวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม รวมถึงกลุ่มที่ประกอบอาชีพประจำหรืออาชีพอิสระ สามารถนำหลักฐานการชำระค่าเช่าบ้าน หรือผ่อนชำระเงินดาวน์บ้านไม่น้อยกว่า 12 เดือนมาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ และหากไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของรายได้ให้ธนาคารพิจารณาได้ ให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ Financial Literacy และออมอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าเงินงวดผ่อนชำระเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานการพิจารณาสินเชื่อกับธนาคารได้ต่อไป 

จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตนเองอย่างครบวงจร โดยพี่น้องประชาชนที่สนใจสามารถรับรหัสเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ได้พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ผ่าน Mobile Application : GHB ALL ( https://www.ghbank.co.th/electronic-services/application/ghb-all) และทำนิติกรรมได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือ ก่อนเต็มกรอบวงเงินของโครงการ

“บ้านเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ทุกอย่างเริ่มจากบ้าน ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคมประเทศไทยของเราทุกคนที่มีความรักความสามัคคี รัฐบาลจึงเดินหน้าตั้งแต่โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 1 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2561 ต่อมาเมื่อต้นปี 2564 ก็มีโครงการบ้านเคหะสุขประชาที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด วางรากฐานเพื่อให้เป็นชุมชน “เศรษฐกิจสุขประชา” สร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยให้มีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและตามความสนใจและความถนัดที่มีให้เลือก 

รัฐบาลจึงอนุมัติโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 เพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ตามกรอบเวลายุทธศาสตร์ชาติ โดยรัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและทำเพื่อประชาชนให้มากที่สุด” น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังเดินหน้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยที่ประชุมครม. ได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 3 จำนวน 1,766 โครงการ วงเงินรวม 2,909 ล้านบาทดำเนินการ ใน10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อำนาจเจริญ อยุธยา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ใน 4 กลุ่มโครงการ ประกอบด้วยกลุ่มพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยวบริการ และการค้า, กลุ่มยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร, กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และกลุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน 

ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2564 คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 29,765 คน และมีผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 3.54 ล้านคน พร้อมเตรียมโครงการนี้ครั้งที่ 4 อีกจำนวน 1,434 โครงการ วงเงินรวม 3,753 ล้านบาท ดำเนินการในอีก 14 จังหวัด ประกอบด้วย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ เลย นครพนม บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ลพบุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครนายก และยะลา โดยจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด กระจายงบประมาณลงไปในกลุ่มเป้าหมาย

“เชื่อว่าเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าว จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีความแข็งแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว จากการส่งเสริมความเข้มแข็งภายใน และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้” น.ส.ทิพานัน กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top